ปรับเกณฑ์คนรับสิทธิ์ “ดิจิทัลหมื่นบาท” รายได้ต่อเดือน 25,000 บาท ขึ้นไป รวยแล้ว? นักเคลื่อนไหวช่วยวิเคราะห์หนักเทียบค่าครองชีพ
ดูแค่รายได้ ไม่ดูรายจ่าย มันได้เหรอ?
กลายประเด็นอีกแล้ว กับนโยบาย เงิน 10,000 ดิจิทัล เมื่อล่าสุด รัฐบาลเผยมีแนวคิด ปรับเกณฑ์ ผู้มีสิทธิ์รับเงิน จาก ผู้มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปแบบถ้วนหน้า แต่ตอนนี้เป็นการ ตัดสิทธิ์คนรวยออก โดยมี 3 แนวทางที่กำลังพูดคุยกันอยู่ คือ
1)ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม “มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท” หรือมี “เงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท” 2) ตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท หรือ 3) ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้
แต่ประเด็นที่สังคมกำลังวิจารณ์ คือ เส้นแบ่งความรวย ที่ตั้งขึ้นมาอย่าง รายเดือนละ 25,000 บาท จนโซเชียลฯ ตั้งคำถามว่า 25,000 นี้รวยแล้วหรือ? ถ้าเทียบค่าครองชีพที่เจอ หรือบ้างก็ถามว่า “ไหนบอกว่าได้ทุกคน?”
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการเก็บข้อมูล “ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย” แยกรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดในปี 2565พบว่า จังหวัดที่ค่าใช่จ่ายมากที่สุดคือ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 37,897.50 บาท อันดับ 2 คือ ภูเก็ต อยู่ที่ 33,150.86 บาท
3 คือ จ.นนทบุรี ที่ 30,990.34บาท 4 เป็น จ.กระบี่ 29,073.90 บาท และอันดับที่ 5 คือ กรุงเทพฯ อยู่ที่ 27,970.47 บาท และรายจ่ายครัวเรือนไทย ในปี 2565 เฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 22,372 บาท
ลองมองผ่านมุมมองของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) โดยให้ช่วยวิเคราะห์ว่า เส้นแบ่งความรวย-จน เราดูแค่ ตัวเลขรายได้อย่างเดียวได้จริงหรือ?
“คือตอนนี้สภาพัฒน์ กำหนดเส้นความยากจนไว้สำหรับคนมีรายได้ 2,803 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นคนจน ถ้าจะให้แต่คนจน แล้วคุณนิยามคนจนแบบนั้น มันก็คัดคนออกจำนวนมาก”
ส่วนเรื่อง เส้นแบ่งความรวย ก็ต้องดูอย่างอื่นมาประกอบด้วย ตอนนี้ รายได้ครัวเรือนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 27,000 บาท แต่เป็นตัวบุคคลจะอยู่ที่ 9,000 กว่าบาทแต่ในมุมมองของ “นิติรัตน์” คิดว่า
“ถ้าภาษีมาจากประชาชนทุกคน ทุกคนก็ควรได้ครับ”
ถ้าเงินมาจาก “ภาษีประชาชน” หรือเป็นเงินที่ “กู้มา” ทุกคนควรได้แบบถ้วนหน้า เพราะประชาชนทุกคน คือคนที่รับผิดชอบในการจ่ายหนี้ หรือภาษีเหล่านั้น
“เงินดิจิตอล 10,000 บาท มันจะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ผมยังไม่แน่ใจ หรือมันอาจจะได้แค่ชั่วคราว แต่มันไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเปราะบาง เพราะมันไม่ได้ไปแก้โครงสร้าง”
{นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์}
ทำสวัสดิการน่าจะดีกว่า
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับสื่อในเรื่องนี้ว่า แม้จะมีการปรับเกณฑ์เอาคนรวยออกไป โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณราว 4 แสน 3 หมื่นล้านบาท อยู่ดี
เพราะแม้จะลดจำนวนคนได้รับสิทธิ์ แต่ก็ยังมีคนรับเงินตรงนี้อยู่ประมาณ 43 - 49 ล้านคน และตัวงบประมาณของปี 2567 นั้นก็ไม่เพียงพอ ภายในปีเดียว
ส่วนนิติรัตน์จากกลุ่ม We Fair ให้มุมมองเรื่อง งบประมาณของโครงการเงินดิจิทัล 10,000 กับทีมข่าวว่า ถ้าเอางบ5 แสน 6หมื่นล้าน ตรงนี้ ไปใช้ตรงอื่น อย่าง สวัสดิการเพื่อประชาชนจะดีเสียกว่า
“จริงๆ สวัสดิการประชาชนมันมีงบประมาณอยู่แล้ว 4 แสน 5 หมื่นล้าน สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ถ้าปรับเป็น 5 แสน 6 หมื่นล้าน เท่ากับยอดเงินดิจิทัลวอลเลต มันเติมงบเพิ่มขึ้น 1 แสน 1 หมื่นล้าน”
เงินจำนวนนี้สามารถปรับเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600-1,000 เป็น 1,000 บาท เงินอุดหนุนเด็กจาก 600 บาท ปรับเป็น 1,000 บาท ได้ทันที แถมยังเหลือเงินอีก1 หมื่น 2 พันล้านด้วยซ้ำ
“ถ้าคุณหันกลับมาแปลงเงินดิจิทัล เป็นสวัสดิการประชาชนเนี่ย มันจะเป็นการยั่งยืนกว่า และมันก็จะทำให้การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม คนจน และคนทั้งสังคมก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”
ทุกวันนี้ “เงินหมื่นดิจิทัล” ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เลยในวงวิชาการ ว่ามันกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า แต่ถ้าเปลี่ยนเงินตัวนี้เป็นสวัสดิการเช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ตรงนี้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงแน่นอน
“ผู้สูงอายุจะไม่เก็บเงินไว้ เขาได้เงินมาเขาก็เลย มันไปถึงรากหญ้าเลย มันไปถึงทุกตามตรอกซอกซอย ตามชุมชนต่างๆ มันเข้าถึงหหมดและมันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงเลยครับ”
สิ่งที่รัฐพยายามอธิบายว่าโครงการเงินหมื่นดิจิทัล จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่จริงๆ มันไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ การทำสวัสดิการต่างหากจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และยกระดับคนให้พ้นเส้นความยากจน
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **