xs
xsm
sm
md
lg

จากพนักงานบัญชีสายปาร์ตี้ สู่ “สัปเหร่อสาว” สานต่อเจตนาครอบครัว [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่พึ่งสุดท้ายของผู้วายชนม์… เปิดใจ “เนย - หยาดเพชร เชาว์วาส” สัปเหร่อคนสวยวัย 30 ปี กับหน้าที่ “ผู้ควบคุมการเดินทางข้ามมิติ” ที่สืบทอดกันมาในตระกูล วอนลบภาพจำจากหนัง “อาชีพสัปเหร่อไม่ได้น่ากลัว”



สวย เก่ง ใจกล้า “สัปเหร่อสาวเมืองจันท์”

ถ้าจะพูดถึงกระแสหนังไทยที่มาแรงที่สุดในปีนี้ ก็คงหนีไม่พ้น “สัปเหร่อ” หนังไทยแนวตลก-สยองขวัญ หนึ่งในจักรวาล “ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์”

จากฝีมือการกำกับ เขียนบท ตัดต่อ ทำซาวด์ รวมถึงแสดงเองของ "ต้องเต - ธิติ ศรีนวล" ที่โด่งดังแบบสุดขีด แถมในตอนนี้ก็กวาดรายได้ทะลุ 720 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่โลกโซเชียลฯ มีการแชร์คลิปวิดีโอจากผู้ใช้ TikTok @yadpech5668 ที่ปรากฏภาพสาวสวยคนหนึ่ง กำลังทำหน้าที่เป็น “เจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน” หรือเรียกสั้นๆ อย่างที่คุ้นเคยกันว่า “สัปเหร่อ” อย่างขยันขันแข็ง

พร้อมแคปชันว่า “ออกจากงานบัญชี มาเป็นสัปเหร่อกับพ่อ ได้ 4 เดือนละ” จนถึงตอนนี้คลิปที่ว่า ก็มีคนเข้าชมไปแล้วกว่า 3.8 ล้านครั้ง



นอกจากนี้ก็ยังมีคลิปวิดีโออื่นๆ ที่เผยให้เห็นถึงเบื้องหลังการทำงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพิธีที่เกี่ยวข้อง การปอกและเฉาะมะพร้าว เพื่อนำน้ำมะพร้าวมาล้างหน้าศพ การลากเตาเผาที่มีขนาดใหญ่เกินตัว

การเขี่ยพลิกร่างขณะอยู่หน้าเตาเผา การพรมน้ำมนต์ที่กระดูกหลังเผา และอื่นๆ ซึ่งเป็นภาพที่หากไม่ได้มาอยู่ในจุดนี้ ก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นอย่างแน่นอน

ทางด้านคอมเมนต์จากชาวเน็ต ก็พากันบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เธอคือสัปเหร่อหญิงที่ไม่เพียงแค่สวยเท่านั้น ยังเก่ง มีใจที่เสียสละ และไม่กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นอีกด้วย

ในเวลาต่อมา ก็ทราบว่าหญิงสาวคนนี้มีชื่อว่า “เนย - หยาดเพชร เชาว์วาส” สาวชาวจังหวัดจันทบุรี วัย 30 ปี

นี่จึงเป็นโอกาสดีที่ทีมข่าว MGR Live จะชวนเธอผู้นี้มาพูดคุย และบรรทัดต่อจากนี้ เรามาทำความรู้จักชีวิตของสัปเหร่อสาวคนนี้ให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กัน



“อาจจะเป็นเพราะหนังเรื่องสัปเหร่อ ทำให้คนเหมือนรู้และมาสนใจอาชีพนี้ ทำให้คนเหมือนมาค้นหาคำว่า ‘สัปเหร่อ’ หนูก็เลยเป็นกระแสตามหนังไปด้วย

เพราะว่าทุกคนที่มาเจอจะแบบ… นี่สัปเหร่อหญิง ดังพร้อมหนังเลยนะ ตอนนั้นกระแสหนังมาแรงมาก แล้วหนูมามีชื่อเสียงตอนนั้นพอดี

คนรู้จักเยอะขึ้นเพราะหนังด้วย ก็มีส่วนค่ะ พอเริ่มมีชื่อเสียง มีคนรู้จัก คนเขาจะทัก เดินเข้ามาคุยกันเยอะ เข้ามาทักเข้ามาให้กำลังใจกันเยอะค่ะ ทำดีแล้วนะ ทำต่อไปนะ เก่งจังเลย สู้ๆ นะ อะไรแบบนี้ค่ะ

(สัปเหร่อหญิง) จากที่ดูก็เยอะนะคะ แต่ในพื้นที่จันท์ฯ หนูยังไม่เคยเห็น ต่างจังหวัดหนูเห็นมีหลายคนอยู่นะคะ แต่แค่เขาอาจจะอายุเยอะกว่าหนูหน่อย แต่ว่ารุ่นๆ เดียวกันยังไม่เคยเห็น อาจจะเป็นตรงนี้ด้วยที่มีกระแส”

เนย ย้ำอีกครั้งถึงคนที่ยังมองอาชีพ “สัปเหร่อ” ผ่านแว่นของละครหรือหนังในอดีต ที่มักสะท้อนภาพอาชีพนี้ไปในเชิงน่ากลัว ว่าอาชีพที่เธอทำก็ไม่ได้แตกต่างจากงานอื่นๆ คนทั่วไปก็ทำเช่นกัน

“การเป็นสัปเหร่อหนูว่ามันก็เหมือนการได้ทำบุญช่วยคน ก็อยากให้ลองเปิดรับ อย่าไปคิด อย่าไปจำภาพจำหนังที่สัปเหร่อเป็นขี้เมา เป็นไสยศาสตร์ น่ากลัว พวกเล่นของ หนังก็คือหนังค่ะ (หัวเราะ)

ปัจจุบันไม่ใช่ค่ะ อาชีพสัปเหร่อไม่ได้น่ากลัวเลย ก็คืออาชีพของคนทั่วๆ ไปค่ะ แค่เราต้องไปทำงานเป็นอาชีพปกตินี้แหละค่ะ”


ชีวิตพลิก จากสาวบัญชี สู่สัปเหร่อ

สำหรับการนำอาชีพที่ตนเองทำมาถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ก็เหมือนเป็นการเปิดโลกให้กับคนทั่วไป และเป็นการพาให้เธอมาเจอคนร่วมอาชีพอีกมากมาย

“ก็มีเล่น TikTok ถ่ายตอนตัวเองทำงาน ตอนเผา ตอนเขี่ย ตอนพลิกศพ ตอนเก็บกระดูก ตอนแปรธาตุ อะไรแบบนี้ค่ะ มันเป็นงานก็ลองถ่ายงานที่ตัวเองทำดู ไม่คิดว่ากระแสตอบรับมันเยอะมาก คลิปแรกตอนนี้ก็ 3.8 ล้านที่คนดู ไม่คิดว่าคนดูเยอะขนาดนี้

ก็มีให้กำลังใจ ชื่นชม เจอวิญญาณมั้ย เจอสิ่งลี้ลับบ้างมั้ย สัปเหร่อแถวนี้ค่าตัว 4,000-5,000 อะไรประมาณนี้ สัปเหร่อเรียกแพง หนูก็บอก งั้นมาแถวบ้านหนูก็ได้ค่ะ (หัวเราะ)

บางคนที่เป็นสัปเหร่อเหมือนกัน ก็ทักมาบอกว่าเขาเป็นสัปเหร่อนะ อยู่จังหวัดนี้ หลายคนมากเลยค่ะ มาแลกเปลี่ยนความรู้ เขาทำกันมาหลายรุ่น

คือแต่ละที่ก็คือไม่เหมือนกันเลยค่ะ อย่างพิธีบ้านเขาก็ไม่เหมือนกันตั้งแต่ตอนวันเอาศพเข้าโลง เซ่นโลง ต้องมีพิธีเซ่นนู่นเซ่นนี่เหมือนกันมั้ย อยากรู้ว่าทางเราทำแบบไหน แตกต่างกันหลายอย่างอยู่ค่ะ”


[ คุณพ่อผู้ถ่ายทอดวิชาสัปเหร่อให้ ]
ย้อนกลับไปถึงเส้นทางชีวิตก่อนที่จะได้มาเป็นสัปเหร่ออย่างเต็มตัว ก็เรียกได้ว่าเธอรู้จักอาชีพนี้มาตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก เพราะทั้งคุณปู่และคุณพ่อ ก็ทำหน้าที่เป็นสัปเหร่อในพื้นที่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มาอย่างยาวนาน

“เรียนจบ ม.6 ค่ะ ตอนที่เรียนจบเลย อยู่ที่จันท์ฯ ก็ทำงานอยู่ในตัวเมือง พ่อเริ่มอยากให้กลับมาอยู่บ้าน ก็เลยกลับมาอยู่บ้านแล้วก็ทำงานที่ท่าใหม่ ช่วงนั้นทำบัญชีค่ะ ประมาณ 2-3 ปีหลังที่ว่าเขาชวนมาทำ

ตอนแรกคุณปู่ทำ ตอนนั้นไม่ชอบนะคะ ก็มีกลัวค่ะ ตอนเด็กๆ มันก็มีกลัว เห็นเขาไปทำมันก็ไม่ได้ตาม ไม่ได้อะไร ไม่เคยไปยุ่ง ไม่เคยตาม ไม่เคยอยากจะไปทำเลยค่ะ”

ด้วยเพราะผู้เป็นพ่อที่นับวันอายุยิ่งมากขึ้น เรี่ยวแรงในการทำงานก็ยิ่งถดถอย และแล้วชีวิตของเนยก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ จาก “พนักงานบัญชี” ต้องเบนเข็มเส้นทางมาเป็น “สัปเหร่อ” ภารกิจสำคัญที่สืบทอดในครอบครัวมาแล้วหลายรุ่น



“เห็นพ่อเขาเหนื่อย บ่นเหนื่อยๆๆ จะไม่ทำเหรอ ถ้าหมดพ่อก็ไม่มีคนทำแล้วนะ แล้วก็มานั่งคิด ก็ไม่มีใครทำเลยค่ะ มีลูกพี่ลูกน้องค่ะ แต่เป็นลูกสาวคนเดียว ลูกพี่ลูกน้องก็ไม่มีใครเอาซักคน (หัวเราะ)

ถ้าหมดพ่อก็จะมีแค่อาคนเดียว แล้วมีหลายวัด ก็เลยแบบ… ทำก็ได้ ถ้าเกิดหมดไปแล้วก็ไม่มีคนทำแล้ว ไม่มีคนสานต่อแล้ว หนูก็เลยเอาดีกว่า เพราะมันไม่มีใครอยากจะมาทำตรงนี้ด้วย แต่ตั้งแต่ที่หนูเป็นกระแส ก็จะมีคนเขามาคอมเมนต์ว่า ‘เป็นต่อจากปู่เหมือนกัน’ ‘เป็นต่อจากพ่อเหมือนกัน’

ก็อยากมาทำเพราะพ่อบ่นเหนื่อยค่ะ พ่อบ่นเหนื่อยตลอดเลย เขาอายุเยอะแล้ว งานหนัก ไม่ไหว 2-3 งาน เขาเลยจะให้หนูมาช่วยทำ เผื่อเวลามี 1-2 งานก็แบ่งกันทำได้ค่ะ

แม่โอเคเลยค่ะ (ยิ้ม) เพราะแม่หนูก็เหมือนกันค่ะ ที่บ้านก็คือทำบุญ ถือศีลทุกวันพระเลยค่ะ สายเข้าวัดธรรมะธัมโมหมดทุกคนเลยค่ะ ไม่ว่าอะไรค่ะ เขาก็สนับสนุน อะไรที่ทำแล้วได้บุญ เขาสนับสนุนหมดค่ะ”


[ พ่อและแม่ผู้สนับสนุนในอาชีพนี้ ]
หลังจากเลือกที่จะมาเป็นผู้สืบทอดงานสัปเหร่อแล้ว เนยเริ่มต้นจากการติดตามคุณพ่อไปเป็นลูกมือในงานศพให้เกิดความคุ้นเคย โดยใช้เวลาว่างในวันหยุดของตนเอง ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำอาชีพนี้อย่างเต็มตัว

“จุดเริ่มต้นน่าจะประมาณ 2 ปีได้ค่ะ คือเหมือนตอนนั้นก็แบบ… ลองทำดู พ่อก็เลยให้มนตร์มาท่อง เหมือนเวลามีงานก็ไปตามเขามั่ง ทำแค่เตรียมพิธีในงานค่ะ แค่นั้น ยังไม่ได้เอาศพเข้าโลงหรือว่าอะไร ยังแค่อยู่ในช่วงจัดเตรียมพิธีอย่างเดียวค่ะ

ตอนแรกเลยที่พ่อให้ไปทำ ก็คือให้แค่เป็นลูกมือ ตอนนั้นยังเป็นแค่ผู้ช่วย ยังไม่เป็นอะไรค่ะ มีแค่นิดๆ หน่อยๆ ช่วยทำนู่นทำนี่ คอยจัดพานประชุมเพลิง คอยจัดหน้าศพที่เขาต้องไหว้ อะไรแบบนี้ค่ะ

แล้วตอนหลังๆ เริ่มคิดอยากจะทำจริงๆ ก็เลยได้ทำ ก็มีหวั่นๆ ค่ะ เพราะเรายังไม่มีมนต์ยังไม่อะไร ยังไม่เก่งมนต์ แต่พอเริ่มได้ทำจริงๆ ได้ท่องเรียนท่องจำจริงๆ เริ่มเฉยๆ ค่ะ พอได้ลงมือทำมันไม่เจออะไรไงคะ ก็เลยไม่กลัว

ถ้าตั้งใจจริงๆ ก็ประมาณเดือนนึงก็จำได้แล้วค่ะ แต่ตอนนั้นหนูยังทำงานประจำอยู่ก็เลยไม่ค่อยได้ไปเท่าไหร่ ถ้าเกิดว่ามีงานช่วงตรงกับเสาร์-อาทิตย์ ช่วงตรงกับที่หนูหยุด หนูถึงจะไปตามพ่อทำงานได้”

ไม่กลัวในหน้าที่ ที่พึ่งสุดท้ายของร่างไร้วิญญาณ

ตั้งแต่วันแรกที่ เนย ได้เริ่มต้นอาชีพสัปเหร่ออย่างเต็มตัวจนถึงวันนี้ ก็นับเวลาได้กว่า 6 เดือนแล้ว เธอเล่าให้ผู้สัมภาษณ์ทราบถึงการทำงาน สัปเหร่อน้องใหม่คนนี้บอกว่า ไม่ได้รู้สึกกลัว และตนเองก็มีความตั้งใจในทุกขั้นตอน เพราะหน้าที่ของสัปเหร่อคือการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้วายชนม์

“เริ่มเลยก็จะมีโทรศัพท์เข้ามา เราต้องไปเตรียมตัวรอที่วัด บางที่เขาก็ให้ไปรับศพที่โรงพยาบาล พอศพมาแล้วเราก็ต้องทำพิธี บางศพเขาจะมีพิธีรดน้ำศพ เราก็จะเตรียมทำน้ำมนต์ แล้วก็รอระหว่างเขารดน้ำศพเสร็จ เราก็จะเซ่นโลง

เซ่นโลงเสร็จก็เอาศพเข้าโลง คาดโลงแล้วก็ปิดโลงปกติ เขาก็จะจัดพิธีเอาไว้กี่วัน กี่คืนก็แล้วแต่เจ้าภาพ แล้วพอตกลงกันได้ ก็จะถึงวันเผา วันเผาก็เตรียมตัวไปเซ่นเมรุ เซ่นเตา แล้วก็เผา เช้ามืดอีกวันก็จะเป็นเก็บกระดูกค่ะ เก็บกระดูกแล้วก็ใส่บาตร ก็คือเสร็จพิธี

ตอนนี้ยังไม่มีอะไรยาก ส่วนมากที่เจอมาเป็นผู้สูงอายุค่ะ ถ้าเป็นเคสโควิดเขาจะไม่ให้จัดพิธีค่ะ คือเผาเลย ตอนนั้นยังไม่ได้ทำ พ่อไม่ให้ไปด้วยค่ะ

พอตั้งใจจะมาทำจริงๆ แล้ว ก็คือไม่ได้กลัวอะไรแล้ว ตอนที่ตัดสินใจมาทำ ก็คือหนูคิดว่าเหมือนเรามาส่งดวงวิญญาณ ที่พึ่งสุดท้ายของเขา สัปเหร่อต้องทำพิธีส่งเขาไป คิดว่าได้บุญ เราตั้งใจทำเราก็ได้บุญของเราค่ะ”



[ แม้อายุน้อยและเป็นผู้หญิง แต่ก็เป็นที่เชื่อมั่นของคนในพื้นที่ ]
แม้ในช่วงแรกของการมาปฏิบัติจะมีความขัดเขินอยู่บ้าง เนื่องจากในงานศพแต่ละงานก็มักจะเจอกับญาติของผู้เสียชีวิตมากมาย ประกอบกับการท่องจำมนต์ที่ใช้ในการดำเนินพิธียังไม่แม่นยำนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีคุณพ่อคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ไม่ห่าง

“หนูตื่นคนมากกว่าค่ะ เวลาคนเยอะๆ ตอนทำแรกๆ เหมือนเขาไม่เคยเห็นเขาก็จะมายืนดู มันก็จะเขินๆ บ้าง ทำแรกๆ มันจะตื่นเต้นค่ะ มีช่วงแรกก็มีลืมว่าต้องใช้มนต์บทไหน แต่ก็จะเรียกพ่อมาทำให้ ‘พ่อ ทำตรงนี้ให้หน่อย’(หัวเราะ) เหมือนจะนึกไม่ออก แต่ตอนนี้ก็คือชินหมดแล้ว ได้หมดแล้ว

ก็มีมนต์ทำน้ำมนต์เวลาจะเซ่นโลง เกี่ยวกับศาสนาพุทธค่ะ แล้วก็มีมนต์ที่ต้องเซ่นโลงก่อนที่จะเอาศพ เหมือนขออนุญาตอย่างนี้ค่ะ กว่าจะจำได้ก็ไม่ยากนะคะ ต่อบทนะ ก็นั่งเขียน นั่งท่องจำ ถ้าตั้งใจทำจริงๆ วันเดียวก็ได้ค่ะ



ส่วนมากพ่อเขาจะปล่อยให้หนูทำแล้วค่ะ แต่ก็คือไปคู่ คุณพ่อเขาจะมีทำดูความเรียบร้อย ตรงนู้นหน่อย ตรงนี้หน่อย แล้วก็ช่วยทำไอ้นู่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง เวลาของหนักที่หนูยกไม่ไหว คุณพ่อเขาจะเป็นคนยกค่ะ ส่วนมากหน้าที่หลักก็จะเป็นหนูทำซะทุกอย่างแล้ว”

สำหรับในพื้นที่ท่าใหม่ตอนนี้ก็มีสัปเหร่อจำนวน 3 คนคือ คุณพ่อ คุณอาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของพ่อ และเนย ดูแล 7 วัด คือ วัดหนองบัว วัดหนองหงส์ วัดเขาบายศรี วัดกลางทุ่ง วัดไผ่ล้อม วัดบุญญวาสวิหาร และวัดสามผาน

และนอกเหนือจากการเป็นสัปเหร่อ ทางครอบครัวเชาว์วาส ก็ยังมีบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิธีศพ ให้กับคนในพื้นที่แบบครบวงจร

“พ่อเขาจะมีทีมงานของเขาค่ะ ถ้าเกิดมีคนเสีย สามารถโทร.มาได้เลย ก็คือทางเราจะมาจัดเตรียมโลงศพให้ได้แค่บอก แล้วก็มีทีมงานจัดดอกไม้ ติดต่อเรื่องโลงศพ จะมีทีมงานของเขาที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ค่ะ

ทุกวันนี้ออกงานคู่กับคุณพ่อตลอดเลย ก็ทำงานกับคุณพ่อ เวลาที่มีงาน ถ้าเกิดมีงานเดียวก็จะไปคู่กับคุณพ่อ ไปช่วยกันทำ แต่ถ้ามี 2 งานก็คือแยกกันทำค่ะ พ่อวัดนึง หนูอีกวัดนึง ทำคนละวัดเลย



ชุกๆ เลยก็คือล่าสุด 4 งานติดต่อกัน หนูเพิ่งได้พัก เช้าเราไปทำงานใช่มั้ยคะ กลับมาเราไปเก็บกระดูกตี 3 ตี 4 แล้วเราก็ต้องกลับมาเตรียมตัวไปทำงานต่อ

ทำงานเสร็จกลับมา เช้ามืดเก็บกระดูก แล้วก็กลับมาอาบน้ำ เตรียมตัวไปทำงานต่อ 4 วันอย่างนี้ค่ะ มันเพลียตรงที่ต้องตื่นเช้ามืด แล้วกลับมาเตรียมตัวทำงาน ก็คือต้องดูแลตัวเองให้ดีเลยค่ะ”

และอย่างที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น ในตอนนี้เนยลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นสัปเหร่ออย่างเต็มตัว สำหรับเรื่องของรายได้ เธอบอกว่าตอนนี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ก็ต้องมีเก็บไว้ยามฉุกเฉินเป็นธรรมดา

“เป็นอาชีพหลักเลยค่ะ อาชีพเสริมของหนูวันไหนว่างๆ ไปนั่งขายเสื้อผ้า (รายได้ต่องาน) หลักพัน ไม่เกิน 3,000 ค่ะ อย่างล่าสุดเขาก็ไม่ค่อยมี พ่อก็จะถ้าไม่มีก็แค่บอก ก็มาคุยก็พอ เขาก็จะช่วย ก็ให้เตรียมแค่ของมาทำบุญใส่บาตร แล้วที่เหลือก็จัดการให้ เจอไม่บ่อยนะคะแต่ก็มีบ้าง

เลี้ยงชีพได้ บางทีอย่างเดือนที่แล้วทั้งเดือนมี 3 ศพ มันอยู่ได้ มันแค่มีกินมีใช้ทุกวันค่ะ เราต้องเก็บไว้ด้วยเพราะว่าบางทีศพไม่มีเข้าตลอด เผื่อเดือนไหนไม่มีเราก็ต้องเก็บไว้เผื่อค่ะ”

“อย่าไปเล่นๆ กับสิ่งที่เรามองไม่เห็นดีกว่า”

ถือได้ว่าเป็นความโชคดีของเนย เพราะตั้งแต่วันนี้ได้ก้าวเข้ามาสืบทอดอาชีพนี้จากพ่อ ก็ยังไม่เคยเจอคำสบประสาทหรือถ้อยคำที่บั่นทอนจิตใจ ว่าเป็นผู้หญิงหรือมีอายุน้อย ซ้ำยังได้รับแต่เสียงชื่นชมมาเป็นกำลังใจให้ยิ้มสู้ได้ในทุกๆ วัน

“แค่ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตนิดหน่อย การใช้ชีวิตประจำวัน ตื่นเต้นนะคะ เรามาทำตรงนี้เจอผู้คนมากมาย แล้วแถวท่าใหม่ก็ไม่มีผู้หญิงทำ ก็ยังคิดว่าเขาเห็นแล้วเขาจะเป็นยังไงบ้างมั้ยน้า แต่ก็ไม่มีใครว่าเลยค่ะ

ตอนนี้ก็คือมีแต่คำชื่นชม มีแต่คนชอบ ทุกคนก็ชอบ ญาติพี่น้องยิ่งสนับสนุนเลยค่ะ เก่งจังเลย ทำให้ดีนะ อย่างนี้ค่ะ (ยิ้ม) คนแถวนี้เขาก็เห็นกันนะว่าหนูเข้าวัด ทำบุญของหนูตลอดอยู่แล้ว เขาน่าจะรู้จักนิสัยหนู”



แต่คนที่ดูจะภูมิใจกับเธอที่สุด ก็หนีไม่พ้น ‘คุณพ่อ’ ผู้เป็นทั้งพ่อและครูที่ถ่ายทอดวิชาการเป็นสัปเหร่อให้ แม้จะไม่ชมลูกสาวต่อหน้า แต่เนยก็รับรู้ได้ถึงความภูมิใจในตัวเธอ ที่คุณพ่อมักจะไปชื่นชมให้กับคนรอบข้างได้ฟัง

“หนูมาทำงานกับพ่อใช่มั้ยคะ ขนาดทำ 2 คน ทำ 2-3 งานติดต่อกันยังเหนื่อยเลย แล้วหนูก็มาคิดตาม เออ… เมื่อก่อนเขาทำคนเดียวตั้ง 2-3 วัด พ่อจะเหนื่อยขนาดไหน มันเหนื่อยจริงๆ แล้วตอนนี้หนูก็ได้มาช่วยเขาแล้ว เหมือนได้ช่วยแบ่งเบาความเหนื่อยของเขา ดีแล้วออกมาทำ อันนี้ที่หนูรู้สึกดีค่ะ

เขาก็บอกแค่ให้ทำตัวดีๆ พยายามอยู่ในศีลห้า หนูก็ไม่ใช่คนดี 100 เปอร์เซ็นต์นะคะ ก็ยังมีไปเที่ยว ปาร์ตี้บ้าง แต่แค่วันพระเราก็จะเว้นนิดนึง อะไรแบบนี้ค่ะ (ยิ้ม)

พ่อเขาจะเป็นคนไม่ค่อยชม ไม่ค่อยพูดกับหนูหรอกค่ะ แต่จะไปอวย ไปคุยกับคนอื่นมากกว่า (หัวเราะ) เอาไปอวดเพื่อนๆ เขา อวดคนรอบข้างเขา เก่งนะ เป็นผู้หญิง ทำได้ ใจกล้า ใจถึง อะไรประมาณนี้ค่ะ แต่กับหนูเขาจะเฉยๆ ค่ะ (ยิ้ม)”



และเมื่อต้องมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับความตาย แน่นอนว่าต้องมีคำถาม ถามถึงสิ่งลี้ลับเป็นธรรมดา สัปเหร่อคนสวยเล่าว่า เคยเจอประสบการณ์ที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้เช่นกัน

พร้อมย้ำว่า การมาอยู่ตรงนี้ต้องตั้งใจมาก และที่สำคัญ “อย่าไปเล่นๆ กับสิ่งที่เรามองไม่เห็นดีกว่า”

“พ่อก็มีบอกว่า มีกลิ่นเหม็นเน่าตามมาบ้างแต่พอถึงแยกปุ๊บ กลิ่นก็หาย ส่วนมากจะเป็นกลิ่นเหม็นตามมา ถ้าไปที่วัดไม่เคยเจอค่ะ
แต่ถ้าที่บ้านก็มีบ้าง รถตู้ขนศพของพ่อค่ะ พ่อจะมีรถตู้คันนึงที่ไปรับศพ-ส่งศพ วันนั้นคือจะไปรับศพกันใช่มั้ยคะ หนูก็เลยแต่งตัวแล้วเดินไปรอที่รถ แล้วก็ได้ยินเสียงคนเปิดประตูรถ

หนูก็ตะโกนเรียกพ่อ ทำไมไม่พ่อไม่ตอบว้า... หนูก็เดินไปดูที่รถ พอไปดูปุ๊บ ไม่มีคนอยู่ที่รถเลย แล้วพ่อก็เดินตามหลังมา อ้าว พ่ออยู่ตรงนี้แล้วใครเปิดประตูรถ

ทุกวันพระ ที่บ้านหนูเขาจะทำบุญกันทุกคนเลยค่ะ จะพยายามอยู่ในศีลห้า (ขอห้าม) ห้ามกินของไหว้ค่ะ ของไหว้ผี ของเซ่น ศาลเจ้าที่ อะไรอย่างนี้ค่ะ ตอนมาทำก็คือต้องตั้งใจทำจริงๆ ท่องมนต์ต้องให้แม่น ให้เป๊ะ เราอย่าไปเล่นๆ กับสิ่งที่เรามองไม่เห็นดีกว่า (ยิ้ม)”

“สัปเหร่อ” ทำชีวิตเปลี่ยน

เมื่อถามถึง “หัวใจของอาชีพสัปเหร่อ” เนยตอบว่าคือการส่งดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตให้ไปสู่สุขคติ ซึ่งตนเองก็มีความตั้งใจที่จะทำอาชีพที่สืบทอดกันมาในครอบครัว “เชาว์วาส”ต่อไป

“หัวใจของอาชีพสัปเหร่อก็คือ ส่งผู้เสียชีวิตให้เขาไปสู่สุขคติค่ะ เราต้องตั้งใจทำจริงๆ ของพวกนี้เราจะมาเล่นๆ ไม่ได้ค่ะ ใจต้องมุ่งมั่น ตั้งใจจริงๆ ทำดีมันก็ได้ดีกับตัวด้วยค่ะ

อาชีพสัปเหร่อเหมือนการได้ทำบุญ ช่วยคน เราต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เราต้องมีเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีคนเสียชีวิตเมื่อไหร่ เราต้องเตรียมพร้อมที่จะไปทำพิธีตรงนั้นค่ะ เราไม่สามารถรู้จริงๆ

อย่างเมื่อวาน หนูนอนตื่นประมาณแปดโมง ก็มีโทรศัพท์เข้ามาว่ามีศพเข้า หนูไม่ทัน พ่อก็ต้องไปก่อน พ่อเขาก็บอก เป็นแบบนี้เราต้องตื่นมาเตรียมตัวไว้ก่อนนะ เผื่อมีงานเราจะได้ไปเลย เราจะให้เจ้าภาพเขารอเราไม่ได้ เราต้องไปรอเขา ก็คือต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา

ก็ทำไปตลอดค่ะ เพราะว่าถ้าไม่มีพ่อ ไม่มีหนู ก็ไม่มีคนทำนะคะหนูว่า ก็มีอาอีกคนนึง มันหลายวัด ไม่น่าไหว บางวัดในพื้นที่ท่าใหม่เขาก็เอาสัปเหร่อเขตที่อื่นมา มันก็จะลำบาก”



[ เข้าวัดถือศีลอย่างสม่ำเสมอ ]
และตั้งแต่ที่เธอได้ทำอาชีพสัปเหร่อ ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของกิจวัตรประจำวัน และมุมมองการใช้ชีวิตต่อจากนี้

“มุมมองชีวิตเปลี่ยน... ก็เปลี่ยนนะคะ เพราะว่าตั้งแต่หนูมาทำอาชีพนี้ใช่มั้ยคะ หนูก็เริ่มเข้าวัดมากขึ้น อย่างวันพระก็มีถือศีลบ้างอะไรบ้าง เรียนรู้หลายเรื่องเลยนะคะ เรียนรู้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์มาก

ชีวิตคนต้องรู้จักปล่อยวาง เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน อารมณ์ร้อน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองอะไรที่ปล่อยได้ก็ปล่อย วางได้ก็วาง แล้วก็เหมือนตัวเองใจเย็นขึ้นหลายๆ เรื่องเลยค่ะ

เมื่อก่อนจะปาร์ตี้หนักมาก ปาร์ตี้จนบ่นแล้วบ่นอีกทั้งแม่ทั้งพ่อค่ะ แล้วพอที่เขาชวนมาทำตรงนี้ด้วยคงเป็นเพราะอยากให้หนูละทิ้งจากไอ้พวกนั้นค่ะ (หัวเราะ) ตอนนี้นานๆ ทีก็มีเจอเพื่อน แต่ไม่ได้ปาร์ตี้หนักเหมือนสมัยก่อนแล้วค่ะ



ทุกวันนี้เวลามีอะไรที่ทำให้ทุกข์ใจ หนูก็มาเปิดฟังธรรมะ แล้วก็พยายามให้จิตตัวเองมันปล่อยวางกับเรื่องที่ทำให้เราคิดมากหรือเรื่องไม่เป็นเรื่อง จากเมื่อก่อนที่เราโมโหคนคนนึง ทำไมต้องทำแบบนี้ ทุกวันนี้หนูก็จะมองประมาณว่า มันก็เขาก็คงมีเรื่องของเขาที่เขาต้องทำแบบนี้ อะไรประมาณนี้ค่ะ”

สำหรับใครก็ตามที่สนใจ อยากลงมือทำอาชีพนี้ ในฐานะรุ่นพี่ เนยก็ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ก็ลองมาดูศึกษาดูงานก่อนได้ ขอแค่เป็นคนที่มุ่งมั่นและตั้งใจจริงๆ เพราะงานนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำด้วยความคึกคะนอง

“ถ้าอยากทำจริงๆ ก็คือตอนแรกพ่อเคยบอกไว้ว่า ถ้ามีคนเขาอยากทำจริงๆ ให้เขามาดูงานก่อน ให้เขาตามเรามาดูงานก่อน ดูความตั้งใจเขาว่าอยากทำตรงนี้จริงๆ มั้ย เขามีความตั้งใจที่จะทำจริงๆ มั้ย แล้วค่อยให้วิชา ให้มนต์เขาไปค่ะ เขาจะมาทำจริงๆ จังๆ มั้ย ถ้าเกิดให้มนต์ไปก่อนแล้วเขาทำเล่นๆ อะไรอย่างนี้ มันไม่ดี

ถ้าอยากเข้ามาทำ ก็เข้ามาทำได้ค่ะ ตั้งใจทำจริงๆ ก็พอ แค่ตั้งใจ มีเวลาที่จะมาทำ มีเวลาที่จะมาดู ทุกวันนี้ก็มีคนมาขอ ช่วยสอนหน่อยได้มั้ย หนูก็เลยบอกว่า หนูยังเป็นลูกศิษย์พ่ออยู่เลย (หัวเราะ)”



สุดท้าย สัปเหร่อสาวคนเก่ง ก็ขอฝากคำขอบคุณไปยังทุกๆ กำลังใจที่ส่งมาให้กัน และในอนาคต เธอก็จะพยายามหาการทำงานในแง่มุมใหม่ๆ มาให้ผู้ที่ติดตามได้รับชมกัน

“ก็อยากจะทำให้หลายๆ มุมให้ทุกคนได้ดูกันค่ะ แต่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำมุมไหนดี จะไลฟ์สดตอนทำงานดีมั้ย ก็เดี๋ยวรอว่างหาคอนเทนท์ให้ดูกันค่ะ

ขอบคุณที่เป็นกำลังใจ แล้วก็ที่เข้าใจในอาชีพนี้ ที่ยอมรับในอาชีพนี้ แล้วก็ทุกคนที่เป็นกำลังใจที่ติดตาม ก็ขอบคุณทุกคนจริงๆ ค่ะ ไม่คิดว่ากระแสตอบรับดีขนาดนี้ ตอนนี้คือยังไม่คอมเมนต์เสียๆ เลยค่ะ ก็ดีใจที่ชอบค่ะ ขอบคุณค่ะ”











สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “เซ’ เนยยย”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น