“ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าลงมือทำ” เจาะแนวคิด ช่างตัดชุดเอลวิสฝีมือคนไทย เจ้าของแบรนด์ “AJM Ann Jumpsuit Maker” โด่งดังถึงขั้นที่สาวกเอลวิส 80 ประเทศทั่วโลก พร้อมใจกันมาสั่งตัดชุด จากจุดเริ่มต้นไม่มีชุดใส่ จนเกิดแรงบันดาลใจ พร้อมเปิดเรื่องราวอุปสรรคระหว่างทาง ไม่มีต้นทุน โดนตำหนิสารพัด แต่ด้วยความรัก และเชื่อว่าต้องทำให้ได้ จนยอดขายทะลุหลักล้านต่อเดือน
แรงบันดาลใจจากความชอบ จนเกิดเป็นฝีมือ
“สิ่งที่ผมพูด และทำ มันไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อน ไม่มีใครทำแล้วประสบความสำเร็จ เขามองดูว่าไม่เห็นมีใครทำเลย แล้วมันจะไปรอดเหรอ จะหาลูกค้าจากไหน คือวันนั้นผมมีความมั่นใจมากเลยว่า ผมจะไปถึงจุดที่ผมปักธงไว้ให้ได้
ผมก็บอกว่า อีกสักพักนึง ลูกค้าจากทั่วโลก จะมาซื้อชุดที่ผมนี่แหละ เขาก็ขำกันอะนะ แต่เขาก็ยินดีกับผมด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่รอดก็กลับมานะ”
“แอน-สุพจน์ บูรณะประภพ” อายุ 53 ปี เจ้าของแบรนด์ “AJM Ann Jumpsuit Maker” ช่างตัดชุดเอลวิสคนไทย ที่โด่งดังระดับโลกที่จะมาเปิดใจถึงแรงบันดาล ให้กับคนที่มีความฝันอย่างพวกเขา กับสำเร็จที่ไม่ได้มาแบบง่ายๆ พร้อมภรรยา อย่าง “ทิพย์-ธนัชพร เครือสนิท” อายุ 49 ปี ภรรยาคู่คิด คู่ใจ ที่ร่วมกันฝ่าฝันทุกมรสุมชีวิต จากที่ไม่มีเงินซื้อข้าวสารกิน จนกระทั่งสามารถสร้างรายได้ทะลุล้านต่อเดือน
พี่แอนเล่าถึงจุดเริ่มต้น ของแรงบันดาลใจนี้ว่า เริ่มจากที่ตัวเองนั้น ชื่นชอบ และเล่นเพลงสไตล์แนวเอลวิสอยู่แล้ว และเคยมีชื่อวงดนตรีว่า “The little El'Band” ซึ่งในตอนนั้น หาคนทำชุดเพื่อที่จะให้นักดนตรีในวงใส่ไม่ได้ ตระเวนไปทั่ว จ.ภูเก็ต ก็เจอแต่คำปฏิเสธ
สุดท้ายเพื่อนจึงบอกว่า ให้เขาเป็นผู้ลองทำเองดู เพราะเพื่อนบอกว่า เขานั้นมีหัวทางศิลปะอยู่แล้ว พอได้ฟังเพื่อนพูดแล้วนั้น ด้วยความที่จบการด้านพิมพ์มา พอจะถนัดเรื่องงานอาร์ตเวิร์กอยู่บ้าง แต่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องการตัดเย็บ ก็ตัดสินใจลองทำดู
“ผมชอบเอลวิสอยู่แล้วไงครับ แล้วอยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเอลวิส ทีนี้เอลวิสเนี่ย เขาจะประกอบด้วย เรียกว่า ภาพและเสียง คุณจะต้องร้องเหมือน แต่งตัวเหมือน แล้วเสียงดีมากอะไรประมาณนี้ครับ ถ้าเราได้มีส่วนร่วม เราได้ทำชุดอะไรแบบนี้ ก็คงจะมีความสุขกับตรงนั้นนะครับ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจของเรา ว่าเราจะต้องเป็นช่างทำชุดเอลวิสที่คนยอมรับ
ย้อนกลับไปสัก15 ปีที่แล้วนะ การหาข้อมูลพวกนี้มันยากมากนะ แหล่งข้อมูลของเราก็คือ เป็นพวกแผ่นเสียง DVD ผมก็ไปซื้อ DVD มา แล้วมาเปิด เป็นคอนเสิร์ต เปิดแล้วก็ดูเอลวิสในชุด เราก็ใช้วิธีการกดหยุดไว้ แล้วก็สเก็ตช์ แล้วก็ไปซื้อหมุด พลอยอะไรมาทำ
ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไร เราก็ทำให้เพื่อนใส่ ก็เล่นดนตรีไป ทีนี้เวลาเราเห็นเพื่อนใส่ชุดที่เราทำ เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้ เรามีความสุขกับผลงาน ก็เริ่มทำชุดที่ 2 ที่ 3 ให้เพื่อนใส่ ลวดลายตอนนั้นก็ทำเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร
ก็จนกระทั่งว่ามีนักท่องเที่ยวสดีเดน ที่เป็นเอลวิสต่างประเทศ เขาก็มาถามว่า ชุดนี้ทำที่ไหน เพื่อนก็บอกว่า ฝีมือนักกีตาร์เป็นคนทำ ตอนนั้นเราก็คิดว่าเฮ้ย มันเป็นรายได้นี่หว่า ก็รับทำ ตอนนั้นคิดค่าแรงเขาแค่ 4,000 บาท ก็เยอะแล้วสำหรับเราตอนนั้น ก็พาเขาไปร้านตัดสูท ตัดกางเกง เป็นชุดเปล่าๆ เราก็ไปใส่ลาย
แล้วเขาก็จะมาทุกปี เหมือนเป็นลูกค้าประจำ ปีนึงก็จะมาซื้อชุดนึง ก็ทำอยู่แค่นั้น จนวันนึงแล้วก็มาคิดว่า ตรงนี้เราก็ทำเป็นรายได้ก็ได้นี่หว่า เราก็เริ่มกระจายข่าว หรือว่าใครที่เป็นศิลปินเอลวิส อยากทำชุดก็ ติดต่อมานะ เรารับทำชุดเอลวิสออกแบบ ใส่ลายอะไรอย่างนี้ครับ ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลฯ ก็ใช้ปากต่อปาก”
จากรับทำเป็นงานอดิเรก จนวันนึงเกิดปิ๊งไอเดีย เริ่มมองเห็นลู่ทางสร้างรายได้ เริ่มมีความคิดอยากทำเป็นอาชีพจริงจัง
“เราก็รับทำเป็นงานอดิเรก แต่ก็ไม่มีลูกค้านะ ก็จะมีเพื่อนๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ส่งแนะนำมาบ้าง มันก็ไม่ค่อยเข้าเป้าเท่าไหร่ครับ ทีนี้ก็วันนึงเราก็คิดว่า เริ่มอยากทำเป็นอาชีพแล้ว ก็มานั่งคิดว่า อ๋อประเด็นก็คือว่า เราจะทำมันเฉพาะเวลาที่เราว่างเท่านั้น มันก็เลยทำให้เราไม่ไปไหน
ก็เลยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เมื่อไหร่ที่เราคิดว่า เราจะทำอะไรสักอย่างเพียงแค่เป็นงานอดิเรก ไม่มีทางที่มันจะโตไปได้ง่ายๆ เราก็เปลี่ยนความคิด ว่าเราจะทำตรงนี้จริงจัง ไม่ใช่งานอดิเรกต่อไปแล้ว
เลิกงานผมก็จะมาค้นคว้าหาข้อมูล ช่วงนั้นเวลาไปเล่นดนตรี ก่อนจะขึ้นเล่น ผมก็จะไปนั่งที่ล็อบบี้ ทางล็อบบี้ เขาจะมีคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้า ผมก็ไปเสิร์ชดูข้อมูลเอลวิสต่างๆ เป็นลาย ขอเขาปริ้นมาดู”
ความสำเร็จมาจากปากต่อปาก
เจ้าของแบรนด์ชื่อดัง เล่าให้ฟังอีกว่า ใช้กลยุทธ์แบบปากต่อปาก จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เริ่มจากความพยายาม มุ่งมั่น อยากทำตามฝันที่ตั้งไว้ ให้เป็นจริงให้ได้ ก็เริ่มหาลู่ทาง เริ่มจากกระจายชุดที่ตัวเองตัด ไปทั่วโซเชียลฯ เพื่ออยากให้เอลวิสทั่วโลกได้เห็น
“เราก็พยายามเสิร์ชดูนะว่า กลุ่มของคนที่เป็นนักร้องเอลวิส จริงๆ แล้วมันเป็นกลุ่มใหญ่มาก ทั่วโลกเลย มันเป็นแสนคน กลุ่มพวกนี้แหละคือเป้าหมายของผม แล้วผมจะต้องทำยังไงก็ได้ ให้คนพวกนี้เห็นเราให้ได้ เพราะว่าเราเห็นเขาหมดแล้ว แต่เขายังไม่เห็นเรา
เพราะฉะนั้นการค้ามันจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน ผมก็เริ่มเอา Products ของเราลงโซเชียลฯ เริ่มเปิดเฟซบุ๊ก ยังไม่ได้เปิดผ่านมือถือนะครับเปิดผ่านคอม แล้วก็สมัครเว็บไซต์ฟรีต่างๆ ผมก็จะเอารูปที่ถ่ายๆ ไว้ลงเพื่อที่จะให้รูปมันเข้าไปอยู่ในโซเชียลฯ ก็รอทุกวันว่าเมื่อไหร่จะมีใครสนใจ
ตอนนั้นยังไม่มีลูกค้าจากต่างประเทศเลยก็คือผมก็ลงไปเรื่อยๆ ตอนแรกที่เราเริ่มทำ เราไม่มีงบ ไม่มีอะไร ทีนี้พอเราลงโซเชียลฯ ภาพมันก็จะถูกบรรจุลงไปในโซเชียลฯ อัตโนมัติ โพสต์แล้วก็ต้องใส่ keywords เข้าไปเยอะแยะ พอมีคนเสิร์ช ใครพิมพ์อะไรมันก็จะมาติดของเรา
จนวันนึง มันก็จะมีเอลวิสของแคนาดา เขาเจอรูปชุดที่ผมทำลงใน google เขาก็ตามลิงก์มาจนถึงเพจ แล้วเขาก็พยายามทักผมมานะ เราก็ตื่นเต้นนะครับ วันนั้นก็ได้คุย เขาก็สนใจ เขาอยากได้ชุดไปประกวดที่งานประกวดเอลวิส ในแคนาดา
ชุดแรกมาตอนนั้นก็รู้สึกว่า เขาไม่กล้าที่จะจ่ายตังค์ให้เรา เพราะว่าเขาก็ไม่เคยเห็นเรา เราก็ไม่เคยเห็นเขา แล้วก็รูปในออนไลน์ เขาก็ไม่ค่อยไว้ใจเท่าไหร่ ก็ใช้ลักษณะวิธีการแลกกัน แลกของกัน คือใจผมเนี่ยต้องทำยังไงก็ได้ ให้งานของเรามันออกไปตรงโน้น เพราะลูกค้าอยู่ตรงโน้นเต็มเลย เราไม่ได้ตังค์ก็ไม่เป็นไร เอาผลงานเราไปให้เขาเห็นก่อน
เริ่มแรกก็ไปแลกของกัน จะเป็นอะไรก็ได้ เป็นของเอลวิสที่เขามี ที่เขาสะสม แล้วก็ตอนนั้นต้นทุนก็หลายตังค์อยู่ เราก็หาหยิบยืม ก็ลำบากเหมือนกัน ชุดนั้นตอนนั้นต้นทุนประมาณ 8,000 บาท
ทำเสร็จก็ส่งไป ก็ปรากฏว่า ก็มีเสียงตอบรับเยอะนะครับ เพราะเขาไม่เคยเห็นชุดเมดอินไทยแลนด์ ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์เนมอะไรนะครับ ก็ทำรูปแบบในนามสุพจน์ ทีนี้คนก็เริ่มแอดเฟรนด์เข้ามา”
มีเทคนิคตัดเย็บเฉพาะ จนเป็นที่ยอมรับ 80 ประเทศ
จากกระแสปากต่อปากในวันนั้น จนวันนี้ เรียกได้ว่า ถ้าใครอยู่ในวงการเอลวิส น่าจะรู้จักแบรนด์นี้เป็นอย่างดี เพราะมีศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ระดับโลก มาใช้บริการอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น Dean Zeligman, Bill Chery The Ultimate Elvis, Tim E Hendry, Bruno-Nesci ,Sylvian Eta Leduc, Graham Ingledew, Gordon Hendricks, Rob Kingsley, JD.King, Diogo light, Simon patrick Europian
หรือจะเป็นสาวกเอลวิสในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น “ตี๋-จีระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ”, “จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว” ก็ใส่ชุดจากแบรนด์นี้กันมาแล้ว
“คนแรกเลยนะที่ตัดกับเรา คนนี้ ณ วันนั้น เขายังไม่ได้แชมป์อะไรเลย เขากำลังจะไปประกวดเวิลด์แชมเปี้ยน เขาสั่งชุดอเมริกันอีเกิ้ล เป็นชุดปัก คนนี้ชื่อ “Tim E Hendry” เป็นคนแคนาดา แล้ววันนั้นเผอิญว่า ในการประกวดครั้งนั้น เขาได้ที่1
เพราะฉะนั้นภาพของเขา มันไปทั่วโลกเลยนะครับ แล้วคนก็ได้เห็นความสวยงามของชุด ก็ทำให้ AJM มีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับนึง
ถ้าย้อนกลับไปก็มีเยอะ ตอนนี้คือเป็นอัลติเมทเวิลด์แชมเปี้ยน ของสหรัฐอเมริกา ชื่อคุณ “Dean Zeligman”เขาสั่งทีนึงก็4 ชุด เขาออกเดินสายทัวร์ทุกทวีปใหญ่ๆ ถ้าเกิดว่าเป็นแฟนเอลวิสในต่างประเทศก็จะรู้จักคนนี้หมดเลยนะครับ
แต่ว่าถ้าก่อนหน้านี้ ก็จะเป็น “Gordon Hendricks” จาก UK นี่ก็เป็นอัลติเมทเวิลด์แชมเปี้ยนเหมือนกัน นี่ก็เป็นลูกค้าเรา นี่ก็สั่งมาเป็น10 ชุดแล้ว ตอนนี้ก็ตัด
รวมๆ แล้ว ก็เกือบ 80 ประเทศครับ ทั่วโลก มันมีบริษัทที่ทำชุดเอลวิสอยู่แค่ 3 ที่ ก็มีที่อเมริกาที่แคนาดา แล้วก็ไทยแลนด์ ซึ่งตอนนี้ทุกคนเขายกให้ไทยแลนด์เป็น the best เราก็น้อมรับนะ แต่เราก็ถ่อมตัว ว่ายังไม่ใช่หรอก ก็ระดับเดียวกันนั่นแหละครับ
อย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่แรกว่า ชุดเอลวิสจะมีอยู่ 2 อย่างครับ ก็คือหมวดที่เน้นความสวยแต่ไม่เหมือน แต่อีกหมวดนึงก็คือต้องสวยและเหมือน คำว่าเหมือน นี่ก็คือพอใส่แล้วเขาจะดูเหมือนเอลวิส ลูกค้าของเรา คือเขาฝึกจากการร้อง การเต้น เขาต้องการเหมือนเอลวิส เพราะฉะนั้นชุดก็ต้องเหมือนด้วย เขาจะไม่เอาลายอื่น เราก็ต้องเขียนใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด
แต่ละเจ้า เขาก็จะพยายามทำลวดลายให้ใกล้เคียง ทุกๆบริษัทจะมีลิขสิทธิ์นะครับ เราจะไม่ขโมยลายของกันและกัน แต่ว่าเราจะอ้างอิงจากต้นฉบับก็คือที่เขาโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ คือตรงนั้นเขา open ให้เราได้เลย สมมติเราไปดูลวดลายซึ่งผมก็ไม่เคยไป ใช้การดูจากปกหนังสือบ้าง จากนั้นอินเทอร์เน็ตบ้าง แต่ว่าห้ามไปก๊อบปี้ยี่ห้ออื่นนะ ถูกฟ้องนะครับ เราก็ดัดแปลงลายใกล้ๆ เคียง”
และที่ทำให้ชุดของแบรนด์จากฝีมือคนไทย ดึงดูดลูกค้าทั่วโลก ให้มาสั่งซื้อได้ขนาดนี้ เจ้าของแบรนด์ก็บอกว่าด้วยความสวยงาม และใส่แล้วทำให้ลูกค้าที่ซื้อไปรู้สึกว่าเหมือนจริงๆ แล้วยิ่งบวกกับเทคนิคการตัดเย็บที่ประณีต ทำให้ลูกค้าหลั่งไหลมาไม่ขาดสายเลยทีเดียว
“ด้วยความที่ลายของเราใกล้เคียงกับต้นฉบับ ทำให้ลูกค้ายังสนใจ เพราะเขาใส่แล้ว เขาเหมือนมากเลย แล้วก็การตัดเย็บ เรามีเทคนิครูปทรงเฉพาะทางที่ว่า ขาม้า แขน สำคัญทุกจุดเลย
เพราะฉะนั้น พอเบอร์ใหญ่ๆ ใส่ปั๊บ เบอร์เล็กๆ จะตามหมดเลย เขาจะดูว่าซื้อที่ไหน แสดงว่าอันนี้ได้มาตรฐาน ลูกค้าเรามีทุกระดับเลย นักร้องเป็นงานอดิเรก ระดับมืออาชีพ ระดับแชมเปี้ยน ระดับเวิลด์แชมเปี้ยน หรือระดับมหาเศรษฐี ที่ร้องไม่เป็น ซื้อไปใส่หุ่นตั้งโชว์ในบ้าน ก็มีนะครับ”
นอกจากนี้ พี่ทิพย์ ภรรยาคู่คิด ที่ร่วมกันสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา ก็บอกถึงจุดเด่นอีกว่า ที่ทำให้ลูกค้ายังอยู่กับแบรนด์มาอย่างยาวนาน ก็เพราะว่า ไม่ได้ขาแค่ชุด แต่ขายความใส่ใจ และจิตวิญญาณลงไปด้วย
“นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ลูกค้า เขาตัดสินใจที่จะซื้อของเราแล้วก็อยู่กับมันไปได้นาน ต้องบอกก่อนว่าลูกค้าเราส่วนใหญ่จะอยู่ในโซเชียลฯ ทั้งหมดเลยตอนนี้ ก็คือแม้แต่สื่อเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ผ่านลิงก์ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขาย อินสตาแกรม อะไรอย่างนี้ค่ะ เราเองก็มีตัวตนอยู่ในโลกโซเชียลฯ
แต่ว่าหลังบ้าน การบริการของเรา เรามองว่า ลูกค้าก็เห็นอะไรในตัวเราที่เป็น culture ของคนไทย เรามองอย่างนั้นนะคะ เพราะว่าทุกครั้งเวลาเราส่งงานไป เวลางานมีปัญหามีอะไรที่ต้องแก้ไข เราเป็นคนที่จะต้องน้อมรับทุกอย่าง แล้วก็เรารู้สึกว่าผลงานที่ออกไปแต่ละครั้ง บางทีลูกค้า เขาไม่ได้มองว่ามันสวย แต่เรามีความรู้สึกว่า ทุกผลงานที่เราทำลงไปเราใช้จิตวิญญาณใส่มันเข้าไป แล้วเขาจะได้ feeling ที่สวมใส่ในเสื้อผ้า มันก็เลยรู้สึกว่า ทำให้ลูกค้าประทับใจตรงนั้นมากกว่า”
ไม่มีตัวอย่างความสำเร็จ แต่ก็ทำสำเร็จได้
เรียกได้ว่าทุบหม้อข้าวตัวเอง ตัดสินใจออกจากงานประจำ ที่เป็นนักดนตรี ไม่เพียงเท่านั้นนะ ยังชวนพี่ทิพย์ที่เป็นภรรยา ออกจากงานประจำ ที่เธอมองว่ามั่นคง และน่าจะทำไปจนวันตาย และด้วยคำชวนของสามี ก็พร้อมที่จะเชื่อมั่น ลองผิดลองถูกกันดู
และพี่แอนก็มองว่า ด้วยที่ไม่มีตัวอย่างให้เห็น ว่าจะต้องทำไปทิศทางไหน ตอนนั้นก็เริ่มจากลองยื่นกู้กับธนาคาร แต่แล้วก็ไม่ผ่านจนในที่สุด บริษัทเครื่องจักรก็เห็นในความตั้งใจ ก็ได้ยื่นกู้ จนได้เงินมาก้อนนึง เพื่อนสานต่อธุรกิจ
“การเริ่มธุรกิจ บางคนเขาบอก ต้นทุนไม่เท่ากันอันนี้จริง คือผมไม่มีต้นทุนอะไรเลยเงินไม่ค่อยมีจะไปถามใครก็ไม่รู้จะไปถามใครไม่มีใครทำนะครับ แหล่งข้อมูล ก็ไม่รู้ไปหาตรงไหน คือต้องหาค้นคว้าด้วยตัวเองทั้งนั้นเลย พวกลวดลายต่างๆ เราก็ใช้ความพยายาม ที่จะหารูปหาอะไรมาแล้วก็ปะติดปะต่อเขียนลาย มันยากตรงนี้แหละ ตรงที่เราเริ่ม เริ่มจากที่มันไม่มีตัวอย่างให้เราดูเลย เราทำตรงนี้เขาเริ่มกันยังไง เราจะได้ไปดูเขา แล้วยิ่งมาเรื่องของการตัดเย็บผมยิ่งไม่เป็นเลย
นี่คือสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่มีความรู้เรื่องช่างตัดเย็บเลย หลังจากนั้นเราก็เริ่มฝึกตัดเย็บ ลองผิดลองถูก ทุกการทำของผม ผมจะบันทึกไว้หมดว่าตรงนี้เราใช้ขนาดเท่าไหร่ๆ เมื่อมีการผิดพลาดเราก็จะมาแก้ไขๆ บันทึกไว้หมด จนในที่สุดผมก็ได้สูตรของเราเอง
หลังจากนั้นผมก็เริ่มเขียน แผนงาน ไปเรื่อยๆ แล้วผมก็จะต้องไปตามลำดับขั้นตรงนั้นเพราะเรามั่นใจเสร็จแล้วว่าเราจะต้องไปตามนี้ผมก็ตัดสินใจต้องออกจากดนตรี นะเพราะว่าถ้าผมทำ 2 อย่างมันจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็ตัดสินใจที่จะทุบหม้อข้าวทิ้งเลย ถ้าคุณไม่ตั้งใจจริงตรงนี้คุณอดตายแน่เลย
ความสำเร็จบางอย่างมันต้องแลกมา มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แล้ววันนั้นผมก็ต้องยอมที่จะเลิกเล่นดนตรี เพื่อที่จะมาทำความฝันนะครับ เพราะฉะนั้นผมตัดสินใจลาออกจากวง แล้วก็คุยกับทางโรงแรม เขาถามผมว่าคิดดีแล้วเหรอ เพราะว่าขายเสื้อผ้าขายอะไรพวกนี้มันก็ยังพอได้ แต่ว่าขายชุดเอลวิสมันจะไปรอดเหรอ มันก็ยากที่จะให้ใครมาเข้าใจว่ามันไม่เคยมีใครทำมาก่อน
คือสิ่งที่ผมพูดและทำ มันไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อน ไม่มีใครทำแล้วประสบความสำเร็จ เขามองดูว่าไม่เห็นมีใครทำเลย แล้วก็มันจะไปรอดเหรอ จะหาลูกค้าจากไหน คือวันนั้นผมมีความมั่นใจมากเลยว่า ผมจะไปถึงจุดที่ผมปักธงไว้ให้ได้ ผมก็บอกว่าอีกสักพักนึงลูกค้าจากทั่วโลกจะมาซื้อชุดที่ผมนี่แหละ เขาก็ขำกันอะนะ แต่เขาก็ยินดีกับผมด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่รอดก็กลับมานะ
จากวันนั้นผมก็ตัดสินใจออกจากงานแล้วก็ผมก็มาคุยกับภรรยาครับว่า ผมทำคนเดียวไม่ได้ เพราะว่าเราเก่งเรื่องงานฝีมือ แต่เราไม่เก่งเรื่องการบริหารจัดการ การที่จะทำธุรกิจตรงนี้มันจะต้องมีผู้ช่วย แล้วก็มีกำลังใจที่สำคัญ แล้วก็มีทีมงานอะไรอย่างนี้ เบื้องต้นเราไม่มีเงินจ้างคนงาน แล้วก็ออกจากงานได้ไหม ทุบหม้อข้าวอีกใบได้ไหม มาทำกับผมหน่อย”
[วงดนตรี The little El'Band ในอดีต]
ทางด้านภรรยา เธอก็ยอมรับว่า กลัวมากตอนนั้น ที่สามีให้ลาออกจากงาน แต่ด้วยความที่เชื่อมั่นในตัวสามี ก็ตัดสินใจลองดูสักตั้ง
“จริงๆพี่เป็นลูกจ้างประจำทำงานโรงแรมเหมือนกันก็ทำอยู่ในส่วนของสปาการเติบโตในส่วนของงานเรามันก็ค่อยๆเป็นสเต็ปไปเรื่อยๆ อยู่แล้วแหละ แต่ทีนี้งานเราถือว่างานเรามั่นคงนะคะเพราะว่าที่ทำงานก็ไม่ไกลจากที่บ้าน แล้วก็ปักธงว่าฉันก็จะใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิตแล้วแหละ เพราะว่ามันครอบคลุมเราไปหมดแล้ว มันมีความสะดวกสบายทุกอย่าง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้
ในขณะที่พี่แอน ตัดสินใจลาออกจากงานก็ถือว่ามันก็ยังจุนเจือกันได้อยู่ แต่วันนึงที่แกบอกว่าให้ลาออกจากงานเพื่อมาช่วยตรงนี้ แต่เราก็บอกว่ามันจะได้มันจะไปได้เหรอ มันจะได้เหรอนะ กลัวนะ จากที่เรามีรายได้ต่อเนื่องอยู่ประจำทุกๆ เดือน แล้ววันนึง เราไม่รู้เลยว่า เราจะหยิบรายได้ตรงนั้นมาจากส่วนไหน
แต่ด้วยความที่เราเห็นว่าเขามุ่งมั่นเลิกงานจากดนตรีช่วงนั้นมาไม่ว่าช่วงที่เลิกงานจากงานดนตรี เขาก็ยังทำอยู่ตรงนี้ต่อเนื่องอยู่กับเธอเราก็เลยโอเคงั้นยินดีแล้วก็ตัดสินใจออกมาช่วยนะก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น เป็นการต่อเนื่อง ต่อเนื่องจากจุดเริ่มต้นของเขามา
จริงๆ ใจมันก็ว้าเหว่นะ เพราะว่าเราไม่เห็นความสำเร็จของเขานะตอนนี้แต่ด้วยความที่ว่าเราเห็นเขาตั้งใจก็ยังมีเพื่อนและหัวหน้างาน ที่เราไปขอเขาลาออก ในจุดนั้นคือเขาก็บอกเฮ้ยมันจะได้เหรอ อะไรอย่างนี้ จะไปช่วยกันทำชุด คือถ้าต่างมุมมองของคน เขาก็จะไม่เห็นความผิดแต่ในตัวเราเองเราก็ไม่ใช่เราไม่กลัวเพราะเราถือว่าเรา มีงานประจำมีอะไรที่มั่นคงแล้ว ก็เลยขอลองสักตั้งแล้วกัน เพราะว่ามั่นใจในตัวเขาและเชื่อมั่นในตัวเขา ว่าเขาต้องทำได้เริ่ม จากความเชื่อมั่นในตัวเขาก่อน”
“คำติ” สำคัญกว่า “คำชม”
แน่นอนว่ากว่าจะผ่านมาได้ ระหว่างทางไม่ได้ง่ายเลย 2 สามีภรรยาคู่นี้ ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะคำวิพากษ์วิจารณ์ ทำแล้วจะไปขายให้ใครบ้าง แต่พวกเขาก็ไม่คิดยอมแพ้ ด้วยความเชื่อมั่นในกันและกัน จึงจูงมือทุกฝ่ามรสุมชีวิตมาได้
“เราก็โดนกันมาทั้งคู่อะนะ ในส่วนของผมเนี่ยคนในครอบครัวคนรอบข้าง เพื่อนฝูง คือเขาไม่ได้ดูถูกนะ คือเขารักเรา เขาแค่เป็นห่วง เขาพยายามห้าม อย่าทำเลย เอาเงินไปทิ้งมันไม่ประสบความสำเร็จหรอกอะไรอย่างนี้
แล้วพอเขาเห็นเราทำไปสักพักนึง เขาก็เริ่มมาให้กำลังใจ สู้เว้ย ไปต่อ แล้วผมไม่เคยหยุดเลยแม้แต่วันเดียว ไม่ทำแล้วดีกว่า ไม่มีความคิดเลย ทุกวันนี้ผมจะนั่งมองธงที่ผมปักไว้ตลอดเลย 10 กว่าปี ผมนั่งมองมันว่าผมต้องเดินไปให้ถึง
มีคอมเมนต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ติบานเลย มีชมนิดหน่อยครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการมาก คนส่วนมากไม่ชอบคำติ ชอบคำชม แต่สำหรับผมคำติมันสำคัญกว่าคำชม ผมจดทุกคำติเลยตอนนั้นผม จดๆ แล้วเราก็มาดู อ๋อมันจริง แล้วเราก็แก้ไข ติตรงไหนแก้ตรงนั้น จนแทบไม่มีที่ติ ทำให้เราเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น
ผมปักไว้วันนั้นว่าเอลวิสทั่วโลกจะต้องมาซื้อชุดจากผมให้ได้ วันนั้นมีแต่คนขำ ผมไม่เคยเอาคำพูดพวกนั้นมาเป็นอารมณ์ ผมก็รับฟัง แล้วเราก็ไปของเราเรื่อยๆ จนวันนี้ ถามว่าประสบความสำเร็จหรือยังผมแฮปปี้แล้ว ผมว่าผมประสบความสำเร็จแล้วนะ คือศิลปินเอลวิสทั่วโลกรู้จักหมดเลย AJM
แล้วยิ่งตอนนี้ภรรยาของผม เขาอยากจะทำให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของภูเก็ต ที่จะทำคาเฟ่ที่เป็นเอลวิส ศูนย์รวมของคนรักเอลวิส ผมว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว”
พี่แอนช่วยเล่าให้ฟังอีกว่า ย้อนกลับไปช่วงแรกๆ เคยถูกบริษัททำชุดชื่อดังด้อยค่าว่า กระจอก ไม่มีทางทำได้ แต่คำนั้นแหละ ยิ่งเป็นแรงผลักให้เขา ยืนหยัดที่จะสู้ต่อ
“ย้อนหลังกลับไป คำสบประมาท ถ้าคนใกล้ชิดผมถือว่าไม่มี เขาไม่ได้สบประมาท แต่เขาไม่ได้เชื่อแค่นั้น แต่คำสบประมาทที่เป็นแรง ผลักดันของผม คำนึงก็คือบริษัททำชุดในต่างประเทศ เขาด้อยค่าของผม ในวันนั้น ว่างามผมมันกระจอก มันก็กระจอกจริงๆ
คำนี้คือผมคิดว่า ลูกค้าจะมาอยู่กับฉันหมดเลย แล้ววันนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเราไม่ยอมให้ใครมาดูถูกเรา แล้วก็ทั้งหมดทั้งปวง ก็คือว่าเราต้องเป็นคนจริงเราคิดอะไรเราพูดอะไรเราต้องทำจริง ถ้าเราเหยาะแหยะเมื่อไหร่ ก็สมที่เขาว่า แต่ถ้าเราทำจริง ถึงที่หมายแน่นอน”
ส่วนพี่ทิพย์เอง ก็บอกความในใจให้ฟังว่า มาถึงวันนี้ดีใจมาก เพราะมองว่าตัวเองนั้น สามารถประสบความสำเร็จได้แล้ว
“สำหรับพี่นะ พี่ก็บอกว่า พี่ประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนกัน การที่เดินตามเข้ามาในธุรกิจตรงนี้ ก็ดีใจ ที่เรามีจุดนี้ได้ แล้วก็ ณ ปัจจุบัน พี่ก็มีไอเดียเพิ่มขึ้น จากแค่ที่ทำชุดเสื้อผ้า พี่ก็ทำร้านกาแฟในบ้านเพิ่มขึ้น เรามีตรงนี้เอาไว้รองรับลูกค้า หรือว่าเพื่อนต่างชาติ ที่เขาตั้งใจมาหา AJM เราก็จะได้มีกิจกรรม จะได้มีความรู้สึกอบอุ่นในตรงนี้”
พีคสุดหลักล้านต่อเดือน
สำหรับยอดขาดต่อเดือน พี่แอนก็เล่าให้ฟังว่า บางเดือนทะลุหลักล้านเลยก็มี และแต่ละเดือนก็มีออเดอร์เข้าตลอด ไม่มีขาด
“บางเดือนมันทะลุล้านอยู่แล้วครับ คือบางทีมันก็ขึ้นๆ ลงๆ นะ ช่วงเทศกาล ช่วงหน้ามัน ก็คือประมาณ 2-3 เดือนที ก็จะแห่กันมาสั่ง บางทีลายนกยูงมาเต็มบ้านเลยสั่งลายเดียวกันหมดเลยอะไรอย่างนี้นะครับ
รายได้ตอนนี้ก็ยืนพื้นก็คือ 3-4 แสนอัพ ครับ แต่ว่าบางเดือนก็ทะลุล้านกว่าครับ ก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ มันคือสิ่งที่เราเคยพูด เมื่อ10 ปีที่แล้ว ให้ใครต่อใครฟังเขาไม่เชื่อ คือวันนี้ทุกคนเขาเห็นแล้วว่า มันเกิดขึ้นได้จริงผมไม่ได้เพ้อฝัน ผมไม่ได้จินตนาการอะไรบ้าบอคอแตก เพราะว่าวันนี้หลักฐานมันเห็นแล้วว่า ที่เราพูดทั้งหมดมันเกิดขึ้นได้จริงๆ
ตอนนี้เราไม่ได้มีแค่ชุดเอลวิสนะครับ ตอนนี้เรามี product อยู่ในบริษัทเนี่ยประมาณ 500 ตัว ออเดอร์เข้าทุกวันไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชิ้ตสูท กางเกง เข็มขัด อะไรพวกนี้มันรันไป ในหมวดของชุดหมี ชุดพวกนี้ก็คือ คิวเดือนนึง ตกเดือนประมาณ3-4 ชุด ชุดหมีชุดใหญ่นะครับ แต่ชุดเล็กออกทุกวัน
ด้วยความที่เอลวิส เขาโด่งดังมาตั้งแต่ยุค 50’s, 60’s, 70’s 3 ทศวรรษเลยที่เขาดังมา ในแต่ละยุค แฟชั่นมันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย สภาพของเอลวิสเนี่ยจะมีหลากหลายมาก ถ้าจะพูดถึงราคาชุดๆ นึงก็ไม่เท่ากัน มันก็หลักหมื่นขึ้น แต่ถ้าขึ้นเป็นชุดจั๊มสูทเมื่อไหร่ ที่เขาเรียกว่าชุดคิงสูทแล้ว ก็คือเขาเรียกว่าชุดเต็มยศของเอลวิส พวกนี้ก็คืสตาร์ทที่ 35,000 บาท ไปจนถึงแสนสอง แล้วแต่ลาย แล้วก็ลูกค้าก็ต้องรอคิว เพราะต้องรันไปตามคิว ประมาณ 3-4 เดือน”
แม้ชุดเอลวิสจากฝีมือคนไทย จะราคาถูกกว่าต่างประเทศก็จริง แต่เจ้าของแบรนด์ก็บอกว่า ที่ลูกค้ามาสั่งชุดกับทางแบรนด์ไทย ไม่ใช่ว่าเพราะราคาถูก แต่เป็นราคาที่สมเหตุสมผล และก็เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจริงๆ
“ค่าตัดเย็บค่าแรงช่างอะไรพวกนี้มันก็ต่างกันนะครับ ราคาของเราเนี่ย เขามองว่ามันสมเหตุสมผล เขาไม่ได้มองเลยว่ามันแพงจัง เขามองว่ามันสมเหตุสมผลเพราะว่า เนื้องานกับราคามันจับต้องได้ ซึ่งในต่างประเทศราคาแพงกว่าเราอีกนะ 2-3 แสนก็มีนะ ทั้งที่ชุดก็เหมือนกันนะ
เราไม่ได้ตัดราคาเขานะ เราก็ได้กำไรนะ แต่อันนั้นเขาตั้งราคาเพราะเขาคิดว่า เขาไม่มีคู่แข่ง ในที่สุดแล้วลูกค้าของเขาก็มาเป็นลูกค้าของเรา ไม่ใช่ว่ามาเพราะถูกกว่านะ ลูกค้าจะพูดเลยว่า งานคุณสวยกว่า เขาชอบ ใส่แล้วเขามีความรู้สึกว่า มันใช่ แล้วทำไมเขาต้องไปจ่ายแพงขนาดนี้ ในเมื่อตรงนี้มันดีกว่า ลูกค้าเขาก็พูดมา”
|
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Suphot Buranapraphob”, “สุพจน์ บูรณะประภพ”, แฟนเพจ “AJM Ann Jumpsuit Maker” และ ajmelviscostume.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **