xs
xsm
sm
md
lg

ต่อให้ต้องใส่ขาเทียมก็จะปีน!! หญิงไทยคนที่ 2 ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ “หมอมัณฑนา” ถึงตายก็ไม่เสียดาย [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย่าหยุดตามความฝันเปิดใจคุณหมอนักปีนเขา กับแพสชั่นอันแรงกล้า ที่ค้นพบว่า การปีนเขาคือความสุขในชีวิต ต่อให้ต้องตายก็คุ้ม? เจอสารพัดอุปสรรค หิมะกัด-ไกด์ทิ้ง-ตามองไม่เห็น พร้อมเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องแลกมาด้วยการตัดนิ้วทั้ง 4 ทิ้งสังเวยความฝัน!!



จุดเริ่มต้นในการปีนเขา

รู้จักกับชาวเนปาลคนนึง ที่เขาไม่มีขาสักข้างเลยนะคะ เขาเป็นทหาร แล้วเขาก็ถูกระเบิด ทำให้เขาต้องใส่ขาเทียมปีน ปีนี้เขาก็ปีนไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ คือเราคุยกันค่อนข้างบ่อย ดิฉันก็เลยคิดว่า โอเคต่อให้เราต้องใส่ขาเทียมปีน เราก็จะปีนอยู่ดีค่ะ ก็ได้กำลังใจ ก็มีความหวัง”

นี่เป็นเรื่องราวของ “หมอกุ๊กไก่-พญ.มัณฑนา ถวิลไพร” แพทย์หญิงวัย 35 ปี ที่เป็นผู้หญิงไทยคนที่ 2 และเป็นคนไทยคนที่5 ที่พิชิตยอดเขา “เอเวอเรสต์” ได้สำเร็จ

แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ เธอแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) ค่อนข้างรุนแรง ทั้งบริเวณใบหน้า และถึงขั้นต้องตัดทัั้ง 4 นิ้ว เพื่อสังเวยความฝัน

อะไรที่ทำให้แพทย์จาก จ.ขอนแก่น คนนี้ ที่เป็นแพทย์ด้านเวชศาสตร์​ฉุกเฉิน และเวชบำบัดวิกฤตถึงขั้นลาออกจากอาชีพหมอ เพื่อไปพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

เธอพร้อมเล่าด้วยเสียงหัวเราะ และแทรกมาด้วยคาบน้ำตา ให้ฟังว่า และอะไรคือแรงบันดาลใจสำคัญของเธอในการปีนเขา
สำหรับจุดเริ่มต้น ในการสนใจปีนเขาก็คือ เริ่มแรกเลยคือด้วยความที่เธอเป็นแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และเวชบำบัดวิกฤต ทำให้อยากจะศึกษาด้านสรีระวิทยาของร่างกายมนุษย์มากกว่าในตำรา

ดังนั้น บนภูเขาที่สูงๆ จะมีการเจ็บป่วยชนิดที่ไม่สามารถเจอได้บนระดับน้ำทะเลที่คนทั่วไปอาศัยอยู่กัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะศึกษาเกี่ยวกับสรีระวิทยาของร่างกาย

เธอตั้งข้อสงสัยว่า ทำยังไงถึงจะมีชีวิตอยู่บนนั้นได้ เพราะว่าร่างกายของมนุษย์ทำมาเพื่ออยู่ในระดับน้ำทะเล ก็เลยอยากจะศึกษาเพิ่มว่า ทำยังไงคนเราถึงจะปรับตัว และเอาชีวิตรอดอยู่บนนั้นได้ นั่นก็เป็นความสนส่วนตัว ที่อยากออกเดินทางไปเริ่มปีนเขา


“จุดเริ่มต้นที่เราอยากจะปีนเขา ก็เพราะว่า ด้วยความที่เราเรียนเรื่องของ physiology ของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้าง ให้มีชีวิตรอดในระดับน้ำทะเลนะคะ ทีนี้ถ้าเราไปอยู่ที่ระดับที่ไม่ใช่น้ำทะเล มันก็จะมีการปรับตัวของร่างกายนะคะ แล้วเราก็เป็นคนที่สนใจในวิชา physiology มากเลย ก็เลยทำให้เราอยากจะลองไปอยู่ในที่ที่ร่างกายต้องปรับตัว

เช่น high altitude หรือว่าบนเขา อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเอาตัวเองไปอยู่บนที่สูง ก็คือ เราอยากศึกษาในเชิงลึก ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ physiology แล้วมันก็มีกลุ่มโรคที่เป็นเฉพาะในที่สูง ก็เป็นความสนใจของดิฉันเอง ก็เลยทำให้เริ่มไปปีนเขา เพราะเริ่มสนใจในทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์

มันไม่ใช่การปีนอย่างเดียว คือเรารู้สึกว่า เราอยากปีนเพื่อในแนววิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อการเรียนรู้ ก็มีนักวิจัยหลายท่าน ทั้งปีนเก่ง แล้วก็สามารถทำการวิจัยในที่สูงได้ เราก็อ่านงานวิจัยพวกนี้ อ่านหนังสือที่เขาทำงานวิจัยรวบรวมไว้ เราก็มีความชื่นชอบเป็นอย่างมาก

บังเอิญเรียนเป็นหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉินนะคะ พออ่านเรื่องพวกนี้ ก็คิดว่า ถ้าเราไม่ไป แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่ามันเป็นยังไง ก็เลยทำให้เราออกทริปแรกเป็น high altitude ตอนนั้นก็ไปประมาณ 3,300 เมตรเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็พยายามเพิ่มความสูงของตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ”


สำหรับทริปแรกในการปีนเขาที่เธอเลือกก็คือ Poon Hill ประเทศเนปาลเพราะเป็นภูเขา ที่หลายคนมองว่า น่าจะง่ายที่สุด สำหรับมือใหม่สมัครเล่นอย่างเธอ พอเธอได้พิชิตยอดเขาลูกนั้นได้สำเร็จ จากที่มีความตั้งใจว่า อยากปีนเขาเพื่อศึกษาร่างกายของมนุษย์ กลับกลายเป็นว่า ติดใจในการปีนเขา กลายเป็นความชอบที่ไม่ใช่แค่อยากศึกษาแล้ว แต่เธอมองว่า เป็นความชื่นชอบ และปีนลูกต่อๆ ไปด้วยความสุขทางใจของเธอไปด้วย

“พอถึงสุดนั้น เรารู้สึกเหมือนเราได้รับรางวัลจากการความยากลำบากของเรา มันเหมือนเปิดโลกในหัวใจ มันทำให้ความเครียด ความกังวล อะไรต่างๆ ที่มันเคยสะสมไว้ มันหายไปหมดเลย เพราะว่าเราขึ้นไปอยู่บนที่สูง เราเห็นภูมิทัศน์ที่มันแปลกตา ก็เลยทำให้เราติดใจการปีนเขา หลังจากนั้นก็คือไม่ได้ปีนเพื่อวิทยาศาสตร์อย่างเดียวแล้ว เรารู้สึกปีนเพื่อความสุขทางใจของเราด้วย

ก็ไปหลายประเทศนะคะ อย่างเช่นไปประเทศ อิหร่าน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน แล้วก็ปีนที่ยุโรป, อิตาลี, ฝรั่งเศส, สวิสเซอร์แลนด์ เราจำเป็นจะต้องไป เพราะว่าในไทย ไม่มีที่ที่เราจะฝึกซ้อมแบบนี้ได้ แล้วก็จะมีที่จีนด้วยที่ไป ก็จะไปปีน Ice Climbing หรือว่าปีนน้ำแข็งนะคะ ที่เสฉวน ประเทศจีน”


ปีน 2 ครั้ง กว่าจะพิชิตเอเวอเรสต์ได้

ครั้งนี้ ไม่ใช่การปีนเอเวอเรสต์ครั้งแรกของเธอ แต่เธอพยายามปีนมาแล้วถึง2 ครั้ง กว่าจะสำเร็จไปพอชิตบนยอดเขาที่สูงที่สุดได้

ครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสลองสัมผัสเอเวอเรสต์ คือปีที่แล้ว แต่ด้วยสภาพอากาศช่วงนั้นไม่เป็นใจ ในที่สุดเธอก็ยอมทิ้งความฝัน ปีนกลับลง

เธอเล่าความพยายามในปีที่แล้ว ที่พิชิตเอเวอเรสต์ไม่สำเร็จให้ฟังว่า สภาพอากาศค่อนข้างแย่ ลมแรงเต็นท์ปลิว และถึงแม้เกือบจะถึงความฝันแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องยอมถอย เพราะอันตรายมากๆ

“เอเวอเรสต์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนะคะ ก่อนที่จะปีนได้ เขาจะมีrequirement ว่านักปีนจะต้องผ่านยอดเขาลูกที่ คุณต้องผ่านอะไรยากพอสมควร ถึงจะไปสมัครปีนเอเวอเรสต์ได้ ไม่ใช่ดุ่มๆ เข้าไปเลย ก็อย่างเช่น จะต้องปีนยอดเขาระดับ 7-8 พันเมตรมาก่อนเป็นต้น เราก็เลยเลือกยอดเขามานาสลู ที่สูงประมาณ 8,100 กว่าเมตร แล้วเราก็ปีน พอเราปีนได้ ก็ค่อยตัดสินใจไปเอเวอเรสต์คือเราทำอะไร เป็นขั้นตอน เป็นขั้นๆ เราไม่ข้ามขั้นค่ะ ค่อยๆ สร้างความมั่นในไปเรื่อยๆ ค่ะ
 
ตอนที่เราปีนครั้งแรก คือปี 2022 ก็ปีนขึ้นไปได้ที่ 8,217 เมตร พอถึงตอนนั้น ทีมไกด์ของเรา เขาคิดว่า อากาศมันค่อนข้างแย่ แล้วเราก็เห็นลมที่มันพัดรุนแรง แล้วก็คืนที่อยู่ข้างบนเรา เริ่มถอนตัวลงมาแล้ว ก็เลยทำให้ทีมเราเนี่ย ก็เลยต้องกลับลงมาเหมือนกัน กลับลงมาที่เต็นท์ที่อยู่แคมป์4 ก็คือแคมป์สุดท้าย ก่อนที่จะขึ้น

ตรงนั้นที่ลงมาอยู่ที่ 7,900 เมตร เราก็รออยู่ที่แคมป์นั้น วันต่อมาเราก็ยังรออยู่ที่แคมป์ เพราะว่าเราวิทยุลงไปถามว่า สภาพอากาศจะเป็นยังไง เขาก็บอกว่า กลางคืนลมมันจะสงบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พายุมันเข้าช่วงกลางวัน ทำให้เต็นท์ของทีมเราที่มีอยู่ สองเต็นท์ปลิวไปหนึ่งเต็นท์นะคะ ข้าวของไปหมดเลย

พวกอาการ high altitude นะคะ Sleeping bag ก็เลยทำให้ทีมเราทั้งหมด5 คน อัดอยู่ในเต็นท์เดียวกัน ข้าวของก็เหลือน้อยมาก อาหารก็ทำไม่ได้ เพราะว่าพายุมันแรงมาก จนกระทั่งมันตีเต็นท์แนบกับพื้น เต็นท์แนบกับหน้าเรา แล้วเราก็ต้องพยุงเต็นท์เอาไว้ตลอดเวลา หลายชั่วโมงนะคะ แล้วเราก็ต้องแต่งตัวเตรียมพร้อม ถ้าเต็นท์แตก เราก็จะต้องวิ่งไปเกาะก้อนหิน ไม่งั้นเราจะถูกพัดตกลงไป เราจะปลิว ลมมันแรงมากขนาดนั้นเลย จนกระทั่งก้อนหินเล็กๆ มันสามารถปลิวขึ้นมาได้นะคะ

เป็นเวลาหลายชั่วโมง พอลมมันสงบ เราก็คุยกันว่าเป็นยังไงทุกคน ยังมีแรงเหลือที่จะขึ้นไหม คือมันไม่มีใครเหลือแรงแล้วนะคะตอนนั้น เพราะว่าต้องต่อสู้กับลม ไม่มีอาหาร ขาดอาหารที่ระดับ 7,900 เมตร dead zone ก็เลยตัดสินใจกันว่า โอเคคงขึ้นต่อไม่ไหว เช้าต่อมาก็ตัดสินใจลง ก็ค่อนข้างเสียใจพอสมควรนะคะ ในปีที่แล้วค่ะ”


จนมาครั้งนี้ ที่เธอพอชิตเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ เธอเล่าความรู้สึกในตอนนั้นให้ฟังว่า รู้สึกโล่งมาก และน้ำตาไหล เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก

“คือเรารู้สึกว่าเราเต็มที่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะครั้งไหน แรงฮึดมันที่ว่าสุดสเกลของตัวเองทุกครั้งนะคะวินาทีที่เราไปถึง ที่จริงเราฝ่าฝันอะไรมามากนะคะรอบนี้

วินาทีที่เราไปถึง อย่างแรกเลยก็คือเป็นความโล่งใจ เพราะว่าเราอยากปีนเขา เราอยากปีนอีกหลายลูก ถ้าเราปีนเอเวอเรสต์ได้ คือตอนั้นคิดว่าเราก็น่าจะปีนลูกอื่นได้ อันนั้นคือความคิดในตอนนั้น ก็มีน้ำตาไหลนะคะ ก็อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าทำได้แล้ว”


เจอสารพัด หิมะกัด-ไกด์ทิ้ง-ตามองไม่เห็น

เธอเล่าถึงความยากลำบาก ที่ต้องเจอระหว่าทางให้ฟังว่า เจอสารพัดอุปสรรค ไม่ว่าเป็นไข้หวัดระบาด เกิดภาวะสายตามองไม่เห็น จนมาถึงอุปสรรคใหญ่ๆ ที่สะเทือนใจเธอสุดๆ ก็คือหิมะกัดที่เท้า จนต้องตัดนิ้วทิ้งไป

“ระหว่างทางก็จะเป็นเรื่องของความเจ็บป่วย ซึ่งมันเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เวลาที่เราขึ้นไปที่สูง อย่างปีนี้ก็มีไข้หวัดที่มันระบาดรุนแรงมากที่ base camp ก็คือแคมป์ฐานที่คนที่อยู่กันเยอะๆ แล้วก็มีลูกทัวร์

ก็มีไข้หวัดระบาด ก็คนไข้ก็เยอะมากนะคะ เราไม่ได้เป็นหมอรักษาคนไข้ที่นั่น เพราะว่าเราไม่ได้มีใบอนุญาตในการทำการรักษาที่นั่น คือไปคุยที่โรงพยาบาลที่ base camp บ่อยๆ เพราะว่าตั้งเต็นท์เป็นโรงพยาบาล ก็เห็นคนไข้ก็เยอะนะคะ สุดท้ายตัวเองก็ป่วยเหมือนกัน ก็เลยต้องกลับลงไปรักษาตัวที่กาฐมาณฑุชั่วคราว พออากาศมันดีขึ้น เราก็กลับขึ้นมา

อุปสรรคอย่างต่อไป ก็คือเรื่องของการรอเวลา เราก็ต้องรอทั้งคืน เพราะคนปีนเยอะ รอทั้งเมื่อไหร่อากาศจะเปิด ก็ต้องใช้ความอดทนสูงนะคะ เราก็ต้องรู้อยู่ที่ base camp โดยที่เราทำอะไรไม่ได้เลยนะคะ ก็อยู่ที่นั่นรอ แต่ก็สามารถทำอะไรได้อยู่ เช่น เราไป hiking รอบๆ แคมป์ก็ได้นะคะ เราก็ไป hiking ก็คือปีนไปที่สูงแล้วก็กลับลงมานอนที่แคมป์”




อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้การปีนเขาในครั้งนี้ของเธอ กระจกตาบวมผิดรูป ทำให้มองไม่เห็นทำให้ขาลง ต้องใช้เชือกเหมือนการโรยตัวลงมาแทนการปีน

“ตาเริ่มมองไม่เป็นตั้งแต่ตอนกลางคืนนะคะ ซึ่งมาตรวจย้อนหลัง ก็คือเขาบอกว่า น่าจะเป็นกระจกตาของเราที่มันบวมผิดรูปนะคะ น่าจะเป็นที่เราเคยทำเลสิคมานะคะ ร่วมกับความกดอากาศที่มันเปลี่ยนแปลง ก็เลยทำให้มันบวมผิดรูป แล้วก็ทำเรามองไม่เห็น ซึ่งอันนี้เคยเกิดขึ้นกับนักปีนคนอื่นเหมือนกัน ที่เขาทำเลสิคมา

พอมองไม่เห็น ทำให้ขาลงเราต้องลงแบบ rappelling เทคนิคค่ะ หรือว่าการโรยตัว ซึ่งการที่มองไม่เห็น มันมีโอกาสที่จะถูกทิ้งสูงมาก ทิ้งให้ตายบนนั้น ใครที่่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย โอกาสที่จะถูกทิ้งให้ตายบนนั้น ก็คือสูงมาก แต่ว่าไกด์ของบริษัทหลายคน มาช่วยกัน คือคนที่ไม่ได้มีลูกค้า คนที่เขาขึ้นมาตัวคนเดียว เขาก็พยายามค่อยๆ ช่วยเราลงมา

ส่วนตัวคิดว่ามันค่อนข้างเหลือเชื่อในการที่เรามองแทบไม่เห็นอะไร แต่เราสามารถโรยตัวลงมาได้นะคะ คือ เห็นแค่สีขาว อย่างอื่นคือไม่เห็นเลย จะเห็นเงาเชือกแต่แยกไม่ออกเลยว่านี่เชือก หรือนี่เงา แต่เราก็รู้เทคนิคโรยตัว เพราะเราปีนมาหลายปี เราก็สามารถโรยตัวลงมาได้

โรยตัวลงมาด้วย rappelling เทคนิคประมาณ 900 เมตรสุดท้าย ก็เป็นเนินหิมะที่เราต้องวิ่งลงมาแบบมองไม่ค่อยเห็นความกลัวมีนะคะ เรารู้อยู่แล้วว่าพวกนี้ ถ้าเราช่วยตัวเองไม่ได้ เขาก็ปล่อยตายบนนั้น เพราะว่ามันอันตรายกับคนอื่น ในการที่จะเอาเราลง เพราะคนที่ช่วยเราลงมา เขาก็เสียสละมาก เพราะเราไม่รู้เลยว่า ออกซิเจนเราจะหมดเมื่อไหร่ หลายอย่าง หรือว่าถ้าดวงอาทิตย์ตกปั๊บ ความเย็นตกทันที อันนี้อันตรายมาก เขาไม่รู้ว่าจะเอาเราลงทันไหม

เราลงทัน เขาก็เลยไม่ได้ทิ้งเราเอาไว้ เราก็ไม่ได้เจ็บป่วยอย่างอื่นค่ะ อย่างเช่น สมองบวม คุยไม่รู้เรื่อง ควบคุมตัวเองไม่อยู่ พวกนี้ไม่มีนะคะ เราก็ยังคุมสติเราได้ เขาก็เลยพยายามช่วยเราลงมา ก็ลงมาได้ ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ”

[ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ]
เมื่อมาถึงแคมป์ที่พักพิงได้สำเร็จ ซึ่งก็นั่นคิดว่า ไม่น่ามีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคอีกแล้ว เหลือแค่พักให้หายเหนื่อย เดี๋ยวก็ค่อยลงไปที่พื้นโลก แต่เธอยังต้องมาเจอกับจุดพีคในชีวิตอีก เมื่อเธอดันมีภาวะ frostbite หรือหิมะกัดเท้าเกิดขึ้นร่วมด้วย

“ไกด์เราก็บอกว่า มัณฑนาลองถอดรองเท้า ลองเช็คดูสิว่ามีพวก frostbite ไหม เราก็เลยถอดถึงเท้าดู ปรากฏว่านิ้วเท้าเรามันดำหมดทุกนิ้วเลย ก็คือเรามีภาวะ frostbite ซึ่งเราไม่รู้ตัวว่ามันเกิดขึ้นนะคะ ซึ่งเวลาที่คนเป็นfrostbite ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวนะคะ เพราะว่าจะสูญเสียความรู้สึกไป

ตอนที่เรารู้ว่า เรา frostbite แล้ว ซึ่งเรายังติดอยู่ที่แคมป์ 4 ซึ่งมัน 7,900 เมตร ไม่มีใครขึ้นมา rescue เราได้ ไม่สามารถเอาเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมารับ คือมันต้องปีนลงเท่านั้น คือตาเราก็ไม่ทันมองเห็นนะคะ เราก็ตั้งสติ แล้วเราก็โอเคมันก็ต้องทำอย่างนั้นแหละ เราก็เลยวิทยุกลับลงไป ตอนนั้นวิทยุก็ยังเหลือแบตเตอรี่อยู่ แต่ไม่มากนะคะ วิทยุกลับลงไปที่ base Camp ว่าเรามีปัญหา frostbite นะ ทุกนิ้วเลย ให้ทาง base Camp ติดต่อบริษัทเฮลิคอปเตอร์ เพื่อมารับเรา ในบริเวณที่ใกล้ที่สุดนะคะ เพราะว่าพอเราเป็น frostbite เราไม่ควรปีนเยอะ มันจะทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บมากขึ้น

วันต่อมาก็ใส่รองเท้าบูท แล้วก็ปีนลงไปที่แคมป์สองค่ะ แล้วก็เฮลิคอปเตอร์มารับที่นั่น แล้วก็ไปส่งโรงพยาบาล คือที่แคมป์สี่ ถ้าคุณไม่ปีนลงไปเอง หรือว่าถ้าไม่มีใครลากคุณลงไป คือตายนะคะ เพราะมันคือ dead zone มนุษย์เราไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ส่วนใหญ่ไม่เกิน1 วันนานมากนัก ตายเท่านั้นถ้าไม่ลง

มันเป็นจุดที่เราจะต้องตัดสินใจแล้ว ตอนนั้นก็ถือว่าตัวเองเป็นคนที่ตัดสินใจได้เร็วนะคะ ทำตามหน้างานค่ะ มันต้องลง เราก็ต้องลง ต่อให้เราจะมีอาการเจ็บ มี frostbite ยังไงก็ตาม ยังไงเราก็ต้องปีนลง เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ยังไงเฮลิคอปเตอร์มันขึ้นมารับไม่ได้นะคะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่นักปีนเขา เขารู้กันอยู่แล้วว่าคนไม่ลงคุณก็ตายเท่านั้นค่ะ

[หิมะกัดรุนแรงทั้งบริเวณใบหน้า]


[แลกมาด้วยการ ต้องตัดนิ้วทั้ง 4 ทิ้ง]

อุปสรรคอย่างอื่น ก็คือ จะช่วงที่เชอร์ปาประจำตัวเราป่วย ทำให้ต้องเปลี่ยนตัว พอเปลี่ยนตัวแล้วก็เจอคนที่เขาอาจจะ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุอะไรที่เขาทิ้งเราไปนะคะ ก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง ที่ทำให้บางช่วงเราต้องปีนอยู่คนเดียว แต่ว่าเราก็ยังอยู่ในระหว่างทีมเรานะคะ ทีมเราก็มีประมาณ 5-6 คน

บางคนก็ถอนตัวลงระหว่างทาง เราก็ยังปีนอยู่ระหว่างทีม คือมีเชอร์ปาคนอื่น แต่เราตัวคนเดียว แต่สุดท้าย ปัญหานี้ก็แก้ได้ โดยที่มีเชอร์ปาฝึกหัดของบริษัทนี้ เขาเสนอตัวมาปีนด้วยกันนะคะ

ตอนนั้นมันเลยแคมป์ 4 มันสูงเกินแคมป์4 แล้ว ก็คืออยู่ใน dead zone แต่ไกด์เนี่ยหายไปเลย ไกด์ของเราหายไปเลย โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำ เรานึกว่าเขาอยู่ข้างหลัง เราก็ถามคนในทีมซึ่งอยู่ข้างหน้าข้างหลังเรา ไกด์เราหายไปไหน เขาก็บอกว่าลงไปตั้งนานแล้ว เขาก็บอกฮะ อย่างนั้นเหรอ ก็ไม่เป็นไร เราก็พยายามปีนต่อ โดยรักษาระยะที่อยู่ระหว่างทีม

ก็ปีนไปนานมาก จนกระทั่งมีไกด์ฝึกหัดของบริษัทที่เราซื้อทัวร์ไป เขาปีนตามขึ้นมา คือเขาไม่ได้มีลูกค้า คือคนนี้เขามาแค่ฝึก คือเขาก็รู้จักเราว่า ปีนกับเรามาที่ข้างล่างบ้าง เขาก็เลยบอกว่า เออไม่เป็นไร เดี๋ยวเขาจะปีนคู่เราเอง ตรงนั้นก็ทำให้เรามั่นใจ เพราะถ้าเราไม่มีไกด์เลย มันอันตรายมากนะคะ

ก็เป็นไกด์นำทางช่วงเราปีน ถ้าเราปีนเองมันยากมากเอาจริงๆ คือมันยากมาก เพื่อความปลอดภัยในปัจจุบัน เขาก็จะแนะนำว่า คุณมีไกด์หนึ่งต่อหนึ่งนะคะ แต่ถ้านักปีนคนไหนเก่งมาก จะไม่มีไกด์ก็ได้นะคะ”


เติมเต็มความสุขด้วยประสบการณ์ ต่อให้ตายก็คุ้ม?

เมื่อถามถึงความคุ้มค่า ที่ออกไปเสี่ยงชีวิตในแต่ละครั้ง ของคุณหมอนักปีนเขา โดยเฉพาะในครั้งนี้ ที่เกือบจะต้องแลกมาด้วยชีวิต แต่เธอก็มองว่า การปีนเขาไม่ใช่เรื่องที่จะมองว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เพราะประสบการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีกำไร หรือขาดทุน แต่เป็นการเติมเต็มความสุขด้วยประสบการณ์ปีนเขา ที่อยากบรรจุไว้ในชีวิต

“ต่อให้ตายก็คุ้มใช่ไหมคะ มันเป็น mentality ของนักปีนเขา คือเราก็รู้อยู่แล้วว่าการปีนเขามันมเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าเรารับไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่ามีใครที่รับไม่ได้ก้าวเข้ามาในโลกนี้ไหม คือการที่จะก้าวเข้ามาในโลกนี้ ต้องรู้ความเสี่ยงนะคะ แล้วคิดว่ารับได้ไหม กับความเสี่ยงพวกนี้

ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่าความคุ้ม บอกตามตรงเลยไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าคุ้มคืออะไร มันไม่ใช่เรื่องของกำไรหรือขาดทุนค่ะ เรื่องพวกนี้มันไปคิดด้วย mentality แบบนั้นไม่ได้นะคะในการปีนเขา”

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า ยอมรับได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งถ้าต้องตายเพราะการปีนเขาขึ้นมาจริงๆ เพราะถือว่าได้ใช้ชีวิตที่ต้องการแล้ว

“ยอมรับจนถึงความตาย (ตายก็ไม่ได้เสียดาย?) ก็ไม่นะคะ คือชีวิตของเรา เราเกิดมา เราก็ต้องใช้ชีวิต การที่ได้ใช้ชีวิตที่เราต้องการ มันคือความสุขที่สุดแล้ว สำหรับตัวเองคิดอย่างนี้นะคะ การที่เราทำงานตลอดเวลา แล้วเราเก็บเงินไว้บ้าง ซื้อบ้านอะไรอย่างนี้ แล้วชีวิตเราเติมเต็มไหม อันนี้แล้วแต่คนนะคะ

แต่ของเราเนี่ย การเติมเต็มของเราไม่ใช่การซื้อบ้านซื้อรถ ไม่ใช่เงินฝากในธนาคาร การเติมเต็มในชีวิตเราคือ ประสบการณ์ที่เราต้องการบรรจุอยู่ในชีวิตเรานะคะ”

[ลาออกจากอาชีพหมอ เพื่อตามฝัน เพราะการปีนเขาคือความสุขของชีวิต]
ได้ปลอดปล่อยความสุขทางจิตวิญญาณ

สิ่งที่เธอได้จากการปีนเขาในแต่ละครั้ง เธอก็บอกว่า รู้สึกเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของของธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ออกไปท่องโลก อยู่แต่ในเมือง ก็จะไม่ได้พบสุขแบบนี้

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า การปีนเขารู้สึกได้พบความหมายของชีวิต รู้สึกได้พบกับอิสรภาพ และได้ปลอดปล่อยความสุขทางจิตวิญญาณ

“คือส่วนตัวพบอิสรภาพนะคะในการปีนเขา พบความหมายของชีวิตเรา ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร คือในส่วนตัวคิดว่า เราทุกคนเกิดมาเพื่อรับความสุข เพื่อได้เจอกับความสุข ในรูปแบบของเราเองนะคะ

แล้วดิฉันเองเนี่ย ไปพบกับการปีนเขา มันตรงจริต มันรู้สึกปลดปล่อย มันเหมือนได้ Connect ร่างกายเรา จิตวิญญาณเรากับโลกเป็นสิ่งเดียวกันอะไรประมาณนี้ค่ะ รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็คิดว่ามันเหมือนเป็นความสุขทางจิตวิญญาณแล้วกันค่ะ

เหมือนคนไปวัด ไปแสวงบุญด้วยศาสนาอะไรต่างๆ การที่เราได้ไปปืนเขา ก็เหมือนกับการไปชำระจิตใจ หรือว่า ไปยกระดับจิตใจให้ถึงจุดที่เราต้องการ แบบนี้ค่ะ ส่วนตัวคือมองเป็นประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณ แต่ก็ไม่ได้ศาสนาอะไรขนาดนั้นนะคะ

ทุกครั้งที่เราขึ้นไปบนเขา ทุกเรื่องที่เราเคยสะสมอยู่ มันถูกดูดออกไป จนมันไม่เหลืออะไรเลย มันกลายเป็นเหมือนจิตใจของเรามันเกิดใหม่

มันเหมือนฟองน้ำ ที่เอาลงไปดูดน้ำสีดำ แล้วหายไปหมดเลย มันเหมือนดูดซับความรู้สึกด้านลบ ทุกอย่างมันหายไปหมดเลย อันนี้คือสิ่งที่เจอกับตัวเอง ไม่ทราบว่าท่านอื่นๆ เจอบ้างหรือเปล่า มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทางจิตวิทยา”


ส่วนความประทับใจอื่นๆ ในช่วงระหว่างทางไปปีนเขาในแต่ละครั้ง เธอก็บอกว่า ความประทับใจ เกิดขึ้นตลอดเวลา และที่ประทับใจที่สุดเลยก็คือ ช่วงเวลาที่ได้พาตัวเองออกไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพราะรู้สึกว่า การปีนเขา สามารถเชื่อมโยงให้ตัวเองนั้นกลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่ความเป็นจริงของร่างกายมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

“มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ต้องบอกเลยว่าเวลาที่เราขึ้นไปอยู่ในสถานที่ที่มันมหัศจรรย์อย่างนี้ มันโดดเดี่ยว รอบตัวเรามันมีแค่อากาศ ที่เท้าเรามีหินอยู่ไม่กี่ก้อน นอกนั้นเป็นอากาศ มันโดดเดี่ยว มันทำให้เราอยู่กับตัวเอง ทำให้เรามีความคิด

คือถ้าเราอยู่ในเมืองตลอดเวลา เราจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ขนาดนั้น ก็คิดว่าการปีนเขามันเชื่อมโยงให้เรากลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่ความเป็นจริงของร่างกายมนุษย์ ของวิถีชีวิตมนุษย์ ก็อาจจะเหมือนการดำน้ำ หรืออะไรก็ตามที่เราเข้าไปอยู่ในธรรมชาติมากๆ เราก็จะจมลงไป

ส่วนตัวนะคะ ประทับใจช่วงเวลาที่เราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สุด อย่างเช่น เวลาที่เราถูกแขวนอยู่บนเส้นเชือก หรือเวลาที่เราไม่มีเส้นเชือกด้วยซ้ำที่เราต้องปีน โดยที่ไม่มีเส้นเชือก นั่นคือช่วงเวลาที่ประทับใจ ช่วงเวลาทั้งหมดที่เป็นช่วงปีนเขา มันน่าประทับใจช่วงที่เราปีนนี่แหละ

ประทับใจอย่างอื่นมีไหม ก็จะมีน้ำใจของเพื่อนร่วมทางเป็นต้น หรือว่า เราสามารถทำอะไรให้กับเพื่อนร่วมทางเราได้หรือเปล่า อันนี้ก็จะเป็นความประทับใจที่เราได้รับนะคะ”


ต่อให้ต้องใส่ขาเทียมปีน ก็จะปีนอยู่ดี

การพิชิตยิดเขาเอเวอเรสต์ยังไม่ใช่ความฝันสูงสุด ของคุณหมอนักปีนเขาคนนี้ เธอยังมีภูเขาอีกหลายลูก ที่วาดฝันวาด ว่าต้องไปปีนให้ได้สักครั้งในชีวิต

“เอเวอเรสต์ไม่ใช่ความฝันที่สูงสุดค่ะ ก่อนหน้านี้ ตอนที่นิ้วเท้ายังอยู่ครบ เราอยากปีนเขาระดับ8 พันเมตรอีกหลายๆ ลูกนะคะ อยากปีนมาก แต่ตอนนี้ เมื่อนิ้วเท้ามันไม่อยู่แล้วเนี่ย อาจจะต้องลดระดับความฝันเราลงมา (เสียงสั่น น้ำตาคลอ) จะปีนลูกที่มันยากไม่ได้”

แม้อุบัติเหตุในครั้งนี้ จะทำให้ความฝันที่ตั้งไว้ เหมือนจะทลายลงมา แต่เธอก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” จงอยู่กับความเป็นจริง และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมปรับระดับความฝันของตัวเองลงมา

“พอเนิ้วเท้าเรามันไม่อยู่ การปีนเขามันต้องใช้ใช้นิ้วเท้าด้วย มันก็ใช้ร่างกายทุกส่วนนั่นแหละค่ะ แต่นิ้วเท้าสำคัญในการปีน คราวนี้มันเหลือน้อยมาก เราก็เลยไม่รู้ว่าเราจะสามารถปีนเขาได้อยู่อีกหรือเปล่า

ก็โอเค เราก็ต้องยอมรับ เพราะว่าที่จริงมันก็มีโจ๊กเอาไว้ใช้คุยกัน ถ้าคุณก้าวเข้ามาที่8 พันเมตร การเสียพวกนิ้วมือนิ้วเท้า มันเป็น side effect ของการปีนเขา เขาเรียกว่าเป็น side effect ของการปีนยอดหิมาลายานะคะ โอเคเราก็ยอมรับ หลายคนก็เสีย บางคนก็ไม่เสีย แต่ว่ามันก็ (ร้องไห้) เป็นธรรมดาของชีวิตนะคะ

ตอนนี้ผ่านมา4 เดือนแล้วนะคะ3 เดือนแรก แทบจะไม่ได้เดินเลย เพราะมันเจ็บมาก เรื่องงานเราก็ไม่ได้ไปทำ เพราะว่าเราไม่สามารถยืนตรวจคนไข้ ยืนทำหัตถการ ยืนเย็บแผล ยืนใส่ท่อช่วยหายใจ มันทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ทำงาน ตั้งแต่ป่วยมา แล้วประมาณ1 สัปดาห์ที่แล้ว เราเพิ่งเริ่มฝึกเดิน ก็เดินยากนะคะ เพราะเราต้องเปลี่ยนท่าเดินใหม่”


พอเริ่มคุยไปเรื่อยๆ หมอกุ๊กไก่ ก็พยายามอดทนอดกลั้นน้ำตาไว้ แต่ในที่สุดก็กลั้นไว้ไม่อยู่ พอถึงจังหวะนี้ คุณหมอก็ดูเหมือนจะมีเสียงร้องไห้หนักๆ แทรกเข้ามาทุกๆ ครั้งในการเล่าให้ฟังแต่ละประโยค

ซึ่งคุณหมอยังได้ย้ำอีกว่า ต่อให้ต้องใส่ขาเทียม ถ้าร่างกายพร้อม ก็จะออกเดินทางไปปีนเขาอยู่ดี เพราะตอนที่ออกไปท่องโลก ได้ไปรู้จักนักปีนเขาหลายคนที่เก่ง มีบางคนต้องใส่ขาเทียมปีนก็มี นี่จึงเป็นอีกแรงบันดาลใจที่ยังพอมีความหวัง

“ก็จากที่เราไม่มีนิ้วเท้าใช่ไหมคะ ในการที่จะ balance หรือว่ากระจายน้ำหนัก ก็จะเหลือแค่ฝ่าเท้า ก็เดินยากพอสมควร แล้วก็มันอาจจะทำให้การปีนของเรายากขึ้น แต่เอาจริงๆ ก็คือ ตกใจที่ว่าโอเคเราอาจจะปีนไม่ได้หรือเปล่า เราไม่ได้คิดถึงว่า เราจะเดินไม่สวยนะ เราจะบุคลิกเสีย มันไม่ได้อยู่ในความคิดเราเลย ความคิดของเราก็คือ เราจะกลับไปปีนได้หรือเปล่า เท่านั้นเอง

บังเอิญเราก็รู้จักกับชาวเนปาลคนนึง ที่เขาไม่มีขาสักข้างเลยนะคะ เขาเป็นทหาร แล้วเขาก็ถูกระเบิด ทำให้เขาต้องใส่ขาเทียมปีนนะคะ ปีนี้เขาก็ปีนไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์คือเราคุยกันค่อนข้างบ่อย ดิฉันก็เลยคิดว่า โอเคต่อให้เราต้องใส่ขาเทียมปีน เราก็จะปีนอยู่ดีค่ะ ก็ได้กำลังใจ ก็มีความหวัง

นักปีนหลายคนที่เขาเสียนิ้วไป เขาก็ยังปีนได้ อย่าง ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ เขาเป็นนักปีนเขาที่เก่งมาก ส่วนเราเป็นแค่มือสมัครเล่น เราก็ต้องลองฟื้นฟูร่างกายกันไป แล้วก็หาพวกอุปกรณ์เทียม ที่จะช่วยให้เราปีนได้ง่ายขึ้น แต่ก็นี่คือแพลนในอนาคต”


  ซ้อมหนักวันละ9 ชั่วโมง


 

 “ในช่วง 7-8 ปี ฝึกหนักมาตลอด การฝึก ก็จะมีเรื่องของความอดทน เพราะว่าปีนเขาใช้ความอดทนอย่างมากนะคะ มีเรื่องของ แอโรบิคนิดหน่อย แล้วก็เรื่องของเทคนิคในการปีนเขา ซึ่งพวกนี้ต้องไป take course หรือว่าไปปีนจริงตามที่ต่างๆ นะคะ


แล้วก็จะใช้วิธีวิ่งบนลู่วิ่งนะคะ เพราะเราวิ่งได้ตลอดเวลา เพราะถ้าเราจะไปวิ่งสวนสาธารณะมันก็ไม่ได้ เพราะเราต้องซ้อมหนักมาก ประมาณวันละ9 ชั่วโมง หรืออาจจะเกิน เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะมีลู่วิ่งอยู่ที่บ้านะคะ จะวิ่งกี่โมงก็ช่าง จะตีสองตีสาม ตีห้า

ก็จะวิ่งวันละชั่วโมงครึ่งนะคะบนลู่ หลังจากนั้นก็จะเดินบันได เดินบันไดก็จะแบกของหนักๆ ประมาณ10 กว่ากิโลใน backpack แล้วก็ถ่วงน้ำหนักที่ขาข้างละ 1.5 กิโล ให้มันเท่ากับรองเท้าบูทที่เราจะใส่ปีน แล้วก็ปีนบันไดประมาณ5-6 ชั่วโมง แล้วก็ยกเวทประมาณ3 ชั่วโมง


ส่วนเรื่องเทคนิคก็ต้องไปฝึก อย่างเช่นที่ขอนแก่น ก็จะมียิมปีนผา เราก็จะไปฝึกเรื่องของrope เทคนิคเชือกที่นั่น แล้วก็ฝึกปีนที่นั่นในวันพักค่ะ


ส่วนการรับประทาน ก็ต้องรับประมาณมากขึ้นนะคะ เพราะว่าเราต้องใช้พลังงานเยอะมาก เราก็ต้องรู้ว่า เราจะต้องทาน แล้วก็รอให้อาหารมันย่อยในระดับนึง เราถึงจะไปออกกำลังกายได้ เราจะต้องมีการเตรียมว่า ตื่นมาปุ๊บ ต้องรีบกินก่อนเลย เพื่อที่เราจะได้อีกชั่วโมงนึง เราจะได้ไปวิ่งได้ เพราะว่าเราจะไม่เสียเวลาชีวิตเลย เพราะว่าเวลามันน้อยมาก ทานเสร็จเราก็ทำงาน ทำเอกสารต่างๆ


1 ชั่วโมงผ่านไป เราก็มาวิ่ง มาออกกำลังกาย แล้วเราก็จะเติมในช่วงที่เราออกกำลังกายประมาณทุก 1 ชั่วโมง หรือ1 ชั่วโมงนิดหน่อย เราก็จะหิว มีภาวะน้ำตาลตก เราก็จะเติมอาหารทุกประมาณ 1 ชั่วโมง มันก็เหนื่อยนะคะ แต่ว่าเรารู้ว่าเราทำเพื่ออะไร ถ้าเรามีเป้าหมายที่มันชัดเจน ก็จะทำให้เราสามารถมีแรงจูงใจค่ะ เราก็สามารถทำได้”





 ทุกคนมี “เอเวอเรสต์” เป็นของตัวเอง


 

 “ทุกคนมีเอเวอเรสต์เป็นของตัวเองนะคะ เอเวอเรสต์ของคุณอาจจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือว่าการซื้อบ้านให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ หรือว่าการกลับบ้านไปทำเกษตรกรรมอะไรก็ตาม ทุกคนมีเอเวอเรสต์เป็นของตัวเอง ถ้าเรามีแรงจูงใจที่มากพอ บวกกับความพยายามที่ต่อเนื่อง เราก็จะทำมันได้นะคะ


ส่วนตัวเชื่อว่า คนที่มีความฝัน เขาจะมีแรงจูงใจที่มันมีมหาศาลมากพอ มันจะทำให้เขามีความพยายามอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามทำๆ ไม่หยุดเลย แล้วถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะถึงจุดที่เขาต้องการได้นะคะ


ถ้าเรายังมีความฝัน แล้วเรารู้สึกว่าเราทำมันมาตลอด แต่มันยังไม่ถึงจุดมุ่งหมายสักที ลองทำต่อดูก่อนไหม ขนาดดิฉันเองยังใช้เวลา 7-8 ปี ในการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ แล้วในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปปีนเขาได้ไหม ก็อยากจะไปเหมือนกัน จะลองทำดูเหมือนกัน (ร้องไห้) เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีความฝัน ลองทำกันต่อไปดูนะคะ”




 “มอริส แอร์ซอก” คนที่มอบแรงบันดาลใจ


 

 “แรงบันดาลใจของดิฉันก็คือ มอริส แอร์ซอก (Maurice Herzog) คือตอนที่ไปเดินเขาครั้งแรก ที่ประเทศไนปาลนะคะ ก่อนไปเดินเขา เราก็จะไปพักในเมืองกาฐมาณฑุ มันก็จะมีแหล่งช้อปปี้ อุปกรณ์ปีนเขาต่างๆ เราก็เข้าไปในร้านหนังสือแถวนั้น เราก็ซื้อหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ อันนาปุระนะ (Annapurana) ซึ่งเป็นยอดเขา8 พันเมตร ที่มีความอันตรายที่สุดในโลก


ซึ่งคนแรกที่ปีนสำเร็จคือ มอริส แอร์ซอก เป็นชาวฝรั่งเศสนะคะ เราอ่านหนังสือเล่มนี้แหละค่ะ เราเลยมีแรงบันดาลใจที่อยากจะปีนเขา ซึ่ง มอริส แอร์ซอก กับทีมเขาก็ได้รับบาดเจ็บ ได้รับภาวะFrostbite อะไรพวกนี้เหมือนกัน เราก็เลยคิดว่า เราไม่ควรจะเสียความหวัง (ร้องไห้)”











สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร

ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “มัณฑนา ปีนเขาMontana.Climb”, เฟซบุ๊ก “Montana Twinprai”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น