“เราอยากให้คนหูหนวกได้ฟังเพลงด้วย” เปิดใจ “โอ - สุพิชญา” นักแสดงสาวมากความสามารถ ผู้ใช้ภาษามือถ่ายทอดคอนเทนต์ TikTok เติมสีสันให้โลกไร้เสียง พร้อมเผยเรื่องราวชีวิตสุดแกร่งในฐานะ “เด็ก CODA” ที่ทั้งพ่อและแม่เป็นคนหูหนวก
ได้พบแม่ที่จากไปอีกครั้ง ไวรัลน้ำตาท่วมโซเชียลฯ
ถ้าใครเคยดูโฆษณา “ถ้าได้โอกาสอีกครั้ง…คุณจะทำอะไร” (Quality Time, Again) ของ “ไก่ย่างห้าดาว” เมื่อกลางปี 2565 น่าจะจำ “โอ - สุพิชญา ณ สงขลา” นักแสดงสาวเจ้าของรอยยิ้มสดใส ผู้รับบทนำในโฆษณาชุดนี้
เธอยังเป็น Acting Coach และอินฟลูเอนเซอร์มากความสามารถ ที่โด่งดังจากการเป็น TikToker แห่งช่อง TikTok @okata_o ผู้แปลงเพลงฮิตให้เป็นภาษามือ ไม่ว่าจะเป็น เพลงยินดี จากละคร มาตาลดา เพลงกาลครั้งนึง - JUNENOM เพลงเจ็บเมื่อไหร่ - KRIST และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงการสอนคำศัพท์ภาษามือที่สนุกและเข้าใจง่าย
เหตุผลที่ทำให้เธอใช้ภาษามือได้อย่างคล่องแคล่ว นั่นก็เพราะเธอคือ เด็ก CODA (Child of Deaf Adults) หรือเด็กที่มีพ่อแม่เป็นผู้มีความบกพร่องด้านการได้ยิน
และผลงานโฆษณาที่ว่านั้น ก็สร้างจากเรื่องจริงของนักแสดงสาวผู้นี้ เธอสูญเสียคุณแม่ไปด้วยโรคมะเร็งเป็นเวลานับสิบกว่าปี แต่ได้มีโอกาสได้พบท่านอีกครั้ง จากเทคโนโลยีที่ทีมงานใช้ นำมาถ่ายทอดผ่านแว่น VR ทำเอาคนที่ได้รับชมต่างก็พากันซาบซึ้งไปกับเรื่องราว จนเสียน้ำตากันไปหลายลิตรเลยทีเดียว
“ที่มาที่ไปที่โอได้ไปถ่ายโฆษณาไก่ย่างห้าดาว เริ่มแรกโอมาจากการ Casting เหมือนกันค่ะ เขาให้ส่งเรื่องราวของผู้สูญเสียว่าเรามีคนที่สูญเสียมีใครบ้าง ถ้าจำไม่ผิดมี 54 เรื่อง แล้วก็เป็นเรื่องที่ได้รับเลือกจากตรงนั้น
เขาดูกันที่ข้อมูลของการมีรูปภาพหรือมีวิดีโอของคนที่สูญเสียไปแล้วค่ะ เอาจริงๆ ช่วงแรกๆ โอหาได้ประมาณแค่ 10 กว่ารูปเอง อีกวันนึงโอก็หาได้ 30 รูปแล้วยังไม่พอ เพราะพี่เขาต้องการรูปเยอะมากๆ โอเลยไปขอพ่อให้ช่วยหา พ่อก็หาไม่เจอ
โอก็เลยขึ้นไปขอแม่ที่โกศกับที่รูปเลย แล้วบอกว่า ‘แม่คะ หนูอยากเจอแม่มากๆ พี่เขาบอกแล้ว เขาจะทำเป็นแบบใส่ VR ให้เจอแม่นะ หนูอยากเจอแม่มากๆ แม่ช่วยหนูหาได้มั้ย’
อีกวันนึงพ่อไปหาเจออีก 2 ลังใหญ่ รูปรวมๆ ได้กว่า 2,000 รูป แล้วก็มีเป็นวิดีโอเทปที่อัดไว้ที่เป็นวิดีโอแคมอีก 14 ม้วนที่เป็นของแม่ล้วนๆ ก็เลยรู้สึกว่าดีใจมากๆ แล้วส่งไปก็เลยได้โฆษณานี้ค่ะ”
แม้จะได้รู้มาจากทีมงานว่าจะได้พบคุณแม่ แต่เธอก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าจะเป็นการพบกันในรูปแบบไหน และจากที่เราได้เห็นกันในโฆษณา ที่เป็นการสร้างคุณแม่ของนักแสดงสาวขึ้นมาจากเทคโนโลยี แต่ก็เรียกได้ว่าสมจริงอย่างมาก ถึงขนาดที่ตัวเธอเองยังบอกว่า “เหมือนเขามานั่งหายใจอยู่ตรงหน้า”
“เขาบอกว่าจะได้เจอคุณแม่ค่ะ แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะได้เห็นเป็น VR หรือว่าจะได้เห็นเป็นยังไง ตอนแรกที่โอเข้าใจคืออาจจะเหมือนของที่เกาหลีค่ะ ที่ใส่แล้วเห็นเขาเป็นภาพแบบ The Sims แค่นั้นโอก็ดีใจแล้ว
แต่ว่าพอได้เห็นจริงๆ กลายเป็นว่าเหมือนเขามานั่งหายใจอยู่ตรงหน้าเรา เราเลยแบบ… ร้องไห้โฮ ไม่ไหวเลย ทั้ง story ทั้งเรื่องราวตรงนั้น เป็นเรื่องจริงของโอ แล้วก็ความรู้สึกตรงนั้นก็เป็นความรู้สึกจริงๆ ของโอค่ะ
เขา react กับเราได้ อาจจะเป็นที่เขาคิดคำมาว่าเขาจะ react อะไรบ้าง คำแรกที่ทุกคนอาจจะเห็นก็คือ ‘สบายดีมั้ย’ ใช่มั้ยคะ แล้วก็คำถัดไปก็คือ ‘หิวรึเปล่า’แต่จริงๆ ที่ทุกคนอาจจะยังไม่ได้เห็น มีอีกคำนึงค่ะว่า ‘แม่ก็คิดถึงหนูเหมือนกัน’ แล้วเขาไปทำเป็นภาษามือ เราก็ตุยรอบ 2 ค่ะ (หัวเราะ)
