สภาเห็นชอบรายงาน “คาสิโนถูกฎหมาย” ชี้ช่วยเศรษฐกิจ ลดพนันใต้ดิน หลายคนกังวล ถ้าบ่อนถูกกฎหมาย ส่วย ฟอกเงิน ทุนเทา จะไม่ตามมาด้วยหรือ?
ลดปัญหา “พนันผิดกฎหมาย”?
เปิดบ่อนถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ไทยคุยกันมาหลายสิบแล้ว แต่ล่าสุดสภาได้มีการพิจารณาผลศึกษาเรื่อง “การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex) หรือที่หลายคนเรียกว่า “คาสิโน” แบบ “ถูกกฎหมาย”
โดยมติ “เห็นชอบ” กับรายงานฉบับนี้ถึง 253 เสียง โดยขั้นตอนต่อคือ การส่งต่อให้รัฐบาล และหน่วยงานที่
เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
จากรายงานชิ้นได้บอกถึง “ประโยชน์” หาก “คาสิโนถูกกฎหมาย” เกิดขึ้นจริง คือจะสามารถแก้ “ปัญหาการพนักผิดกฎหมาย”ได้ ลดภาระการปราบบ่อนเถื่อน ลดปัญหาผู้มีอิทธิพล เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น และเกิดการจ้างงานมากขึ้น
แต่ก็ยังมีผลกระทบที่อาจตามมา คืออาจกลายเป็น แหล่งฟอกเงิน,การปล่อยเงินกู้นอกระบบ, ยาเสพติดหรือทำให้ประชาชนและเยาวชน “ติดพนัน” กันมากขึ้น หากไม่มีมาตรการที่เข้มงวดพอก็จะทำเกิดปัญหา “การฉ้อโกง” ขึ้นได้
รศ.ดร. รัตพงษ์ สอนสุภาพ อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิตเจ้า ของงานวิจัยหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหาการพนันในเมืองไทย ช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้แก่ทีมข่าวผ่านคำถามที่ว่า...
“รูปแบบของคาสิโน หรือEntertainment Complexเนี่ย มันมีรูปแบบหลายรูปแบบ แล้วรูปแบบไหนเหมาะกับสังคมไทย”
เพราะสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เห็นจากรายงานนี้ “การสำรวจรูปแบบที่เหมาะสม”อาจารย์ยกตัวอย่าง“ญี่ปุ่น” ที่มีการสำรวจรูปแบบของคาสิโนว่า แบบไหนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง แต่มีผลกระทบต่อสังคมต่ำ “เท่าที่ผมดู ผมยังไม่เห็นนะ”
ส่วนที่บอกว่า หากมีคาสิโนถูกกฎหมาย การพนันนอกกฎหมายจะลดลง อาจารย์บอกว่าอาจไม่ลดลงได้ทันที การปราบปรามก็ยังคงต้องทำคู่ขนานกันไป
แม้จะเกิด “คาสิโนถูกกฎหมาย” ด้วยต้นทุนในการเล่น จะมีกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปเล่นได้ แต่ก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง พวกเขาก็จะหันไปหาการพนันแบบผิดกฎหมายที่ใช้ทุนน้อยกว่าอยู่ดี ยกตัวอย่างหวยใต้ดินที่จ่ายแค่ 5-10 บาทก็สามารถเล่นได้
{รศ.ดร. รัตพงษ์ สอนสุภาพ}
“แต่ถ้ารัฐบริหารดีๆ แนวโน้มมันก็จะลดลง เพราะคนเล่นการพนันต้องการจำกัดความเสี่ยงของตัวเอง คือเล่นแล้วไม่โดนโกง แบบนี้มันจะทำให้คนไปสู่การพนันที่ถูกกฎหมายมากขึ้น”
เรื่องที่ต้อง “ชั่งใจ”
ข้อดี-ข้อเสียนี้คงเป็นที่เราต้องชั่งน้ำหนักเอา มาดูตัวอย่างประเทศที่มีการเปิดคาสิโนแบบถูกกฎหมาย อย่าง สิงค์โปร และเขตบริหารพิเศษของประเทศจีนอย่าง มาเก๊า กันดีกว่า
“สิงคโปร์” มีการออนุญาตให้เล่นพนักถูกกฎหมายได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ผู้ประกอบกิจการบ่อน ต้องได้ใบอนุญาตจากรัฐเท่านั้น และเสียภาษีปีละ 25-30%
ส่วนถ้าคนสิงโปร์จะเข้าไปเล่น ต้องจ่ายภาษีแรกเข้าคาสิโนวันละ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี ทำให้ในปี 2562 สิงค์โปรเก็บภาษีจากธุรกิจนี้ได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน “มาเก๊า” ก็เปิดให้เล่นพนักถูกกฎหมาย มาตั้งแต่ พ.ศ. 2393 เฉพาะใน พ.ศ.2562 มาเก๊า ได้เงินจากธุรกิจการพนันมากกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า ลาสเวกัสถึง 5.4 เท่า
โดยผลสำรวจความเห็นคนของคนทั้งใน “มาเก๊า” และ “สิงคโปร์” ต่างบอกว่า ตั้งแต่มี “คาสิโนถูกกฎหมาย” สวัสดิการสังคมดีขึ้น จากรายได้ของรัฐที่มากขึ้น
แต่ปัญหาใน “มาเก๊า” คือ แม้งานวิจัยจะออกมาบอกว่า หลังคาสิโนถูกกฎหมาย “แก๊งอิทธิพล” ลดลงแต่มีงานวิจัยชิ้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชนกลับพบว่า “อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น” จากการเติบโตของ “ธรุกิจพนัน”
“ธุรกิจการพนันมันมีทั้งบวกและลบในตัวมันเอง”อ.รัตพงษ์ ผู้ทำวิจัยประเด็นปัญหาการพนันในเมืองไทย บอกว่าการรับมือเรื่องผลกระทบที่ตาม จากการเปิดพนันถูกกฎหมายคือ การบริหารและจัดการ
“สิงคโปร์เราพบว่า พอมีคาซิโน2แห่ง มีแนวคนติดการพนันเยอะขึ้น แต่ที่ตัวเลขไม่ก้าวกระโดด เพราะรัฐเข้าไปดูแลบริหารจัดการ”
ในสิงคโปร์มีการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและประชาสังคม ที่นำเงินที่ได้จากธุรกิจการพนันเหล่านี้ มาจัดการเยียวยาผู้มีปัญหาเสพติดการพนัน และยังมีกฎเข้มงวดสำหรับเยาวชน กับคนที่ติดแบล็กลิสต์ทางการเงิน
และข้อกังวลของคนในสังคมหลายคน หากมี “คาสิโน” เกิดขึ้นปัญหาเรื่องส่วย การฟอกเงิน หรือแม้แต่ “ทุนสีเทา”จะไม่ตามด้วยหรือ? กูรูรายเดิมช่วยวิเคราะห์
“โดยหลักแล้ว มันจะมาด้วยกันอยู่แล้ว อุตสาหกรรมการพนันสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ จะเข้ามาโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว”
แนวทางจะป้องกันเรื่องเหล่านี้ คือรัฐต้องเปิดประมูลสัมปทาน ให้บริษัทที่เป็นมืออาชีพด้านนี้ มีโอกาสเข้ามารวมประมูล ไม่ใช่กำหนด แค่ต้องเป็นเฉพาะคนไทย หรือรัฐจะทำเองทั้งหมดเพราะ...
“ระบบของเรายังเป็นปัญหา โดยเฉพาะระบบพวกพ้อง ความโปร่งใส”
การพิจารณาเรื่องนี้ง่ายมากคือ ดูที่ข้อเสนอว่าบริษัทไหนให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุด มาตรการป้องกันปัญหาเป็นอย่างไร แล้วจะแก้ปัญหาสังคมที่จะตามอย่างไร
อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความกังวล ทั้งประเด็นเรื่องส่วย การฟอกเงิน หรือแม้แต่ทุนสีเทา คือการตั้งกรรมการมากำกับดูแล และต้องเป็นคนจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งประชาสังคม นักวิขาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน
“คนกำกับดูแลต้องเน้นการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วน อย่าไปกระจุกแต่ในภาครัฐอย่างเดียว เพราะกรอบความคิดการทำงานของภาครัฐ ไม่ค่อยมีความยืดหยุน และจะไม่ตอบโจทย์กับความเป็นจริง”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **