xs
xsm
sm
md
lg

คาดการณ์เหลือประชากรในไทยแค่ 33 ล้านคน!! กูรูชวนมองอีกมุม “เด็กเกิดน้อย” ไม่ใช่ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พม.บอกอัตราการเกิดไทย “ติดลบ” เร่งทุกฝ่ายช่วยแก้ปัญหา ทำความเข้าใจทำไม “คนถึงไม่อยากมีลูก” นักวิชาการชวนมองอีกมุม “เกิดน้อยอาจไม่ใช่ปัญหา”

เจาะเหตุผล “เด็กแรกเกิดน้อย”

เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ตอนนี้ไทยนั้นเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว เหตุที่เป็นแบบนั้น ก็มาจาก อัตราการเกิดของเด็กไทยนั้น “น้อยลง”
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 400,000 กว่าคน แต่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 600,000 คน “ถือว่าติดลบ” ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ภายในเวลา 50-60 ปี ประชากรไทยลดลงเหลือ 33 ล้านคน

ปัญหานี้ต้องช่วยกันแก้ไขทุกภาคส่วน “ไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้มีจำนวนเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น” ตอนนี้เรากำลังมีปัญหาที่ คน“GenY”และ “GenZ” ไม่อยากจะมีครอบครัวและลูก

ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างสังคมให้มีความอบอุ่น มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ เพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกถึงความปลอดภัย และความอุ่นใจในการสร้างครอบครัวและมีลูกหลาน

ปัญหาอัตราการเกิดน้อย เป็นสิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ไม่ต่างกับไทย ทีมข่าวจึงขอให้ ผศ.ดร.ธนานนท์ บัวทอง จาก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น



“การมีลูกน้อย เป็นภาวะที่เป็นทั่วโลกนะครับ”ดร.ธนานนท์อธิบายว่า ทุกสังคมเริ่มจาก สังคมที่มีลูกเยอะ ความยากจนสูง การพัฒนาเศรษฐกิจต่ำ กลายเป็น ประเทศที่การพัฒนาเศรษฐกิจสูง รายได้สูงขึ้น แต่คนมีลูกน้อยลงเรื่อยๆ “มันเป็นสเต็ปแบบนี้ทั่วโลก”

“ถ้าพิจารณาในปัจจุบัน แต่จะประเทศจะเป็นไม่เท่ากัน แต่ท้ายที่สุด ทุกประเทศก็จะมีเด็กเกิดน้อยเหมือนกัน เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มันเปลี่ยนไป”

ปัญหาของเรื่องนี้อย่างหนึ่ง“เศรษฐกิจ”ที่นำไปสู่ “การเลี้ยงลูกมีต้นทุนที่แพง”และอีกด้านคือ “สังคมพัฒนาขึ้น”ทำให้คนมีวิถีชีวิตและค่านิยมที่เปลี่ยนไป คือ ชีวิตที่มีความสุข การมีลูกก็อาจไม่จำเป็นเสมอไป

“ในขณะที่มี เงินบำนาญ สวัสดิการ ที่ดีขึ้น สุดท้ายแล้ว ลูกก็อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ฉะนั้น ในหลายสังคม ผู้คนก็มีลูกน้อยลงๆ เป็นเรื่องปกติครับ”

ดร.ธนานนท์ วิเคราะห์มุมมองของ “คนที่ไม่อยากมีลูก”ว่า ต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “ไม่อยากมี” คนกลุ่มนี้เขาโตมาในค่านิยมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องบังคับเขา กับอีกกลุ่มคือ “อยากมี แต่มีไม่ได้” เพราะอุปสรรคบางอย่าง

อาจเพราะเรื่อง “ต้นทุนที่แพงเกินไป” “บาลานซ์ชีวิตกับงานไม่ได้” หรือปัญหาเรื่อง “บุตรยาก” ซึ่งคนกลุ่มนี้เองก็มีเยอะมากในสังคม “อันนี้ต้องสงเสริม ให้เขามีตามที่เขาต้องการให้ได้ ไม่ว่าด้วยนโยบายอะไรก็แล้วแต่”

                                                             {“ดร.ธนานนท์” ม.ธรรมศาสตร์}

ไม่ใช่ปัญหา ถ้าชดเชยด้วยเทคโนโลยี?

“การเกิดน้อย ในตัวมันเองนั้นไม่ใช้ปัญหา” นักประชากรจากธรรมศาสตร์ ท่านนี้บอกว่า “การลดลงอย่างรวดเร็ว” ต่างหากที่เป็นปัญหา ถ้าดูในยุโรป อัตราการเกิดของเขานั้น ค่อยๆ ลดลง จึงไม่ค่อยมีปัญหา

“พอลดลงอย่างช้าๆ เทคโนโลยีมันก็พัฒนา ความรู้ก็พัฒนา สุดท้ายจำนวนประชากรที่ลดลง มันถูกแทนด้วยเทคโนโลยี สังคมก็จะไม่มีปัญหา”

อย่างใน “ญี่ปุ่น” ที่มีปัญหาเชิงวัฒนธรรมซึ่งหนักกว่าไทยด้วยซ้ำ เพราะการแต่งงานวัฒนธรรมเขา คือต้องมีลูก ต้องดูแลบ้าน ดูแลพ่อ-แม่ สามี ขณะที่ตัวเองก็ต้องทำงาน

ทำให้ ผู้หญิงญี่ปุ่น ไม่อยากแต่ง ไม่อยากมีลูก เราจะเห็นว่า ประชากรผู้สูงอายุของเขา พุ่งสูงถึง 30-40% ของประชากรทั้งหมด“ซึ่งหนักกว่าเรา เพียงแต่เขาถูกชดเชยด้วยเทคโนโลยี”

ปัญหาของญี่ปุ่นจึง “ไม่แย่อย่างที่คิด” ถ้าเทียบกับจำนวนอัตราการเกิดที่ต่ำมาก เพราะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเงินมากพอที่จะ มาดูแลคนแก่ แรงงานและเด็ก



กลับมาที่ “ไทย” ดร.ธนานท์ บอกว่า เงินที่จะมาสนับสนุนเรื่อง การส่งเสริมให้คนมีลูก หรือเรื่องสังคมสูงวัย “เงินเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น” นี้เป็นสิ่งเราต่างจาก ญี่ปุ่น “ทั้งๆ ที่สถานการณ์ของญี่ปุ่นหนักกว่า ในเชิงอัตราการเกิด”

ดร.ธนานนท์ ให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้อัตราเฉลี่ยการมีลูกของไทย อยู่ต่ำกว่า 1.5 คน ถือว่าต่ำมากในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต่ำกว่า ประเทศใน ยุโรปบางประเทศเสียอีก

และอัตราการเกิดของไทยลดลงเร็วมากในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา ในขณะ การศึกษาและเทคโนโลยีของเราไม่ได้สูง ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาทดแทนจำนวนคนได้

อย่างที่บอกว่า “การมีลูกน้อยไม่ใช่ปัญหา” แต่ปัญหาจริงๆ คือ เราจะไม่มีคนที่ค่อยช่วยดูแล ผู้สูงอายุในปัจจุบัน และคนที่กำลังเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

“ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ เมืองไทยมีเวลเตรียมรับมือกันเรื่องนี้สั้น แม้เราจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศก็ตาม เราต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเรามีเวลาน้อย”



เรามีเวลาเตรียม “น้อยไป”?

ทำไมเรามีเวลาเตรียมรับมือเรื่องนี้น้อย? ดร.ธนานนท์ อธิบายว่า เราเริ่มพูดกันเรื่องจำนวนประชากร ครั้งแรกตอน พ.ศ. 2513 คือเรื่อง “เด็กเกิดเยอะเกินไป” จากนั้นเราก็พยายามเต็มที่เพื่อลดจำนวนด้วยการ “คุมกำเนิด”

หลังจาก 2543 เราก็คิดว่าเราเข้าสู่ สังคมสูงวัยแล้ว จากตอนนั้นถึงปัจจุบัน ทำให้ในระดับบุคคลมีเวลาเพียง 20 ปี ในการเตรียมตัวว่าจะอยู่ยังไงหลังเกษียณ ซึ่งเวลา 20 ปีก็ไม่ใช้เรื่องง่าย ซึ่งคนอายุ 40-50 ปี ตอนนี้ที่ก็ยังมีภาระต้องเลี้ยงดู พ่อ-แม่ ก็ไม่สามารถเตรียมตัวสำหรับการเป็น ผู้สุงอายุในอนาคตได้ดีพอ

ในภาพใหญ่ “ระดับสังคม”เพิ่งจะมีการพูดถึงสังคมสูงวัย เมื่อปี 2540 นี้เอง ทำการจะเปลี่ยนกฎหมายหรือโครงสร้างเพื่อรับกับปัญหาที่จะเกิดทำได้ไม่ทัน ขณะที่ ญี่ปุ่นเอง ตระหนักเรื่องนี้มากว่า 80 ปีแล้ว

“ผลกระทบจะแรงไม่แรง มันอยู่ระยาเวลาในการเปลี่ยนผ่าน การเตรียนมตัวของสังคม แต่ในยุโรปหรือญี่ปุ่น ปัญหานี้ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ถึงแม้จะมีเรื่อง สวัสดิการต่างๆ จัดให้อย่างดี”



ทางออกของปัญหานี้ แทนจะมุ่งเน้นในการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างเดี่ยว ซึ่งอาจารย์บอกว่า ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่ง “นโยบายส่งเสริมให้คนมีลูก” ไม่ช่วยให้ประชากรเพิ่มขึ้น มันทำได้แค่ชะลอ ไม่ให้อัตราลดลงเร็วเท่านั้น หรือดีสุดคือ ทำให้อัตราเกิดคงที่

สิ่งที่ควรทำคือ “ลงทุนในมนุษย์” แม้จำนวนการเกิดจะน้อยจริง แต่ถ้าต้นทุนดี และคนสามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ ปัญหาที่ตามมาก็จะน้อยลง

การลงทุนในมนุษย์ มีหลายแบบทั้งการทำให้ “เขาได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น” การลงทุนเรื่อง“สุขภาพ” ทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง เขาจะเป็นแรงงานที่ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น

“ในมุมผม แบ่งเป็น 3 ทาง คือ 1.ทำยังไงให้เด็กที่เกิดน้อย แต่ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ 2.ส่งเสริมให้คนที่อยากมี แต่มีไม่ได้ ให้เขาทำตามที่เขาต้องการได้ และ 3.คนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่มี เราก็ต้องเคารพและส่งเสริมเขาเช่นกัน”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น