เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็กลายเป็น “Soft Power” คำพูดที่รัฐบาลพูดทุกวัน จนคนถามว่ารู้จริงหรือเปล่า? ชวนกูรูวิเคราะห์ รัฐเข้าใจจริงไหม? พร้อมถาม นโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft power” จะประสบความสำเร็จหรือไม่
เข้าใจความหมายจริงหรือเปล่า?
ดูเหมือนช่วงนี้ มองไปทางไหนก็มีแต่ Soft Power โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาล ที่อะไรโด่งดังและกลายเป็นกระแส ก็บอกว่ามันคือ Soft Power อย่างล่าสุด “หมูกระทะ” ก็กลายเป็น Soft Power ได้
เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ บอกว่าจุดแข็งของบ้านเราอย่างหนึ่งคือ “อาหาร” มองว่า “หมูกระทะ” สามารถผลักดันให้กลายเป็นSoft Powerได้
หรืออย่างในงาน “Thailand2024Beyond Red Ocean” “อุ๊งอิ๊ง” ก็ได้ชู 2 แบรนด์สินค้าอย่าง รองเท้า “นันยาง” กับ น้ำเต้าหู้ “โทฟุซัง” และหนังไทยเรื่อง “สัปเหร่อ”ว่านี้คือตัวอย่างSoft Powerที่สามารถผลักดันไทยไปเวทีโลกได้
ด้านนายกฯ อย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ออกมายินดีกับ แอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023 ที่ไปคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จาก Miss Universe2023 มาได้ พร้อมบอกว่านี้เป็นSoft Powerที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทย ผ่านชุดประจำชาติอย่าง “เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา”
การตื่นตัวเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องดี แต่การพูดเรื่องนี้เช้า-เย็น ของรัฐบาทจนคนวิจารณ์ว่าSoft Powerของรัฐ มันจับฉ่ายไปหรือเปล่า?ชวนคุยกับ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
และ “อาร์ต”-กชภพ กรเพชรรัตน์นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University)สาธารณรัฐประชาชนจีน เจ้าของบทความ Soft Power ท้องถิ่น เมื่อต้อง ‘สร้าง’ อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพราะ ‘โชคช่วย’ว่ารัฐเข้าใจความหมายของSoft Powerหรือเปล่า? “อาร์ต” บอกว่า...
“เอาจริงๆ ผมว่ารัฐบาลเนี่ย น่าจะติดกับดัก คำว่าSoft Powerมันคือวัฒนธรรมอย่างเดียวเนอะ”
เพราะว่าคำว่า “Soft Power” คือ การโน้มนาวหรือให้ประเทศอื่นทำตามเรา หรือมีพฤติกรรมที่เราต้องการโดยไม่ใช้การบังคับ ซึ่งจะมีทรัพยากร 3 อย่างในการสร้าง คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง นโยบายต่างประเทศ
{อาร์ต-กชภพ กรเพชรรัตน์}
แต่เราเข้าใจผิดว่า เป็นนโยบายเชิงวัฒนธรรมอย่างเดียว และตอนนี้ใช้คำนี้เพียงแค่ฉาบฉวย ซึ่งจริงๆ ต้องวิเคราะห์Soft Powerในฐานะ “อำนาจ” ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของรัฐอื่น หรือประชาชนประเทศอื่น
ด้านกูรูจากTDRIอย่าง “ดร.เสาวรัจ” บอกว่า “จริงๆ คิดว่าส่วนนะคะ เขาใช้คำที่มันใหญ่เกินไป”เพราะมองว่าสิ่งรัฐบาลพยายามโปรโมตคือ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”แต่แค่ไม่ได้ใช้คำนี้ตรงๆ เลยทำให้คนสับสน
“ถ้าเขาบอกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนจะเคลียร์ว่าเขาทำอะไร เพราะจริงๆSoft Powerมันเป็นคำใหญ่ค่ะ มันเป็นศัพท์ที่ใช้ในการเมืองระหว่างประเทศ”
ดร.เสาวรัจยังอธิบายเพิ่มว่า ถ้าต้องการผลักดัน Soft Power อย่างจริงจัง ควรอธิบายมิติอื่นให้ชัดเจนเพราะการสร้างSoft Powerไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ทรัพยากรหลายด้านทั้งวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง นโยบายต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกพูดถึง
เมื่อถามว่าการผลักดันเรื่องSoft Powerของไทยตอนนี้มากน้อยขนาดไหน? “อาร์ต” ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า แม้เราจะบอกว่าเรามีSoft Powerมากมาย แต่กลับยังไม่เห็น นโยบายว่า จะส่งออกมันยังไง
“1.มันไม่มีความชัดเจน2.มันมีการสนับสนุนหรือเปล่า เราก็ไม่รู้3.ต้องถามว่ารัฐบาลเองเข้าใจsoft Powerจริงๆ หรือเปล่า ในการนำไปใช้ ซึ่งมันยากมาก ก็เป็นที่ถกเถียงอยู่แล้วในสังคมไทย”
นโยบายที่ “ไม่เห็นภาพ”
แต่รัฐบาลก็มี นโยบาย “1 ครอบครัว 1Soft Power” หรือ “OFOS” ที่ผลักดันSoft Powerไทยโดยจะส่งเสริมเพิ่มทักษะให้คน อย่างน้อย 1 คนในครอบ จะส่งเสริม ด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ โดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”
เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ โดยใช้ตั้งหน่วยงานชื่อ “THACCA” (Thailand Creative Content Agency)
ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมSOFT POWERที่ช่วย ปลดล็อกกฎหมายสนับสนุนเงินทุน ขยายการส่งออก และสงเสริมเรื่อง เสรีภาพ มี 8 อุตสาหกรรมหลักคือ 1)ศิลปะร่วมสมัย 2)ออกแบบ แฟชั่น 3)การท่องเที่ยว 4)กีฬา 5)อาหาร 6)ภาพยนตร์ 7)หนังสือ 8)ดนตรีและเฟสติวัล
แล้วนโยบายนี้จะประสบความสำเร็จเรื่อง การผลักดันSoft Powerหรือเปล่า? “อาร์ต” เจ้าของบทความผู้เคยวิเคราะห์ประเด็น “Soft Power” กล่าวว่า หากประสบความสำเร็จก็น่ายินดี และเชื่อว่า การผลักดันเรื่องSoft Powerน่าจะมีแนวโน้มที่ดีว่า รัฐบาลที่แล้ว แต่...
“ต้องรอดูก่อนต่อไป แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ยังมีแผนการการพัฒนา”
ส่วนด้านนักวิชาการจากTDRIอย่าง “ดร.เสาวรัจ” โครงการนี้รายละเอียดยังไม่ชัดเจน และไม่เห็นภาพ การตั้งหน่วยงานอย่าง THACCA ที่คล้ายของเกาหลีอย่าง KOCCA (Korea Creative Content Agency)
KOCCA คือหน่วยงานที่ดูแล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งหมดของเกาหลี ไม่ว่า หนัง เพลง อนิเมะ แฟชั่น ซึ่งสนับสนุน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต รวมไปถึงการวางแผน นำออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ
“ขณะอย่าง ที่ของเมืองไทยนะค่ะ มันกระจัดกระจายกัน”
ซึ่งปัญหาของเมืองไทย คือ กระทรวงต่างๆ ที่รับผิดชอบ อุตสาหกรรมเหล่านี้ กระจัดกระจ่ายกันอยู่ แล้วถ้ามีการตั้งTHACCA จริงๆ มันควรที่ใต้กระทรวงอะไร ซึ่งก็ยังไม่มีรายละเอียด
“แต่เรายังไม่เห็นว่าด้านในเขาจะทำยังไง สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ เรื่องของเนื้อหาเนอะ”
{ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู}
การผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช้การตั้งหน่วยงาน แต่คือ “เป้าหมาย” และแผนการที่ต้องคิดอย่างจริงจัง ว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ดร.เสาวรัจ ยกตัวอย่าง “เกาหลี” ว่า..
ในตอนที่เกาหลีต้องการผลักดันเศรษฐกิจ เขามองแล้ว ใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้ และตั้งเป้าตั้งแต่แรกแล้วว่า เขาต้องส่งออกสิ่งเหล่าไปต่างประเทศ เพราะตลาดที่ใหญ่กว่า
“จริงๆ ประเทศไทยเรามีฐานที่ดีอยู่แล้วนะครับ เกี่ยวกับเรื่อง๋อุตสาหกรรมหนัง เพลง แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในอุตสาหกรรมพวกนี้ มันเป็นการต่างคนต่างทำ แต่ละกระทรวงก็ทำของตัวเองไป”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “บักเซียงไทบ้าน” ,” KOCCA Thailand” , “นันยาง Nanyang” , ptp.or.th , www.c21media.ne ,www.108shoes.com, wanchanya [pantip.com/topic/40412722]
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **