เปิดใจ “ครูคูลโมณีกา” ครูสาวดาว TikTok แห่งโรงเรียนบ้านนาหลวง เนรมิตอาหารกลางวันนักเรียนให้กลายเป็นมื้อที่ดีที่สุด ยอมเหนื่อยเพื่อให้เด็กได้กินดี “เพราะหน้าที่ครูคือการที่ทำให้เด็กมีความสุขและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น”
จากลูกชิ้นยังต้องแบ่ง 4 ส่วน สู่เมนูนานาชาติเติมไม่อั้น!!
“คุณครูรู้สึกว่าเขาต้องอิ่ม จะบอกว่าอาหารกลางวันเป็นอาหารหลักของเด็กในวันนั้น พูดได้เลยกลับบ้านไปเขาก็อาจจะไม่ได้กินแบบนี้ ตอนเช้าเขาก็ไม่ได้กิน
อีกอย่างนึงโรงเรียนคุณครูด้วยความที่อยู่บนภูเขา สหกรณ์ก็ไม่มี ขนมอะไรก็ไม่มีขาย หมายถึงว่าในความทรงจำของเรา ต้องมีขนมหน้าโรงเรียนนู่นนี่นั่น มันไม่เหมือนโรงเรียนอื่นที่มีโตเกียว มีอะไรมาขาย
สังเกตว่าถ้าในอาหารกลางวันคุณครูก็จะแทรกขนมบ้าง ให้เด็กเขาได้กินสมวัยของเขา ยังไงก็อยากกินขนมอยู่แล้ว ดังนั้นอาหารกลางวันเป็นมื้อหลักของเขาจริงๆ คุณครูก็เลยค่อนข้างที่จะจัดเต็มนิดนึง (ยิ้ม)”
“โมณีกา ชุนเกาะ” หรือ “ครูโม” ครูสาววัย 29 ปี แห่งโรงเรียนบ้านนาหลวง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
มั่นใจเลยว่าใครก็ตามที่เล่น TikTok ต้องเคยน้ำลายสอไปกับคลิปอาหารกลางวันของโรงเรียนนี้อย่างแน่นอน ก็เพราะช่อง TikTok @monika1136 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ครูคูลโมณีกา”ของครูโม จะคอยอัปเดตสิ่งที่นักเรียนจะได้กินในแต่ละวัน แต่ความพิเศษนั้นอยู่ที่ทุกเมนูระดับ 5 ดาว มาจากการปรุงอย่างตั้งใจจากบรรดาครู ที่จัดเต็มทั้งรสชาติ หน้าตา และปริมาณแบบจุกๆ แน่นถาดหลุม เด็กๆ สามารถเติมได้ถ้าไม่ยังอิ่ม และที่สำคัญ กินฟรี
ครูโมเล่าว่า เดิมทีไม่ได้ตั้งใจให้อาหารกลางวันของเด็กๆ มาเป็นคอนเทนท์บนช่อง แต่เพียงเพราะอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีที่สนับสนุนทุนทรัพย์ ได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาให้มา เด็กๆ ได้รับแล้วจริงๆ
“คุณครูเล่น TikTok มานานแล้วนะคะ ตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จักเลย จริงๆ แล้วไม่ได้เริ่มต้นจากอาหารกลางวัน คุณครูมีคนรู้จักจากคลิปที่สอนเด็กอ่านหนังสือ น้องลูกชิ้น ด้วยความที่ชอบเก็บความทรงจำ เด็กคนเดียวกันแต่คนละช่วงเวลาเขาก็จะเปลี่ยนไป คุณครูก็ชอบถ่ายคลิปความน่ารักอะไรของเขา เริ่มต้นจากตรงนั้นมากกว่า
ทีนี้พอมีคนติดตามมาเรื่อยๆ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำมากขึ้น จริงๆ แล้วคุณครูไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นคอนเทนท์นะคะ แต่ว่าที่เลือกที่จะถ่ายเพราะว่าอยากให้คนที่สมทบทุนอาหารกลางวัน ให้เขามั่นใจว่าเงินที่เขาให้มา เด็กได้รับแล้วนะ
วันนี้เด็กได้กินอะไร จากที่ได้กินแค่นี้ เงินเราทำให้เมนูอาหารเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ อยากให้เขาเห็นจริงๆ ว่าเงินที่มาทุกสตางค์ คุณครูทำให้เด็กนะ มันก็เลยมาอย่างนี้เรื่อยๆ ค่ะ บางคนมีท้าทาย เคยให้เท่านี้ ถ้ามากกว่านี้คุณครูจะทำได้มั้ย เมนูนี้จะทำได้มั้ย ก็เริ่มเล่นใหญ่มาเรื่อยๆ มีนานาชาติ มีฝรั่ง มีญี่ปุ่น หลายๆ อย่าง”
และในการทำ TikTok ที่มีเด็กๆ แบบนี้ คุณครูจึงต้องขออนุญาตทั้งเด็กและผู้ปกครองก่อนถ่ายทำ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและสบายใจกับทุกฝ่าย
“ด้วยความที่คุณครูอยู่ใกล้ชิดกับเด็กทุกวัน คุณครูก็จะพูดแล้วก็ถาม แล้วก็ขออนุญาตผู้ปกครองอย่างเป็นทางการก็เคยขอ ประชุมผู้ปกครองอะไรต่างๆ คุณครูก็จะแจ้งตลอด บางทีผู้ปกครองมาส่งเด็ก ผู้ปกครองก็อ้าว… ไม่เห็นครูโมพาเด็กเข้าแถวเลย เราก็มีการชี้แจงและคุยกับผู้ปกครองค่อนข้างที่จะเยอะ ว่าครูโมมีหน้าที่ต้องทำนู่นนี่นั่นนะ
ผู้ปกครองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย รู้สึกดีใจด้วยซ้ำ บางทีผู้ปกครองที่อยู่ทางไกล เช่น ไปทำงานต่างจังหวัด ‘คุณครูถ่ายลูกบ่อยๆ นะตอนกิน ลูกผมจากตัวผอมๆ ดูมีแก้มแล้ว’ (ยิ้ม) เด็กค่อนข้างที่จะโอเคมากๆ แต่ก็จะมีเด็กบางคนที่เขินอาย คุณครูก็ดูพฤติกรรมเขา ถ้าอยากจะถ่ายจริงๆ ก็จะบอก คุณครูถ่ายได้มั้ย แต่ปกติเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรค่ะ”
แต่ก่อนที่เด็กๆ จะได้กินอย่างอุ่นท้องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ที่ตั้งบนภูเขาสูง บวกกับเงื่อนไขหลายอย่าง ทำให้อาหารกลางวันในเมื่อก่อน แทบจะไม่เพียงพอต่อนักเรียนเลย
“ก่อนหน้านี้อาหารกลางวันเด็ก คุณครูซื้อวัตถุดิบขึ้นมาให้แม่ครัวทำ ทีนี้พอคุณครูมาบรรจุได้ประมาณเทอมเดียวเองมั้ง แม่ครัวคนนั้นท่านแก่มากแล้วค่ะ ก็เลยต้องเปลี่ยนระบบ จ้างแม่ครัวที่อยู่อีกหมู่บ้านนึงประมาณ 15 กิโล จ้างแบบเหมา สมมติวันนี้มีพะโล้ก็จะยกหม้อพะโล้มา เด็กก็ได้กินแค่หม้อนั้น
เด็กเขากินเก่งเพราะแทบจะไม่ได้กินข้าวเช้ามา คุณครูต้องซื้อไข่หรืออะไรมาสแตนด์บาย ถ้ากับข้าวหมดก็ต้องทอดไข่ให้เด็ก แค่หม้อเดียวหมดก็คือหมด ถ้าตักให้น้อยกว่านี้ก็แทบจะไม่ได้กินอะไรแล้วนะ เราคิดว่าเด็กควรได้กินดีกว่านี้ แต่ก่อนพะโล้ ไข่เบอร์ 3 ผ่าครึ่ง แล้วก็ไก่เป็นปีกไก่แต่เป็นปลายปีกและโครงไก่ทำพะโล้ ลูกชิ้นต้องแบ่ง 4
งบประมาณของรัฐแต่ก่อนจะได้ 21 บาท ตอนนี้เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น 27 เพิ่งมีเกณฑ์ใหม่มา แต่ก็พอเข้าใจนะคะด้วยงบประมาณและการเดินทางที่ขึ้นมา แม่ครัวเขาก็ต้องหักค่าน้ำมัน ค่าแรง การทำอาหารไม่ใช่แค่การใช้วัตถุดิบอย่างเดียว มันต้องมีเครื่องปรุง ค่าแก๊ส นู่นนี่นั่น”
“เหนื่อยขึ้น แต่เด็กก็ได้กินดีขึ้น”
สำหรับที่มาของอาหารกลางวันจัดเต็ม ด้วยเพราะอยากให้เด็กๆ ได้กินอะไรที่ดีขึ้น คุณครูในโรงเรียนทุกคนจึงมาช่วยกันวางแผนและแบ่งหน้าที่นอกจากการสอน ก็ต้องมาช่วยกันเตรียมวัตถุดิบและลงครัวกันเองด้วย
“ประมาณ 2 ปีที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นกับการที่ได้ทำ มีคนที่รู้จักในเฟซบุ๊ก เดี๋ยวทำบุญวันเกิดด้วย ซื้อของมาให้เด็กกินหน่อยนะ คุณครูก็เลยเริ่มทำจุ๊กจิ๊กขึ้นมาเสริม ตอนแรกเป็นการเสริมจากอาหารที่แม่ครัวทำมา แล้วก็เริ่มทำเป็นมื้อใหญ่ขึ้น
มันมีจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างนึงที่คุณครูอยากจะให้เด็กกินดีกว่านี้คือ พอวันปีใหม่ฟีลฉลองกับเด็กๆ ก็เลยซื้อ KFC ขึ้นมา 6 ถัง มีเด็กคนนึงเขากินครึ่งนึงแล้วเขาขอ ‘คุณครูครับมีถุงมั้ย ผมอยากจะห่อ’
คุณครูก็เลยบอกว่า ‘ไก่ชิ้นเดียวหนูกินไม่หมดเหรอลูก’ เขาก็เลยบอกว่า ‘ผมกินหมดครับแต่ว่ามันอร่อยมากๆ เลย ผมอยากจะเก็บไปให้ที่บ้านกินด้วย’ เราก็เลยรู้สึกว่าเรากินจนเบื่อแล้วอาหารแบบนี้ แต่เด็กเขาตื่นเต้นและว้าวมากๆ
[ เมนูหลากหลายให้เด็กๆ ได้ลิ้มลอง ]
ผอ.เห็นว่าคุณครูทำได้ก็เลยบอกว่า ‘ครูโม ยอมเหนื่อยเพิ่มมั้ย ให้เด็กได้กินดีขึ้น’ ก็เลยโอเค ต้องช่วยกันไปก่อน เราเหนื่อยขึ้นแต่เด็กก็ได้กินดีขึ้นแหละ ด้วยความที่เราต้องสอนทุกวิชา ผอ.บอกว่าเรามาวางแผนกัน ถ้าไม่ไหวเดี๋ยวคิดแก้ปัญหาอีกที ก็เลยเป็นฟีลโอเค ลองดู ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นคุณครูซื้อวัตถุดิบและก็ทำด้วย
พอลองดูแล้วเด็กมีความตื่นเต้นและมีความอยากมาโรงเรียน เราก็เลยเหมือนประมาณว่า เหนื่อยขนาดไหนก็ต้องยอมแล้วแหละจังหวะนั้น คุณครูในโรงเรียนเขาก็ช่วยกันดี เราก็เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยเราไม่ได้เหนื่อยคนเดียวแหละ แล้วมันเห็นผลลัพธ์ที่มันดีขึ้นจริงๆ แล้วเราไม่อยากกลับไปให้เป็นภาพเดิมที่ลูกชิ้นแบ่ง 4 อะไรประมาณนี้”
สิ่งสำคัญนอกจากการลงแรงแล้ว คือการบริหารจัดการเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนต่อหัวคือ 27 บาทให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในบางมื้อที่พิเศษขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นทุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่ส่งมา Support เด็กๆ นั่นเอง
“27 บาทค่ะ นักเรียน 98 คนก็จะตกประมาณวันละ 2,600 กว่าบาท แต่เราไม่สามารถเอาเงิน 2,600 บาทตรงนี้ไปซื้อวัตถุดิบทั้งหมดได้ เราต้องหักค่าน้ำ ค่าแก๊ส ค่าเครื่องปรุง ค่าข้าวออกก่อน มันก็จะเหลือประมาณ 1,700 บาทต่อวัน อาทิตย์นึงก็จะเป็น 8,500 บาท
แต่ก่อนคุณครูทุกคนออกตังค์เพิ่มเพราะด้วยความพื้นที่โรงเรียนคุณครูอยู่บนภูเขาค่ะ คุณครูจะกินอาหารกลางวันก็คือต้องกินกับเด็ก แต่มันจะไม่สามารถไปกินในงบของเด็กได้ คุณครูก็ต้องออกเพิ่มไป แล้วก็มาทำแยก บางอาทิตย์ถ้ามีแฟนคลับสนับสนุนมา คุณครูก็เอาเงินแฟนคลับมาสมทบ
คุณครูเริ่มเล่นใหญ่มากขึ้น (หัวเราะ) สปาเก็ตตี้มาแล้ว งบมันเริ่มเยอะขึ้น ก็มีความเกรงใจในตัวครูเอง เราเป็นคนไปซื้อแต่ว่าคนอื่นต้องมาออกช่วยเรา น้องๆ เงินเดือนก็ไม่ได้เท่าเรา ค่าใช้จ่ายของคนอื่นเขาก็มี คุณครูก็มีรายได้จากที่คุณครูทำได้มาจากเด็ก เด็กก็ต้องได้รับ ก็เอาเงินส่วนนี้ใส่เข้าไปโดยที่ไม่ให้ครูคนอื่นออกเลย ด้วยความสบายใจของเราด้วย
คุณครูเป็นคนซื้อของคนเดียวในเมืองเพราะคุณครูกลับบ้านทุกอาทิตย์ จะไปซื้อในแหล่งตลาดขายส่ง ก็จะได้ปริมาณมากขึ้น ของก็จะถูกกว่าที่จะซื้อตลาดใกล้ๆ แถวนี้ ของก็จะเยอะขึ้น ก็เลยกลายเป็นคนรับผิดชอบในการซื้อของทุกอาทิตย์เลย”
[ เหมาวัตถุดิบเตรียมเมนูสัปดาห์ต่อไป ]
สำหรับหน้าที่ซื้อวัตถุดิบนั้น ครูโมจะเป็นคนรับผิดชอบ ด้วยเพราะการเดินทางที่ต้องขึ้นภูเขาสูง และปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยขนาดนั้น จึงทำให้ในแต่ละอาทิตย์จะมีการกำหนดเมนูและเตรียมการทุกอย่างเป็นอย่างดี
“ไก่จะไม่ซื้อเป็นกิโล จะนับเป็นชิ้นเลย เด็ก 98 คน คุณครูจะตีเป็น 120 เผื่อเด็กเติมด้วย ซื้อครั้งนึงต้องวางแพลน ต้องทำเมนูอะไรบ้าง ใช้อะไรบ้าง แล้วก็ไปซื้อครบ คุณครูก็จะอัดใส่กล่องโฟมขึ้นมาวันอาทิตย์ตอนเย็นค่ะ แล้วก็มาเตรียมนู่นนี่นั่น
มีครูท่านอื่นช่วยแล้วก็มีเด็กด้วยค่ะ แต่ว่าคุณครูเป็นเฮดหลัก วันจันทร์ถึงศุกร์ คุณครูจะพักที่บ้านพักครูในโรงเรียนกับครูหลิน มีครูน้ำตาล ครูปอพักอยู่ในหมู่บ้าน ตอนเตรียมอาหารต้องเตรียมตอนเย็น เราต้องทำกับข้าวเสร็จก่อน 09.00 น.
เลิกเรียนคุณครูก็ต้องเข้าครัวเพื่อที่จะเตรียมของต่างๆ หมูหมักเราก็ต้องหมักไว้ตอนเย็น ตอนเช้ามาปรุง ทุกอย่างหั่นไว้หมด ล้างไว้หมด แรปอย่างดีแล้วก็ใส่ตู้เย็น ตอนเช้าคุณครูก็จะมาเช้ากว่าเพื่อน มาทำกับข้าว ประมาณ 07.30 น. คุณครูท่านอื่นก็จะเข้ามาช่วย จะมีครูเวร 1-2 คน ที่จะออกมาดูแลเด็กข้างนอก แต่ถ้าสมมติทำเสร็จเร็ว ก็จะออกมาเข้าแถวกับเด็ก
ที่บอกว่ามีเด็กด้วยก็คือเด็กมาโรงเรียนแต่เช้า พ่อแม่จะรีบมาส่งเพราะต้องไปสวน เขาก็จะมาอยู่กับคุณครูในห้องครัว มาช่วยปรุง แต่เด็ก ป.6 จะชอบมาทำกับข้าวมาก เขาก็จะมีความสุขกับการปรุง ชิม แล้วเขาก็จะ… วันนี้อร่อยนะ ฝีมือเรานะ
มีคนช่วยเยอะค่ะ แต่ต้องจัดการเวลาค่อนข้างดีหน่อย สมมติว่าเมนูไหนที่คุณครูจัดเต็มนิดนึง เช่น สปาเก็ตตี้ แฮมเบอร์เกอร์ คุณครูก็ต้องมาอบขนมปัง อุ่นขนมปัง เคยมาโรงเรียนตี 4 ก็มี”
เห็นเตรียมอาหารกลางวันจัดเต็มขนาดนี้ แต่ครูโมย้ำว่า “ไม่ได้เอาเวลาสอนมาทำกับข้าวแน่นอน”
“โรงเรียนคุณครูจะเป็นอย่างนี้ค่ะ ตีระฆังครั้งแรก 08.15 น. ให้เด็กทำเวรบริเวณโรงเรียน 08.30 น.เข้าแถว แล้วก็ใช้เวลาเข้าแถวประมาณ 10-20 นาที แล้วก็ให้เด็ก relax หน่อย เล่นกีฬาตอนเช้าแล้วก็เข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัว
9.00 น.จะเริ่มเรียน 11.00 น.เด็กอนุบาลจะพักทานข้าว 11.30 น.เด็กประถมจะทานข้าว เรียนอีกทีนึงก็ 13.00 -15.30 น. คุณครูก็จะทำกับข้าวให้เสร็จก่อน 9.00 น.อยู่แล้ว ก็มาสอนปกติ ไม่ได้เอาเวลาสอนมาทำกับข้าวแน่นอน
การทำอาหารแต่ละอย่างมันมี accident เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางทีทำปุ๊บ แก๊สหมด ต้องไปเอาแก๊ส หรือบางทีคุณครูอบขนม มันจำนวนเยอะเกินไป มัน 09.00 น. แล้ว แต่คุณครูก็จะเรียกเด็ก ป.6 มาเรียนในโรงอาหาร แต่เด็กจะทรมานนิดนึงสมมติคุณครูอบขนม ‘ครู มันมีเศษบ้างมั้ย มันหอม’ เรียนในโรงอาหาร แต่ว่านานๆ ที”
เพราะเคยได้โอกาส จึงอยากให้โอกาส
ย้อนถามถึงจุดเริ่มต้นของการมาเป็นครูนั้น ครูโมเล่าว่าในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน เธอถูกช่วยเหลือและได้รับโอกาสมากมายจากอาชีพนี้ และหวังว่าสักวันหนึ่งหากตนเองได้เป็นครู ก็ตั้งใจจะส่งมอบโอกาสที่เคยได้รับแก่นักเรียนเช่นกัน
“มีแรงบันดาลใจอย่างเดียวที่อยากเป็นครู ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะทำอาชีพอะไรที่จะได้กลับมาอยู่บ้านกับปู่กับย่า ปู่กับย่าเลี้ยงมา ครอบครัวไม่ได้ยากจนมาก เป็นชาวนา ก็คิดว่าก็คงจะเป็นอาชีพครูนี่แหละ
สมัยเด็กๆ ตอนที่มีการแข่งขันวิชาการ คุณครูเขาก็จะให้ทุน พาเราไปแข่งขันนู่นนี่ ทำให้เราเปิดโลกกว้างมากๆ ตอนช่วงมัธยมก็ได้รับทุนจากเป็นเด็กกิจกรรม จากเป็นเด็กเรียนดี แล้วช่วงต้องติวเข้ามหา‘ลัย ก็ไม่มีทุนในการเรียนพิเศษ คุณครูเขาก็ไม่เป็นไร เรียนฟรีไปเลย
เราก็เลยรู้สึกว่ามันคือโอกาสที่ได้รับมาเรื่อยๆ จากอาชีพนี้ ตั้งแต่ประถม มัธยม ครูหรืออาจารย์แต่ละท่านก็ support มาตลอด เราก็เลยมีความรู้สึกว่าอาชีพนี้แหละที่เราอยากจะทำค่ะ รู้สึกว่าอาชีพครูเป็นอาชีพเดียวที่สามารถเลือกสถานที่ทำงานได้เอง ตอนนั้นนะ แล้วก็คิดว่าคงจะเป็นอาชีพที่อย่างน้อยเรากลับมาอยู่กับปู่กับย่า แล้วก็ให้สวัสดิการดูแลพ่อกับแม่
ก็มีความคิดว่าถ้าเด็กซักคนนึงที่เราสอน แล้วเขาได้รับโอกาสแบบเรา ทำให้ชีวิตไปข้างหน้าได้มากกว่าที่เขาเป็นมันก็คงจะดี มันก็คงจะไม่ใช่เด็กทุกคน แต่อย่างน้อยซักคนที่เหมือนเราแล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้ก็คงจะดีค่ะ”
[ ครูโมและปู่-ย่าผู้เลี้ยงดูมา ]
สำหรับครูโม จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะครุศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เมื่อเรียนจบแล้ว เธอสอบรรจุติดและเลือกบรรจุที่นี่เป็นที่แรกจนมาถึงปัจจุบัน
“เรียกว่าเป็นดวงก็ได้นะ เพราะว่าคุณครูสอบได้ลำดับที่ 38 รอบแรกเรียกบรรจุแค่ 1 คน รอบสองเรียก 37 คน ซึ่งคุณครูอยู่ลำดับสุดท้ายของการเลือกในรอบนี้ บรรจุที่นี่ที่แรกเลย คือคุณครูเรียนจบ สอบบรรจุติดแล้วก็เลือกที่บ้านนาหลวง
ด้วยความที่ว่าคุณครูเป็นเด็กอยู่ในเมือง พอเรียนจบมัธยมก็ไปเรียนกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยรู้จักแถบนี้ พอไปเลือกมันเหลือ 3 โรงเรียน ไม่รู้จักเลย คุณครูได้ยินชื่อบ้านนาหลวงจากข่าวที่ณเดชน์มาทำบุญกฐินในปีนั้น จะมีวัดใหญ่วัดนึงคือวัดนาหลวง
คุณครูคิดว่าต้องหมู่บ้านเริศ ในความรู้สึก ก็เลยเลือกโรงเรียนบ้านนาหลวง ส่วนตัวเบื่อสังคมในเมืองมาก เพราะคุณครูอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ รถติดนู่นนี่นั่น อย่างน้อยออกไปใช้ชีวิตข้างนอกก็ดี ก็เลยเลือกตรงนี้”
แม้โรงเรียนที่เลือกบรรจุจะอยู่ในจังหวัดบ้านเกิด แต่เธอก็ไม่รู้จักพื้นที่ตรงนี้เลยด้วยซ้ำ และเมื่อได้มาเห็นโรงเรียนบ้านนาหลวงครั้งแรก ก็ทำเอาคุณครูจบใหม่คนนี้แทบจะร้องไห้ออกมาเลยทีเดียว
“บ้านคุณครูอยู่อำเภอเมือง บ้านนาหลวงอยู่อำเภอบ้านผือ ห่างจากบ้านคุณครู 116 กิโล แต่ยังอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ครั้งแรกที่มา จะร้อง (หัวเราะ) คือแบบ เฮ้ย… มันไกลขนาดนี้เลยเหรอ ไกลไม่เท่าไหร่ แต่พอมันผ่านหมู่บ้านมาแล้ว จังหวะที่ขับรถขึ้นภูเขา มันไม่มีอะไรเลย มีแต่ภูเขา มีแต่ป่า
เราก็คิดอยู่นะว่าเราอยู่ในเมืองมาตลอด เรียนจบกรุงเทพฯ แล้วเรามาอยู่ตรงนี้จะอยู่ได้มั้ย ตอนแรกนี่คือตกใจเหมือนกัน ด้วยความที่อุดรค่อนข้างที่จะจังหวัดใหญ่ มีเซ็นทรัล มีสนามบิน คุณครูยังคิดอยู่เลยว่ามีโรงเรียนอยู่ตรงนี้ด้วยเหรอ
อาทิตย์แรกๆ คุณครูอยู่ไม่ได้เลย ต้องให้ย่ามาอยู่ด้วย ค่อนข้างปรับตัว แต่ด้วยความที่คุณครูเป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่แล้ว มันไม่ได้รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้อะไรขนาดนั้น แต่มันก็ยังมีความกลัวและต้องปรับตัวหลายๆ อย่าง”
สำหรับโรงเรียนบ้านนาหลวง คือโรงเรียน Stand Alone ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลความเจริญ มีนักเรียนไม่ถึงหลักร้อย เด็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก
“คุณครูบรรจุเพิ่งครบ 5 ปี วันที่ 11 พ.ย.นี้แหละค่ะ ปัจจุบันนักเรียนทั้งหมดตั้งแต่อนุบาล 2 ถึง ป.6 มี 98 คน มีคุณครู 7 คน ท่าน ผอ.คนนึง มีน้านักการภารโรง 1 คน แล้วก็มีครูธุรการ 1 คน พอมาที่นี่ได้สอนทุกวิชาค่ะ เพราะว่าโรงเรียนบ้านนาหลวงจะเป็นระบบครูประจำชั้น ครู 1 คน รับผิดชอบ 1 ชั้นเรียน ครูรับผิดชอบ ป.6 ก็คือสอนทุกวิชาของ ป.6 เลย
โรงเรียนนี้มันเป็นภูเขา ขึ้นมาบนภูเขามีแค่หมู่บ้านเดียวคือหมู่บ้านนาหลวง แล้วก็มีโรงเรียนเดียว จะไม่มีหมู่บ้านอื่นมาเรียน วัดเลยจากโรงเรียนไปอีกประมาณ 6 กิโล แค่จากโรงเรียนลงไปตีนภู 13 กิโล ซึ่ง 13 กิโลไม่มีบ้านคนเลยนะคะ ป่าล้วน แล้วเป็นโรงเรียนที่ไม่สามารถยุบได้ เขาเรียกว่าโรงเรียน Stand Alone ถ้ายุบแล้วหมู่บ้านนี้ไม่สามารถไปเรียนที่ไหนได้แล้ว
(นักเรียน) ส่วนใหญ่ครอบครัวแตกแยกนิดนึง พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดบ้าง บางคนก็อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ความเป็นอยู่เขาจะค่อนข้างยังไงก็ได้ ด้วยความที่เขาไม่ได้เจอสังคมข้างนอกเพราะว่ามันมีแค่หมู่บ้านเดียวเลย เขาก็จะกินอะไรก็ได้ กินของป่า ของที่หาได้ หน่อไม้ เห็ด ไก่ป่า ตุ่น กบ อึ่ง เขาก็จะกินง่ายๆ
ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ได้เลย ผู้ปกครองทำอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยาง ตอนเช้าเด็กเขาจะต้องทำภารกิจส่วนตัวด้วยตัวเอง ผู้ปกครองต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เด็กก็จะทำงานช่วยผู้ปกครองตั้งแต่เด็ก บางคน ป.1 ก็ไปเก็บยางกับพ่อแม่แล้ว ไปคนน้ำกรดยาง ก็ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากเด็กในเมือง”
และเมื่อหลานสาวต้องมาเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ ทางปู่และย่าผู้เลี้ยงดูก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แต่เมื่อเห็นความตั้งใจของหลานที่อยากจะส่งต่อโอกาสดีๆ เช่นที่เคยได้รับ ท่านทั้งสองก็ให้การสนับสนุน
“ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้มีดรามาเลยนะ คุณครูเคยทะเลาะกับปู่กับย่าว่าทำไมไม่ย้าย ไหนบอกว่าจะย้าย คุณครูก็อธิบายว่าหนูเคยได้รับโอกาสตรงนี้ ปู่กับย่าก็เคยเห็นใช่มั้ย ปู่กับย่าดีใจใช่มั้ยที่หนูได้รับโอกาส หนูก็คิดว่าเด็กตรงนั้น ผู้ปกครองตรงนั้น เขาก็คงรู้สึกแบบเดียวกับที่ปู่กับย่าเคยรู้สึก หนูยังอยากทำตรงนั้นอยู่ ถ้าหนูไม่ไหวก็คงกลับมา
และอีกอย่างนึง คุณครูเดินทางกลับบ้านทุกอาทิตย์ ปู่กับย่าก็โอเค เข้าใจ เธอไหวใช่มั้ย ท่านไม่ได้ worry เรื่องการที่แบบว่าทำไมไม่กลับมาดูแล ไม่ค่ะ ท่านกลัวเหนื่อยเกินไปรึเปล่า เดินทางปลอดภัยรึเปล่า เสี่ยงรึเปล่า ความเป็นห่วงของผู้ใหญ่ แต่พอเราพิสูจน์ว่าเราทำได้นะ เราอยู่ได้นะ แล้วเราโอเคมากๆ ท่านก็จะโอเค ความสุขของเธอ แล้วสิ่งที่เธอทำมันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ก็ทำได้เลยเต็มที่”
เปรียบครูคือดิน นักเรียนคือต้นไม้
คุณครูวัย 29 ปี เล่าถึงการใช้ชีวิต ด้วยความที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุกอย่างจึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย เพราะโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ก็ยังห่างออกไปกว่า 40 กิโลเมตรเลยทีเดียว
“ในความพยายามที่จะใช้ชีวิต โห… บางคนคิดภาพไม่ออกด้วยซ้ำ ทุกอย่างมันต้องวางแผน แม้กระทั่งน้ำปลาแค่ขวดเดียวมันก็ยากในการที่จะไปซื้อ ครูต้องลิสต์ทุกอย่างเลยนะว่าต้องใช้อะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่
คุณครูไม่ใช้คำว่าเสียสละ แต่คิดว่ามันอาจจะเป็นการวางแผนมากกว่าเพราะมันห่างไกลมาก มันไม่ได้สะดวก บางทีอาจจะมีอุบัติเหตุอะไรต่างๆ มันก็ห่างจากโรงพยาบาล 40 กว่ากิโล แล้วมันไม่ใช่เส้นตรง มันลงเขา ก็เลยต้องเซฟทุกอย่าง
การทำกับข้าว ครูต้องรู้เด็กทุกคนว่าเด็กคนไหนเป็นโรคอะไร เด็กคนไหนทานอะไรไม่ได้ เด็กคนไหนควรหลีกเลี่ยงอะไร ก็จะแยกเลย สมมติว่าคนนี้แพ้อาหารทะเลแบบรุนแรง ถ้าคุณครูทำอาหารทะเลหรือมีอะไรที่เขาแพ้จริงๆ 40 กว่ากิโลไม่ใกล้เลยนะคะกับการที่พาเด็กไปโรงพยาบาล แล้วเด็กไม่ควรที่จะมีอันตราย ทุกอย่างเราต้องวางแผนก่อนที่จะขึ้นมาทั้งหมด
วันอาทิตย์คุณครูไม่ได้หยุด ตื่นเช้ามาต้องไปตลาดสด เสร็จปุ๊บไปตลาดผลไม้อีกแหล่งนึง แล้วก็ไปซื้อวัตถุดิบของสดอีกแหล่งนึง แหล่งไหนที่คุณครูสามารถเลือกวัตถุดิบเองได้ แหล่งไหนที่ราคาถูกแล้วเราได้คุณภาพดี ถ้าซื้อแค่แหล่งเดียวคุณครูซื้ออยู่ใกล้ๆ ตีนเขาได้ ไม่จำเป็นต้อง 116 กิโล
แม้กระทั่งการเอาวัตถุดิบขึ้นมาก็ต้องวางแผน ลังโฟมต้องขนาดเท่าไหร่ ต้องมีน้ำแข็งเท่าไหร่ แค่ค่าน้ำแข็งเราก็เสียไปไม่รู้อาทิตย์เท่าไหร่แล้ว ต้องวางแผนทุกอย่างเลย คลิปคุณครูแต่คลิป 5 นาที มันไม่ได้เห็นทุกอย่างที่เราทำ”
[ เพื่อนร่วมงานที่พร้อมลุยไปด้วยกัน ]
เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ครูโมบอกว่า เด็กคือส่วนสำคัญ ที่ทำให้ทัศนคติทุกอย่างเปลี่ยนไป
“คุณครูก็ประทับใจในทุกๆ วัน ถ้าประสบการณ์ที่อยากเล่าคือตอนแรกๆ ที่คุณครูมาคุณครูสอนไม่ได้เลย ด้วยความที่คุณครูจบคณิตศาสตร์มา ฝึกสอนที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ความพร้อมอะไรต่างๆ ของเด็กต่างกันมากๆ
พอคุณครูมา ความรู้เรามีเต็มหัวเลยอะ แต่ไม่สามารถสอนเด็กได้ เหมือนเป็นฟีลโกรธตัวเองมากกว่า เราสอนเด็กเขาตามไม่ทัน บางทีครอบครัวไม่มีแรง support ขนาดนั้น เด็กเป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้เปลี่ยนทัศนคติทุกอย่างเลย
เคยโกรธเด็ก ปกติวันศุกร์จะมีการบ้านเยอะที่สุดเพราะหยุดเสาร์-อาทิตย์ คุณครูให้ไป อาทิตย์แรกมาปุ๊บ เด็กทุกคนไม่ทำการบ้านเลย ก็เรียกมาคุย ไม่ได้ถามหาเหตุผลเลยนะ เหมือนฟีลโกรธ ทำไมไม่ทำล่ะนู่นนี่ อาทิตย์ต่อมาคุณครูก็ให้อีก สุดท้ายแล้วมันก็เหมือนเดิม
คุณครูก็เลยคิดว่า คงไม่ใช่ที่เด็กแล้ว มันเป็นที่เรารึเปล่า เลยคุยกับเด็ก เปิดความปลอดภัยให้เขา ไม่ว่าจะยังคุณครูจะฟังและจะไม่โกรธ ไม่ว่าจะเหตุผลไหนก็แล้วแต่ คนนั้นก็บอกว่า เสาร์-อาทิตย์ไม่ใช่วันหยุดของผม ผมไปกรีดยางกับพ่อแม่ หนูไปทำอันนี้กับพ่อแม่ ทุกคนเขามีภารกิจและใช้พลังงานเยอะมากๆ กลับมาเขาก็ต้องนอนแล้ว เหนื่อย
คุณครูก็คิดว่ามันเป็นงานที่มันเกินตัวเด็กด้วยซ้ำกับหลายๆ อย่าง เช่น ไปเก็บขี้ยาง ไปเห็นพื้นที่มันไม่ได้เป็นเรียบๆ มันเป็นอย่างนี้ (ทำแขนเอียง 45 องศา) แค่เดินก็เหนื่อยแล้ว เขาต้องไปดึง หอบขึ้นมาเป็นกิโลๆ คุณครูก็ตกลงกับเขาว่า โอเค งั้นคุณครูจะไม่ให้วันศุกร์ แต่วันศุกร์หนูต้องทำงานให้เสร็จ มีข้อตกลงใหม่”
จากวิชาการแบบจัดเต็มที่ตั้งไว้ในตอนแรก ก็ปรับมาสอดแทรกการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยอาศัยความเข้าใจบริบทและเอานักเรียนเป็นตัวตั้ง
“กับพวกเสื้อผ้าอะไรต่างๆ คุณครูจะค่อนข้างเป๊ะนิดนึง โรงเรียนที่เราสอนต้องเป๊ะๆๆ แต่ก่อนนะ ทำไมเสื้อผ้าอย่างนั้น ทำไมเสื้อผ้าสกปรก ทำไมเสื้อผ้ามอมแมมล่ะ ทำไมไม่ซักผ้าล่ะ มีเด็กคนนึงบอกคุณครูมาว่า ‘ถ้าผมซักมากกว่านี้ผมจะไม่มีสบู่อาบน้ำ’ คุณครูตกใจเลย คำว่าแค่นั้นของเรากับของเขามันต่างกัน
จากที่เราเน้นความรู้เต็มที่มาก ฉันมีความรู้เต็มสมอง เลยเปลี่ยนการสอนเป็นเน้นใช้ชีวิต คุณครูคิดว่าเด็กเขาคงไม่ได้อยากขวนขวายในการแข่งขันอะไรมากมาย ด้วยความที่สังคมแล้วก็สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เด็กบางคนเก่งพอสู้ได้กับคนข้างนอกกับเด็กในเมืองได้เลย แต่พอไปปุ๊บ ไม่เคยเจออะ คนเยอะจังเลย สังคมเขาก็จะต่างกัน
หลายๆ อย่างทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไป นี่แหละค่ะการใช้ชีวิตของเด็ก การที่ทำไมไม่ได้วิชาการ เราก็ต้องใส่นู่นนี่นั่น ก็เลยคิดว่าเขาไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น เขาต้องการความใส่ใจอีกแบบนึง ต้องการการใช้ชีวิตอีกแบบนึง”
การได้มาอยู่ที่นี่ ครูโมไม่ได้เพียงแค่มาสอนเด็กๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่ได้จากนักเรียนก็เป็นบทเรียนที่สอนเธอด้วยเช่นกัน
“เด็กหลายๆ คนที่ทำให้คุณครูเปลี่ยนทัศนคติและเปลี่ยนแนวการสอนมากๆ เหมือนเจ้าลูกชิ้นที่เขาอ่านไม่ได้ แต่ก่อนเขาจะพูดแทบจะนึกประโยคไม่ออกด้วยซ้ำ สมมติเพื่อนหกล้ม แล้วเขาจะมาฟ้องเรา เขาก็จะอื้อๆๆ คุณครูก็จะถามเขาว่าทำไมลูก เขาก็จะดึงเราไปดู เหมือนนึกประโยคไม่ออก ซึ่งเราก็จะคิดว่าทำไมไม่พูดล่ะ มันก็ไม่ได้ ก็ต้องดูว่าเด็กเขาต้องการอะไร
เหมือนที่คุณครูเริ่มสอนจากที่เรียนคณิตศาสตร์มา เราก็ต้องมาสอนภาษาไทย จากเด็กที่แทบจะพูดประโยคอะไรไม่ออก ก็ต้องมาอ่านสะกดคำ ต้องมีจิตวิทยาเยอะมากๆ เขาก็จะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าอ่านไม่ได้ก็ไม่อยากอ่าน
เจ้าลูกชิ้นแต่ก่อนถามว่ารู้มั้ยว่าตัวไหน เขารู้หรือไม่รู้ก็ไม่พูดด้วยซ้ำ คุณครูก็เลยเปลี่ยนตัวเองว่าต้องเป็นจุดปลอดภัยให้เขาแล้วล่ะ ให้เขากล้าเล่าทุกอย่าง แล้วให้เราเป็นทุกอย่างจริงๆ พอเปลี่ยนก็จากคลิปที่คุณครูมีชื่อเสียง อ่านหนังสือถ้าไม่ได้ก็ยุเขา พี่ๆ ตบมือลูก นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่ได้จากเด็กล้วนๆ เลยค่ะ
ในความคิดแรกๆ ความรู้เราเต็มมาก แต่ทำไมเราสอนเด็กคนนึงให้อ่านหนังสือไม่ได้ ทำไมให้เด็กทำโจทย์นี้ไม่ได้ เราดันเอาพื้นฐานของตัวเอง เราดันคิดเราเป็นแม่พิมพ์ คำว่าแม่พิมพ์คือเราสอนอย่างนี้ เด็กกดมาปุ๊บ บล็อกออกมา นี่คือแม่พิมพ์
แต่ตอนนี้คุณครูไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแม่พิมพ์ คุณครูคิดว่าคุณครูเป็นดินมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบนะ เพราะคิดว่าเด็กแต่ละคนคือต้นไม้ที่ไม่เหมือนกัน ระยะเวลาการโตก็ไม่เหมือนกัน การอยากได้น้ำ อยากได้แดด อยากได้ดินต่างชนิดกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจเด็กมากๆ เราเรียนรู้ไปกับเด็กและเด็กก็เรียนรู้ไปกับเรามากกว่าค่ะ”
อีกประเด็นสำคัญ คือเรื่องที่ครูมีโอกาสเขียนย้ายครู แต่เธอเลือกที่จะไม่ย้ายไปไหน ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังมีแรงและมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงนี้
“จริงๆ คุณครูมีโอกาสเขียนย้ายแล้วค่ะ แต่ว่าไม่คิดที่จะเขียนย้าย ผอ.ถามทุกปี ปีนี้ครูโมจะเขียนย้ายมั้ย การที่ไม่ได้ย้าย ไม่ใช่ว่าเขียนย้ายแล้วไม่ได้ย้าย คุณครูไม่เขียนย้ายเลย เพราะคิดว่ายังมีแรงตรงนี้อยู่ ยังมีความสุขกับสิ่งที่คุณครูทำได้
อีกอย่างนึงคุณครูยังมีห่วง ไม่อยากให้ภาพที่คุณครูเคยเห็นแต่ก่อนกลับมาเหมือนเดิม ก็เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีระยะเวลาของมัน แต่ตอนนี้ ระยะเวลานี้ ยังอยากทำอยู่
หลายๆ คนก็อาจจะมีคนบอกว่าถ้าครูโมย้ายลงไป ด้วยผลงานด้วยอะไรต่างๆ โรงเรียนใหญ่ๆ ก็ได้นะ มันจะได้สบายกว่านี้ เดินทางก็ไม่ต้องไกล ก็กลับไปอยู่กับปู่กับย่าที่ตั้งใจตั้งแต่แรกด้วยใช่มั้ยคะ
แต่คุณครูรู้สึกว่า ถ้าคำว่าการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานต้องอยู่กับโรงเรียนใหญ่ๆ แล้วเด็กโรงเรียนเล็กๆ ตรงไหนเขาต้องเจริญ คุณครูคิดว่าต้องอยู่ตรงนี้จนกว่าหมดแรง จนกว่าจะถึงระยะเวลานึงที่มีคนมาแทน
ผอ.ใหม่ก็พูดว่าครูโมจะย้ายมั้ย เราอยู่มา 5 ปีแล้ว แถบนี้คุณครูเขาย้ายเป็นเรื่องปกติเลย คุณครูที่รู้จักก็ย้ายกันหมด ผอ.ก็ถาม ครูโมย้ายมั้ย ยังค่ะ ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อย แต่ว่ายังมีความสุขกับการเหนื่อยตรงนี้อยู่ค่ะ”
เป็นทุกอย่างให้โรงเรียนแล้ว
นอกจากอาหารกลางวันที่จัดเต็มเพื่อนักเรียนทุกคน แต่ครูโม บุคลากรโรงเรียน ตลอดจนแฟนคลับ ก็ได้มีการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ และผู้ปกครองในทุกด้านที่ทำได้อีกด้วย
“ช่วยเหลืออะไรบ้าง แทบจะทุกอย่างหัวจดเท้าเลย โรงเรียนคุณครูไม่มี pattern ในการใส่ชุดนักเรียน จะชอบพูดแซวนักเรียนว่าโรงเรียนเรานานาชาติจ้า ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าถ้าฉันไม่ได้ใส่เหมือนคนอื่น ฉันไม่กล้ามาโรงเรียน อะไรอย่างนี้ค่ะ
แฟนคลับต่างๆ บางทีเป็นของที่มีสภาพดีมือสอง มือหนึ่งก็มี คุณครูก็แจก แต่จะไม่แจกให้จนเยอะเกินไป เพราะคิดว่าถ้าเด็กมีเยอะเกินไปเขาจะไม่รู้คุณค่าตรงนั้นเลย ต้องแจกให้เหมาะสมกับเด็กคนนั้นด้วย ถ้าแจกหรืออะไรต่างๆ หนูใส่มาได้เลย สมมติว่ามันเหลือหรือว่ามันเยอะจริงๆ เกินความจำเป็นที่เขาควรที่จะได้ คุณครูก็แค่เอาไปให้โรงเรียนอื่นๆ รอบข้างค่ะ
support ทุกอย่างแม้กระทั่งผู้ปกครอง เสื้อผ้าผู้ปกครองก็ได้จ้า ถ้าใส่ได้ก็เอาไปเลยค่า กับข้าวบางมื้อก็เหลือบ้างแต่ไม่ได้เหลือเยอะ สมมติว่าเด็กคนนี้เรารู้ว่าบ้านเขายากจนมากๆ คุณครูก็จะห่อให้เอากลับบ้านไปกิน
คุณครูจะเคลียร์ตู้เย็นทุกวันศุกร์ ผักที่ยังเหลือและสภาพดีก็จะแจกเด็ก เราเคลียร์พื้นที่ตู้เย็นเพราะว่าอาทิตย์ต่อไปต้องยัดใส่เต็ม แล้วก็มีปัจจัยยากจน เราก็ต้อง support เต็มที่ เดี๋ยวคุณครูหาทุนตรงนั้นตรงนี้ แทบจะเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว”
นอกจากนี้ เธอยังสะท้อนถึงการเป็น “ครูโรงเรียนขนาดเล็ก” แน่นอนว่าหน้าที่ไม่ได้มีเพียงแค่การสอนหากเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ยังมีอะไรอีกมากมายให้ทำ ซึ่งหากจะแก้ไขก็คงต้องรื้อใหม่ทั้งระบบการศึกษาไทย
“ถ้าแก้ในระบบมันจะแก้แค่โรงเรียนครูโรงเรียนเดียวไม่ได้ มันต้องแก้ทั้งหมด มันก็คงจะใช้เวลาแล้วก็ใช้กระบวนการอะไรหลายๆ อย่างมากๆ เพราะมันไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียวในการทำอาหารกลางวัน แต่ละบริบทแต่ละพื้นที่มันต่างกัน
เกินหน้าที่มั้ย ถ้าบอกว่าคุณครูมีหน้าที่แค่สอนก็จะคิดว่ามันเกินหน้าที่ แต่ถ้าคิดว่าหน้าที่ของคุณครูคือการที่ทำให้เด็กมีความสุขและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ก็คิดว่าคุณครูกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนมากกว่า
คุณครูโรงเรียนอื่นหรือโรงเรียนใหญ่ๆ เขาก็จะมีแค่หน้าที่สอน บางทีก็สอนแค่วิชาเดียว แต่เราต้องปรับตัวมากกว่าค่ะ อย่างน้อยก็เชื่อว่าคุณครูได้อะไรหลายๆ ได้รู้จักคนที่ใจดี เอ็นดูเด็กๆ ได้รู้ว่าทีมคุณครูสามารถ support คุณครูได้ตลอดเวลา support ซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่โรงเรียนใหญ่ๆ อาจจะไม่ได้เจอแบบนี้ค่ะ บางทีมันแค่ปรับมุมมองก็สบายใจมากขึ้น
ถ้าคุณครูบอก โอ้โห… ทำไมมันหนักจังเลย มันหนักตั้งแต่การเดินทางมาโรงเรียนแล้ว มันหนักตั้งแต่ตัวเด็กแล้ว ซึ่งตัวเด็กเราเลือกได้มั้ย มันเลือกไม่ได้ค่ะ การเป็นครูมันเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราอยากสอนแค่อย่างเดียว
ถามว่ามันเหนื่อยกว่ามั้ย คุณครูก็คิดว่าไม่ว่าอาชีพไหนหรืออาชีพเดียวกันแต่ทำต่างที่กัน มันก็เหนื่อยเหมือนกันหมดแค่มันเหนื่อยต่างบริบท ต่างหน้าที่ ต่างวาระ ต่างระยะเวลากันแค่นั้นเองค่ะ บางทีคุณครูก็รู้สึกว่า การทำแบบนี้ เพื่อนมาทำช่วยกัน เด็กมาทำช่วยกันมันก็สนุกดีนะ”
ตลอด 5 ปีที่ครูโมได้บรรจุมา โรงเรียนบ้านนาหลวงก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากมาย ซึ่งก็มาจากความร่วมใจของเหล่าครูและผู้ใหญ่ใจดี ที่อยากให้เด็กๆ ได้เปิดโลกกว้างมากกว่าแค่บนภูเขาสูง
“เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก (ลากเสียงยาว) อุปกรณ์ทุกอย่าง การกินอยู่ การแต่งตัวอะไรต่างๆ เหมือนที่คุณครูเล่าเมื่อกี๊ ที่ว่าทำไมเสื้อเป็นอย่างนี้ล่ะลูก พอเรามีมาแจกหรือมาให้ เขาก็จะรู้สึกว่าได้มาแล้วเขาก็จะรักษามากขึ้นด้วย
แต่ก่อนลูกบอลเก่าๆ ขาดๆ เดี๋ยวนี้ก็มีแรง support อุปกรณ์กีฬาที่เด็กๆ ได้เล่น แม้กระทั่งเครื่องดนตรีที่เขาไม่เคยจับเลยด้วยซ้ำ เด็กก็ได้จับ ได้ทำ คอมพิวเตอร์ที่ได้เล่นบ้าง อาหารที่เด็กไม่เคยเห็น ไม่เคยกินก็ได้กิน หลายๆ อย่างที่เขาไม่เคยเจอ
แล้วเขาก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ เหมือนมีความปลอดภัย หมายถึงว่าจุดปลอดภัยของเขามากขึ้น โรงเรียนทำทุกอย่างให้กับเขาได้ บางครั้งคุณครูก็จะได้ยินทุกเทอมว่า ‘คุณครูเมื่อไหร่จะเปิดเรียน’ มันก็เป็นสิ่งที่ดีๆ เป็นกำลังใจดีๆ ค่ะ”
ขุมกำลังใจที่ทำให้เธอยังมีแรงทำต่อ ก็มาจากทุกคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร บรรดาแฟนคลับ และที่สำคัญที่สุดคือเหล่านักเรียนตัวน้อยที่รอหม่ำๆ ข้าวนั่นเอง
“เติมไฟให้ตัวเองยังไงบ้าง เอาจริงๆ มันเหมือนมีแรงเติมไฟทุกวันเลยนะ ตอนที่คุณครูตักข้าวหรือคุณครูเดินมาตอนเช้า เด็กวิ่งมา ‘สวัสดีค่ะ วันนี้มีอะไรทานคะ’ อย่างงี้ มันก็เป็นแรงที่โอเค เหนื่อยขนาดไหนฉันก็ต้องทำแล้วนะ เด็กรอกินนะ เด็กรอจะมาโรงเรียนเพื่อที่จะมาเจอในสิ่งที่เราทำให้เขานะ นั่นคือแรงของคุณครูแล้ว
แล้วก็แรงที่มาจากผู้บริหาร แรงที่มาจากเพื่อนร่วมงาน แรงที่มาจากคนที่ support เรา โซเชียลฯต่างๆ แฟนคลับต่างๆ ขนาดเขาไม่ได้รู้จักเด็กเรา เขายังอยากให้เด็กเราเลย แล้วเราอยู่ตรงนี้ เราเป็นครูของเด็กตรงนี้ ถึงเราเหนื่อยยังไงเราก็ต้องทำนะ เขา support เราขนาดนี้ เราจะไม่ทำต่อจริงๆ เหรอ
มันมีนะ วันไหนที่ไม่อยากทำแล้ว เหนื่อยมาก มันมีแต่พอมาเจอหลายๆ จุด มันเป็นจุดที่หยุดไม่ได้ มันก็จะมีแรงฮึดมาตลอด เด็กคือส่วนใหญ่แหละ เด็กก็จะรอคอย แล้วบางทีวิ่งมา ‘คุณครู ไม่ได้กินอันนี้นานแล้วนะ อยากกิน’ เราก็โอเคลูก”
ท้ายที่สุดนี้ คุณครูอารมณ์ดีก็ขอฝากคำขอบคุณไปถึงผู้ที่คอยติดตาม และหวังว่าสิ่งที่เธอทำอยู่ จะเป็นรอยยิ้มและกำลังใจดีๆ ให้กับทุกคนที่ผ่านมาเห็นแบบนี้ตลอดไป
“เอาจริงๆ การที่คุณครูถ่ายคลิปไม่มีคอนเทนท์เลยนะ คำว่าคอนเทนท์ของคุณครูมันคือการใช้ชีวิตประจำวันและสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น อาจจะมีอะไรตื่นเต้น บางทีก็ไม่สามารถบอกได้ ก็บอกไม่ได้เหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) ต้องติดตาม
ขอบคุณนะคะ ทุกอย่างเลย ขอบคุณไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ คนที่ support มาเป็นกำลังทรัพย์หรือแม้กระทั่งกำลังใจ เป็นแรงที่ทำให้คุณครูรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันไม่เสียเปล่า มันคือสิ่งที่เขารอที่อยากให้เกิดขึ้น
เขาอาจจะไม่รู้จักคุณครูหรืออาจจะไม่ได้รู้จักเด็กด้วยซ้ำ แต่มา support ทำให้คุณครูจากที่เหนื่อย มีแรง support ก็เหนื่อยน้อยลง เด็กๆ ก็มีสิ่งที่ดีมากขึ้น ก็ขอบคุณมากๆ เลย ก็ขอบคุณที่ support แล้วก็เป็นกำลังใจให้กันและกัน
บางทีคุณครูอาจจะเป็นกำลังใจให้เขาในหลายๆ อย่าง บางคนก็มี inbox มาหาคุณครูนะว่า ‘เป็นโรคมะเร็งนะคะ กินอะไรไม่ค่อยได้เลย พอเห็นคุณครูตักข้าวนี่กินได้เลยค่ะ’ คุณครูก็มีแรงกำลังใจ ว่าเราเป็นส่วนนึงที่ทำให้เขาโอเคนะ บางทีอาจจะเป็นรอยยิ้มให้เขาในวันนั้น ก็เป็นรอยยิ้มให้กันและกัน และเป็นแรง support ให้กันและกัน ก็ขอบคุณมากเลยค่ะ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
..."เกินหน้าที่ไหม ถ้าบอกว่าคุณครูมีหน้าที่แค่สอน ก็จะคิดว่ามันเกินหน้าที่ แต่ถ้าคิดว่าคือการที่ทำให้เด็กมีความสุขและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น คุณครกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ มันอยู่ที่มุมมองแต่ละคน"...
>>> https://t.co/3LKTuh9yMs#อาหารกลางวัน #อาหารกลางวันนักเรียน #อาหารกลางวันเด็ก #บริจาค pic.twitter.com/xf3fOUKyxm— livestyle.official (@livestyletweet) December 9, 2023
@livestyle.official ...แค่จากโรงเรียนลงไปตีนภู 13 กม. ไม่มีบ้านคนเลย ป่าล้วน "ผอ.ถามครูว่าจะย้ายไหม? ยังค่ะ ยังมีความสุขกับการเหนื่อยตรงนี้อยู่" @monika1136 ... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ดาวtiktok #tiktoker #contentcreator #คุณครู #โรงเรียน #โรงเรียนชนบท #โรงเรียนบ้านนาหลวง #อาหารกลางวัน #อาหารกลางวันนักเรียน #อาหารกลางวันเด็ก #บริจาค ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ครูคูลโมณีกา” และเฟซบุ๊ก "Monika Chunkor"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **