xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสริมให้ “ปั๊มลูก” แต่รากฐานผุกร่อน-ขาดแคลน เจาะจุดเสี่ยงก่อนดันเป็น “วาระแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” จนสาธารณสุขเตรียมประกาศ “ส่งเสริมการมีลูก” เป็น “วาระแห่งชาติ” ตกลงแค่โยนหินถามทาง หรืออยากช่วยสร้าง “คุณภาพชีวิต” จริงๆ

พร้อมแค่ไหนกับการหนุน “วาระแห่งชาติ”?

“ส่งเสริมการมีบุตร” คือ“วาระแห่งชาติ” รัฐบาลเตรียมประกาศ!? เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อัปเดตว่าได้มอบหมายให้กรมอนามัยขับเคลื่อนนโยบาย “ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ” ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great Worldการเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่”

สนับสนุนให้โรงพยาบาล ใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดตั้ง“คลินิกส่งเสริมการมีบุตร” บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ รวมถึงรักษาภาวะมีบุตรยาก

โดยมีนโยบาย“ส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ”ให้การพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ปัญหานี้
สาระสำคัญคือมาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก



เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า มาตรการดังกล่างจะช่วยเหลือปัญหาสังคมอย่างไรบ้าง ทางทีมข่าวจึงขอให้ผศ.ดร.ธนานนท์ บัวทอง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยวิเคราะห์

คำตอบโดยภาพรวมคือ“นโยบายสาธารณะ” ที่ช่วยส่งเสริมหรือลดอุปสรรคในการมีลูก มีเครื่องมืออยู่หลายอย่าง ทั้งเรื่อง“การสนับสนุนทางการเงิน”อย่างการให้เงินตอนเกิด ลดภาษีในสินค้าที่เกี่ยวกับเด็ก

“สวัสดิการเกี่ยวกับเด็ก” เรื่องการศึกษา การรักษา มี “Child Care” หรือศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูกและเข้าถึงง่าย ก็รวมอยู่ในนโยบายตรงนี้ได้

อีกเรื่องคือนโยบายเกี่ยวกับ “Work Life Balance”การลาทั้งหลายที่มอบให้พ่อ-แม่ เพื่อให้สามารถตกลงเวลาทำงานกับนายจ้างได้ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก

                                                      {ผศ.ดร.ธนานนท์ บัวทอง  ม.ธรรมศาสตร์}

แค่โยนหินถามทาง หรือตั้งใจผลักดันจริง

“แต่พอดูจริงๆแล้ว เรื่องนี้ถ้าถามว่า นโยบายอะไรใช้แล้วประสบความสำเร็จบ้าง มันยังไม่ค่อยมีงานวิจัยออกมาเท่าไหร่นัก เพราะว่าจริงๆ แล้วนโบายสาธารณะเหล่านี้ เพิ่งถูกหยิบมาใช้ในยุโรปกับอเมริกา”

ดร.ธนานนท์ ให้ข้อมูลต่อว่า จากเอกสารเมื่อปี 2021 ฝั่งยุโรปบอกว่ามี 3 สิ่งที่สำคัญที่ให้การมีลูกในยุโรปเพิ่มมากขึ้น อย่างแรกคือ“Child Care” การมีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ที่มีคุณภาพ ราคาถูกและเข้าถึงง่าย

2 คือ “ระบบการเงินในการช่วยเหลือ” ต่างๆ ไม่ว่าจะให้เป็นก้อนหรือรายเดือน และสุดท้ายคือ “Parental Leave”หรือ“การลาเพื่อเลี้ยงลูก”คือนอกจากแม่ที่สามารถลาได้ปกติแล้ว เขายังเพิ่มให้พ่อสามารถลาได้ด้วย

แต่ถ้ามาอยู่ในบริบทไทย “อาจจะไม่ได้ผลเหมือนยุโรป” เริ่มตั้งแต่ปัญหาเรื่อง“ศูนย์เลี้ยงเด็ก”ซึ่งทางฝั่งยุโรปมองว่า “สำคัญมาก”เพราะบ้านเขาไม่ได้มี ปู่ย่า-ตายาย มาช่วยเลี้ยงหลานเหมือนบ้านเรา

เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในบริบทสังคมแบบเอเชีย แต่มันคงช่วยลดภาระการเลี้ยงดูเด็กของคนแก่ในบ้านเราได้ระดับหนึ่ง



และเรื่อง“การให้เงินช่วยเหลือ” ซึ่งจะช่วยให้เห็นผลแค่ระยะสั้น เพราะสุดท้ายด้วย“สภาพสังคมที่ไม่ดี”จะส่งผลให้ข้าวของ หรือต้นทุนในการเลี้ยงลูกก็ยังคง “แพง” อยู่ดี มันจึงส่งผลดีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นคือ “คนที่อยากมีลูกอยู่แล้ว” แต่ติดปัญหาเรื่องการเงิน

สุดท้ายคือ “Parental Leave” การเพิ่มให้พ่อสามารถลาเพื่อมาเลี้ยงลูกได้ ในยุโรปมันช่วยให้คนมีลูกมากขึ้น ซึ่งต้องเข้าใจว่า สังคมเขา “ผู้ชายค่อนข้างมีบทบาทในเลี้ยงดูลูกเยอะ” และมีการพูดเรื่องนี้กันมาตลอด

“คำถามก็คือ ถ้ากลับมาที่เมืองไทย สิ่งนี้มันจะช่วยให้เรามีลูกมากขึ้นขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับบริบทบ้านเราว่า ผู้ชายมีส่วนรวมในการเลี้ยงลูกมากแค่ไหน และอยากมีส่วนรวมหรือเปล่า”

อย่างไรก็ตาม “การส่งเสริมให้คนมีลูกนั้นก็ควรทำ” แต่ที่น่ากังวลก็คือ เมื่อมีนโยบายแล้ว และสมมติว่าใช้เงินกับนโยบายนี้ไปเยอะ แต่จำนวนเด็กกลับไม่เพิ่มขึ้น มักจะถูกมองว่า “เป็นความล้มเหลว แล้วเราก็จะยกเลิกมัน”

“ในความเห็นผม มันไม่ถูกต้องครับ ประเด็นคือแค่มันไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว มันก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มันก็บีบให้คนไม่อยากมีลูกอยู่แล้ว”



“คุณภาพชีวิต” ยังไม่ดี ใครจะอยากมีลูก?

ตอนนี้ดูเหมือนนโยบายจะเน้นพูดถึงเรื่องทำยังไงให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น แต่คำถามหนึ่งที่อาจลืมไปคือ“คุณภาพชีวิตของเด็ก” ที่จะโตมาล่ะ จะเป็นแบบไหน? เรื่องนี้ ดร.ธนานนท์ บอกว่านี้ “เป็นเรื่องใหญ่ครับ”

“ถ้าดูของยุโรป นโยบายเขาจะไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะว่าระดับของการพัฒนาเราไม่เท่าเขา เขาอยู่ในยุคที่การศึกษาเขาดีแล้ว มีระบบบำนาญสำหรับทุกคน”

ทำให้นโยบายเขาพูดถึงเรื่องที่เฉพาะจุดมากๆ อย่าง“การเงิน” หรือ“การแบ่งเวลา” ระหว่างงานกับการเลี้ยงลูก เพราะ “เขามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว”ไม่เหมือนกับไทย

ประเทศที่ “การศึกษา” เราก็ยังไม่มีคุณภาพดีพอ การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ “ดีไม่เท่ากัน” รวมทั้งเรื่อง “ระบบบำนาญ” ที่จะทำให้คนสามารถดูแลตัวเองได้ “หลังวัยเกษียณ” เราก็ยังไม่มี



“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ท้าทาย” ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ คนก็ยังคงมีความกลัวในการมีลูก ว่าเด็กจะเติบโตมาในคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี

ตรงนี้ต้อง “วางพื้นฐานตั้งแต่เกิด” คือทั้งสิทธิ์ในการรักษาที่ดี การเข้าถึงการศึกษาที่ดีพอๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โอกาสในการมีงานทำ ที่มีผลตอบแทนมากพอในการเลี้ยงดูชีวิต จนไปถึง“ตอนท้ายของชีวิต” ว่าจะมีระบบที่ทำให้เขาดูแลตัวเองได้อย่างไรหลังเกษียณ

“เพราะงั้น สิ่งที่ต้องทำคู่กันไปคือเรื่องพวกนี้ครับ มันแยกกันไม่ได้ ถ้าส่งเสริมให้คนมีลูกเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มันไม่ดีพอ สุดท้ายแล้วใครจะอยากมีลูก”

เรื่องนี้ไม่ใช้แค่“คุณภาพชีวิตเด็ก” แต่ต้องมองว่าเรามีโครงสร้างอะไรที่จะรองรับ“ชีวิตคน” ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างครบวงจรแล้วหรือยัง? เพราะสุดท้ายเมื่อเกิดมา เขาก็จะต้องโตขึ้นและใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพสังคมที่เป็นอยู่



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น