จากเด็กติดเกมจนหลอน จนได้ศิลปะพลิกชีวิต “น้องภัทร” ศิลปินชื่อดังในวงการ NFT แนว Doodle Art วัย 17 ปี ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากเกม พลิกชีวิตสู่วงการนักวาด ด้วยแรงหนุนจากครอบครัวที่เข้าใจ จนฝึกฝนฝีมือได้ collab กับแบรนด์ดัง จนสร้างรายได้ตั้งแต่เด็ก
บทเรียนจากเกม จนเกิดเป็นงานอาร์ต
“ไม่รู้ว่ามันหลอนจริงหรือเปล่า แต่คือมันเก็บไปฝัน แล้วก็แบบว่า เรากำลังต่อสู้ในหัวเรา ส่วนตานี่ก็คือมองไปที่โน่นที่นี่ ก็คือมองไปเป็นภาพในจินตนาการไปหมดเลย”
“ภัทร-วุฒิภัทร วงศ์ดี” ศิลปินชื่อดังในวงการ NFT แนว Doodle Art วัย 17 ปี ที่มาช่วยเล่าประสบการณ์ จากเด็กติดเกมจนหลอน แต่ได้แรงหนุนจากครอบครัวที่มีความเข้าใจ จนได้ศิลปะพลิกชีวิต สามารถหลุดพ้นจากวงจรนั้น ก้าวเข้าสู่อาชีพนักวาด มีโอกาสได้ไปจัดแสดงผลงานตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และสร้างผลงาน collab กับแบรนด์ชื่อดังมากมาย จนสร้างรายได้ให้ตัวเอง แถมมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยอีกด้วย
น้องภัทรเล่าว่า เคยติดเกมหนักๆ ตอนอายุ 15 ปี ติดหนักแทบไม่ได้กิน ไม่ได้นอน ถึงขั้นมีอาการหลอน มองไปไหนก็เห็นว่ามีคนจะมายิง แต่พ้นวิกฤตได้เพราะพ่อมองเห็นความสามารถ และผลักดันสนับสนุน
“ตอนนั้นอายุ 15 ปี ย่าง 16 ปี กำลังจะจบ ม.3 ปลายๆ ครับ คือช่วงนั้นมันเป็นช่วงโควิด-19 ทีนี้ ทางโรงเรียนเขาก็หยุด ไม่ให้ไปโรงเรียน แล้วก็ให้มาเรียนในฟังก์ชั่นของ Zoom ก็เลยได้อยู่แต่บ้าน เพราะว่าออกไปข้างนอกก็ไม่ได้ ก็ได้เข้าไปเล่นเกม
คือก่อนหน้านี้ก็เล่นมา แต่ว่าไม่ได้เล่นหนักขนาดนั้นครับ แต่คราวนี้ พอมันอยู่แต่บ้าน อยู่แต่ห้อง เริ่มเล่นหนัก เล่นไปเล่นมาก็เริ่มติดครับ คราวนี้ก็เล่นแบบว่าโอ้โห…ข้ามวันข้ามคืน แบบไม่หลับไม่นอนเลย เพราะว่าพ่อกับแม่ก็เข้ามาไม่ได้ เพราะว่าต่างคนก็ต่างอยู่ คราวนี้ผมก็อยู่คนเดียว รั่วเลยครับ เป็นเทอมเลยครับช่วงนั้น ยาวมาเลยครับ ก็คือตั้งแต่ 10 โมง ถึง ตี 5 ก็ตื่นมาใส่ ตื่นมากด
ด้วยความที่อยู่ในห้องด้วยครับ ห้องมืดๆ ดำๆ แล้วก็เล่น พอนอนไปก็ฝันถึง นึกถึงอะไรอย่างนี้ครับ คือเหมือนมันเก็บกด มันซึม ช่วงนั้นเป็นซึมเศร้าด้ว มันก็หนักอยู่ครับช่วงนั้น
ถ้าถามว่าเริ่มเล่นเกมมาตั้งแต่ตอนไหน ก็คือเริ่มเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ ก็คือพ่อเนี่ยแหละเป็นคนชวนเล่น ก่อนหน้านั้นก็จะเล่นแบบว่าเกมแบบบวกเลข ไปหลายแนวเลยครับ ก็ตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เขยิบมาเป็น RPG แนวผจญภัย แล้วก็เขยิบมาเป็นแนวกีฬาบ้าง แต่ที่เป็นช่วงนั้นคือเล่นเกมแนวยิงปืนครับ”
นอกจากเป็นเด็กติดเกมจนเกิดอาการหลอนแล้ว น้องภัทรยังบอกอีกว่า ช่วงนั้นคิดว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าด้วย เพราะว่าอารมณ์ดิ่งมากตอนนั้น
“แบบมันไม่อยากคุยกับใครเลย มันแบบว่า มันดิ่ง อยู่ดีๆ ก็ดิ่ง คือไม่ได้เล่นเกมมันก็ดิ่ง ช่วงที่มันติดหนักๆ มันอยู่ห้องเดียว ไม่ค่อยได้คุยกับใคร มันเหมือนแบบเก็บกดครับ แล้วคราวนี้มันก็ซึมไปเลย เพราะว่า ข้าวก็ไม่ค่อยได้กินด้วย เพราะช่วงนั้นก็อยู่แต่ในห้อง”
น้องภัทรบอกอีกว่า ทุกวันนี้เขาก็ยังเล่นเกมอยู่ แต่เป็นการเล่นหลังจากการทำงาน เล่นเพื่อผ่อนคลาย เล่นเพื่อดูคาแรกเตอร์ของตัวละคร องค์ประกอบของภาพ ฉากของเกม คู่สีที่ใช้ เพื่อนำมาพัฒนาผลงานศิลปะของตัวเอง
“คือตอนนี้ผมก็ยังเล่นเกมอยู่ครับ ซึ่งแบบว่าเล่นเกมที่มันน่ารักๆ ที่มันคล้ายกับสไตล์ตัวเอง พอเราที่เล่นเกม แล้วเห็น effect ฉากต่อสู้ effect ฉากเต้น ฉากแบบมันออกสีมาเยอะๆ แล้วมันเป็นลายเส้นของตัวละคร แล้วรู้สึกว่ามันน่ารัก แล้วก็เอามาปรับใช้กับงานตัวเองบ้าง
เล่นเกมมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ แต่ถ้ามันมากไปมันก็เป็นข้อเสียครับ แต่ก่อนกับช่วงนี้ก็คือมันต่างกันเยอะมาก ผมเล่นอาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที 50 นาที ประมาณนี้ครับ เพราะว่าพอมันมีงานเข้ามา มันมีอะไรต่างๆ ที่ให้เรารับผิดชอบเยอะแล้ว ก็เริ่มไม่มีเวลาเล่นกับมันแล้ว ถ้ามีเวลาว่างเราก็จะกลับเข้าไปเล่นกับมัน อย่างน้อยมันก็สนุกด้วย แล้วเราก็ได้มองเห็นกราฟิก และมองเห็นตัวละคร”
พ่อช่วยฉุด ถูกจังหวะเวลา
อย่างที่บอกว่า ที่น้องภัทรสามารถหลุดพ้นวงจรนั้นมาได้ ก็เพราะด้วยแรงหนุนสำคัญจากครอบครัว โดยเฉพาะคุณพ่อ ที่มีความเข้าใจ และเห็นแววว่าของลูกชาย จึงพยายามผลักดัน และหาช่องทางฉุดลูกชายจากการติดเกมจนได้ และแม้จะมีคนมาเตือนนักต่อนักว่าให้หยุดเล่น แต่ตอนนั้น เขาก็ไม่สามารถหยุดเล่นได้
“คือมันเยอะมากครับคนเตือน แต่ว่าเราอยู่แต่ในห้อง ไม่ออกไปไหนเลย ข้าวก็ไม่กิน คุณพ่อก็เอะใจแล้วว่าเราไม่น่าจะโอเคนะ ตัวขาวตัวเหลืองไปหมด เพราะว่าข้าวสารอาหารอะไรก็ไม่มี ไม่ได้ออกไปเจอแสงแดดเลย
คราวนี้เริ่มโทรม ตัวก็เริ่มโทรมลง ผมก็รู้ครับว่าตัวเองในตอนนั้นโทรม แต่แบบมันก็ยังเล่นอยู่ คือมันหยุดไม่ได้ จนมีพ่อมาเปลี่ยนในช่วงนั้นครับผม
คือพ่ออยากให้ผมออกมาจากห้องก่อนอย่างแรก ซื้อเครื่องสตรีมเกมมาให้ผม ถ้าผมจะไปทางนี้จริงๆ คือพ่อก็จะสนับสนุนเต็มที่ เอาที่แบบว่าถ่ายทอดสดของเกมเอามาติดอยู่หน้าบ้าน แล้วก็มีทีวีจอคอมมาให้ แล้วก็ต่อเล่นแล้วก็ไลฟ์สดไปด้วยอะไรอย่างนี้ครับ คือพ่อคิดว่า ถ้าเล่นอย่างเดียวมันก็ไม่ได้อะไร อย่างน้อยก็เล่นให้มันแบบว่า ทำเป็นอาชีพได้หน่อย
คือผมเป็นคนที่วาดรูปอยู่ก่อนแล้ว แล้วพ่อก็เลยบอกว่าถ้างั้นพ่ออยากให้กลับมาวาดรูปแล้วก็ไลฟ์สดไปด้วยแบบควบคู่กันได้ไหม ก็เลยบอกว่าได้ ถ้างั้นเดี๋ยวผมทำได้
ทำควบคู่กันครับตอนนั้น เหมือนตอนนั้นพ่อจะพยายามให้เราออกจากเกมให้ได้นะครับตอนนั้น คือพ่อบอกว่า ให้แบบว่าไลฟ์สตรีมเกมด้วย แล้วก็ผลัดกับไลฟ์สตรีมวาดรูปด้วย อะไรอย่างนี้ครับ พยายามเราดึงเราออกมาจากเกม แต่ค่อยๆ ดึง”
น้องภัทรเล่าอีกว่า โชคดีการติดเกมตอนนั้น ไม่ได้ดื้อมาก และไม่ถึงว่ามีอาการก้าวร้าว หรือทำร้ายร่างกาย จนเส้นทางศิลปะก็ได้เริ่มขึ้นจากคำท้าทายของคุณพ่อ จนสามารถพลิกชีวิตของเด็กติดเกมคนนี้ได้
“แค่แบบติดหนักเฉยๆ ไม่ถึงขั้นติดหนักไปทำร้ายร่างกายอะไร ยังไม่ถึงขนาดนั้น แค่แบบว่ารู้สึกว่า ตัวเองเล่นหนัก แล้วแบบไม่กินข้าวอะไรอย่างนี้ครับ หมกมุ่นอยู่กับเกมแค่นั้นเองครับ
คุณพ่อก็แบบคล้ายๆ เพื่อนนี่แหละครับก็คุยกันเล่นกันหยอกกันอะไรปกติอยู่แล้วครับ แล้วทีนี้พ่อก็มาบอกอะไรอย่างนี้ครับ ว่าเออ เริ่มจากการวาดรูปนี่คือมาจากพ่อท้านะครับ (หัวเราะ)
พ่อบอกว่า ถ้าเล่นเกมได้เป็นชั่วโมงตั้งแต่เช้าจนตกเย็นได้ขนาดนี้ แสดงว่ามันก็ต้องวาดรูปได้ พ่อก็เอากระดาษ A1 มันจะเป็นรูปอยู่บนหัวนี่แหละครับที่ผมเข้าสู่วงการวาดรูป พ่อเอากระดาษ A1 มาให้ แล้วก็เอาปากกา pigma 0.5 คือแบบเส้นมันเล็กมาก แล้วพ่อก็บอกว่า ลองวาดให้มันเต็มหน้ากระดาษให้พ่อดูหน่อย ถ้ามันเสร็จใน 1 เดือน พ่อจะถือว่าภัทรแม่งเก่ง ผมก็บอกภัทรทำได้ แล้วผมกับพ่อเป็นคนที่ชอบท้ากันอยู่แล้ว เลยบอกพ่อไปว่า 15 วัน ภัทรก็เสร็จ (หัวเราะ)
ใช่ครับ ทำเสร็จก่อน 15 ก็คือพ่อกับผมส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ยอมกันอยู่แล้ว ท้ามา ผมก็เกทับ ท้ากลับอะไรอย่างนี้ คือผมกับพ่อเป็นเหมือนคล้ายๆ เพื่อนกันครับ”
น้องภัทรบอกอีกว่า รู้สึกขอบคุณพ่อกับแม่มากที่เข้าใจ และรู้สึกโชคดีมากๆ ที่ไม่เปรียบเทียบกับน้องสาว ที่เรียนเก่งมากๆ จนสามารถสอบชิงทุนไปเรียนที่ต่างประเทศได้
“ผมมีน้องผมอีกคนนึงครับ น้องผู้หญิงครับห่างกัน 2 ปีครับ ตอนนี้ผม 17 ก็น่าจะ 15 ครับตอนนี้ แต่ตอนนี้น้องผมไปเรียนอยู่จีนครับ น้องกับผมก็ต่างกันมากๆ เลย ก็คือผมจะเป็นทางแนวกิจกรรมมากกว่า คือตอนที่เรียนอยู่ ผมก็เป็นนักบาสเกตบอลบ้าง เป็นวงโยฯ แล้วผมก็เตะบอล แล้วก็มาทางอาร์ตแล้วก็มีกีตาร์ด้วย ของผมจะมาทางแนวนี้ ส่วนน้องผมจะเป็นทางเรียนเลยครับ เรียนเก่งจนสอบชิงทุนไปเรียนจีนได้ คนละฝั่งคนละแนวกันเลย
ไม่เคยน้อยใจเลยครับ คือพ่อกับแม่ผมจะชอบบอกว่าคนแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มันมีสิ่งที่ชอบ มันมีสิ่งที่ทำได้ดีแตกต่างกันครับผม คือพ่อกับแม่รู้อยู่แล้วครับ ว่าผมเป็นคนที่เรียนไม่เก่งตั้งแต่เด็ก พ่อก็พยายามหาอย่างอื่นมาให้ผมทำ ที่คิดว่าผมทำแล้วมันแบบโอเคกับตัวเอง และคิดว่ามันทำได้ดีครับ พ่อแบบแนะนำให้ทำตั้งแต่เด็กแล้ว
ส่วนน้องผมที่เรียนเก่งอยู่แล้ว พ่อแม่ผมก็สนับสนุนให้เรียนๆ ไป แต่เวลาผมเกรดออกมาไม่ดี แบบมีติด 0 บ้าง เยอะๆ อะไรอย่างนี้ พ่อแม่ผมก็ไม่เคยว่าไม่เคยบ่นอะไรอย่างนี้ครับ ใช่ครับ
พ่อผมก็จะมีจะบอกแค่ว่าเอาใหม่ ลองทำใหม่ดูไม่เป็นไร ถึงเรียนไม่เก่ง อย่างน้อยก็ให้ผ่านก็พอ แล้วภัทรก็ไปทำในสิ่งที่ภัทรอยากทำ ประมาณนั้นครับ
ก็ผมคิดว่า พ่อกับแม่เป็นคนที่เข้าใจผมกับน้องได้ดีมากครับ คือถ้าแบบอย่างบางคน เขาก็อาจจะอยากให้ลูกเรียน เรียนไม่ดี ก็อาจจะมีว่า มีอะไรบ้าง แต่พ่อกับแม่ผมเป็นคนที่แบบเห็นแนวทางของผมกับน้อง แบบผมกับน้องมันแตกต่างกัน แล้วพ่อกับแม่ผมเข้าใจ ผมก็รู้สึกดีครับที่พ่อกับแม่เข้าใจ”
ผลงานปังเพราะ NFT
นอกจากความโชคดีที่มีพ่อแม่เข้าใจแล้ว น้องภัทรยังบอกอีกว่า เหมือนโชคดีมาก ที่พ่อฉุดออกมาจากเกมในช่วงจังหวะที่วงการ NFT กำลังบูม เพราะทำให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมาในตอนนั้น
“ผมรู้สึกเหมือนถูกจังหวะมากๆ เลย และอยากขอบคุณพ่อมากๆ ที่แนะนำผมแบบไปในทางนี้เลย เพราะช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่แบบว่า อาร์ตแบบกราฟกำลังขึ้นมากๆ ก็คือช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่เรียกว่า NFT ( Non- Fungible Token ) ช่วง NFT ก็คือว่า ช่วงที่มีผลงานวาดในดิจิทัล คือวาดในไอแพด วาดในคอม แล้วสามารถลงขายในแพลตฟอร์ม Opensea หรือเขาเรียกรวมๆ ว่า NFT ได้ครับช่วงนั้น
แล้วคราวนี้มันก็สะเทือนทั่วโลกเลยครับว่าเออมันมีแบบว่าวิธีการซื้อขายแบบแนวใหม่ที่ไม่ใช่ซื้อแบบออฟไลน์ แบบซื้อมาแล้วได้รูปภาพไป ก็คือเขาจะให้มาเป็นไฟล์อะไรอย่างนี้ คือมันบูมมากช่วงนั้น แล้วผมก็ไปถูกจังหวะพอดี ก็คือวาดรูปนี้เสร็จปุ๊บ ก็เอาไปโพสต์ตามกลุ่ม คนก็ให้ความสนใจเยอะ ก็มีคนแนะนำครับว่า ให้ลองทำ NFT ดู ก็เลยได้เข้าไปลองทำ NFT ดู แล้วคราวนี้ มันก็เปิดทางอาร์ตให้ผมได้เลย
เพราะตอนนั้นผมก็เคยวาดอาร์ต ผมเป็นคนที่ชอบวาดรูปอยู่แล้ว แต่ผมมองไม่เห็นเส้นทางการไปของมัน ว่ามันจะไปถึงไหน อย่างมากสุดที่ผมเห็นตอนนั้นก็คือ วาดรูปได้แล้ว ก็วาดตามถนนคนเดินอะไรอย่างนี้ครับ ผมก็ไม่รู้ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วอาร์ตมันจะไปได้ทางไหนต่ออะไรอย่างนี้ครับ คือผมยังมองภาพอะไรแบบนี้ไม่ออกในตอนนั้น
แต่พอมี NFT เข้ามา มันก็ได้เปิดโลกเรามากขึ้น แล้วก็ทำให้คนรู้จักผลงานเราได้มากขึ้นด้วย เพราะว่าคนเขาเล่นออนไลน์กันอยู่แล้วครับ คราวนี้ก็เลยรู้สึกว่า เออถ้ามันเป็นอย่างนี้ แสดงว่ามันก็น่าจะเป็นอาชีพได้อะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยเริ่มเอาจริงเอาจังกับการทำงานวาดรูป ณ ตอนนั้น
ผมไปปังใน NFT เลยครับ ก็คือว่าวาดปุ๊บคนรู้จัก ช่วงนั้นก็เริ่มมีคนรู้จักมากประมาณนึงครับ ยังไม่ขนาดนั้น ช่วงนั้นมันเป็นช่วงบูมด้วย ผมก็เลยทำออกมา 2 คอลเลคชั่น คอลเลคชั่นละ 10 ภาพอะไรอย่างนี้ครับ แล้วก็มีคนสนับสนุนจะมีทางอินโดนีเซียบ้าง อเมริกาบ้าง ฝรั่งเศส อะไรอย่างนี้ ที่เขามาซื้อผลงานที่เราวาดช่วงนั้น
คือแพลตฟอร์มนี้ คนเข้ามาซื้องานเราได้จากทั่วโลกเลยครับ ส่วนใหญ่ที่มาซื้อเป็นคนต่างประเทศครับ คนไทยไม่ค่อยมี คนไทยน่าจะมีสัก 2 คน จาก 20 งานที่ผมทำลงไปใน NFT”
งานเดียวหลักแสน ในวัย 16
นอกจากความปัง จนเป็นที่รู้จักใน NFT แล้ว ก็นำมาซึ่งรายได้ ที่น้องภัทรเองก็ไม่คิดว่า ครั้งแรกที่วาด จะมีคนมาซื้อ จนสร้างรายได้ให้ถึงหลักแสนในครั้งแรก
“ก็สร้างรายได้แบบเยอะเลยครับ ช่วงนั้นรู้สึกว่า จากแต่ก่อนตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ให้เงินไปโรงเรียน แล้วเราก็เก็บ กว่าจะได้ 1 พัน เรารู้สึกว่ามันยากจัง แต่พอมี NFT ช่วงนั้นเข้ามา อึ้งกับรายได้ที่ตัวเองได้อยู่ครับช่วงนั้น ว่าทำได้ไง มันได้เยอะเลยครับ
ช่วงนั้น น่าจะแสนครับ 2 คอลเลคชั่น ก็คือคอลเลคชั่นละ 10 ภาพ ตอนนั้นก็ได้เงินมาเยอะเลย ตอนนั้นก็ตกใจครับ กับอีกช่วงนึงหลังจากนี้ครับ ก็คือหลังจากเราไปออก MOCA BANGKOK
เคยขายได้สูงสุด แสนห้าครับงานจริง งานจริงที่ขายได้แสนห้าคือ ที่ไปออกที่ MOCA ครับ เป็นผลงานที่ขายได้สูงที่สุด คือหลังจากที่เราทำงาน NFT แล้วใช่ไหมครับ แล้วคราวนี้เราก็เริ่มสร้าง เริ่มเปิดเพจอะไรขึ้นมา แล้วเราก็เริ่มวาดรูป เริ่มไลฟ์สดในเพจของเราไปตลอดๆ นะครับ
คราวนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ MOCA เขาก็เห็นว่าเรามีผลงาน แล้วผลงานของแนวเรา มันเข้ากับธีมเขาในช่วงนั้น เป็นช่วงแบบว่า ฉลอง 10 ปี MOCA ตั้งแต่เปิดแกลเลอรี่มา เขาก็จะคัดเด็ก 13 คนทั่วประเทศครับ เพื่อเอาผลงานของเด็ก 13 คนนี้ เพื่อไปออกงาน นิทรรศการ MOCA ครับช่วงนั้น แล้วผมก็เลยได้คัดเลือกไปด้วย ตอนนั้นน่าจะวาดได้ 1 เดือนครับ แล้วเขาก็ทักมาเลย คือมันเป็นจังหวะมากจริงๆ ครับ
ตกใจครับ ตกใจมาก คนที่มาซื้อก็ตกใจด้วยเหมือนกันครับ ก็เป็น พี่ซี-ศิวัฒน์ กับ พี่เอมี่ กลิ่นประทุม ที่เขามาซื้อ ผมก็ตกใจว่า เออเขามาซื้อผลงานผม ผมก็ตกใจเหมือนกันครับ
ช่วงนั้น ทาง MOCA เขาก็ช่วยคิดเรื่องราคาด้วยครับ เพราะผมไม่รู้เกี่ยวกับงานอาร์ตเลยช่วงนั้น เพราะผมพึ่งเริ่มทำงานได้เดือนเดียว ราคานี้ผมไม่เคยคิดเลยว่า มันจะขนาดนั้น คือครั้งแรก ผมตั้งไว้ประมาณรูปละ 5 พัน รูปละ 1 หมื่น เขาก็บอกว่า เฮ้ยมันไม่ได้นะเนี่ย มันน้อยเกินไป พี่เขาก็เลยช่วยตั้งราคา ก็เลยได้เป็นราคานั้นมาครับผม คือแกลเลอรี่เขาหัก 15% อะไรอย่างนี้ครับ”
นอกจากฝีไม้ลายมือที่ฝึกฝนมา ศิลปินวัย 17 ปีคนนี้ เขายังบอกอีกว่า ทริกสำคัญในการขายงานให้ได้ก็คือ โปรไฟล์ในช่องทางโซเชียลฯ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคนี้
“ผมมองว่ามันสำคัญมากครับในยุคนี้ เพราะว่าถ้าจะเป็นงานอาร์ตเนี่ย ไม่มีโซเชียลฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมว่าส่วนใหญ่คนก็จะไม่รู้จักเราเลยด้วยซ้ำ แล้วการที่เราไปเสนองานด้วย ส่วนใหญ่ช่วงนี้คนเขาก็จะมองโปรไฟล์ในออนไลน์ด้วย มีคนรู้จักเราเยอะไหม มีคนให้ความสนใจเราเยอะไหม มี fc เยอะไหม ในการจะทำงานร่วมกัน
ถ้าเราไม่มีออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันก็คงยังไม่มีใครรู้จักเราเลย เพราะว่ายุคนี้เขาเล่นออนไลน์ส่วนใหญ่ เราต้องตามเทรนด์ครับ
แล้วก็ต้องมีงานมีอีเวนต์ออกตลอด แล้วก็ต้องมีคนรู้จักในระดับนึงครับ ในทางออนไลน์ด้วย ในการที่พี่ๆ เขาจะมาจ้าง แล้วก็ต้องมีคอนเน็กชั่นกับรุ่นพี่ในวงการ แล้วก็นอกในวงการด้วย แล้วก็พยายามทำมาร์เก็ตติ้งของตัวเองให้มันไปได้เรื่อยๆ ครับ ส่วนใหญ่คนที่ซื้อผลงานผม คนที่สนับสนุนผลงานผม เป็นผู้ใหญ่ที่ชอบงานแนวนี้โดยเฉพาะก็มี”
คาแรกเตอร์โดดเด่น จน “แบรนด์ดัง” ขอร่วมงาน
สร้างสรรค์ผลงาน พิสูจน์ฝีมือตัวเอง จนสามารถ มีโอกาส collab กับแบรนด์ดังต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้า แบรนด์ขนม หรือบริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดัง
“ตอนนี้ที่ collabs ก็จะมีแบรนด์ Ving ครับ ที่ collabs ก็มีพี่แน็ก-ชาลี กับพี่เก๋ไก๋ครับ ที่ใส่เสื้อเราตอนนั้น ใส่เสื้อที่ผมออกแบบ ของแบรนด์ Ving ด้วย แล้วก็มีของ พี่ต่อ-เพนกวิน ที่เป็นอาหาร แล้วก็ตอนนี้กำลังทำให้กับ POEM ครับ กำลัง collabs กันอยู่ ใช่ครับแบรนด์เสื้อผ้า แล้วก็มีแบรนด์ขนม Rise Buddy ไปวาดรถให้เขา ไปออกแบบลายรถ Food Truck ให้เขา
โตโยต้าก็มี เป็นโตโยต้าแก่นนคร มันเป็นโตโยต้าของทางขอนแก่นครับ คือเขาทักมาว่าอยากให้เรา collab กัน ทำเป็นของชำร่วยกันครับ ก็ออกมาเป็นปฏิทิน ออกมาเป็นแก้วเป็นอะไรไปแบบนี้ครับ
แล้วก็มีตลาดต้นตาลขอนแก่นด้วยครับ เราได้ไปวาดเป็นฟอนต์ครับ บนฟอนต์ตลาดต้นตาล ก็มี collabs ประมาณนี้ครับ แต่ยังไม่เคยทำ Commission เลยครับ ตั้งแต่เป็นศิลปินมา Commission คือ รับจ้างวาดครับ คือเขาบอกมาว่าอยากได้แบบนี้ๆ เราก็วาดให้ คือยังไม่เคยทำเลย มีแต่ที่เป็นออกแบบเอง”
[ออกแบบปฏิทิน ให้กับโตโยต้าแก่นนคร]
นอกจากนี้ เจ้ารูบี้ ตัวสีแดงๆ ที่เราเห็นกันนี้ ถือเป็นคาแรกเตอร์สร้างชื่อ ที่ทำให้คนสามารถจำลายเส้นน้องภัทรได้เป็นอย่างดี ซึ่งกว่าจะสร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวเอง น้องภัทรบอกว่า ไม่ใช่เรื่อง่ายเลย
“ผมสร้างคาแรกเตอร์มา 1 ตัวครับ ชื่อรูบี้ คราวนี้ก็ มันจะมีตัวนี้ในงานผมทุกงานเลย ซ่อนไว้ในผลงานของผมตลอด พอคนเห็นก็จะรู้ได้เลยว่า งานนี้ก็คืองานเรา ก็คือแดงๆ ตัวนี้
คือผมพยายามเปลี่ยนคาแรกเตอร์หลายๆ ตัวแล้ว เพื่อทำให้มันออกมาดี แต่สุดท้าย คนก็ยังจำหัวตัวนี้อยู่ ผมก็เลย ถ้างั้นเราเอาตัวนี้มาพัฒนาต่อดีกว่า ซึ่งมาพัฒนาจริงจังได้ครึ่งปีครับ ไอ้ตัวนี้ เพิ่งพัฒนามาได้ จากมีแค่หัว แล้วเราก็ไปเรียนมา แล้วเราได้รู้ว่าต้องสเกลประมาณไหน แล้วก็ได้ออกมาเป็นตัวละคร ก็ทำออกมาเป็นชุดมาสคอต ให้คนเข้าไปใส่ได้ อะไรอย่างนี้ครับผม
อันนี้ประกวดที่โครงการ CEA มา แล้วเราก็ผ่านการคัดเลือก ก็เลยได้ทำตัวมาสคอตด้วย ส่วนอันนี้ก็เป็นคลอเลกชั่นของผมเอง เป็นรูบี้ มี 39 ตัว ตัวละ 6 พันบาท ก็มีพี่แอม-พีรวัศ ที่เขาสนับสนุนผมไป”
[พี่แอมป์-พีรวัศ นักแสดงและพีธีกรช่อง 7 ที่สนับสนุนผลงาน]
ส่วนเหตุผลว่า ทำไมต้องเป็นตัวนี้ น้องภัทรก็เล่าว่า เป็นคนที่ชอบสีแดงอยู่แล้ว และเริ่มวาดวาดการ์ตูนตัวนี้จากความมั่ว จนพัฒนามาเป็นคาแรกเตอร์ในผลงานของตัวเอง
“จุดเริ่มต้นคือผมเป็นคนที่ชอบสีแดงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แล้วผมเป็นคนที่เกิดวันอาทิตย์ด้วยก็สีแดง แต่เอาจริงๆ คือผมเป็นคนที่ชอบสีแดงอยู่แล้ว ก็เลยตอนที่ว่าตอนนั้นมีแต่หัวก็เลยว่าสีแดงลงไปครับ คิดว่ามันน่าจะเด่นดีไม่ได้คิดว่ามันจะกลายมาเป็นตัวนี้ที่ให้เราได้จับได้ถึงขนาดนี้ อึ้งอยู่เหมือนกัน ที่มันกลายมาเป็นตัวนี้ที่เราจับต้องได้
ผมเริ่มวาดวาดการ์ตูนตัวนี้จากความมั่ว คือผมคิดว่าการวาดของผมให้มันเต็มหน้ากระดาษ มันจะไม่มีจุดเด่นของภาพเลยว่ามันต้องมองตรงไหนก่อน คราวนี้ผมก็เลยทำให้มันมีจุดเด่น ก็วาดให้มันอยู่ตรงกลาง ให้มันมีจุดเด่นสักตัวนึง คือมาครั้งแรกมันมีหัวนี้มาก่อน แล้วคราวนี้ก็เลยเอามาพัฒนาเพิ่ม ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้”
ในฐานะศิลปิน น้องภัทรมองว่า ที่ที่ศิลปินมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปินเลยก็ว่าได้
“ผมรู้สึกว่ามันสำคัญมากๆ เลยครับ คือมันเหมือนเป็นตัวแทนของเรา ทำให้คนรู้จักผลงานของเราเลยครับ คาแรกเตอร์ จำเป็นต้องมีมากๆ เลยครับ
ถ้าสมมติว่าผมยังวาดงานเหมือนเดิม เรายังไม่มีตัวนี้มา คนที่มาดูงานของเราก็อาจจะยังไม่รู้ว่า เอองานนี้มันอาจจะเป็นงานเราก็ได้ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเรามีคาแรกเตอร์หนึ่งตัว ทำให้คนจำเราได้ว่า ไอ้ตาที่มันเป็นกากบาทแบบนี้ แล้วตาที่มันขีดลงอย่างนี้ มันมีคนเดียวนะ 29art เขาก็จะจำได้เลยครับ พอมาดูผลงาน มาเห็นผลงาน อ๋อ ผลงานของ 29art นี่แหละ ผมรู้สึกว่ามันสำคัญมาก การที่จะมีคาแรกเตอร์หนึ่งตัวเป็นตัวแทนของเรา
บางคนเขายังไม่รู้จักผมเลย แต่เขารู้จักคาแรกเตอร์ผมก่อนแล้ว จากที่ผมเอามาสคอตของตัวเองไปออกตามงานต่างๆ ล่าสุดเพิ่งไปออกที่งานวิ่งมาราธอนมา คนขอนแก่นเขาก็จะรู้จักไอ้ตัวนี้ พอเขารู้ว่าผมทำ เขาก็จะอ๋อ ตัวนี้เห็นอยู่ทั่วขอนแก่นเลย แต่ไม่รู้ว่าผมวาด อะไรอย่างนี้ครับ”
จาก “วาดเล่น” สู่ “ศิลปินระดับโลก”
น้องภัทรบอกว่า เดิมทีเป็นคนที่ชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แล้วก็ฝึกวาดด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากวาดเป็นขาวดำ จนพัฒนามาเป็นสี แม้จะมีหลายคนมาก ที่บอกว่า เขามีพรสวรรค์ทางด้านนี้อยู่แล้ว แต่เขาเองก็ไม่ได้รู้ว่า สิ่งนี้เรียกว่าพรสวรรค์หรือเปล่า
“หลายคนก็บอกครับว่ามันอาจจะเป็นพรสวรรค์ แต่ผมว่ามันก็ ผมไม่รู้ว่ามันเป็นพรสวรรค์หรือเปล่า แต่ผมวาดมาตั้งแต่เด็กครับแนวนี้ แนวการ์ตูนอะไรอย่างนี้ผมว่าวาดมาตั้งแต่เด็ก แล้วคราวนี้ผมเป็นคนที่ ใช้กระดาษแบบคุ้มค่า ก็เลยชอบวาดรูปไปให้มันเต็มกระดาษ
พอวาดไปวาดมา จับจุดไปจับจุดมา มันก็เลยออกมาเป็นแนวนี้ คือไม่เคยเรียนมาก่อนครับ คือว่าแล้วมันก็ได้เลยครับ แล้วค่อยมาศึกษาว่ามันเป็นงานแนวไหน
ยังไม่รู้เลยว่าแนวนี้ เขาเรียกว่า Doodle Art ครับ แล้วคราวนี้ก็ไปที่โรงเรียนฝึก เขาก็บอกว่าแนวนี้ เขาเรียกว่า Doodle Art พอเรารู้จักว่าที่เราวาดอยู่นี่คือแนวไหน แล้วเราก็ไปศึกษาเพิ่ม”
หากให้ช่วยอธิบายว่า มีการฝึกตัวเองยังไง น้องภัทรเองก็บอกว่า อธิบายยากมาก เพราะก็มัก ขีดเขียนตามจินตนาการตัวเองไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครอยากวาดภาพ หรือวาดแนวนี้ ต้องเรียนพื้นฐาน หรือมีพื้นฐานทางศิลปะ
“อธิบายค่อนข้างยาก ก็คือเราจับปากกาได้ แล้วก็วาดเลยครับ ก็เป็นอย่างนี้เลยครับ คือเราจินตนาการไว้ว่า เราอยากวาดอะไรเราก็วาด สมมติเราอยากวาดรูปกล่อง เราก็วาดออกมา มันก็ออกมาเป็นลายเส้นเราตอนนั้น
ไม่ได้ฝึกเลยครับ วาดๆ แล้วก็มาเลยครับ คือผมเป็นคนที่คิดปุ๊บแล้วก็วาดออกมาเลย คือคอนเซ็ปต์ของงานอาร์ตผมมันจะเป็น แฮชแท็กว่า #ดีไซน์ไม่ซ้ำทำลายเดิมไม่ได้
ก็คือเราจะวาดไม่เหมือนเดิมตลอด ตอนนี้ก็เป็นอยู่ เวลาผมส่งบรีฟให้กับทางลูกค้าอะไรอย่างนี้ครับ ผมก็จะบอกตลอดว่าอันนี้เป็นบรีฟนะครับ เวลาที่ผมวาดจริง มันอาจจะไม่เหมือนนะครับ เพราะว่าผมคิดออกมาอีกรอบนึงอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่มันจะอยู่ประมาณนี้แหละครับ
คิดออกมาได้ ก็วาดได้ทุกอย่างเลยครับ แต่มันจะเป็นวาดเส้นของตัวเองครับผม มันจะไม่ตรงเป๊ะเหมือนแบบว่า ที่เคย ที่แบบอาจจะแรเงามา หรืออาจจะสมจริงอะไรอย่างนั้นครับ แต่มันออกมาเป็นลายเส้นของเรา แต่พื้นฐานก็ต้องเรียนนะครับ พื้นฐานในการเรียนศิลปะ ก็ต้องเรียนครับ”
หลังจากฝึกฝนด้วยตัวเองอยู่นาน ด้วยความที่อยากพัฒนาผลงานตัวเองให้ดียิ่งขึ้น จนในที่สุด ก็ตัดสินใจเริ่มเข้าคอร์สเรียนเรื่องรู้เรื่องคู่สี เพื่อนำมาปรับใช้ในผลงานตัวเอง
“ได้เยอะมากเลยครับ ได้รู้จักหลายอย่างเลยว่า อาร์ตเนี่ย มันไม่ได้มีแนวเดียว แล้วก็มันต้องมีพื้นฐานของการวัดอาร์ต ถึงจะทำงานออกมาให้สวยได้ด้วย ตอนนั้นที่ผมว่ามีแค่ขาวดำอย่างเดียวเลยครับ มีแค่ปากกาแท่งเดียวแล้วเราก็วาดไปเลยเต็มๆ
จนได้มาเรียนรู้เรื่องคู่สี เรื่องโทนสี เรื่องแรเงา ว่าแรเงายังไง แล้วก็มีทั้งเรียนปั้น มีทั้งแรเงาคน ซึ่งก็พยายามทำ มีเรื่อง anatomy คนด้วย ว่าประมาณไหน อะไรอย่างนี้ครับ งานอาร์ตเราก็พัฒนาขึ้นจากเดิม จะเป็นขาวดำก็มีสี สเกล หรือเขาเรียกว่า perspective ของตัวละคร มันก็สัดส่วนตัวละคร มันก็ดูลงตัวมากขึ้น”
น้องภัทรบอกอีกว่า สำหรับเป้าหมาย ในเส้นทางนี้ คืออยากเป็นศิลปินระดับโลก และตอนนี้ก็มีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยแล้วด้วย
“เทอมหน้าผมจะไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้วครับผม คือมหา’ลัยที่ผมไปเรียน มันเป็นมหา’ลัย IESA (Institute of Entrepreneurial Science Ayothaya) มันเป็นมหา’ลัยที่เรียนแบบ ก็คือเรายังไม่จบ ม.6 แต่เราสามารถเรียนไปก่อนได้ พอจบ ม. 6 แล้ว เราค่อยเอาใบจบ ม.6 ยื่นให้เขาได้ครับผม ตอนนี้ก็เรียน กศน. อยู่ด้วย ก็คือจะได้ไม่เสียเวลาในการเรียนไปด้วย ผมคิดว่าเรียนก็ยังสำคัญอยู่เหมือนเดิม
มันเป็นมหา’ลัย เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจครับ เป็นมหา’ลัยที่แบบว่า เด็กแต่ละคน เขาจะมีอาชีพ หรือมีอะไรต่างๆ เป็นของตัวเองมาแล้ว แล้วเขามาต่อยอด แล้วมหา’ลัยนี้ ได้รับใบปริญญาตรีด้วย ผมก็เลยเลือกเรียนมหา’ลัยนี้ เพื่ออยากที่จะเอาร้านข้าวผัดตัวเอง ร้านคาเฟ่ตัวเอง เอาแบบว่างานอาร์ตตัวเอง มาต่อยอดว่ามันจะไปทำอะไรต่อได้บ้าง
แล้วคราวนี้งานอาร์ตในงานของเราก็คือ ผมไม่อยากจำกัดคนงานของผมอยู่ในแค่เฟรมผ้าใบ หรือว่าในดิจิทัลอาร์ต คือผมอยากเอามันไปทำอย่างอื่นได้บ้าง ตอนนี้ผมก็มีงานอาร์ต มีร้านข้าวผัด มีคาเฟ่ แล้วตอนนี้ว่าอยากจะทำแบรนด์เสื้อผ้า
ฃ
[ร้านข้าวผัด]
ผมมีจุดหมายแล้ว ในทุกๆ วันที่ตื่นมา ว่าอยากทำอะไรบ้าง ปีนี้ต้องทำอะไร ปีนี้อยากทำอะไร จุดหมายสูงสุด คืออยากเป็นศิลปินระดับโลกครับ หรืออยากให้ทุกคนรู้จักผม ว่าผมเป็นศิลปินผู้ที่สร้างงานอาร์ต แนว Doodle Art มีคาแรกเตอร์เป็นรูบี้ครับผม อันนี้คือสูงสุดเลย อยากให้ทุกคนรู้จักแบบระดับโลกเลยครับ”
ไอดอลสายอาร์ต “เริ่มแรกไม่มีไอดอลครับ แต่พอมาเข้าอาร์ตถึงได้มีครับ เป็นอาจารย์คนนึงครับ ที่อยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาจารย์ที่ทำงาน NFT ได้สวยมาก ได้เก่งมาก แล้วอาจารย์คนนี้เป็นอาจารย์ที่ทำได้ทุกแนวเลย แล้วทำออกมาดีทุกแนวเลย เขาชื่ออาจารย์ตั้ม-ภราดร เสมาเพชร ผมเคารพอาจารย์มากๆ เลยครับ เพราะว่าอาจารย์เป็นคนที่เก่งของจริง แล้วก็อีกคนนึงที่อยู่ต่างประเทศครับ เขาเป็นศิลปินแนวนี้เหมือนกัน ผลงานพี่คนนี้ดังมากเลย มันจะมีความเป็นเอกลักษณ์มาก เป็นแนว Doodle Art เหมือนกัน คือช่วงนั้นที่เราสร้างอินสตาแกรม เพจงานตัวเองใหม่ๆ มันก็ขึ้นมาแนะนำว่า ผลงานอาร์ตของศิลปินท่านอื่นเป็นยังไงบ้าง เราก็เลื่อนไปดู เราก็ได้เจอกับศิลปินท่านนี้ ก็เป็นศิลปินรุ่นพี่ชื่อ vexx ครับผม ก็เลยไปดูก็รู้สึกว่าเอ้ย ก็มีงานแนวคล้ายๆ งานเรา สไตล์งานเราด้วย ก็เลยเข้าไปดู ก็เลยรู้สึกว่า คนนี้แบบโอ้โหวาดสวยมาก อลังการมาก ก็เลยรู้ว่ามีคนทำงานนี้มาก่อนเรานานแล้ว ก็มีที่เราดูแล้วเราก็เอามาเป็นแรงบันดาลใจบ้างครับ แต่พอวาดออกมาแล้วมันไม่เหมือนอยู่ดีครับ เพราะว่าถ้าจากงานอาร์ตเขา กับอาร์ตด้านเรา มันไม่เหมือนกันเลยสักนิด แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่า พี่คนนี้ เขาใช้คู่สีประมาณไหน ใช้โทนสีประมาณไหน ค่าสีประมาณนี้ยังไง ก็พอได้รู้เรื่องสีมาบ้าง เขาทำงานสีได้สวยมากๆ เลย” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...จากจุด “ดิ่งที่สุด” เพราะความเข้าใจของ “ครอบครัว” ทำให้เด็กวัย 16 ขายงานอาร์ตได้ถึง “หลักแสน” @Pat_ArtStudio...
>>> https://t.co/sb1dbbldsr
.#29artstudio #patartstudio #patart #ศิลปิน #ศิลปะ #doodleart #nft #creator #bkkdw2024 #bangkokdesignweek #เด็กติดเกม #การตลาด #แบรนดิ้ง pic.twitter.com/rj3bLS2Xph— livestyle.official (@livestyletweet) January 27, 2024
@livestyle.official ...จากจุดที่ “ดิ่งที่สุด” กลับฟื้นคืนมา "ถูกที่-ถูกเวลาที่สุด" เพราะความเข้าใจของ “ครอบครัว” ทำให้เด็กวัย 16 ในตอนนั้น ขายงานอาร์ตของตัวเองได้ถึง “หลักแสน” @29art_studio ... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #29artstudio #patartstudio #patart #ดีไซน์ไม่ซ้ําทําลายเดิมไม่ได้ #ศิลปิน #ศิลปะ #doodleart #nft #creator #contentcreator #bkkdw2024 #bangkokdesignweek #เด็กติดเกม #การตลาด #แบรนดิ้ง ♬ original sound - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ข้อมูลเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Pat-Art”, "RUBY 29ART", อินสตาแกรม @29art_studio, ยูทูบ "29art_studio", X @Pat_ArtStudio และ TikTok @29art_studio
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **