จากพนักงานบัญชี ที่ไม่ใช่ทาง ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันหลังมาเอาดีในอาชีพช่างทำกีตาร์ และที่น่าสนใจคือ เธอเป็นช่างทำกีตาร์ผู้หญิง หนึ่งในไม่กี่คนในไทย ที่ลูกค้าพร้อมต่อคิวรอซื้อผลงานทั้งในไทย และต่างประเทศ กับแรงบันดาลใจที่รักในงานฝีมือ จนถูกพูดถึงกันปากต่อปาก
จุดเริ่มต้นช่างทำกีตาร์หญิง หนึ่งในไม่กี่คนในไทย
“มาทักส่วนใหญ่เลยก็จะเป็นเหมือนแบบประมาณว่า ทึ่งในความเป็นผู้หญิง มาทำงานผู้ชายล้วนๆ เลยค่ะ ผู้หญิงก็ทำได้นะคะ เพราะว่าบางขั้นตอน คือก็ต้องการความละเอียดมากๆ ผู้หญิงก็มีความละเอียดมากกว่าผู้ชายอยู่แล้วค่ะ
สิ่งที่ทำให้เขาสนใจ หนึ่งคือเราเป็นผู้หญิงที่ทำ แล้วก็พอได้มีการรู้จัก หรือได้พูดคุยกันแล้ว ก็จะให้เขาเข้ามาดูสิ่งที่เราผลิตออกไป ส่วนใหญ่เขาก็จะมาด้วยเรื่องคุณภาพด้วยค่ะ แล้วก็สนใจในเรื่องความเป็นช่างผู้หญิงด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่มีการบอกต่อกันก็คือ เรื่องของคุณภาพ ที่เราผลิตให้เขาไปค่ะ”
“เฟิร์น-ตรีเนตร พิมพ์จันทร์” ช่างทำกีตาร์วัย 30 ปี ที่น่าจะเป็นช่างทำกีตาร์หญิงหนึ่งในไม่กี่คนในไทย หรืออาจจะเป็นคนเดียวในตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะช่างทำกีตาร์ที่เราเห็นๆ กัน จะเป็นผู้ชายกันซะส่วนใหญ่
เธอเป็นอดีตพนักงานบัญชี ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะหลงรักในงานฝีมือ จนหันหลังมาเอาดีในอาชีพช่างทำกีตาร์ ด้วยการทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเป็นแผ่นไม้ ประกอบ ออกแบบ มาจนถึงส่งมอบให้กับลูกค้า
และด้วยความที่เป็นช่างผู้หญิง ที่มีความประณีต จนรังสรรค์กีตาร์ได้ออกมาอย่างละเมียดละไม งดงาม พร้อมด้วยเสียงคุณภาพ จึงทำให้ลูกค้าอยากเชยชมผลงาน ติดต่อกันเข้ามาจ่อคิวซื้ออย่างมาก และไม่เพียงแค่ลูกค้าในประเทศเท่านั้น กีตาร์ที่เธอทำ ยังมีส่งออกไปให้ลูกค้าต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งแบรนด์ของเธอมีชื่อว่า “LineThai Guitars” โดยมีร้านตั้งอยู่แถวสมุทรสาคร
สำหรับจุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้ ช่างกีตาร์หญิงวัย 30 ปีคนนี้ เธอเล่าให้ฟังว่า เริ่มมาจากที่คุณพ่อและคุณแม่ เคยเป็นพนักงานโรงงานทำกีตาร์มาก่อน จนเมื่อโรงงานที่เคยทำ ปิดตัวลง จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ของเธอ นำเอาประสบการณ์ที่ติดตัว มาสานต่อเป็นอาชีพ เพื่อดูแลเลี้ยงดูครอบครัว
“คือเริ่มจากคุณพ่อกับคุณแม่เขาทำมาก่อนค่ะ เขาทำอยู่ในโรงงานกีตาร์มาก่อนค่ะ แล้วก็มีช่วงนึงเหมือนโรงงานมีการปิดตัวไป เขาก็เลยออกมาเปิดของตัวเอง
ตั้งแต่โตมาที่จำความได้ คุณพ่อคุณแม่เขาทำอย่างอื่น ทำค้าขาย เป็นพนักงาน ลูกจ้างต่างๆ นานาค่ะ ผู้ช่วยพยาบาล คือทำหลายอย่างเหมือนกัน แล้วทีนี้คุณพ่อมีโอกาสได้ไปเจอโรงงาน เขาก็เลยไปสมัครงานตรงนั้น
ช่วงนั้นที่คุณพ่อเข้าไปทำ ส่วนตัวก็น่าจะประมาณ 8 ขวบค่ะ แล้วก็ตั้งแต่นั้นมา คุณพ่อก็ทำกีตาร์มาตลอด ตอนแรกพ่อเข้าไปก่อน แล้วทีนี้ตามด้วยคุณแม่ ตามไปช่วยงานอีกทีค่ะ
คือในโรงงาน เริ่มจากเขาไม่มีผู้หญิงเลย ทีนี้ก็เลยเกิดแนวคิดว่า ถ้าเป็นผู้หญิงลองไปทำดู มันจะได้งานที่ประณีตขึ้นไหม คุณพ่อก็เลยได้พาคุณแม่ไปแนะนำ ก็เลยได้เข้าไปลองทำดูค่ะ ก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำกีตาร์เลย คือก็คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นนะคะ
ปัจจุบันนี้ก็มีหลายคนค่ะ แต่ในยุคก่อนหน้านี้ก็คือจะมีหนูกับคุณแม่ แต่คุณแม่เขาก็ไม่ได้เปิดตัวเท่าไหร่ แต่ส่วนหนูจะเปิดตัวเยอะกว่า แล้วก็ในปัจจุบันนี้ก็น่าจะมีหลายคนค่ะ แต่ว่าส่วนใหญ่เขายังไม่ได้ทำเต็มตัว เหมือนพวกเราค่ะ อาจจะแบบว่า ไปเรียนเพื่อเป็นงานอดิเรกเฉยๆ ค่ะ”
เธอเล่าอีกว่า ตอนนั้นอายุ 14 ปี เธอก็เริ่มช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำกีตาร์แล้ว เพราะเห็นคุณพ่อกับคุณแม่ทำงานกันดึกๆ ดื่นๆ เพื่อจะผลิตกีตาร์ส่งลูกค้าให้ทัน โดยเริ่มจากอะไรที่ง่ายๆ ก่อน เช่น การขัดสี ขัดเงา แล้วจึงค่อยๆ เรียนรู้ในทุกขั้นตอนไปเรื่อยๆ
“เขาก็รับงานจากร้านอื่นๆ เริ่มจากรับซ่อมก่อนค่ะ แล้วก็เห็นเขาทำ เขาก็นั่งทำ ดึกๆ ดื่นๆ เราก็อยากจะลองช่วยงานดู ว่าเราทำได้ไหม ก็คิดว่า ก็น่าจะทำได้ ตอนนั้นอายุประมาณ 14 ปีค่ะ ยังเรียนอยู่ด้วย เลิกเรียนมา ถ้าเห็นเขาทำอยู่ ก็จะช่วยเขา ก็คือขัดสี ขัดเงาต่างๆ นานา ที่เด็กทำได้ค่ะ ก็เริ่มตั้งแต่นั้นมา แล้วก็เพิ่งเริ่มมาทำเต็มตัวตอนอายุ 17-18 ปีค่ะ
เริ่มจากในส่วนง่ายๆ ก่อน เพราะว่าเราความรู้เป็นศูนย์เลย เริ่มจากช่วยเลื่อยมุกค่ะ แล้วก็ขัด ขัดก่อนที่จะไปพ่นสี ก็ให้หัดขัดก่อน เพราะว่าขั้นตอนขัด ค่อนข้างที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างมากเลยค่ะ ก่อนที่จะเข้าไปพ่นสีได้ ค่อยๆ ไต่ระดับความยากขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ
คือได้ช่วย แล้วก็สนุกค่ะ เพราะว่ามันก็ลุ้นดี ว่ามันจะทำได้ไหม เพราะว่าเราเป็นผู้หญิงด้วยค่ะ คือเครื่องมือต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ชายหมดเลย แล้วเราเป็นผู้หญิง เราก็คิดว่า เราจะทำได้หรือเปล่า พอลองทำดู ก็ค่อยๆ อัพระดับไปว่าเราทำได้แค่ไหนค่ะ”
เธอบอกอีกว่า กว่าจะทำได้แบบนี้ คือฝึกทำอยู่ 5-6 ปี จากคุณพ่อ-คุณแม่ ที่เป็นช่างทำกีตาร์อยู่แล้วด้วย โดยพยายามสั่งสมประสบการณ์ จนสามารถทำกีตาร์ได้ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน
“เริ่มจากที่ฝึกทุกๆ ขั้นตอน ฝึกซ้ำๆ ก่อน แล้วถึงได้มีโอกาสสร้างเป็นตัวของตัวเองค่ะ คือที่สร้างเป็นตัวของตัวเองจริงๆ คือขายไปแล้วตัวนึงค่ะ แล้วหลังจากนั้นยังไม่ได้มีโอกาสที่จะสร้างอีก เพราะว่าเนื่องจากว่างานที่คุณพ่อคุณแม่รับมาไว้ มันยังคงเยอะอยู่ ก็เลยยังไม่ได้มีโอกาสที่จะสร้างของตัวเองต่อค่ะ
สร้างเป็นตัวของตัวเองคือ เป็นส่วนที่เรารับเอง รับลูกค้าเอง แล้วก็สร้างเอง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลยค่ะ สร้างในนามของตัวเองเลยค่ะ ยังไม่ได้ตั้งชื่อเป็นทางการนะคะ แต่ว่าฉลากที่ติดไว้ ติดว่าใบเฟิร์นค่ะ ฝึกทุกขั้นตอนซ้ำๆ อยู่ประมาณ 5-6 ปีค่ะ ถึงได้เริ่มสร้างของตัวเอง”
และที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ที่เธอหันมามุ่งมั่นเป็นช่างกีตาร์ เธอมีความหลงใหลในการเล่นกีตาร์ด้วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ตอบกลับมาด้วยใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มว่า เธอนั้นไม่ค่อยจะชอบเล่นเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่จะหลงใหลในการทำมากกว่า
“ส่วนใหญ่จะชอบทำมากกว่า ชอบทำแล้วก็ชอบเห็นตอนที่มันเสร็จเป็นตัวแล้ว คือมันรู้สึกภูมิใจค่ะ ว่าอันนี้คือผลงานที่เรามีส่วนร่วม หรือทำมันขึ้นมา ก็เล่นได้ แต่ว่าไม่เก่งค่ะ”
ลาออกจากงานประจำ เพราะใจรักงานฝีมือ
เธอเล่าย้อนกลับไปในเส้นทางชีวิต เมื่อหลายปีก่อนให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบ แล้วได้ไปทดลองทำงานเป็นพนักงานบัญชีอยู่ไม่ถึงปี แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ จึงตัดสินใจลาออก เพื่อหันมาเอาดีทางด้านงานฝีมือ และเหตุผลที่ไปเรียนด้านนั้นมา เพราะอยากเรียนรู้ระบบ เพื่อนำมาปรับใช้ ในธุรกิจของครอบครัว
“เรียนจบด้านการจัดการค่ะ แล้วก็เข้าไปทำงานที่บริษัทบัญชีก่อน คืออยากลองทำงานตรงสายดูก่อน แต่ส่วนตัวไม่ชอบงานที่นั่งอยู่กับที่ นั่งโต๊ะ จะชอบงานอะไรที่แบบลุยๆ ก็เลยได้มีโอกาสกลับมาทำกับคุณพ่อค่ะ ตอนนั้นไม่ถึงปีค่ะ แล้วก็กลับมาทำที่บ้านดีกว่า รู้สึกว่ามันไม่ใช่
ที่ตั้งใจไปเรียนตรงนั้น ก็คืออยากเรียนรู้ระบบตรงนั้น เพราะว่าในอนาคตเราก็ต้องมาดูแลตรงนี้ เพื่อที่จะเอามาพัฒนางานตัวเองด้วย เพื่องานจะได้ดูเป็นระบบมากขึ้น เรื่องของการบัญชีอะไรอย่างนี้ บางทีเราก็ไม่มีความรู้ด้านนั้นเลย ก็เลยต้องไปเรียนตรงนั้นค่ะ”
เธอเล่าอีกว่า เดิมทีเป็นคนที่ชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว บวกกับที่คุณพ่อเห็นแวว จึงตั้งมั่นไว้ในใจอยู่แล้ว ว่าอยากจะมาสายนี้
“คือส่วนตัวเป็นคนที่ชอบงานศิลปะอยู่แล้วค่ะ แล้วพอได้ไปทำอะไรที่เป็นเอกสารหรือจ้องหน้าคอมนานๆ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ค่ะ มันต้องนั่งอยู่กับที่นานๆ คือจะชอบอยู่กับอะไรสวยๆ งามๆ งานศิลปะ งานฝีมืออะไรอย่างนี้ค่ะ ก็เลยได้กลับมาทำ แล้วก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ตอนเรียนคือครูเขาจะให้มีการฉลุแผ่นไม้ในวิชาศิลปะ ทีนี้คุณพ่อเขาก็ได้เห็น ตอนที่ฉลุ เขาก็เลยว่า น่าจะทำได้ แล้วส่วนตัวก็คิดว่าชอบ เลยรู้ตัวเลยว่าชอบงานแนวนี้ ตั้งแต่ตอนนั้น ที่เรียนก็อายุประมาณ 13 ปีค่ะ ที่วิชาศิลปะที่เขาให้ลองใช้เลื่อยฉลุดูครั้งแรกด้วย
วิชาศิลปะเขาจะให้ทำหลายอย่างค่ะ ทั้งวาดรูป ทั้งปั้น ทั้งฉลุ พอเราได้ลองทำงานฉลุแล้วก็ชอบมากกว่า แล้วก็มีโอกาสได้เอามาใช้ด้วย จริงๆ มันก็ใช้แทบจะทุกแขนงเลยค่ะ การทำกีตาร์ ทั้งวาด ทั้งปั้น ทั้งฉลุ”
[คุณพ่อคุณแม่และคุณแฟน ที่ช่วยรังสรรค์กีตาร์สุดฝีมือ]
นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า ความชำนาญของเธอที่มีคือ เธอเรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ แล้วนำมาปรับใช้ และพัฒนาฝีมือตัวเอง จนเกิดเป็นชิ้นงานคุณภาพ และงานแต่ละชิ้น เธอก็บอกอีกว่า ตั้งใจทำด้วยความภาคภูมิใจ
“คุณพ่อก็จะเป็นเรื่องของการประยุกต์ เพื่อให้งานมันเนี๊ยบขึ้น คุณแม่เขาก็จะได้ในเรื่องของความละเอียด ส่วนตัวหนูเองคือต้องมีทั้ง 2 ฝั่งรวมกัน แล้วให้มันเกิดคุณภาพใหม่ออกไปค่ะ
ลายที่เคยทำออกไป ในส่วนของงานที่ภูมิใจที่สุด คือการที่ฝังลวดลายค่ะ เขาเรียกงานอินเลย์ (Inlay) กีตาร์ค่ะ ก็คือลายป่าแอมะซอน ช่วงนั้นไม้ด่างกำลังฮิต แล้วองค์ประกอบของลายก็จะมี ใบมอนสเตอร่า มีนกเงือก ที่เป็นสัญลักษณ์ของป่าดิบชื้น ก็จะจับมารวมกัน ก็จะได้ลวดลายที่แบรนด์อื่นไม่มี ก็คือออกแบบจากที่เราเท่านั้นค่ะ
ตอนนั้นลูกค้ารีเควส ว่าให้เราออกแบบสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา เราก็เลยมีโอกาสได้รังสรรค์งานตรงนั้นออกไป มันเลยทำให้ค่อนข้างที่จะภูมิใจในงานชิ้นนั้นมากๆ ค่ะ”
[กีตาร์ตัวเก่งที่ทำแล้วภูมิใจ]
ชูจุดขาย ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากเรื่องของเอกลักษณ์ในการออกแบบทรงกีตาร์ และเสียงสัมผัส ที่มีเทคนิคเฉพาะตัวของทางร้านแล้ว เธอยังบอกอีกว่า จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ไม่เหมือนใครก็คือ เรื่องของการออกแบบลวดลาย
“ตรงนี้จะเป็นจุดขายของเราที่ว่า น้อยคนที่เราจะใช้เวลาทำตรงนี้ เพราะมันค่อนข้างที่จะใช้เวลาเยอะ คือไม่ใช่ว่าออกแบบปุ๊บ เราสามารถเอามาทำได้เลย คือเราต้องทิ้งเวลาเพื่อดูว่า สิ่งที่เราออกแบบไป ดีไซน์มันจะยังไม่ดูโบราณในอนาคต
ส่วนใหญ่งานที่ทำของเราก็จะเป็นงานเสมือนจริง ถ้าอย่างลายดวงดาว ลูกค้าให้ไกด์มาค่ะ ว่าอยากได้เป็นแนวกาแลกซี่ เป็นดวงดาว หรือว่าเป็นเถาวัลย์อย่างนี้ค่ะ ก็คือแล้วแต่ที่ลูกค้าจะรีเควสมา แล้วก็มาออกแบบให้เขา แล้วก็ให้เขาดูว่าเขาโอเคหรือยัง แล้วเราก็ช่วยกันดูด้วยค่ะ ว่าดีไซน์มันเป็นยังไง
ขั้นตอนของการตกแต่งลวดลายบนกีตาร์ ลวดลายแต่ละลวดลายเราจะทำจากเปลือกหอย ตัวนี้จะเป็นเปลือกหอยนำเข้าค่ะ คือเป็นเปลือกหอยเป๋าฮื้อของนิวซีแลนด์ค่ะ คือจะมีตัวแทนนำเข้ามาแล้วเราก็ไปซื้อจากตัวแทนอีกทีนึงค่ะ แล้วก็มีทั้งเปลือกหอยมุกไฟค่ะ เขาจะมีลวดลายที่สวย ราคาค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะไว้ตกแต่งกรงนก นานๆ จะเอามาใช้ทีนึง เพราะว่าเขาค่อนข้างทำยาก ใช้ยาก แล้วก็ขึ้นอยู่กับดีไซน์ลวดลายที่เราออกแบบด้วยค่ะ”
สำหรับกีตาร์ที่กว่าจะออกมาได้ 1 ตัว ที่เราเห็นๆ กัน เธอบอกว่า ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุด ช่างทำกีตาร์หญิงคนเก่ง เธอก็บอกว่า คือขั้นตอนการลงสี
“ถ้าตั้งใจทำตัวเดียวจริงๆ จะประมาณ 1 เดือนค่ะ ต่อ 1 ตัว ก็คือเริ่มจากเข้าไม้ ถ้าเป็นไม้ด้านหน้า เราจะเป็นไม้นำเข้าเท่านั้นค่ะ เพราะว่าเท่าที่ทดลองมา ไม้ไทยในบ้านเรา ยังไม่สามารถที่จะทำไม้หน้าได้ดี ส่วนไม้ด้านหลัง มันจะหาได้ในบ้านเราง่ายหน่อย ก็คือมีไม้ไทยที่สามารถทำได้ ก็จะลดราคาในการนำเข้าได้ กรณีที่นำเข้า ยังไงก็อยู่ใน 1 เดือนค่ะ ทั้งหมดจนจบกระบวนการเลยค่ะ
เรื่องหัว รูปทรงของหัว ก็จะขึ้นอยู่ที่รูปทรงของบอดี้ เขาก็จะมีดีไซน์เฉพาะของเขา คือถ้าเป็นทรงใหญ่ หัวก็จะออกแบบให้บาลานซ์กับบอดี้ค่ะ ขนาดของบอดี้ด้วยค่ะ หรือถ้าเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเขารีเควสมา อยากได้ดีไซน์คล้ายๆ แบรนด์แบบนี้ เราก็จะมีการออกแบบให้มันเข้ากันอีกทีนึงค่ะ
เราก็มีรับซ่อมด้วยค่ะ คือถ้าแบบแตก ทำหล่นแตก หรือเกิดริ้วรอยอะไรอย่างนี้ ก็สามารถเอามาซ่อมได้ค่ะ ส่วนใหญ่ที่ยากที่สุด จะเป็นงานสีค่ะ เพราะว่างานสีทุกอย่างคือเราต้องคอยเช็กรายละเอียด ก่อนที่จะไปเคลือบ ถ้าเกิดว่าเราเช็คไม่ดี เราเช็คไม่เป็น งานสีก็จะไม่ต่อเนื่อง แล้วก็จะมีการรีกลับมาแก้ตรงนี้ ก็คือจะยาก ยากสุดค่ะ งานก็จะออกมาไม่เรียบร้อย ถ้าเราทำงานสีไม่เรียบร้อยค่ะ”
และกีตาร์ของลูกค้าแต่ละคนที่สั่งทำเข้ามา จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งลูกค้าแต่ละคน จะได้ไม่ซ้ำกันอย่างแน่นอน
“กีตาร์แต่ละตัวที่สั่งทำ ก็จะเป็นเอกลักษณ์ของลูกค้าแต่ละคนไปเลยค่ะ ก็จะไม่เหมือนกัน อาจจะเหมือนแค่รูปทรง สเปคไม้ก็อาจจะแตกต่างกันไปค่ะ
ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาสั่งทำ บางท่านก็จะมีตัวอย่างมาให้ ว่าอยากได้แบบนี้ หรือบางท่านก็บอกว่า อยากได้เสียงแบบนี้ สัมผัส ลาดลายแบบนี้ ก็ให้เราออกแบบให้ ก็มีค่ะ”
เสียงจะดี ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ และเทคนิคเฉพาะตัว
อย่างที่เรารู้กันดีว่า กีตาร์ที่เราใช้โดยส่วนใหญ่นั้นมักมีส่วนประกอบทำมาจากไม้แทบทั้งสิ้น ซึ่งไม้แต่ ละชนิดก็จะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะเฉพาะตัวของไม้นั้นๆ
ซึ่งช่างทำกีตาร์หญิงคนนี้ เธอก็ยืนยันว่า ปัจจัยหลักๆ เสียงของกีตาร์นั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้เป็นสำคัญ และบวกกับเทคนิคเฉพาะกับทางร้าน
“ปัจจัยหลักๆ ก็คือ ขึ้นอยู่ที่ชนิดของไม้ กับโครงสร้างที่เป็นสูตรเฉพาะของทางเราค่ะ ก็คือมันจะถูกบังคับตอนที่เป็นไม้หน้า ข้างหลังไม้หน้าเขาจะมีโครงสร้าง เราก็จะปรับจูนตรงนั้นได้ ปรับด้วยการที่ไสส่วนเกินออก แล้วก็ลองเคาะดูว่า การสั่นสะเทือน ที่เขาสะเทือนออกมา มันจะให้โทนเสียงประมาณไหน เราสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ
การที่เราจะไสออกไป เราก็ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงในอนาคตด้วยค่ะ อันนี้ต้องพัฒนาเพื่อให้มันเกิดความแข็งแรง แล้วก็อยู่ได้หลาย 10 ปีค่ะ ซึ่งกีตาร์ตัวนึง มันอยู่ได้ที่มีก็คือ 100 ปี
ส่วนใหญ่ในเรื่องของคุณภาพเสียง จะถูกบังคับตั้งแต่ที่เป็นไม้แผ่นๆ ตรงนั้นแล้วค่ะ แล้วก็จะบังคับในขั้นตอนที่เป็นโครงสร้างค่ะ จะมีการจูนตั้งแต่ตอนที่เป็นโครงสร้างแล้วค่ะ ถ้าทรงขนาดใหญ่ ก็จะได้เสียงอีกแบบนึง ทรงขนาดเล็ก ก็จะได้เสียงอีกแบบนึง
งานของเรา จะเป็นงาน Custom ก็คือสั่งทำเฉพาะบุคคลคนนั้น เราจะสามารถเลือกขนาดคอ ขนาดของสเกลความยาว สมมติว่าเรานิ้วเล็ก เราก็เลือกสเกลสั้น นิ้วยาว เราก็จะเลือกสเกลใหญ่ขึ้นไป คอใหญ่ขึ้นไป สามารถปรับตรงนั้น ตามมือได้เลย ความพิเศษ ความแตกต่างก็จะอยู่ตรงนี้ค่ะ”
สำหรับราคาไม้ ที่นำมาทำกีตาร์ ที่ราคาแพงที่สุด และคุณภาพครบทุกด้านที่สุด เธอบอกว่า เป็นไม้ที่ชื่อว่า “Brazilian rosewood” ซึ่งเป็นไม้ตระกูลเดียวกับไม้พยุง
“มันมีทั้งไม้ถูก จนถึงไม้แพงเลยค่ะ แล้วแต่งบของลูกค้าค่ะ ไม้ที่แพงที่สุด เขาเรียกว่าไม้ Brazilian rosewood ค่ะ ซึ่งตระกูลนี้ จะเป็นตระกูลเดียวกับไม้พยุงบ้านเรา ไม้ตัวนี้มันเกิดที่บราซิล เราต้องมีการนำเข้า ผ่านตัวแทน จะมีตัวแทนนำเข้า จะมีใบอนุญาตถูกต้องค่ะ
แพงที่สุดเพราะว่า ไม้ตัวนี้มันจะหายาก ถ้าในการทำกีตาร์เขาจะสเปคสูงสุดแล้ว คุณภาพดีสุด เสียงดีสุด แล้วก็ด้วยความหายาก ความสวยงาม ก็คือเขาจะสุดทุกด้านเลย ในไม้ชนิดนี้ค่ะ”
รายได้ 2 แสนต่อเดือน
สำหรับเรื่องรายได้ของทางร้าน ก็อยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเธอก็บอกว่า เป็นงานแฮนด์เมด ที่พอใช้จ่าย เลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ไม่ถึงกับร่ำรวย
“ของเราจะเริ่มที่ 5 หมื่นบาทค่ะ ก็จะได้สเปคเริ่มต้น ก็คือเป็นสเปคพื้นฐานที่มีทั่วไปในร้าน ข้อแตกต่างคือ ลูกค้าจะสามารถเลือกรูปทรงได้ แต่ว่าชนิดไม้ ก็จะเป็นชนิดเดียวกันกับที่เขาวางขายทั่วไป
ส่วนกีตาร์ที่แพงที่สุด ก็คือจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทค่ะ ไม้ Brazilian ค่ะ ก็คือต้นทุนไม้เขาก็จะมาครึ่งนึงแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นค่าแรง แล้วก็ค่าฝีมือค่ะ
เฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 5 ตัวค่ะ ที่มีการจองเข้ามา เราก็จะผลิตออกไปเท่ากัน ออกเท่าไหร่ ก็เข้าเท่านั้นค่ะ ลิมิตสูงสุดก็คือ 5 ตัวต่อเดือนค่ะ ที่สามารถผลิตได้ตอนนี้ค่ะ
คือมันจะเริ่มจากมัดจำก่อนค่ะ แล้วพอจบงาน ก็จะได้อีกที่เหลืออย่างนี้ค่ะ ก็เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณไม่เกิน 2 แสนค่ะ ถ้ากีตาร์สเปคธรรมดานะคะ คือรายได้สูงสุดต่อปีก็ไม่เกินล้านห้าค่ะ ประมาณนี้ค่ะ ก็คือมันเป็นงานแฮนด์เมด ที่พออยู่ค่ะ ไม่ถึงกับร่ำรวย
ก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทรงที่คล้ายกับแบรนด์ดัง ที่จะขายดีที่สุดค่ะ ส่วนใหญ่เขาจะมีโมเดลมาให้เราก่อนว่า อยากได้เป็นทรงนี้ เหมือนยี่ห้อนี้ แต่เราไม่ได้มีการตีโลโก้เหมือนเขานะคะ แบบนั้นจะเป็นการก็อปเกินไป เราไม่สามารถทำได้
แต่ของเราจะเป็นการดีไซน์ที่แตกต่างออกไป เราจะเล่นกับพวกสเปคไม้ แต่ว่ารูปทรงจะเหมือนกันค่ะ รูปทรงอาจจะเหมือนของแบรนด์ที่ลูกค้าต้องการ เราไปทำความแตกต่างในส่วนของสเปคไม้แทนค่ะ
แล้วก็เรื่องการตกแต่ง แล้วก็โลโก้ที่เราฝังลงไป ก็อาจจะเป็นชื่อของลูกค้า เป็นนามสกุล หรือเป็นคำต่างๆ นานา ที่ลูกค้าต้องการค่ะ ตรงนั้นก็จะเป็นข้อแตกต่างของแบรนด์ แต่ส่วนใหญ่เขาก็จะมี reference มาก่อนค่ะ”
และแม้จะได้รับความสนใจ จากลูกค้าเป็นจำนวนมาก เรื่องของราคา เธอก็บอกอีกว่า ต้องตั้งให้อยู่ในราคาที่จับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งลูกค้าต่างชาติ เธอเองก็คิดเรทเดียวกับคนไทย ไม่ได้มีการอัพราคาขึ้นแต่อย่างใด
“ก็จะมีราคาที่ตั้งไว้เป็นราคากลางอยู่แล้วค่ะ เราจะไม่ตั้งราคาที่คนไทยไม่สามารถซื้อได้ เราก็ต้องดูเศรษฐกิจช่วงนั้นด้วยค่ะ ว่าลูกค้าสามารถจ่ายได้มากแค่ไหน คือให้มันเหมาะสมค่ะ ไม่โอเวอร์จนเกินไป แต่ถ้าเป็นงานประเภทเดียวกัน แต่เป็นงานของฝรั่ง เขาก็จะราคาอีกเท่าตัว จากของเราไปเลยค่ะ
ถ้าเป็นกีตาร์มีลายฉลุ ถ้าต่างประเทศ เขาก็อาจจะเป็นตัวประมาณ 3-4 แสน แต่ของเราคือไม่เกิน 1 แสน หรือประมาณแสนนึง ประมาณนี้ค่ะ
ต่างชาติก็เป็นเรทเดียวกันเลย แต่ว่าลูกค้าต่างชาติ ส่วนใหญ่ในรสนิยมของเขา เขาจะไม่ค่อยซื้อลายที่มันอลังการ อันนี้เท่าที่เจอมานะคะ เขาจะซื้อที่เป็นแบบคลีนๆ เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของไม้เลย เขาจะไม่ค่อยชอบการตกแต่งที่เยอะๆ
ก็มีทั้งอเมริกา มีทั้งฝรั่งเศสค่ะ ส่วนใหญ่เขาจะมีอาชีพในไทย แล้วก็ได้มาอุดหนุนเราค่ะ แล้วก็มีส่งไปไอซ์แลนด์ก็มีค่ะ ตัวนึง เขาให้คนไทยเป็นคนสั่งให้ แล้วก็หิ้วไปให้ที่ไอซ์แลนด์ค่ะ
ลูกค้าฝรั่ง 10% - 20% ค่ะ ที่เหลือก็จะเป็นคนไทย 80% ถ้าฝรั่งที่ที่ติดต่อเข้ามา ก็จะมีทั้งซ่อม แล้วก็สั่งทำก็มีค่ะ มีหลายรูปแบบ เวลาคุยงาน ส่วนตัวหนูจะเป็นคนติดต่อกับชาวต่างชาติเองค่ะ”
ส่วนเป้าหมายการขยายตลาดในตลาดต่างประเทศนั้น เธอก็บอกว่า เป้าหมายตอนนี้ คืออยากให้มีกำลังผลิตที่มากขึ้นกว่านี้ก่อน
“ตอนนี้เป้าหมายคือ อยากให้กำลังผลิต ผลิตได้มากขึ้น แล้วก็คุณภาพคงเดิมค่ะ แล้วถึงค่อยก้าวออกไปต่างประเทศค่ะ”
ใช้โซเชียลฯ จนเกิดกันบอกต่อปากต่อปาก
อีกหนึ่งช่องทาง ที่ทำให้คนรู้จักช่างเฟิร์น ช่างทำกีตาร์หญิงคนนี้ เธอก็บอกว่า มาจากช่องทางโซเชียลฯ โดยเฉพาะในช่องทางเฟซบุ๊ก ที่คนแชร์ผลงานของเธอ จนเกิดเป็นการบอกต่อ
“โซเชียลฯ ช่วยได้เยอะมากเลยค่ะ เพราะว่าเราไม่ได้มีหน้าร้าน ที่มีทำเลที่ตั้ง ที่เป็นทำเลทอง เราจะใช้การโปรโมตลงเฟซบุ๊กส่วนตัว สมัยก่อนก็จะเป็นลงเว็บไซต์ค่ะ ช่วงที่เริ่มแรก ทีนี้ก็จะเกิดการปากต่อปาก แล้วก็แนะนำกันให้มาติดต่อที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของแต่ละคนค่ะ ก็คือจะรับงานช่วยกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ส่วนตัวหนูเองค่ะ
มีเพจด้วยค่ะ ก็ทั้งเพจ ทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัวกันเลยค่ะ โพสต์ทุกทาง สมัยแรกๆ ก็จะเป็นเว็บไซต์ สมัยนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก เป็นเว็บไซต์สำหรับคนเล่นกีตาร์ในไทยค่ะ เป็นคล้ายๆ บล็อก คล้ายๆ พันทิป
ก็คือจะดูว่า เขาคุยกันในโลกอินเทอร์เน็ตในเรื่องกีตาร์ เขาคุยกันที่ไหน เราก็ไปขอสมัครสมาชิก แล้วก็โพสต์ลง ชื่อเว็บกีตาร์ไทยค่ะ เขาจะมีเว็บไซต์สมัยนั้น แล้วทีนี้หลังจากลงในเว็บไซต์นั้น ก็เกิดการแนะนำกันต่อมา แล้วก็มาเปลี่ยนเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวกันค่ะ”
นอกจากเรื่องของโซเชียลฯ ที่ทำให้ช่างเฟิร์นเป็นที่รู้จักไปทั่วในวงการกีตาร์แล้วนั้น เธอยังไม่หยุดที่จะพัฒนา นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการเขียนแบบ จากเมื่อก่อน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้วิธีการเขียนมือ
“ก็จะมีการเพิ่มของในเรื่องโซเชียลฯ เข้ามา เพิ่มของเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะช่วยกันดูว่า จากเดิมที่ใช้มือทำ 100% มันอาจจะไม่เป๊ะ บางทีมันส่งผลในระยะยาว เราก็จะแก้ในโปรแกรมในการเขียนแบบเข้ามาช่วยค่ะ ก็คือถ้ามีการเขียนแบบก่อนในคอม มันก็จะได้งานเรียบร้อย แล้วก็ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เวลาที่มองออกไป
เมื่อก่อน ก็คือจะวาดใส่กระดาษก่อน แล้วก็นำมาทาบ มาตัด ทุกวันนี้ก็คือวาดในคอม เราก็จะได้สเกลที่เหมาะสมมากขึ้นค่ะ รูปทรงก็จะไม่เบี้ยว ก็จะได้ความบาลานซ์เพิ่มเข้ามา ลวดลายต่างๆ ที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็จะเป็นหนูออกแบบจากคอมก่อนค่ะ แล้วก็นำมาตัดเป็นชิ้นงานอีกทีนึงค่ะ”
เกิดการบอกต่อปากต่อปากผ่านโลกโซเชียลฯ จนมีลูกค้าหลายคนรู้จัก และตบเท้าเข้ามาจ่อคิวใช้บริการ หนึ่งในนั้นก็มี“มาร์ค-พลวัตร วรรณวิทยาภา”นักกีตาร์ชื่อดัง ที่เข้ามาใช้บริการ ให้ช่วยเรื่องปรับเสียงของกีตาร์ให้
“คุณมาร์ค อันนี้ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าเหมือนกันค่ะ เขาเป็นนักกีตาร์มืออาชีพค่ะ ก็เคยเป็นระดับแชมป์ เคยได้แชมป์หลายๆ รายการ เขาก็เอากีตาร์มาให้เราปรับให้ ปรับเรื่องของความสูง ปรับเรื่องสัมผัสการเล่นให้ค่ะ อันนี้ยังไม่ได้สั่งค่ะ แค่เอามาให้ปรับเรื่องสัมผัสการเล่นให้ค่ะ
คือเขาเห็นที่เราโฆษณาไปค่ะ ส่วนตัวก็โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่แล้วใช่ไหมคะ เขาก็เกิดการแชร์ พอแชร์เขาก็เห็นจากเพื่อนๆ แชร์ไป เขาก็เลยลองติดต่อเข้ามา ก็เลยให้เราลองปรับให้เขาดูค่ะ เขาก็ให้เรา setup เรื่องระดับความสูงของสายค่ะ
แล้วก็มีพี่ที่เป็นเจ้าของเพจ แมวเศษเล็บค่ะ พี่จอห์นกับพี่โย ที่เขาเป็นคู่กัน แล้วเขาแต่งตัวเหมือนกันค่ะ ก็มาใช้บริการเหมือนกัน มาปรับเหมือนกันค่ะ มา setup มาปรับการเล่น คือคนที่เล่นเป็นอาชีพ เขาจะมีกีตาร์ประจำตัวของเขาอยู่แล้ว บางทีกีตาร์มันทิ้งไปสักระยะ ก็จะมีการเคลื่อนตัว สัมผัสการเล่นไม่เหมือนเดิม เขาก็ต้องคอยมาปรับเรื่อยๆ ค่ะ”
บทเรียนจากความผิดพลาด จนเกิดเป็นกีตาร์คุณภาพ
เธอเล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า ได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้ามาค่อนข้างดี แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ เธอก็เรียนรู้จากความผิดพลาดมาก่อน
“มีหลายท่านก็จะบอกว่า ได้ทั้งความสวยงาม ได้ทั้งความเสียงดี แล้วก็ได้ทั้งความแข็งแรงค่ะ ส่วนใหญ่ที่ได้รับฟีดแบ็คมาก็จะเป็นประมาณนี้ แต่คือเราเกิดการพัฒนาจากที่ เราก็เคยพลาดมาก่อนอยู่แล้วค่ะ พอเกิดการพลาด เราก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไข ในส่วนที่เราผิดพลาดค่ะ จนทำให้เกิดคุณภาพในปัจจุบันที่เป็นอยู่ตอนนี้ค่ะ
แต่ที่เคยเรียน และเคยทำงานในด้านบัญชีมาก่อน ก็คือจะช่วยในเรื่องของการคำนวณต้นทุน แล้วก็จัดสรรในเรื่องของการยื่นภาษีค่ะ ในแต่ละปี แล้วก็สรุปรายจ่ายแล้วก็รายรับแต่ละปี ว่าเราควรลดตรงไหน เพื่อตรงไหน
ส่วนใหญ่ต้นทุนในเรื่องของกีตาร์จะเป็นในเรื่องของเวลามากกว่าค่ะ เวลาในการทำ คือถ้ายิ่งใช้เวลาในการทำนาน ก็เท่ากับว่าต้นทุนเวลาก็สูงขึ้น ค่าแรงก็สูงขึ้น เพราะว่าเราจะคำนวณเป็นค่าแรงขอแต่ละคนอยู่แล้ว เวลาที่คิดเป็นบัญชีค่ะ ถ้าสมมติว่าวันนี้งานพลาด เราก็ต้องหักไปแล้ว ตีเป็นค่าแรง 1 วัน ก็ต้องหักเป็นตัวนั้นไปค่ะ
ก็คือต้องตั้งลิมิตว่า เราไม่สามารถที่จะพลาดได้เกินนี้แล้วค่ะ ก็คือให้มันแก้ไข กลับมาแก้ไขขั้นตอนเดิมน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ค่ะ”
แน่นอนว่า นอกจากเรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วนำมาเป็นบทเรียนแล้ว บางครั้งพอทำงานฝีมือเหล่านี้ไป ก็รู้สึกเฟลก็มี แต่เธอก็รีบดึงตัวเองกลับมาให้ได้ไวที่สุด ด้วยการบอกตัวเองว่า ลูกค้ารออยู่
“ก็มีบ่อยค่ะ แต่มันจะเกิดขึ้น แล้วเราก็จัดการตัวเองภายในวันนั้นเลยค่ะ แล้วก็กลับมารีเฟรชใหม่ในวันต่อไป คืองานทุกงานลูกค้ารออยู่ค่ะ ก็ไม่อยากให้เขารอนาน เราก็รีบจัดการตัวเอง มันเป็นเรื่องของระบบหลังบ้าน เราก็จะต้องจัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อน เพื่อที่ลูกค้าจะไม่ต้องรอนาน
ส่วนใหญ่ก็คิดว่า เกี่ยวกับอารมณ์ แต่ทีนี้มันเกิดเป็นความรับผิดชอบมากกว่าตอนนี้ค่ะ เราต้องรับผิดชอบจนจบงาน เพื่อให้งานสำเร็จ
ตอนนี้คือข้ามไปแล้วค่ะ คือไม่มีตรงที่ต้องใช้อารมณ์แล้ว คือมันเป็นเรื่องของเราต้องใช้ความรับผิดชอบเป็นหลักมากกว่า คืองานต้องเสร็จตามคำพูด ตามที่เราสัญญาไว้กับลูกค้าค่ะ ตรงนี้จะเข้ามาเป็นหน้าที่มากกว่า เราต้องดึงตัวเองกลับมาให้ไวที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้งานมันเดินต่อได้”
แม้จะสั่งสมประสบการณ์มาแล้วหลายปี แต่เธอก็ยังบอกอีกว่า ตัวเองยังไม่ชำนาญมากเท่าไหร่ และก็ยังไม่ได้เก่งพอ ยังต้องหาความรู้ และอาศัยประสบการณ์เพิ่มขึ้นไปอีก
“ส่วนตัวยังคิดว่า ยังไม่ชำนาญมากเท่าไหร่ค่ะ คือทำได้ค่ะ แต่ยังไม่เก่งมาก ก็คืออยากพัฒนาในเรื่องของเสียง เสียงกีตาร์คือต้องบาลานซ์กับความแข็งแรงของกีตาร์ค่ะ”
สุดท้ายนี้ ช่างเฟิร์นเธอก็บอกว่า อาชีพนี้ตอบโจทย์กับชีวิตมากๆ รู้สึกว่าคุ้มในการได้ใช้ชีวิต เพราะได้มีเวลาส่วนตัวมากกว่าที่ในตอนที่ทำงานประจำ และอีกอย่างคือ ได้อยู่กับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตากัน
“ก็รู้สึกว่าคุ้มค่ะ ที่เราได้ทำเป็นของตัวเอง เราได้มีเวลาส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น เราไม่ได้เร่งรีบในส่วนการเดินทาง หรือไปเจอผู้คนมากมาย บุคคลที่เราจะเจอคือมีลูกค้า และคนในครอบครัวแค่นั้นค่ะ
ตอบโจทย์ตรงที่ว่า เราได้อยู่กับครอบครัวทั้งหมดพร้อมกัน แล้วก็ไม่ต้องเดินทางในการไปทำงาน ไม่ต้องพบเจอผู้คนที่แบบมากมาย คือยิ่งเจอคนน้อย ก็ปัญหาน้อย ในส่วนตัวรู้สึกแบบนี้ค่ะ ก็เลยชอบที่จะอยู่ตรงนี้มากกว่าค่ะ”
...“เริ่มจากฝึกทุกๆ ขั้นตอนซ้ำๆ แล้วถึงมีโอกาสสร้างเป็นตัวของตัวเองค่ะ”...
>>> https://t.co/mJGzt65ap1
.
เธอเป็นช่างทำกีตาร์ผู้หญิง 1 ในไม่กี่คนในไทย ที่ลูกค้าพร้อมต่อคิวรอซื้อผลงาน ด้วยแรงบันดาลใจที่ฝากไว้ในงานทำมือ จนถูกพูดถึงปากต่อปาก
.#LineThaiGuitar #กีตาร์ #กีตาร์ทำมือ pic.twitter.com/LTp27Jnw4y— livestyle.official (@livestyletweet) March 23, 2024
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “LineThai Guitar”, เฟซบุ๊ก “ช่าง เฟิร์น”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **