xs
xsm
sm
md
lg

อาชญากรต่อกฎหมาย คนน่าอายต่อศีลธรรม!? “บางกอกคณิกา” เรื่องจริงรันทดกว่าซีรีส์ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บางกอกคณิกา” สะท้อมมุมมืดของ “Sex Worker”เสียงเรียกร้องที่ถูกปิดปาก เพราะ “กฎหมาย” ตราหน้าว่า “อาชญากร” ทั้งที่ความจริงอาจเป็นเพราะ “สังคมดัดจริต” อ้างศีลธรรมอันดี แต่รับเงินจากคนอาชีพนี้ ดึงดูด “รายได้การท่องเที่ยว”




ไม่มีแม้ “สิทธิ” ในร่างกายตัวเอง

“โสเภณี” , “Sex Worker”,“คนขายบริการ” หรือ “กะ..” ก็แล้วแต่ว่าใครจะเรียกอะไร อาชีพในมุมมืดที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง จากการส่องสปอตไลต์ผ่านซีรีส์ “บางกอกคณิกา (Bangkok Blossom)” ซึ่งกำลังออนแอร์ทางช่อง “One31” และกำลังติดกันงอมแงม

ซีรีส์ที่หยิบเอาเรื่องราวของ “โสเภณี” สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นมาสะท้อนโลกของเหล่าSex Workerที่ต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อเรียก “ศักดิ์ศรีความเป็นคน” กลับมา

รวมถึง “กามวิปลาส” ต่างๆ นานา ที่อาชีพนี้ต้องเจอ อย่างฉากที่กลายเป็นที่พูดถึง และสะเทือนอารมณ์คนดูอย่างมากจนไวรัล คือตอนที่ “โบตั๋น” รับบทโดย “ก้อย-อรัชพร โภคินภากร”ถูกจับ “ขึงพืด” ก่อนจะกลายเป็นเครื่องบำเรอกามของชายหลายคน




                                       { ฉากสะเทือนอารมณ์ “โบตั๋น” ถูกทาสรับใช้จับขึงพืด }

“ความรุนแรง” และ “ความโหดร้าย”ที่ตัวละครต้องเผชิญ รวมถึงประโยคเด็ดมากมายจากซีรีส์เรื่องนี้ ส่งให้ผู้คนต่างแคปมาแชร์กันในโซเชียลฯ ผลักให้“บางกอกคณิกา” กลายเป็นกระแสชั่วข้ามคืนยิ่งช่วยให้ผู้คนเข้าใจ “ชีวิตหญิงขายบริการ” ในแง่มุมที่เข้าใจมากขึ้น

                                                { ประโยคเด็ดไวรัลจากซีรีส์เรื่อง “บางกอกคณิกา” }

แต่คำว่า “เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย” คงเป็นสิ่งที่อธิบายชีวิตของเหล่า Sex Workerได้ดีที่สุดและนี่คือหนึ่งในเสียงสะท้อนจากคนในชีวิตจริง ผู้คลุกคลีและช่วยเหลือคนในอาชีพนี้มากว่า30ปี อย่าง “สุรางค์ จันทร์แย้ม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)

โดยเฉพาะแง่มุมที่ช่วยสะท้อนกับทีมข่าวเอาไว้ว่า คนกลุ่มนี้ “ถูกเอาเปรียบ”ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แม้ตัวเองจะถูกทำร้ายเพราะ “กฎหมาย” ตราหน้าว่าเขาคือ “อาชญากร”

ในเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครอง หนำซ้ำยังจะเอาผิด ทำให้การเดินเข้ามาในอาชีพนี้ จำเป็นต้องมี “ผู้คุ้มครอง”เงินที่ได้มาก็ต้องเอาไปแบ่งคนพวกนี้ บางทีถูก “โกงเงิน”จากลูกค้า หรืออาจต้องเจอหนักยิ่งกว่านั้น

                                            { “สุรางค์” จาก มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) }

“บางครั้งไปเจอลูกค้าซาดิสต์ เอาขวดเบียร์ใส่ในช่องคลอด ก็ไม่กล้าไปแจ้งความ เมื่อเราถูกตราหน้าแล้วว่า เราเป็นคนขายบริการ”

ทั้งที่ความจริงแล้ว เรื่องพวกนี้สามารถไปแจ้งความได้ แต่ส่วนใหญ่คนทำอาชีพนี้ เลือกที่จะไม่ไป ด้วยเหตุผลที่กูรูประจำมูลนิธิ “SWING”เผยความเจ็บปวดเอาไว้ว่า “หลายคดีพลิก” เพราะพวกเขาคือ “คนค้าประเวณี” ส่งให้ “ผู้เสียหาย” ต้องกลายเป็น “ผู้กระทำความผิด”





“กฎหมาย” ที่มีแต่ตอกย้ำ

อาชีพนี้มัน “ผิด” ตั้งแต่ตอนไหน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการอย่าง “สุรางค์” ย้อนให้ฟังว่า เดิมที การขายบริการในไทยยังไม่ผิดกฎหมาย มีเพียงกฎหมายควบคุมโรคระบาด ในปี 2475 หรือเรียกว่า “พ.ร.บ.สัญจรโรค” เท่านั้น

คือเป็นแค่การระบุโทษของคนที่แพร่ “กามโรค” ให้คนอื่น แต่การเริ่มเอาผิดเรื่อง “ค้าประเวณี” นั้น เพิ่งเริ่มมาจริงจังใน พ.ศ.2503 ด้วยการผุด “พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี” ขึ้นมา กระทั่งถูกหยิบมาแก้อีกครั้งในปี 2539

“มีนายหน้าไปซื้อเด็กจากครอบครัว ตั้งแต่ยังเรียนประถม ก็เลยมีการแก้กฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้นำเด็กมาค้าประเวณี เลยเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2439 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”


ส่งให้อาชีพที่ก่อนหน้าไม่ผิดกฎหมาย กลายเป็น “อาชญากรจากการใช้เรือนร่างหากิน” แถมยังส่งให้อาชีพนี้เป็นที่ “รังเกียจ” ของสังคมทันที แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนเลือกทางเดินนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทางเลือกและโอกาส” ในชีวิตคนเรามันไม่เท่ากัน

คนกลุ่มนี้คือ คนที่อยากมีงานทำ มีรายได้ แต่ “ต้นทุนชีวิต”และการตัดสินใจหลายๆ อย่าง บีบให้ต้องเลือกอาชีพนี้ อย่างที่กูรูผู้ใกล้ชิด Sex Worker ตลอดเวลาหลาย10 ปีคอนเฟิร์มว่า คือสิ่งที่เห็นมาโดยตลอด

“เขาไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงตัวเองเท่านั้น แต่เขาเลี้ยงคนที่อยู่ข้างหลัง แล้วทำไมการที่ตัวเขาพยายามจะรับผิดชอบครอบครัว รับผิดชอบตัวเอง เขากลับถูกกดทับทางกฎหมาย ทางสังคม ทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย”

ในมุมมองของคนช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพนี้ พบว่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐใช้วิธี “จับ”และ “ปราบปราม”เป็นหลัก ซึ่งมีแต่จะทำให้หลายๆ อย่างแย่ลง
เพราะทั้งหมดนั้นผลักให้คนเหล่านั้น “ขาดรายได้” และเป็น “หนี้”มากขึ้น สุดท้ายจึงยิ่งผลักให้ “Sex Workerต้องจมอยู่ในวังวนนี้ยาวนานขึ้นไปอีก”

ถ้าอยากจะแก้ปัญหานี้ อาจจะมองย้อนไปถึง “โครงสร้างพื้นฐาน” ทั้งเรื่องการศึกษา รายได้ต่อครัวเรือน และประเด็นเศรษฐกิจ และแก้ไขไม่ให้เกิด “ช่องว่างทางโอกาส”ระหว่างชนชั้นที่ห่างกันจนเกินไป



“ทุกคนดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่ช่องทางเรามีไม่เท่ากัน คนที่อยู่สูงกว่าก็จะโทษว่า พวกเขาเหล่านี้คือตัวปัญหา แต่เรามีทางออกให้พวกเขาหรือเปล่าล่ะคะ?”