เราคิดถึงเขามากเพราะเขาเสียไปตั้งแต่โออยู่ ม.1 สิบกว่าปีที่ไม่ได้เจอเขาแล้วได้เจอเขาอีกครั้งนึง แล้วเหมือนเขามานั่งหายใจกับเรา เราเลยแบบ… ดีใจมากๆๆ จนไม่รู้จะอธิบายยังไงเลยค่ะ ต้องขอบคุณทางพี่ๆ ทีมงาน ทั้งลูกค้า ทั้งพี่เอ๋ผู้กำกับเลย ทุกคนจริงๆ ที่ให้โอกาสโอได้เจอคุณแม่อีกครั้งนึงค่ะ”
“เด็ก CODA” แตกต่างที่แสนพิเศษ
“โอเกิดมามีคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนหูหนวกทั้งคู่ค่ะ ก็เลยเป็นที่มาที่ไปของการเรียกว่าเด็ก CODA ก็คือเด็กที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนหูหนวก ตอนแรกโอก็ไม่รู้หรอกค่ะว่าโอแตกต่างจากคนอื่นเขา โอแค่รู้สึกว่านี่คือพ่อเรานะ และนี่คือแม่เรานะ แต่พอไปโรงเรียนเราถึงได้รู้ว่าพ่อแม่คนอื่นเขาพูดได้ พ่อแม่ของเราพูดไม่ได้
แต่ถ้าถามว่าเรารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมั้ย รู้สึกว่าเราไม่เท่าคนอื่นมั้ย โอว่าโอไม่ได้รู้สึกถึงตรงนั้นเลยค่ะ เพราะว่าความรัก การดูแลที่เขาให้เรา มันเต็ม มันไม่ได้ขาดหายอะไร ไม่ได้ต่างจากคนที่มีพ่อแม่ปกติทั่วไปเลย”
การที่เป็นเด็ก CODA เช่นนี้ แน่นอนว่าต้องมีหลายคนอยากรู้เรื่องราวของการเติบโตและพัฒนาการวัยเด็กของโอและน้องสาว นอกจากคุณพ่อคุณแม่ที่คอยมอบความรักและสอนภาษามือให้แล้ว ก็ยังมีคุณปู่คุณย่าที่ช่วยกันดูแลควบคู่กัน
[ ครอบครัว “ณ สงขลา” ที่แสนอบอุ่น ]
“ในส่วนของการพูด โอจะมีคุณปู่คุณย่าคอยสอนให้ฝึกพูดค่ะ แล้วก็มีคุณพ่อคุณแม่คอยสอนด้านภาษามือให้โอใช้อีกทีนึงค่ะ โอเลยพูดได้แล้วก็ใช้ภาษามือได้ค่ะ โอมีพี่น้อง 2 คนคือตัวโอ แล้วก็มีน้องสาวอีกคนนึง น้องแจน ถูกเลี้ยงมาแบบเดียวกันค่ะ จริงๆ ทั้งคุณปู่คุณย่าแล้วก็คุณพ่อคุณแม่ช่วยเลี้ยงเจ้าโอ เจ้าแจนมาตั้งแต่เด็กจนโตเลยค่ะ
ถ้าถามว่าการเป็นหูหนวกติดต่อจากพันธุกรรมมั้ย มีแบ่งได้เป็น 2 แบบค่ะ ถ้าสมมติว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่หูหนวกตั้งแต่กำเนิดเลย ลูกที่เกิดมาอาจจะมีสิทธิหูหนวกตามเหมือนกัน
แต่ว่าในกรณีของโอ คุณพ่อกับคุณแม่โอไม่ได้หูหนวกตั้งแต่กำเนิดค่ะ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินว่าอย่าปล่อยให้เด็กทารกไข้ขึ้นสูงนะ ไม่งั้นเดี๋ยวหูดับ พ่อโอเป็นในกรณีนั้น ยาสมัยก่อนมันมีเอฟเฟกต์ทำให้เด็กน้อยๆ หูดับ
ส่วนคุณแม่คือเกิดจากอุบัติเหตุค่ะ ตอนซักประมาณ 2-3 ขวบ เขาอมช้อนกลางแล้ววิ่ง พอหกล้มปุ๊บ ลิ้นไก่ก็เลยขาดแล้วก็กระทบกระเทือนเรื่องหูไปด้วย เลยไม่สามารถพูดได้ ฉะนั้นเขาก็เลยไม่ได้หูหนวกตั้งแต่กำเนิดค่ะ”
จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สอนภาษามือให้ เธอเรียนรู้สิ่งนี้มาพร้อมๆ กับการพูด และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นด้วยเพราะคุ้นเคยมาตั้งแต่จำความได้
“เบสิคที่โอได้มาทั้งหมดมาจากคุณพ่อคุณแม่ล้วนๆ ค่ะ ไม่ได้ไปเรียนที่ไหนเพิ่มเลย โอสื่อสารภาษามือกับคุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งแต่… เท่าที่จำความได้ก็น่าจะ 3-4 ขวบ พร้อมๆ กับพูดเลยค่ะ เพราะว่ามันก็คือภาษาพ่อภาษาแม่ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มันกลืนไปเลย ทั้งพูดไปด้วย ทั้งภาษามือไปด้วย เป็นธรรมชาติรวมกันเลยค่ะ
โอก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แตกต่าง แล้วเรามีเพื่อนที่ดีด้วยค่ะ ถามว่ามีคนบูลลี่เราตอนเด็กๆ มั้ย ก็มีค่ะ เพื่อนเคยร้องเพลงแกล้งว่า ‘ไอ้ใบ้นอนตายอยู่ที่ใต้สะพานลอย’ แล้วเขาตะโกนคำว่า ‘ไอ้ใบ้ๆๆ’ ใส่หูเรา แต่ยังดีที่ยังมีเพื่อนคอยบอกว่า ‘ไอ้นี่เป็นคนล้อเลียนโอนะ คุณครูไปดุคนนี้หน่อย’ แล้วก็จัดการจนจบ จนเคลียร์ แล้วที่เหลือก็แฮปปี้ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันแล้วค่ะ
แต่ว่าพอโตขึ้นมาทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขาก็เห็นว่าเราเป็นเด็ก CODA เรามีความสามารถ เขาก็เลยให้ทุนเราไปเรียนต่อ ป.บัณฑิต เป็นภาคพิเศษค่ะ ป.บัณฑิต ล่ามภาษามือค่ะ เรียน 8 เดือน”
และการใช้ภาษามือได้ กลายมาเป็นความสามารถพิเศษ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตได้อีกด้วย
“โอรู้สึกว่าการใช้ภาษามือได้ของโอ มันเป็นความสามารถพิเศษ คือสิ่งพิเศษที่โอมีด้วยซ้ำ เพราะโอเอาไปสอนเพื่อนๆ เพื่อนก็สนุกกันในห้องเรียน แล้วเพื่อนๆ ก็เข้ามาถามว่า ‘โอๆ ภาษามือนี้ใช้ยังไง อยากรู้จังเลย’
ถ้าเอาเป็นสนุกกันเลยนะ เวลาครูเขียนกระดานก็จะหันหลัง ไม่ได้มองนักเรียน แล้วเด็กๆ พอใช้ภาษามือได้มันก็จะใช้ภาษาว่ากันในห้องเรียนข้ามไปข้ามมา พอครูหันมาปั๊บ นิ่ง แค่นี้เราก็สนุกแล้วค่ะ เพื่อนก็ชอบ ก็อยากรู้กันว่าภาษามือคำนี้เป็นยังไง อยากรู้อะไร เราก็เอาพจนานุกรมภาษามือที่พ่อวาดมาตั้ง แล้วให้เพื่อนหาเอาเองเลย
มีเหตุการณ์ตอนมัธยม น้องสาวโอจะอายุห่างจากโอ 4 ปี โออยู่ ม.ปลาย น้องก็จะอยู่ ม.ต้น เข้าแถวเคารพธงชาติมันจะอยู่คนละฝั่งสนามฟุตบอล เวลาจะคุยโทรศัพท์เมื่อก่อนถ้าโทร.เกิน 1 นาทีเราต้องจ่ายตังค์ แต่แค่ประมาณ 10-15 วิจะไม่เสีย
โอก็แค่โทรหาน้อง ‘แจน มองพี่หน่อย’ น้องบอกโอเค แล้วก็วาง แล้วก็คุยภาษามือกันข้ามสนามฟุตบอล เพื่อนๆ ทั้งข้างหลังโอแล้วข้างหลังน้องก็งงว่าคุยอะไรกันวะ อยากรู้แต่ว่าทำอะไรไม่ได้ เพื่อนไม่รู้ เราก็ทำกันสนุกๆ ตรงนั้น
แล้วก็มีอีกอันนึงจะเป็นวันที่ไปเรียนพิเศษ พ่อกับน้องอยู่คนละฝั่งตึกเลย โอก็อยู่อีกตึกนึง ก็คุยภาษามือข้ามตึกกันค่ะ ไม่เจ็บคอ แล้วก็ไม่เสียค่าโทรศัพท์ด้วยค่ะ (หัวเราะ)”
“ภาษามือ” ในวงการบันเทิง
เมื่อถึงเวลาที่ต้องก้าวเข้าสู่รั้วมหา’ลัย ด้วยเพราะชื่นชอบในการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก โดยมีคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจ เธอจึงเลือกเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ เอกคหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ของโอ เรียนคณะวิทยาศาสตร์ เอกอาหารและโภชนาการ จะเป็นทางฝั่งวิทยาศาสตร์แล้วก็ทำอาหารไปด้วย โอเรียนด้านนี้เพราะว่าเมื่อก่อนตอนอยู่กับคุณแม่ คุณแม่เขาทำอาหารอร่อย โอรู้สึกว่าอยากเป็นเหมือนคุณแม่บ้าง อยากทำอาหารเป็น อยากเรียนเกี่ยวกับอาหาร ก็เลยเรียนค่ะ
จริงๆ ตั้งแต่จบมาโออยากเป็น QC ทำงานในโรงแรม ไม่ได้คิดว่าจะมาด้านงานแสดงเลย ต้องบอกว่าไม่ตรงสายเลยค่ะ แหกคอกขั้นสุด แต่ว่าโอรู้สึกว่าโอสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ความรู้มันไม่สิ้นสุดค่ะ ใน Internet ก็มี มีผู้ใหญ่ที่เขาคอยเอ็นดูเรา คอยให้ความรู้เราเรื่อยๆ สามารถถามในสิ่งที่เราไม่เข้าใจได้อยู่แล้วค่ะ เราก็คอยพัฒนาตัวเองเพิ่มอยู่แล้วค่ะ”
แต่หลังจากที่จบการศึกษามาแล้ว ก็เป็นช่วงเดียวกับที่คุณพ่อป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โอต้องทำหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายเดือน จึงต้องเลือกทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ที่สามารถจัดสรรเวลาได้สะดวกกว่า
“ในตอนแรกที่โอมีความสามารถด้านภาษามือ โอแค่คิดว่าเราช่วยคุณพ่อได้เราก็ดีใจแล้ว เพราะว่าโอก็เป็นตัวกลางที่คอยเป็นวุ้นแปลภาษาให้พ่อ เวลาพ่อไปธุระ ไปติดต่อราชการ ไปซื้อของต่างๆ
ต้องบอกก่อนว่าคุณพ่อโอตอนโอเรียนจบ คุณพ่อโอไม่สบายเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปกองในไขกระดูกสันหลัง เราก็ไม่สามารถไปหางานได้ เพราะช่วงนั้นที่เขาป่วยหนักๆ เราต้องคอยดูแลเขาตลอด เข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ตี 5 กลับมาที่บ้านก็ 4 ทุ่ม แล้วก็ไปตี 5 อีกทีทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนเลย อันนั้นคือตอนอยู่โรงพยาบาล
แต่ว่าออกจากโรงพยาบาลแล้วเขาก็ต้อง follow up เรื่อยๆ ซึ่งหมอเขานัดประมาณ 3-4 วันต่ออาทิตย์ ซึ่งไม่มีที่ทำงานที่ไหนเขาจะให้เราลา 4 วันต่ออาทิตย์อยู่แล้วค่ะ ฉะนั้นโอก็เลยเลือกที่จะทำงานด้านฟรีแลนซ์แทน”
ในช่วงที่เป็นฟรีแลนซ์นั้น เธอก็ได้มีโอกาสทำงานที่ต้องใช้ภาษามือ แถมฟีดแบคในตอนนั้นก็ยังดีเกินคาด จนกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนหูหนวก โอจึงนำความสามารถพิเศษนี้ มาต่อยอดบนช่อง TikTok @okata_o ของตนเอง
“โอทำมาประมาณ 3-4 ปีแล้วค่ะ งานภาษามืองานแรกที่โอได้จะเป็นของ Wongnai เป็นสอนภาษามือสำหรับไปเที่ยว ไปที่ไหน ยังไง ถ้าสมมติว่าคุณเจอคนหูหนวก คือโอมีเพื่อนที่อยู่ใน Wongnai แล้วเขาก็จำได้ว่าโอมีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนหูหนวกนี่นา ก็เลยไปทำกับเพื่อน แล้วก็ได้งาน Wongnai เป็นภาษามือยาวๆ เลย
กลุ่มเป้าหมายเขาไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นคนหูหนวกอย่างเดียวค่ะ คนหูหนวกก็ได้ผลพลอยได้ที่ว่าให้คนได้รู้จักว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วย แล้วคนหูดีก็รู้สึกสนใจในภาษามือ เพราะเอาจริงๆ คนหูดีเขาสนใจในภาษามือเยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหนดี
ของ Wongnai ตอนนั้นคลิปแรกจำได้ว่ายอดวิวน่าจะแตะ 2 ล้านภายในประมาณ 2-3 วัน เรารู้สึกว่าแบบ… มันเจ๋งขนาดนั้นเลยเหรอ มันว้าวขนาดนั้นเลยเหรอ เรารู้สึกดีใจที่คนสนใจภาษามือขนาดนี้
เป็นคลิปที่ทำให้คนหูหนวกรู้จักโอด้วย ถ้าเดินออกไปข้างนอกเจอคนหูหนวกเขาจะทักแล้วว่า ‘ชื่อโอใช่มั้ย เราเคยเห็นเธอในเฟซบุ๊กนะ เรากดติดตามเธออยู่นะ กดไลก์ตลอดเลย ขอถ่ายรูปด้วยได้มั้ย’ อย่างนี้ค่ะ ตลอดเลย
เราก็เลยคิดว่าเอามาทำของตัวเองด้วยดีกว่า คนอื่นน่าจะสนใจ เราก็อยากให้คนหูหนวกได้ฟังเพลงด้วยค่ะ เรารู้สึกว่าภาษามือที่พ่อกับแม่ให้มามันก็เป็นความสามารถพิเศษ เราก็สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้รับรู้ ได้รู้จักคนหูหนวกได้ด้วย นั่นแหละคือสิ่งที่เรามี ของดีของเราค่ะ”
ด้วยเพราะอยากให้คนหูหนวก ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อบันเทิงมากขึ้นบ้าง เจ้าของช่อง TikTok @okata_o จึงนำเพลงฮิตติดกระแสในช่วงนั้นๆ มาแปลงเป็นภาษามือ ที่ต่อมาก็กลายเป็นไวรัลในหลายเพลง ที่ไม่เพียงแค่ถูกใจคนหูหนวกเท่านั้น แต่เป็นการทำให้คนหูดีหันมาสนใจและอยากเรียนรู้ภาษามือมากขึ้นอีกด้วย
“ที่โอแปลเพลงมาทำเป็นภาษามือ หลักๆ โอแค่คิดว่าทำไมเขาไม่เอาภาษามือมาแปลเป็นเพลงบ้างเลยล่ะ คนหูหนวกเขาก็อยากฟังเพลงเหมือนกันนะ โอก็เลยว่าไหนๆ ไม่มีใครแล้ว แล้วโอก็ทำได้ด้วย โอก็เลยลองทำดูค่ะ
ปรากฏว่าฟีดแบคที่กลับมามันดี แล้วคนสนใจเยอะค่ะ มีแต่คนบอกว่าเจ๋ง ทำไมทำได้ สอนให้หน่อยได้มั้ย บางคนเขาก็บอกว่าเราอยากเรียนภาษามือมานานแล้ว ไม่เห็นมีที่เรียนเลย สอนเราหน่อยได้มั้ย แล้วก็อยากรู้จักภาษามือมากขึ้น
ตอนแรกเลยตอนนั้นที่โอทำ ความคาดหวังของโอมีแค่โออยากให้คนหูหนวกได้รู้จักเพลงบ้างก็เท่านั้นค่ะ แต่หลังๆ มารู้สึกว่ามันมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นจากยอดวิว ยอดไลก์ คอมเมนต์ต่างๆ ที่เขาชื่นชมมา เราก็เลยอยากทำสิ่งดีๆ ต่อให้อีกค่ะ”
ไม่เพียงแค่อยู่หน้ากล้องเท่านั้น แต่นักแสดงสาวผู้นี้ยังอีกบทบาท คือการเป็น Acting Coach ให้กับนักแสดงคนอื่นๆ รวมถึงงานเบื้องหลังอื่นๆ อีกด้วย
“จุดเริ่มต้นตอนนั้นโอมีโอกาสได้ถ่ายรูป portrait แล้วทางพี่ตากล้องก็เห็นว่าเราลุคได้ ก็เลยให้เราไปถ่ายโฆษณา เรารู้สึกว่าการถ่ายตรงนี้ ชอบถ่ายตรงนี้ แล้วรู้สึกว่าหน้ากล้องมันสนุก
โอก็เลยไปเรียนการแสดงเพิ่ม ตอนแรกเรียนของ ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) แล้วก็มีไปเรียนของ ครูร่ม (ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์) แล้วตอนนี้ก็คือได้โอกาสจาก คุณชายอดัม (ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล) คอยสอนการแสดงเรื่อยๆ ค่ะ
มีผู้ใหญ่ให้โอกาสได้แสดงเรื่อยๆ ก็เลยอยู่ตรงนี้ยาวเลย เพราะว่ารู้สึกว่าสนุกและสามารถ manage เวลาดูแลคุณพ่อได้ด้วย อยู่แล้วสบายใจค่ะ เอาจริงๆ โอยังไม่เคยเป็นตัวหลักในการแสดงเลย โอก็อยากที่จะได้เป็นตัวหลัก แล้วก็อยากที่จะมีซักบทนึงที่โอได้ใช้ภาษามือของโอ ความเป็น CODA ของโอในการแสดง ก็ฝากผู้ใหญ่ด้วยนะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ (ยิ้ม)
โอทำหน้ากล้องก็จริง แต่ว่าหลังกล้องโอก็ทำค่ะ ล่าสุดโอก็เป็น Acting Coach สอนภาษามือให้ทางนักแสดงของทางช่อง GMM คือ เจมีไนน์ (นรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์) และ โฟร์ท (ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล)
ซึ่งตัวเจมีไนน์เขาแสดงเป็นคนหูหนวก แล้วโอก็เป็น Acting Coach ในการใช้ภาษามือและเป็นคนหูหนวกได้สมบูรณ์ค่ะ อีกอันก็จะเป็น KOL และเป็นล่ามภาษามือในซีรีส์ช่อง Viu โอก็เป็นในนั้นด้วยค่ะ”
กระบอกเสียงเพื่อคนหูหนวก
การทำคอนเทนท์ภาษามือบนช่อง TikTok @okata_oนอกจากจะช่วยให้คนหูหนวกมีช่องทางเพิ่มเติมในการเสพสื่อแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าชื่นใจก็คือ ทำให้คนหูดีสนใจภาษามือถึงขนาดที่ว่าไปเรียนต่อก็มี
“ตอนแรกโอก็เล่น TikTok ตามกระแส มีเต้นๆ เล่นๆ บ้าง แต่โอรู้สึกฉุกคิดขึ้นมาว่า คนหูหนวกเขาไม่เคยได้ฟังเพลง ไม่รู้ว่าความหมายเพลงมันเป็นยังไง โอก็เลยแปลเพลงลงเป็นคอนเทนต์ใน TikTok ค่ะ พอเห็นว่ามีคนสนใจ โอก็เลยทำทั้งสอนภาษามือ แปลเพลงไปด้วย แล้วก็ทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับภาษามือด้วย บางทีก็มีลูกค้าให้แปลเป็นภาษามือในการรีวิวก็มีค่ะ
พอมีฟีดแบคกลับมาตรงนั้น โอก็คิดว่ามันเป็นช่องทางนึงที่สามารถทำให้เราโตขึ้นได้ แล้วก็คิดว่ามันก็เป็นอีกเสียงนึง เป็นอีกช่องทางนึงทำให้คนหูหนวกได้รู้จัก แล้วก็ทำให้คนหูดีได้รู้จักคนหูหนวกมากขึ้น
เวลาโอไลฟ์ ก็จะมีคนเข้ามาถามเรื่อยๆ ว่าเราไปเรียนภาษามือได้ที่ไหนบ้าง มี 2 ที่ที่โอแนะนำก็คือ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล อีกที่นึงจะเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต 2 ที่นี้จะเป็นหลักสูตรปริญญาตรี เรียน 4 ปี
ก็มีน้องๆ ที่เขาสมัครไปเรียนเพราะเห็นว่าพี่โอแนะนำ อยากเรียนล่าม เท่าที่ดูก็ประมาณ 5-6 คนเข้าไปแล้วค่ะ เราก็รู้สึกว่าดีใจจังที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้น้องได้เรียนค่ะ
ง่ายๆ เลยก่อนที่จะมีไก่ย่างห้าดาว ทุกคนยังไม่มีความสนใจด้านภาษามือมากเท่าไหร่ แต่ว่าพอหลังจากโฆษณาออกไป มันทำให้ทุกคนตระหนักในภาษามือมากขึ้น รู้ว่ามีคนกลุ่มนี้มากขึ้น เริ่มมีบทแสดงที่เป็นภาษามือ มี subtitle มีคนสนใจว่าช่องเล็กๆ นั้นมันต้องใหญ่ขึ้นนะ ทำไมเวลาจำกัดตรงนั้น มีคนที่สนใจเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบจากเมื่อก่อนค่ะ”
เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ผู้คนได้รู้จักภาษามือมากขึ้น ถือว่าเป็นความความสำเร็จแล้วหรือไม่ นักแสดงสาวก็ตอบกลับมาว่า ฟีดแบคที่ได้กลับมาคือบันไดอีกขึ้นหนึ่งที่ทำให้เธอต้องก้าวต่อไป เพราะความจริงสังคมยังไม่เข้าใจคนหูหนวกเท่าที่ควร
“การทำ TikTok แล้วมีคนสนใจ โอคิดว่ามันก็ประสบความสำเร็จไประดับนึง แต่ถ้าถามว่ามันจุดสูงสุดของโอรึยัง มันก็ไม่ได้สุดขนาดนั้นค่ะ เพราะว่ายังมีคนอีกมากที่ยังไม่เข้าใจคนหูหนวก ยังเรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้ ยังมีคนที่ไม่เข้าใจว่าอยู่ๆ เขาไปสะกิด พวกนี้คุยภาษามือ เขาคุยอะไรกัน หงุดหงิดเขาก็มี
ที่สำคัญเวลาคนหูหนวกเขาไปหาหมอ บางทีเขาก็จะถือโทรศัพท์ไปด้วย เพราะว่าเขาจะมีบริการล่ามภาษามือในมือถือ แต่ว่าทางโรงพยาบาลจะห้ามว่าไม่ให้ถ่ายรูป ไม่ให้ถือวิดีโอขึ้นมาคุย
คนหูหนวกไม่ได้เอาไปถ่ายหรืออัดวิดีโอ แต่นี่คือวุ้นแปลภาษาของเขา ถ้าเขาไม่ได้เอาไป คุณหมอก็จะไม่เข้าใจว่าคนหูหนวกเป็นอะไร เจ็บป่วยตรงไหน คนหูหนวกก็จะไม่สามารถบอกคุณหมอได้ว่าตัวเองป่วยหรือเป็นยังไง คุณหมอก็ถามไม่ได้
ฉะนั้นอยากให้ทางโรงพยาบาลหรือพี่ๆ คุณหมอทุกท่านได้รู้ว่า ถ้ามีคนหูหนวกถือโทรศัพท์ไปแล้วบอกว่า คุยกับในนี้หน่อยนะ คุณหมออย่าเพิ่งบอกว่าไม่ได้ จะมีแอปพลิเคชัน TTRS หรือว่าล่ามแปลภาษาที่คอยช่วยให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารกับภายนอกได้ เขาจะคอยช่วยให้คุณหมอกับคนไข้สามารถสื่อสารกันได้”
และจากที่เราได้เห็นกันว่าล่ามภาษามือบนฟรีทีวี มักจะเป็นช่องเล็กๆ อยู่มุมหน้าจอ ที่จะได้เห็นเพียงช่วงข่าว อีกทั้งยังกำจัดเวลาต่อวัน ทำให้โออยากจะเป็นกระบอกเสียงส่งต่อไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่คนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมจะมีความสุขกับสื่อสาธารณะอื่นๆ เพิ่มขึ้นบ้าง
“สื่อที่คนหูหนวกสามารถเห็นได้จริงๆ ก็แค่ในข่าวเท่านั้น ซึ่งเป็นสื่อที่คนหูดีจำกัดให้คนหูหนวกได้รับรู้ว่าเขาควรได้รับรู้ข่าวนะ แล้วล่าสุดโอได้ไปประชุม ไปคุยกับ กสทช.มีความเห็นว่าจะเพิ่มเวลายังไงบ้าง
เหมือนพี่ๆ เขาเห็นว่าโอเป็น KOL แล้วก็มีชื่อด้านภาษามือ สามารถสื่อสารได้ แล้วก็เป็นเด็ก CODA ด้วย เขาก็เลยเชิญไปเป็นตัวแทนของเด็กที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนหูหนวก ว่ามีความเห็นยังไงกับสิ่งนี้ค่ะ
ก่อนหน้านี้เขากำหนดให้ช่องทีวีมีภาษามือแค่วันละชั่วโมงเท่านั้นเอง ลองคิดดูว่าเราคนหูดีได้รับรู้ข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่ว่าคนหูหนวกได้รับเขากำหนดให้มากสุดแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน มันน้อยมากเลยค่ะ
สิ่งที่มา support คนหูหนวกอย่างน้อยๆ เลย อยากให้ ทีวีทุกช่องมี subtitle ไม่ว่าจะรายการสดหรือว่ารายการที่ถ่ายก่อนแล้วมาฉายให้ดู มันจะช่วยให้คนหูหนวกเข้าใจข่าวมากขึ้น
และถ้าให้ดีที่สุดจริงๆ ก็อยากให้มีล่ามในทุกช่อง ทุกรายการค่ะ เพราะว่าคนหูหนวกเขาก็อยากมีความสุขกับรายการ reality มีความสุขกับละคร หนัง หรือซีรีส์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องนั่งดูข่าวหรือนั่งดูสภาทั้งวัน เขาก็เบื่อเป็นเหมือนกัน เขาก็อยากที่จะดูสิ่งบันเทิงแบบนี้เหมือนกัน อยากฝากทุกคนค่ะ”
ทุกวินาทีสำคัญ เพราะความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม…
นอกจากการเป็นนักแสดง อีกบทบาทสำคัญคือการทำหน้าที่ลูกสาวสุดแกร่ง ที่ทั้งทำงานและดูแลคุณพ่อที่เคยป่วยหนักจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
“มะเร็งตัวที่คุณพ่อเป็นจะเป็นชนิดแฮรีเซลล์ (hairy cell) จะมีแค่ระยะเดียวเท่านั้น ดีที่ของพ่อเขาเป็นชนิดโตช้า แต่ก็หายช้าด้วย แล้วดีที่คุณหมอเขาเจอวิธี ตัวยาที่สามารถฆ่าตัวมะเร็งนี้ได้ ก็เลยหายใน 2-3 ปีหลังจากที่พบค่ะ
ตอนนั้นน้องสาวโอก็เพิ่งขึ้นปี 1 เองค่ะ แล้วน้องเขาเรียนไกลบ้าน น้องไปนอนหอพักด้วย ก็ไม่สามารถเข้ามาช่วย คอยดูแลคุณพ่อได้ ก็จะเป็นโอคนเดียว หลักๆ ทั้งหมดที่จะคอยดูพ่อเรื่องยา เรื่องนัดหมอ ทุกอย่างทั้งหมดของคุณพ่อค่ะ
ในช่วงที่คุณพ่อป่วย โอก็ต้องเป็นหลักที่คอยดูแลคุณพ่อตลอดเลยค่ะ ช่วงแรกที่เขาป่วย โอก็ต้องเป็นคนพาเขาไปโรงพยาบาล ตอนอยู่โรงพยาบาลโอก็ต้องเป็นคนคอยดู เพราะว่าโอต้องเป็นปากให้เขาค่ะ ต้องเป็นล่ามคอยแปลภาษา
[ โอและคุณพ่อ ]
คุณหมอเขาจะถามว่าเจ็บตรงไหนมั้ย ปวดระดับเท่าไหร่ ปวดตรงไหนบ้าง ช่วยบอกได้มั้ย จะให้ยาอันนู้นนะ อันนี้นะ เราต้องเป็นคนแปลให้เขา ถ้าสมมติเราไม่อยู่ เขาก็จะไม่รู้ หมอเขาจะมาสื่อสารอะไร จะฉีดอะไรให้เขา
เขาจะมารักษายังไง ขั้นตอนต่อไปจะเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวจะพาเขาไปไหน ไปเอ็กซเรย์หรือว่ายังไงก็ไม่รู้ ตอนนี้คุณพ่อหายเป็นปกติแล้วค่ะ หาย 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่ต้องไป-มาโรงพยาบาลแล้ว มีแค่ follow up 6 เดือนครั้ง ปีละครั้ง”
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้งที่ “โรคมะเร็ง” พรากทุกคนที่รักไปจากเธอ ทำให้โอต้องเข้มแข็งมาตั้งแต่อายุยังน้อย และตระหนักว่า ‘ความตาย’ อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
“คุณแม่โอก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งเหมือนกันค่ะ ตอนแรกเขาเป็นที่เต้านม แล้วพอหลังจากตัดออกไปแล้ว ผ่านไป 5 ปีมันก็ลามไปปอด แล้วก็ลามมาตับ หลังจากนั้นก็รักษาอะไรไม่ได้แล้วค่ะ คุณแม่เขาก็เลยไปแล้ว
ตอนนั้นเรารู้แค่ว่ามะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่เราไม่รู้ว่าร้ายแรงที่ผู้ใหญ่พูดมันแรงแค่ไหน เราแค่รู้ว่าแม่เปลี่ยนไปนะ ผมแม่เราร่วงนะ กินไม่ได้นะ เราก็ไม่รู้ว่ามันหนักขนาดนั้นค่ะ ถามว่าทำใจได้มั้ย ไม่มีใครทำใจได้หรอกค่ะที่รู้ว่าแม่ตัวเองจะเสีย
ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ มะเร็งอยู่รอบตัวโอตั้งแต่เด็กๆ เลย คุณตาคุณยายก็เสียไปเพราะมะเร็ง คุณแม่ก็เป็นมะเร็งเสีย คุณพ่อก็เป็นมะเร็งเพิ่งหาย ส่วนคุณย่าก็เคยเป็นมะเร็งเต้านมแต่ว่าเป็นไม่เยอะ ก็ตัดออก ทุกคนแล้ว ยกเว้นคุณปู่ที่ไม่เป็น มะเร็งมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ ความตายก็คือเราไม่มีทางรู้เลยว่าใครจะไป ใครจะอยู่เมื่อไหร่”
และนั่นจึงทำให้เธอ ให้ความสำคัญกับ “ครอบครัว” มาเป็นอันดับแรกเสมอ
“ในหัวไม่มีอะไรเลยนอกจากคำว่าพ่อ เราต้องช่วยพ่อก่อน งานไม่เป็นไร เรายังเด็ก เดี๋ยวเราหาได้ แต่พ่อเราถ้าเขาไม่อยู่ เราหาพ่อใหม่ไม่ได้นะ หมอซ่อมพ่อเราได้แต่เปลี่ยนพ่อเราไม่ได้ เราแค่คิดว่าเอาพ่อไว้ก่อน อย่างอื่นเดี๋ยวเราแก้ปัญหาได้เอง
เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรามีอยู่วันนี้ เรายังอยู่กับครอบครัว เราควรทำให้ดีที่สุด เราควรที่จะให้ครอบครัวได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราอยากดูแลเขาให้ได้มากที่สุด เท่านั้นเองค่ะ ถ้าสมมติให้เลือกสิ่งนึง เราก็จะเลือกครอบครัวเป็นอันดับแรกทุกครั้งค่ะ
มันทำให้โอให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาและความรู้สึกมากขึ้น เพราะว่าก็อย่างที่บอก เราไม่รู้ว่าจะวันนี้หรือว่าวันพรุ่งนี้ที่คนรอบตัวเราจะหายไป เราแค่รู้สึกว่าเราให้เขาได้มากที่สุดดีกว่า
เขาหายไปแล้วแล้วเรามาพูดว่า ‘รู้งี้เราทำอย่างงั้นดีกว่า รู้งี้เราอยู่กับเขาดีกว่า’รู้งี้เท่ากับมันไม่ทันแล้วค่ะฉะนั้นโอไม่อยากเกิดคำว่ารู้งี้อีก โอก็อยากจะบอกว่า ถ้าคุณยังมีคนที่คุณรักอยู่ ก็อยากจะให้ทุกคนกลับไปหา กลับไปคุยกับเขาบ้าง ก่อนที่คำว่ารู้งี้มันจะมาหาคุณ”
ตลอดการพูดคุยสัมผัสได้เลยว่า รอยยิ้มและแววตาของเธอ สดใสออกมาจากข้างใน ซึ่งคำสอนสำคัญจากคุณพ่อและคุณแม่ คือการมองโลกในแง่ดีและยิ้มสู้กับทุกปัญหา
“(คุณพ่อ) เขาไม่ได้บอกว่าเราต้องเป็นอะไร ถ้าเราไปในทางนี้ เขารู้สึกว่าลูกเราเป็นที่รู้จักนะ แล้วเขาก็ดีใจว่าลูกสาวเขามีคนรู้จักมากขึ้น มีคนหูหนวกคอยทัก เขาก็ดีใจแล้วแค่นั้น
ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เขาชอบสอนว่า อยากให้เป็นคนง่ายๆ เข้ากับคนได้ แล้วมีปัญหาอะไรก็ยิ้มสู้ไว้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็หายไปเองค่ะ (ยิ้ม) มันก็ดีขึ้นจริงๆ ถ้าหน้าเรายิ้ม แล้วอีกซักพักเราก็จะคิดออกเอง
สำหรับโอ แค่ยิ้มก็รู้สึกว่ามันผ่านอุปสรรคไปได้แล้วเปราะนึง ส่วนปัญหาที่มันจะหายไป มันอยู่ที่ความสามารถของเรา แล้วก็รอบข้างของเราที่คอยช่วยเราค่ะ ยิ้มสู้
อะไรที่มันไม่ดี โอแค่คิดบวกเข้าไว้ว่ามันมีส่วนดีตรงไหนบ้าง แล้วหยิบส่วนนั้นมาเป็นกำลังใจ มากกว่าที่จะเอาส่วนที่ทำให้จมตรงนั้น ผลักให้เราจมไปเรื่อยๆ โอแค่คิดว่าถ้าสมมติมี 10 สิ่งที่ไม่ดี มันก็ยังมีอีก 1 สิ่ง สิ่งที่ 11 นั่นแหละที่เป็นสิ่งที่ดีกับเรา แล้วเราหยิบตรงนั้นมาเป็นกำลังใจเรา เพื่อที่จะสู้กับ 10 สิ่งตรงนั้นให้มันหายไปมากกว่า”
สำหรับผลงานในอนาคต เธอก็ได้เตรียมคอนเทนต์สนุกๆ ไว้เพื่อแฟนๆ ช่อง Okata ทุกคน ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป
“สิ่งที่เติมไฟให้โอคือ กำลังใจจากในครอบครัวค่ะ เพื่อนๆ แล้วก็คอมเมนต์ต่างๆ ที่คอยให้กำลังใจนี่แหละค่ะ เวลาว่างๆ ของโอก็เที่ยวบ้าง ถ่ายรูปบ้าง แต่ตอนเที่ยวโอก็ทำคอนเทนต์เพื่อให้คนได้รู้จักสิ่งที่โอไปเที่ยว ทุกที่คือการเติมไฟ
ในอนาคตทุกคนอาจจะได้เห็นคอนเทนต์แปลกๆ ใหม่ๆ ในช่องโอแน่นอนค่ะ โอก็จะพัฒนาไปตามยุคตามสมัย ว่าตอนนั้นมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจ มีเพลงที่ใครอยากรู้จัก แล้วก็มีคำคำไหนที่ทุกคนอยากรู้ โอก็จะคอยเสิร์ฟให้ทุกคน
หรืออาจจะทำเป็น conversation ให้คุยกัน อาจจะลากคุณพ่อมาถ่ายด้วยก็ได้ ก็ฝากให้ทุกคนติดตามช่องของโอด้วยนะคะ ทั้งใน IG TikTok แล้วก็ Facebook เลยค่ะ Okata ค่ะ”
รู้จัก “คนหูหนวก” และ “ภาษามือ” ให้มากขึ้น “มีข้อนึงสำคัญมากๆ คือทุกคนอย่าเรียกคนหูหนวกว่า คนใบ้ หรือ ไอ้ใบ้ เด็ดขาดนะคะ อยากให้ทุกคนเรียกคนหูหนวกว่าคนหูหนวก แทนที่จะเรียกว่าเป็นคนใบ้ดีกว่าค่ะ เพราะว่าคนหูหนวกเขาไม่ชอบ ถ้าสมมติว่าเราเดินอยู่ข้างนอก แล้วอยู่ๆ มีคนมาสะกิดที่หลัง อยากให้ทุกคนช่วยคิดไว้อีกส่วนนึง เขาอาจจะไม่ได้มาทำร้าย เขาอาจจะเป็นแค่คนหูหนวกที่อยากจะขอให้คุณช่วยเหลือในบางสิ่ง ถ้าอยากรู้ภาษามือ ก็ไปดูในช่อง TikTok โอได้ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาษามือสื่อสารได้ทั่วโลก แต่จริงๆ ภาษามือเป็นภาษาใครภาษามัน ภาษามือมีทั้งหมดประมาณ 450 กว่าภาษาเหมือนภาษาพูด แต่ความเหมือนกันของภาษามือคือ body language จะสื่อสารกันด้วยกริยาท่าทาง ถ้าเราเห็นว่าคนหูหนวกเขาทำภาษามือท่าทางใหญ่ๆ ท่าทางเท่ากับเสียงค่ะ ถ้าเขาทำอันเล็กๆ ก็เหมือน react กับโทนเสียง คนหูหนวกเป็นประเภทที่ออกทั้งหน้าทั้งตัว ถ้าโกรธคือแบบ… ทำไมอะ! แกล้งเราเหรอ!! ล่าสุดพ่อโอไปเจอคนโปแลนด์ เขาเป็นคนหูดีที่เรียนภาษามือโปแลนด์มา เขาก็มาคุยกับคุณพ่อโอ คุยกันเข้าใจได้เฉยเลย แต่ว่าต่างกันแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย ภาษาโปแลนด์ผู้หญิงคือต่างหู ผู้ชายคือมีหนวด แต่ของไทยคือผู้หญิงคือผมม้วน ผู้ชายคือผมเกรียน แล้วก็คำอื่นๆ ก็มีคำที่คล้ายคลึงกัน คุยกันเข้าใจได้ง่ายมากเลยค่ะ คนหูหนวกแต่ละประเทศ สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจง่ายกว่าภาษาพูดด้วยซ้ำ ความแตกต่างคือแตกต่างตามวัฒนธรรม คำว่ากินของไทย เมื่อก่อนของไทยจะหยิบ ใช้มือจ้วงกินใช่มั้ยคะ แต่ถ้าเป็นของจีน ของญี่ปุ่นอาจจะอันนี้คือตะเกียบ แล้วก็กิน ตามวัฒนธรรมของเขา แต่ก็ใช้กันได้ ภาษามือก็เหมือนอีกภาษานึงนี่แหละค่ะ แต่ว่าใช้ร่างกายในการสื่อสาร แต่เอาจริงๆ คนหูดีเอาภาษามือไปใช้ก็ได้ เอาไปเล่นกัน ไปคุยกันก็ได้ค่ะ ที่โอเคยสอนไป จะมีห้องน้ำ เวลาเราไปขอหรือว่าเราบอกเพื่อน เราไม่กล้าพูดดังๆ นี่เราไม่ต้องกระซิบ เราก็แค่ (ทำท่าภาษามือไปห้องน้ำ) แค่นั้น ไม่ต้องทำใหญ่ ไม่มีใครเห็น เรารู้กันแค่เพื่อน 2 คน ก็ส่งซิกกันค่ะ” |
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Okata Channel” และยูทูป “Five Star Chicken Thailand”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **