xs
xsm
sm
md
lg

“ตั้งท้องวัยเด็ก-ติดเชื้อตั้งแต่ 11” เด็กโตไว หรือผู้ใหญ่สอนไม่ทัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตกใจ เด็กชายวัย 11 มั่นใจติด HIV แน่นอนเพราะ “แฟนผมเป็น” กับอีกแคสเด็กสาวตั้งท้องตั้งแต่วัย 12 น่าตั้งคำถาม เด็กสมัยนี้โตไวเกินไป หรือผู้ใหญ่ไม่กล้าสอนเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง?

แค่อายุ 11 ก็มี “Sex!!” แล้ว

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อ เด็กชายวัยเพียง 11 ปี ติด HIV เพราะไปมีสัมพันธ์กับแฟนสาววัย18 เรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านแฟนเพจ “ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor”ผ่านแชทของหมอรายนึงที่รักษาเคสนี้ แล้วเจอว่า “ผิดปกติตรงอวัยวะเพศ”

“เด็กผู้ชายอายุ 11 มีหนองออกที่อวัยวะเพศ... จะขอตรวจ HIV ด้วย น้องตอบมั่นใจ ไม่ต้องตรวจ แฟนผมเป็น ผมติดเป็นเพื่อนแฟน”
ส่วนคุณหมอเจ้าของเรื่อง ก็ได้แต่แนะน้องไปว่า ควรบอกคุณพ่อ-คุณแม่ก่อนไหม “ยังไม่บรรลุนิติภาวะเลย”



น่าคิดหนักยิ่งกว่าเดิม เมื่อ พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
“เด็กปัจจุบันโตไวกว่าที่คิดนะครับ บางโรงพยาบาลเด็กอายุ 12 ปีมาฝากท้องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องตามให้ทันนะครับ”

ส่งให้ชวนตั้งคำถามต่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นเรื่องที่สังคมไทยเจอกันมาตลอด จนทำให้เกิดการภาวะท้องไม่พร้อม หรือคุณแม่วัยใสให้เห็นบ่อยๆ แต่ประเด็นคือ “เด็กโตไวจริงๆ หรือเพราะเราไม่เคยสอนเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังกันแน่?”

หนึ่งในคนที่จะให้คำตอบตรงประเด็นได้ คงหนีไม่พ้นคนที่ต้องใกล้ชิดกับเด็กที่สุดอย่าง คนทำอาชีพ “ครู” เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน ช่วยวิเคราะห์เอาไว้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือการศึกษา และจิตวิทยาเชิงสังคม

                                                               {"ครทิว" จาก กลุ่มขอสอน}

การศึกษา ณ ปัจจุบัน เรื่อง “เพศศึกษา” มีการเปิดกว้าง และสอนอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในการสอบบางอย่าง เช่น วิธีใช้ถุงยาง ก็อาจมีความเหนียมอายอยู่ หรือยังมีคนที่ต่อต้านเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

การสอนเรื่องเพศ อย่างการดูแลตัวเองอย่างไร จริงๆ แล้วสามารถสอนเขาได้ตั้งแต่เด็กๆ แต่หลายคงไม่คิดว่าจะต้องสอนลูกเรื่องวิธีการป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ให้เด็กอายุ 11 ขวบ มันจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า...

“ในขณะที่ครูและพ่อแม่ควรจะต้องสื่อสารเรื่องเพศกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา คำถามคือเด็กอายุเท่าไหร่ที่ควรจะเริ่มเรียนรู้สิ่งเหล่านี้”



ยอมแลกทุกอย่าง เพื่อสิ่งที่ขาดหาย

“ทำไมเด็กถึงมีแฟนเร็ว มีอะไรกันเร็ว” หลายคนเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นในใจบ่อยๆ จากข่าวคราวที่เกิดขึ้น ก็ต้องบอกว่าในช่วงวัยรุ่น เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อะไรทำให้เด็กๆ มีเรื่องพวกนี้อยู่ในหัว ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั แต่รวมถึงการกระทำผิดต่างๆ ด้วย

สิ่งนี้ก็เกี่ยวกับ “จิตวิทยาเชิงสังคม” หมายถึงการที่เด็กมี “ครอบครัวที่สมบูรณ์” โดยคำว่า “สมบูรณ์”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การมีพ่อ-แม่ครบ แต่หมายความว่า เขาได้รับความรัก-ความอบอุ่นจนทำให้เขาโตตามวัยได้อย่างเหมาะสม

เพราะการที่เด็กไม่ถูกยอมรับ ไม่ถูกใส่ใจ จากครอบครัวหรือจากใครเลย เมื่อมีใครบางคนหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ ที่เขารู้สึกว่าขาดหายไปมาโดยตลอด เด็กก็จะวิ่งหาคนนั้น ไม่จะเป็นเพื่อน แฟน หรือใครก็ตาม

“สุดท้ายเขาก็จะกลัวที่จะเสียมันไป เขาจึงยอมทำได้ทุกอย่าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้”



อีกเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่าเด็กวัยรุ่นทุกยุค “มีความอยากรู้-อยากลอง”แต่ด้วยโลกที่ทันสมัย เด็กจึงเข้าถึงสื่อลามก ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน เพราะทุกคนมีมือถือ

“ต่อให้ไม่แสวงหา มันก็มาเอง” สื่อในชุมชนออนไลน์ แม้จะมีกฎระเบียบเรื่องความอนาจาร แต่ก็ยังมีหลุดรอดมาได้อยู่ดี เช่น ภาพวาบหวิว มันก็จะค่อยๆ ดึงเด็กเข้าไปในเรื่องนี้

“แน่นอนเขาก็ไม่กล้าคุยกับพ่อแม่หรอก หรือพ่อแม่บางคนก็ปิดกั้นไปเลย แทนที่จะอธิบายเขาอย่างตรงไปตรงมา”



เมื่อไหร่ ควรเริ่ม “คุย” กับเด็ก

เมื่อไม่กล้าพูดคุยเรื่องเพศกับเด็ก ปัญหาแบบนี้ก็จะมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และต้องเข้าใจว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถปิดกั้นพวกเขาจากเรื่องเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะโลกยุคนี้ จึงเกิดคำถามว่าพ่อ-แม่ยุคใหม่ ควรเปิดใจคุยกับลูกมากแค่ไหน

คุณครูรายเดิมบอกว่า ทุกวันนี้มีพ่อ-แม่และครู ที่กล้าคุยเรื่องเพศกับเด็กเยอะขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่คุยเลย แต่ถามว่าสัดส่วนเยอะแค่ไหน ก็เชื่อว่ายังน้อยกว่าคนที่ไม่กล้าสอนเรื่องพวกนี้กับเด็ก

“สังคมไทยเป็นสังคมที่มือถือสากปากถือศีลอยู่นะครับ หมายความว่าเราพยายามจะมีศีลธรรม ทำให้ไม่กล้าพูดเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ มันมีหลายเรื่องเลย ที่เราไม่กล้าพูดความจริง”

อย่างคุยเรื่องเพศกับเด็ก จริงๆ เริ่มสอนได้ตั้งแต่วัยอนุบาล อย่างสอนเรื่อง “พื้นที่หวงห้ามบนร่างกาย” เช่น การที่ผู้ใหญ่มาเตะเนื้อตัวเขาแบบนี้ทำไม่ได้นะ เขาจะได้ไม่เคยชิน แล้วคิดว่านี้เป็นการแสดงความรัก



พอเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุ 12-13 ปี เราต้องคุยกับเขาแล้วว่า ถ้ามีความรัก ควรแสดงออกยังไง ควรจัดการกับอารมณ์ และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นยังไง

“ผมว่าสิ่งสำคัญคือ ความเข้าใจของครู-ผู้ปกครอง ต่อจิตวิทยา พัฒนาการของเด็ก”

แต่ก็จะมีคนมองว่า “การสอนเรื่องพวกนี้ เราจะส่งเสริมให้เด็กไปมีอะไรกันเหรอ” ครูทิวตอบคำถามนี้ว่า การคุยเรื่องเพศ ไม่ใช่การส่งเสริมให้เขาไปมีเพศสัมพันธ์ แต่มันจะทำให้เขาตระหนักหรือระวังตัวได้มากขึ้น

“ถ้าเราไม่บอกเขา แล้ววันนึงเขาไปอยู่ในสถานการณ์นั้น แล้วเขาจะไปเรียนรู้ตอนไหน หรือเราจะอยู่บอกเขาในสถานการณ์นั้น ในที่ตรงนั้นหรือเปล่า”



และอีกเรื่อง แม้เราจะมีการสอนเพศศึกษา อย่างเรื่อง “วิธีการป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์” แต่สิ่งที่เจอคือ “เด็กหลายคนรู้วิธีป้องกัน แต่ไม่ทำ” ซึ่งถือเป็นเรื่อง “การยับยั้งชั่งใจ” ที่เด็กไม่มี เพราะไม่ค่อยได้บอกได้สอนกัน

คือเราสอน “วิธีป้องกัน วิธีใช้” เราบอกเขาแค่ว่าต้องทำอะไร ยังไง แต่สิ่งที่เราลืมไปคือเรื่อง “ความสัมพันธ์ ความต้องการครอบครอง-เป็นเจ้าของ” ซึ่งคือเรื่องปกติของมนุษย์

พอเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” เราไม่เคยสอนพวกเขาว่าต้องทำตัวยังไง จัดการกับความสัมพันธ์นี้ยังไง และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว มันมีอะไรบ้าง สุดท้ายผลของการไม่เคยพูดคุยเปิดใจอย่างเหมาะสม จึงออกมาอย่างที่เห็น



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก  “อิทธพร คณะเจริญ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น