ศีลธรรมที่ “ปากว่าตาขยิบ”

รู้หรือไม่ สถิติจาก “International Union of Sex Workers”จัดให้ไทยมีผู้ให้บริการทางเพศอยู่ที่“อันดับ 8” จาก20 ประเทศ และมีSex Workerอยู่ทั้งหมด “2.5 แสนคน”

แต่ถึงอย่างนั้น สังคมหรือแม้แต่ภาครัฐ กลับไม่เคยยอมรับความจริงว่า พวกเขามี “ตัวตน”และเป็น “มนุษย์”จึงเป็นเหตุผลที่ ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ รายนี้ ขอบอกตรงๆ ว่า บ้านเรานั้น “ดัดจริต”
ทั้งที่ตรงนี้คือ “รายได้หลัก”ส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ

“เรารู้อยู่ มือข้างหนึ่งเราแบ รับรายได้ที่มาจากธุรกิจนี้ แต่อีกด้านหนึ่งเราบอกว่า ไม่ได้หรอก เมืองไทยเมืองพุทธ ผิดศีลธรรมอันดีงาม”

“ศีลธรรมอันดี”อคติที่ปากว่าตาขยิบนี่เอง ทำให้การผลักดันกฎหมายที่จะคุ้มครองSex Workerทำได้ยากในเมืองไทย และไม้บรรทัดศีลธรรมนี้ ยังไปกดทับให้พวกเขา “ไม่กล้า” ที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง

{ สังคมไทยไม่กล้ายอมรับ รายได้การท่องเที่ยวจาก “Sex Worker” }                           
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัว Sex Worker ไม่กล้าพูด เพราะมันมีผลกระทบในอาชีพนี้อยู่เยอะ ไม่ใช่แค่ตัวเขา มันกระทบต่อครอบครัว พอเขาไม่กล้าที่จะพูด คนอื่นก็มาคิด มาทำแทน แล้วมันก็ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่แท้จริงของพวกเขาค่ะ”

การผลักดันเรื่อง Sex Worker ตอนนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นหน้าที่ของ นักกฎหมาย-นักวิชาการ ที่ออกมาบอกว่า ต้องมีการขึ้นทะเบียน หรือจัดโซนต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ใช่คนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้

“คนที่อยู่ข้างในปัญหาเอง ไม่ได้ถูกถามจริงๆ ว่าต้องการอะไร ไม่ได้มีพื้นที่ให้พูด และพูดไปจะได้รับการตอบสนองจริงหรือเปล่า?”

สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ได้มีอะไรไปมากกว่า ขอให้ “งาน” ที่พวกเขาทำ เป็นงานจริงๆ มีสวัสดิการ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ เหมือนแรงงานคนหนึ่ง แต่แนวคิดนี้กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า จะเป็นการส่งเสริมให้คนมาขายบริการหรือเปล่า?

“ต้องถามกลับไปว่า สมมติอาชีพนี้ถูกกฎหมาย คุณจะมาทำอาชีพนี้ไหม? อาชีพที่ต้องไปนอนกับใครก็ไม่รู้ เราจะทำไหม ถ้าทำก็แสดงว่าอาชีพนี้มันไม่ได้แย่อะไร แต่เอาเข้าจริง คนก็ตอบว่าไม่ทำ”

กูรูผู้ใกล้ชิดกับคนขายบริการทางเพศมาหลาย10ปีรายเดิม ยืนยันว่า “ความเคารพ” คือสิ่งที่ทุกคนต้องมี ซึ่งหมายความว่า เมื่อคนเหล่านั้นเลือกจะใช้ “เนื้อตัว-ร่างกาย” ของเขา ในการประกอบอาชีพนี้ สังคมก็ควรเลิกเอาบรรทัดฐานตัวเองไปตัดสินคนอื่น







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...“บางกอกคณิกา” สะท้อมมุมมืดของ “Sex Worker” เสียงเรียกร้องที่ถูกปิดปาก เพราะ “กฎหมาย” ตราหน้าว่า “อาชญากร”... . @engfa32 @goyyogarach @wasiiita @one31.official . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #บางกอกคณิกา #bangkokblossom . #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ไวรัล ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : Twitter @MVDeepQuotes , Youtube “@one31official”, www.one31.net



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น