xs
xsm
sm
md
lg

เปิดม่านร้านขายของ-ขายขำ เจ้าของไวรัล “ร้านชำตัวจี๊ด” กับ “ลูกค้าตัวตึง” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “ป๊อป - กิตติกรณ์” เจ้าของ “ร้านบุญสอาด” ร้านชำสุดฮาบนโลก TikTok ซิกเนเจอร์คลิปมุมกล้องวงจรปิด และเรื่องราวหนึ่งวันพันเหตุการณกับลูกค้าที่ราวกับหลุดออกมาจากซิตคอม!!






ร้านชำดาว TikTok ทุกความฮาไม่มีเตี๊ยม

เชื่อเลยว่าคนที่เล่น TikTok ทั้งหลาย ต้องเคยเห็นคลิปไวรัลมุมกล้องวงจรปิด จากช่อง @popbangpoon ของ “ร้านบุญสอาด” ร้านชำใน ต.บางพูน จ.ปทุมธานี ที่เผยให้เห็นหลากหลายเหตุการณ์สุดโบ๊ะบ๊ะ ราวกับว่าเป็นฉากในซิตคอม

ระหว่าง “ป๊อป - กิตติกรณ์ นิยมมาก” เจ้าของร้านวัย 26 ปี กับบรรดาลูกค้าที่แวะเวียนมา จากความตลกที่เกิดขึ้นแบบธรรมชาติ ไม่ได้มีการจัดฉากแม้แต่น้อย ส่งให้ช่อง TikTok นี้ มีผู้ติดตามกว่า 217,700 บัญชีในเวลาอันรวดเร็ว

ป๊อบ เล่าให้ทีมข่าว MGR Live ฟังอย่างอารมณ์ดี ถึงจุดเริ่มต้นในการมาทำ TikTok จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ เพราะเพียงแค่คลิปเล่นๆ กับแฟน ได้กลายมาเป็นคลิปมุมกล้องวงจรปิดหลักล้านวิวคลิปแรกของช่อง และเป็นแนวทางในการลงคลิปอื่นๆ ต่อไป


[ “ป๊อบ” และ “ปุ๋ย” แห่งร้านบุญสอาด ]
“ผมไม่ได้เป็นคนเล่น TikTok แฟนจะเป็นคนเล่น เขาก็จะเล่นตามคอนเทนท์ใน TikTok เหมือนกับที่คนอื่นเขาทำ ตอนแรกกะติดกล้องวงจรปิดเพื่อกันขโมยเหมือนกับร้านชำทั่วไป ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างไปจากคนอื่น

แต่ว่าเริ่มต้นจากที่เราชอบเล่นอยู่แล้ว คลิปแรกที่คนเริ่มรู้จักเป็นคลิปที่ผมเล่นกับแฟน เขาใส่อารมณ์กับผมจริงจังเลยแต่ผมเล่นไง ผมก็เงื้อมือจะตบเขาแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นไหว้แทน ก็เลยกรอกล้องกลับไปดูแล้วดูดคลิปเอามาลงในสตอรี่

เพื่อนก็บอกว่าเอาไปลง TikTok ได้นะ ผมก็เลยลองเอาไปลง พอเอาไปลงก็มีคนเข้ามาคอมเม้นต์ เข้ามาดูคลิปเยอะ เป็นคลิปล้านวิวคลิปแรกเลยในชีวิตที่มีคนเข้ามาดูขนาดนั้น ก็งงเหมือนกัน พอมาลงในแนวกล้องวงจรปิดมีคนสนใจ ก็ทำแนวนี้ตลอดเลย ลองเปลี่ยนแนวเอากล้องอื่นมาถ่ายก็ไม่มีคนดู (หัวเราะ)

พอคลิปนั้นมีคนดูเริ่มขึ้นหลักล้านก็ไม่ทำเลย มันเป็นเรื่องแปลกสำหรับผมที่มีคนเข้ามาคอมเม้นต์ เข้ามาดูคลิปเยอะ ก็หยุดทำไปพักหนึ่ง แล้วก็กลับไปลงคลิปใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายทั่วไปแต่ก็ไม่มีคนดู เลยคุยกับแฟนว่าทำยังไง ไม่ได้มองถึงเรื่องรายได้นะ แต่มองถึงทำคลิปยังไงต่อดีที่สนุก

แฟนก็บอกว่าส่วนใหญ่มันต้องทำเป็นในแนวทางเดียวกัน ถ้าเป็นกล้องวงจรปิดก็ให้ทำเป็นกล้องวงจรปิดทั้งหมดเลย ก็ลองทำลงไปเรื่อยๆ บางคลิปก็มีคนดูเยอะ บางคลิปก็มีคนดูน้อย แต่ว่าเราลงไปเยอะๆ มันเหมือนกับเป็นเรื่องราวสตอรี่ของร้าน คนเข้ามาดูก็รู้ว่าเป็นร้านเราเพราะคนจำในมุมนี้ได้ แล้วก็เริ่มบอกกันว่ามันเหมือนซิตคอมที่เขาดูกัน ฉากในซิตคอม”



ด้วยความที่ทั้งเขาและลูกค้าส่วนใหญ่สนิทกัน จึงทำให้ในแต่ละวันมีเหตุการณ์ฮาๆ เกิดขึ้นมากมาย

“มันไม่ใช่แค่ผมอย่างเดียว แต่เป็นลูกค้าเป็นคนในซอยที่เข้ามาเล่นกับผมตลอด มันเกิดขึ้นตลอดทั้งวันทุกวันที่มาขายของ มาเจอมุมน่ารัก ตลก หรือจะมีมุมเรื่องแอบเศร้าๆ บางคนก็เป็นญาติกันเลย บางคนก็เป็นคนในซอยที่เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก

เหตุการณ์เยอะมาก ส่วนใหญ่ผมก็จะให้แฟนกับเพื่อนช่วยดูว่าคลิปเป็นยังไงบ้าง ต้องใส่ซาวด์ตรงนี้เพิ่มนะ แต่คลิปที่ลงส่วนใหญ่ก็จะเป็นคลิปสั้นๆ สมมติเจอเหตุการณ์ที่รู้สึกว่ามันตลกหรือมันน่าสนใจ ผมก็จะแคปเวลาก่อน ส่วนใหญ่ก็จะดูดคลิปไม่ทันกล้องลบก่อนเพราะลืม

แต่ว่าบางทีด้วยความที่ลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น เราดูดคลิปไม่ทัน พอผ่านไปหลายวันแล้วเพิ่งมานึกได้ เราไปเปิดกล้องมันก็เริ่มลบแล้ว กล้องแต่ละตัวไม่เท่ากันเพราะเมมไม่เท่ากัน บางตัวก็อยู่ได้เป็น 2 อาทิตย์ บางตัวก็อยู่ได้แค่ 3 วัน อยู่ที่ว่าเราใส่เมมไปเท่าไหร่ บางตัวที่อยู่ได้แค่ไม่กี่วันเพราะมุมนั้นไม่ค่อยได้ใช้ด้วย

เพิ่งมามีกล้องที่ดูดคลิปง่ายก็เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง แต่ก่อนมันเป็นกล้องวงจรปิดรุ่นเก่าที่เป็นจอคอมพ์ฯแล้วเราเอาโทรศัพท์ไปถ่าย 1.มันไม่ได้ยินเสียงที่เราคุยกัน 2.ภาพก็ไม่ชัดมันก็เลยไม่ค่อยน่าลงเท่าไหร่

แต่ว่าเดี๋ยวนี้กล้องมันเปลี่ยนพัฒนาการไปแล้วด้วย ดูดคลิปง่าย ภาพก็ชัดกว่าเดิม แต่ก็ยังถือว่าแย่อยู่ถ้าเทียบกับกล้องมือถือ (หัวเราะ) ภาพก็ยังแตก แต่ผมว่ามันได้ฟีลกล้องวงจรปิดดี”

พ่อค้าตัวจี๊ดกับลูกค้าตัวตึง

หลังจากที่ร้านบุญสอาดกลายเป็นที่รู้จักบนโลกโซเชียลฯขึ้นมา ก็มีลูกค้าจากต่างถิ่นหลายคน แวะเวียนไปสัมผัสความฮากันถึงที่ก็มี

“ไวรัลคลิปแรกก็จะเป็นคลิปที่ผมตบแฟน คนรู้จักร้านจริงๆ เลยก็จะเป็นคลิปที่ผมกดกระดิ่งเล่นกับลูกค้าฉิ่งฉับ ลูกค้าเขามาเรียกแล้วผมอยู่หลังร้าน เขาก็กดกระดิ่งรัวๆ ผมก็บอกถ้ากดอย่างนี้ผมไม่มา ไม่สนุกก็เลยกดเป็นฉิ่งฉับ ลูกค้าเขาก็เลยชอบกันจากตรงนั้น

ช่วงซักประมาณ 3-4 เดือนที่แล้วลูกค้าเริ่มเข้ามาเล่น บางทีเราก็แอบตกใจว่าลูกค้ามาจากไหนกัน แล้วบางทีเขาเล่นแล้วเราตั้งตัวไม่ทัน ช่วงหลังๆ น้องบอกว่าลูกค้าจากที่อื่นเข้ามาเยอะมาก บางคนเขาก็บอกว่ามาจากใน TikTok มาซื้อน้ำขวดเดียวแล้วเขาก็ไป ผมก็ดีใจนะที่ยังแวะเข้ามาหาเรา มาเล่นกับเรา ผมมาเจอผม

เรื่องกล้องวงจรปิด ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นจุดขาย มีคนเข้ามาถามว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นไหมตั้งแต่ทำ TikTok ตั้งใจทำ TikTok มียอดขายเพิ่มขึ้นเยอะไหม ตอนแรกปีสองปีแรกเราก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ ก็จะเป็นลูกค้าเดิมๆ ลูกค้าในซอย แต่มาช่วงหลังๆ เริ่มมีลูกค้าแปลกหน้าเข้ามาเยอะมาก เป็นลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ก็ต้องบอกว่าช่วยเพิ่มยอดขายให้เราในทางหนึ่งด้วย”


[ “ป้าหริม” ลูกค้าประจำเจ้าของไวรัลไข่ไก่เบอร์ 0 ]

และอย่างที่ได้บอกไปแล้ว ลูกค้าแต่ละคนของร้านนี้ล้วนแต่มีความฮาไม่แพ้เจ้าของร้าน ราวกับว่าเป็นตัวละครในซิตคอม ทั้ง “ลุงปาน” จากไวรัลกดกระดิ่งเรียกเจ้าของร้าน และ “ป้าหริม” จากคลิปไข่ไก่เบอร์ 0 ซึ่งก็มีหลายคนที่กลายเป็นที่รู้จักของชาวเน็ตไปโดยปริยาย

“ก็จะมีลุงปานคลิปกดกระดิ่ง เป็นคนที่เข้ามาพูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เข้ามาเล่นกับเราตลอดอยู่แล้ว แล้วก็จะมีป้าหลิมอยู่ข้างบ้านเลย จะมาบ่อยกว่าคนอื่น มาตั้งแต่คลิปเรื่องเราทะเลาะกับแฟน เขาก็จะมาเป็นคนห้าม

แล้วก็จะเป็นคลิปเรื่องไข่เบอร์ 0 ที่เราบอกว่าใครเป็นเบอร์เล็กนะ แกก็บอกว่ามันเป็นเบอร์ใหญ่แกจะจ่ายในราคาที่แพง เราบอกไม่ใช่นะ แกก็บอกไม่ต้องๆ พอดูแล้วเราบอกว่าเนี่ยมันเป็นขายเบอร์เล็กมันต้องถูกกว่า มันเป็นไข่เบอร์ 2 พอลงแล้วคนก็คอมเมนต์กันเยอะ”

[ พี่โน้ต ลูกค้าสายฮา ]
และ “พี่โน้ต” จากไวรัลยกแพคน้ำแล้วกางเกงหลุด ซึ่งเป็นคลิปที่ป๊อบบอกว่า ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกล้าลง

“แล้วก็จะเป็นพี่โน้ต แกเป็นคนสนุกอยู่แล้ว วันนั้นแกเมามากับเพื่อนแกก็จะถือลำโพงบลูทูธเข้ามาด้วย แกก็เข้ามาเต้นในร้าน เราลงคลิปไปคนดูเขาก็ชอบกัน ทำไมร้านเขาไม่เจอแบบนั้นบ้าง (หัวเราะ) หลังๆ ก็จะมีลูกค้าเข้ามาเต้นเองในร้าน จะเป็นพวกพี่ๆ ที่เขาผ่านไปผ่านมา มีเมามาหลับหน้าร้าน ก็มีเริ่มมีอะไรแปลกๆ เข้ามาเยอะ

พี่โน้ตคลิปแรก ตอนนั้นผมยังไม่สนิทกับแกแต่เห็นแล้วกางเกงแกหลุด ผมก็เลยดูดคลิปไว้ก่อนก็ไม่กล้าลงดองคลิปไว้เป็นปี แล้วเริ่มชวนแกคุย เริ่มตีสนิทกับแก เริ่มแอดเฟซแกไปแล้วก็ค่อยขอแกว่าผมขอลงคลิปได้ไหม เขาก็คลิปอะไรวะลงได้เลย

พอลงไปมันเป็นคลิปที่ถ่ายตอนแกกางเกงหลุด แกก็บอกว่าใครก็ไม่รู้ส่งคลิปมาให้แกเต็มเลย แกบอกว่าจะลงก็ลงเถอะเขารั่วอยู่แล้ว แกก็นึกว่าเป็นคลิปที่แกถ่ายลง reels ตามปกติ แต่มันไม่ใช่ ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกล้าลง (หัวเราะ)

ผมลงไปทั้งหมด 2 รอบ ตอนแรกที่ลงไปมันโดนสแปมว่าเป็นอนาจาร ผมก็งงว่าอนาจารตรงไหน หรือคนไปกดก็ไม่รู้ก็เลยโดนลบ ผมก็เลยต้องใส่แฮชแท็กว่าผมขอลูกค้าแล้วนะไม่ใช่ไม่ขอ ตอนนี้คลิปก็ยังอยู่ไม่โดนลบแล้วครับผม”



จากการทำช่อง TikTok ขำๆ เพื่อเก็บไว้เป็นเรื่องราวของที่ร้าน กลายเป็นว่าตอนนี้ ร้านบุญสอาด มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่มีลูกค้าจากที่อื่นแวะไปอุดหนุน รวมถึงรายได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ว่าจ้างทำคลิปอีกด้วย

“แต่ก่อนอยากลงคลิปเกือบทุกวัน แต่พอเป็นแบบนั้นแล้วเรารู้สึกว่าเริ่มเครียด เริ่มไม่ได้สนุกไปกับมันแล้ว เริ่มจริงจังกับมันจนคลิปมันไม่มีความเรียล ช่วงหลังๆ ก็รอให้มันเป็นไปตามของมันเอง ไม่ได้ไปโฟกัสว่าอาทิตย์นึงต้องลง 3-4 รอบนะ

เรื่องหลักมันเป็นเรื่องการขายของ แต่พอเราโฟกัสหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันแล้วมันรู้สึกเครียด มันตึงเกินไป ถ้าเราทำอะไรไปแล้วมันไม่สนุก มันเครียด ก็เลยไม่ทำดีกว่า พอผ่อนคลายมันก็เริ่มกลับมามีคลิปเหมือนเดิม

เริ่มมีช่วงในช่วงหลังๆ มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มมาจ้างงาน เราก็บอกตลอดว่างานช้านะ เพราะว่าคลิปเป็นคลิปที่ไม่ได้จัดฉากขึ้นมาเป็นเหตุการณ์จริง แล้วเราเอาสินค้าตัวนั้นไปเชื่อมกะทันหัน คลิปที่ได้ก็จะช้าหน่อยนะ บางทีเสียงก็ไม่ชัดนะเพราะเราบันทึกเสียงไม่ทัน เป็นคลิปสดจากกล้องวงจรปิดเลย

บางคนเขาจ้าง 2 อาทิตย์เขาอยากได้งานแล้ว เราก็บอกว่าเป็นเดือนเลย เขาก็ปล่อยเซอร์ ปล่อยชิล ก็ได้คิดอย่างที่เขาต้องการ แต่มันแค่จะช้าหน่อย มาถึงมาตั้งใจขายของของเขาเลย บางทีคนดูอาจจะปัดผ่านก็ได้แต่เราเนียนๆ ขายในตัวด้วย บางทีเขาไม่ได้มองสินค้าดูแต่คลิปไม่รู้ว่าขายอะไรกล้องก็ไม่ชัด (หัวเราะ)”

สานต่อกิจการครอบครัวเป็นรุ่นที่ 3

มาถึงจุดเริ่มต้นของร้านชำแห่งนี้กันบ้าง ย้อนไปเกือบ 40 ปี ร้านบุญสอาด ก่อตั้งขึ้นโดยคุณย่าของป๊อบ และมีคุณพ่อเป็นรุ่นที่ 2 ก่อนที่ป๊อบจะเข้ามาดูแลเป็นรุ่นที่ 3

“ย่าเป็นคนทำรุ่นแรกครับ แล้วก็เป็นพ่อแล้วก็ค่อยมาเป็นผม เกิดมาก็วิ่งเล่นในร้านเลย เห็นมาตั้งแต่เด็ก เป็นอาชีพเดียวที่ใกล้ชิดสุดแล้ว การบริการก็ยังใส่ใจลูกค้าเหมือนเดิม แต่ว่าการเอาสินค้าเข้ามาขายจะหลากหลายมากขึ้น

เพราะว่ารุ่นย่าส่วนใหญ่ย่าเขาจะเอามาขายแต่สินค้าที่ย่าเขาใช้เอง สมมติสบู่ก็จะเป็นสบู่กลิ่นที่ย่าใช้อย่างเดียวเลย ยาสีฟันเราใช้อันไหนเราก็ซื้อแค่นั้น ไม่มีหลากหลาย


[ ค่อยๆ พัฒนาร้านไปทีละจุด ]
แต่ว่าพอมาเป็นรุ่นผม มันเอาตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งด้วย ก็เลยถามลูกค้าว่าลูกค้าชอบอะไรแบบไหน พยายามหาสินค้าต่างๆ เข้ามาขายตามที่ลูกค้าเขาแนะนำ ก็มีตั้งแต่ราคาถูก บางคนก็ต้องการราคาแพง

ตอนแรกก็ไม่กล้าที่จะเอายาสีฟันหลอดหลักร้อยมาขาย กลัวๆ เหมือนกัน เพราะว่าลงทุนสูง ถ้าเกิดเอามาแล้วขายไม่ได้ล่ะ แต่ตอนนี้ก็เฉยๆ ตรงที่ว่าลูกค้าเขาเข้าร้านเรามากขึ้น เขาได้เข้ามาเห็นความหลากหลายของสินค้าเขาก็กล้าที่จะซื้อ

จะมี 3 จุดในชุมชนที่คนจะเม้าท์กันเยอะๆ ร้านชำ ร้านเสริมสวย แล้วก็วินมอเตอร์ไซค์ที่จะรู้ข่าวก่อน สมมติมีข่าวอะไร คนนั้นรถล้ม ผมก็จะถามจากวินมอเตอร์ไซค์ก็จะรู้ข่าวก่อน จะคุยเป็นจุดที่เม้าท์กัน คุยกันตลอดครับ บางคนเห็นผมมาตั้งแต่ผมคลานเลย (หัวเราะ) จนตอนนี้เขาบอกมึงมีเมียมีลูกแล้วนะ”



นอกจากความอัธยาศัยดีของคนขายแล้ว จุดที่ทำให้ ร้านบุญสอาด แตกต่างจากร้านชำทั่วไป คือการของอาหารสด ไม่ต่างอะไรกับตลาดย่อมๆ

“หลักๆ ร้านผมจะขายเป็นพวกของสด ผักสด พวกของใช้น้อยมาก อย่างที่บอกว่ารุ่นย่าขายแต่เฉพาะสิ่งที่ตัวเองใช้ แต่ก่อนลูกค้าก็จะไม่เดินเข้ามาในร้าน ไฟก็ไม่จำเป็นที่จะต้องติด

แต่พอเราอยากให้ลูกค้าเข้ามาเลือกสินค้าในร้านเอง 1.เราต้องมีสินค้าให้ลูกค้าเลือก 2.เราต้องมีมีร้านที่ติดไฟสว่างให้ลูกค้าได้มองเห็นสินค้า ถ้าสมมติเรายังประหยัดไฟ ไม่ติดหลอดไฟเพิ่ม ลูกค้าก็จะเห็นเป็นมืดๆ มันก็ไม่น่าเข้ามาเท่าไหร่

ที่ทำตอนแรกๆ ลูกค้าก็ยังไม่ค่อยกล้าเข้ามาเดินเลือก นึกว่าเป็นร้านชำแนวก่อนที่แบบว่าใช้สั่งหน้าร้านแล้วเราเดินหยิบ แต่ทีนี้พอลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น เราหยิบไม่ไหว ใช้เป็นเดินมาบอกว่าสินค้านี้อยู่ตรงนี้นะ คอยแนะนำ ลูกค้าก็จะเป็นคนหยิบ

เราไม่ได้ขี้เกียจหยิบให้ลูกค้านะ แต่ความตั้งใจก็คืออยากให้ลูกค้าได้เข้ามาดูสินค้าตัวอื่นเพิ่มด้วย การที่ลูกค้ายืนอยู่หน้าร้านแล้วก็บอกว่าเอายาสระผมขวดนึง ถ้าเราเดินไปหยิบให้เราก็ได้ขายแค่ยาสระผมขวดเดียว บางทีถ้าเขาเดินเข้ามามีแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ครีมทาหน้า บางอย่างไม่ได้คิดว่าจะมาซื้อซื้อเต็มเลยได้กลับไป ผมก็ได้ขาย แฮปปี้ครับ”



หากย้อนไปก่อนหน้านี้นั้น ป๊อบเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ แต่เขาเลือกที่จะไม่เดินต่อตามเส้นทางที่ได้เล่าเรียนมา

“ตอนจบ ม.6 ก็ไม่รู้จะเรียนอะไร พ่อเขาก็บอกว่าก็เรียนนิติศาสตร์ไปเหอะ ไม่ได้ใช้แต่มันก็ยังได้รู้กฎหมายบ้าง แต่พ่อเขาก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ต้องการที่จะไปทำงานข้างนอก เขาก็บอก เรียนให้จบไปเหอะ แล้วก็อยากทำอะไรก็ทำ

แต่เขาก็ไม่ได้มาบังคับว่าจบมาจะต้องมาขายของเหมือนเขานะ เขาก็ปล่อยตามสบาย แต่ว่าด้วยความที่เห็นอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วก็เป็นอาชีพเดียวที่น่าจะทำได้ดีที่สุด ก็ทำต่อจากเขามาเลยครับผม

พ่อเขาไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้นด้วย เขาพูดประมาณว่า ถ้าไม่ทำต่อก็ได้ ไม่เป็นไร เขาสมมติเขาทำไม่ไหวเขาก็ปล่อยร้านให้เช่า เขาก็ไม่ได้ซีเรียส อยากทำอะไรก็ทำ แต่ว่าที่เขาขอ ต้องไม่เดือดร้อนคนอื่น ผมฟีลแบบว่าชอบอยู่บ้านมากกว่า แล้วก็แค่ลำพังโดนพ่อบ่นก็ปวดหัวแล้ว ไม่อยากโดนคนอื่นบ่น (หัวเราะ)”



หลังเรียนจบ เขาก็เริ่มเข้ามาดูแลกิจการครอบครัวอย่าง โดยมี “ปุ๋ย” ภรรยาคนเก่ง ผู้เป็นแรงกายและแรงใจในการพัฒนาร้านชำแห่งนี้ให้เติบโต

“จริงจังประมาณซัก 3-4 ปี ครับ ถ้ารวมคนที่ดูแลในร้าน ก็จะมีผม แฟนแล้วก็น้องๆ ที่ช่วยดูแลก็รวมกันเป็น 8 คนครับ แต่ช่วงปีแรกจะแบบว่า... ซึมหน่อย ยังติดเกมอยู่ ไม่ได้อยากพัฒนาอะไรเท่าไหร่ แต่ทีนี้พอมันเริ่มมีความอยากได้ ความต้องการนู่นนั่นนี่มากขึ้น แล้วก็ทำยังไงเราถึงจะโตไปกับอาชีพนี้ได้

แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ พอแฟนเริ่มที่จะเรียนจบไล่ๆ กันมา พอแฟนจบปุ๊บก็มาอยู่ด้วยกัน ก็เริ่มมีหัวคิด เพื่อนช่วยคิดมากขึ้น การพัฒนาต่างๆ มันก็เป็นไปได้ไวมากขึ้น มากกว่าเราคิดคนเดียว

แฟนผมเขาเป็นหัวคิดเรื่องการเอาสินค้าต่างๆ แปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาในร้านมากขึ้น สินค้าบางตัวอย่างพวกเครื่องสำอาง ดูหน้าผมผมไม่ใช้อยู่แล้ว (หัวเราะ) ก็จะเป็นแฟนที่คอยคิด คอยหาแหล่งต่างๆ ที่เอาสินค้าเข้ามาขายมากขึ้น

เพราะถ้าทำคนเดียวมันไม่มีหัวคิดที่ไปได้ไกลมาก แต่พอเป็นสองคนมาแชร์ประสบการณ์ แชร์ความคิดกัน หาตรงกลางให้กัน มันก็จะทำให้เราไปไกลแล้วก็ไปได้ไวมากขึ้น เป็นทั้งแรงกายแรงใจครับผม

หลายๆ อย่างมันก็บังคับให้เราโต อย่างพวกร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ๆ เขาก็เริ่มมาเกิดในรอบๆ ตัวเรา ต่อให้เราไม่ทำ ก็จะมีคนอื่นเข้ามาทำแทนเรา เขาเรียกว่าอะไร เปิดก่อนได้เปรียบ (หัวเราะ) ทำก่อนก็จะมีโอกาสมากว่าคนอื่นเขา”



ไม่เพียงแต่ต้องพัฒนาร้านของตัวเองเท่านั้น แต่เขายังต้องต่อสู้กับร้านชำอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ ที่เริ่มเกิดขึ้นทั้งในและรอบชุมชน

“ในซอยร้านชำเต็มไปหมดทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ มีทั้งเป็นของคนในชุมชนเอง คนข้างนอกชุมชน หรือไม่จะเป็นเจ้าใหญ่ๆ ก็มีเริ่มมีเข้ามารอบๆ ในซอยผมก็เพิ่งมีเจ้าใหญ่แค่แบรนด์เดียว แต่ซอยข้างๆ มีหลายแบรนด์เข้ามามากเลย

เจ้าใหญ่ๆ น่าจะประมาณ 2 ปีกว่าแล้ว เข้ามาก็มาบังคับให้เราปรับตัวเพิ่มมากขึ้น สมมติผมกะว่าอีกซัก 5 ปีค่อยลงมือทำ พอเขามาตั้งปุ๊บผมก็ต้องทำในปีนี้แล้ว ถ้าไม่ทำก็จะค่อยๆ ร่วงไป หมายถึงผมร่วงไปเอง หรืออาจจะอยู่ได้แต่ก็อยู่ไปวันๆ

พอเขามาตั้งปุ๊บ ผมกับแฟนก็คุยกันว่าทำยังไงดี แฟนก็บอกว่าอย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งไปกลัว ก็ทำกันมาค่อยๆ พัฒนาตามจุดต่างๆ ที่เราบกพร่อง จุดที่เรามีปัญหาอยู่เราก็ค่อยๆ แก้ไขไปเรื่อยๆ

เพราะเอาจริงๆ ประเภทสินค้าในร้านของผมมันก็แตกต่างจากสินค้าเจ้าใหญ่ๆ อยู่ บางคนเขาก็เรียกว่าเหมือนกับตลาดมินิ เพราะของผมขายของสดด้วย ขายผักด้วย ขายของแห้งดองเค็มด้วย อย่างแบรนด์เจ้าใหญ่ๆ ผมก็ยังไม่เคยเห็นปลาทูเค็มนะ ผมมีปลาทูเค็มอยู่ (ยิ้ม)”

อยากอยู่รอด ต้องปรับตัว

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแบบนี้ แม้แต่ร้านชำในชุมชนเองก็ต้องปรับตัว ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้าในรุ่นที่ป๊อบดูแล ก็ช่วยให้การบริการให้ครอบคลุมและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

“แรงบันดาลใจก็จะเป็นพวกรุ่นพี่หรือเพื่อนๆ ที่เราได้เห็นตามเฟซบุ๊กว่าเขาทำอย่างงู้นนะ เขาทำอย่างงี้นะ เพื่อพัฒนาร้าน เราก็หยิบแต่ละจุดที่เราเห็นว่าดีเอามาปรับปรุงร้านเราได้ แต่ก่อนที่คิดว่าการที่มีเครื่อง POS เอย อะไรต่ออะไรเป็นเรื่องยาก ก็ค่อยๆ ปรับปรุงไปทีละจุด จนตอนนี้ทำได้เกือบจะทุกอย่างที่เราเห็นเขาทำได้แล้ว

เครื่อง POS หมายถึงเครื่องคิดเงินที่เป็นเหมือนตามร้านสะดวกซื้อใหญ่ๆ ยิงบาร์โค้ดเอา เป็นทั้งเช็กสต็อกและทำให้เราขายได้ง่ายมากขึ้น เช็กรายการย้อนหลังที่ลูกค้าซื้อไป แก้ไขราคาได้ตลอดเวลา แล้วก็สามารถหาคนมาขายแทนเราได้ด้วย

แต่ก่อนใช้เครื่องคิดเลข ข้อเสียของผม คิดๆ อยู่ผมติดเหม่อ คุยกับลูกค้า อันนี้คิดยังวะ เราก็ต้องมาคิดใหม่ บางทีลูกค้าอยู่กันเป็นชั่วโมงเลย ไม่ได้ติดใจอะไรที่ร้านหรอก คิดผิดคิดใหม่อยู่อย่างนั้น ทั้งจดเอยทั้งอะไรเอย แล้วลูกค้าก็ชวนคุยเก่งจัดเลย โอ้โห (หัวเราะ) แต่พอเริ่มมาเป็นเครื่อง POS เราสามารถไล่ทีละรายการได้ว่าเราคิดอันไหนไปแล้ว มันก็ง่ายกับเรา”


[ บริการ Delivery อยู่บ้านก็สั่งของได้ ]
อีกบริการที่ค่อนข้างตอบโจทย์คนในชุมชนคือ Delivery บริการส่งสินค้าถึงบ้านเพียงแค่ยกหูสั่งของ

“Delivery ตอนแรกยังไม่ทำจริงจัง ผมจะไม่ได้เป็นคนเก็บค่าส่งเองจะให้พี่วินมอเตอร์ไซค์ในซอยเป็นคนเก็บ เขาก็จะโทรมาสั่งกับผมแล้วก็ฝากให้วินไปส่งตามบ้าน แต่เคยมีลูกค้าเขาต้องการของด่วนๆ แล้วกลางวันวินมอเตอร์ไซค์ไม่ค่อยมี ผมก็เลยต้องขับไปส่งเอง หลังๆ พอเริ่มมีน้องเข้ามาช่วยผมก็ให้น้องขับไปส่งตามบ้าน ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Deliveryไปเอง

ส่วนใหญ่พี่วินเขาจะคิดประมาณ 10 บาท เราก็เห็นว่าจริงๆ เขาซื้อของเยอะนะ เจ้าใหญ่ๆ เขาก็มีฟรีค่าส่ง เราก็ไม่อยากให้ลูกค้าเสียค่าส่งมากกว่าเดิม เพราะว่าตอนนี้ค่าของชีพมันก็สูงขึ้น เราก็พยายามอันไหนลดได้ก็ลด

ตอนผมไปส่งผมก็จะมีขั้นต่ำอยู่ 100 บาทส่งฟรี แต่ถ้าน้อยกว่า 100 ผมก็คิดค่าส่ง 10 บาท ด้วยความที่วินไม่ค่อยผ่านไปผ่านมา แล้วเราก็ต้องขายหน้าร้านแล้วก็ต้องออกไปเรียกวินด้วย มันดูวุ่นๆ ยังไงก็ไม่รู้

บางทีลูกค้าคนที่ 1 สั่ง ผ่านไป 5 นาทีคนที่ 2 สั่ง วินออกไปแล้วก็ต้องมารอเรียกใหม่ ก็เลยตัดปัญหาด้วยการให้น้องออกไปส่งเองดีกว่า คิดว่าจะเพิ่มมุมมอง GoPro อยากติดอกแล้วเอาสินค้าไปส่งตามบ้านต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีเวลาทำเลยครับ”

และสำหรับลูกค้าผู้สูงอายุ มาอยากมาเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองก็มีบริการรับ-ส่ง จากบ้านมาที่ร้านอีกด้วย

“อันนี้จะเป็นลูกค้าตั้งแต่รุ่นย่า ผมก็ยังมีข้อเสียตรงที่ว่าลูกค้าต้องคิดเองว่าในร้านมีอะไรบ้างแล้วก็จดรายการมา บางทีอะไรแปลกๆ มาในรายการ ลูกค้าเขาก็เลยต้องการที่จะอยากมาเลือกของเอง แต่นั่งมอเตอร์ไซค์มาไม่ถนัดด้วยความที่สูงอายุ แล้วการที่นั่งมอเตอร์ไซค์ก็อันตราย ลูกค้าก็เลยใช้โทรสั่ง แต่ลึกๆ เขาก็อยากมาเลือกของเองที่ร้านมากกว่า

ผมก็เลยบอกกับเขาว่ารอบหน้าป้าโทร.ให้ผมรับก็ได้นะ แต่แกก็ติดเกรงใจเห็นเราทำหลายอย่าง แกก็เลยไม่อยากเรียก ทั้งๆ ที่เราก็บอกว่าเราเต็มใจไปรับนะ ไม่ได้คิดตังค์ไปรับไปส่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ได้แค่ไปส่ง แกผ่านมาก็มาลงที่ร้านเอา

ผมเพิ่งเอามอเตอร์ไซค์ไปทำรถซาเล้ง ผมเห็นว่าลูกค้าน่าจะนั่งได้สะดวกมากกว่านั่งคร่อมมอเตอร์ไซค์เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงด้วย แล้วก็อายุซัก 70+ ด้วยอายุเยอะมากแล้ว การขึ้นลงมอเตอร์ไซค์ 2 ล้อมันก็อันตรายสำหรับเขาด้วย

รุ่นนี้มาบ่อยแต่ว่าไม่ได้มีเยอะมาก ไม่ถึง 20 คน เพราะว่าส่วนใหญ่จะเริ่มเปลี่ยนรุ่นกันแล้วเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานมาซื้อแทน แล้วรุ่นเก่าส่วนใหญ่ก็จะมีแค่ไม่กี่คนที่ยังชอบทำกับข้าวอยู่ เอาจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีคนใช้บริการเท่าไหร่ ผมบอกลูกค้าปากต่อปาก ยังไม่ได้บอกเป็นข้อความลงไปใน LINE บอกแค่ลูกค้าที่สูงอายุ เฉพาะแค่ในซอย”



แถมร้านนี้ก็ตอบโจทย์ลูกค้าตลอดเวลา เพราะเปิด 24 ชั่วโมง อยากซื้อของเมื่อไหร่ก็มาได้ทุกเมื่อ

“โปรเจ็กต์เปิด 24 ชั่วโมง ผมไม่ได้เน้นยอดขายตอนแรกแต่ว่าไปเน้นเรื่องการเรียงของ เพราะว่าตอนนั้นของเต็มร้านเลยไม่มีทางเดิน ลูกค้าแหวกๆ เดิน มากจนมาคุยกับน้องๆ ว่าทำยังไงดี น้องบอกว่าผมอยู่ตอนกลางคืนไหวนะพี่ ผมก็บอกว่าถ้าอยู่ตอนกลางคืนไหวเปิด 24 ชั่วโมงเลยปะล่ะ เอ็งก็เรียงของไปอย่างเดียวเพราะว่าตอนกลางคืนลูกค้านานๆ จะเข้ามาที

ตอนแรกก็กลัว ผมก็มีทั้งปุ่มฉุกเฉินไว้ให้น้อง แต่ตอนนี้แบตก็หมดแล้ว (หัวเราะ) ผมก็มีของเอาไว้ให้น้องป้องกันตัวอยู่ แล้วก็มีตำรวจผ่านไปผ่านมาด้วย พี่ๆ ตำรวจที่ผมรู้จักเขาก็ถามว่าสรุปร้านเอ็งเปิด 24 ชั่วโมงเหรอ เขาก็คอยแวะเข้ามาช่วยดูให้

ตั้งแต่ทำร้านมากล้องวงจรปิดผมจับขโมยได้แค่ครั้งเดียว ตอนนั้นก็เป็นช่วง 2 ปีที่ผมทำร้าน เป็นคนขโมยหอยแครง โดนตอนนั้นก็งงเหมือนกัน แจ้งตำรวจจับเขาด้วย หอยแครงเขาเอาไปกินถ้วยเดียว ผมก็งงว่าเขาขโมยไปทำไม (หัวเราะ)

แต่ว่าตอนนั้นมีข่าวเรื่องเขาขโมยพัสดุด้วย ขโมยของในร้านเราด้วย แล้วก็ไปขโมยของตามร้านต่างๆ ละแวกเรา ร้านต่างๆ เขาก็คอยมาบอกเราว่าคนนี้เหมือนจะขโมยของนะ เราก็ระวังเป็นพิเศษครับผม”

และบริการใหม่คือการเป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ ที่สะดวกต่อคนที่อยากส่งของ แถมป๊อบก็ยังได้ขายสินค้าอื่นๆ เพิ่มไปด้วย

“เรื่องจุดรับ-ส่งพัสดุ เป็นจุดเริ่มต้นของแฟนที่อยากเปิดร้านเป็นของตัวเอง ก็เลยไปซื้อระบบรับ-ส่งพัสดุมา ผ่านไป 3 ปีแล้วก็ยังไม่ได้ทำร้าน ไหนๆ จุดรับ-ส่งพัสดุมันก็ไม่ได้กินพื้นที่มากมายก็ทำป้ายติดหน้าร้าน แล้วก็ใช้พื้นที่เล็กน้อยในร้านเพื่อคีย์รับ-ส่งพัสดุเอา มันก็เลยกลายเป็นการรวมบริการอยู่ในร้านเราไปเลย

สมมติลูกค้ามีพัสดุก็จะเอาพัสดุมาให้ผมคีย์เข้าระบบ ก็จะมีรถของบริษัทเข้ามารับไปส่งอีกทีนึง มันจะมีทั้ง Kerry Ninja ไปรษณีย์ จะมีหลายแบรนด์รวมอยู่ในระบบแล้ว แต่ว่าลูกค้าจะเป็นคนเลือกแบรนด์ไหน เหมือนเราเป็นตัวแทน

รายได้ที่ร้านรับ-ส่งพัสดุไม่ได้เยอะมากแต่ก็ได้ลูกค้า หมายถึงว่าลูกค้ามาส่งพัสดุ เราก็ได้ขายของไปด้วย หรือได้ใช้บริการอื่นๆ ตามไปด้วยเป็นลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างของผม ผมทำร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญฝั่งตรงข้าม มันก็เหมือนกับเป็นลูกโซ่ตามไปด้วยตรงที่ว่าผมได้ขายแฟ้บ ได้ขายน้ำยาปรับผ้านุ่มไปในตัว มันก็ช่วยๆ กันไปในนั้นด้วย”



การที่รุ่นของป๊อบได้เข้ามาดูแลร้านอย่างเต็มตัว ก็ส่งผลดีต่อร้านและลูกค้าในทุกด้าน

“เพิ่มมากกว่าแต่ก่อน อย่างบริการส่ง เราก็ไม่ต้องมานั่งรอลูกค้าตลอดเวลา บางทีลูกค้าเขาเหนื่อยๆ จากการทำงาน เขาสามารถกดสั่งสินค้าใน LINE ได้ แล้วเราก็เอาไปส่งให้ที่บ้าน ลูกค้าก็ไม่เหนื่อย เราก็ได้ขายของ

บางทีเขากลับมาดึกๆ สองสามทุ่มเขาก็อยากเข้าบ้านแล้วไม่อยากแวะที่ไหน หรือไม่ได้อยากมาเจอคนชุกชุม เขาก็ใช้บริการ delivery หรือมีลูกค้าที่อยากได้กับแกล้ม เขาก็ดื่มมาแล้วไม่ไหว การที่ขับรถมาซื้อของที่ร้านก็เป็นเรื่องที่ลำบาก ก็ใช้บริการให้เราไปส่งกับแกล้มที่บ้านได้

ผมเป็นคนแนวนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมาปรับตัวอะไรให้มากมาย พ่อเขาก็คอยสอนเรามาตั้งแต่เด็กเรื่องการบริการลูกค้า อย่าปล่อยให้ลูกค้าคอยนาน เวลาสมมติรับตังค์ ซื้อ-ขายของกันเสร็จแล้วเราก็ต้องขอบคุณที่เขาเข้ามาอุดหนุน

บางทีก็เคยเจอเหตุการณ์ที่ตึงๆ ไม่ได้มีลูกค้าเมาแล้วตลกอย่างเดียว ก็มีลูกค้าเมาแล้วก็พูดเสียงดัง ด่าก็มี เราก็ตีมึนไป ทำเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะว่าเราไปนั่งเถียงกับเขาคนเมามันก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น เราทำเป็นไม่ได้ยินก็คือจบ ก็คือผ่าน

แล้วเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดมากกับตรงนั้นด้วย มันไม่ได้ทำให้เรามีความสุข เราไปโฟกัสตรงที่ว่าตรงไหนทำให้เรามีความสุข ลูกค้าดีๆ เยอะมาก ไม่จำเป็นที่จะต้องไปโฟกัสกับแค่คนเมาไม่กี่คนครับผม”

เมื่อหนุ่มติดเล่นต้องพิสูจน์ตัวเอง

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ร้านชำแห่งนี้ดูแลโดยเจ้าของที่เป็นคนขี้เล่น จึงทำให้บรรยากาศภายในร้านไม่เครียด แต่บางครั้งก็ความขี้เล่นก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบด้วย

“แรกๆ ผมจะเล่นกับลูกค้าที่สนิท ก่อนยังไม่กล้าเล่น สมมติมีลูกค้า 10 คนก็จะมีลูกค้า 1 คนไม่รู้ว่าเราทำ TikTok แล้วก็ไม่รู้ว่าเราเป็นคนขี้เล่น บางทีแซวไปหน้าเขามุ่ยตุ้ยเลย

วันก่อนมีลูกค้ารถมอเตอร์ไซต์รุ่นเดียวสีเดียวเหมือนกับผม แล้วก็ล้มข้างเดียวมาเหมือนกันกับผมเลย ผมก็บอกให้น้องเอามอเตอร์ไซค์ของเราไปจอดข้างเขาแล้วก็สลับหมวกกัน แต่ทีนี้พอเราสังเกตหน้าเขาแล้วเหมือนว่าจะไม่เล่นเราก็ต้องรีบวิ่งไปขอโทษเขา บางทีเขาก็ไม่ได้อินกับเราด้วยขนาดนั้นแล้วก็ไม่ได้รู้จักเรา

แต่ถ้าเป็นลูกค้าเริ่มมา 2-3 ครั้ง เราว่าเขาน่าจะรู้จักเราแล้ว เราก็ค่อยเล่นกับเขา กลัวเขาโกรธ บางทีเขามาจากที่อื่นถ้าเราเล่นไปแล้วเขาโกรธ เราขอโทษเขาไม่ได้แล้วเพราะไม่เจอเขาอีกแล้ว บางทีเล่นไปโกรธไม่เข้ามาที่ร้านเลย”



และการที่ป๊อบมีนิสัยติดเล่นแบบนี้ ทำให้ช่วงแรกพ่อของเขายังไม่เชื่อใจที่ให้มาดูแลร้านสักเท่าไรนัก แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา การที่ร้านเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็เป็นคำตอบแล้วว่าลูกชายคนนี้สามารถสานต่อกิจการครอบครัวได้จริงๆ

“ช่วงแรกๆ ก็เรามาขอทำร้านต่อจากพ่อ พ่อเขาก็ก็ยังเห็นเราเล่นๆ อยู่ ยังไม่ได้ปล่อยเรา 100 เปอร์เซ็นต์ ค่อยๆ ปล่อยเรื่อยๆ จนเขาเห็นว่าเราตั้งใจทำจริงๆ แล้วเขาถึงจะปล่อยก็ใช้เวลาอยู่ ตอนนี้ก็ยังติดเล่นอยู่แต่มันเริ่มได้งาน (หัวเราะ)

แต่ก่อนผมเปิดร้านตีห้าปิดร้านสามทุ่ม ผมจะไปตลาดไปซื้อของสดตอนตีสี่ แต่พอเราติดเกม ติดเล่น ติดดูโทรทัศน์ จากปกติเราต้องตื่นตีสี่ เราไปตื่นตีห้า เวลาเปิดร้านก็ขยับมาเป็นหกโมง แทนที่เราจะได้จัดร้านได้ขายของตั้งแต่ตีห้า

ลูกค้ามาแล้วไม่ได้เจอเราเปิดร้าน มันก็เสียการเสียงาน พ่อเขาก็มีบ่นๆ แล้วเราก็ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขข้อเสียตรงนั้นไป จนมันเริ่มมีภาระมีอะไรมากขึ้น มันบีบให้เราต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง


ก็ติดเล่นเหมือนเดิม แต่ว่าตั้งแต่เปิดร้านมาก็มีช่วงปีหลังๆ ที่ได้รู้จักกับพี่ๆ ที่เขาเปิดร้านใหญ่ๆ เป็นร้านขายส่งที่เราไปรู้จักเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะคอยให้คำแนะนำเราในการทำร้าน ในการปรับปรุงร้านไปเรื่อยๆ เขาก็จะเป็นแรงบันดาลใจ

ผมเจอปัญหา ผมเครียด แต่พี่เขาเล่าปัญหาของเขาดูเป็นเรื่องเล็กไปเลย บางทีปัญหาของผมมันก็เลยดูซอฟต์ลงด้วยจากที่พี่ๆ เขาคอยให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนความรู้จากที่เขาได้รับมา”



ป๊อบ ยังได้ฝากมุมมองถึงการที่เป็นคนมีนิสัยติดเล่น ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในคราวเดียวกัน

“ที่เราติดเล่น เราก็จะไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ พอเราไม่ค่อยเครียด ลูกค้าที่เข้ามาในร้านมาซื้อของไม่เจอพ่อค้าหน้ามุ่ย เขาก็อยากซื้อกับเรา ต่อให้บางทีร้านเราร้อนก็เหอะ แต่เขามาเจอเรายิ้มแย้มเป็นกันเอง มันก็ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป ลูกค้าแฮปปี้ เขาก็กลับมาซื้ออีก ถ้าสมมติร้านก็ร้อน พ่อค้าก็หน้ามุ่ย พูดจาก็ไม่ดี ลูกค้าเขาก็ไม่อยากจะเข้ามาในร้าน

เหตุผลที่ปรับก็คือเรื่องการมีภาระเพิ่มขึ้น ติดเล่นก็ยังเล่นเหมือนเดิม แต่ที่ปรับเปลี่ยนไปคือเราเล่นเกมน้อยลง เพราะว่าเล่นเกมไม่ได้ทำให้เรามีรายได้ แล้วก็ไม่ได้ส่งผลดีกับอาชีพเรา คนอื่นเขาเล่นเกมแล้วได้ผลดี แต่ว่าของผมส่วนใหญ่เป็นข้อเสียซะมากกว่า (หัวเราะ) เพราะว่าอาชีพหลักๆ ของเราเป็นการขายของ

เคยไปซื้อของแล้วเจอพ่อค้านั่งเล่นเกมไม่สนใจลูกค้า มันก็ไม่ได้ทำให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการในครั้งถัดไป บางทีก้มหน้าก้มตาเล่นเกม ไม่ถามลูกค้าว่ารับอะไรดีครับ หาอะไรไม่เจอถามได้นะ ปล่อยให้ลูกค้าเดินหาของแล้วหาไม่เจอ ลูกค้าเขาก็เอือมระอาไปเอง ก็เลยเลิกเล่นเกม นี่ก็เลิกได้มา 2-3 ปีแล้ว

ผมไม่ได้โทษเกมนะ แต่มันอยู่ที่คนว่าจะใช้ตรงไหนให้เป็นประโยชน์ อย่างของผมมันไม่ได้ประโยชน์จากตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้โทษว่ามันเป็นข้อเสียของเกม ที่ผมพอเล่นแล้วมันติด มันจริงจังเกินไปจนทำให้การทำงานของผมมันเสียก็เลยเลิกเล่น”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย เจ้าของร้านชำสุดอารมณ์ดี ก็ฝากคำขอบคุณถึงลูกค้าและบรรดาแฟนๆ บน TikTok ส่วนใครที่อยากไปสัมผัสความฮาแบบตัวเป็นๆ ก็เรียนเชิญที่ร้านบุญสอาดได้ทุกเมื่อ

“ก็ไม่คิดว่าจะมีคนติดตามเราแล้วก็รู้จักเรามากขนาดนี้ ก็ขอบคุณมากๆ ถ้าไม่มีคนดูก็ไม่มีร้านบุญสอาดในวันนี้ ต้องขอบคุณมากๆ ครับ อยากให้แวะมา แต่ว่าเตี๊ยมกัน ส่งซิกกันมาก่อนก็ได้ว่าจะเล่นอะไร บางทีมายิงมุกสดเลยผมก็งงเหมือนกัน แต่ก็เข้ามาเล่นกันได้ครับผม”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...กดกระดิ่งรัวเพลงฉิ่งฉับ-หอบของจนกางเกงหลุด และอีกมากมายที่ใครเห็นเป็นต้องจำได้ @popbangpoon... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ดาวtiktok #tiktoker #contentcreator #บุญสอาด #ร้านชำ #popbangpoon #ธุรกิจ #ธุรกิจส่วนตัว #กล้องวงจรปิด #SME #SMEs #เส้นทางเศรษฐี #เถ้าแก่น้อย ♬ original sound - LIVE Style



สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live

เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ภาพ : กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Pop Eye” และ“ร้านบุญสอาด”
ขอบคุณสถานที่ : ร้านบุญสอาด ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น