xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนเพิ่ม-มะเร็งผิวหนังเพียบ!! “คนไทย” ป่วยเพิ่มทุกปี หายนะ “ตัวกรองแสงยูวี” หายไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถิติเผย คนไทยป่วยเป็น “มะเร็งผิวหนัง” เยอะขึ้น 10% พบมากในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่แฝงตัวสะสมมาตั้งแต่ช่วยอ่อนเยาว์

“โลกเปลี่ยน” เสี่ยงเป็น “มะเร็งผิวหนัง”

ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ คนไทยยังคงต้องทนกับความร้อนและแสงแดด ที่ดูเหมือนว่าจะแรงขึ้นทุกๆ ปี แต่ไม่ใช่แค่ความร้อนอย่างเดียวที่เพิ่มขึ้น “รังสี UV” ก็แรงขึ้นด้วยและแน่นอนสิ่งที่ตามมาก็หนีไม่พ้น “มะเร็งผิวหนัง”

ทีมข่าวพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในแต่ละปี ไทยเรามี “ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่” เฉลี่ย 4,374 คน หรือเฉลี่ยตกวันละ 12 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นี่คือสถิติจาก “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ปี พ.ศ. 2559-2561



อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น? นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ช่วยอธิบายเอาไว้ให้เห็นภาพชัดขึ้น

“เพิ่มขึ้นจริงครับ” มีการเก็บสถิติเรื่อง“มะเร็งผิวหนังในคนไทย” โดยต่างชาติ พบว่า จำนวนคนป่วยเพิ่มทุกปี และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 10%

“สาเหตุเชื่อว่า แสงแดดเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งคนไทยเจอแสงแดดมากขึ้น การเป็นมะเร็งผิวหนังก็เพิ่มขึ้น เนื่องการใช้ชีวิตประจำวัน”

อีกอย่างหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทุกวันนี้การแพทย์ของไทยดีขึ้น คนสามารถเข้าถึงบริการการตรวจมะเร็งได้ง่ายขึ้น แล็บที่ใช้ตรวจก็มีมากขึ้น ทำให้ตรวจเจอได้ง่าย “ตัวเลขมันก็เลยเพิ่มขึ้นครับ”



หนึ่งในอาการของ “มะเร็งผิวหนัง”ที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ“แผลที่เรื้อรัง”ในสมัยก่อนเวลาไปโรงพยาบาล เขายังไม่มีเครื่องมือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หมอจะให้แค่ยารักษา หรือคิดว่าเกิดจากโรคเบาหวาน

“ปัจจุบันพอไปถึงโรงพยาบาล หมอสงสัยเขาตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ มันก็จะได้คำตอบชัดเจน”

                                          {“นพ.วุฒิ” โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ}

“การแพทย์ไทยพัฒนาขึ้น”ทำให้เราตรวจเจอ “มะเร็งผิวหนัง”ได้เยอะขึ้นตรงกับคำตอบของ นพ.ปุณวิศ สุทธิกุลณเศรษฐ์รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็มีผลเช่นกัน

โดยปกติแล้ว ในชั้นบรรยากาศจะมี “ตัวกรองแสง UV”แต่ระยะหลังๆ ตัวกรองแสงนี้ “หายไป”ทำให้แสง UV ถูกส่งลงมาที่ผิวโลกมากขึ้น“เพราะงั้น ผิวเราก็สัมผัส UV มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดมะเร็งผิวหนังก็มากขึ้นครับ”



แน่นอนว่า มะเร็งเกิดได้จากหลายปัจจัย “การกิน”หรือ “นำสารบางชนิดมาสัมผัสกับผิวหนัง”โดยเฉพาะสารเคมีจากอุตสาหกรรมก็ทำให้เกิดโรคร้ายได้เช่นกัน

“โลกที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมมากขึ้น ก็ทำให้มีสาเคมีที่ก่อมะเร็งได้มากขึ้นด้วยครับ ปัจจัยนี้คนทั่วโลกกำลังเจออยู่”

                                           {“นพ.ปุณวิศ” สถาบันโรคผิวหนัง}

ภัยเงียบที่ “คนมองข้าม”

“มะเร็งผิวหนัง” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่หลายคนมองข้ามเลยก็ว่าได้ โดยหลักๆ แล้วถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ “มะเร็งเบเซลเซลล์(Basal Cell CarcinomaหรือBCC)”, “มะเร็งสเควมัสเซลล์(Squamous Cell CarcinomaหรือSCC)” และ “มะเร็งเมลาโนมา(Malignant Melanoma)”

ด้าน “นพ.วุฒิ” บอกว่า “มะเร็งเบเซลเซลล์”และ“มะเร็งสเควมัสเซลล์” เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ที่พบในคนไทย ซึ่งรักษาได้ง่าย เพราะสังเกตอาการง่ายอย่างการเป็นแผลเรื้อรัง

“พอเวลาเป็นแผล คนจะตระหนักมากกว่า ทำไหมแผลตรงนี้ไม่หายสักที เขาก็จะไปหาหมอได้เร็วกว่า”



แต่ที่น่ากลัวคือ“เมลาโนมา” ซึ่งมีลักษณะคล้าย“ไฝ” ที่“โตขึ้น” หรือ“มีรูปร่าง-สีที่ผิดปกติไป” คุณหมอวุฒิ บอกว่า “บางคนก็ไม่สนใจ ก็ไฝมีมาตั้งแต่เด็ก มันโตขึ้น มันโตตามวัย งั้นก็ไม่เป็นอะไรหรอก”

ทำให้ส่วนใหญ่ที่มาพบหมอ ก็จะกลายเป็น“ระยะลุกลาม” ไปแล้ว และเวลา “เมลาโนมา” มันกระจายตัวนั้น มันจะเข้าไปทำร้าย “ปอด” และ “กระดูก” ทำให้มะเร็งชนิดนี้อันตรายกว่า 2 ชนิดที่เหลือ

“ถ้าเป็นมะเร็งเบเซลเซลล์ กับมะเร็งสเควมัสเซลล์ อาจไม่ร้ายแรง เพราะจะมาหาหมอได้เร็ว แต่ถ้าเป็นมะเร็งเมลาโนมา อันนี้ร้ายแรง คนไข้มักจะมาหาแพทย์ช้า กว่าจะเริ่มมีอาการมะเร็งมันก็ลามไปแล้ว”



ด้าน“คุณหมอปุณวิศ”บอกว่า“ไฝ”ปกตินั้นสามารถ “โตขึ้นได้แต่ช้า” และรูปร่างจะเป็น“วงกลม” หรือ“วงรี” ที่”สมมาตร” ขอบเรียบ และ“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสี ไม่มีการแตกเป็นแผล ไม่มีเลือดออก”

แต่ถ้า “ไฝ” นั้น มีเลือดออก มีการนูนออกมานอกวงกลม หรือสีของไฝในจุดเดียวกันไม่เท่ากัน แนะนำให้ควรไปพบแพทย์ และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหามะเร็งผิวหนัง



ปรากฏผลชัด เมื่อร่างกายซ่อมแซมไม่ไหว

อีกลักษณะของ “มะเร็งผิวหนัง”ส่วนใหญ่มักเกิดกับ “ผู้สูงอายุ”มากกว่าเด็กๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่วัยใสจะสบายใจได้ เพราะอย่างที่บอกว่า นี่คือภัยร้ายที่คนส่วนใหญ่มองข้าม และสุดท้าย“รังสี UV”ก็จะค่อยๆ ทำร้ายเซลล์ผิวหนังไปเรื่อยๆ แล้วไปส่งผลเสียในอนาคต

นพ.ปุณวิศ จากสถาบันผิวหนัง อธิบายว่า ผิวหนังคนเรา สามารถซ่อมแซมได้ หลังจากสัมผัสกับแสง UV แต่พออายุมากขึ้น การซ่อมแซมนี้ก็จะลดลง

“ตอนเด็กๆ ไม่มีอาการอะไร คนก็คิดว่าไม่น่าเกิดกับตัวเอง แต่พอถึงวัยหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ มันก็เกิดมะเร็งขึ้นครับ”



มะเร็งชนิดนี้ แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพแบบทันที แต่ในระยะยาวไม่ดีแน่ คุณหมอวุฒิบอกว่า แม้จะไม่ค่อยพบในคนอายุน้อย “แต่ต้องให้เขาป้องกันตั้งแต่เด็ก เพื่ออนาคตจะได้ไม่เป็น”

สิ่งที่ทำได้คือ ควรเลี่ยงการสัมผัสกับแสง UV โดยเฉพาะช่วงที่แดดแรงๆ หรือถ้ามีความจำเป็น ก็ควรสวมเสื้อผ้าเพื่อป้องกันผิว ไม่ให้โดนกับแดดโดยตรง หรือทาครีมกันแดดทุกครั้ง

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก “Thainakarin Hospital”
ขอบคุณภาพ : ugeskriftet.dk, bangkokhospital.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น