เปิดใจ “มิ้น - พัชริดา” จากบัณฑิตสาวเกียรตินิยม สู่ “CEO ขยะ” รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ใช้ TikTok ผุดคอนเทนต์รับซื้อของเก่าจนปัง!!
มีวันนี้เพราะขยะ …
“หนูไม่อายที่ทำอาชีพนี้ เพราะว่าคุณพ่อกับคุณแม่ทำอาชีพนี้มา ทำให้หนูเรียนจบ ทำให้หนูมีในสิ่งที่อยากจะมี คุณพ่อคุณแม่หาทุกอย่างด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่าน เพราะธุรกิจรับซื้อของเก่าค่ะ”
“มิ้น - พัชริดา สิงห์กัมพล” สาวน้อยชาวโคราชวัย 23 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
เธอกลายเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ จากช่อง TikTok “มิ้นมิ้น รับซื้อของเก่า” กับคอนเทนต์ “การรับซื้อของเก่าและการแยกขยะ” ผ่านการพรีเซนต์ตามสไตล์คนรุ่นใหม่ที่สนุกและเข้าใจง่าย จนทำให้มีผู้ติดตามแล้วกว่า 66,000 บัญชี
และงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ ก็เป็นการรับช่วงต่อธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า “อดุลย์สหกิจรีไซเคิล” ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ทำมากว่า 20 ปี เท่ากับว่า มิ้น คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่จำความได้
“ก่อนที่จะมาเป็นธุรกิจรับซื้อของเก่าของครอบครัว ก่อนหน้านั้นคุณพ่อกับคุณแม่ทำอาชีพค้าขายค่ะ ขายของขายอาหารในโรงเรียน จากนั้นคุณพ่อก็ขายไอติม ก็จะเจอคนเยอะ รู้จักคนเยอะ
วันนึงคุณพ่อได้ไปขายไอติมในโรงงาน เห็นกองขยะที่ทางโรงงานเขาทิ้งไว้ พ่อก็มีความคิดว่า กองขยะกองนี้มันน่าจะเอาไปขายได้ ก็เลยเกิดการริเริ่มขึ้นมาว่า ขอซื้อขยะกองนั้นนำมาคัดแยกแล้วก็เตรียมหาที่ส่ง
จากนั้นคุณพ่อได้ขยะมาก็เอามาคัดแยกไว้ที่บ้านก่อน ก็ยังไม่รู้เลยว่าขยะกองนี้จะเอาไปส่งที่ไหนอะไรยังไง จากนั้นคุณพ่อก็ลองก่อน มีของอยู่ในรถ แกก็ขับรถไปจ้างรถมาแล้วไปดูในเมืองโคราช เรามีสินค้าตัวนี้มันขายได้ แกก็ลองขายครั้งแรก
[ จากรถขายไอติม สู่ร้านรับซื้อของเก่า ]
พอขายครั้งแรกคุณพ่อบอกมันก็ได้กำไร มันก็มีรายได้นะ ครั้งแรกที่เปิดรับซื้อก็เป็นรับซื้อเหล็กอย่างเดียวค่ะ แต่ว่าก็มีลูกค้ามาท้วงว่า ทำไมไม่รับซื้ออย่างอื่นบ้างจะได้ไม่ต้องไปส่งไกล อยากขายใกล้ๆ จากนั้นมาคุณพ่อก็เริ่มเปิดรับตัวอื่นค่ะ
แต่ว่าตอนนั้นก็ยังไม่ได้เป็นหน้าร้านที่ถึงปัจจุบันนี้ค่ะ ก็ยังเป็นพื้นที่โล่งๆ กว้างๆ เรายังไม่ได้จัดสรรแบ่งที่ดินให้มันเรียบร้อย แต่ก่อนเป็นแค่วางไว้ จากนั้นคุณพ่อกับคุณแม่ก็ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยกันมาเรื่อยๆ ค่ะจนมาเป็นร้านถึงทุกวันนี้”
นอกจากนี้ เธอก็ยังเป็นบัณฑิตหมาดๆ เจ้าของเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะวิทยาการจัดการ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ความตั้งใจแรกหลังเรียนจบ เดิมทีนั้นเธออยากทำงานตามที่เรียนมา และอยากเที่ยวเล่น ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่ด้วยเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ ทำให้เธอต้องเบนเข็ม มาสานต่อธุรกิจรับซื้อของเก่าที่ทางบ้านได้สร้างไว้แทน
“เป็นความตั้งใจของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์เลย เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำแล้วรู้สึกว่าถ้าเราไม่ตั้งใจเรียนมันไม่ได้ค่ะ คนที่ทำงานส่งเราเรียนแกทำงานเหนื่อยมากๆ เรามารู้ตัวก็ตอนหลังเรียนจบแล้ว ว่างานที่คุณพ่อกับคุณแม่ทำมันหนักมาก เพราะว่าในช่วงที่หนูเรียนหนูไม่ได้เข้าถึงงานขนาดนั้น เราไม่รู้ว่าทำแล้วเหนื่อยขนาดไหน มันต้องคิดขนาดไหน
หนูมาสัมผัสจริงๆ ก็คือหลังจบแล้วหนูได้มาทำงานถึงทุกวันนี้ค่ะ ตัวหนูเองอยากไปทำงานอย่างอื่น อยากไปทำงานเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ การทำการตลาด เพราะว่าเราเรียนจบทางด้านนั้นมา แล้วเราก็ชอบในสิ่งแบบนั้นด้วย
[ ครอบครัว “สิงห์กัมพล” กำลังใจที่อยู่เคียงข้าง ]
ปีที่แล้วหนูแพลนไว้ว่า หนูจบมากะว่าฉันจะนอนอยู่บ้านอย่างสบายใจซัก 2 เดือนรอวุฒิ หลังจากนั้นก็มาทราบข่าวว่าคุณพ่อเป็นโรคมะเร็งค่ะ คุณพ่อก็อยู่ได้ประมาณ 2 เดือนแล้วก็เสียชีวิตลง ทีนี้แพลนทุกอย่างที่หนูคิดไว้ทั้งหมดมันก็ต้องล้มเลิกไป หนูก็เลยแบบ… ถ้าเราไปทำงานที่อื่นมันก็ไม่ได้แล้ว
อยู่ที่บ้านหนูก็ต้องช่วยดูแลกิจการ พี่ชายคนเดียวแกก็ไม่ไหว ถ้าจะเป็นแม่กับพี่ชายมันก็อาจจะได้ แต่ด้วยความที่ว่าเราเสียเสาหลักไปแล้วคนนึง เสาหลักที่เป็นคนเริ่มต้นทุกอย่าง หนูก็เลยอยู่ช่วยก็ได้ จริงๆ หนูก็อยากไปทำงานกับเพื่อน ไปกิน ไปเล่น ไปเที่ยว เรามีเวลาใช้ชีวิตวัยรุ่น จากนั้นทุกอย่างมันพลิก เราจะใช้ความรู้ สิ่งที่เราเรียนมาปรับใช้กับธุรกิจเรายังไงดี”
สำหรับหน้าที่ของลูกสาวเจ้าของร้านควบตำแหน่งพนักงาน มิ้นต้องดูแลทั้งหน้างานและลูกจ้างในร้าน ไปจนถึงการนำความรู้ด้านการตลาดมาต่อยอดเพื่อโปรโมทร้านอีกด้วย
“เป็นหลักก็คือเสมียนค่ะ เราก็จะจดรายการสินค้าให้ลูกค้าชั่งน้ำหนักแล้วก็คิดตังค์ ต่อมาก็คือในเรื่องของการคุมงาน ตรงนี้จะมีคุณแม่เป็นคนสั่งเป็นหลักอยู่แล้ว คุณแม่เขาจะบอกมาว่าวันนี้จะให้พนักงานทำอะไรบ้าง ตรงไหนบ้าง หนูก็จะประสานงานแล้วจะได้ไปบอกพี่ๆ ว่าวันนี้ทำตรงนี้อย่างนี้นะ เสร็จตรงนี้ก็ไปตรงจุดนู้นต่อ ถ้าพี่ๆ คนไหนว่าง
แต่ละวันแพลนมันไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ มันก็จะมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ที่หน้างานด้วย หน้างานเราวุ่นวายมั้ย หรือว่าลูกค้าเยอะรึเปล่า ถ้าเราต้องไปขนส่งสินค้าเราจะต้องเตรียมอะไรยังไง วันนี้จะเอาตัวไหนออกดี อะไรอย่างนี้ค่ะ
แล้วก็มันก็จะมีในเรื่องของราคาสินค้าด้วย อย่างเช่น พรุ่งนี้สินค้ามันจะลง ถ้าเรามีสินค้าพอเอาไปออกได้เราก็ไปส่งก่อน ก็คือเราชิงราคาไว้ก่อน เพราะว่าบางครั้งเราซื้อไว้มันอาจจะเท่าทุนที่เราเอาไปขายก็ได้ ก็จะทำให้เราขาดทุนได้ค่ะ
ช่วงที่หนูฝึกงานหนูก็ได้ทำคอนเทนต์ ตัดคลิปวิดีโอ ที่ฝึกงานก็ให้โอกาสหนูเต็มที่ หนูก็เลยลองทำ TikTok ดีมั้ยเพราะว่าถ้าคลิปเรามีคนดูเยอะ เราทำไปเรื่อยๆ ซักวันนึงคนก็ต้องติดตาม คนจะได้รู้จักร้านเรามากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าโปรโมทโฆษณาเลยค่ะ ให้คนรู้จักเราก่อน ว่าเรานำเสนอเกี่ยวกับอะไร หลังจากที่คนรู้จักเรา เขาก็จะรู้จักธุรกิจเราไปด้วยค่ะ”
แม้จะอยู่กับงานรับซื้อของเก่ามาทั้งชีวิต แต่พอได้ก้าวเข้ามาทำในทุกกระบวนการ ก็เรียกได้ว่าแตกต่างและหนักกว่าที่คิดไว้อย่างสิ้นเชิง
“ยอมรับเลยว่าแตกต่างมาก เพราะว่าตัวเราเองต้องดูแลชีวิตพนักงานอีก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือว่าพนักงานรับเหมา ถ้าหากมันมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างเช่น สินค้าตัวนี้ที่ที่เราส่งเขาแจ้งเงื่อนมาว่าตัวนี้ทางโรงงานเราไม่รับซื้อแล้ว เราก็ต้องประสานงานแล้วแจ้งพนักงานทุกคนทั้งหน้าร้านและหลังร้านว่าตัวนี้ไม่รับซื้อแล้ว ถ้าเจอมาก็คือคัดแยกออก
หลังจากที่เราแจ้งไปแล้ว ก็ต้องไปดูแลด้วยว่าพนักงานมีหลงเอาผิดเข้าไปมั้ย เราจะต้องมีการติดตามงานด้วย มันเป็นเรื่องยากมากค่ะในการคุมพนักงาน เราจะต้องมีการคิดวิเคราะห์ไว้แล้วว่าสิ่งที่เราสั่งเขาไป ตัวเราทำได้มั้ย แล้วเขาทำได้รึเปล่า มันต้องอยู่ในความเป็นไปได้ด้วย
แล้วเราก็จะต้องดูแล ติดตามงานตลอด ไม่ใช่สั่งแล้วเราก็ไป ถ้าเราสั่งแล้วเราก็ไป พนักงานก็จะแบบว่า เราทำไปงั้นๆ แหละ สุดท้ายเขาก็ไม่มาดูอยู่ดี หนูก็เลยแบบว่า ถ้าสั่งหนูก็จะไปดู ถ้าผิดหนูก็จะติไป ตัวนี้อย่างนี้มันไม่ได้นะ
หนูก็บอกเลยว่าช้าไม่เป็นไรค่ะ ขอแค่ว่าให้คัดตามสเปกงานที่เราต้องการก็พอ ถ้าเราทำให้มันดีตั้งแต่ครั้งแรก ถึงเวลาที่เราเอาของไปส่ง เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งคัดแยกเยอะค่ะ เราคัดตั้งแต่หน้าร้านทีเดียวจบเลย”
“รับซื้อของเก่า” สบายใจ เป็นนายตัวเอง
ระยะเวลาราวปีกว่ากับทำอาชีพนี้ มีเรื่องให้ มิ้น ต้องเรียนรู้ในทุกวัน นอกจากเธอจะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการตลาดแล้ว ก็ยังมีการพัฒนาด้านการให้บริการ มีเครื่องดื่มไว้คอยต้อนรับ จนเป็นที่ถูกใจของลูกค้าที่มาใช้บริการ
"หนูเรียนจบปีที่แล้ว ก็มาอยู่บ้านได้ก็ประมาณปีกว่า แต่ด้วยความที่ว่าเราอยู่กับมันตั้งแต่เด็ก บางอย่างเราก็พอรู้บ้าง แต่บางอย่างเราก็ต้องมาเรียนรู้ในทุกๆ วัน บางอย่างหนูยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ยังไม่แม่นยำ ก็ต้องมีคุณแม่คอยเป็นที่ปรึกษา
ก็จะคอยถามว่า สินค้าตัวนี้รับซื้อเป็นอะไรยังไง แบบนี้ได้มั้ย บางอย่างแปลกตาก็มีค่ะ เพราะว่าขยะมันเกิดใหม่ทุกวันอยู่แล้ว ขยะมันไม่มีหน้าตาเหมือนกัน บางตัวเราไม่คุ้นชินก็จะมีสอบถามแม่ก่อน คุณแม่ก็จะสอนวิธีการเช็กแล้วก็ดูให้ค่ะ
งานที่ร้านเราก็จะต้องเตรียมตราชั่งไว้ เตรียมรถในการเอาของไปเก็บ เมื่อลูกค้าเอาสินค้ามาให้ เราก็ต้องมีการเช็กอีกที ต้องเทออกจากถุง ดูว่ามีสินค้าตัวไหนที่เป็นของเสียมั้ย ของเสียในที่นี้ก็คือสินค้าที่ทางร้านเราไม่รับซื้อ เนื่องจากเป็นสเปกของโรงงานที่เขาก็ไม่รับตัวนี้ เราก็จะเช็กดูว่ามีตัวไหนผิดมั้ย ปนมารึเปล่า
ก็จะมีน้ำดื่มให้ลูกค้า มีแก้ว มีกาแฟให้ ลูกค้าท่านไหนมาถึงร้านเรา รู้สึกเหนื่อย หิวกาแฟ ง่วง ชงกินได้เลย ลูกค้าที่มาประจำมาถึงเขารู้แล้ว ถ้าเขามาติดคิวก็จะกินกาแฟรอ ถ้าติดคิวหนูก็จะ ‘กินกาแฟรอก่อนนะคะ นั่งรอก่อน ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ’ หนูก็จะมีการพูดคุยกับลูกค้า ให้ลูกค้ารู้สึกว่ามาร้านเราแล้วยินดีต้อนรับเขาตลอดนะ อะไรอย่างนี้ค่ะ”
ในส่วนของขยะที่ทางร้าน “อดุลย์สหกิจรีไซเคิล” รับซื้อ ก็ไม่แตกต่างจากร้านรับซื้อของเก่าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เศษเหล็ก พลาสติก ลังกระดาษ เศษกระดาษใส่แพคเก็จ กล่องครีม หนังสือ นิตยสาร ขวดแก้วหลากสี กระป๋องเหล็ก แพคเก็จปลากระป๋อง กระป๋องนม กระป๋องยาฆ่าแมลง สังกะสีด้วย ท่อ PVC ฯลฯ
เมื่อถามว่า ขยะอะไรที่คนทั่วไปคิดว่าไม่มีมูลค่า แต่จริงๆ มีราคาดีกว่าที่คิด คำตอบที่ได้คือ “สายน้ำหยด”
“ถ้าปีที่แล้วมาจนถึงทุกวันนี้นะคะ ก็คือสายน้ำหยดค่ะ สายน้ำหยดก็คือสายที่เขาไว้สำหรับทำสวน ไว้สำหรับรดน้ำที่เป็นท่อยาวๆ แต่มันไม่ใช่ความหนาเหมือนท่อ PVC มันจะเป็นบางๆ คล้ายๆ ถุงพลาสติกที่เขาใส่ขยะ ถุงดำ เนื้อมันจะเป็นประมาณนั้นแต่มันก็จะหนากว่านิดนึง
แต่ก่อนตัวนี้คุณพ่อคุณแม่เคยซื้อไว้ประมาณ 1-2 บาท แต่ก่อนมันไม่มีมูลค่า แต่ทุกวันนี้ก็คือมันสามารถเอาไปโม่บดได้ เอาไป recycle ผลิตอย่างอื่นได้ จากที่หนูสอบถามจากคนที่เขาเคยมาเก็บที่ร้านเขาแจ้งมา ก็จะเอาไปผลิตพวกเป็นถุงพลาสติกดำ เอาไป recycle ต่อ ซึ่งทุกวันนี้มันก็มีมูลค่าเพิ่มแล้ว อย่างร้านหนูก็รับซื้อเริ่มต้นประมาณ 3 บาทค่ะ”
ขยะ ไม่ใช่แค่ ขยะ แต่มันสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ก้อนงามที่ใช้จุนเจือครอบครัวอีกด้วย
“เราเป็นนายตัวเอง เรามีเวลาทั้งวัน ถ้าต่อเดือนก็ประมาณ 40,000-50,000 แล้วแต่ราคาขึ้นลงค่ะ ถ้าช่วงไหนเรามีสินค้าเยอะ ราคาขึ้น ก็พอได้ ถ้าช่วงไหนราคามันลดลง กำไรมันก็น้อยลง แต่ว่ามันก็มีค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกัน ในส่วนของพนักงาน ค่ารถ ค่านู่นนี่นั่น
แต่ทีนี้คนก็จะมองเราว่าเรารายได้ขนาดนี้ จ่ายภาษีมั้ย มีค่ะหนูไปอ่านตามเมนต์ มันไม่มีใครมานั่งบอกอยู่แล้วค่ะว่าฉันจะเสียภาษีนะ แต่ว่าร้านหนูก็ถูกต้องหมด มีใบอนุญาต มีใบทะเบียนพาณิชย์
ตราชั่งเราก็จะมีจากสำนักการชั่งตวงฯ คือตราชั่งเดี๋ยวนี้มันต้องผ่านสำนักงานนี้มาก่อน เพื่อที่จะมาอยู่ในร้านเรา ไม่งั้นมันก็เหมือนตราชั่งเถื่อน เหมือนตราชั่งไม่ผ่านมาตรฐาน ทุกอย่างมันมีการลงทุน ตราชั่งก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ขนาดเล็กก็อีกราคานึง ขนาดใหญ่ก็อีกราคานึง เราชั่งสินค้าเยอะ ถ้าเราใช้แบบตามตลาดที่พิกัดแค่ 60 กิโล มันจะเอาลูกค้าไม่ทันค่ะ
ความที่ว่าร้านเรามันเติบโตขึ้น สินค้าบางอย่างมันเป็นร้อยโล สมมติเราชั่งพิกัดแค่ 60 เราต้องชั่งกี่รอบ เรามาใช้ตราชั่งดิจิตอล ถ้ามันมีพื้นที่พอวางสินค้าตัวอื่น เราก็กดลบน้ำหนักได้ เอาสินค้าตัวใหม่มาวางได้เลย มันก็จะรวดเร็วด้วยค่ะ”
ในความเคร่งเครียดจากงานที่ต้องเจอ โชคดีที่ยังมีลูกค้าที่น่ารัก คอยมาเป็นสีสันและกำลังใจให้ยิ้มได้ในแต่ละวัน
“ที่ประทับใจก็คือแกเป็นผู้ชายมีอายุหน่อยประมาณ 50 กลางๆ สติแกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แกปั่นจักรยานจากตลาดในตัวอำเภอมาขายที่ร้านหนู ปั่นจักรยานมาเกือบ 10 โลค่ะ
แกก็จะคัดของมาดีด้วยนะคะ มาถึงเราไม่ต้องเสียเวลาคัดแยกเลย ในทุกๆ ครั้งที่หนูคิดเงินให้ ลูกค้าท่านนี้เขาจะอวยพรให้เราตลอดเลย ขอให้เรารวย ขอให้เรามีธุรกิจรุ่งเรือง เขาดีใจมากค่ะ 10 - 20 บาท บางทีได้เป็นร้อยก็มี เขาก็จะรู้เลยว่าขยะประเภทนี้คัดมามันจะได้ราคาประมาณนี้ๆ
แล้วเขาก็จะแยกมาเป๊ะทุกอย่างเลยค่ะ ต่อให้มันมีแค่ขีดสองขีดหนูก็คิดตังค์ให้แก ชั่งแล้วน้ำหนักมันน้อยจนตราชั่งไม่ขึ้น หนูก็ใส่ให้ ความน่ารักของแก คือมาทุกสัปดาห์ด้วยนะเป็นลูกค้าที่มาทีไรหนูก็ประทับใจแก หนูไม่ต้องวุ่นวายคัดอะไรเลย มีหน้าที่ชั่งให้แก คิดตังค์อย่างเดียวค่ะ แค่นั้นเอง
แกเป็นคนน่ารักมาก แล้วพูดเพราะมากค่ะ แกมาเมื่อไหร่แกบอก ‘ชั่งเลยจ้ะ ถุงเท่าไหร่ก็หักไปเลยนะ’ หนูก็ไม่ได้หักอะไรแกเยอะหรอก ก็คือถุงเราก็หักตามมาตรฐานของร้านเราอยู่แล้ว บางทีหนูก็ให้แก บางทีบาทสองบาท ตราชั่งน้ำหนักมันเบามากจนไม่ขึ้นหนูก็ใส่ไปให้แกซัก 2 ขีด (หัวเราะ) อย่างนี้ก็มีค่ะ”
ไวรัล!! คอนเทนต์จาก “ขยะ”
ในตอนนี้ช่อง TikTok “มิ้นมิ้น รับซื้อของเก่า” ได้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว แต่ถ้าจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น ก็ถือว่าเป็นช่องน้องใหม่ที่เพิ่งทำมาได้ไม่นาน แต่เป็นโชคดีที่สาวน้อยคนนี้เดินมาถูกทาง
“เริ่มทำตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ แต่ว่าเราไม่ได้ทำจริงๆ จังๆ ตอนแรกช่องหนูไม่ใช่ “มิ้นมิ้น รับซื้อของเก่า” หนูก็ตั้งเป็นชื่อเล่นๆ ตามประสาหนู ทีนี้วันนั้นหนูลงคลิปถ่ายอยู่หน้าร้าน หนูก็เป็นวัยรุ่นคนนึง แต่งตัวเล่นๆ ทำคอนเทนต์ คนไม่ได้โฟกัสตัวหนู เขาโฟกัสสิ่งที่มันอยู่ด้านหลังเรา background คือขยะ เขาเมนต์มาแบบ… รับซื้อของเก่าอย่างเงี้ย เขาเรียกผ้าขี้ริ้วห่อทอง
หนูก็เลยลองทำคลิปเกี่ยวกับของเก่าดีมั้ย คนดูสนใจเราเยอะในจุดนี้ หนูก็เลยเริ่มหาวิธีว่านำเสนอออกมาแนวไหนดี แต่ช่วงนั้นหนูยังไม่มีความรู้ในเรื่องของการตัดต่อ ยังไม่เข้าใจว่าแพลตฟอร์ม TikTok เขาต้องการคลิปวิดีโอคุณภาพหรืออะไรประมาณไหน คือเรายังไม่รู้เลยค่ะ ไม่รู้จริงๆ หนูเล่นไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็หยุด
ปีนี้หนูเพิ่งมานับหนึ่งใหม่ ประมาณ ม.ค.-ก.พ. เห็นคลิปคนอื่นเขาจะใส่เสียงตัวเองในการพากย์ เราก็ลองใส่เสียงตัวเอง เราก็ยังไม่เข้าใจอีกว่าทำยังไงให้กระชับขึ้น ไม่ให้มันมีช่องเว้นเสียง หนูก็ไปดูวิธีการตัดต่อของเขาว่าใช้แอป CapCut ก็จะให้เราอัดเสียงไปก่อนแล้วก็มาตัดมาต่อกัน เราพอได้แล้วนะ
แต่ด้วยความที่เวลาหนูพูดภาษากลาง หนูจะพลาดบ่อยเพราะว่าเราเป็นคนอยู่โคราช ในชีวิตประจำวันเราจะใช้ภาษาโคราช เราพูดภาษามันตกกลางเยอะ วันนั้นหนูหงุดหงิดมากเลย (หัวเราะ) พูดแล้วมันก็ผิดอีกๆ หนูก็เลยใส่ภาษานี้ไปซะเลย มันก็จะมีคนมาเมนต์ถาม ‘คนที่ไหน คนโคราชใช่มั้ย’ คนให้ความสนใจเยอะค่ะ มันก็จะเป็นการเปิดการมองเห็นมากขึ้นด้วย”
หลังได้แนวทางในการต่อยอดโปรโมทร้านแล้ว ไอเดียทำคอนเทนต์รับซื้อของเก่าในช่องก็หลั่งไหลตามมาไม่ขาดสาย และยังเป็นที่ถูกใจคนดู จนมีหลายคลิปที่ยอดเข้าชมทะลุหลักล้านวิวเลยทีเดียว
“หนูคิดขึ้นมา เราลอง “CEO ขยะ” ดีมั้ย คนเขาก็จะแบบ… วัยรุ่นผู้หญิงเขาจะมาทำแบบนี้เหรอ ถามว่ามีมั้ย มีค่ะ แต่การที่เขาจะมาทำคอนเทนต์แบบหนูมันก็ส่วนน้อย หนูก็เดินอ้อมร้านแล้วก็ถ่ายคลิป ถ่ายเสร็จหนูมาตัดต่อ ถ้าหนูจำไม่ผิด หนูก็ว่ารับซื้ออะไรบ้าง ประมาณไหน ปิดท้ายด้วยคำว่า ‘อดุลย์สหกิจรีไซเคิล ยินดีต้อนรับ’ คนจะได้จดจำชื่อร้านเราด้วย
คลิปนั้นยังไม่บูมที่สุดค่ะ คลิปที่บูมที่สุดคือ “เมียซ่อนเงินผัวในที่นอน” ทุกคนเห็นหัวข่าว ทุกคนต้องงงแหละ มันจะไปเอาเงินซ่อนที่นอนทำไม ถูกมั้ยคะ
คลิปนี้เกิดจากการที่ว่า หนูพรีเซนต์เกี่ยวกับนุ่น ที่เมื่อก่อนเขาจะใช้นุ่นในการยัดหมอน ยัดในที่นอน ก็พรีเซนต์ว่าร้านนี้รับซื้อนะคะ ใครมีก็เอามาขาย จากนั้นคนก็มาคอมเมนต์ว่า ‘แต่ก่อนตากับยาย ยายเคยเอาไปซ่อนไว้ในที่นอน แล้วเขาเอาไปขาย แล้วเงินก็ไปกับร้านของเก่าด้วย’ คอมเมนต์ประมาณนี้
ตอนนั้นจะลงคอนเทนต์อะไรดี นึกขึ้นได้ เราลองทำคอนเทนท์นี้ดีมั้ย จะพรีเซนต์ยังไงให้คนรู้สึกว้าว “เมียซ่อนเงินผัวในที่นอน” แล้วกัน หนูก็พูดหัวข้อขึ้นมาว่า ส่วนมากเมื่อก่อนเขาจะเอาเงินไปซ่อนในที่นอน ก็ต้องมาพิสูจน์ดูนะว่าที่นอนที่เราเห็น มันมีเงินจริงรึเปล่า ซึ่งรอยกรีดนั้นเป็นรอยมาแล้ว แต่เราเป็นการทำคอนเทนต์ เราอยากพิสูจน์เฉยๆ ว่ามันมีจริงๆ มั้ย
ในทุกๆ ครั้งที่เราเช็กสินค้าก็มีการกรีดอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าเจอเงินเจอทองมั้ย ไม่เคยเลยค่ะ ไม่มีวาสนาได้เจอกับเขาซักที (หัวเราะ) ก็เลยกลายเป็นคอนเทนต์นี้ขึ้นมา คนก็ให้ความสนใจเยอะ”
ในส่วนของการคิดคอนเทนต์ มิ้นหยิบจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวมาขยี้ต่อ บ้างก็ได้ไอเดียมาจากคอมเมนต์ใต้คลิป ไปจนถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำนอกเหนือจากงาน เพื่อไม่ให้คอนเทนต์ในช่องจำเจ
“1.ดูว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง 2.ดูว่าสินค้าที่เรายังไม่ได้พรีเซนต์มันมีอะไรบ้าง หรือตัวที่เราพรีเซนต์แล้วมันมีอะไรย่อยออกมาอีกมั้ย 3.ดูจากคอมเมนต์ ถ้าวันไหนเราไม่รู้จะพรีเซนต์สินค้าอะไรแล้ว ดูจากคอมเมนต์ที่คนเคยมาเมนต์ในคลิปที่ยอดวิวเยอะๆ คอมเมนต์จะเยอะ ดูก็ลองไปดูจากตรงนั้น
หรือถ้าวันนั้นนึกไม่ออกจริงๆ หนูก็จะทำเป็นใน 1 วันของเราทำอะไรบ้าง มิ้นก็จะพรีเซนต์ในส่วนของชีวิตประจำวัน เราทำอะไร เรากินเราอะไรนอกเหนือจากงาน หนูก็จะลงคอนเทนต์ที่นอกเหนือจากงานด้วยไม่ให้มันดูน่าเบื่อ
ถ้างานเพียวๆ อย่างเดียว ตัวหนูดูยังรู้สึกเบื่อ หนูอาจจะต้องลงอย่างอื่นเล่นๆ ไปตามสไตล์เรา คนเขาก็จะได้ไม่ได้ดูของเก่าอย่างเดียว เขาจะได้ดูเราในเรื่องอื่นๆ ด้วย มันก็จะเป็นการพรีเซนต์การรับซื้อของเก่าทางอ้อม”
การตลาดปรับตัว จากเสียงผ่านวิทยุ สู่คอนเทนต์ TikTok
ถามต่อถึงเรื่องของการทำการตลาด ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าในยุคที่พ่อแม่บุกเบิก กับยุคที่รุ่นลูกมาสาน ต่อย่อมมีความแตกต่างกัน
“แตกต่างค่ะ เพราะว่าเมื่อก่อนคนไม่ได้มีมือถือดูโซเชียลมีเดียแบบทุกวันนี้ เมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่ก็จะใช้วิทยุในการโปรโมทร้านค่ะ ก็จะเป็นประโยคที่หนูจำได้ ‘อดุลย์สหกิจรีไซเคิล รับซื้อของเก่าทุกชนิด ยกเว้นเมียเก่ากับลูกระเบิด’
ตอนนั้นคุณแม่เล่าให้ฟังก็ว่า ไม่รู้จะใส่ประโยคอะไรดี ก็พูดเล่นๆ ‘ไม่รับซื้อเมียเก่ากับลูกระเบิด’ แต่ก่อนก็ใช้วิทยุเพราะว่าคนฟังวิทยุเยอะ น่าจะประมาณหนูอยู่ ม.ต้น - ม.ปลายนี่แหละค่ะ จากนั้นพ่อกับแม่ก็ไม่ได้โปรโมททางนั้นอีกเลย
ทุกวันนี้หนูก็อยากนำความรู้ที่เราเรียนมาลองโปรโมทร้านเราดูซิ โดยใช้ความรู้ที่เรามี เดี๋ยวนี้ก็จะมีพวก Page Facebook TikTok ถ้าเราไม่อยากเสียเงินก็คือเราก็ต้องเริ่มด้วยตัวเองให้คนรู้จักเรา
ในการทำคอนเทนต์ TikTok เขาก็จะมีที่เป็นทำคลิป 1 นาทีขึ้นไป ทำให้คนดูเยอะมากขึ้น อันนี้ก็จริงค่ะ สามารถทำให้คนดูเยอะขึ้นจริงๆ แต่คอนเทนต์เรามันต้องดีด้วย ถ้าคอนเทนต์เราไม่ดี มันก็ไม่มียอดวิวอีกเหมือนกันค่ะ”
ส่วนใครที่อยากได้เคล็ดลับ “ทำ TikTok ยังไงให้ปัง” สาวน้อยคนนี้ก็แจกทริคว่า ต้องเน้นความเป็นตัวของตัวเอง อย่าทิ้งช่วงนานจนคนลืม และที่สำคัญคลิปที่ทำต้องมีคุณภาพ
“เราต้องรู้ว่าช่องที่สร้างขึ้นมาเราจะทำเพื่ออะไร อย่างหนูมีเป้าหมายแล้วว่าจะโปรโมทร้านตัวเองให้คนรู้จักร้านเราเยอะขึ้น แล้วอีกอย่างชื่อช่อง หนูรับซื้อของเก่า แล้วให้เขารู้จักด้วยว่าหนูชื่ออะไร หนูชื่อมิ้น ฉะนั้นหนูเลยตั้งชื่อช่องว่า “มิ้นมิ้น รับซื้อของเก่า” อย่างน้อยเขารู้จักชื่อหนูแล้ว แล้วเขาก็รู้จักด้วยว่าหนูทำอาชีพอะไร
คอนเทนต์ของหนูส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องของเก่า อาจจะมีกินเที่ยวเล่นบ้างปกติธรรมดา แต่ว่าหนูไม่ค่อยได้ลงเรื่องนั้นเยอะ เพราะว่าทุกๆ วันหนูอยู่แต่กับของเก่า เราไม่ค่อยมีเวลาออกไปเที่ยว
เวลาเราทำคลิปนะคะ ทริคที่อย่างหนูบอก ความเป็นตัวของตัวเองเป็นหลัก อย่างเช่น หนูเป็นคนโคราช แล้วหนูก็พูดตกกลางบ่อย หนูก็เลยใส่ภาษาโคราชไปซะเลย คนก็ดูเยอะอีก แสดงว่าเขาต้องสนใจอะไรบางอย่างในตัวเรา เราต้องทำคลิปคลิปนั้นให้คนอยากที่จะคอมเมนต์ อยากที่จะแชร์ ถ้าทำอย่างนี้คลิปเราคนดูก็จะเยอะขึ้น
แล้วก็เราต้องขยันทำคลิปค่ะ อย่าทิ้งช่วงบ่อย ทำคลิปที่มีคุณภาพหน่อยคนที่เขาผ่านมาเขาน่าจะแวะดู ถ้าเราทิ้งช่วงห่างไปนานก็ไม่ดีเหมือนกันค่ะ เหมือนทำให้คนเขาลืม มันก็จะมีส่วนที่ TikTok ปิดการมองเห็นก็ได้นะ
อย่างช่วงที่คุณแม่ป่วย หนูทิ้งช่วงไม่ลงคลิปประมาณ 4-5 วัน ยอดวิวมันฮวบลงก็มีค่ะ บวกกับคอนเทนต์เราไม่ดีด้วย เพราะว่าสมองมันอยากพักผ่อน เราคิดเรื่องงานไม่ไหวก็มี ก็ต้องพยายามทำให้มันสม่ำเสมอค่ะ”
และการนำโซเชียลมีเดียมาทำการตลาดเช่นนี้ ก็ช่วยให้ทั้งตัวเธอและร้าน กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นแบบไม่ต้องเสียเงินเลยทีเดียว
“มีคนรู้จักร้านหนูมากขึ้นค่ะ บางคนเขาก็บอกว่าเคยเห็นหนูในช่อง TikTok ลูกค้าที่มาขายก็บอกว่า เคยเห็นหนูในช่อง TikTok บางคนเป็นลูกค้าประจำแกก็แซวคอนเทนต์ที่หนูทำ ‘อะไรนะ ไม่รับซื้ออะไรนะ ไม่รับซื้อเมียเก่า’ (ยิ้ม) คนก็รู้จักหนูเยอะขึ้น ในช่วงนี้เวลาเราไปไหนมาไหน ถ้าคนจำได้ ถ้าเขากล้าพูดคุยกับเราเขาก็จะแบบ… ‘ใช่น้องมิ้นมั้ย ที่พี่เห็นในข่าว’
บางทีเราไปไหนหนูปิดหน้า พี่เขาบางคนยังบอกว่า ‘ใช่น้องมิ้นมั้ย พี่มองแค่ตาพี่ก็รู้แล้ว’ ก็เลยบอก ‘ใช่ค่ะ ทำไมพี่รู้’ พี่เขาก็ว่า ‘พี่เป็นเพื่อนใน Facebook พี่เห็นเราใน TikTok อยู่’
ถ้าคนรู้จักเราเยอะมากขึ้น ในอนาคตถ้าเขามีขยะเยอะ เขาก็อาจจะอยากมาขายกับเราก็ได้ หนูว่าซักวันเขาก็ต้องมาหาหนูอยู่ดี เขาต้องมาหาหนูแน่ๆ หนูเชื่อมั่นแบบนั้น (ยิ้ม)”
“ถ้าพ่อเห็นตอนนี้ หนูว่าแกต้องภูมิใจ”
ในแต่ละงานย่อมใช้ทั้งแรงกายแรงใจไม่ว่าใครก็ตาม ถามถึงช่วงเวลาที่เหนื่อยหรือท้อ มีการเติมไฟให้ตัวเองยังไง สาวเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าคนนี้ตอบว่า ต้องพักให้ตัวเองหายเหนื่อย และให้กำลังใจตัวเองเสมอว่ามีครอบครัวที่ต้องดูแล
“ถ้าเหนื่อยใช่มั้ยคะ ก็พักก่อน หาอะไรดูก่อนให้รู้สึกมันฮีลจิตใจเรา หรือหนูไปหาของกินก็ได้ หรือขับรถออกจากบ้านไปก็ได้ไปหาของกินซักอย่างให้เรากลับมาคิดทบทวนให้เรารู้สึกมีแรง แล้วก็ดูอะไรที่มันเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง ถ้าเราไปดูอะไรที่มันเป็นแบบมุมมองลบ ใจเราจะยิ่งฝ่อลง หนูก็จะหาอะไรที่มันฮีลจิตใจเรา หาอะไรดูก่อน
ช่วงไหนท้อหนูก็จะหาอะไรทำ ถ้าวันนี้มันไม่ดี หนูว่าพรุ่งนี้มันต้องดีบ้าง จริงๆ มันก็จะมีช่วงที่ลูกค้าเงียบก็มี โดยเฉพาะช่วงกลางสัปดาห์ หนูก็จะคุยกับแม่ ‘ลูกค้าน้อยจัง เราทำอะไรผิดพลาดรึเปล่า’
ก็อย่างว่าแหละค่ะ ธุรกิจมันไม่ได้มั่นคงในทุกๆ วัน มันมีขึ้นมันก็ต้องมีลง ต้องให้กำลังใจตัวเอง อย่างน้อยยังมีครอบครัวอยู่ข้างๆ เรายังต้องดูแลครอบครัวต่อ ถ้าเราท้อ คนที่จะมาทำหรือว่าคนที่อยู่ด้านหลังเขาก็จะท้อกับเราไปด้วยค่ะ หนูก็ไม่ท้อให้แม่เห็นหรอก (หัวเราะ)”
และอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิต ก็คือ “คุณพ่ออดุลย์ สิงห์กัมพล” แม้ในวันนี้ท่านจะไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จของลูกสาวที่เข้ามาสานต่องานที่ร้าน แต่เธอเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า คุณพ่อต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน
“ถ้าแก (คุณพ่อ) เห็นตอนนี้ หนูว่าแกต้องภูมิใจค่ะ เพราะว่าเราทำเต็มที่ หนูอยากให้ท่านเห็นเราในตอนที่เราเอาความรู้มาพัฒนาร้านของเราแล้ว หนูเสียใจตรงที่ว่าคุณพ่อไม่ได้มีโอกาสได้เห็น มันเสียใจตรงนี้มาก
ตอนแรกเราก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าเราจะพาร้านเรามาถึงจุดนี้ หนูก็พยายามสร้างตัวเองขึ้นมา ถึงแม้มันจะมีคำดูถูกนู่นนี่นั่นแต่หนูก็ไม่ได้สนใจค่ะ เพราะว่าสิ่งที่เราทำเราคิดว่ามันต้องทำให้ร้านเรามีคนรู้จักเยอะขึ้น
หนูคิดแค่ว่าหนูทำ TikTok คงไม่มีใครมาให้ความสนใจเราขนาดนี้ หนูแค่คิดว่าคนรู้จักให้ธุรกิจเราเยอะขึ้นก็พอค่ะ หนูคิดแค่ว่าให้คนรู้จักเรา อนาคตยังไงให้เขามาขายร้านเราให้ได้ หนูคิดแค่นั้น”
ทั้งนี้ มิ้น ยังได้ฝากถึงมุมมองเกี่ยวกับการขยะในปัจจุบัน เธอสะท้อนไว้ว่า หากมีการให้ความรู้ในด้านนี้มากขึ้น เชื่อว่าคนไทยจะแยกขยะมากขึ้นแน่นอน
“ในมุมมองนะคะ ก็คือคนส่วนใหญ่ยังไม่แม่นยำในเรื่องของการคัดแยก ถ้าคัดแยกเป็นแล้วเขารู้ว่าสินค้าตัวนี้มันราคาแบบนี้ หนูเชื่อว่าในอนาคตคนก็จะคัดแยกมากขึ้น ถ้าสมมติเอารวมมากันทีเดียว ยิ่งมีขวดแก้วด้วย หนูก็ปวดหัวเลย พอเราให้ราคาไป ราคามันก็น้อยลงอยู่แล้ว เพราะว่าเพราะคุณไม่ได้แยกขยะมา
แต่ถ้าลูกค้าแยกขยะมาเป็นประเภทๆ ถูกต้องปุ๊บปั๊บ ลูกค้าได้ราคามากขึ้น แต่ละบ้านถ้าเป็นลูกค้าทั่วไปที่เขามาขาย เขาจะได้เป็นค่ากับข้าว ค่าน้ำมัน ได้ค่าใช้จ่ายในครอบครัว บางบ้านได้เป็นหลักพัน บางบ้านได้เป็นหลักร้อยก็ดีใจแล้วนะคะ
ถ้ามีการสอนการแยกขยะ ถ้าเรามีการให้ความรู้ทางด้านนี้เยอะขึ้น ซึ่ง TikTok หนูก็จะให้ความรู้ด้านการคัดแยกนี่แหละ หนูก็จะพยายามแตกมาแต่ละตัวว่าสินค้าตัวนี้มันคัดแยกยังไง ราคาประมาณไหน สินค้าตัวนี้มันขายได้ ถ้าคุณอยากได้ราคาคุณต้องทำยังไง หนูก็จะมีเป็นคลิปวิดีโออยู่ในช่องตัวเองเหมือนกันค่ะ”
สุดท้าย สาวเจ้าของช่อง TikTok “มิ้นมิ้น รับซื้อของเก่า” ก็ฝากคำขอบคุณไปยังทุกกำลังใจที่ส่งมาให้กัน และเธอจะตั้งใจดูแลร้านพ่อแม่ได้สร้างมาให้เติบโตต่อไป
“ก็ขอขอบคุณทุกคนค่ะ ที่ให้กำลังใจ คอมเมนต์ แล้วก็มาช่วยในการเปิดการมองเห็นคลิปมิ้นตลอด ก็จะมีพี่ FC คนนึงที่ประทับใจในตัวแกมาก แกก็จะมาเมนต์แทบทุกคลิปเลยค่ะ คือเขาไม่ได้เมนต์แค่เป็นอีโมจินะคะ เขาจะเป็นคำพูดที่เราอ่านแล้วเรารู้สึกแฮปปี้ แกก็จะมาแซวเล่นๆ บ้าง ก็อยากขอบคุณพี่คนนี้มากค่ะ
แล้วก็ขอบคุณลูกค้าทุกคนที่มาร้านอดุลย์สหกิจรีไซเคิล หนูก็พยายามบริการลูกค้าทุกท่าน ดูแลลูกค้าทุกท่านเต็มที่ที่สุด มีอะไรหรืออะไรก็บอกกล่าวหนูได้หมด ลูกค้าเขาก็มีน้ำใจกับเรา เขามาอุดหนุนเรา ลูกค้ามีปัญหาอะไรสามารถพูดคุยกับหนู ให้กำลังใจซึ่งกันและกันค่ะ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...คอนเทนต์จาก “ขยะ” ที่ไม่ใช่ คอนเทนต์ขยะ...
>>> https://t.co/bcDiJE5Nsw
.
จากบัณฑิตสาวเกียรตินิยมอันดับ 1 สู่ “CEO ขยะ” รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ใช้ TikTok ผุดคอนเทนต์รับซื้อของเก่าจนปัง!!
.#ดาวtiktok #มิ้นมิ้นรับซื้อของเก่า #ขยะ #แยกขยะ #ธุรกิจ #ธุรกิจส่วนตัว #เถ้าแก่น้อย pic.twitter.com/eYpE4C6vDh— livestyle.official (@livestyletweet) December 23, 2023
@livestyle.official ...คอนเทนต์จาก “ขยะ” ที่ไม่ใช่ คอนเทนต์ขยะ @mint.jah... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ดาวtiktok #tiktoker #contentcreator #มิ้นมิ้นรับซื้อของเก่า #การรับซื้อของเก่า #รีไซเคิล #อดุลย์สหกิจรีไซเคิล #ขยะ #แยกขยะ #ธุรกิจ #ธุรกิจส่วนตัว #sme #อายุน้อยร้อยล้าน #ชี้ช่องรวย #เถ้าแก่น้อย #เส้นทางเศรษฐี #หนทางทำกิน ♬ เสียงต้นฉบับ LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “มิ้น พัชริดา” และแฟนเพจ “อดุลย์สหกิจรีไซเคิล : เพจหลัก”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **