ยอมรับ ยารักษาอาการจิตเวชมีปัญหาจริง?รมว.สาธารณสุขบอก เร่งหาบรรจุยาเพิ่ม “เข็มละ 5 พันก็ยอม” จิตแพทย์สะท้อน “ยารักษา” แค่เรื่องหนึ่งของ “ปัญหาสุขภาพจิต”
ส่องปัญหา ยารักษาจิตเวช
จาก การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่อง“ปัญหาสุขภาพจิต” จากการเปิดเผยของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล
บอกว่าจากข้อมูล ปี 2565 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในไทยอยู่ที่ 7.97 คนต่อประชากรแสนคน มีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 5,260 คน หรือทุกๆ วันจะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน
เรื่องหนึ่งที่น่ากังวลคือ “ยาที่ใช้รักษาโรคจิตเวช” ปัจจุบันผู้ป่วยบางคนไม่สามารถใช้ยาที่อยู่ใน “บัญชียาหลัก” ได้ เนื่องจาก “มีผลข้างเคียงในการใช้ชีวิต”
ทำให้ “ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงแทน” รัฐบาลควรจะจัดงบ เพื่อเพิ่ม “ยา” ในบัญชียาหลัก สำหรับผู้ป่วยจิตเวช
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกมายอมรับว่า “เรื่องยาของกลุ่มจิตเวชนั้นมีปัญหาจริงๆ” ซึ่งได้รับเรื่องและจะดำเนินการ โดยจะผลักดัน ยา ที่จำเป็นให้ กรรมการพิจารณาเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
“ผมได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้กลไกบริหารจัดการ แม้เข็มละ 5 พันบาทเราก็ยอมที่จะใช้กลไกการบริหารจัดการเพื่อให้ยากับผู้ที่ปฏิเสธกินยา เพื่อให้เขาไม่มีอาการที่เป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งเราให้ความสำคัญเช่นกัน”
“ยาของกลุ่มจิตเวชนั้นมีปัญหาจริงๆ?”เพื่อความแน่ใจ จึงขอชวนกูรูอย่าง “หมอกุ๊ก” พญ.อธิชา วัฒนาอุดมชัยจิตแพทย์ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ มาช่วยวิเคราะห์ว่า ตอนนี้“ยา” ที่ใช้รักษา“อาการจิตเวช” มีปัญหาอะไร?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับ “บัญชียาหลัก” กันก่อนว่า มันคือรายการยาที่ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐสามารถใช้ได้ โดยที่ภาครัฐสนับสนุนค่ายาให้ ประชาชนจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
ตอนนี้ การรักษาผู้ป่วยจิตเวช ทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา และยาจิตเวชเองก็มีหลากหลาย แบ่งตามกลุ่มอาการ ไม่ว่าจะยารักษาอาการทางจิต ยาแก้ซึมเศร้า แก้วิตกกังวล ยาควบคุมอารมณ์ ยาช่วยนอน
ส่วนผลข้างเคียงก็แตกต่างกันไป ที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้พะอืดพะอม ง่วงซึม มึนเบลอหรือ บางคนก็มีผลต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ลิ้นแข็ง ตัวแข็งได้
ซึ่ง “ยาในบัญชียาหลัก” ปัจจุบันส่วนมากเป็น “ยาจิตเวชรุ่นเก่า” ที่ออกฤทธิ์กว้าง ต่างกับ ยานอกบัญชีที่เป็นรุ่นใหม่ที่ออกฤทธิ์มุ่งเป้าเฉพาะ receptor ที่ผิดปกติ ทำให้มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายารุ่นเก่า
{“หมอกุ๊ก”-พญ. อธิชา วัฒนาอุดมชัย}
แต่การจะเปลี่ยนยาในการรักษา ก็ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคนว่า เป็นโรคอะไร อายุเท่าไหร่ ยาที่ใช้รักษาปัจจุบันมีปฏิกิริยายังไง ปริมาณยาเหมาะสมแล้วหรือไม่ อาจจะลองปรับเปลี่ยนเวลาในการกินยา เพื่อลดผลข้างเคียง แต่ก็พบว่า..
“มีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อ ยารักษารุ่นเก่า แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงยาที่รุ่นใหม่กว่า ดีกว่าได้ เพราะยาอยู่นอกบัญชียาหลัก”
พญ.อธิชา ยังบอกอีกว่า ที่ ยาจิตเวชรุ่นใหม่ ยังไม่ถูกนำเข้ามาอยู่ใน บัญชียาหลัก เพราะ “มีต้นทุนสูง” และผลข้างเคียงของยาที่อยู่ในบัญชีปัจจุบันต่อจำนวนผู้ป่วย ก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด
“หมายถึงว่า เปอร์เซ็นต์การเกิดผลข้างเคียงมันไม่ได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ 100 คนที่ได้ตัวยาAไปเนี่ย 80% อาจไม่มีผลข้างเคียง แต่ 10% เกิดผลข้างเคียงด้านนี้ อีก 10 % ด้านนี้ นะค่ะ”
“ยารักษา” แค่ภาพหนึ่งของปัญหา
“ยารักษา” เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาเรื่อง “สุขภาพจิต” ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ พญ.อธิชา ได้ให้ข้อมูลว่า หากตัดอาการจิตเวชที่มาจากยาเสพติดออกไป ปัญหาเรื่อง ซึมเศร้า จิตเภท วิตกกังวล หล่อนระแหวง หรือบุคลิกภาพผิดปกติ นั้น..
“ทุกอย่างที่เป็นโรคจิตเวชมันเพิ่มขึ้นเยอะเลย เอาตามหลักสถิติเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 6 ปีนี้ และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
และยังวิเคราะห์ให้ฟังถึงสาเหตุว่า ที่คนมีปัญหาสุขภาพจิตกันเยอะ มาจากหลายอย่างทั้ง เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน โรคระบาด สภาพสังคมที่กดดันขึ้น การแข้งขันที่สูง หรือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้คนเจอหน้ากันน้อยลง
ที่สำคัญคือ สถาบันครอบครัว ที่แตกต่างจากเมื่อก่อน มีความแยกกันอยู่ ขาดความเข้าใจกันของคนในครอบครัว และพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่อยู่พร้อมหน้า ขาดการแสดงความรักความอบอุ่น
อีกส่วนหนึ่งคือ คนปัจจุบัน “ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น” เมื่อรู้ว่าตัวเองมีปัญหา ก็เข้าไปรับการรักษา ทำให้พอดูตัวเลข ผู้ป่วยสุขภาพจิต จึงมีเยอะขึ้น แม้จะมีคนเข้ามารักษามากขึ้น แต่..
“จริงๆแล้วจำนวนในการเข้าถึงมันก็ยังน้อยอยู่ สถิติเขาบอกว่า 100 คน เข้ารับการรักษาแค่ 28 คนเอง อันนี้จากกรมสุขภาพจิต ที่สำรวจเรื่อง โรคซึมเศร้า”
เข้าถึงการรักษาน้อย? คุณหมอบอกว่า แม้เราจะตระหนักรู้เรื่องนี้กันมากขึ้น เทียบกับสมัยก่อน แต่การเข้าการรักษาก็ไม่ได้ 100%เพราะ หลายๆคนที่มีอาการเข้าข่ายซึมเศร้า ใช้เวลามากกว่า 2 ปีก่อนตัดสินใจพบแพทย์
คนเหล่านี้จะไม่ถูกนับว่าเป็น ”ผู้ป่วย” ทำให้อัตราคนป่วยต่ำว่าความเป็นจริง การจัดอัตรากำลังจึงไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่จริง เมื่ออัตรากำลังแพทย์ไม่เพียงพอ คุณภาพก็อาจจะไม่ได้มากนัก
“พูดง่ายๆคือ แม้การเข้าถึงการรักษาจะยังไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับโรคทางกายอื่น แต่ภาระงานของบุคลากรไม่ได้น้อยเลย”
ในมุมของ จิตแพทย์มองว่า“การเพิ่มยารักษา” ให้คนเข้าถึงง่าย หรือการ “เพิ่มบุคลากรด้านจิตเวช” ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่อาจไม่ใช้วิธีที่ยั่งยืน เพราะต้นตอของปัญหายังอยู่
“ถ้าเราแก้ที่ปลายเหตุ มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขนาดนั้น ปัญหาต้นตอมันก็ยังอยู่ คือต้องแก้ตั้งรากฐาน สาบันครอบครัว การเลี้ยงลูกเชิงบวกเป็นอย่างไร การจัดการอารมณ์ทำอย่างไร”
การผลักดันเชิงรุก “ให้คนเข้าใจและสามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้” หมอกุ๊กบอกว่า ตอนนี้ก็มีการผลักดันเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ต้องย้อนไปดูเรื่อง จำนวนบุคลากรด้านจิตเวช เพราะ..
“ด้วยกำลังของ ทางจิตแพทย์เอง แค่เป็นฝ่ายรับอย่างเดียวก็ทำไม่ทันแล้ว เป็นฝ่ายรุก ไปส่งเสริม ก็อาจจะไม่ทันและเกินกำลังด้วย แต่ก็มีการผลักดันในเชิงรุกเชิงป้องกันอยู่ ค่ะ
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **