จากจุดเริ่มต้น ด้วยความคิดที่ไม่อยากไปโรงเรียน จนกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของเด็กโรงเรียนอมาตยกุลมายาวนาน 30 กว่าปีเปิดแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ ของ “อาจารย์ตั๋ง” ที่สอนวิชาชีวิต ควบคู่ไปกับวิชาการ ติดกระดุมเม็ดแรกให้เด็กด้วยพลังบวก จนทำให้เด็กๆ อยากมาโรงเรียนทุกวัน
จุดเริ่มต้นจากคนที่ไม่ชอบไปโรงเรียน
“เชื่อว่า ถ้าใช้วิธีการด้านบวก ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง รักตัวเอง ชื่นชอบตัวเอง ครูก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ทำให้เขามีความสุขได้ครับ”
“รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล” หรือ “อาจารย์ตั๋ง” อายุ 72 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอมาตยกุล และอดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กับแนวคิดความสำเร็จของจุดเริ่มต้นที่ว่า เปิดโรงเรียนมาด้วยแนวคิดที่ว่า ไม่อยากไปเรียน เพราะเมื่อก่อน อาจารย์มองว่าทำไมการเรียนให้ประสบความสำเร็จถึงต้องยากเย็น และไม่มีความสุขเอาซะเลย
จึงอยากสร้างที่นี่เป็นโรงเรียนที่ทำให้เด็กมีความสุข และอยากมาโรงเรียนทุกวัน และอาจารย์ก็ทำสำเร็จ เพราะกว่า 30 ปี โรงเรียนอมาตยกุลเกิดขึ้นเพื่อทำให้เด็กอมาตเติบโตอย่างอย่างมีความสุข ด้วยแนวคิดแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist) ที่เน้นการใช้คำพูดเชิงบวก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้เด็กๆ
“ที่โรงเรียนนี้สร้างขึ้น ถ้าพูดไปชีวิตผมก็เหมือนทุกๆ คน ตอนเด็กๆ ก็คงไม่มีใครที่อยากจะมาโรงเรียน เรารอเสาร์-อาทิตย์ แล้วก็วันหยุด ตัวผมเองก็เป็นแบบนั้น แต่ที่โรงเรียนก็มีอะไรสนุกๆ หลายอย่างนะครับ จนกระทั่งไปเรียนปริญญาเอก ไปเรียนการศึกษาแบบใหม่ ที่เรียกว่าการศึกษานอกระบบโรงเรียน ก็ใช้ปรัชญาแบบใหม่ ซึ่งเราก็เอ๊ะ ชีวิตเราไม่เคยผ่านแบบนี้เลย เราไม่ค่อยมีความสุขหรอก
แต่ที่นี่ ปรัชญาการศึกษาแบบใหม่ ก็คือให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูก็เป็นผู้อำนวยความสะดวก ถ้าเรียนแล้วครูสอนไม่รู้เรื่อง ก็เป็นความผิดของครู สอนไม่สนุก ก็เป็นความผิดของครู ถ้าออกข้อสอบแล้วเด็กทำไม่ได้ ก็เป็นความผิดของครู เออเป็นแนวคิดที่ครูต้องทำยังไงให้เด็กมีความสุข อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นปรัชญา ฮิวแมนนิสต์ (Humanist) แล้วก็มาเจอปรัชญา นีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist) ซึ่งทำให้คนมีความสุขมากขึ้น พัฒนาความสามารถมากขึ้น
ผมอยู่ที่ Florida State University ครับ ผมไปเข้าหลักสูตรนึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำคลื่นให้สมองต่ำ แล้วก็ใช้คำพูดด้านบวก การเติมพลังด้านบวก ให้คนเรามี Self-Esteem สูงๆ นะครับ พอเราเข้าไป ตอนนั้นปัญหาของผมคือนอนหลับยาก คือสมัยก่อนดื่มจัด ใช้ชีวิตเครียดมากเลย ชีวิตวุ่นวาย พอคอร์สเขาบอกว่า มีข้อตกลงตอนแรก คุณตั้งเป้าอะไรไว้ในชีวิต ถ้าคุณไม่ได้ตามนั้น ให้ทดลองเรียนก่อน 7 วัน ถ้าไม่สำเร็จ ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องเรียน เออท้าทายดี ผมตั้งเป้า ผมจะนอนหลับให้ง่าย เข้าไปชั่วโมงเดียว ฟังเสียงเพลง ฟังอะไรทางบวก หลับแล้ว ก็เลยลงทะเบียนเรียน”
แม้จะเรียนจบปริญาเอกจากเมืองนอกกลับมาแล้ว ก็ยังไม่ได้คิดจะเปิดโรงเรียน เพราะอย่างที่บอกว่า การเปิดโรงเรียน ไม่เคยมีความคิดเลย แต่มีโอกาสได้ทุนจากพ่อแม่แกมบังคับให้ไปเรียนต่อเมืองนอก จนสำเร็จกลับมา
หลังจากนั้น ก็มาเป็นอาจารย์สอนด้านจิตวิทยาอยู่ 20 กว่าปี แต่ยังเชื่อว่าสิ่งที่เรียนมา น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับอีกหลายคน
“หลังจากนั้นพอผมเรียนปริญญาเอกเสร็จแล้วกลับมา ก็สอนเทนนิส เป็นโค้ชหลายที่ จบการเรียนโค้ชเทนนิสที่ศูนย์ฝึกที่อเมริกานะครับ แล้วก็เอามาสอน แล้วก็ได้ผลดีครับ เด็กๆ มีความสุข รู้สึกบวกกับตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง เล่นก็เก่งด้วย แล้วก็รักสิ่งที่เขาเรียนด้วย แล้วก็เป็นแชมป์ด้วย
อย่างเด็กที่เคยสอนมาที่สปอร์ตคลับ ตั้งแต่เด็กๆ 20 - 30 ปีมาแล้ว ผมแวะกลับไป อ้าวเด็กที่เราสอนมาตั้งแต่ 10 ขวบ กลายเป็นแชมป์ไปแล้ว แล้วยังรักเทนนิสอยู่ ยังชอบเล่นอยู่ เออมันได้ผลหลายๆ อย่างๆ ครับ
หลังจากนั้นผมมาเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็นำแนวคิดอันนี้มาใช้กับเด็กๆ นิสิตนะครับ พอเด็กๆ เขารู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกตัวเองมีคุณค่า รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ทุกๆ อย่างเขาก็เปลี่ยนไป คะแนนก็ดีขึ้น มีความสุขกับตัวเองมากขึ้น แล้วก็พึ่งพาตัวเองมากขึ้น แล้วเกรดก็สูงขึ้น ดีทุกๆ อย่าง
คือเด็กๆ เป็นแชมป์เยาวชน 16 ปีประเทศไทย ก็เอ๊ะทำไมเรียนเทนนิสมันยาก ต้องตีท่าอะไรเยอะแยะ ก็คิด เมื่อก่อนกว่าจะเป็นแชมป์ได้ ต้องหยาดเหงื่อและน้ำตานะครับ ต้องเสียน้ำตาไปเยอะ ใช้วิธีการด้านลบต่างๆ ก็คิดมาตั้งแต่เด็กๆ ว่ามันต้องมีวิธีง่ายกว่านี้ พอไปอยู่ที่อเมริกา ตอนไปเรียนปริญญาเอก ส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาไปเป็นโค้ชเทนนิสซะมากกว่าครับ
[สมัยเมื่อยังเป็นโค้ชเทนนิส]
ก็ได้แนวคิดต่างๆ ที่เราเรียน เอามาผสมกัน ใช้สอนเทนนิส แล้วก็สอนนิสิตมหาวิทยาลัยตรี โท เอก อยู่หลายปีนะครับ ส่วนมากก็ได้ผลหมดเลย เด็กที่เกเรก็เปลี่ยนไป มีจากหลายๆ คณะมาเรียนร่วมกัน แล้วก็เป็นเพื่อนกันจนถึงทุกวันนี้ เขาก็รักกันดี ทุกๆ อย่างดี
ฉะนั้นเชื่อว่า ถ้าใช้วิธีการด้านบวก ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง รักตัวเอง ชื่นชอบตัวเอง ครูก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ทำให้เขามีความสุขได้ครับ”
สร้างพลังบวก ด้วยแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์
โรงเรียนอมาตยกุล มีรูปแบบการสอน ที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่นๆ คือมีตามหลักสูตรแนวการสอนแบบ นีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-humanist) โดยเน้นไปที่การสอนเด็กให้มีกระบวนการคิดเชิงบวก ส่งเสริมกำลังใจให้กับเด็ก ให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจอย่างสมดุล
บวกกับเน้นสอนให้เด็กรู้จักคิด และรู้จักการปฏิบัติตนต่อเพื่อนรอบตัวด้วยความเมตตา ความมีน้ำใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
“ไม่เคยคิดว่าจะเปิดโรงเรียนเลยนะครับ จนกระทั่งเราก็เห็นแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ คนในกลุ่มนี้ นีโอ-ฮิวแมนนิสต์กัน จิตวิทยาด้านบวก เขาเปิดโรงเรียน แล้วก็ชวนเราไปทำอะไรต่างๆ ไปช่วยหลายที่ ไปทำหลายแห่ง ไปช่วยเขาทำ เออมันก็ไม่สำเร็จสักที
ตอนหลัง ตอนนั้นแต่งงานครับ เจอภรรยา มันตรงตามแนวคิดนี้เลย ภรรยาเก่งทุกอย่าง ดนตรีก็เก่ง ศิลปะก็เก่ง กีฬาก็เก่ง ทุกๆ เรื่องเก่งหมดเลย ก็เออถ้าเราจัดการศึกษาที่เหมาะสม เด็กๆ ก็สามารถเก่งอย่างนี้ได้นะ ไม่มีจุดอ่อนอย่างผม ดนตรีก็ไม่ได้ ศิลปะก็ไม่ได้ อะไรหลายๆ อย่างมีจุดอ่อนนะครับ ก็ชวนภรรยามาเปิดโรงเรียนเลยตอนนั้น
ตอนนั้นเขาเป็น Systems Analyst ที่การบินไทยครับ เป็นคนจัดระบบ ชีวิตเรามันก็ไม่มีระบบอยู่แล้ว มันต้องมีคนมาจัดระบบ ชวนก็ออกมา แล้วก็มาทำโรงเรียนครับ เปิดโรงเรียนปี 2533 มีเด็กตอนแรก 50 คน อนุบาล กะว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ให้เด็กมีความสุขเท่านั้น แต่พอเรียนไปๆ อยู่กันไปเรื่อยๆ เด็กก็มีความสุข เขาก็เก่งขึ้น ผู้ปกครองก็ขอให้ทำชั้นโตขึ้นไปเรื่อยๆ”
อาจารย์ช่วยอธิบายแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ ที่บอกว่าเติมแต่พลังงานด้านบวกๆ ให้กับเด็กนั้น ต้องทำยังไง
“มีความสุขอย่างเดียวไม่ได้แล้วทีนี้ มันก็ต้องมีทั้งวิชาการด้วยนะครับ แล้วก็เชื่อว่า 3 อย่างด้วยกัน ทำให้โรงเรียนมีความสุข แล้วก็เป็นสถานที่ที่อยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย 1. ต้องใช้คำพูดด้านบวก 2. สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ทางด้านบวก 3. ทำให้เขาเกิดมี Self-Esteem เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำ 3 อย่างนี้ได้ เด็กๆ ก็จะมีความสุข อยากมาโรงเรียนครับ
แนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์มีมากกว่านี้นะ หลายๆ อย่าง แต่ที่สำคัญๆ มาก คือการใช้คำพูด สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่มีความสุข อันนี้เป็นอะไรที่ทำให้ อ่อแล้วทำให้เด็กรู้สึกบวกกับตัวเอง ให้รู้สึกว่าตัวเองเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่น่ารัก
ที่นี่เราก็จะมีคำพูดด้านบวกเป็นใหญ่ เยี่ยม แจ๋ว เก่ง น่ารัก พูดกลับไปเรื่อยๆ แนวคิดนี้เชื่อว่า สมองของคนเรา ถ้าได้ยินอะไรบ่อยๆ จะซึมซับเข้าไปในสมอง ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึก แล้วทำให้เรารู้ว่า เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น ผมบอกว่า มีแววเป็นแชมป์นะ หลายๆ คนก็เป็นแชมป์เทนนิส เป็นแชมป์เทควันโด เป็นแชมป์โปโลน้ำ อะไรอย่างนี้ครับ มีหลายต่อหลายคน แล้วเขาก็เก่งตามนั้นด้วย
เด็กๆ ของเราส่วนมาก มักจะได้คำพูดเป็นลบครับ ไม่ได้เรื่องนะเธอ ไม่เอาไหน ถ้าเราไม่ได้รับคนที่ให้กำลังใจเรา เราก็เชื่อตามนั้นไปแล้ว ไม่มีทางเป็นแชมป์ได้ ฉะนั้นเชื่อว่าคำพูด เก่ง เยี่ยม แจ๋ว เพอร์เฟค สมบูรณ์แบบ อะไรทำนองนี้ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีกับตัวเองมากๆ นะครับ”
นอกจากนี้ อาจารย์ยังเชื่อว่าอีก การศึกษาไทยมักจะติดกระดุมเม็ดแรกผิด มักสร้างวาทะกรรมอะไรผิดๆ ให้กับเด็ก ซึ่งอาจารย์ช่วยขยายความให้เห็นชัดว่า ดังสุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่งคำพูดนี้ผิดมาก เพราะอาจารย์เชื่อว่า รักวัวไม่ต้องผูก รักลูกไม่ต้องตี
“ผมเชื่อว่า เราทุกคนได้รับมาเหมือนกัน มันมีกระดุมเม็ดแรกของเรา กระดุมเม็ดแรกของการศึกษาของเรา ผมว่าถ้ากระดุมผิด มันจะผิดไปหมดเลย มันจะฝังใจ ถ้ากระดุมเม็ดแรกผิด มันผิดไปหมด แล้วการศึกษาของเราทั่วไปส่วนมาก กระดุมเม็ดแรกมันจะผิด มีความเชื่อฝังใจ ซึ่งเราทุกคนผ่านตรงนี้มา คำพูดตรงนั้นเป็นวาทะกรรม หรืออะไรก็ได้นะครับ ฝังใจคนไทยแทบทั้งนั้น
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ผมว่าผิดตั้งแต่หลายๆ ข้อตั้งแต่แรกแล้ว รักวัวไม่ต้องผูก ปล่อยให้เขาอิสระ ไม่ต้องไปทำร้ายเขา ไม่ต้องไปกินเขา รักลูกให้ตี มันเป็นอะไรที่ฝังใจ แล้วถ้าจะให้ดี ก็ด่าอีกด้วย ฉะนั้นหลายๆ คนเราเติบโตมาในคำพูดด้านลบ แต่คนที่ให้คำพูดด้านลบเนี่ยเจตนาดีนะครับ แต่ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกอยากที่จะไปโรงเรียนหรอก
คำพูดด้านลบ เธอไม่ได้เรื่อง เธอไม่เอาไหน ตราหน้าเรา เธอไม่มีทางสำเร็จหรอก เขาเรียกว่า ผู้ใหญ่เขาทำสิ่งเหล่านี้ จะบันดาลใจให้เราเก่งใช่ไหมครับ แต่จริงๆ ไม่หรอก คนอาจจะสำเร็จมีบ้าง แต่ข้างในมันเป็นแผลในใจลึกๆ ครับ ฉะนั้นในแนวคิดนี้ มันบันทึกคำพูดศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะคำพูดของคุณพ่อคุณแม่นะครับ
ฉะนั้นทุกครั้งที่เด็กๆ เจ็บ ผมก็จะมีแค่ประโยคนี้แหละ เก่ง เยี่ยม แจ๋ว เพอร์เฟค สมบูรณ์แบบ จะเดินไปที่ไหน เด็กๆ ก็จะกรูมาหา ทักทาย สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นกระดุมเม็ดแรก
ในปัจจุบันมันจะหนักขึ้นกว่าเดิม รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าโซเชียลฯ มีเดียอะไรต่างๆ ตัดสินใจเร็ว โกรธกับใครก็ซัดเลย
สังเกตไหมครับ โรงเรียนเป็นสถานที่ มีคนหลายคนพูดว่า เป็นสถานที่ที่บูลลี่เยอะที่สุดนะครับ อีกที่คือที่บ้าน บูลลี่เหมือนกัน วิธีด้านลบเหมือนกัน โรงเรียนถูกเพื่อนด้วยกันบูลลี่ ถูกครูบูลลี่ ถูกผู้ปกครองอะไรอย่างนี้นะครับ เราพยายามเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้
แล้วบูลลี่มากที่สุด ก็คือคำพูด โรงเรียนที่ตีกัน มีเรื่องกันมากมาย ลองเปลี่ยนคำพูดสิครับ คำพูดที่ไม่เพราะต่างๆ กูมึง ไอ้เหี้ย อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีครับหรืออะไร ฉะนั้นแนวคิดนี้มี 2 เรื่องนะครับ ที่จะทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย และมีความสุข คำพูดที่ไพเราะ กับเสียงเพลง”
ยิ้ม ชม สบตา สัมผัส สวัสดี
สอนวิชาชีวิตควบคู่ไปกับวิชาการ ฝึกให้เด็กพูดเชิงบวกกับตัวเอง ด้วย mindset ผ่านพฤติกรรม 5 ข้อ คือ ยิ้ม ชม สบตา สัมผัส และสวัสดี
“เรามีพฤติกรรม 5 ข้อ ที่เป็นหัวใจของที่โรงเรียนนี้ ยิ้ม ยิ้มให้ใคร แปลว่าเคารพความเป็นมนุษย์ของคน คนนั้น แต่ว่าที่นี่ยิ้มเก่ง ยิ้มปั๊บเราก็จะมีความสุข ฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน (Endorphin) หลั่ง ยิ้ม ชม เอาข้อดีของเขามาพูด ระยะหลังนี่ในสังคมที่มันลบเยอะ เราชมโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขหรอก ยังไม่ทำดีอะไร รีบชมไว้ก่อนเลย เยี่ยม แจ๋ว เก่ง ดี เพอร์เฟค
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ คุยกับใครต้องสบตาเขา ส่งความรู้สึกดี สัมผัส เด็กๆ ไทยไม่ค่อยได้สัมผัส แล้วก็สวัสดี ที่นี่เราสวัสดีเก่งมากเลย เด็กสวัสดีครู ครูสวัสดีเด็ก อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึงนะครับ ที่ทำให้เด้กมีความสุข ทำเท่ากันหมด ไม่มีใครพิเศษ
ชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ในโรงเรียนนี้น้อย จะมีคนหลายระดับจริง แต่ว่าเท่าเทียมกันหมด ไม่มีใครที่พิเศษกว่าใคร ผมเองก็ไม่มีที่จอดรถพิเศษ อะไรเท่ากัน อาจารย์ เด็กเท่ากัน ทานอาหารเหมือนกัน ตอนเล่นกีฬา ไปวิ่งก็ไปวิ่งด้วยกัน ซ้อมก็ซ้อมด้วย ที่สำคัญที่สุด ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ครับ เขาก็จะมีความสุข แล้วก็จูงใจให้เขาทำสิ่งดีๆ
แล้วเด็กที่นี่เขาก็จะท่อง ถ้าผมชื่อตั๋ง เขาก็จะพูดทุกเช้า ในแนวคิดนีโอเราเน้นการปฎิบัติเยอะ ทุกคนต้องพูดเหมือนกันหมด ตั๋งเป็นคนที่ยอดเยี่ยม มีเสน่ห์ และน่ารัก หล่อ สมองดี มีน้ำใจ และชอบช่วยเหลือผู้อื่น พูดบ่อยๆ มันฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก chemical ในสมองก็เปลี่ยนไปนะครับ พอพูดแบบนี้บ่อยๆ เพราะก่อนหน้านั้นก็จะร้องเพลง ที่ทำให้คลื่นสมองต่ำ ครูสอนอะไรเขาก็จำได้แม่นยำ”
เห็นแต่พูดว่าพลังงานด้านบวกๆ กัน หลายคนอาจจะสงสัย หรือกลัวว่า แนวคิดนี้ อาจจะทำให้เด็กเหลิงเกินไปหรือเปล่า เพราะมีแต่ชม และเด็กอาจจะมองไม่เห็นจุดผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งอาจารย์ตั๋ง ผู้ใจดีก็บอกว่า ส่วนใหญ่ที่นี่ จะบอกวิธีแก้ไข มากกว่าข้อผิดพลาด
“มีคนบอกว่าถ้ามองด้านบวกเยอะๆ ก็มองไม่เห็นความผิดสิ แม้คนที่บวกเยอะก็เป็นคนปกติ แต่เห็นเหมือนเดิมจะแก้ไขอะไรก็ยังเห็นจุดอ่อน
แนวคิดนี้สมมติว่าเราจะแก้ไขเขา อย่าไปหาข้อผิดพลาด หาวิธีแก้ไขนะครับ บอกวิธีแก้ไขเลย เหมือนเรียนหนังสือเหมือนกัน คนทำรายงาน ทำวิทยานิพนธ์ ทั่วไปเขาจะกาหมึกแดง อันนี้ อันนี้ก็ผิด ในใจเราก็แบบผิดทำไมไม่บอกถูกว่ะ ไม่ต้องไปกาเขาขนาดนั้น บอกว่าแก้ไขตรงไหนก็พอแล้ว จบแล้ว
ฉะนั้นที่นี่ก็เหมือนกันบอกว่าทำอะไรผิด ไม่ต้องไปเอาแบบสังคมไทยเราชอบจับผิด เพ่งโทษ ยิ่งจับผิดได้ยิ่งเก่ง ครูสอนให้สอบไม่ได้ยิ่งภูมิใจ ที่นี่ครูสอนแล้วไม่รู้เรื่อง คนนั้นแหละเป็นปัญหา เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เขา ต้องช่วยเขาทุกวิถีทาง ที่จะให้เขาเก่งขึ้น ดีขึ้น น่ารักขึ้น”
อาจารย์ตั๋งยังบอกอีกว่า วิธีการสอนแบบนี้ ไม่ได้เป็นการชี้นำ เพียงแต่ใช้คำพูดและวิธีเชิงบวกกับเด็กๆ เหล่านี้เยอะๆ รวมทั้งการเป็นแบบอย่างที่ดีของครู จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดในแบบของตัวเอง
การใช้คำพูด และวิธีเชิงบวก ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับเด็กๆ ทุกคน เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาใหญ่ก็อยู่ที่ผู้ปกครองด้วย แต่ก็เข้าใจ เพราะผู้ปกครองบางคนเชื่อว่าจะสำเร็จได้ ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา แต่ที่โรงเรียนอมาตยกุลเชื่อว่า จะประสบความสำเร็จได้ ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและเสียงหัวเราะ
“ปัญหาส่วนใหญ่ ก็ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจ หมายความว่าเจตนาดีนะครับ แต่ก็ใช้วิธีการไม่สอดคล้องกับที่โรงเรียน แต่หลังจากนั้นเราก็พอพูดกันได้ พูดให้เข้าใจว่าเราใช้แบบนี้มันเป็นแบบนี้ บางคนไม่พึงพอใจก็นำลูกออกไป
ผมยังจำเหตุการณ์นั้นได้เลย เราสอนเทนนิสเด็กมา เก่งมากเลยนะ เป็นมือชั้นยอด คุณพ่อเขาบอกเอาลูกออก เราก็เอาออกทำไม สอนกันมาซะดีได้เป็นแชมป์ เขาบอกว่า จะเป็นแชมป์ได้ไงอาจารย์ไม่เคยดุด่าลูกผมเลย จะกินได้ไง อธิบายยากหน่อยนะอันนี้ เขาเชื่อว่าต้องดุตบตีเท่านั้นถึงจะเก่ง
แต่ในวงการกีฬาเดี๋ยวนี้คนก็ทราบแล้ว พวกดุทุบตีมาเป็นแชมป์อยู่ได้แป๊บเดียว หัวใจแหลกสลาย อาจจะเป็นมือหนึ่งอยู่แป๊บเดียว ไอ้คนที่อยู่มั่นคงมักจะบวกกับตัวเอง รักสิ่งที่ตัวเองทำ รักซ้อมอะไรทุกๆ อย่างนะครับ
เข้าใจ แต่ก็รู้สึกเสียใจนะ เราคุยกันมาเราซ้อมกันมาอย่างดี ก็มีความเสียใจ แต่ว่าเข้าใจ เขาเชื่อว่า จะสำเร็จต้องหยาดเหงื่อและน้ำตา แต่ที่นี่เชื่อว่าต้องหยาดเหงื่อและเสียงหัวเราะ จะประสบความสำเร็จ เรียนต้องสบายใจที่สุด เรียนต้องเพอร์เฟคที่สุด แข่งกีฬาไปต้องไปด้วยความสบายใจ
ผมเชื่อเรื่องคลื่นนะครับ เราดึงดูดคนมาสมัครที่นี่มันมีอะไรคล้ายๆ กันอยู่แล้ว จะมีอะไรแตกต่างไปบ้างมันก็ไม่ยากนัก บางทีเราจัดอบรมให้ อาทิตย์หน้าเราจัดอบรมให้ผู้ปกครองที่มีมุมมอง ที่แตกต่างออกไปนะครับ ให้เข้าใจมากขึ้น เอาไปใช้กับเด็กยังไง เพราะพูดบวกๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะใช้ง่าย แล้วจะให้ทำสิ่งนี้ แล้วจะให้นอนตื่นเร็ว ปล่อยให้เขาทำยังไง บางคนก็บอกว่าอิสระไปเลย ไม่ใช่ เราเชื่อว่าระเบียบวินัยด้านบวกก็สำคัญ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนลูกเปลี่ยนแน่นอน”
จับฉลากเพื่อความหลากหลาย
โรงเรียนแห่งนี้ เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นอกจากจะเป็นโรงเรียนที่มีกิจกรรมส่งเสริมพลังบวกให้กับเด็กๆ มากมายแล้ว ยังเปิดรับสมัครคัดเลือกนักเรียน เป็นการจับฉลากอีกด้วย
ซึ่งเมื่อถามว่าทำไมถึงใช้หลักเกณฑ์นี้ อาจารย์ผู้ก่อตั้งโรงเรียนก็บอกว่า เพื่อให้มีนักเรียนที่หลากหลาย ส่วนแผนการสอน ก็สอนวิชาการควบคู่ไปกับแนวคิดพลังบวกของทางโรงเรียน
“ที่นี่จับฉลากครับ แล้วก็อีกส่วนนึงก็เขียนว่าทำไมถึงอยากมาเรียนที่นี่ ก็คัดเลือกจากกลุ่มนั้นด้วย จับฉลากเป็นอันดับ 1 คนจะได้หลากหลาย แล้วไม่มีใครเป็นพิเศษ ความยุติธรรมในสังคมมันก็มีมากขึ้น แล้วเด็กก็จะมีความสุขถ้ายุติธรรมนะ
เราก็สอนเหมือนเดิม แต่ควบคู่แนวคิดด้านบวก สอนวิชาการก็เหมือนเดิม สอนอะไรทุกอย่างเหมือนกัน แต่เอาแนวคิดบวกใส่เข้าไปในจิตใจของครู ใช้กระบวนการอันนั้น ชมให้เยอะขึ้น ยิ้มให้เยอะขึ้น ห้ามล้อเลียน ห้ามตั้สมญานาม ห้ามเปรียบเทียบเด็ก ห้ามดูถูก
ครูที่นี่สบายเอาแต่ตัวกับหัวใจมาเท่านั้น มีแผนการสอนกลาง อาจจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยมั้งนะครับ ครูต้องทำแผนการสอนใหม่ทุกที ที่นี่ไม่ต้อง มีแผนการสอนกลางอยู่แล้ว ฉะนั้นเอาเวลาไปดูเด็ก เอาเวลาไปให้กำลังใจเด็ก ช่วยปัญหาของเด็ก เพราะหลายๆ อย่าง เขาก็ได้รับมาจากทางบ้าน ทำยังไงให้เขาได้บวกมากที่สุด
ถ้าพูดเรื่องคัดบุคลากรนะครับ ก็โหงวเฮ้ง ฮวงจุ้ยนะครับ สัมภาษณ์ แล้วก็ดูคลื่น ที่นี่อยู่กันมาหลาย 10 ปี ฉะนั้นจะให้เด็กมีความสุขต้องทำให้ครูมีความสุขก่อน ครูอยากอยู่ใช่ไหมครับ ถ้าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็แสดงว่าไม่มีความสุข เราต้องจัดอะไรให้เหมาะสม สวัสดิการให้ มีชุดให้ มีอาหารให้ ลูกหลานคุณครูเรียนฟรี ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อย อะไรอย่างนี้นะครับ จะได้มองโลกกว้าง จะได้ทันเด็กๆ ใช่ไหม”
และที่นี่ครูไม่ต้องอยู่เวร เพราะทางโรงเรียนมองว่า การจะสอนเด็กๆ ต้องใช้พลังงานเยอะ จึงอยากให้คุณครูพักผ่อนให้เต็มที่
“อยู่กับเด็กมันต้องใช้พลังงานเยอะ ต้องได้รับการพักผ่อน อยู่กับครอบครัว ครูต้องมีสวัสดิการ มีบ้าน มีรถ ไม่มีหนี้สิน มันเป็นอะไรที่เราพูดคุยกัน แล้วอะไรเพราะเราบวก เราก็จะไม่ใช้อะไรฟุ่มเฟือยมาก”
ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ สามารถใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้อย่างอิสระตั้งแต่อนุบาล 1 ภายใต้ความเหมาะสมและถูกกาลเทศะ เพราะทางโรงเรียนเชื่อว่า หากมีทัศนคติที่ดี คิดบวก และรู้จักความพอดี เด็ก ๆ จะมีความคิดตั้งต้นที่ดี และเลือกใส่เสื้อผ้าอย่างเหมาะสมได้ด้วยตัวเอง
“ที่โรงเรียนให้เด็กใส่ชุดไปรเวท 1 วัน คือวันอังคาร จริงๆ แล้วเพื่อให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ เสรีภาพด้วย หัดอยู่ในระเบียบด้วย หัดอยู่ในเสรีภาพด้วย พอเขาบวกกับตัวเอง ชีวิตเขาก็เรียบง่าย แล้วไม่เรียกร้องความรักจากใคร
ผมไม่ต้องสั้นเกรียน เพราะที่นี่เขาบวก แค่ไปเตือนเขาก็พอแล้ว สมมติว่าผมยาวเกินไป มีสีใช่ไหมครับ ก็ไปบอกเขาว่า ทำสีน้อยๆ หน่อย พูดนิดเดียวเขาก็รู้แล้ว ฉะนั้นให้เขาบวกกับตัวเอง เติมพลังบวก ยิ้ม ชม สบตา สวัสดี เติมพลังบวกให้เขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าที่บ้านทำ โรงเรียนทำ เด็กน่ารัก ดีหมด ไม่มีตีกันไม่มีต่อยกัน ไม่ต้องมีตำรวจ
ที่นี่เราไม่พูดว่ากดดัน เด็กอยากอยู่ ถ้าเราเปิดถึง 1 ทุ่ม เขาก็อยู่กันถึงทุ่ม เพราะเขามีความสุข ครูก็เข้าใจเขา เขาสามารถบอกออกมาได้
ที่นี่เป้าหมายของเรามันอาจจะไม่เหมือนที่อื่นๆ นะ เราอยากให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเขาอยากเป็นนักเทนนิส อยากจะประกอบอาชีพนักเรียนนายร้อย ก็เป็นนักเรียนนายร้อยของเขา ตอนที่ผมอยู่จุฬาฯ มีเด็กของเราเยอะแยะเลย ตอนสอนเดินกันเกลื่อนแถวนั้น อยากเข้าอักษร อยากเป็นหมอ อยากเป็นเชฟ ก็แล้วแต่เขา เราไม่บีบบังคับ ฉะนั้นเราก็เกื้อหนุนให้เขาไปในสิ่งนั้น ที่จะเป็นไปได้ คุณครูก็จะเป็นที่ปรึกษาด้วย
แต่เขาสำเร็จดีๆ เยอะแยะ หลายคนเป็นหมอ เป็นนักเรียนนายร้อยก็อีกเยอะ อันที่เขาแข่งกันเยอะๆ นะครับ แต่ที่นี่เราไม่ได้ให้ความว่าสำคัญมากขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับหัวใจของเขา ใจของเขาอยากเป็นอะไร”
ในฐานะที่อยู่ในแวดวงด้ารการศึกษา ก็ขอให้อาจารย์ช่วยสะท้อนถึงช่องโหว่ในระบบการศึกษาไทย ที่หลายคนอาจจะมองว่า ระบบการศึกษาไทยทำไมยังไม่ไปไหนสักที ซึ่งอาจารย์มองว่า เมืองไทยมีทุกอย่างดีอยู่แล้ว
“กระดุมเม็ดแรกเลยครับ ไม่ต้องแก้เมืองไทยมีดีทุกอย่าง ถ้าเปลี่ยนก็เปลี่ยนอันเดียว รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เปลี่ยนลองดูนะโรงเรียนตีกันจะไม่มีแล้ว แล้วใช้คำพูดที่ดีนะไม่มีตีกัน แล้วโรงเรียนที่ตีนะ ใช้คำพูด ไอ้เหี้ย ไอ้มึง ไอ้สัตว์ เหยีบตรงนี้ตรงนั้น คุณครับมาตีกันไหมครับไม่มีหรอก มันมีแต่สิ่งเหล่านี้ เพลงที่อำนวย เมืองไทยมีทุกอย่างเยี่ยมแล้วนะครับ ลดชนชั้น ลดความเหลื่อมล้ำ ลดจากลบมาเป็นบวก โอ้โหสวยงามสุด”
สะท้อนอาชญากรรมเด็ก
จากเหตุการณ์ที่ช่วงนี้ เรามักจะเห็นข่าวกันอยู่บ่อยๆ กับเรื่องราวของอาชญากรเด็ก ที่ช่างหดหู่ซะเหลือเกิน ซึ่งในฐานะที่อาจารย์อยู่ในแวดวงการศึกษา และคลุกคลีกับเด็กๆ มากว่า 30 ปี
อาจารย์จึงช่วยสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่ทัศนคติ และการเลี้ยงดู ที่เด็กเหล่านั้น จะได้รับพลังงานด้านลบ มากกว่าด้านบวก บวกกับทัศนติในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก
“ที่จริงมันอยู่ที่คำพูดนะครับ มันอยู่ที่ทัศนคติ ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรอะไรทั้งหลายเนี่ยนะครับ ถ้าทัศนคติที่ไม่ดี เราสามารถมีเรื่องได้หมด คนบางคนเดินไปเหยียบเงาของเพื่อนโกรธแล้ว แล้วปัจจุบันที่มีมากก็คือมันเร็ว ตัดสินใจปั๊บ ก็ลงมือเลย เนื่องจากชิน มันเร็ว และแรง ต้องใจเย็น ต้องฝึกให้บวกให้มากที่สุด คลื่นสมองต้องให้ต่ำที่สุด ฟังเพลงคลื่นสมองให้ต่ำที่สุด
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในสังคม ที่เกิดในปัจจุบัน ไม่ว่าความก้าวร้าว รุนแรงอะไรทั้งหลาย ส่วนมากเราจะเก็บข้อมูลด้านลบ แม้แต่ตอนนี้โรคที่เป็นเยอะที่สุด โรคซึมเศร้า บางคนประสบความสำเร็จ หน้าตาดี อะไรทุกอย่างดี ครบ อ้าวฆ่าตัวตายไปแล้ว เราไม่รู้หรอกว่า ข้างในของเขา เก็บข้อมูลอะไรไว้บ้าง
ตั้งแต่เกิดมาเด็กๆ เราก็ได้รับข้อมูลด้านลบแล้ว น่าเกลียดน่าชัง เราก็ไม่คิดว่าเราสวย ต่อให้สวยยังไง ข้างในลึกๆ ก็ไม่คิดว่าสวย ต้องไปเกาหลี ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่โรงเรียนเราทำ เด็กๆ ก็มีความสุข แต่หลายๆ อย่าง เราไม่สามารถไปบีบบังคับผู้ปกครองได้ ก็ถูกหล่อหลอมมา รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี จะให้ดีต้องตบ อะไรอย่างนี้ครับ หลายๆ บ้านก็ถูกเลี้ยงดูมาด้วยการตบตี ดูแลเอาใจใส่ลูกไหม ดี แต่ใช้วิธีการด้านลบ”
หลายคนอาจจะอยากแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มโทษ เพื่อจะให้เด็ก หรือใครต่อใครไม่กล้าที่ก่อเหตุร้ายแรงในสังคมอีก แต่สำหรับอาจารย์มองว่า การเพิ่มโทษไม่ใช่คำตอบ เพราะข้อเดียวที่ทำได้ คือการให้อภัย
และอาจารย์ยังมองอีกว่า ไม่ควรโทษเด็กด้วยซ้ำ ควรโทษผู้ปกครอง คนที่เลี้ยงดู รวมไปถึงสังคมที่หล่อหลอมให้เด็กคนนึงเติบโตมาเป็นแบบนี้
“ทำได้ข้อเดียวครับ เราทำได้ข้อเดียวคือให้อภัย ทำอันอื่นไม่ได้ และเข้าใจเขา อันนี้แก้ระยะไกลนะครับ ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เราก็เป็นเหมือนเขา ไม่ซ้ำเติมเขา แต่สังคมเราไม่มีทางเป็นแบบนั้น ใครพลาด เขาเหยียบซ้ำเลย
คำถามคือว่า เพิ่มโทษแล้วคดีจะลดน้อยลงไหม ผมไม่เชื่อ ผมว่ายิ่งเพิ่มโทษ ยิ่งเพิ่มอะไรทั้งหลาย ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะว่ามันไปแก้ปลาย มันลงมือทำไปแล้ว ทำชั่ววูบภายใน 3 วินาทีเท่านั้นแหละ เขาไม่คิดหรอกว่าโทษที่ได้รับคืออะไร
ถ้าโทษจริงๆ ต้องโทษการเลี้ยงดูมาจากคุณพ่อคุณแม่ถูกไหม แล้วก็โทษมาจากโรงเรียนด้วยใช่ไหม เราก็โทษกระทรวงศึกษาด้วย นายกรัฐมนตรีด้วยใช่ไหมครับ คุณมีหน้าที่ทำให้ประเทศ ไม่มีอาชญากร ไม่มีอาชญากรรม แต่ตอนนี้คุณไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เพิ่มโทษอย่างเดียว คุณต้องไล่ไปถึงข้างบน ถูกไหมครับ แล้วปัญหาเพิ่มโทษเท่าไหร่มันยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะตอนทำมันแป๊บเดียว
ของเราเป็นแบบนั้นหมด จะลงโทษหรือแก้ไข ถ้าแก้ไข กอดสัก 3 ที ก็อาจจะเบาลงไป ผมจะพูดกับเด็กๆ เสมอนะ ใครทำดีกับเราคุณตอบแทนเขาเป็น 2 เท่า บุญคุณต้องทดแทน ต้องทดแทนเป็น 2 เท่า ความแค้นต้องลืมไป”
นอกจากนี้อาจารย์ยังบอกอีกว่า การปูรากฐานให้การศึกษาตั้งแต่เด็กสำคัญมากๆ เพราะเด็กจะเติบโตมายังไง ก็มาจากการถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กๆ
“ที่จริงสำคัญทุกช่วง แต่ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือช่วงอนุบาล ประถมต้นๆ แรกๆ สำคัญที่สุด ถ้าเราถูกหล่อหลอมมาดู มันเหมือนมันเชฟมาอย่างดีแล้ว จิตใต้สำนึกเราเก็บข้อมูลอย่างนึงที่สุดตอนที่เรายังเป็นเด็กเล็กๆ แล้วก็เชื่อแบบนี้ด้วยนะครับ จิตวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่า เราจะเก่งหรือไม่เก่งอะไร ดีหรือไม่ดีอะไรขึ้นอยู่กับ 10 ปีแรกของชีวิต
ให้พึงระลึกอยู่เสมอเลยว่า เราเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในโลกในจักรวาลนี้ไม่มีใครเหมือนเรา ภูมิใจในตัวเอง เพราะไม่มีใครอีกแล้วเหมือน ฉะนั้นต้องเป็นของมีค่า ชมตัวเองทุกวัน ชมคนรอบข้างทุกวัน ยิ้มให้ตัวเอง ยิ้มให้คนรอบข้าง ให้อภัยตัวเอง ให้อภัยคนรอบข้าง เป็นคนน่ารักที่สุด”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...จากประสบการณ์ตรง และที่ทำมาแล้วได้ผลตลอด รู้เลยว่าถ้าสมองได้ยินอะไรบ่อยๆ จะซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก แล้วทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ...
>>> https://t.co/0GjszlNGbN
.#อมาตยกุล #โรงเรียน #แนวคิดพลังบวก #พลังบวก #คิดบวก #รักตัวเอง #การศึกษา #การศึกษาไทย #ครอบครัว pic.twitter.com/Ky6nawenmX— livestyle.official (@livestyletweet) February 10, 2024
@livestyle.official ...จากประสบการณ์ตรง และที่ทำมาแล้วได้ผลตลอด รู้เลยว่าถ้าสมองได้ยินอะไรบ่อยๆ จะซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก แล้วทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #อมาตยกุล #โรงเรียนอมาตยกุล #amatyakulschool #โรงเรียน #แนวคิดพลังบวก #พลังบวก #คิดบวก #รักตัวเอง #การศึกษา #การศึกษาไทย #ครอบครัว #ปรัชญา #จิตวิทยา #humanism #neohumanism ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ข้อมูลเพิ่มเติม : amatyakulschool.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **