กองทัพบกชาติสมาชิกอาเซียนได้ตบเท้าเข้าร่วมกันพร้อมหน้า หลังกองทัพบกไทยเป็นเจ้าภาพ การทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีอาเซียน หรือ ASEAN Armies Rifle Meet 2023 (AARM 2023) ที่เพิ่งปิดฉากไปอย่างงดงามและยิ่งใหญ่ ณ สนามยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบก ศูนย์การทหารราบ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 16-25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
พล.ต. อาวุธ พุทธอำนวย ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ในฐานะตัวแทนกองทัพบก กล่าวว่า การทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีอาเซียน จะช่วยพัฒนากำลังพลทั้งของกองทัพบกไทยและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพชาติอาเซียนในฐานะมิตรที่ดีอย่างแน่นแฟ้น
“การทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลายประการ อย่างแรกคือต้องการพัฒนากำลังพลของกองทัพบกของเราเองให้มีศักยภาพ มีการพัฒนาเรื่องการใช้อาวุธ ไม่ว่าจะเป็นปืนพก ปืนเล็กสั้น ปืนเล็กยาว หรือปืนกล เพื่อให้กำลังพลเรามีขีดความสามารถที่สูงขึ้น
สำหรับในเรื่องที่สอง คือวัตถุประสงค์การจัดที่ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ท่านต้องการให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ใช่แค่จัดการแข่งขันเพื่อให้ได้ผลแพ้ชนะ ผลแพ้ชนะเป็นเรื่องรอง แต่ที่เราต้องการคือให้กลุ่มประเทศอาเซียนได้พบปะพูดคุยกันระหว่างนักยิงปืนด้วยกันเอง ซึ่งจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีงามของแต่ละประเทศ
ส่วนเรื่องที่สามคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะนักยิงปืนที่เข้ามาทั้ง 10 ประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 450 คน ยังไม่รวมผู้ควบคุม ถ้ารวมก็อยู่ประมาณ 500 คน เพราะฉะนั้นการเข้ามาร่วมทดสอบก็จะได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวที่อำเภอหัวหิน ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวอำเภอปราณบุรี และที่อื่นๆ อีกมากที่เมืองไทยเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย”
กิจกรรม ASEAN Armies Rifle Meet จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2534 จากแนวคิดร่วมกันของผู้บัญชาการทหารบกประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการให้กองทัพบกของอาเซียนทำกิจกรรมทางทหารร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร นอกเหนือไปจากการปฏิบัติภารกิจร่วมกันด้านการฝึกและด้านความมั่นคงอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการจัดทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี กองทัพบกมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในครั้งแรก และต่อมาได้มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ ทบ.บรูไน, ทบ.อินโดนีเซีย, ทบ.มาเลเซีย, ทบ.ฟิลิปปินส์, ทบ.สิงคโปร์ และ ทบ.ไทย
ใน AARM 1997 (2540) ซึ่งเป็นการเริ่มวงรอบที่สอง ได้มีการนำกติกาสากลมาใช้เพื่อทดสอบโดยแบ่งความรับผิดชอบให้กองทัพบกแต่ละประเทศออกแบบรายการทดสอบแต่ละประเภทอาวุธแล้วนำมาพิจารณาร่วมกันจนได้ข้อสรุปออกมาเป็นกติกา
ต่อมาในปี 2543 ซึ่งกองทัพบกไทยได้เป็นเจ้าภาพและได้เชิญกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมจนครบ 10 ประเทศ ได้แก่ ทบ.กัมพูชา, ทบ.ลาว, ทบ.เมียนมา และ ทบ.เวียดนาม ไม่เพียงแค่นั้นยังได้ริเริ่มให้มีการจัดประชุม ผบ.ทบ.อาเซียน ASEAN Chief of Armies Multilateral Meeting (ACAMM) ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยดำริของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. ขณะนั้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศ และได้ยึดถือเป็นแนวทาง และเป็นมาตรฐานปฏิบัติต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีอาเซียนค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบการทดสอบและรายละเอียดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนมาถึงครั้งล่าสุด ASEAN Armies Rifle Meet 2023 ที่ ทบ.ไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง และได้กำหนดรูปแบบการทดสอบใหม่ตามนโยบายของ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบกท่านปัจจุบัน ที่เน้นความสามัคคี ลดรูปแบบที่เน้นการแข่งขันลง เพื่อให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์และการทำความรู้จักกันระหว่างกำลังพลกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากขึ้น และมีรูปแบบการมอบถ้วยรางวัลให้กับทีมผสมหลายชาติด้วย
ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ กล่าวถึงภาพรวมของการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีครั้งนี้ว่าทุกประเทศชื่นชมกองทัพบกไทยในการต้อนรับผู้บังคับบัญชาและกำลังพลในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างดี
“ตั้งแต่เราให้การต้อนรับตั้งแต่วันพิธีเปิด มาจนถึงพิธีปิด การประชุม ทุกประเทศชื่นชมกองทัพบกไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงการแข่งขัน ซึ่งผลแพ้ชนะเป็นเรื่องรอง แต่ได้เกิดการพบปะพูดคุย เกิดความสามัคคี
ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในกลุ่มนักยิงปืน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า”
สำหรับผลการทดสอบยิงปืน AARM 2023 แบบที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 มีดังต่อไปนี้
1.ประเภทปืนเล็กยาว อันดับที่ 1 อินโดนีเซีย อันดับที่ 2 ไทย อันดับที่ 3 อินโดนีเซีย 2.ประเภทปืนเล็กสั้น อันดับที่ 1 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 2 ไทย อันดับที่ 3 ไทย 3.ประเภทปืนพก (ชาย) อันดับที่ 1 อินโดนีเซีย อันดับที่ 2 อินโดนีเซีย อันดับที่ 3 อินโดนีเซีย 4.ประเภทปืนพก (หญิง) อันดับที่ 1 อินโดนีเซีย อันดับที่ 2 อินโดนีเซีย อันดับที่ 3 ไทย 5.ประเภทปืนกล อันดับที่ 1 เวียดนาม อันดับที่ 2 ไทย อันดับที่ 3 เวียดนาม
สิบเอกหญิงธนภรณ์ พะนิรัมย์ มทบ.25 เจ้าของรางวัลอันดับที่ 3 ประเภทปืนพก (หญิง) เปิดใจว่าเคยแข่งมา 7 ครั้งแล้ว และเคยเป็นแชมป์เก่าเมื่อปี 2015 ทำให้เธอมีประสบการณ์ค่อนข้างเจนสนาม จากครั้งแรกๆ ที่แข่งขันมาจนถึงปัจจุบันได้พัฒนาฝีมือและสภาพจิตใจให้ดีขึ้น
“การเข้าร่วม AARM ทำให้ได้ประสบการณ์เรื่องการยิงปืนของแต่ละประเทศมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ก็ได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ส่วนกองทัพได้มีประสิทธิภาพของกำลังพลที่ดีขึ้นในเรื่องการยิงปืน”
ด้าน สิบเอกธรรมนูญ นาคเกิด พลสูทกรรม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เล่าว่าเคยร่วมทดสอบการยิงปืนทางยุทธวิธีมา 10 กว่าปีแล้ว การแข่งขันแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องสภาพภูมิประเทศ บรรยากาศ การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยจะช่วยให้รู้สึกคุ้นเคยมากกว่า แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างให้ได้ก้าวข้าม
“สิ่งที่ผมได้มาคือรางวัล คือความภาคภูมิใจของครอบครัว ความภาคภูมิใจของตัวเอง และชื่อเสียงของกองทัพบก สิ่งที่กองทัพบกไทยได้ประโยชน์มากๆ คือมิตรภาพครับ กำลังพลได้มาเชื่อมความสามัคคีระหว่างภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนความคิด แลกเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ AARM จึงเป็นมากกว่าการแข่งขันครับ”
อีกคนที่แบ่งปันมุมมองจากการเข้าร่วมทดสอบการยิงปืนทางยุทธวิธีครั้งนี้ คือ จ่าสิบเอกอนุสิษฐ์ ประสบดี ผบ.หมู่ ค.60 ร.21/3 รอ. เขาอธิบายว่าการฝึกซ้อมเพื่อมาทดสอบ AARM ช่วยให้กำลังพลได้เพิ่มสมรรถนะ เพราะถึงแม้ในการฝึกซ้อมจะผิดพลาดได้ แต่ในการทดสอบจริงจะผิดพลาดไม่ได้ ทุกคนต้องพยายามปรับแก้ให้ลดข้อผิดพลาดได้มากที่สุดในวันแข่ง
“ส่วนตัวผมซึ่งขึ้นมาร่วมทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีเป็นปีแรก สิ่งที่ผมได้อย่างแรกคือประสบการณ์จากการแข่งขัน สิ่งที่กองทัพได้คือความสามัคคีระหว่างประเทศที่กำลังพลนานาชาติได้มายิงปืนทางยุทธวิธีร่วมกัน”
หลังจาก ASEAN Armies Rifle Meet 2023 ครั้งนี้ปิดฉากลงโดยสมบูรณ์ นอกจากผลการแข่งขันที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของกำลังพลในกองทัพบกไทย ความสำเร็จอีกประการที่ทรงคุณค่ามากคือความสมานฉันท์ระหว่างกองทัพของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเป็นปราการป้องกัน และสร้างความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ได้ในอนาคต ซึ่งกองทัพบกไทยจะได้มีความมั่นใจในการที่จะก้าวไปสู่กองทัพบกชั้นนำของภูมิภาคอย่างแน่นอน
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **