xs
xsm
sm
md
lg

“ด็อกเตอร์ 10 ปริญญา” ทิ้งครึ่งล้านต่อเดือน บุกเบิกคาเฟ่ฟาร์มเกษตร [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเส้นทางชีวิต อะไรที่ต้องหักมุมชีวิต จาก ดีกรี ดร. และนักเทคนิคการแพทย์ อดีตผู้บริหารบริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์ชื่อดัง ตัดสินใจทิ้งรายรับครึ่งล้านต่อเดือน ทิ้งชีวิตความหรูหราในเมืองกรุง ทิ้งใบปริญญา 10 ใบ หันหน้าสู่อาชีพเกษตรกร ที่ จ.พะเยา



แชร์ข้อคิดจนเป็นไวรัล

“10 ข้อคิดก่อนลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร” นี่เป็นหัวข้อ ที่ชาวโซเชียลฯ แห่แชร์จนเป็นไวรัลในเฟซบุ๊ก จาก “ดร.มนัส สุภาพ” ที่ออกมาสรุปข้อคิดดีๆ 10 ข้อ จากประสบการณ์ตัวเอง

และที่ดูเหมือนจะทำให้คนสนใจมากๆ ในโพสต์นี้เลยก็คือ หลายคนสงสัยว่า อะไรที่เป็นเหตุผล ที่ ดร.มนัส ยอมทิ้ง รายรับครึ่งล้านต่อเดือน ทิ้งชีวิตความหรูหราในเมืองกรุง ทิ้งดีกรีด๊อกเตอร์ ทิ้งปริญญาบัตรทั้ง 10 ปริญญา เพื่อมุ่งมั่นเอาดีทางการเกษตรในวัย 49 ปี ที่บ้านเกิด อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

และวันนี้ จะพาทุกคนไปหาคำตอบ ว่าทำไมถึงหักมุมชีวิตจาก ดีกรี ดร.เทคนิคการแพทย์ 10 ใบปริญญา และเป็นถึงอดีตผู้บริหารบริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์ชื่อดัง ตัดสินใจหันสู่เกษตรกรบ้านนอกเต็มเวลา

พร้อมกับการแชร์ประสบการณ์ ที่เขาเชื่อว่า เกษตรยุคใหม่ต้องรวย เพื่อให้อีกหลายๆ คน ที่สนใจอยากจะหันหน้า สู่อาชีพเกษตรแบบจริงจัง ลองไปฟังแนวคิดเหล่านี้ดู เชื่อว่าจะได้แรงบันดาลใจ และแง่คิดก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร

แต่ก่อนที่จะไปฟังแนวคิดเหล่านั้น ดร.นมัส ก็เอ่ยปากบอกเลยว่า รู้สึกตกใจมาก ที่หลายคนให้ความสนใจกับบทความที่เขียน และแชร์ไปในเฟซบุ๊ก พร้อมกับบอกอีกว่า หลายๆ คน คงจะวาดฝันการมีชีวิตที่มีความสุข เรียบง่ายในชนบท บนพื้นฐานอาชีพเกษตรกรเช่นเดียวกัน


“คือตอนที่พี่โพสต์ในเฟซบุ๊ก พี่ก็โพสต์แบบปกติของพี่ ดูเหมือนคนซีเรียสเนาะ เป็นวุฒิด็อกเตอร์ มี 10 ปริญญา น่าจะเป็นคนซีเรียสประมาณนึง แต่ความเป็นจริงพี่โพสต์เฟซบุ๊ก พี่จะโพสต์อะไรแบบขำๆ ไร้สาระอะไรอย่างนี้ แต่พี่จะเป็นคนพยายามเรียบเรียงคำพูดจากประสบการณ์

พอเกิดการแชร์เยอะ ณ วันนี้ 700 กว่าแชร์ พี่ยังตกใจ ตกใจแล้วตกใจอีก คือช็อกได้ แล้วเราก็มาคิดว่ามันคืออะไรตรงไหน ที่คนถึงแชร์เราเยอะขนาดนี้ เราก็เลยมีความรู้สึกว่าดีใจ แล้วก็ตกใจด้วย แล้วชอบมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนถึงชอบแชร์นี้

อันที่หนึ่งก็คือว่า ตอนที่พี่จั่วหัวว่า คนหลายๆ คนอยากมาทำเกษตร ด้วยเหตุผลหลายๆ เหตุผล ซึ่งพี่กำลังจะมองว่า แสดงว่าคนเบิร์นเอาท์ จากการทำงานในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเยอะแหละ แล้วก็อยากมาทำเกษตร เขาก็เลยดูสนใจ

อันที่ 2 พี่มองว่า อาจจะเป็นรูปภาพ แล้วก็โปรไฟล์ มันน่าจะดึงคนในหลายๆ กลุ่ม แล้วแชร์ เพราะว่าโปรไฟล์ของพี่มันจะขัดกันไงครับผม คนที่จบปริญญาเอกประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานขนาดนี้ ทำงานในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 10 ปริญญา แล้วมีร่างกายประมาณนี้ แล้วมาทำเกษตร มันขัดกัน คนก็เลยดูว่ายังไง ต้องคลิ๊กมาอ่านแน่นอน พี่คิดว่ามันมี 2 ประเด็นหลักคือคนสนใจเกษตรมากขึ้น อันที่ 2 คนสนใจในเรื่องของโปรไฟล์และรูปภาพ”

[ภาพประกอบ 10 ข้อคิด ที่คนแห่แชร์ในเฟซบุ๊ก]
จุดหักมุมชีวิต จากการหมดแพชชั่น

เจ้าของดีกรีอีก 10 ใบปริญญา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการหันหน้า สู่อาชีพเกษตรกรให้ฟังว่า เดิมทีครอบครัวทำอาชีพเกษตรอยู่แล้ว และอาชีพเกษตรกร มันฝังรากลึกอยู่ในชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ต้องสร้างฐานะให้ตัวเอง อาชีพเกษตรกร จึงยังไม่ใช่คำตอบแรก ที่ต้องเลือก

“พี่เป็นคนชนบท ความเป็นเกษตรกร และการทำเกษตรกรรม มันฝังรากลึกอยู่ในชีวิตอยู่แล้ว เราเห็นพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความที่ครอบครัวเราต้องสร้างชีวิต ในช่วงแรกๆ คือย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือเราก็จะพยายามตั้งใจเรียน เพื่อที่จะถีบตัวเอง ไม่อยากให้ตัวเองลำบาก คือเกลียดความจน เกลียดความไม่มี เห็นคนอื่นมี แล้วเราก็อยากมีอะไรอย่างนี้ครับ

แต่ว่าในเบื้องลึก เราก็จะเห็นว่า background ชีวิตเรา จะอยู่กับชนบท จะอยู่กับเกษตรกรรม แต่มันจะเก็บไว้ลึกๆ ก่อน มันยังไม่ถึงเวลาที่จะขุดขึ้นมา สิ่งที่พ่อให้ทำก็คือ เราต้องตั้งใจเรียนอย่างเดียว พี่ก็ตั้งใจเรียนอย่างเดียว เป็นเด็กเนิร์ดเลย


คือพี่พยายามเรียนหนังสือให้มากที่สุด พี่ก็ไปเรียนสอบโควต้าติดเทคนิคการแพทย์ มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก็ไปเรียนอยู่ 4 ปี แล้วด้วยความที่ตัวเอง เป็นคนที่อารมณ์ใฝ่สูง แล้วก็อยากได้ดิบได้ดี พ่อก็บอกว่าให้รับราชการ เราก็ไม่รับราชการ แล้วก็ไปทำงานเป็นเทคนิคการแพทย์ อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน อยู่ได้ 7 ปี แล้วมีความรู้สึกถามตัวเองว่า อีกกี่ปีเราจะได้เป็นหัวหน้า แล้วอีกกี่ปีเราจะได้เงินเดือนเท่าไหร่

ซึ่งเรามองว่าคงอีกนานแหละ อีก 50 หรือ 60 ปีนู่นละมั้ง กว่าจะได้เป็นหัวหน้า แล้วเงินเดือนมันจะสักเท่าไหร่วะ ตอนนั้นเงินเดือนมันหมื่นสอง บวกโอทีอะไรต่างๆ มันก็ไม่ถึง 2 หมื่น ก็คือเป็นหัวหน้าก็น่าจะ 4-5 หมื่น อายุ 50 ปี มันคงไม่ไหวแล้วมั้ง มันคงไม่ใช่ ไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราแล้ว

ทีนี้พี่ก็ไปเรียน MBA ที่จุฬาฯ หลังจากนั้นก็ลาออกเลย แล้วพี่ก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่ผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับการขายสินค้าทางการแพทย์ จุดนี้แหล่ะครับเป็นจุดเปลี่ยนเริ่มแรก ด้วยความที่พี่เป็นคนที่ได้ภาษา แล้วก็มีพื้นฐานเทคนิคการแพทย์ในการขายเครื่องมือแพทย์

ก็ไต่เต้ามาเรื่อยๆ ทำงานแป๊บเดียวได้เป็น Product Manager อีกแป๊บเดียวได้เป็น Marketing Manager แล้วก็ถูกซื้อตัวจากประเทศไต้หวัน ไปทำสเต็มเซลล์ 3 ปี แล้วก็ถูกซื้อตัวกลับมาที่เดิมอีก ทำมะเร็งปากมดลูก ไต่เต้ามาเรื่อยๆ แล้วเงินเดือนมันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ”


สำหรับจุดหักมุมของชีวิต ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดัง ในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ และตัดสินใจทิ้งรายรับครึ่งล้านต่อเดือน ทิ้งชีวิตความหรูหราในเมืองกรุง ทิ้งดีกรี ดร. มาจากการหมดแพชชั่นในการทำงาน บวกกับความเครียดสะสม จนในที่สุด อาชีพเกษตรกร ก็คือคำตอบสุดท้าย

“จนวันหนึ่งบริษัทที่พี่อยู่ ก่อนที่จะลาออกเนี่ย คือเราพยายามเข้าตลาดหลักทรัพย์ พี่ก็เป็นส่วนนึง ที่ช่วยผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ พอเข้าได้ประมาณสัก 2 ปี พี่ก็ลาออกมาทำเกษตร

คือพอเรามาอยู่ที่สูงแล้ว กำลังจะบอกว่าเรา success วันที่เราเป็นตัวเล็กตัวน้อย เราก็พยายามขึ้นไปเป็นใหญ่ แล้วเราก็ได้ขึ้นไปเป็นตัวใหญ่จริงๆ ไปเป็นผู้บริหารระดับสูง ถูกแพลนที่จะวางเป็นมือ 1 ก็คือ CEO ของบริษัท ซึ่งแพทเทิร์นมาสวยหรูมาก ดีมากๆ ซึ่งอันนั้นก็คือที่มาของคำว่าเงินเดือนครึ่งล้าน รายรับครึ่งล้าน พี่มีรายรับต่อปี ช่วงนั้นมันแล้วแต่ยอดขาย ประมาณ 6-8 ล้านต่อปี ซึ่งทุกอย่างมันสวยหรูมาก

แต่พอเราไปถึงจุดนั้นแล้ว การที่จะอยู่ตำแหน่งสูง คือเงินเยอะแน่นอน ถูกต้อง แต่มันก็คงไม่ได้จะเงินเยอะ แล้วจะสบาย มันมาพร้อมกับอะไรอีกหลายๆ อย่าง ในช่วงประมาณ 5 ปีสุดท้าย ก่อนที่จะลาออก เราก็สะสมความเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทำไมถึงต้องลาออก เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราหมดแพชชั่นในการทำงานแล้ว คือการทำอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน ทุกเรื่องนะครับ พี่ก็มีแพชชั่นมาก เป็นคนที่มีความฝัน มีความเพ้อเจ้อเวิ่นเว้อ คือเราต้องฝันก่อน ก่อนที่จะลงมือทำ ถ้าเราไม่มีฝัน มันเดินลำบาก เพราะฉะนั้นพี่จะเดินด้วยฝัน แล้วก็แพชชั่น ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การทำงาน

แต่พอวันหนึ่ง แพชชั่นของเราหมด ประสิทธิภาพในการทำงานของเราจะน้อยลง มีความรู้สึกว่า เราต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่า เราอาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง

[อดีตนักเทคนิคการแพทย์]
นั่นคือเหตุผลข้อที่ 1 ในการที่พี่หักมุมชีวิต ก็คือมันหมดแพชชั่นในการทำงาน เป็นพนักงานออฟฟิศครับ ข้อที่ 2 ก็คือว่า เนื่องจากเราก็มีประสบการณ์ทางด้านการขายและการตลาด มาค่อนข้างเยอะ ทางด้านพัฒนาธุรกิจมาก็ค่อนข้างเยอะ เรียนก็เยอะ มันเลยทำให้เรามีความชาเลนจ์ตัวเอง มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมีธุรกิจของตัวเอง หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ

คือที่จริงมัน backup ในเรื่องของเงินนั่นแหละ เงินเราก็พอมีส่วนนึงแล้ว คือวันที่เราเล็กๆ เราอยากมีเงินเยอะๆ แต่พอเรามีเงินเยอะๆ เราจะมีความรู้สึกว่าเงินจะเป็นปัจจัยรองแล้ว เราอยากทำอะไรอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า เงินไม่สำคัญนะครับ

อันที่ 3 คือเหตุผลที่ทำให้ผลักดันหักมุมชีวิตก็คือ พ่อเสียครับ พอดีพ่อเสียมันก็คิดอะไรได้หลายๆ อย่าง เพราะแต่ก่อนหน้านี้เราจะมีความรู้สึกว่า เรามีเงินเยอะก็จริง เราเลี้ยงพ่อด้วยเงิน แต่เรามีเวลาให้ท่านน้อยมาก แต่พอเวลาที่ท่านเสียก็คือ แต่เราก็ทำดีที่สุดของเราแล้วนะครับผม ดูแลอะไรท่านดีทุกอย่าง แต่พอมันเสียแล้วมันทำอะไรไม่ได้

ทีนี้เราก็เหลือแม่ไงครับ เราควรที่จะกลับบ้านหรือเปล่า บวกกับ 2 เหตุผลเมื่อกี้นะครับ แล้วก็เหตุผลที่ 4 ก็คือ มันย้อนกลับมา มันก็จะขุดเรื่องเดิมๆ ความที่เราเป็นเด็กชนบท เราอยากเห็นบรรยากาศเก่าๆ เหมือนอารมณ์แม่กำปอง อารมณ์ปายสมัยก่อน เราอยากเจอยังงั้น แล้วเราอยากมาอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างนั้น

ซึ่งในวัยเด็กเราเห็นนะครับ แต่เรายังใช้ชีวิตกับมันได้ไม่เยอะ เพราะว่าเราต้องเรียน พอเรียนเสร็จแล้วก็ต้องไปเรียนเชียงใหม่ แล้วก็ไปอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เราโหยหาในชีวิตของชนบทนะครับผม

แล้วอันที่ 5 อันสุดท้ายก็คือ เพราะทุกอย่างมันลงตัว เหตุผล 4 ข้อเมื่อกี้ เราอยากออกจาก comfort zone อันนี้คือ 5 เหตุผลว่าทำไมพี่ถึงตัดสินใจมาทำเกษตร นี่คือบททุกอย่าง มันลงไว้ที่เกษตร ถามว่าไม่เกษตรได้ไหม พี่ก็มีความชำนาญในเรื่องของการแพทย์ พี่เปิดบริษัททางการแพทย์สิ หรือมูฟไปทำ ถ้ามันหมดแพชชั่นของที่นี่ ก็มูฟไปทำบริษัทอื่นที่มีแพชชั่นสิ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์พี่ในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ไงครับ เลยต้องกลับมาทำเกษตร”


แม้จะบอกว่า หมอแพชชั่นในการทำงานประจำ แต่การออกมาทำเกษตร ดีกรี ดร.เทคนิคการแพทย์ ก็บอกว่า เป็นการที่ตัดสินใจนานอยู่เหมือนกัน เพราะย้ำคิด ย้ำถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาเกือบ 2 ปี

“ต้องบอกว่าวันหนึ่ง ที่เราได้รายรับประมาณ 5 แสนต่อเดือน กับการมาเป็น 0 บาทต่อเดือน คิดว่าต้องทำใจนานไหม โครตๆ ทำใจนานเลยครับ คือเราใช้ระยะเวลาในการที่จะบอกกับตัวเอง ในการเตรียมประมาณ 2 ปีครับ เดี๋ยวพอวันที่มันจะต้องโช๊ะจริงๆ ก็คือต้องตัด

คือมันต้อง trade-off ในเรื่องหลายๆ อย่าง เงินเราก็อยากจะได้ trade-off ในเรื่องครอบครัวหรือชนบท ที่เราก็อยากจะอยู่ trade-off ในเรื่องของสุขภาพ trade-off ในเรื่องของการท่องเที่ยวหลายๆ อย่าง พอเรา trade-off มันก็ต้องตัดโช๊ะ

คำพูดที่พี่ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา สมมติพี่ทำงานอีก 2 ปี พี่ได้รายรับอีกประมาณสัก 15 ล้าน สมมตินะครับ แต่ปีที่ 3 พี่ตาย มันคุ้มไหม พี่จะใช้คำพูดตรงนี้ตอบย้ำตัวเองตลอดว่า จะเอาไง แต่ทำต่อก็ได้นะ แต่คุณจะหมดแพชชั่นในการทำงาน คุณก็จะเจอความเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วประสิทธิภาพการทำงานของคุณลดลง แล้วมันไม่ใช่ตัวคุณแน่นอน

แต่ถ้าคุณยังฝืนทำต่อก็ทำได้นะ แต่ถ้าคุณตายในปีที่ 3 แล้วเงินที่ได้มา คุณยังไม่ได้ใช้เนี่ย มันคุ้มไหม นั่นแหละคือสิ่งที่ตอกย้ำตลอด ทำใจยากมาก แต่ก็ทำไปแล้ว”


สร้างคาเฟ่ เลี้ยงไก่ ปลูกผัก

ในพาร์ทของอาชีพเกษตรกร ที่เลือกสร้างรายได้ให้กับตัวเอง หลังจากลาออกจากงานประจำ นั่นก็คือ ลงทุนสร้างคาเฟ่ เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำไร่ทำนา และแพลนสร้างฟาร์มสเตย์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้กับนักท่องเที่ยวได้มาเยือน

“ตอนนี้พี่ออกมาเกือบครบ 2 ปีแล้ว จะครบ 2 ปี ตอน พ.ค.นี้ ครับผม แต่ครึ่งปีแรกที่ออกมา ก็คือ มันทำอะไรยังไม่ได้ ในเรื่องของเกษตร เพราะว่ามันเป็นช่วงหน้าฝนพอดี ก็ต้องตามน้ำไปก่อน ฝนตกมาก็ทำไร่ทำนาไปก่อน ตามชาวบ้าน

แต่ทีนี้มันเริ่มทำจริงๆ ก็คือต้นปี 66 พี่จะมีการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวอยู่แล้วนะครับ ระยะสั้นคือ 1-2 ปี ระยะกลางคือประมาณ 2-5 ปี ระยะยาวคือ 5 ปีขึ้นไป

วันที่เราไม่ได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตีว่ารายได้เป็น 0 เราจะทำอะไรยังชีพ เราต้องถามตัวเองก่อน พอดีช่วงที่พี่ทำงาน พี่ก็ไถ่ถอนหนี้ต่างๆ ของพ่อแม่ แล้วก็ซื้อที่นาเพิ่มเติม เบ็ดเสร็จแล้วมันจะรวมประมาณ 4 แปลง 45 ไร่

อันแรกพี่ก็ต้องมานั่งจัดการพื้นที่ดินทั้ง 4 แปลงที่เป็น 45 ไร่นี้ก่อน มันแยกกันนะครับผม อันแรกคือเรากลับมาเราก็ต้องมาบริหารจัดการว่า 4 แปลงเนี่ย เราจะโฟกัสที่แปลงไหน พี่โฟกัสที่แปลงระหว่างที่อยู่หมู่บ้าน ซึ่งเราจะเอา 13 ไร่นี้ก่อน เพื่อที่เราจะเอามาทำเป็นฟาร์มเกษตร คาเฟ่











พอเราโฟกัสอันนี้แล้ว ทีนี้เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่พี่วางผัง landscape ของโครงสร้างฟาร์มเกษตรเรียบร้อย พี่ก็ลงทุนก่อสร้างเลยครับ มีการทำโซนคาเฟ่ คือร้านกาแฟ แล้วก็มีห้องครัวอาหารตามสั่ง แล้วก็มีฟาร์มไก่ไข่ แล้วก็มีเป็ดด้วย มีไก่แจ้ ไก่สวยงามด้วย

แล้วก็แบ่งโซนอีกโซนหนึ่ง ปลูกพืชสวนครัวไว้กิน แล้วก็มีสวนปลูกผลไม้ ซึ่งอันนี้มันจะโตช้าหน่อย มีโซนปลูกดอกไม้เพื่อความสวยงาม แล้วก็มีการทำโรงเรือน แล้วก็เป็นที่พักอาศัยส่วนนึง แล้วก็อีกพาร์ทนึง ที่เป็นพาร์ทโคกหนองนา คือจะมี 3 ไร่ ใน 13 ไร่นี้ เราเข้าโครงการของรัฐบาล ที่ทำเป็นโคกหนองนาครับผม แล้วเราก็มาพัฒนาปูพื้นที่ของโคกหนองนาตรงนี้

ทีนี้สิ่งที่ทำทั้งหมด มันจะตอบโจทย์ว่า แล้วระยะสั้นเราจะได้รายได้มาจากไหน ถ้าจากที่เราวางแปลนของโครงสร้างของฟาร์ม ปรับ landscape ขุดสระใหม่ เราก็จะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการทำนาทำไร่ ตามฤดูกาลอันนี้คือที่มาของรายได้นะ

แล้วก็เราทำที่เลี้ยงไก่ไข่อยู่ประมาณ 250 ตัว ทีนี้เราก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเรา กำไรก็ถือว่าโอเคเลยแหละสำหรับพี่นะ แล้วก็เรามีคาเฟ่ที่เป็นร้านกาแฟให้คนชุมชนมานั่งกิน มานั่งเที่ยว ท่องเที่ยวกันนะครับผม



 
 คาเฟ่ชื่อ BrookLyn ฟาร์มเกษตรคาเฟ่ BrookLyn คำนี้มาจากสะพาน BrookLyn ที่นิวยอร์กครับ ส่วนอื่นๆ ก็ทำไร่ทำนา ทำไก่ไข่ แล้วก็มีคาเฟ่แล้วก็ปลูกผักสวนครัว พอมันปลูกเยอะขึ้น ก็เก็บผักสวนครัวนี้มาขายในหมู่บ้าน แล้วตอนนี้ก็รับปรึกษาทำวีซ่าอเมริกา อังกฤษ แล้วก็พวกยุโรปด้วยครับ”

[BrookLyn ฟาร์มเกษตรคาเฟ่]


เชื่อว่าต้องรวยจากเกษตร

สำหรับรายได้หลักๆ หลังจากที่หันมาทำเกษตรแบบเต็มเวลา ดร.มนัสบอกว่า มาจาก 3 ช่องทาง รายรับก้อนแรกคือ มาจากการทำนา ส่วนรายได้ก้อนที่ 2 คือมาจากการขายไข่ไก่ ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด 250 ตัว และรายได้ก้อนที่ 3 มาจากคาเฟ่

“คือปีที่แล้วที่พี่มาทำนาเป็นปีแรก ก็คือทำนาก็ได้ราวๆ ยังไม่หักค่าใช้จ่ายแล้วกัน ค่าใช้จ่ายก็ประมาณ 5 หมื่น คือทำเกษตรเขาเรียกว่า รัฐบาลค้ำประกันรายได้ให้ด้วยเนาะ เบ็ดเสร็จก็คือพี่ก็ตีว่ากำไรก็ได้ประมาณราวๆ ละ 5-6 หมื่นต่อปี ในการทำนาประมาณไม่ถึง 20 ไร่ อันนี้ของปีแรกที่ผ่านมานะครับ

อันที่ 2 ก็คือการทำฟาร์มไข่ไก่ ไก่ไข่ 250 ตัว ทุกวันนี้พี่เก็บประมาณวันละ 210 ฟอง อย่าง 30 วัน ก็คือได้วันละ 7 แผง พี่คิดค่าเฉลี่ยต่อแผง 130 บาท เอา 130 คูณ 7 แผง ก็คือ 910 คูณ 30 วัน รายได้ก็คือสองหมื่นเจ็ด ก็เกือบ 3 หมื่นต่อเดือน จากไก่ไข่ที่เราขายนะครับ

มันก็จะได้เป็นรายได้ต่อวัน ก็ประมาณ 800-900 บาท แล้วก็เราก็ลบต้นทุนอาหารไก่ ก็ 500 กว่าบาท เฉลี่ยแล้วก็จะมีกำไรตรงนี้ประมาณสัก 300 กว่าบาท ต่อวัน อันนี้ก็อยู่แบบชิลๆ อันนี้ก็จะเป็นรายได้ส่วนหนึ่ง จากการทำโรงเรือนไก่ไข่

รายได้อันที่ 3 ที่เป็นหลักเลยก็คือร้านกาแฟ ร้านคาเฟ่ อันนี้ก็ตกราวๆ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน แล้วแต่อีเว้นต์ อย่างช่วงอีเว้นต์ช่วง new year ที่ผ่านมา ยอดขายมันก็ค่อนข้างดี

พี่พยายามจะผลักดันให้เป็นฟาร์มเกษตรคาเฟ่ เพื่อเป็นฟาร์มเกษตรที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยนะครับผม คือในระยะกลางมันจะเป็นอย่างนั้น แต่ในระยะสั้นปีแรกคงอาจจะยังไม่ถึงขนาด เพราะเราต้องปรับ landscape ของฟาร์มของเราให้มันเยอะ ก็รอต้นไม้ หรืออะไรต่างๆ ให้มันเติบโต เพราะมันต้องใช้ระยะเวลา


อันนี้แค่ปีแรกนะครับ คือกำลังจะบอกว่า ก็เราลงทุนเยอะเนาะ ถ้าปีแรกคุณสามารถอยู่ได้ด้วยรายได้แบบนี้ ปีถัดๆ ไปมันต้องดีขึ้นกว่านี้แน่นอน

แต่ก็อย่าลืมนะคะว่าปีถัดๆ ไป เราก็ต้องขยายงานเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของเงินระยะปีที่ 2 ปีที่ 3 เราก็ต้องวางแผน ในขณะเดียวกัน รายได้อย่างที่พี่บอกเมื่อกี้ 3 ช่องทางมันก็มาจุนเจือเรา ทำให้เรามีชีวิตอยู่ รอวันที่จะเติบโตทางการเกษตรไปเรื่อยๆ มันก็อยู่ได้”


นอกจากนี้ ดร.มนัสยังเชื่ออีกว่า ตัวเองจะรวยจากอาชีพการทำเกษตรให้ได้ จึงตัดสินใจทุ่มทั้งชีวิต ทั้งแรงกาย เงินใจ และเงินทุนตัวเอง และเชื่ออีกว่า อาชีพเกษตร จะสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิต

“มันต้องรวยอยู่แล้ว ต้องรวยจากอาชีพนี้ แล้วเรามาดูปีที่ 2 ปีที่ 3 ปีที่ 4 คือพี่มุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตเกษตร คือยังไงพี่ก็ต้องทุ่มเทให้กับสิ่งที่พี่เลือกแล้ว เพราะว่ามันคือชีวิต มันคือการลงทุนเพื่อชีวิตของพี่ทั้งหมด มันใช้เงินตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการกู้ยืมอะไรเลย

ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะอยู่กับเราไปตลอด เราไม่ได้เป็นหนี้ใคร เกษตรในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่เนี่ย มันคือความยั่งยืน เกษตรมันคือรากเหง้าของชีวิตที่เรามาจากชนบท มันคือพื้นที่สีเขียว มันคือสายน้ำ และความร่มเย็น แล้วก็ความสบายใจ และความสุข

ซึ่งพี่มองว่า พี่จะอยู่กับมันแบบ Sustainability ไม่ได้อยู่แบบวูบวาบแค่นั้น พี่ถึงเลือกที่จะมาจบชีวิตที่เกษตรในบั้นท้ายของชีวิตครับผม แต่ยังไม่ตายในเร็ววันนี้นะครับ (หัวะราะ)

เป้าหมายสูงสุดก็คือ พี่ขอแค่ว่า ให้พี่มีความสุข แล้วก็ได้อยู่กับแม่ อยู่ท่ามกลางบรรยากาศสีเขียวแล้วก็ได้ไปเที่ยวอเมริกาทุกปีไ ปเที่ยวยุโรปทุกปี นี่คือพี่ว่า พี่ก็มีความสุขแล้ว”


แม้ตอนนี้ ยังไม่กล้าบอกว่าประสบความสำเร็จอาชีพเกษตรกร แต่เชื่อแน่ๆ ว่า จะประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะได้มีการวางแผนในเส้นทางอาชีพนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับพี่ถ้าอาชีพเกษตรกรพี่พึ่งมาทำปีเดียว ถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง พี่ยังไม่กล้าบอกว่าประสบความสำเร็จ เพราะตอนนี้หลักๆ ก็คือ พี่ใช้เงินสะสมในการลงทุนในเรื่องต่างๆ อยู่ เกษตรมันต้องดูกันยาวๆ เนาะ

แต่ในความเป็นจริงพี่มีแผน คล้ายๆ โมเดลในเรื่องของธุรกิจอยู่แล้ว ก็คือเรื่องของการแปรรูปอุตสาหกรรม แล้วก็การทำวิสาหกิจชุมชน แล้วก็การทำฟาร์มสเตย์ อยู่แผนระยะประมาณปีที่ 2-5 คือต้องขึ้นแล้วแหละ แต่ในขณะเดียวกันต้นไม้ต่างๆ ที่พี่ปลูก อันนี้แค่ฟาร์มแรกนะครับ ยังไม่รวมฟาร์ม 2 ฟาร์ม 3 ฟาร์ม 4 คือเดี๋ยวมันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

คือแผนระยะยาวของพี่ พี่ต้องการให้พื้นที่ฟาร์มของพี่ ที่มีระบบนิเวศอยู่ในนั้น แล้วก็ท้ายสุดมันจะเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว แล้วก็แหล่งไลฟ์สไตล์ ภายใต้เทคโนโลยี คือทุกคนจะมาพักผ่อนอยู่ในนั้นได้ อันนี้มากกว่า 5 ปี มันจะเป็นอะไรที่ร่มรื่นเป็นป่า เลี้ยงสัตว์ มีฟาร์มสเตย์ มีคาเฟ่ เป็น co-working space มาทำอะไรได้ อันนี้คือในอนาคต

ซึ่งพี่รู้สึกว่า อันนั้นคือสิ่งที่พี่วาดภาพตัวเองตอนที่อายุ 55 ปี พี่จะยืนอยู่ใน green forest element ตรงนั้นให้ได้ นี่คือระยะยาวเลย แต่ระยะกลางอย่างที่พี่บอก พี่จะต้องทำวิสาหกิจชุมชนที่จะต้องแปรรูปอุตสาหกรรม แล้วพี่ก็ต้องทำฟาร์มสเตย์ครับ”

นอกจากนี้ ถ้าเกิดว่า ดร.มนัสยังบอกอีกว่า ถ้าเกิดสมมติว่า อาชีพเกษตรไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกเฟล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ลงทุนไป อยู่ในพื้นที่ของตัวเองทั้งหมด อีกอย่างคือ ไม่ได้ไปกู้เงินมาทำ แต่ที่แน่ๆ คือเชื่อว่า ยังไงตัวเองก็จะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแน่นอน

“พี่เชื่ออยู่แล้วว่ายังไงพี่ก็จะประสบความสำเร็จในการทำเกษตร เพราะพี่มีแผนในการทำแต่ละสเต็ป แล้วแผนพี่ พี่ก็แอคชั่นด้วย แต่เราคิดในทางที่มันที่มันเลวร้ายที่สุด ที่มันจะเกิดขึ้น ว่าไม่ success สมมตินะครับ ถ้าไม่ success ก่อน ทำไปทุ่มเงินไปเยอะเยอะ แล้วไม่ success เนี่ย จะเฟลไหม ไม่เฟลแน่นอน

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราลงทุนไปในพื้นที่ของเรา เราไม่ได้ก่อหนี้สิน เราปลูกป่า ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีรายได้ ท้ายสุดมันก็ได้เท่าเดิม เพียงแต่ว่าเราจะไม่ได้ใช้ชีวิตไฮโซแค่นั้นเอง ถ้าสมมติว่ามันล้มเหลวนะ ที่พี่ใช้คำว่าไฮโซ ขออนุญาตใช้คำนี้ ก็คือว่าพี่อยากไปเที่ยวต่างประเทศที่ไหนพี่ก็ไปได้ พี่อยากไปลั้นลากรุงเทพฯ พี่ก็ไป พี่อยากกินอะไร พี่ก็ซื้อ

อันนี้กรณีที่มันเป็นไปตามแผนของเรา ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร เราอาจจะใช้ชีวิต medium หรือโลโซมาหน่อย แล้วก็พอเพียงบนพื้นที่ที่เราลงทุน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างตอนนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องการหมดแล้ว แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว ถ้าในกรณีที่มันไม่ success

เพราะฉะนั้นพี่ก็เลยมองว่าสิ่งที่พี่ลงทุนไป ณ ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่ามันไม่ success พี่ก็มีชีวิตแบบโลโซ แต่ถ้ามัน success พี่ ก็มีชีวิตแบบไฮโซอะไรอย่างนี้ พี่ขอใช้คำง่ายๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายๆ”


เรียนรู้จากใบปริญญา ควบคู่กับประสบการณ์จากชาวบ้าน

นอกจาก 10 ใบปริญญาที่ตั้งใจร่ำเรียนมาแล้ว ซึ่ง 1 ใน 10 ใบนั้น ก็มาจากสาขาด้านการเกษตรด้วย แต่ ดร.มนัสก็เชื่อว่า ไม่เพียงพอ เพราะทฤษฎีในระบบที่เรียนมา แตกต่างกับภาคปฏิบัติมาก เมื่อนำมาใช้จริง ดังนั้น จึงให้ความสำคัญจากการเรียนรู้ในระบบ ควบคู่ไปกับสอบถามประสบการณ์จากชาวบ้านด้วย เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่จตลอดเวลา

“พี่จะบอกว่าทฤษฎีคือทฤษฎีนะครับ ภาคปฏิบัติกับทฤษฎีนี่แตกต่างกันเลย ปีแรกๆ ที่พี่ลาออก แล้วพี่มาทำเกษตร พี่ต้องไปถอนกล้าข้าว ไปทำจริงๆ นะ ไปเรียนรู้ ไปช่วยงานอา เขาก็แบบจะทำได้เหรอ เพราะเรามาจากกรุงเทพฯ ใหม่ๆ เขาก็มีความรู้สึกว่าจะได้เหรอ แต่เราก็มีความรู้สึกว่าทำให้เขาเชื่อมั่นไง พี่ไปช่วยเขาถอนกล้าข้าว แล้วก็ไปปลูกข้าว คือกำลังจะบอกว่าเราก็เรียนรู้จากตัวของพี่ ป้า น้า อา คือชาวบ้านก็เป็นครูเรา

ถึงบอกว่าทฤษฎี หรือหลักการที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย มันดีแหละ มันเป็นความรู้อย่างนึง แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาไปปฎิบัติงานจริงๆ มันมีอะไรหลายๆ อย่างมาก ที่เราจะต้องเรียนรู้ ที่เราจะต้องถามจากพี่ ป้า น้า อา หรือชาวบ้านหรือที่เป็นกูรูเยอะมากในแต่ละเรื่อง

ไม่ใช่แค่เรื่องปลูกข้าวอย่างเดียว หลากหลายนะครับ เพราะฉะนั้นอย่ายโสในความรู้ที่ตัวเองมีในระบบ ถ้าคุณยโส พี่มีความรู้สึกว่าคุณก็ไม่ success หรอก mindset ก็ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นคุณต้องเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ในการที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่คุณยังขาด จากชาวบ้านที่ความรู้ไม่มีใบปริญญาเนี่ยแหละ แต่เขามีประสบการณ์ชีวิต เราจะต้องเรียนรู้ แล้วเอามาปรับกับวิชาการที่เราเรียนรู้มา อันนี้มันจะทำให้เราไปได้ไวครับ”


ตลอดเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา เมื่อถามว่า มีความรู้สึกว่า คิดผิดบ้างไหม ที่ตัดสินใจ หันหน้ามาทำเกษตรแบบเต็มตัว ซึ่งคำตอบของนักเกษตรคนนี้ก็คือ ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองคิดผิดเลย แม้จะมีคำพูดของใครต่อหลายคน มาพูดให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าไม่น่าจะไปรอด ก็ไม่ได้สนใจ เพราะมีความตั้งใจ และตั้งมั่นแล้ว ว่าจะทำให้ได้

“พี่คิดถูกแล้วแหละ ถามว่ามีแว็บไหม พี่ไม่มีแว็บครับ สมมติว่าพี่ฟันโช๊ะ ในเรื่องของการทำงานแล้ว มันมี 2 ทาง ระหว่างซ้ายกับขวา พี่ปิดแขนซ้ายออกแล้วครับ พี่ไม่มีทางมีวันที่จะได้แขนซ้ายกลับมาแล้ว เพราะฉะนั้นพี่จะต้องเดินทางทางด้านขวาอย่างเดียว แล้วพี่ก็ต้องทะลุดุดันในการที่จะเดินไปให้ได้ มุ่งหน้าอย่างเดียวครับ

คือถ้าเราเลือกแล้วเราต้องมุ่งหน้า ต้องมูฟออนอย่างเดียว ถามว่าในสิ่งที่พี่มูฟออน พี่ทำเกษตรทุกวันนี้พี่เหนื่อยมากๆ ร้อนมาก ช่วงแรกที่ทำดำมากด้วย

แล้วก็มันมีแต่สิ่งที่มาบั่นทอนเรา แล้วยิ่งการลงทุนของเรา มันลงทุนไปเรื่อยๆ เงินมันก็จะร่อยหรอไปเรื่อยๆ ถามว่าความคิดเชิงลบมันแว็บ ไหม แต่มันแว็บแค่แป๊บเดียว

คือปกติเชิงลบมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วเนาะ คนที่เขาไม่รู้ มันมีโค้ดอยู่คำนึง เขาบอกว่า ถ้าคุณจะไปดวงจันทร์คุณไม่ต้องมาฟังมาเห่าข้างทางหรอก เพราะเขาไม่ได้คิดเหมือนเรา เขาไม่ได้รู้เหมือนเรา และอีกอย่างนึงก็คือ ถึงแม้จะมีมุมลบตรงนั้น ซึ่งพี่มองว่าเป็นเรื่องปกติ

ที่จริงคาเฟ่ พี่จะมีหนังสือเยอะมากที่มันหล่อหลอมมาเป็นตัวพี่ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ตัวของ negative attitude ตรงนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องมาสะกิดผิวพี่นะครับ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพพี่ต่างหากที่ชาวบ้านให้การยอมรับ พี่เป็นเทคนิคการแพทย์ด้วย แล้วก็ด้วยความที่จะ ไม่ว่าจะจบอะไรทางด้านการแพทย์ต่างๆ ชาวบ้านเขาจะเรียกว่าหมอตลอด

ความเป็นจริงเทคนิคการแพทย์ เราไม่เรียกว่าหมอครับ แต่ถ้าในทางกรุงเทพ ถ้าเขาจะเรียกก็คือเป็นหมอแล็บ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่หมอ แต่โดยเนื้อของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอนามัย เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อะไรเขาเรียกหมอหมด พอเรามีภาพเป็นแพตเทิร์นที่ดีมาตลอด ภาพลบที่มันออกมา ที่คนปรามาสมันก็จะไม่เยอะ ภาพบวกมันจะกลบภาพลบซะเยอะ แล้วเขาก็เฝ้ามองเรานั่นแหละ ว่าดูสิคุณหมอเขายังมาทำเลย มันมีทั้งลบทั้งบวก แต่ลบพี่ไม่ค่อยสะกิดผิวพี่เท่าไหร่ เพราะภาพบวกพี่มันเยอะ”


แนะ!! 10 ข้อคิด คนอยากลาออกจากงาน มาทำเกษตร

เชื่อว่า หลายๆ คนวาดฝัน อยากมีชีวิตที่มีความสุข และเรียบง่ายในชนบท บนพื้นฐานอาชีพเกษตรกร เพราะหลายๆ คน อาจจะเบื่อ และทนแรงกดดันจากอาชีพพนักงานประจำแล้วอยากมาทำการเกษตร

หรือแม้กระทั่งบางคน มีการวางแผนเกษียณเพื่อจะออกมาทำเกษตรแล้วก็มี หรือแม้แต่บางคน ที่อยากหักมุมชีวิตมาทำเกษตรเหมือนกับ ดร.มนัส ก็น่าจะมี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตด้วย

สำหรับใครที่อยากมาทำเกษตรจริงๆ ดร.มนัส ก็ช่วยแชร์ประสบการณ์ 10 ข้อ ที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ตัวเอง ที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน ก่อนที่จะตัดสินเลือกอาชีพนี้

“ข้อแรกพี่มองว่า งานเกษตรเป็นงานหนัก ถ้าคุณวาดฝันของตัวเองได้ชัดเจน คุณมาทำเถอะ คุณต้องถามตัวเองให้ได้ก่อน ว่าคุณมีภาพฝันเด็กเกษตร ในการเป็นเกษตรในลักษณะไหน ว่าจะมาทำอะไร คือถ้าภาพมันชัดเจน โอเคคุณผ่านหนึ่งสเต็ปแล้ว แต่ถ้าภาพฝันไม่ชัดเจนอย่าพึ่งทำเลย เพราะมันต้องเจออะไรอีกหลายอย่าง

ข้อที่ 2 ก็คือ จะต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มันต้องมีแผนนะ ไม่ใช่สักจะมาทำ ถ้าอย่างนั้นคุณจะเฟลเหมือนที่เกษตรกรทำเกษตร คือคุณจะมาแบบทำแต่ไร่แต่นาไม่ได้ ยกเว้นว่าคุณจะทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงอันนั้นก็อีกเรื่องนึง เพราะการลงทุนการเกษตรเป็นการลงทุนระยะยาว เห็นผลช้า

อันที่ 3 ต้องมีใจรัก ถ้าใจไม่รัก ถ้าทำอะไรตามแฟชั่น มันทำแป๊บเดียวเดี๋ยวก็เลิก มันจะต้องมีแรงบันดาลใจในการทำด้วย มีแรงจูงใจอยู่ตลอด เติมพลังให้ตัวเองอยู่ตลอด เพราะไม่งั้นทำไปคุณอาจจะเลิกได้ ใจต้องรัก เรามีพลังอยู่ตลอดเวลา ทั้งพลังกายและพลังใจ ใจอย่างเดียวก็ไม่ได้ กายอย่างเดียวก็ไม่ได้

อันที่ 4 เราต้องมีร่างกายอันแข็งแรง ทั้งมีพลังกายและพลังใจ คือร่างกายเราต้องต่อสู้กับงานหนักคืองานเกษตรครับ คือกายอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องมีใจประกอบกัน ถ้าใจไม่สู้ แต่กายสู้มันก็ไม่ไปครับ ถ้าบวกกันมันก็จะไปได้ไกล แต่ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่ง พี่ว่ามาทำแป๊บเดียวเดี๋ยวก็เลิก เพราะว่างานเกษตรหนักมาก พี่บอกเลย พี่ถึงย้ำว่าหนักมากๆ เหนื่อยมากๆ ร้อนมากๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะมาแบบวูบวาบมา แบบไฟไหม้ฟาง โอกาส success มีน้อยมาก


อันที่ 5 เราต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดเวลา ทำเกษตรเราอยู่บนใจที่มัน control ไม่ได้ สมมติว่าปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว อย่างพี่ปลูกลองกอง พี่ปลูกทุเรียนไม่ง่าย สิ่งต่างๆ ในการปลูกแต่ละอย่าง หรือการเลี้ยงสัตว์แต่ละอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องเรียนตลอดเวลาครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้มันง่ายเราไม่ต้องไปเข้าคลาส เราสามารถที่จะเรียนตามออนไลน์ได้ หรือเสิร์ชกูเกิลได้ เพราะฉะนั้นอย่าขี้เกียจที่จะหาความรู้ในสื่อทางอินเทอร์เน็ต

อันที่ 6 ก็คือ อย่างที่พี่บอก ว่าถ้าขี้เกียจอย่ามาทำ เผอิญไม่ใช่พี่มนัสเนาะ พี่เป็นคนที่มีความขยันเป็นพื้นฐาน และมีวินัยอยู่แล้วแหละ ทำต่อเนื่อง เพราะงานเกษตรมันเป็นงานที่ไม่มีวันหยุดจริงๆ ต้องทำทุกวันจริงๆ พี่ยกตัวอย่างกรณีตัดหญ้า สมมติวันนี้เราตัดด้านซ้าย ด้านขวาเอาอีกแล้ว ก็ไปตัดด้านขวา เดี๋ยวข้างหน้าโตอีกแล้วมันจะมีอะไรหลายๆ อย่างมาก ที่ทำงานเกษตร มันเป็นอะไรที่ไม่จบอ่ะครับ ถ้าคุณขี้เกียจเชื่อเหอะว่ามันไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน

ส่วนข้อที่ 7 พอมันอยู่บ้านนอกจริงๆ ในเรื่องของเครือข่าย ในการรู้จักผู้คน ความสัมพันธ์แบบชุมชน คือเราต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ขอความรู้จากชาวบ้าน เราต้องพูดคุยให้เยอะ ขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านให้เยอะ ถ้าเราเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี แล้วมีเครือข่ายเยอะ มันก็จะเป็นตัวเร่งให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตเกษตร

ข้อที่ 8 มันจะสอดคล้องกับ ข้อที่ 2 คือพี่ค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการมีเงินทุนในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว เพื่อให้ match กับเป้าหมายที่เราวางไว้ตอนแรก ก่อนที่จะมาทำเกษตร เป็นสิ่งสำคัญมากนอกจากใจรักแล้ว นอกจากมีพลังกายพลังใจแล้ว เรื่องเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมากในชีวิต ในการลงทุนทางด้านการเกษตร

เพราะว่าการเกษตรในช่วงแรกๆ ผลผลิตหรือรายได้ มันจะยังไม่แน่นอน เราจะต้องทุ่มเงินลงทุนไปในเรื่องต่างๆ ต่อเนื่อง เช่นวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร การหาคนมาตัดหญ้าในสวนที่มันเยอะเกินไป งานจ้างทำนาทำเกษตรพวกนี้มัน ค่าใช้จ่าย ในเรื่องของเงินหมดครับ

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่มีเงิน ถ้าคุณไม่วางแผน ถึงแม้มีเงินถ้าคุณไม่วางแผน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว พี่ว่ามันจะทำให้คุณเจออุปสรรค แล้วมันจะทำให้คุณเดินได้ช้าในการเกษตร ถามว่าเดินได้ไหมกินได้แต่มันจะขอการที่ทำอะไรช้าๆ เหมือนเราปั่นจักรยานครับ

อ้าวถ้าอย่างนี้ไม่มีเงินก็ทำไม่ได้สิ พี่กำลังจะบอกว่าถ้าคุณจะทำการเกษตรจริงๆ มันแล้วแต่ concept ของใครของ จะทำบนเศรษฐกิจพอเพียง มีที่หนึ่งไร่คุณก็มีความสุขกับมันแล้วครับ คุณไม่ต้องมีเงินเยอะ แต่คุณต้องมั่นใจว่าคุณจะทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ เพราะว่าทุกวันนี้มันเป็นโลกของทุนนิยม เห็นคนนั้นคนนี้ก็อยากมั่งอยากมี คุณจะต้องไม่แบบนั้นนะ คุณจะต้องพอเพียงจริงๆ คุณถึงจะทำเกษตรแบบนั้นได้ อันนี้อาจจะต้องไม่ใช้เงินมาก


ข้อที่ 9 ถ้ามีที่ดินเป็นของตัวเองจะดีมากเพราะเราไม่ต้องไปเช่าที่คนอื่น และเวลาที่เราจะลงทุนอะไรกับที่ตัวเองคือเราไม่ต้องคิดมาก อ้าวมันเป็นที่เช่า เราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มาก เพราะว่าเดี๋ยวเขาก็ไม่ให้เราเช่าแล้ว มันจะมีสิ่งที่ต้องคิด แต่ถ้าเป็นที่ดินของเราเอง มันจะทำให้เราสามารถบริหารจัดการอะไรหลายๆ อย่างได้ดีขึ้น และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่า

ข้อที่ 10 ถ้าคุณจะ มาทำเกษตร หรือจะมาทำธุรกิจทางการเกษตร คุณจะต้องกล้ารับความเสี่ยง เพราะเกษตรเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็จะต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ริเริ่ม แล้วก็ต้องเป็นคนคิดบวก กล้าเปลี่ยนแปลง ออกจาก comfort zone สิ่งต่างๆ พวกนี้มันจะต้องหล่อหลอม เป็น mindset ของเรา เพื่อที่จะมูฟออนไปข้างหน้า ก็คือคิดบวก

ที่จริงมันไม่ใช่แค่ทำเกษตรอย่างเดียวหรอก ทำอะไรก็ได้ ทำธุรกิจอะไรก็ได้ ที่ถ้าเราชอบ แล้วเรามีเป้าหมายชัดเจน มุ่งมั่นทำกับมัน มีแต่พลังบวกกับตัวเอง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มัน success หมด ไม่ใช่แค่ทำเกษตรอย่างเดียวครับ”


นอกจากนี้ นักเกษตรเต็มตัวคนนี้ ยังแนะอีกว่า อยากให้หลายๆ คน มองอาชีพเกษตรเป็นอีกทางเลือก แม้จะเหนื่อยบ้าง แต่ก็มีความสุขมาก

“อยู่กรุงเทพฯ ได้เงินเนาะ แต่ก็ได้ความเครียด ได้อะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าเลือกได้ พี่ว่ามาทำเกษตรมันจะดีมาก แต่คุณต้องไปคิดโจทย์ชีวิตของคุณเองนะ ว่าคุณจะหารายได้จากยังไง คือพี่กำลังจะบอกว่า ทุกวันนี้พี่มีความสุขกับสิ่งที่พี่ทำ แล้วก็สิ่งที่พี่เห็น แล้วก็สิ่งที่พี่อยู่กับมันมาก คือถ้าเลือกได้ชีวิตเกษตรมันจะทำให้คุณอยู่อย่าง healthy มีสุขภาพที่ดี

ถามว่ามันจะทำให้คุณมีฐานะที่ดีไหม มันขึ้นอยู่กับที่เราไง ถ้ามาอยู่ต่างจังหวัด แล้วทำเกษตรเป็นพื้นฐาน แต่สมมติว่าคุณทำอย่างอื่นด้วย คุณมีหัวการค้า ขายอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เกษตรก็ได้ ทำควบคู่กันไป แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของต่างจังหวัด มันจะเวิร์คมาก มันก็ดีมาก พี่ถึงบอกว่าคุณต้อง trade-off กันเอาเอง ระหว่างว่าคุณต้องทำยังไงให้มันมีรายได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็ไปทำอยู่ในเมือง มันก็เป็นอีกแบบนึง

พี่แนะนำนะว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่มีความสุข มาทำเกษตรเถอะ แต่ก็ต้องกลับไปถามตัวเอง ใน 10 ข้อ ที่พี่ให้ข้อคิดในเฟซบุ๊กครับ ว่าคุณพร้อมอย่างนั้นจริงๆ ไหม แต่ถามว่าถ้าอยากทำ ไปดู 10 ข้อนั้นก่อน แต่ใจจริงอยากให้มาทำ เพราะมันมีความสุขมาก ในวัย 50 ปี”

10 ใบปริญญา ที่ใช้ได้จริง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ดีกรี 10 ใบปริญญาที่ว่านี้ มาจากที่ไหนบ้าง และทำไมถึงทำให้ ดร.มนัส มุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทเรียนเพื่อล่าใบปริญญามากมายขนาดนี้

ซึ่งเจ้าตัวก็ช่วยเล่าให้ฟังถึงเส้นทาง 10 ใบปริญญา จากจุดเริ่มต้นของเด็กจากต่างจังหวัด โรงเรียนโนเนม จนสามารถสอบโควต้า เทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้

“ที่จริงพี่เลือกเภสัชอันดับ 1 แต่พี่ไม่ติด พี่ไปติดเทคนิคการแพทย์ แต่อันดับ 3 พี่เลือกเกษตร ถ้าย้อนกลับไปได้พี่อยากเรียนอันดับ 3 นะ เลือกเภสัชเลือกเทคนิคการแพทย์ แล้วก็เลือกเกษตร แต่ติดเทคนิคการแพทย์ครับ ก็เลยไปเรียนเทคนิคการแพทย์ เรียนจบเทคนิคการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ไปทำงาน แล้วก็ไปเรียนต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คือปริญญาใบที่ 2

จบปริญญาโทที่จุฬาฯ ก็ไปจบปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในเรื่องการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและทรัพยากรมนุษย์ นี่คือ 3 ปริญญาหลักก่อน ตรีเทคนิคการแพทย์ โท MBA แล้วก็เอก พัฒนาธุรกิจ

นอกเหนือจากนั้นเป็นปริญญาที่เกิดจากความขยันแล้วกัน แล้วก็การต้องการรู้ ต้องการค้นคว้า โดยที่ไปเรียน มสธ. (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) เริ่มปริญญาใบแรกก็คือ บริหารธุรกิจ เอกการจัดการทั่วไป ใบที่ 2 ก็เป็นบริหารธุรกิจ เอกการตลาด ใบที่ 3 เอกเศรษฐศาสตร์บัณฑิต เอกเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ใบที่ 4 เอกบริหารธุรกิจ เอกการเงิน ใบที่ 5 ศิลปศาสตร์บัณฑิต สารสนเทศศาสตร์ ใบที่ 6 ศิลปศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ ใบที่ 7 ใบนี้ก็คือ เกษตรศาสตรบัณฑิต เอกธุรกิจการเกษตร”


นอกจากนี้ ดร.มนัสยังบอกอีกว่า ถึงจะมี 10 ปริญญา แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองเรียนเยอะอะไร เพราะแต่ละใบที่เรียน สามารถนำมาต่อยอด ในการประกอบอาชีพ ในการใช้ชีวิตได้จริง

“ไม่เยอะครับ ในแต่ละปริญญาเนี่ย อย่างที่เรียน 2 ใบแรก ของมสธ.นะครับ อย่างปริญญาบริหารธุรกิจ เอกการจัดการ และการตลาด มันก็ต่อยอดให้พี่เข้าเรียน MBA จุฬาฯ ได้ รอสัมภาษณ์มันได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้มีโปรไฟล์แค่เทคนิคการแพทย์มช. อย่างเดียว เรามีเรื่องความรู้ในเรื่องการบริหารธุรกิจด้วย ความรู้ทางการตลาดด้วย แล้วเราก็ไปเรียนต่อยอดที่ MBA จุฬาฯ

ในขณะเดียวกัน พอเราจบ MBA จุฬา เรามีความรู้สึกว่าพอเราทำงาน ขายเครื่องมือแพทย์ เราก็อยากจะมีความรู้ในเรื่องของการเงินกับเศรษฐศาสตร์ เราก็มาเรียนเพิ่มเติม ซึ่งพี่ว่าพอเรามีโปรไฟล์ แล้วแข็งมากขึ้น โอกาสดีๆ ต่างๆ มันก็มามากยิ่งขึ้นเช่นกัน รวมถึงมีเรื่องยุคไอที พี่ก็ไปเรียนเรื่องสารสนเทศเพิ่มเติม คือกำลังจะบอกว่ามันช่วยพี่ทั้งหมดครับ

ส่วนเอกภาษาอังกฤษ ที่จริงพี่เป็นคนมีพื้นฐานทักษะภาษาอังกฤษค่อนข้างดีอยู่แล้วแหละ ไม่ว่าจะเป็นสกิลในเรื่องของการพูด อ่าน เขียน เพราะว่าพี่ใช้จริง พราะพี่ทำงานกับทางต่างประเทศบ่อย แต่ทำไมพี่ไปเรียนเพิ่มเติม บางครั้งบางทีถ้าเราลงเรียนอีกรอบนึง มันก็เป็นการรีวิวตัวเอง ทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้น

 ส่วนปริญญาใบที่ 10 เกษตรศาสตร์เนี่ย เพราะว่าเราจะมาทำเกษตรเราต้องเรียนรู้ทางด้านเกษตร คือองค์รวมทั้งหมดคือชอบในการเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้แต่ละอย่างมันทำให้เป็นตัวเรา แล้วก็ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น สะสมทีละเล็กทีละน้อย

แต่ว่าปริญญาใบที่ 11 ที่กำลังจะลงเรียนในอนาคต เป็นเรื่องของไทยศึกษา เป็นเรื่องของความอยากรู้ของตัวเองล้วนๆ อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย อยากเรียนรู้วรรณคดีไทย อยากเรียนรู้อะไรที่มันเกี่ยวกับไทยๆ”


ถึงแม้จะมีดีกรีเป็นดร. และมีปริญญา 10 ใบ ดร.มนัสก็มองว่า คุณที่จะประสบความสำเร็จ ก็ไม่ต้องจบปริญญาก็ได้ เพราะทุกวันนี้ เราสามารถเรียนนอกห้องเรียนได้

“สมัยก่อน พี่เป็นคนที่ crazy เรื่องสถาบันมากนะ เราต้องจบจาก มช. เราต้องจบจากจุฬาฯ ยุคนั้นเขาเรียกว่ามันเป็นโมเมนต์ของชีวิต แต่วันที่เราอายุ 50 ปี ทุกวันนี้ พี่มีความรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นหรอก ว่าคุณจะเรียนสูงระดับไหน มันไม่จำเป็นหรอกว่าคุณจะเริ่มจากสถาบันไหน แค่คุณตั้งใจ และทำในสิ่งที่คุณชอบ แล้วคุณมุ่งมั่นกับมันจริงๆ คุณก็สามารถ success ได้ คุณก็สามารถร่ำรวยได้

เศรษฐีเยอะแยะมากมายก่ายกอง ไม่เห็นต้องจบปริญญาเลย เขาก็ยังร่ำรวยได้เลย นี่คือชีวิตมันกลั่นออกมาหมดแล้วครับผม เพราะฉะนั้นมันไม่สำคัญว่าคุณจะจบสถาบันไหน จบอะไร ขอแค่ make money ได้ ทำตามที่คุณมีความสุขได้แค่นั้นพอแล้วชีวิตเรา แต่ก็อย่างว่าล่ะเนาะ ระหว่างทางมันก็ต้องเป็นไปตามสเต็ปของชีวิตแหละ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...“ถ้าชอบและมีเป้าหมายชัดเจน มุ่งมั่นทำมัน มีแต่พลังบวก พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มัน success หมด ไม่ใช่แค่ทำเกษตรอย่างเดียว” @manassuphap ... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #brooklynฟาร์มเกษตรคาเฟ่ #เกษตรกร #ฟาร์มเกษตร #เทคนิคการแพทย์ #เกษตรยุคใหม่ต้องรวย #เกษตรยุคใหม่ #เกษตรยั่งยืน #โคกหนองนาโมเดล #คาเฟ่พะเยา #ร้านกาแฟพะเยา #เที่ยวพะเยา #ร้านกาแฟ #รีวิวร้านกาแฟ #ธุรกิจ #sme #อายุน้อยร้อยล้าน #ชี้ช่องรวย #เถ้าแก่น้อย ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Manas Suphap”, แฟนเพจ “BrookLyn ฟาร์มเกษตรคาเฟ่”, อินสตาแกรม @manas_suphap และ TikTok @manassuphap



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น