“มาถึงทุกวันนี้ได้ เกินฝันค่ะ” เปิดใจ “เบียร์ - อารียา” อดีตผู้ช่วยพยาบาลผู้หันหลังให้เมืองหลวง มาทำฟาร์มควายที่บ้านเกิด รับทรัพย์ไม่ธรรมดา จาก “ขี้ควาย” ก็ได้หลายหมื่นต่อเดือนแล้ว!!
วางมือจากคนไข้ มาทำฟาร์มควาย
“เบียร์เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 18 ได้ พอเรียนจบปุ๊บก็เรียนต่อไม่นานแล้วก็ไปทำงานเลย พอเก็บเงินแล้วก็เอามาซื้อควาย ทำงานไป 5 ปีแล้ว รู้สึกว่าโอเค… เรามีควายมากพอ ช่วงนั้นที่เบียร์ตัดสินใจออกมาก็คือขายได้เลย ช่วงนั้นกำไรเยอะมาก น่าจะขายได้ล้านกว่าบาทมั้งคะที่เบียร์เลี้ยงควาย รู้สึกว่าทางนี้มันน่าจะเวิร์ก ก็เลยตัดสินใจออกมาทำตรงนี้เต็มตัว”
สาวสวยผู้อยู่ท่ามกลางฝูงควายหลายสิบตัวคนนี้คือ “เบียร์ - อารียา วงรินยอง” เกษตรกรวัย 25 ปี เจ้าของ “อารียาฟาร์ม” ฟาร์มควายบนพื้นที่ 14 ไร่ ใน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เธอคือดาวดังในแวดวงควายบนโลกออนไลน์บ้านเรา ที่ไม่เพียงแค่ความสวยอย่างเดียว แต่เบียร์ยังถ่ายทอดวิถีชีวิตเกษตรกรคนเลี้ยงควาย ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของฟาร์มมาให้ได้รับชมเสมอ ทำให้ตอนนี้ Facebook “Areeya Farm Buffalo” มีผู้ติดตามถึง 3.8 แสนคนเลยทีเดียว
ชีวิตของเบียร์ เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สุขสบายนัก วันที่ว่างจากการเรียนเธอจึงต้องทำงานเพื่อนำเงินมาแบ่งเบาภาระที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่มีเงินเก็บจากการจับกุ้งและปลาในเขื่อน ก็เริ่มซื้อควายมาเลี้ยง อาศัยให้กินหญ้าบนพื้นที่เขื่อนห้วยหลวง
“ในวัยเด็กเบียร์ก็มีมีพี่ 1 คน พ่อแม่ทำงานหนักตั้งแต่หนูยังเด็กๆ เลย ก็รับจ้างทำทุกอย่างค่ะ ขุดมัน ทำก่อสร้าง เกี่ยวหญ้าเอามาขาย แล้วก็หากุ้ง หาปลาตามเขื่อน อะไรอย่างนี้ เวลาปิดเทอมเบียร์ก็ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างค่ะ ไปดายหญ้า ไปปลูกมันบ้าง เวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ค่ะ พอได้เงินมาก็ให้พ่อแม่หมดเลย
ทีแรกก็ยังไม่ใช่ในด้านเลี้ยงควายค่ะ ก็มาเริ่มประมาณ 8-9 ปี แกก็เหมือนใส่กุ้ง ใส่ปลาตามเขื่อน แล้วพอดีช่วงนั้นได้เงินดีค่ะ พอได้เงินดีก็เริ่มเก็บซื้อควายปีละ 2 ตัว พอซื้อไปซื้อมาก็มีประมาณ 10 กว่าตัวค่ะ ก็ออกลูกมาด้วย
ควายมันต้นทุนไม่ค่อยมีค่ะ แล้วก็ช่วงนั้นคนเลี้ยงไม่ค่อยเยอะแล้วก็มีพื้นที่เลี้ยง แกมาเขื่อนก็เห็นพื้นที่เลี้ยง มีหญ้าเป็นพันกว่าไร่เลยช่วงนั้น ก็เลยซื้อควายมา แกก็ไม่ได้เลี้ยงเสริมอะไรนะคะ ก็ให้กินหญ้าปกติมันก็เลยไม่มีต้นทุนในการเลี้ยง
เริ่มซื้อ ทยอยซื้อเข้ามา แกก็รับจ้างเสริมก็คือเลี้ยงให้ชาวบ้านด้วย ได้เงินเป็นเงินเดือนแล้วก็แบ่งลูกค่ะ เลี้ยงแบ่งลูกกับคนที่มาจ้างเลี้ยง แกก็จะได้ส่วนตรงนั้นด้วย
(ราคาควาย) ช่วงนั้นก็ไม่แพงค่ะ 20,000 กว่าบาท 30,000 เองค่ะ เป็นช่วงที่ควายถูก ยังไม่เป็นกระแสเท่าทุกวันนี้ค่ะ แกเริ่มซื้อก่อนเป็นแม่พันธุ์ค่ะ เหมือนมีเพื่อนเลี้ยงอยู่มีพ่อควาย แกก็เอาไปผสมกับของคนอื่นก่อน ช่วงนั้นไม่มีพ่อพันธุ์ค่ะ เพิ่งเริ่มก็เป็นตัวเมีย ซื้อแบบบ้านๆ มา แกก็เอามาพัฒนาเอาเอง ยังไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ก็มีควายงามอะไรงาม”
ก่อนที่จะเบนเข็มเข้าสู่วงการควายเหมือนอย่างในตอนนี้ เดิมทีเธอทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน แต่ด้วยความชอบในการเลี้ยงควายจากการที่เห็นพ่อแม่เริ่มต้นมาเป็นทุนเดิม จึงเป็นแรงผลักดันให้หญิงสาวผู้นี้ตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อมาซื้อควายเพิ่ม และตัดสินใจหันหลังให้เมืองหลวง มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเพื่อมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว
[ “อารียาฟาร์ม” อาณาจักรควายของเบียร์ ]
“พอช่วงนั้นที่เบียร์เรียนจบ เบียร์ก็ไปเรียนต่อผู้ช่วยพยาบาลค่ะ พอเรียนต่อผู้ช่วยพยาบาลเสร็จ พอจบมาเบียร์ก็ไปทำงานกรุงเทพฯค่ะ ช่วงที่พ่อแม่กำลังเลี้ยงควายอยู่ ก็ส่งเสียให้แกกินอะไรอย่างนี้ ช่วงนั้นแกก็รับจ้างเลี้ยงควายด้วยค่ะ ก็พอมีรายได้จากทางอื่นมาด้วย จากเบียร์มาด้วย แต่เบียร์ยังไม่ได้เข้ามาทำอย่างทุกวันนี้เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงกำลังเก็บตังค์อยู่
ในช่วงนั้นเป็นผู้ช่วยพยาบาล ทำงานในโรงพยาบาล เฝ้าไข้ที่บ้าน ทำงานที่คลินิก อะไรอย่างนี้ได้หมดเลย ที่เลือกที่จะไม่ต่อมหา’ลัย เลือกที่จะมาต่อสายนี้แทนเพราะคิดว่ามันหาเงินได้เร็ว แล้วก็เรียนระยะสั้นค่ะ ตอนนั้นเบียร์คิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีแล้วก็หางานง่ายมาก (ทำอยู่นานไหม) ก็หลายปีอยู่นะคะ ประมาณ 5 ปีได้
ช่วงนั้นน่าจะเป็นกระแสค่ะ แล้วก็ความชอบด้วยที่เห็นพ่อแม่เลี้ยงแล้วมันเกิดความชอบ เกิดอยากทำ อยากทำแบบจริงจังมากขึ้น ช่วงนั้นเบียร์ก็เลยเริ่มทำ OT เยอะขึ้น เก็บเงินให้มันได้มากขึ้นเพื่อที่จะกลับมาทำตรงนี้ค่ะ เบียร์ก็เก็บเงิน มันมีเงินเหลือค่ะ เก็บเงินได้เยอะขึ้นก็เลยเอาเงินมาให้พ่อแม่ซื้อเพิ่มมาเก็บไว้ให้ เพราะไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนที่ตรงไหน
มันเป็นความชอบ ก็เลยรู้สึกว่าเอามาลงทุนตรงนี้ดีกว่า เพราะควายมันเป็นสัตว์กินหญ้าค่ะ ไม่ค่อยมีต้นทุนไม่สูงเท่าไหร่ ก็เหมือนเป็นเงินเก็บค่ะ มีเงินออม ดีกว่าเอาไปฝากธนาคาร ณ ตอนนั้นนะคะที่เบียร์คิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี”
ได้ทายาทควายดังมาครอง โชคดียิ่งกว่าถูกหวย
จากควาย 2 ตัวในคอกสังกะสีในวันนั้น ก็ค่อยๆ ต่อยอดงอกเงย จนกลายมาเป็น “อารียาฟาร์ม” อาณาจักรควายขนาดย่อมๆ ติดกับเขื่อนห้วยหลวง ซึ่งเธอก็มีหน้าที่ดูแลภาพรวม คอยโปรโมตฟาร์มให้เป็นที่รู้จัก ควบคู่ไปกับธุรกิจ Bio oil น้ำมันสมุนไพรเพื่อป้องกันและกำจัดแมลงในสัตว์
“ช่วงนั้นก็คือเลี้ยงอยู่กลางเขื่อน เป็นคอกไม้ยูคาสังกะสีเก่าๆ ไม่ได้มีคอกใหญ่โตเหมือนทุกวันนี้ ช่วงนั้นไม่ได้เอาเงินไปใช้จ่ายอะไรเลย ได้เงินมาจากควาย พอขายควายได้ก็เอามาลงที่ตรงนี้หมดเลย
เอามาลงคอก เอามาซื้อที่ ขยับขยายมาทีละนิดทีละหน่อย พอได้กำไรก็มาลงคอกเพิ่ม เหมือนที่เห็นทุกวันนี้ก็คือคอกใหญ่โตมากประมาณ 14 ไร่แต่ว่าติดเขื่อน พอติดเขื่อนพื้นที่ข้างล่างก็จะเป็นทุ่งหญ้าพันกว่าไร่ เราก็สามารถปล่อยควายลงไปกินข้างล่างได้ค่ะ
มีสูงสุดประมาณ 120-130 ได้ถ้าจำไม่ผิดนะคะ ตอนนี้เหลือประมาณ 50 ตัวค่ะ แต่ก่อนรู้สึกว่าเลี้ยงเยอะแล้วมันดูแลไม่ทั่วถึงค่ะ ระบบการจัดการมันก็รู้สึกว่ามันไม่โอเค มันเยอะเกินไป เราดูแลไม่ไหว เบียร์ก็เลยเริ่มทยอยขายออก ก็เหลือประมาณนี้ รู้สึกว่าโอเค ดูแลทั่วถึง รู้สึกดูแลได้ดีกว่าเดิมจากตอนที่มีเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าตอนนี้มีแค่นี้ก็โอเคแล้วค่ะ
[ บทบาทเจ้าของธุรกิจน้ำมันสมุนไพรไล่แมลงสำหรับสัตว์ ]
เบียร์ออกจากงานได้ประมาณ 2-3 ปีได้แล้วค่ะ ที่ฟาร์มก็จะมีคนงาน เบียร์ก็จะคอยสั่งงานทำนู่นนี่นั่น แล้วก็โปรโมตฟาร์ม ทำการตลาด ส่วนตรงนี้ก็ให้คนงานและพ่อแม่ดูแลช่วย
ธุรกิจเสริมของเบียร์คือการทำฟาร์ม เบียร์จะมีธุรกิจหลักพวกน้ำมันสมุนไพรไล่แมลงสำหรับสัตว์ค่ะ ไม่ใช่เฉพาะแค่ควาย วัว แพะ ม้า แกะ ใช้ได้หมด หมาก็ใช้ได้ ป้องกันยุง ป้องกันแมลง
ก่อนที่เบียร์จะมาทำก็เห็นพ่อแม่ทำมาก่อน แล้วก็เรียนรู้จาก YouTube บ้าง ถามคนอื่นบ้างค่ะ เริ่มก็ไปเที่ยวตามฟาร์มต่างๆ จากฟาร์มปศุสัตว์บ้าง แล้วก็เลี้ยงแบบควายงามบ้างค่ะ ไปถามหาความรู้ เก็บเกี่ยวความรู้ แล้วก็มาปรับปรุงใช้ในฟาร์มของเรา เอามาพัฒนาต่อ”
หลังจากที่มีรายได้จากการเลี้ยงควาย เจ้าของอารียาฟาร์มก็เริ่มมองหาพ่อพันธุ์ประจำฟาร์ม จนมาเจอกับทายาทควายดังอย่าง “รุ่งเพชร” พ่อพันธุ์ควายระดับแถวหน้า ที่มีค่าน้ำเชื้อสูงสุดไทย และ “ทองตีนโต” ควายยักษ์ชื่อดัง
“ถ้าเป็นไอดอลก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นรุ่งเพชรนะคะ เพราะเบียร์ชอบควายแบบหน้าเขาประมาณนั้น ชอบควายยักษ์ค่ะ (น้ำเชื้อรุ่งเพชร) ที่เบียร์ได้ยินมาก็แพงมาก ประมาณ 30,000-40,000 นี่ยังหาไม่ได้เลยนะคะ ไปเห็นแล้วรู้สึกว่าชอบ แล้วอยากได้ลูกของตัวนี้ พันธุกรรม เพราะเห็นพ่อแล้วรู้สึกชอบชอบควายทรงควายยักษ์ ก็เลยรู้สึกว่าอยากได้
[ “ธอร์” (ซ้าย) และ “แก้วตีนโต” (ขวา) พ่อพันธุ์ยักษ์ใหญ่ประจำฟาร์ม ]
เบียร์ขายได้กำไร เบียร์ก็เลยไปซื้อพ่อพันธุ์มาตัวนึงก็คือเป็นลูกของ รุ่งเพชร ค่ะ ช่วงนั้นเบียร์ซื้อราคาควายมันยังไม่บูมขนาดนี้ เบียร์ก็ซื้อมาแค่ 150,000 เอง ซื้อมาจากฟาร์มพี่เอก บ้านสวน (ฟาร์มบ้านสวน อุทัยธานี)
ราคาควายตอนนั้นถ้าสำหรับเบียร์ก็รู้สึกว่าก็สูงแล้ว แต่ว่าตอนนี้หลักแสนหลักล้าน (หัวเราะ) ลูกรุ่งเพชร ณ ตอนนี้ก็ไม่สามารถซื้อได้แล้วค่ะในราคา 150,000
ชื่อ ธอร์ ค่ะ ตอนนั้นเบียร์ไปจอง 4 เดือนเอามาประมาณช่วง 10 เดือน ตอนนี้ก็อยู่ได้ประมาณ 4 ปีแล้วค่ะ เบียร์มีพ่อพันธุ์ประจำฟาร์มอยู่ 2 ตัว (แก้วตีนโต) เป็นลูกทองตีนโต แล้วก็ลูกของรุ่งเพชรตัวนึงค่ะ มี 2 ตัว เอาไว้ไขว้สายกัน
แพงสุดประจำฟาร์มน่าจะตัวล่าสุดที่เบียร์มีก็ 800,000 ค่ะ เป็นอนาคตพ่อพันธุ์ เป็นลูกของทองตีนโตค่ะ ชื่อว่า อองรี ค่ะ อายุ 2 ปีค่ะ แต่ว่าเขาแข้งขาใหญ่แล้วก็สูง ตอนนี้สูง 160 ซม.แล้วค่ะ ก็ถือว่าได้มาก็คุ้ม เข้าข่ายควายยักษ์แต่ว่าหน้าหล่อ โครงสร้างลำตัวคือควายยักษ์”
[ "อองรี" ว่าที่พ่ออีกตัวพันธุ์ ]
เธอเล่าต่อว่า การที่ได้ทายาทของควายชื่อดังมาเป็นพ่อพันธุ์ประดับฟาร์ม คือความโชคดีที่ยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่ เพราะมันสามารถส่งต่อพันธุกรรมดีไปยังรุ่นสู่รุ่น แถมยังดีเกินพ่ออีกด้วย
“ลูกของธอร์นี่ก็คือมันดีเกินคาดเลยค่ะ เกินพ่อด้วย เหมือนตั้งความหวังไว้แค่นี้แล้วมันก็เกินคาดเยอะมากๆ เพราะว่าลูกที่เกิดมาจากเขาเนี่ยก็คือติดจองหมดเลย ขายหมดเลยไม่เคยเหลือติดฟาร์มไว้เลยค่ะ
จะดีทางแข้งขาใหญ่แล้วก็หล่อ เนื้อหนังหนาค่ะ มันสวย แล้วก็เหมือนเป็นที่ชอบของตลาดด้วย เวลาคนมาดูเขาก็ชอบ ก็เลยรู้สึกว่ามันดีเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้
เบียร์ขายออกไปเยอะพอสมควร ไม่มีเหลือติดฟาร์มเลย น่าจะหลายล้านแล้วอะค่ะลูกเขา ได้เยอะแล้วค่ะ ตัวเมียก็ขายหมดเลยค่ะไม่เหลือเลย ตัวผู้ก็มีติดจองหมดแล้วค่ะ เหลือประมาณตัวเดียว
การที่เบียร์ได้ธอร์มาก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามาก ยิ่งกว่าถูกหวยอีกค่ะ เพราะว่าเราได้พันธุกรรมที่ดีมามันก็อยู่กับเราได้นาน แล้วก็ขายได้ สามารถแบ่งต่อพันธุกรรมดีๆ ให้กับเกษตรกรได้ ราคาที่ฟาร์มเบียร์มันก็ไม่ได้แรงถึงขั้นจะจับต้องไม่ได้ค่ะ คุ้ม (หัวเราะ)”
ขาย “ขี้ควาย” รายได้ไม่ใช่ขี้ๆ
ถึงแม้จะผันตัวมาเป็นเกษตรกรฟาร์มควายอย่างเต็มตัวได้ราว 3 ปี แต่ประสบการณ์ที่มีก็ทำให้เธอสามารถดูแลทรัพย์สินที่มีลมหายใจเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่ว
“ในความคิดเบียร์นะคะ ตอนที่ยังไม่มีประสบการณ์เบียร์ก็คิดว่ายาก พอเลี้ยงมาสักพักแล้วเริ่มมีประสบการณ์ เบียร์คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องยากค่ะในการเลี้ยงควาย แค่เรารู้ว่าเขานอนแบบไหน กินแบบไหน ต้องดูแลรักษาเขายังไงเวลาป่วย
ถ้าเบียร์ไม่รู้ เบียร์ก็ถามคนที่รู้ว่าควายป่วยประมาณนี้มันต้องใช้ยาตัวไหน เพราะว่าส่วนมากเบียร์จะไม่ค่อยได้จ้างหมอนะคะ นอกจากท้องถึงจ้างหมอมาดู เรื่องฉีดยงฉีดยาทางฟาร์มก็ทำเองหมดเลย ฉีดเองแล้วก็ดูแลเอง
ในส่วนการเลี้ยง เบียร์ก็คิดว่าไม่ยากค่ะ ชายกับหญิงมันก็ทำเหมือนกันค่ะ เบียร์ก็คิดว่ามันไม่ได้ท้าทายอะไร ก็คิดว่าถ้าเราชอบเราก็ทำได้ค่ะ ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นชายหรือหญิง”
สำหรับควายในฟาร์ม เธอมีความตั้งใจจะพัฒนาให้ออกมาเป็นควายที่รูปร่างใหญ่ และจะดียิ่งขึ้นไปหากได้ความเป็นควายงามผสมเข้ามา
“ควายยักษ์มันก็จะเหมือนแบบหน้าเขาใหญ่ ขาใหญ่ กระดูกแข้งขาใหญ่ โครงสร้างใหญ่ แต่ควายงามมันก็จะดูสมูท ดูงาม มีอัตลักษณ์ ตาแต้ม แก้มจ้ำ ทรงเขาเปิดอะไรอย่างนี้ค่ะ เขาจะเรียกควายงาม แต่ของเบียร์ไม่ใช่ทางนั้น แข้งขาก็ใหญ่ โครงสร้างก็ใหญ่
เบียร์ก็คิดว่าเบียร์พัฒนาไปเรื่อยๆ นะคะ ออกมาเป็นแบบไหนก็โอเคค่ะ ส่วนตัวเบียร์ชอบอยู่แล้วแต่จะชอบไปทำควายยักษ์มากกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ออกมาทางยักษ์มากกว่า แต่ถ้าออกมางามก็ดีเหมือนกันค่ะ มันก็แล้วแต่ความชอบของคน ก็อยากจะพัฒนาให้เป็นควายยักษ์ + งาม อยากให้มันออกมาทั้งยักษ์ก็งามด้วย”
[ รับทรัพย์หลักหมื่นจาก “ขี้ควาย” ]
ในส่วนของรายได้ที่ฟาร์มนั้น หลักๆ ก็จะมาจากการ “ลูกควาย” และ “มูลควาย” ซึ่งมูลควายที่คนอื่นอาจจะมองว่าไร้ประโยชน์ แต่มันกลับสามารถก็ทำเงินให้เธอได้นับหลายหมื่นบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
“เราซื้อควายมาก็มีขายออกไปบ้าง ก็ขายลูกออกบ้างเพราะควายมันก็ตกลูก เริ่มต้นที่ฟาร์มเบียร์ก็ตั้งแต่ 50,000 ขึ้นไปค่ะ แล้วแต่ว่าออกมาดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขายตามราคาตัวควายด้วย
ขี้นี่โอ้โห… ตอนนั้นก็งงเหมือนกันค่ะ แค่ขี้ก็ประมาณเดือนละ 30,000-40,000 แล้วค่ะ เขาก็เอาไปใส่แตงโม ใส่สวนยาง ใส่ปาล์ม ใส่พวกมัน แบบนี้ได้หมดเลยค่ะ เขาก็จะมาสั่งทีละ 300-500 กระสอบ กระสอบละ 35 บาท มารับเองที่ฟาร์ม
แต่ละฟาร์มก็มีเสื้อประจำฟาร์มของตัวเองเนาะ ออกแบบลายแต่ละคนอาจจะเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน มีเสื้อฟาร์มผลิตออกมาขายก็เหมือนมีคนชื่นชอบ มี FC ชื่นชอบ เขาก็ซื้อไปใส่แล้ว ก็เหมือนทำให้มีรายได้ ถามว่าเยอะไหมมันก็ไม่ถือว่าเยอะนะคะ แต่ก็พอขายได้ค่ะ
รายได้จะมาจากขี้แล้วก็ขายควาย เดือนนึงมันก็ไม่แน่นอน ถ้าขายควายได้เดือนนึงก็ประมาณ 100,000 -200,000 แต่ถ้าขายเฉพาะขี้ก็ได้ประมาณ 30,000-40,000 อันนี้มันก็คือรายได้เสริมของเบียร์ ส่วนรายได้หลักก็มาจากทางอื่นค่ะ”
แม้ในตอนนี้ตลาดน้ำเชื้อควายค่อนข้างเป็นกระแส แต่ถึงอย่างนั้นเบียร์ก็ไม่มีความคิดที่จะนำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ควายในฟาร์มลงตลาดด้วย แต่พี่น้องชาวควายที่สนใจก็อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะอารีฟาร์มอาจเปิดรับผสมจริงในอนาคต ซึ่งก็ต้องคอยติดตามกันให้ดี
“เบียร์ไม่ได้รีดน้ำเชื้อนะคะ เบียร์ขายเฉพาะลูกอย่างเดียว แล้วก็ยังไม่ได้เปิดผสมด้วย ในอนาคตก็ยังไม่แน่ใจว่าจะรีดน้ำเชื้อหรือเปล่า แต่อาจจะมีโครงการรับฝากผสมนะคะที่คิดไว้ ฝากผสมไป-กลับ อาจจะทำโครงการอยู่ฟาร์มอาทิตย์นึง ผสมติดแล้วค่อยให้กลับอะไรอย่างนี้ค่ะ อนาคตคิดว่าวางแผนไว้แบบนี้แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง
เบียร์คิดว่าใครๆ เขาก็ขายน้ำเชื้อแล้วมันก็มีเยอะ มีหลายคอก มีหลายพ่อพันธุ์ เบียร์คิดว่ามันอาจจะไม่เวิร์กสำหรับเบียร์ แต่สำหรับคนอื่นอาจจะเวิร์กก็ได้ เบียร์คิดว่าขายเฉพาะลูกดีกว่าแล้วก็เปิดให้ผสม น่าจะดีกว่าการขายน้ำเชื้อ
ของเบียร์ไม่ได้ผสมเทียม เบียร์จะมีพ่อพันธุ์ประจำฟาร์ม เบียร์คิดว่าควายเบียร์มันเยอะแล้วถ้าเราผสมเทียมค่าใช้จ่ายมันสูง ถ้ามีตัวผู้ไว้ค่อยคุมฝูงมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายตรงนั้น มันก็จะจับสัดเอง ผสมเองเลยค่ะถ้าตัวเมียเป็นสัด ตั้งแต่เบียร์เลี้ยงมาก็ไม่เคยผสมเทียมเลยนะคะ เน้นผสมจริงมากกว่าเพราะว่าค่อนข้างหาหมอยากค่ะ”
อยากเก่งต้องออกไปหาประสบการณ์
นอกจากการดูแลควายแล้ว อีกสิ่งที่เจ้าของฟาร์มวัย 25 ปีคนนี้ชื่นชอบ นั่นก็คือการตระเวนไปตามสนามแข่งควายและฟาร์มควายต่างๆ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ มาพัฒนาฟาร์มของตนเองต่อไป
“ส่วนมากเบียร์ก็ไปเที่ยวบ่อยนะคะ แต่ว่าไปประกวดก็เคยไปลองแค่ 2 ครั้ง ทั้ง 2 สนามก็ติด 1 ใน 10 ก็คือรุ่นฟันน้ำนมไม่เกิน 140 ซม.ที่เบียร์เคยลองไปประกวด แต่เบียร์ก็ไปถามใครหลายๆ คน เขาบอกว่าควายเบียร์มันเป็นควายยักษ์ มันไม่ใช่ควายงาม ก็เลยคิดว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับทางนี้
เบียร์คิดว่าอาจจะไม่ใช่ทางของเบียร์ที่ว่าจะเอาควายไปประกวด ไม่มีคนไปดูแลที่สนาม แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่ายอาจจะเยอะ แล้วเบียร์ก็ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไง ต้องดูแลเขายังไง เพราะว่าอยู่นี่มันก็ไม่ได้กินอะไรเยอะ โตแบบธรรมชาติ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะไม่เหมาะถ้าเบียร์จะเอาไป
เบียร์ก็ไปดูมาเยอะนะคะเกือบทุกสนาม ส่วนมากก็ไปเที่ยวชมฟาร์มของคนอื่นว่าเขาเลี้ยงกันยังไง รักษายังไงถึงโตได้ขนาดนี้ ไปดูเพื่อเก็บเกี่ยวหาความรู้ เอามาเป็นประสบการณ์เพื่อพัฒนาและต่อยอดฟาร์มของเราเองค่ะ”
และในตอนนี้โลกโซเชียลฯ ก็ยกให้เธอเป็นดาวรุ่งในวงการควายอีกคน เบียร์กล่าวว่า ไม่คิดว่าตัวเองจะมีคนชื่นชอบมากมายขนาดนี้ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ตื้นตันใจมาก
“เบียร์ก็โพสต์อัพเดทเกี่ยวกับในฟาร์ม ถ่ายอนาคตพ่อพันธุ์ ถ่ายควายในฟาร์มลงบ้างเพื่อโปรโมตให้คนสนใจแล้วอยากมาซื้อที่ฟาร์มเบียร์ แต่ว่าส่วนมากคนที่จะมาซื้อเขาก็เห็นมาจากออนไลน์ค่ะ มาจาก Facebook เบียร์ มาจากทั่วประเทศเลยค่ะ ส่วนมากก็ไม่ค่อยมาดูตัวค่ะ เขาก็จะซื้อเลย แล้วบางคนก็ฝากเลี้ยงไว้ที่นี่ด้วย
ก็รู้สึกขอบคุณมากๆ เลยนะคะ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงทุกวันนี้ มีคนรู้จักเยอะมากขึ้น มันก็เกินฝันเลยค่ะ ก็ไม่รู้จะพูดยังไง ก็รู้สึกตื้นตันใจค่ะที่มีคนชื่นชอบเราแล้วก็พูดถึงเรา
อันนี้เบียร์ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันนะคะ ก็ถ่ายรูปลง ก็มีลงคำคมแล้วก็โพสต์รูปภาพอะไรปกตินะคะ ก็อยู่กับธรรมชาติ เลี้ยงควาย เดินตามควาย ปล่อยควายลงทุ่งอะไรอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นถึงมาอยู่ทุกวันนี้ได้
เบียร์ก็ไม่รู้เหมือนกันเหมือนกันนะคะ เบียร์ก็คิดว่าคนอื่นอาจจะสวยกว่าเบียร์ก็ได้ เบียร์ก็คิดว่ามันก็อาจจะเป็นคำพูดหรือว่าเราใช้ชีวิตแบบการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอะไรแบบนี้มากกว่า (ยิ้ม)”
สำหรับการดูแลตัวเองให้ดูสดใสเสมอก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษ ที่เน้นก็มีเพียงแค่การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ ทั้งคนและน้องควาย
“เบียร์ก็ใส่หมวก ใส่กางเกงขายาว ใส่เสื้อแขนยาวค่ะ ทาครีมครีมกันแดด ทาครีมบำรุง ก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้ค่ะ ใช้ชีวิตตามปกตินะคะ แต่ว่าแต่ถ้าแดดร้อนมากๆ เบียร์ก็เลี่ยงที่จะไม่ออก (หัวเราะ) เพราะว่ามันร้อนเกินเนาะ ที่นี่เบียร์ก็เน้นปล่อยแค่ช่วงเช้าแดดอ่อนๆ แล้วก็ช่วงเย็นอีกรอบ แต่ก็ไม่ค่อยได้ออกแดดค่ะ
ความละเอียดอ่อน อ่อนโยนน่าจะมีส่วนค่ะ หมั่นเดินดูค่ะ หมั่นเดินดูว่าควายวันนี้เป็นยังไงบ้าง เขาร่าเริงปกติหรือเปล่า กินอาหารได้ดีเหมือนทุกวันไหม แต่ถ้าเราหมั่นเดินดูมันก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียค่ะ เช็กทุกวัน พอเรารู้สึกเอ๊ะ… ตัวนี้ไม่ค่อยกินอาหาร จมูกแห้ง ไม่ค่อยเคี้ยวเอื้อง เรารู้แล้วว่าสาเหตุเริ่มมีอาการป่วย เราก็ต้องฉีดยาให้เขา”
แม้จะมาทำฟาร์มควายอย่างจริงจังไม่กี่ปี แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาครอบครัววงรินยองก็คลุกคลีกับเลี้ยงควายมาเกือบ 10 ปีได้ เบียร์ได้สะท้อนว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของราคาควาย และการมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในวงการนี้มากขึ้น
“เริ่มเห็นก็คือราคาควายมันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ จากที่ราคา 20,000-30,000 มันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2-3 เท่าเลยจากที่เห็นการเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกว่าไปในทิศทางที่ดี
ด้านไหนที่พัฒนาขึ้น รู้สึกว่าคนให้ความสนใจมากขึ้นค่ะ แต่ก่อนอาจจะวัยลงวัยรุ่นไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ แต่พอมาตอนนี้วัยรุ่นก็เริ่มให้ความสนใจสนใจเกี่ยวกับวงการควายมากขึ้น เริ่มอยากทำ เริ่มอยากเข้ามาเรียนรู้ อยากมาสอบถามอะไรมากขึ้น ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงนะคะ
เบียร์คิดว่ามาผลักดันตรงนี้ วงการควายผลักดันให้เป็น Soft Power เบียร์คิดว่าได้นะคะ ถ้าต่างฝ่ายต่างร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาพัฒนา มันจะทำให้คนมาสนใจมากขึ้นกว่าตอนนี้ เราก็ทำให้ราคาควายยิ่งอัปขึ้นจากตรงนี้เพิ่มขึ้น ทำให้คนสนใจมาเลี้ยง อยากมาเลี้ยงทำเป็นอาชีพหลักก็ได้ค่ะ”
มีวันนี้ได้ มาไกลเกินฝัน
ตลอด 3 ปีที่เดินในเส้นทางนี้ แม้จะเจอเรื่องที่มาบั่นทอนกำลังใจ แต่เบียร์ก็สู้ไม่ถอยเพราะมีพ่อแม่ที่คอยอยู่เคียงข้าง และกว่าที่จะอารียาฟาร์มจะเติบโตแบบในตอนนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอในวันนี้จึงรู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นที่สุด
“ส่วนมากจะเป็นเบียร์มากกว่าที่ให้คำแนะนำพ่อแม่ เพราะเบียร์ออกไปศึกษาไปเที่ยวชมตามฟาร์มต่างๆ แต่ก่อนพ่อแม่ยังฉีดยงฉีดยาไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องใช้ยาตัวไหน เพราะเบียร์ไปเก็บเกี่ยวหาความรู้มาก็มาบอกมาสอนแกอีกทีค่ะ
พ่อแม่ก็จะบอกเสมอเวลาที่เบียร์ท้อ มันก็จะมีเวลาที่ปัญหา หญ้าไม่เพียงพอ แกก็จะให้กำลังใจว่าทำในสิ่งที่เราชอบ พ่อแม่ก็จะบอกให้สู้ๆ ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอถ้าตัวเราไม่ยอมแพ้นะคะ
เบียร์ก็รู้สึกว่าก็ภูมิใจในตัวเองนะคะ แต่ก่อนเป็นเด็กที่เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ ไม่ค่อยชอบเรื่องการเรียนเท่าไหร่อะไรอย่างนี้ มาถึงทุกวันนี้ได้ก็รู้สึกว่าโอ้โห… เกินฝันเลยค่ะ
ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือยังเบียร์ตอบว่าน่าจะยังนะคะ เบียร์คิดว่าเบียร์มีเป้าหมายที่สูงกว่านี้ตอนนี้ ก็อยากทำให้ฟาร์มตรงนี้เป็นอาชีพที่มั่นคงต่อชีวิตของเราค่ะ มันก็เหมือนอย่างขายควายได้เราก็มีรายได้ ถ้าเกิดวันนึงเราขายควายไม่ได้เราก็ไม่มีรายได้ ก็รู้สึกว่าตอนนี้อาชีพนี้มันยังไม่มั่นคงกับชีวิตของเบียร์”
[ ครอบครัวอารียาฟาร์ม ]
ส่วนใครก็ตามที่สนใจอยากหันมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงควายบ้าง ในฐานะคนที่มาก่อนก็แนะนำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวและต้องมีข้อมูลในมือให้พร้อม และค่อยๆ ไปพัฒนาตามกำลังที่ตัวเองมี
“เบียร์อยากให้ทุกคนศึกษาข้อมูลหาความรู้ดีๆ ค่ะ ว่าการเลี้ยงควายเขากินอยู่ยังไง นอนยังไง ดูแลรักษาเวลาเจ็บป่วยยังไง มีคนดูแลเขาหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ แล้วก็การตลาดก็คือเลี้ยงจะขายที่ไหน มีทุนหรือเปล่า แล้วก็มีพื้นที่หรืออาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงเขาหรือเปล่า ก็อยากให้ศึกษาดีๆ หาข้อมูลความรู้ดีๆ ก่อนที่จะมาเลี้ยง
จะเลี้ยงก็ต้องมีแม่พันธุ์ค่ะ แล้วเลี้ยงเราก็ต้องวางแผนว่าเราจะเอาไปผสมยังไง แต่มันก็ต้องมีตัวผู้ไว้คอยจับสัดบ้าง ก็เหมือนเวลาควายตัวเมียพร้อมที่จะเป็นสัดก็จะมีน้ำเมือกไหลออกมา เหมือนจะผสมกับควายตัวผู้ คนก็อาจจะไม่รู้
มันต้องมีตัวผู้ไว้คอยจับสัด เหมือนจะเป็นสัดมันจะมีตัวผู้เดินตามแล้วดมตรงตูดตรงอะไร ถ้าไม่มีตัวผู้ไว้ค่อยจับสัด เราจะไม่รู้ว่ามันต้องยังไง ต้องผสมตอนไหน ถ้ามีตัวผู้ไว้ค่อยจับสัดมันก็จะจับสัดแม่นกว่า เวลาหมอมาก็จะได้ตอบถูกว่าตัวผู้เดินตามตอนไหน อะไรอย่างนี้
เบียร์ก็คิดว่าถ้ามีทุนน้อยเราก็ทำแบบทุนน้อยไป ค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้นๆ เหมือนแม่พันธุ์เราเล็ก เราก็เอาไปผสมกับพ่อพันธุ์ตัวใหญ่ ซื้อน้ำเชื้อมาผสม เพื่อจะให้ลูกออกมาก็ไม่ได้เล็กเหมือนแม่ บางตัวมันอาจจะใหญ่เหมือนพ่อก็เป็นไปได้ค่ะ พัฒนาไปตามกำลังที่เรามี แต่ถ้าคนมีงบแล้วอยากซื้อราคาหลักนั้นก็ตามกำลังที่ตัวเองมีค่ะ”
สุดท้าย เกษตรกรคนสวยได้ฝากคำขอบคุณไปถึงทุกคนที่ติดตามและคอยสนับสนุน และใครที่สนใจอยากไปเยี่ยมชมและปรึกษาขอความรู้ด้านการเลี้ยงควาย อารียาฟาร์ม ก็พร้อมยินดีต้อนรับเสมอ
“เบียร์ขอบคุณสำหรับคนที่ติดตามแล้วก็ชื่นชอบเบียร์นะคะ ก็ขอบคุณมากๆ เลยที่ซัพพอร์ตเบียร์ ขอบคุณจากใจจริงๆ ค่ะ ถ้าคนไหนอยากติดตามหรือว่าชื่นชอบเบียร์อยากติดตามเบียร์ ก็ติดตามได้ที่ Facebook นะคะ Areeya Farm Buffalo
สำหรับพี่ๆ คนไหนมีปัญหาเกี่ยวกับพวกแมลงต่างๆ พวกเหลือบ ริ้น ไร ยุง ก็ฝากอุดหนุนผลิตภัณฑ์เบียร์ด้วยนะคะ ก็คือ Bio oil ค่ะ เป็นสารสกัดจากธรรมชาติธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ คนไหนที่สนใจควายก็สามารถแวะมาเที่ยวชมได้ที่ฟาร์มของเบียร์ได้นะคะ ฟาร์มเบียร์ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรฯค่ะ ถ้าจะเข้ามาก็โทร.หาหรือทัก Facebook มาก็ได้ค่ะ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Areeya Farm Buffalo”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **