xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยค่าครองชีพต่ำ” ในระดับโลก อย่าเพิ่งดีใจ แค่ถูกเทียบ “ผิดที่-ผิดทาง”!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผย “ไทยค่าครองชีพต่ำ” อยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก “จริงเหรอ?” ชวนกูรูวิเคราะห์ เหตุใดไทยถึงถูกมองว่าค่าครองชีพ “ลด” ทั้งที่หลายคนยังบ่นว่า “สูง”

“ต่ำ” หรือ “สูง” อยู่ที่เทียบกับใคร

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)เปิดดัชนีค่าครองชีพของปะเทศต่างๆ ”Cost of Living Index” ที่ทำโดย “Numbeo”เว็บที่รวบรวมข้อมูลค่าครองชีพระดับโลก

โดยคำนวณจาก ค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้า-รองเท้า ค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย)

ด้วยการเอาข้อมูลไปเปรียบเทียบกับค่าครองชีพของเมือง “นิวยอร์ก” อเมริกา จนได้ผลออกมาว่า ค่าครองชีพของไทยในปี 2567 อยู่ที่ 36% ของค่าครองชีพในนิวยอร์ก ทำให้ไทยอยู่ “ลำดับที่ 94”ซึ่งลดลงมาจากที่ปีแล้ว ซึ่งอยู่ “อันดับที่ 79”

                           { "ค่าครองชีพ" ของประเทศต่างๆ จาก "Cost of Living Index" }

แต่เมื่อมาเทียบกันในแถบอาเซียน ไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศ “สูงกว่า” ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ “ต่ำกว่า” กัมพูชา เมียนมา บรูไน และ สิงคโปร์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวไว้ว่า “ค่าครองชีพของไทย เมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยได้รับผลดีจากมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม”

ตอบข้อสงสัยที่ว่า ค่าครองชีพของไทย “ต่ำลง” จริงหรือ? เพราะมันดูสวนทางกับความคิดของใครหลายคน ทางทีมข่าวจึงขอให้ รศ.ดร.​กิริยา​ กุลกลการคณะเศรษฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยวิเคราะห์
โดยมองว่า ผลการสำรวจดังกล่าว เพียงบอก “ราคาที่ต้องจ่ายในแต่ละประเทศ”ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้องดูว่าประชากรต้องใช้เงินเท่าไหร่ในขั้นต่ำที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ปัจจัย 4”

“มันไม่สะท้อนอำนาจการชื้อของคนไทย มันแค่บอกว่าราคาที่ต้องจ่ายมันถูกหรือแพง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ถ้าเป็นอำนาจการซื้อ มันก็ต้องไปเทียบกับรายได้”


                                 { “ดร. กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ }

การเทียบกับ “ค่าครองชีพในอเมริกา” ซึ่งเป็นคนมีรายได้สูง ถ้าเขามองเข้ามายังไง “ต้นทุนในการใช้ชีวิต” บ้านเราก็ต้องต่ำกว่า เพราะ “รายได้เขาสูงกว่า”

กลับกัน ถ้าเป็นมุมมองของคนในประเทศที่ “รายได้ไม่ได้โตตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น” ทำให้ไม่เห็นว่าค่าครองชีพต่ำอย่างที่ถูกมอง เหมือนในผลสำรวจ “คือในไทยของถูกกว่าที่อื่นก็จริง แต่รายได้ที่รับมามันก็น้อย”

สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนผู้ประกันตน ที่บอกว่า ดัชนีนี้ชี้แค่ว่า ราคาสินค้าที่จำเป็นที่ไหนถูกกว่ากัน แต่ไม่สามารถวัดภาพใหญ่อย่าง “คุณภาพชีวิต” ได้

“สมมติว่ากินข้าวธรรมดา 80 บาทต่อมื้อ ถ้าเราไปถามคนยุโรป เขาก็ต้องบอกว่าถูกมาก เพราะเขาซื้อแซนด์วิชกินชิ้นนึงก็ 100 กว่าบาทแล้ว”

แต่อย่าลืมว่าค่าแรงในยุโรปขั้นต่ำคือ 2,500 บาทต่อวัน ถ้าเขากินข้าวนอกบ้าน 3 มื้อ อาจจะอยู่ที่ 600 บาท แต่ถ้าเป็นคนไทยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน กินข้าว 3 มื้อ อาจจะอยู่ที่ 200-250 บาท

                          { “ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษ” คณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนผู้ประกันตน }

รู้ไว้ ยังไม่ใช่ “ต้นทุนที่แท้จริง”

“จริงๆ ถ้าเราอยากดูคุณภาพชีวิตของคน หลังๆ ต้องดูรายได้ที่แท้จริง คือเงินที่เขาได้รับ แล้วก็หักพวกต้นทุนค่าใช้จ่ายในการยังชีพ มันต้องดู 2 อย่างประกอบกัน”

คือวิธีที่จะสะท้อนค่าครองชีพ ให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด คำถามคือเงินส่วนใหญ่ของคนไทยหมดไปกับอะไร?

รศ.ดร.​กิริยา ช่วยไขข้อสงสัยว่า ถ้าดูในแรงงานที่ต้องย้ายถิ่นมาทำงานอย่างในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าต้องเสีย “ค่าที่พัก” และ ”ค่าเดินทาง” ซึ่งถ้าดูค่าขนส่งสาธารณะบ้านเรา เมื่อเทียบกับค่าแรงแล้ว ก็ถือว่า “สูง”
“ยังไม่รวมค่ารักษาพยายาลอีก ถ้าไม่พึ่งบัตรทอง”



แถมในอนาคตค่าครองชีพต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ตอนนี้ค่าสาธารณูปโภคอย่างน้ำมัน ไฟฟ้า และอื่นๆ ที่รัฐให้เงินอุดหนุนอยู่ ทำให้คนยังไม่ได้แบกรับ “ต้นทุนที่แท้จริง”

“แต่รัฐไม่สามารถทำแบบนี้ได้ตลอด ระยะยาว ยังไงเราก็ต้องจ่ายต้นทุนที่แท้จริง”

ส่วนในมุมของ ดร.ษัษฐรัมย์ เสียงสะท้อนจากแรงงานก็บอกตรงกันว่า “ค่าครองชีพไทย”นั้น “สูง” และแบ่งออกได้เป็น 2 มิติคือ “ค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน” และ“ค่าครองชีพในเชิงสวัสดิการ”

“ในประเทศนี้ บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ถ้าคุณอยากได้ของดี คุณต้องจ่ายแพง หรือคุณต้องยอมชื้อประกันสุขภาพราคาแพง”



ภาพนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกระดับ ทั้งคนระดับล่าง กลาง ไม่จนถึงระดับบน ที่รู้สึกว่าค่าครองชีพต่างๆ มันแพง เพราะถ้าอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกอย่างต้องซื้อ และมันก็สร้างความเครียดให้คนในสังคมไทย

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้คือ “รายได้” ที่ “โตไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น” ทำให้คนไทยไม่มีรายได้ที่มากพอ รวมถึงเราเพิ่งผ่าน “ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง” กับราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นสูง แต่ค่าแรงไม่ได้ปรับตาม ซึ่งเรื่องที่น่าเป็นกังวลคือ รัฐบาลกลับปรับค่าแรงขึ้นแค่ 2 บาท หรือปรับขึ้นแค่บางพื้นที่

“การเพิ่มค่าแรง มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างใต้หวัน ค่าครองชีพเขาใกล้เคียงกับเรา แต่ค่าแรงเขาสูงกว่าเราถึง 3 เท่า ข้าวแกงเขาจานละ 70-80 แต่ค่าจ้างขึ้นต่ำเขาเดือนละ 30,000 นะครับ”



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : numbeo.com, chainat.moc.go.th



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น