ไวรัลทำแพนิค “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ในวัย 4 ขวบเพราะ “ไข่ดิบ” ชวนหาคำตอบ ไข่จะกลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวจริงหรือ? และเมนูไข่สุกๆ ดิบๆ จะทำเสี่ยงไปด้วยหรือเปล่า?
กินไข่ดิบ = มะเร็ง!!?
ถึงกับช็อกอายุแค่ 4 ขวบ แต่เป็น “มะเร็งกระเพาะอาหาร” เมื่อสื่อจีนรายงานว่า เหตุผลเพราะคุณย่าให้หนูน้อยกิน“ไข่ดิบ” ทุกวัน ด้วยความเชื่อที่ว่า จะช่วยทำให้เด็กเจริญอาหารและโตเร็ว
แต่ผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม หลานของคุณย่า ผอมลง, ไม่สบายท้อง และเบื่ออาหาร เมื่อไปถึงโรงพยาบาลผลวินิจฉัยออกมาว่า หนูน้อยเป็น“มะเร็งกระเพาะอาหาร”
และหมอยังได้เตือนคุณย่าด้วยว่า ในไข่ดิบนั้นมี “แบคทีเรียซัลโมเนลลา” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนเรื่องนี้กลายเป็นไวรัล และสร้างความสงสัยหนักมากว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ “ไข่” คืออาหารที่มีทุกบ้าน เพื่อให้เคลียร์ใจ ทีมข่าวจึงขอความรู้จาก “ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ว่า การกินไข่ดิบ ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้จริงหรือเปล่า?
คำตอบที่ได้คือ “มันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันครับ”ด้วยเหตุผลที่ว่า “เชื้อซัลโมเนลลา” อาจทำให้เกิด “อาหารเป็นพิษ” “ท้องเสีย”และเชื้อในตระกูล “ไทฟอยด์”ที่มักลงไปอยู่ในถุงน้ำดี ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า ถ้ามันอยู่ในนั้นเป็นเวลานาน จะทำให้เกิด “มะเร็งถุงน้ำดี”
“แต่มะเร็งกระเพาะอาหารเนี่ย ซัลโมเนลลายังไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจนครับ และคนที่พบมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะอายุ 50 ปีขึ้นไป เด็กมีบ้าง อายุน้อยที่สุดก็ 10 กว่าขวบเท่านั้นครับ”
{ “นพ.ธีรวุฒิ” ผอ.รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ }
ผู้เชี่ยวชาญอีกคนอย่าง “ปวีณา วงศ์อัยรา” นักกำหนดอาหารวิชาชีพ จาก Eat Well Concept ก็อธิบายถึงเชื้อซัลโมเนลลา เอาไว้เหมือนกันว่า ถ้าได้รับเชื้อนี้เข้าไปมากๆ ก็จะทำให้เกิด “ไข้ไทฟอยด์” หรือ “ไข้รากสาดน้อย”
“ไข้รากสาดน้อย คือภาวะที่ไข้สูง เหงื่อออกเยอะ ท้องเสีย และกระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ”
และหากเกิดการอักเสบบ่อยครั้ง มันก็มีโอกาส “เป็นไปได้” เหมือนกันที่จะก่อ “มะเร็ง” ส่วนในมุมของ “นพ.ธีรวุฒิ” มองว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ชัดๆ คือการติดเชื้อ “Helicobacter pylori(H.pylori)”
“การติดเชื้อนี้นานๆ ทำให้เกิดกระเพราะอักเสบเรื้อรัง แล้วเนื้อเยื่อกระเพาะมันเหี่ยวไป สุดท้ายมันก็กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร”
ชอบกิน “เค็ม” เสี่ยงกว่าคนอื่น
สิ่งที่น่าตกใจจากปากคุณหมอ “ธีรวุฒิ”คือ คนในแถบ “เอเชียตะวันออก” มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร “สูง” กว่าที่อื่น ด้วยวัฒนธรรมที่ชอบกินอาหารติด “เค็มจัด” และ “ของหมักดอง”
รวมถึงการ “ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่” เอง ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้เหมือนกัน และยังมีเรื่อง “กรรมพันธุ์” ใครที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร คนคนนั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น
“แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่กรรมพันธุ์ มีเพียง 10% เท่านั้น ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร และมีแค่ 1% ที่เป็นการถ่ายทอดมาจากพ่อ-แม่ ส่วนมากมาจากปัจจัยภายนอก”
{ วัฒนธรรมของดอง-กินเค็ม ทำให้คนเอเชียเสี่ยงกว่าที่อื่น }
มะเร็งกระเพาะอาหารในไทย พบไม่มากถ้าดูจากจำนวนผู้ป่วย เรามีผู้ป่วยใหม่แค่ปีละ 4,000 กว่าคน และเสียชีวิตปีละ 3,000 กว่าคน แต่กลับกลายเป็นว่าการ “พบน้อย” ก็กลายเป็น “ปัญหา”
“บ้านเรา พอมันน้อย ก็ไม่มีการตรวจที่เป็นประจำ พอเจอก็มักเป็นระยะที่ค่อนข้างจะลุกลามไปแล้ว”
ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ รายเดิมยังช่วยบอก “สัญญาณ” ของมะเร็งชนิดนี้เอาไว้ด้วยคือ อาการท้องอืด กลืนอาหารไม่ลง ปวดท้องเกิน 4 อาทิตย์ขึ้นไป น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ โลหิตจาง หรือ “อาเจียนเป็นเลือด”
หากมีอาการพวกนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะถึงมะเร็งกระเพาะอาหารจะพบมากในคนแก่ แต่คนหนุ่มสาวก็สามารถเป็นได้เหมือนกัน
“ถ้ามีคนในครอบครัวสายตรง เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร 2 คนขึ้นไปก่อนอายุ 50 อันนี้ต้องระวังเรื่อง พันธุกรรม”
“ไข่แดงเยิ้มๆ” ยังกินได้?
แม้การกิน “ไข่ดิบ” ยังไม่ชัดเจนว่า จะก่อให้เกิดโรคร้ายอย่าง “มะเร็ง”แต่เชื้อซัลโมเนลลา ที่ทำให้เกิด “ไข้ไทฟอยด์”ก็อันตราย “ปรีณา” อธิบายเสริมว่า เพราะนอกจากจะทำให้ไข้สูง, ท้องเสีย, กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ แล้ว
“ถ้ามันลุกลาม ก็อาจเกิดอาการตกเลือดในลำไส้ หรือลำไส้ทะลุได้ ติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเลือดเป็นพิษ ไปจนถึงทำให้อักเสบตามอวัยวะต่างๆ”
ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับว่า เราได้รับพิษไปมากขนาดไหน และที่อันตรายอีกอย่างคือ “ไข่ขาว” เพราะในตัวไข่ขาวดิบ จะมีโปรตีนที่เรียกว่า “อะวิดิน”(Avidin) ซึ่งมันจะไปจับตัววิตามินอย่าง “ไบโอติน”
ทำให้คนที่กิน “ไข่ขาวดิบ” บ่อยๆ ร่างกายจะเกิด “ภาวะขาดไบโอติน”ซึ่งอาการมีตั้งแต่ ผิวแห้ง, ตาแห้ง, ผมร่วงและหากขาดมากๆ อาจมีอาการ “ชัก”
{ “ปวีณา” นักกำหนดอาหารวิชาชีพ }
คำถามที่ว่าการกินไข่ดิบ สรุปแล้วมีคุณหรือมีโทษต่อร่างกายกันแน่ นักกำหนดอาหารอย่างปรีณา อธิบายในแง่คุณค่าทางสารอาหาร อาหารส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านความร้อน จะคงคุณค่าของสารอาหารได้มากกว่า ซึ่งก็ไม่เยอะกว่าเท่าไหร่
ถ้าเรามาเทียบ “ผลเสีย” ที่จะตามมาจากการกินของ “ดิบ” ดูจะไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ อีกทั้งร่างกายคนเราจะดูดซึม “โปรตีน” จากการกินไข่ดิบได้แค่ “ครึ่งเดียว” และความจริงแล้วการกินไข่ดิบเป็นอันตรายต่อคนที่มี “ภูมิต่ำ” เช่น คนแก่กับเด็ก
คำถามคือแล้ว “ไข่ลวก-ไข่ดาว-ไข่ต้ม” แสนอร่อย“ไข่แดงเยิ้มๆ” ยังกินได้อยู่ไหม และมันต้องสุกระดับไหนถึงปลอดภัย คำตอบของนักกำหนดอาหารวิชาชีพรายนี้คือ “ได้”
“ปรุงให้กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือเป็นมะตูม โอกาสที่เราจะเจอซัลโมเนลลา มันก็น้อยกว่ากินแบบดิบๆ หรืออย่างน้อยก็ให้ไข่ขาวสุก ให้ความใสของไข่ขาวเป็นสีขาว อันนี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้”
“เชื้อซัลโมเนลลา”มักจะอยู่บริเวณเปลือกไข่ด้านนอก แต่ถ้ามีการปนเปื้อนมากๆ เชื้อก็อาจซึมเข้าไปด้านในไข่ ฉะนั้น ควรล้างไข่ทุกครั้งก่อนทำอาหารและ “ปรุงสุก”ก่อนทาน
เมนูที่น่าเป็นห่วงคือ พวก “ไข่ดองน้ำปลา” หรือเนื้อย่างจุ่มไข่ดิบแล้วกิน ตามร้านปิ้งย่างมากกว่า เมนูเหล่านี้ไม่ควรกินบ่อยๆ แต่ปัจจุบันเรามีไข่ที่เป็นเกรด “ปลอดเชื้อซัลโมเนลลา” ไข่เกรดนี้สามารถกินดิบได้
“แต่ก็ไม่ใช่ทุกร้านจะใช้ไข่เกรดนี้ หากไม่มั่นใจแหล่งที่มาของไข่ หรือถ้ารู้ว่าช่วงนี้เราภูมิต่ำ ก็เลือกการปรุงสุกไว้ก่อน”
{ “ไข่ดองน้ำปลา” ไม่ควรกินบ่อย และถ้าไม่มั่นใจแหล่งที่มา }
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : kaijeaw.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **