“ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้” เปิดใจ “ตุ๋ม - เสวฤทธิ์ บุญกนิษฐ” หัวหน้าเชฟแห่งร้านครับผม ร้านอาหารไทยในเกาหลี ผู้พาเมนู “เล้งแซ่บ” ให้โกอินเตอร์ เผยเส้นทางชีวิตสุดพลิกผัน จากสจ๊วตในครัว ใช้คำดูถูกเป็นแรงผลักดัน สู่เชฟชื่อดังข้ามประเทศ
ชีวิตถูกลิขิตให้เป็นเชฟ
“คำดูถูกที่คนดูถูกเรา ทำให้เป็นแรงผลักดันจนมาถึงทุกวันนี้ได้ แรงดูถูกอย่าไปคิดว่ามันด้อยค่าเรา ขอให้คิดว่าเป็นกำลังใจให้เราสู้ต่อไป ผลักดันตัวเองขึ้นไป
จากคนดูถูก เชฟตุ๋มมันทำไปเรื่อย ทำอาหารไม่เป็นหรอก มันไม่ได้ไปเรียนมา ก็จริง ผมไม่ได้เรียน ก็ครูพักลักจำ ใช้ประสบการณ์ คำดูถูกของเขายิ่งเป็นแรงผลักดันให้ผมทำให้เขาพูดไม่ได้ ให้เขาบอกว่ามันทำได้ มันเก่ง
มันเป็นได้เหรอที่เราคิดว่าซักวันนึงอยากให้คนมาเข้าแถวรอกิน ซักวันนึงเราต้องเป็นที่รู้จัก จากที่เชฟตุ๋มเป็นใคร ไม่มีใครรู้จักผม ในเกาหลีผมโนเนมมาก ตอนนี้ทั้งคนเกาหลี-คนไทยก็เริ่มรู้จักผม คนนี้เมนเชฟนะ ทำอาหารอร่อย ร้านไทยทุกร้านมีเล้งหมดเลยตอนนี้”
“เสวฤทธิ์ บุญกนิษฐ” หรือ “เชฟตุ๋ม” วัย 47 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
“เชฟตุ๋ม” คือหัวหน้าเชฟแห่งร้าน “ครับผม” ร้านอาหารไทยชื่อดังในประเทศเกาหลีใต้ ที่ยกเมนู Street Food รสจัดจ้านแบบไทยอย่าง ข้าวผัดกะเพรา ข้าวขาหมู เล้งแซ่บ และอื่นๆ อีกมากมายมาไว้ที่นี่
จนทำให้คนดังหลากหลายวงการของแดนกิมจิพากันมาลิ้มลองไม่ขาดสาย แม้แต่ ลิซ่า BLACKPINK และ แบมแบม GOT7 ไอดอลสายเลือดไทย ก็ยังมาฝากท้องขอเป็นลูกค้าด้วย
แต่กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเส้นทางสู่การเป็นเชฟนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ที่ไม่เพียงแค่ต้องอาศัยความพยายาม แต่ต้องเชื่อในฝีมือตัวเอง และเป้าหมายที่วาดฝันไว้อย่างหนักแน่น
“จุดเริ่มต้นตอนแรกธุรกิจครอบครัวรับเหมาก่อสร้าง ลูกหลานทุกคนก็จะทำงานก่อสร้าง เครือญาติก็ช่วยกัน เผอิญเราทำกับข้าวกินเองตอนเป็นเด็ก ตอนนั้นทำหมูผัดพริกกับข้าวผัดไข่ ไม่เคยรู้ว่ามันต้องทำอะไร ก็คิดไปเองว่าต้องทำอย่างนี้ พอทำออกมาแล้วให้คนในบ้านกิน อร่อยเว้ย ทำอร่อยนะ ก็เลยมีความคิดว่าซักวันน่าจะเป็นเชฟได้ คิดตั้งแต่เด็ก
จุดเปลี่ยนคือประมาณซักอายุ 16 ผมไปทำก่อสร้างแล้วผมตกตึก ซี่โครงเดาะ ทำไม่ได้แล้วล่ะ ก็เลยเปลี่ยนมาสมัครร้านอาหาร ทีแรกก็อยากอยู่ในครัว เขาบอกว่าหน่วยก้านอย่างนี้เป็นบาร์เทนเดอร์เลย เราก็ไม่รู้ บาร์เทนเดอร์ก็บาร์เทนเดอร์ ให้เรามาแบกลังเบียร์ ลังโค้ก ลังอะไร มิน่าล่ะถึงต้องการคนบึกบึน
[ "แบมแบม" ก็เคยมาเยือนร้านครับผม ]
มาเป็นบาร์เทนเดอร์ จังหวะในครัวขาด บอกผู้จัดการ ผมจะไปในครัวนะ ผู้จัดการบอกไม่ได้ ต้องอยู่เป็นบาร์เทนเดอร์ แล้วมีกลุ่มคนเขายกทีมไปทำที่ภูเก็ตซีฟู้ด ผมก็ถอดชุดบาร์เทนเดอร์ โดดขึ้นรถกับเขา ไม่รู้จักใครซักคน คนในรถเป็นทีมเดียวกันหมด ไอ้คนนี้มันมาได้ยังไง ผมอยากไปทำงานในครัว ผมขอไปด้วยนะ ก็กระโดดขึ้นรถกับเขาไป (หัวเราะ)”
รถกระบะคันนั้น นำพาเด็กหนุ่มไปสู่เส้นทางที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล เพราะเมื่อถึงภูเก็ตแล้ว ตำแหน่งที่เขาได้รับมอบหมายในร้านอาหารคือการเป็นสจ๊วต ผู้ทำหน้าที่เตรียมวัตถุดิบ และเก็บล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ สำหรับเขาถือได้ว่าเป็นงานหนักจนทำเอาตุ๋มในวัย 17 ปีตอนนั้นถึงกับน้ำตาตก
“ตอนนั้นเขาให้ผมไปเป็นสจ๊วต ผมก็ไม่รู้ไปทำอะไร สจ๊วตฆ่าปู ฆ่าปลา ทำหอย แกะหอยนางรม ทำทุกอย่างในครัวครับ ยังไม่ได้ขึ้นเขียงนะครับ เตรียมวัตถุดิบให้เชฟ ให้ผู้ช่วยอีกทีนึง เชฟสมัยก่อนนี่แค่เราไปจับเขียงเขา เขาก็ด่าเราแล้วนะ เพราะเราเป็นแค่สจ๊วต แต่ผมเป็นคนที่แอบมอง แอบจำตลอด
(งาน) หนักมากครับ มี 2 คนที่ทำด้วยกัน จนร้องไห้ครับ อาหารทะเลสมัยก่อนยังไม่มีถุงมือ มือจนฉีก จนเลือดแสบหมด ในความที่เราเป็นเด็กเราก็นอนร้องไห้ ทำไมมันเหนื่อย ทำไมมันหนักขนาดนี้ คิดว่าคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ แต่เพื่อนอีกคนก็ไม่ไหว หนีกลับบ้านเลย เหลือผมคนเดียว ผมก็ทำมาเรื่อยๆ”
จากสจ๊วตหนุ่มก้นครัว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญหรือชะตาลิขิต เพราะอยู่มาวันหนึ่ง เขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือปรุงอาหารให้ลูกค้าลองชิม และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ตุ๋ม ได้กลายมาเป็นเชฟตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ตอนที่ผมอายุ 17-18 ผมก็ทำปลา ทำอะไรของผม ร้านมันเปิดทั้งวัน เชฟบอกยังไม่มีลูกค้า เดี๋ยวออกไปข้างนอกแป๊บนึง เหลือผมกับพี่คนอยู่เขียงยำ ลูกค้าเข้ามาเต็มเลย ทำยังไง สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์ ถ้ามีก็โทร.เรียกได้ ผมก็เลยบอกว่าผมจำได้ ผมทำได้ ผมแอบเชฟดูทุกวัน เพราะตอนดึกผมต้องมาเฝ้าพวกกุ้งอบวุ้นเส้น เฝ้าไหนึ่งข้าว ผมก็แอบครูพักลักจำมา
เขาก็บอกไม่ใช่เชฟนะ ผู้ช่วยก็ไม่ใช่ เป็นแค่สจ๊วต ผมก็บอกเดี๋ยวผมทำเอง ก็เลยทำหลายอย่างครับ เมนูผัดน้ำมันหอย หอยลายผัดน้ำพริกเผา กุ้งผัดผงกระหรี่ ปลานึ่งซีอิ๊ว ข้าวผัดปู
ที่นี่เป็นครัวเปิด ครัวโชว์หน้าหาด เอาไปเสิร์ฟปุ๊บ ลูกค้าก็ชะเง้อมาดู อาหารอร่อยทุกอย่างนะร้านนี้ ก็บอกผู้จัดการว่าเรียกเชฟได้มั้ย อยากจะให้ทิป ผู้จัดการก็เดินเข้ามาเรียก พี่ก็บอกว่า ‘ไม่อยู่ ออกไปตั้งแต่เช้า’ แล้วใครทำกับข้าว
งานเข้าแล้วผม ผมก็บอกผมเป็นคนทำ เดี๋ยวผมรับผิดชอบเอง ผู้จัดการก็บอก ‘ทำได้ยังไง ไม่ใช่เชฟ ไม่ใช่ผู้ช่วย เป็นแค่สจ๊วตฆ่าปู ฆ่าปลา กล้ามาทำได้ไง’ ผมก็โอ้โห… หน้าถอดเลย ตกงานแล้วมั้ง
ก็ไป (หาลูกค้า) ไม่ใช่เชฟครับ เป็นสจ๊วต ลูกค้าบอกทำอาหารอร่อยนะ อายุเท่าไหร่ ผมบอกอายุ 17 (ลูกค้าบอก) อายุแค่นี้ทำกับข้าวอร่อยมาก เอาทิปให้ผมสมัยนั้นให้ 500 บาท เยอะนะ เพราะเงินเดือนผมแค่ 1,200 เอง ได้ทิป 500 ดีใจมาก ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ดันผมขึ้นมาอยู่เขียงเวลาเชฟหยุด”
แต่ก่อนที่เขาจะได้ขึ้นมาเป็นเชฟนั่น เรียกได้ว่าต้องงัดสกิล ตาดู-ปากชิม มาใช้จนหมดกระบวนท่า ต้องอาศัยการครูพักลักจำ สังเกตเวลาเชฟท่านอื่นปรุงอาหาร และชิมรสชาติก่อนนำไปเสิร์ฟ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ลองทำอาหารเองมาก่อน
“สมัยก่อนเขาจะไม่สอนกันนะครับ เขาหวงวิชามาก สมัยก่อนถ้าเป็นคนรู้จัก เป็นเด็กของเชฟ เขาก็จะปั้นมา หั่นปู หั่นปลา ทำผัก ขึ้นเขียง จัดให้เชฟ แล้วเชฟก็จะ ดูนะใส่อันนี้ๆ เขาจะสอนกัน ถ้าเป็นทีมเดียวกันเด็กที่เขาปั้นมา ไม่มีไปเรียนหรอกครับ เริ่มจากผู้ช่วยกุ๊กแล้วก็ดันขึ้นไปเป็นเชฟ
กุ้งผัดผงกะหรี่ มันยาก ทำยังไงให้มันเป็นซอส ให้มันเป็นครีม ให้มันละมุน ไม่แข็งไป ไม่เหลวไป มันต้อง Smooth ครับ ราคามันค่อนข้างแพง ให้กุ้งตัวใหญ่ๆ ถ้าเราทำพลาดปุ๊บ มันเสีย เป็นอะไรที่ยากมาก
เราครูพักลักจำ เราไม่ได้มีสิทธิ์ขึ้นไปหน้าเตาเขาเลยนะครับสมัยก่อน ผมก็จะเป็นพวก Checker ออกอาหาร เวลาออเดอร์มาผมจะเป็นคนขานบิล เวลาอาหารออกผมจะชิม ผมจะรู้รสชาติ ผมจะเช็ก
ทำปลาทำอะไรเสร็จ ผมก็ต้องมาออกอาหาร ผมก็จะมีช้อน ก็ชิม ก็จะรู้ว่ารสชาติของอาหารมันเป็นแบบนี้นะ เลยจำรสชาติไว้ได้ ผมก็คิดว่าซักวันผมต้องเป็นเชฟให้ได้”
ทลายกำแพงอาหาร ก้าวข้ามคำดูถูก
แม้ฝีมือในการปรุงอาหารจนได้ใจลูกค้าในครั้งนั้นจะเป็นที่ประจักษ์ จนพาให้สจ๊วตผู้ทำหน้าที่เตรียมวัตถุดิบ ได้เลื่อนขั้นมาจับตะหลิว แต่ก็ไม่วายที่เขาจะถูกรังแกและต้องรับมือกับคำดูถูกมากมาย
“ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้ โดนทุกอย่างครับ โดนเชฟแกล้ง เราเจียวกระเทียม แล้วน้ำมันร้อนๆ เอาเทต่ำๆ ใกล้ๆ แล้วน้ำมันก็ฟู่ให้มือผม จนมือผมสุก แล้วก็ยืนหัวเราะ
เวลาเราขึ้นของให้เชฟ ขึ้นไม่ทัน เขาก็จะแกล้งเรา สาดใส่เราบ้าง เอาวางบนโต๊ะบ้าง กองบนโต๊ะแล้วบอกให้เก็บใส่จานเลยนะ แล้วก็มีบอก กับข้าวที่ทำฟลุกเฉยๆ ทำไปเรื่อยแล้วลูกค้าบอกอร่อย
ถึงมันจะเหนื่อย จะท้อ หมดหวัง แต่เรามีเป้าหมายว่าซักวันนึงต้องเป็นเชฟให้ได้ ซักวันนึงต้องใส่ชุดขาวให้ได้ มันก็เลยเป็นแรงให้เราสู้มาตลอด ให้ผมมีกำลังใจ ผมรู้สึกว่า ถ้าผมได้เป็นเชฟผมจะไม่ทำอย่างนี้ ผมจะสอนให้คนมีวิชา ผมจะไม่หวงวิชาเหมือนกุ๊กสมัยนั้น มีอะไรที่ผมถ่ายทอดได้ผมจะถ่ายทอด
ตอนนี้มันจะมี Fusion สมัยก่อนคิดนอกกรอบไม่ได้ อาหารทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ กุ๊กสมัยก่อนไม่ยอมรับ ใส่แปลกปลอมไปคือไม่ได้เลย เรา Create ไปปุ๊บก็หัวเราะใส่ ทำอะไรไปทั่ว ทำไปเรื่อยเปื่อย มันต้องมีซักวันที่ให้เราคิดเมนูของเราเอง ซักวันผมต้องมีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น เพื่อให้เขาไม่ดูถูกเราได้ ผมก็คิดตั้งแต่นั้นครับ
อยู่เกือบ 4 ปีครับ ได้ใส่ชุดขาว เอากลับไปบ้านไปอวดแม่ ผมได้ใส่ชุดเชฟนะ ภูมิใจมากตอนนั้น (ยิ้ม) ไม่คิดไม่ฝัน เราคิดตั้งแต่เด็กอยากเป็นเชฟ จากงานก่อสร้าง จะเป็นผู้รับเหมา ชีวิตพลิกผันมาเป็นเชฟ รู้สึกว่ามันภูมิใจ (ยิ้ม)”
ประสบการณ์ 4 ปีจากร้านอาหารแรกที่ภูเก็ต จนมาสู่ร้านอาหารแห่งใหม่ ที่นี่เป็นโอกาสให้เชฟหนุ่มคนนี้ได้แสดงฝีมือมากกว่าแค่ในกรอบที่เคยตีเส้นไว้
“จะมีหัวหน้าผมอีกคนนึงเขาบอก ‘ตุ๋ม เก่งแล้วนะ ทำไมไม่คิดอยากไปอยู่ที่อื่นบ้าง ไปเลย มีอะไรเดี๋ยวพี่ช่วย คนเรามันต้องโต ถ้าอยู่ที่นี่ไม่โตหรอกก็โดนเขาดูถูก ถ้าเราไปอยู่ที่อื่นเราได้ Create ผลักดันตัวเองให้โตขึ้น’ ผมก็เลยตัดสินใจก้าวจากนั้น ไปอยู่ร้านอื่นตามคำแนะนำของหัวหน้าคนใหม่
ผมได้เป็นหัวหน้าเลยตอนนั้น ไปอยู่ร้าน International Food ผมก็ Create อย่างแกงเขียวหวานขายให้ต่างชาติ ทำไมต้องใส่มะเขือ เป็นไก่อย่างเดียว ทำไมไม่ใส่อย่างอื่น ผมก็ใส่เป็นซี่โครงหมูตุ๋น มีผักชีเข้ามา เขาให้โอกาสผม มันก็ได้ขายครับ
ผมทำไส้อั่วด้วย ไส้อั่วทำไมต้องร่วนๆ มีมันหมูเยอะๆ ผมทำไส้อั่วมันเป็นออกสไตล์ไส้กรอกของฝรั่ง ให้มันกรอบ ให้มันเด้ง แล้วมีรสชาติของไส้อั่ว ทำให้ขายดีมากเลยตอนนั้น เป็นเมนูที่ทำทีละเป็น 100 โล 2-3 วันก็ขายหมด
เจ้านายก็เป็นคนต่างชาติ เป็นเชฟ แกก็สอนผม สอนอาหารอิตาเลียนผมด้วย ได้ทั้งไทย ทั้งอิตาเลียน เอามาผสมผสานกับอาหารไทย เกิดเป็นเมนูใหม่มาเรื่อยๆ เป็นสเต็กใช้ 3 ซอส มีซอสไทย ซอสอิตาเลียน ซอสยุโรป หลังจากนั้นมาหัวหน้าเชฟคนที่ผลักดันให้ผมก้าวออกมา เขาบอกว่า รู้มั้ยเดี๋ยวนี้เก่งกว่าพี่อีก เก่งมากทำได้หมดเลย”
ตุ๋มในตอนนั้น ไม่เพียงแค่ต้องสวมหมวกเชฟ แต่หมวกอีกใบของเขาคือการเป็นเสาหลักของบ้าน ด้วยสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่สู้ดี เขาจึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ตัดสินใจสะพายเป้ขึ้นหลัง ไปหางานทำเอาดาบหน้าในต่างแดน
“ผมเริ่มมาต่างประเทศ ช่วงนั้นทางบ้านมีปัญหา แม่ก็เป็นหนี้เยอะ หนี้นอกระบบ เราอยู่เมืองไทยก็ไม่สามารถใช้หนี้ให้แม่ได้ สงสารแม่ด้วย สมัยนั้นเงินเดือนหมื่นกว่าถือว่าเยอะนะครับ แต่มันไม่ได้เก็บเพราะใช้หนี้ให้แม่ตลอด แทบจะไม่มีเลย น้องก็เรียน ส่งน้องเรียน
ไปสิงคโปร์ก่อน ไปหางาน ผมก็ไม่รู้จักใครก็ไปเดินเตร็ดเตร่หางาน ทั้งที่ไม่เคยไปต่างประเทศเลย เพื่อนผมบอกว่าสิงคโปร์เข้าได้ไม่ต้องมีอะไรโชว์ คนฟิลิปปินส์เขาก็ไปเดินหางานกัน ผมก็เดินหางานเหมือน Backpacker พอรู้ภาษาบ้างเพราะผมได้เรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของร้านเดิม ผมก็สื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็ไปเลย
ก็หาสมัครงาน ถามคนฟิลิปปินส์ที่พักด้วยกัน มาทำงานที่ไหน เขามาเดินหางานเหมือนกัน 2 วันแล้วยังไม่ได้เลย ผมก็ไปหา ก็ไปได้แถวไชน่าทาวน์ ได้ร้านชื่อว่า สวัสดี
ไปทำซักปีกว่า เขาก็รับไปทำวีซ่า รู้สึกว่าทำแล้วมันไม่ใช่เรา ไม่สามารถคิดอะไรเองได้เลย เหมือนเขาจ้องจับผิดเรา เหมือนกลัวเราโตกว่าเขา รู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง โดนบังคับ แต่ก็เข้าใจว่าเขามีสูตรของร้านเขา เราก็ทำตามสูตร
แต่บางทีเราทำดีเกินไป เจ้าของร้านชอบ กลายเป็นหัวหน้ากุ๊กไม่ชอบ มากดดันเรา เชฟคนเก่าชอบเที่ยว ชอบมาสาย แล้วเราเป็นคนตรงต่อเวลา มาก่อนเวลา เจ้าของร้านเห็นเราก็ชอบ ทำงานเก่งนะ ทำกับข้าวอร่อย หัวหน้ากุ๊กไม่พอใจ พยายามกดดันให้เราอยู่ลำบาก เลยรู้สึกไม่สบายใจ ทำแค่นั้นก็คือกลับมาบ้านเหมือนเดิม”
การกลับบ้านมาครั้งนี้ มาเพื่อตั้งหลัก ก่อนที่เขาจะสอบและทำวีซ่า เพื่อใช้สำหรับการทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้อง
“กลับมาไทยผมก็มาเปิดกับเพื่อน เปิดร้านลาบ ขายข้าวมันไก่ ข้าวขาหมูอยู่แถวบ้าน ก็รอโอกาส สมัครมาเกาหลี สมัครสอบ E9 มาโรงงาน ไปงานอะไรก็ได้ขอให้ได้ไปทำงานต่างประเทศก่อน ผมก็รอเป็นปี ผมสอบผ่านเขาเรียกผมไปทำงาน
ผมทำงานโรงงานพลาสติกได้เกือบปี ทีนี้เจ้าของโรงงานเป็นคนเกาหลี แกเปิดร้านอาหารเกาหลีขายปลาไหล ผมก็บอกว่าผมเป็นเชฟเก่า ผมช่วยได้ แกก็ว่าจริงเหรอ เป็นเหรอ แล้วมาทำงานโรงงานทำไม
ผมก็บอกไม่รู้ว่าผมจะไปหาอะไร ผมไม่รู้จักใคร จะไปยังไง แกก็ให้ผมไปทำที่ร้านอาหารแก ผมก็ Create อาหารไทยขายด้วย ขายกับปลาไหลย่างเกาหลี วันหยุดทำพิเศษผมก็มาทำ ทำมาจนถึงวันหนึ่ง ผมเริ่มรู้จักคนในเกาหลี เชฟต้องใช้ใบอย่างนั้นนะ ผมก็กลับบ้าน หาทำเอกสารมาให้ถูกต้องทำเชฟเลยดีกว่า
มันได้ประสบการณ์ครับ ตอนที่อยู่โรงงานแล้วมาทำร้านอาหารเกาหลีถือว่าโอเคนะครับ ผมได้รู้จักนิสัยคนเกาหลี วัฒนธรรมการกินของเกาหลี คนเกาหลีกินกันยังไง ใช้ชีวิตกันยังไง เรารู้พฤติกรรมการกินของคนเกาหลีเป็นยังไง
เราก็จดจำว่าอาหารเกาหลีมันต้องเป็นอย่างนี้นะ อาหารไทยเรารสชาติเป็นอย่างนี้ คนเกาหลีจะยอมรับเหรอ คิดในใจถ้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะทำอาหารไทยให้คนเกาหลีเป็นที่ยอมรับ ก็เลยกลับไป”
หัวหน้าเชฟแห่ง “ร้านครับผม”
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคชะตาหรือความบังเอิญ ในตอนนั้นเชฟตุ๋มเกือบจะได้ทำวีซ่าเพื่อทำงานที่ญี่ปุ่นแล้ว ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำให้ลองมาทำที่ “ร้านครับผม” ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยในเกาหลี และมีเจ้าของเป็นคนเกาหลี เป็นเวลา 3 เดือน
“มีคนเรียกผมไปงานอาลาไบท์ (Albeit หรือ งาน Part Time) 15 วันที่ญี่ปุ่นก่อน เขาก็ถามเอาวีซ่าที่ญี่ปุ่นเลยไหม ผมก็บอกว่ายัง ผมก็ขอมาเกาหลีก่อน ตอนนั้น ร้านครับผม มีคนรู้จักอยู่ อยากได้เชฟ ผมก็ว่ามา 3 เดือนได้ไหม มาลองก่อน ก็บินมาจากญี่ปุ่นมาเกาหลีเลย
ตอนนั้น ร้านครับผม เปิดมาได้ 2 ปีแต่ไม่มีลูกค้า เงียบถึงเงียบมาก มีเชฟอยู่คนเดียว ผู้ช่วยคนนึง เขาทิ้งขยะมันเน่าหมักหมม แค่เห็นก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ครัว ขายได้วันนึงถ้าเป็นบ้านเราก็ 4,000-5,000 บาท ผมก็ว่าทำไมเงียบจังเลย
ผมก็ทำเต็มที่ ยังไงก็ต้องช่วยเขาให้เต็มที่ ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ วันหน้าเขาจะได้ทำวีซ่าให้เรา ครบ 3 เดือนเจ้านายบอกว่าจะทำวีซ่าให้ ถ้าผมกลับมาจะให้ผมจัดระบบใหม่ได้ไหม แกก็บอกได้ ผมก็กลับไปทำวีซ่า”
นอกจากจะมาเป็นเชฟแล้ว ตุ๋มยังมาช่วยจัดระเบียบร้านอาหารไทยร้านนี้ให้เข้าที่เข้าทางอีกด้วย
“ค่อนข้างจะมีปัญหาเรื่องรสชาติอาหารไม่คงที่ ไม่มีสูตรของร้าน บางทีแกเรียกเชฟมาเหมือนผม มาทำ 3 เดือน ทำ 3 เดือนปุ๊บก็กลับไป ก็หาคนใหม่มาอีก อาหารไม่คงที่ มากินวันนั้นก็ไม่เหมือน ก็เลยเกิดปัญหาเรื่องรสชาติอาหาร
ยอดขายคือไม่เคยถึงล้านวอน นานๆ ทีก็จะมี ผมก็เลยมานั่งคุยกับแก ผมก็ยังไม่เก่งภาษาเกาหลีก็พูดภาษาอังกฤษ เจ้านายแกพูดภาษาอังกฤษเก่ง แกไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ก็คุยกัน ทำยังไงให้มีลูกค้า ผมทำได้แต่ต้องเปลี่ยนสูตรหมดเลย ต้องทำทุกอย่างให้เป็นสูตร
เริ่มตั้งแต่ทอดมันกุ้ง เมื่อก่อนกิโลนึงขาย 3 วันกว่าจะหมด ผมบอกผมเปลี่ยนทอดมันกุ้งใหม่ เจ้านายแกให้โอกาส เรามีความคิดอะไรที่สร้างสรรค์ อยากเอาอะไรมาเทสต์ที่อยากทำให้ร้านดี แกสั่งของให้เลย แกไม่หวงวัตถุดิบ
ทอดมันกุ้งร้านอื่นจะใส่เนื้อไก่บ้าง เนื้อหมูบ้างผสมเพื่อให้ได้ปริมาณ แต่ผมบอกผมไม่เอาได้ไหม ผมขอกุ้งอย่างเดียวได้ไหม กินปุ๊บกุ้งแน่นๆ แกชิมก็อร่อย แกก็ให้เพื่อนๆ แถวนี้ชิม ก็บอกอร่อย ผมก็เลยตีทอดมันกุ้ง จากเมื่อก่อนกิโลนึงขาย 3 วัน เดี๋ยวนี้ขายวันละ 10 กิโล ทอดมันกุ้งดังมาก ผมโชคดีตรงที่เจ้านายซัพพอร์ตความคิดเรามันก็เลยไปด้วยกันได้”
[ เจ้าของร้านและหัวหน้าเชพร้าน “ครับผม” ]
เวลาผ่านไปไม่ถึงปี ร้านครับผม ที่เริ่มมองเห็นทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ทางด้านเชฟตุ๋ม ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน และได้กลายมาเป็นหัวหน้าเชฟในที่สุด
“ตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นเป็นหัวหน้าครับเพราะมีเชฟคนอื่น แต่รสชาติอาหารเจ้านายก็จะมาปรึกษาผม เพราะอายุทำงานผมหลายปี แกชอบความคิดผม ทำไมต้องไปชิมของเขาแล้วทำให้มันเหมือน เขาก็ไปกินที่โน่นสิ Original เขาจะมากินของเราทำไม ผมก็คิดอย่างนี้ แกก็บอกมันใช่ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น อยากทำอะไรก็ทำ ทำให้ลูกค้าเข้า
ไปด้วยกันแกให้ผมถือกระเป๋า ทุกบาททุกสตางค์ผมมีทอนให้ ขยัน ซื่อสัตย์ แกเลยไว้ใจ หลังจากนั้นแกก็บอกใคร นี่คือเมนเชฟ ก็ให้อำนาจผม แกก็บอกทำอะไรก็ได้ให้มันดีขึ้น ผมก็สามารถทำได้เต็มที่ ทำให้สมกับที่เขาไว้วางใจ
อาหารผมเปลี่ยนซอส อย่างผัดกระเพราทำให้เป็นซอสที่ใครทำก็เหมือนกัน เรื่องรสชาติเมื่อก่อนจะเอารสชาติให้คนเกาหลีกินได้ บางคนเขาทำอาหารไทยแต่รสชาติเกาหลี ผมอยากทำอาหารไทยรสชาติไทย เราต้องมีเอกลักษณ์ของเรา ผมก็บอกว่าเราทำอาหารทำให้มันเผ็ดได้ แต่ไม่ใช่เผ็ดจนกินไม่ได้ ต้องมีกลิ่นอายของความเป็น Street Food
ร้านโน้นคนเยอะ พากันไปชิม เราจะไปทำให้เหมือนเขาทำไม เราต้องมีจุดขายของเราสิ ของเราคือรสไทย รสจัดจ้าน ลูกค้าอยากกินอาหารไทยมากินร้านนี้นะ
ค่อยๆ แก้ไปทีละปมเพราะมันสะสมมานาน เริ่มมีลูกค้าเข้ามาแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีเล้งนะครับ จากนั้นก็วันละล้านกว่า เจ้านายก็ดีใจ ก็มาแจกทิปคนละ 50,000 วอน ดีใจขายได้ยอดถึงล้าน”
[ ส่วนหนึ่งของเมนูเด็ด ]
หลังจากนั้นไม่นานชื่อเสียงของเมนู ข้าวผัดกะเพรา และ ข้าวขาหมู จากร้านครับผม ที่รสชาติจัดจ้านเหมือนกินที่เมืองไทย ก็โด่งดังขึ้นมาในเกาหลีจากกระแสปากต่อปาก และการที่มีนักรีวิวเดินทางมาชิม
“เกาหลีก็มีขาหมูเหมือนกัน สไตล์แข็งๆ หน่อย ตุ๋นแข็งๆ แล้วก็หั่น ห่อกับผัก กินกับน้ำจิ้ม ข้าวขาหมูร้านอื่นเขาก็เริ่มทำรสชาติเอาใจเกาหลี เราก็อยากทำให้มันได้กลิ่นอายของไทย หมูให้มันนุ่ม กินให้มันละลายในปาก
Create สูตรกว่าจะลงตัวนานมาก ข้าวขาหมูผมก็ทำซอส ทำยังไงทุกหม้อต้องรสชาติเหมือนกัน ให้มัน Mix กันแล้วก็ใส่ทีเดียวจบ นั่งคิด นอนคิด บางทีเลิกงานก็ไม่หลับก็ไปนอนคิด (ยิ้ม) จนได้ซอสลงตัว ใครมาทำก็จะรสชาติเหมือนกันหมด
ทำจนเกาหลีกินแล้วอร่อย นุ่มละลายในปาก น้ำจิ้มกว่าจะได้ จนคนเกาหลีบอกน้ำจิ้มข้าวขาหมูแค่เอาคลุกข้าวกินก็ได้ ดังมากข้าวขาหมู ผมขายวันละเป็น 100 ขา ดังขึ้นมาก่อนเล้งครับ แล้วผัดกระเพราผมจะผัดสไตล์แห้งๆ ผัดกระเพราร้านอื่นเขาจะมีหอมหัวใหญ่ พริก บางทีก็ใส่เห็ด ใส่ข้าวโพด ผมอยากให้มันมีแค่หมูสับ กระเทียม พริก ใบกะเพราแค่นั้น จบ
มี YouTube มารีวิวด้วยแล้วก็จะมีเป็น YouTube ดังของเกาหลี แกมาถ่ายขาหมูได้ยินว่าขาหมูร้านนี้อร่อยมาก กินหมดจาน สั่งมาอีกก็กินอีก แล้วแกก็ถ่ายออกทีวีเกาหลีทั่วประเทศ คนนี้คนติดตามเยอะ หลังจากนั้นขาหมูต้มไม่ทัน”
“เล้งแซ่บ” เมนูแจ้งเกิด จนไอดอลต้องตามมาซด
แม้ ข้าวกะเพรา และ ข้าวขาหมู จะทำให้ร้านครับผมเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่เชฟตุ๋มก็มองว่าเป็นเมนูที่ไม่แตกต่างจากร้านอาหารไทยอื่นๆ กระทั่งเขาปิ๊งเมนู “เล้งแซ่บ” เนื้อหมูติดกระดูกเล้งในน้ำซุปรสเด็ดขึ้นมา
“ผมอยากให้ลูกค้ามารอ ไม่ใช่เรามานั่งรอลูกค้า ทำยังไงให้ลูกค้ามายืนรอเรา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าคิดอะไรที่มันจะเป็น Signature ของร้าน เพราะอาหารไทยก็มีผัดกะเพรา ทอดมันกุ้ง กุ้งผัดผงกะหรี่ ปูผัดผงกะหรี่ ที่อื่นก็มีขาย
ผมก็ไม่หยุดแค่นั้น เจ้านายก็ว่า ‘ตุ๋ม ฉันอยากขายก๋วยเตี๋ยวหมูด้วย น้ำซุปเอากระดูกทำ’ ผมก็บอกเอากระดูกเล้ง สั่งมาแบบนี้นะเปิด Google ให้ดู แกก็สั่งมาเทสต์ สั่งมาที 30 กิโล (หัวเราะ)
ผมต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว เนื้อมันเยอะ ลองเอามาทำ (เล้งแซ่บ) ดีกว่า ลองเอามาทำใส่หม้อต้มยำ มันไม่มีอะไรที่ Amazing ผมก็เลยเอามาตั้งให้มันใหญ่ๆ สูงๆ แล้วก็จะมีเพื่อนร่วมงานหัวเราะ ทำอะไร เอาผมไปพูดที่อื่น เชฟตุ๋มมันทำอาหารไปเรื่อย มันทำอาหารไม่เป็นหรอก ดูสิมันเอากระดูกมาตั้ง คนเกาหลีที่ไหนมันจะกิน หัวเราะกัน”
แต่กว่าจะได้ เล้งแซ่บ สูตรร้านครับผมที่สมบูรณ์แบบก็ใช้เวลาอยู่นาน แถมยังเจอคำสบประมาทเข้ามาบั่นทอนอีกครั้ง แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดความตั้งใจของเชฟตุ๋มได้
“ผมก็รู้วันนึงผมต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ น้ำซอสผมทำอยู่นั่น ทำทิ้งๆ เจ้านายก็ดีเป็นคนให้โอกาส ทำไปเลย ทำให้มันดี ทำให้เขาชิม เปรี้ยวไปนะ เผ็ดไปนะ เค็มไปนะ หวานไปนะ ผมทำจนบางทีท้อ ขึ้นไปนอน จนเก็บไปฝันบางที (หัวเราะ) ตื่นมาแต่เช้าลงมาทำ แกก็รอเมื่อไหร่จะให้ชิม ก็ได้ อร่อยแล้ว
อร่อยแล้วทีนี้ทำยังไงจะได้ขาย แกบอกยังไม่มีลงเมนูหรอก เวลาคนไทยมาผมก็บอกมีเล้งนะครับ ชิมเล้งไหม แจกเลย แจกไปก่อนเพราะเราไม่ได้สั่งมาขาย ใส่ตู้เย็นไว้ถึงเวลาก็มาอุ่น
แล้วบังเอิญมันมีเกาหลีเป็น YouTuber มา ผมก็บอกเอาเล้งไหม จานร้อนๆ ตั้งเลย เขาก็ว้าว ไม่เคยเห็น เพราะเกาหลียังไม่มีใครทำเล้ง คนเกาหลีกินกระดูกคัมจาทัง เป็นกระดูกเหมือนกับเรา เราก็มีเนื้อกระดูกทำเล้ง
YouTuber เกาหลีมาเห็นก็ว้าว ก็ถ่ายลง เผอิญเขาค่อนข้างมีชื่อเสียง ทีนี้คนถามหาเล้ง ก็เริ่มเอาลงเมนู ครั้งแรกผมต้มวันนั้นเกือบ 200 กิโล เป็นเมนูดังเรื่อยๆ จนรายการทีวีมาถ่ายทำ”
หลายรายการตามมาถ่ายทำ
จากในตอนแรกที่เพียงแค่ลูกค้าทดลองชิมก่อน กลายเป็นว่าตอนนี้ เล้งแซ่บ คือเมนูทำให้ชื่อของร้านครับผมเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ เพราะไม่เพียงแค่คนทั่วไปที่มาต่อคิวอยู่นานเพื่อลิ้มรสเท่านั้น แต่ยังมีไอดอลและคนดังจากหลากหลายวงการในเกาหลี พาเหรดกันมาชิม จนเชฟปรุงแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว
“เปรี้ยงสุดๆ เนี่ยเป็นเล้ง จากนั้นลูกค้าเริ่มเยอะ เจ้านายก็ดีใจ ทุกรายการทีวีเกาหลีมาถ่ายทำกันหมดเลย จนต้มไม่ทัน ต้องขอหยุดไม่ไหว แล้วก็มีดาราเกาหลี ดาราตลกมา ถ้าเปรียบเทียบบ้านเราก็เท่งหม่ำโหน่ง ผมเคยเห็นแต่ในทีวีสมัยก่อนดังมาก ไม่คิดว่าจะได้เจอตัวจริง
[ ซุป‘ตาร์ “เรน” ก็มา ]
เรน (ชองจีฮุน Jung Ji Hoon ศิลปินชื่อดังชาวเกาหลี) โทร.มาจอง เล้งมีไหม เราก็ล็อกไว้เลย เรนมากิน อาทิตย์นึงมา 2 วัน
ทีนี้เพื่อนของ ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK) มากิน ผมขาวๆ ชื่อ สร (สร - ชลนสร สัจจกุล) ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักหรอกมานั่งกินโต๊ะใกล้ครัว คนนี้สวยนะเนี่ย เป็นไอดอล ไม่รู้จัก แล้วก็มาเห็นใน YouTube คนนี้เอง ก็พาลิซ่ามา
[ “ลิซ่า” พาน้องๆ เด็กไทยมาชิม ]
คนจีนเป็นแฟนคลับของลิซ่าเยอะ คนจีนมาจากไหนไม่รู้ มากันแบบ… ขายได้วันละ 7-8 ล้านวอน มีชื่อเสียงจนต้องขยายสาขา เขาบอกทำไมไม่เปิดตรงโน้นด้วยอยากกิน
แล้วก็ แบมแบม (กันต์พิมุกต์ ภูวกุล หรือ แบมแบม GOT7) จะเป็นลูกค้าประจำ จะใส่ชุดนอนหิ้วหม้อมา ‘เชฟ เล้ง’ เอาหม้อมาตั้งไว้หน้าครัว แล้วก็ขอเส้นมะละกอแบบไม่ใส่แครอทไปตำเอง แบมแบมเป็นลูกค้าประจำเลย 3-4 วันมาที
ทุกวันนี้ยังแบมแบมจะรีวิว ‘ชอบอาหารร้านครับผม เชฟทำกับข้าวอร่อยผมเป็นลูกค้าประจำผมมาที่นี่ตลอด’ ผมก็ดีใจ ขนาดคนดังมาชอบอาหารฝีมือเรา”
“ไม่คิดว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้”
จากความไว้ใจของเจ้าของร้านครับผม ที่สนับสนุนเชฟตุ๋มในทุกไอเดีย ทำให้ยอดขายของร้านทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด จากหลักพันก็พุ่งมาถึงหลักแสนต่อวัน แถมขยายไปแล้วถึง 5 สาขา เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับลูกค้า
“จากเมื่อก่อนผมมาใหม่ๆ ยังไม่มีอะไร ขายได้หลักพันไม่ถึงหลักหมื่น ตีเป็นเงินก็ 4-5 แสนวอน แต่ตอนนี้ 7-8 ล้านวอน ล้านหนึ่งก็ประมาณ 26,000 บาท เมื่อก่อนขายถึงล้านทีก็ดีใจ ตื่นเต้น ไม่เคยขายได้ เอาเงินมาแจกลูกน้องทีละ 50,000 วอน เดี๋ยวนี้ขาย 7-8 ล้าน เงียบกริบ (หัวเราะ) พูดแซวกันเฉยๆ
จะมีแอพของเกาหลีเกี่ยวกับพวกที่ไปกินอาหาร ผมจำไม่ได้ชื่อแอปฯอะไร เขามาชิมแล้วคนในเกาหลีโหวตว่าร้านไหนอร่อย ปี 2021ได้ใบประกาศติดที่ร้าน
จากที่ว่า ร้านครับผม ดังมาก ไปเปิดที่ในห้างฯ มันรองรับไม่ได้ ไปเปิด ร้านเร็วๆ อยากเปิดเป็นร้านบะหมี่สไตล์ไทย ขายบะหมี่เกี๊ยว บะหมี่หมูแดง บะหมี่หมูกรอบ ต้มยำมาม่า ถ้าเปิดชื่อเดียวกันมันจะดึงลูกค้ากัน ก็เลยเปลี่ยนอาหารให้แตกต่างกัน แล้วก็มาเปิดที่นี่ ร้านตลาด เปิดได้ 5 เดือน เน้นขายเล้งเลย แบ่งเบาภาระจากร้านครับผม ให้ลูกค้ามารุมที่นี่
มี YouTuber มารีวิวว่าเล้งที่นี่ก็มี เชฟตุ๋มอยู่ที่ร้านตลาด เห็นผลครับ ออกสื่อไม่ถึงวันลูกค้ามาจากไหนไม่รู้ ขายได้วันละ 6,000,000 วอน ทุกโต๊ะต้องมีเล้ง ตอนนี้ก็ยังดังในเกาหลี เข้าแถวยาว เกินคาดครับ เล้งยังได้ขายอยู่ กี่ปีก็ยังตีตลาดเกาหลี
ผมจะทำสูตรไว้ทุกสาขา ถ้ามีปัญหาเจ้านายจะให้เข้าไปดู รสชาติเปลี่ยนก็ต้องเข้าไปดู ถ้ามันมีเพี้ยนปุ๊บต้องไปดู แต่ผมมาบุกเบิกตรงนี้ก่อนเพื่อรองรับเล้ง ร้านครับผม ตอนนี้จำกัดเล้งให้ได้ประมาณ 15 เสิร์ฟ เขาไม่ไหว ลูกค้าเยอะทำไม่ทัน ผมก็เลยย้ายมาเลยตรงนี้มีให้กินทั้งวันถึงเที่ยงคืน ร้านครับผมซักบ่ายโมงก็หมดแล้ว ที่เหลือก็ให้มาที่นี่”
และการเติบโตก็ไม่หยุดแค่นั้น นอกจากสาขาในเครือร้านครับผมที่เชฟคนดังได้เข้ามาดูแลแล้ว ล่าสุดเขากำลังจะมีร้านอาหารไทยเป็นของตัวเองในต่างแดนเร็วๆ นี้อีกด้วย
“ตอนนี้ ร้านครับผม แตกตัวออกมาเป็นอีก 2 แบรนด์ คือ แบรนด์เร็วๆ และ แบรนด์ตลาด ตอนนี้ร้านเพิ่งเปิดใหม่ลูกค้าคนไทยยังไม่รู้จักเพราะไม่มีภาษาไทยซักตัว แต่บางคนก็หลุดเข้ามาว่าร้านคนไทยเหรอ
คนไทยถ้าได้มาเกาหลี แถวอัพกูจอง โรดิโอ (Apgujeong Rodeo) อยากให้มาแวะชิมอาหารร้านตลาด ตอนนี้ผมอยู่ตลาด ลูกค้าคนไทยเห็นก็มาได้ ผมจะดูแลเป็นพิเศษเลยครับ
ก็คุยกับเจ้านายครับ แกก็บอกว่าแกขอให้เปิดอีก 2 สาขาให้แก เป็นแบรนด์ของตลาด แล้วก็เป็นร้านชาบู หลังจากนั้นก็จะเปิดเป็นร้านของผมชื่อ เชฟตุ๋มโภชนา ให้ผมเป็นหุ้นส่วนกัน ในอนาคตอีกไม่นานหรอกครับ ถ้าผมได้มีร้านอาหารของตัวเองในต่างประเทศ ผมมาถึงจุดนี้ได้มาเพราะความพยายาม ความอดทนของผม”
จากเด็กหนุ่มที่เตรียมจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อสานต่องานครอบครัว ก็มาเป็นคนก้นครัวที่ฝ่าฟันคำดูถูกสารพัด และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าเชฟของร้านอาหารไทยในเกาหลี จนมีชื่อเสียงข้ามประเทศ เชฟวัย 47 ปีคนนี้ก็ยังทึ่งไม่หาย กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตตัวเอง
“มาไกลเกินมากครับ ไม่คิดว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ทางญาติพี่น้องไม่มีใครคิดว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ตอนนี้ญาติผมก็รับเหมาก่อสร้างกันอยู่ ความฝันจะให้ผมรับช่วงต่อ มันมาเป็นเชฟได้ยังไง ผมบอกช่วงนั้นคงเป็นจุดพลิกผันให้ผมตกตึกมั้ง อยากให้เราเปลี่ยนอาชีพ เขาภูมิใจกับผม
จากที่ว่าแม่ผมไปไหนก็ไปยืมเงิน เขาก็หลบหน้าหนี แม่ผมชอบไปยืมเงิน (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ถือว่าให้แม่เราได้กินอิ่มเหมือนคนอื่น คนอื่นได้กินอะไรแกก็ได้กิน แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ”
ในฐานะที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ถอดใจในการเดินตามความฝัน จนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ เชฟตุ๋ม ก็ขอฝากถึงทุกคนที่กำลังตามหาตัวตนของตัวเอง ให้อดทน พยายาม และทำตัวเป็นแก้วเปล่าที่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เสมอ
“ถ้าไม่มีความอดทนมันก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก เราต้องเปิดรับความรู้ มันมีตลอดเวลา มันไม่มีที่สิ้นสุด ผมก็ยังหาความรู้หาศึกษาไปเรื่อยๆ มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่าคิดว่าเราเก่งแล้วมันก็ได้แค่นั้น คิดว่าเรายังไม่เก่ง เราต้องศึกษาไปเรื่อยๆ หมั่นหาความรู้ไปเรื่อยๆ มันถึงจะโตได้ ถ้าเราคิดอยู่แค่นั้นคุณก็จะอยู่แค่นั้น คุณจะไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา
อย่างคนที่อยากหาตัวตนของตัวเอง ลองสังเกตว่าเรารักที่จะทำ สิ่งไหน อะไรที่เราทำแล้วเรารัก เราชอบ ผมอยากให้ตั้งใจทำ อดทนกับมัน บางทีเราชอบจริงแต่มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำออกมาไม่ดี แต่ถ้าเราชอบและพยายามอดทนฝึกฝน หมั่นศึกษากับมัน ถ้าทำด้วยใจรักและอดทนมันจะไปได้ดี”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
@livestyle.official ...จากเชฟโนเนมในเกาหลี สู่ Main Chef คนดัง ที่ร้านไทยที่นั่นต้องขอก๊อบฯ เมนู... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ครับผม #เชฟตุ๋ม #เชฟตุ๋มครับผม #ร้านอาหารไทย #รีวิวร้านอาหาร #รีวิวอาหาร #เล้งแซ่บ #เกาหลี ♬ เสียงต้นฉบับ LIVE Style
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Toom Boonyakanist” , “ครับผม 까폼” และยูทูป “BABYMONSTER”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **