ตึก ตึก โป๊ะ ตึก ตึก... เปิดใจคนหัวใจรักตึกเก่า ทีม “Blue Bangkok” นักออกแบบเจ้าของ “โมเดลตึกจิ๋ว” ของที่ระลึกที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำ “ย่านเมืองเก่า” รอบกรุงเทพฯ “พระนคร-เจริญกรุง-ทรงวาด-ตลาดน้อย” และอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดแตกไลน์สู่ “กาชาปองพระพิฆเนศ” รันตลาด Art Toy สายมู
ของที่รักลึก “โมเดลตึกจิ๋ว”
“Blue Bangkok เกิดจากการที่เห็นของที่ระลึกเมืองไทยเป็นช่องว่าง แต่ก่อนเราเห็นเป็นวัดพระแก้ว กินรี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แล้วก็มีเรื่องของช้าง มวยไทย ตุ๊กตุ๊ก เราก็เลยมองว่ายังไม่มีอาคารเก่า ยังไม่มีของที่ระลึกตรงนี้
แล้วต่างประเทศเขามีส่วนใหญ่ก็ขายหลายราคา หลายคุณภาพ ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือไปเนเธอร์แลนด์ แล้วเจอว่าเซรามิกบางอัน พลิกด้านหลังติดสติ๊กเกอร์คำว่า Made In Thailand ซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามันมีอย่างนั้นด้วย แสดงว่าคนไทยมีฝีมือ มีการผลิตที่ดี แต่เรายังไม่ได้รับการรับรู้และการออกแบบ เราขาดตรงนี้ก็เลยมาทำ”
“ตู้ - ฐปนัท แก้วปาน” หนุ่มวัย 33 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แล้ว อีกหนึ่งบทบาทของเขาคือการเป็นนักออกแบบของที่ระลึก ภายใต้แบรนด์ Blue Bangkok (บลู บางกอก)
ที่มีผลงานสร้างชื่อคือ โมเดลตึกเก่าจิ๋ว โดยมีต้นแบบจากตึกย่านดังในกรุงเทพฯ ถูกย่อส่วนมาให้อยู่ในมือจับ และได้ “เนย-สุภัสสรา เนตรบำรุงรัตน์” แฟนสาวผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะ มาช่วยดูแลด้วยอีกแรง
จุดเริ่มต้นของ Blue Bangkok ต้องย้อนกลับไปราว 3 ปีที่แล้ว ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ และสเก็ตช์เป็นภาพตึกเก็บไว้ ก่อนที่จะนำภาพสเก็ตช์เหล่านั้น ผลิตออกเป็นโมเดลตึกต้นแบบจากย่านพระนคร
“ถ้าเล่าก็คือมันก็มีความผูกพันกับพวกอาคาร สถานที่ ตั้งแต่เรียนมัธยมก็คือสวนกุหลาบครับ เดินผ่านย่านเมืองเก่าเยอะมันก็เลยซึมซับ แล้วก็มาเรียนศิลปากรด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ทั้งตรีและโท พอมาเป็นอาจารย์ ต้องทำงานวิจัย แบรนด์นี้ก็เลยเกิดจากการที่นำวิจัยมาทำเป็นแบรนด์ด้วย
เราไปเดินตึกเก่า ย่านเก่า มีช่วงนึงก่อนที่จะมาทำอันนี้ เราไปปีนัง มะละกา เนยก็ไปด้วย เป็นทีมนักออกแบบไปเที่ยวเล่นเดินดูตึกอะไรพวกนี้ ทำให้เห็นมรดกโลกที่เป็นเมืองเก่าทั้งเมือง
พอดีไปต่างประเทศบ้างทั้งยุโรปและโซนเอเชีย ก็จะเห็นของที่ระลึกที่เป็นแม่เหล็กติดตู้เย็น แล้วตอนนั้นไปทำงานชุมชนก็จะมีข้อมูลว่า 10 อันดับสินค้าขายดี หนึ่งในนั้นก็จะเป็นแม่เหล็กติดตู้เย็น ก็เลยเลือกมาทำ ยุคแรกที่เราทำมันจะไม่มีแม่เหล็กติด แต่ว่าหลังๆ พยายามทำให้มันมีติดได้ด้วย ติดแล้วก็ต้องตั้งได้
หรือแม้กระทั่งเราต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มเครือข่ายออนไลน์ที่เขาโพสต์เรื่องบ้านเก่า ไม่ใช่แค่บ้านเก่า ตอนนี้ต้องมีเรื่องของอาหาร วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งโรงหนัง เราก็สนใจเรื่องโรงหนัง Stand alone หลายๆ อย่าง ทำให้เราเกิดเป็นชุดข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ถ้าเกิดเราลงลึกแค่อาคารหรือเดินอย่างเดียวมันก็ไม่เห็นภาพรวม” ตู้บอกกับผู้สัมภาษณ์
ผลงานชุดแรก “ตึกจิ๋วย่านพระนคร”
และโมเดลต้นแบบตึกนี้ ก็ทำให้เขาได้ร่วมโปรเจ็กต์กับทาง Bangkok Design Week ในเวลาต่อมา
“พูดถึงกระบวนการออกแบบ เราต้องหาข้อมูลเอามาสังเคราะห์ เอามาทำสเก็ตช์ ขึ้นต้นแบบ ทำผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้วในเนื้องานมันกลับไปกลับมา บางทีเราอ่านเจอแล้วเราไปเดิน หรือว่าเราไปเดินเจอก่อนแล้วค่อยมาอ่าน
อันแรกก็ทำเป็นโมเดลสามมิติเป็นต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี 3D Print หลังจากนั้นเรายังไม่ได้ขยายผล ตอนนั้นทำคนเดียวเนยยังไม่มาช่วย ก็เลยลองส่งไป Design Week ของ TCDC เป็นแหล่งรวมงาน ใครมีไอเดียอะไรดีๆ เขาเปิดพื้นที่ฟรีให้นักออกแบบ ชุดแรกก็คือส่ง TCDC เริ่มแรกเพื่อแสดงงานเท่านั้น
พอส่งเข้าไปก็เจอว่าเขาอยากให้ทำของที่ระลึกเป็นจำนวนเยอะๆ จนต้องไปหา Supplier สุดท้ายไปเจอเครือข่ายของจุฬาฯ เป็นคนที่ผลิตให้ ตรงนี้ให้เครดิตว่าคนไทยโชคดีกว่าต่างประเทศ ที่ยังมีกลุ่มนักออกแบบและมีคนที่มารองรับคือช่างฝีมือหรือว่าโรงงานผลิต ทำให้เกิดงานทดลองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถ้าให้ตรงกับนโยบายก็คือ Soft Power แบบนึง”
เติมลมหายใจให้ตึกเก่ามีชิวิต
ตู้เล่าต่อถึงผลงานแรกจาก Blue Bangkok คือชุดโมเดลตึกจิ๋วจากย่านเก่าโซนพระนคร ก่อนที่จะได้ร่วมงานกับ Bangkok Design Week คือชุดตลาดน้อย แต่ครั้งนี้มาในรูปแบบโมเดลตึกจิ๋วที่ต้องลงไปอยู่ในไข่กาชาปอง
“Blue Bangkok เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองวิถีชีวิต มันไม่ใช่แค่อาคาร มันจะมีเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็มีเรื่องของการที่เหมือนให้เราเรียนรู้ผ่านงานชิ้นนึง มันมีเรื่องราวแต่ละที่ แต่ละย่าน
ชุดแรกของ Blue Bangkok เป็นชุดที่เกี่ยวข้องกับทั่วกรุงเทพฯ ก่อน ตอนแรกยังไม่ได้เฉพาะเจาะจง โดยที่เริ่มแรกเราเอาต้นแบบมาจาก ร้าน ออน ล็อก หยุ่น เพราะว่าคิดว่าเป็นตัวแทนของร้านอาหารเช้า ต่อมาก็จะเป็นท่าเตียนหรือว่าหน้าพระลาน จะเป็นอาคารคล้ายๆ ทรงเดียวกัน ต้นแบบก็จะเป็น ร้านมิ่งหลี ต่อมาก็จะเป็น วังสราญรมย์ แล้วก็ นางเลิ้ง ครับ
เมื่อชุดแรกออกไปแล้ว เราก็ได้ร่วมกับ Bangkok Design Week ของ TCDC ก็เลยเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ (ชุดตลาดน้อย) ลดขนาดลงมาให้ใส่ในไข่กาชาปองได้ ตอนแรกที่ทำเรายังจับทิศทางไม่ถูก เราก็มาทำกาชาปองก็กลับไปทบทวนใหม่ ว่ามันควรจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับย่านนั้นๆ เพื่อให้คนศึกษาคือพูดในอาคารหรือสถานที่ที่คนยังไม่รู้จัก ให้เขาได้รู้จักมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนกลับไปทำชิ้นใหญ่เหมือนเดิม ที่เป็น ชุดทรงวาด แล้วทรงวาด ปกติจะทำเป็นตึกที่มีแค่ปูนปั้น แต่เราเดินผ่านอาคารนี้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ดอกไม้หรือเถาวัลย์มันจะขึ้นแต่ละหน้าไม่เหมือนกัน หน้าร้อนมันจะแห้งเหี่ยว หน้าฝนก็จะมีสีเขียวๆ ฤดูหนาวก็จะมีดอกไม้
ทำให้เห็นว่าความเป็นชีวิตกับอาคารมันมีการเล่าเรื่องผ่านงานออกแบบได้ โดยที่เราใส่อะไรเล็กๆ น้อยๆ สีสันเติมเข้าไป ทำให้เรารู้สึกสนุกและมีเรื่องราวว่า แต่ละอาคาร แต่ละย่านมีที่มา”
ย่อส่วนผลงาน “มาริโอ ตามานโญ” สถาปนิกชาวอิตาลีชื่อดัง
หลังผลงานของพวกเขา เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนไปเข้าตาทาง “มิวเซียมสยาม” ประจวบเหมาะกับโอกาสที่ตึกมิวเซียมสยามจะอายุ 100 ปี ซึ่งตึกนี้ก็เป็นหนึ่งในผลงานของ มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลีชื่อดัง ผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมของไทยระดับตำนานหลายแห่ง
จึงเกิดการร่วมงานกันและได้ออกมาเป็นชุด Blue Bangkok x Museum Siam โมเดลตึกจิ๋ว 4 แบบ ที่ย่อส่วนมาจากผลงานขึ้นชื่ออื่นๆ ของสถาปนิกชาวอิตาลีคนนี้ทั้งสิ้น
“พอมิวเซียมสยามเสนอมาจะร่วมงานกับเรา เราก็มีการไปทำการบ้านเพิ่มเติม ก็เลยรู้ว่าสถานที่สำคัญๆ ที่เราเห็น มันคือผลงานของเขา เราก็เลยได้ลองเลือกมาได้เป็น 4 ตัวนี้มี พระที่นั่งอนันตสมาคม หัวลำโพง อันนี้ก็จะคล้ายๆ กับมิวเซียมสยาม ซึ่งก็เคยเป็น กระทรวงพาณิชย์เดิมมาก่อน แล้วก็อันสุดท้ายเป็น ทำเนียบรัฐบาล หรือว่าชื่อเก่าก็คือ บ้านนรสิงห์
ที่ท้าทายอีกอย่างนึงก็คือว่า เราจะเห็นว่างานนี้เป็นงานแนวนอน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับงานที่ผ่านมาจะเน้นเป็นแนวตั้งเพราะมันหยิบจับง่ายสะดวก แต่พอเป็นงานแนวนอน แล้วก็มีความตึกทางการมากขึ้น ก็ค่อนข้างท้าทายว่าเราจะทำยังไงให้ตึกที่กว้างมากๆ ให้อยู่ภายในชิ้นที่มือจับได้
พอชุดนี้ออกไปมันก็ค่อนข้างดังมาก ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น เราก็มีคนสนับสนุนมากขึ้น ทีนี้มันก็เลยเริ่มมีลูกค้าเข้ามาจ้างเราผลิตเป็นงานอื่นๆ ต่อๆ ไป” เนยอธิบาย
ผลงานชุด “วิวัฒนาการตึกแถว”
และโมเดลจิ๋วชุดถัดไปที่กำลังจะเล่านี้คือ ชุดวิวัฒนาการตึกแถว จำนวน 8 ชิ้น ที่เกิดจากไอเดียของเนย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากชุดที่ผ่านๆ มาตรงที่ชิ้นงานจะมีความน่ารัก แต่ก็ยังคงรายละเอียดสำคัญเอาไว้
“ต่อไปเป็นชุด 8 ชิ้นเป็นชุดที่เนยเคาะเอง เรารู้สึกว่าทำงานจริงจังหลายงานแล้ว รู้สึกว่ามันเริ่มยากขึ้นๆ เราเลยลองเซ็ตที่อยากให้มันดูน่ารักและราคาที่เป็นมิตรดีไหม โดยที่เราไปเดินสำรวจมีตึกอะไรบ้าง ก็เลยจุดประกายว่าเอา Shophouse มาทำดีกว่า ก็คือตึกแถวค่ะ เราเดินผ่านตึกเก่าต่างๆ พอไปสังเกตแล้วสไตล์มันไม่เหมือนเดิมนี่นา มันแตกต่างกันไป
ทีนี้ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม จะเห็นว่าตึกแถวมันมีวิวัฒนาการของเขา ก็เลยไปจับเรียบเรียงแล้วก็ไปคัดมา เป็นตึกที่เป็นตัวแทนของแต่ละยุคดีไหม ก็เลยได้ออกมาเป็น 8 ตัวนี้ค่ะ
เริ่มตัวแรกเลย ยุคแรกของตึกแถว เราจะมีตึกชั้นเดียวแบบจีน แต่ทีนี้ตึกชั้นเดียวแบบจีนมันเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งมันนานมากๆ ก็เลยไม่มีหลักฐานในกรุงเทพฯอีกแล้ว พยายามเดินหานานมากเลยว่าตึกชั้นเดียวแบบจีน มันจะมีอยู่ไหมในกรุงเทพฯ
เราไปอ่านหนังสือมา ก็บอกว่าไม่มีแล้ว ซึ่งมันไม่มีจริงๆ เพราะว่ามันก็เสื่อมโทรมไปแล้ว ทีนี้ไปเจอที่ สะพานเฉลิมวันชาติ ที่เป็นย่านที่เขาขายธงเยอะๆ เป็นตึกชั้นครึ่ง นี่แหละตัวแรกเลยที่จะเปิดก่อน ที่จะเป็น Shophouse”
กว่าที่จะได้ออกมาแต่ละชิ้นงานว่ายากแล้ว ตัดภาพไปที่เบื้องหลังก็โหดไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้ได้ผลงานที่ออกมาใกล้เคียงกับข้อมูลจริงมากที่สุด
“เราได้โจทย์ว่าตัวแทนของยุคเริ่มแรกของการสร้างตึกแถว อันนี้ก็แปลกกว่าเพื่อนนิดนึง เป็นตึกแถวแบบปีนังค่ะ เขาจะมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งเขาจะมีทางเชื่อมทางเดินข้างล่าง เป็นเหมือนกันสาดยื่นออกมา แล้วเป็นทางโค้งเดินต่อทางได้ยาวๆ ถ้าเราไปทางภูเก็ต ไปทางใต้จะเห็นว่าเยอะมากๆ
เราไปอ่านมาก็พบว่ามันมีในกรุงเทพฯ เราเดินหาไปเรื่อยๆ ไม่เจอเลย ไปอ่านข้อมูลมาอีกทีนึงว่าบ้านที่มีคนอาศัยเขาก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ ทางเดินลอดใต้อาคารไม่มีแล้วค่ะ ถูกเสริมแล้วก็เป็นพื้นที่ใช้สอยของเจ้าของบ้านแทน แต่ทรงหน้าตาก็ยังอยู่ ที่พูดมาทั้งหมดคือเอกลักษณ์ของตึกแถวแบบปีนัง ย่านบำรุงเมือง ที่ขายสังฆภัณฑ์เยอะๆ
ต่อไปจะเป็นตึกที่เราจะเห็นเยอะที่สุดในกรุงเทพฯ เนยเชื่ออย่างนั้น ตึกรุ่นพิมพ์นิยม เป็นการเข้ามาของคอนกรีต อิฐ เริ่มมีปูน เริ่มเป็นบ้านสองชั้น รุ่นนี้จะไม่มีกันสาด อันนี้ที่ สามแพร่งจะเห็นชัดเยอะมาก เราก็เลยเลือกมาเป็นตัวแทนของรุ่นพิมพ์นิยม แล้วก็สีของพื้นที่ของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะมีการอนุรักษ์เอาไว้ โดยที่เฉดสีจะเป็นแนวเหลืองๆ กำหนดไว้แล้ว”
และอีกหนึ่งกิมมิกคือตึกที่เลือกหยิบมาทำจะไม่ระบุว่าเป็นตึกใดตึกหนึ่ง เพื่อที่เจ้าของโมเดลจะได้ไปตามรอยได้ง่ายๆ
“ต่อไปเป็น ย่านพระอาทิตย์ จะเห็นว่าหน้าตาแอบคล้ายๆ สามแพร่งเลย แต่สิ่งที่พิเศษเข้ามาคือนวัตกรรมคอนกรีตเสริมเหล็ก มันก็เลยทำให้เราสามารถมีกันสาดทำให้คนเดินลอดใต้ได้ เราก็เดินหาว่าย่านไหนดีนะที่จะเป็นตัวแทน
ไปเจอย่านพระอาทิตย์ที่เป็นสีแดงหมดเลย เราก็เลยหยิบมาหนึ่งหลัง ชุดนี้เราจะพยายามไม่เจาะจงว่าบ้านของใคร อยากให้คนที่ซื้อไปแล้วเขาเอาไปถ่ายกับบ้านหลังไหนก็ได้ในย่านย่านนั้น
2 แบบนี้จะเป็นตึกแถวแบบฝรั่ง จะเห็นว่ามีความเป็นศิลปะแบบยุโรป จะเห็นว่ามันจะมีความเป็นปูนปั้นประดับขึ้นมา จะเป็นย่าน ท่าช้าง และ ทรงวาด ทุกครั้งเราจะเดินก่อนโดยที่ไม่มีอะไร เดินเก็บข้อมูล แล้วเราก็เก็บไปหาข้อมูลเพิ่มว่าแต่ละย่านความเป็นมาเป็นยังไง ประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของสถาปัตยกรรม เราก็เอามาเรียบเรียงเอง
สุดท้ายของชุดนี้จะเป็นจุดสูงสุดของวิวัฒนาการตึกแถว ก็คือการที่ตึกแถวสามารถมีดาดฟ้า จะเห็นว่าตัวอื่นจะไม่มีดาดฟ้าเลยไม่เคยมีมาก่อน จะเป็นมุงหลังคาอย่างเดียว เราก็เลยเลือกมา 2 ย่านที่เราสนใจ
คือ ย่านปากคลองตลาด แล้วก็เป็น ย่านซอยนานา ตรงเยาวราช อันนี้เราก็เดินหาเหมือนกัน เพราะไปสังเกตมาว่าบ้านตึกเก่าแบบไหนที่มีดาดฟ้า ที่จริงก็เก็บมาหลายที่ค่ะ แต่ว่าไปเจอความน่ารักแล้วก็เดินตามง่าย ก็เลยเลือกเป็น 2 ย่านนี้”
ย่อส่วนความทรงจำให้จับต้องได้
อีกชุดผลงานที่กำลังจะพูดถึงนี้ เป็นการร่วมงานกันของ Blue Bangkok กับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นโรงเรียนที่ ตู้ เคยเป็นศิษย์เก่าด้วย
“จะเป็นเซ็ตของ โรงเรียนสวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ เซนต์คาเบรียล อันแรกที่ทำทำสวนกุหลาบ เป็นพิมพ์เดียวกันแต่ว่าอาคารแต่ละที่จะมีสีไม่เหมือนกัน เราก็ต้องไป Research สิ่งที่บันทึกแต่ละยุค
พอดีเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบ คุณพ่อเป็นศิษย์เก่าเหมือนกัน ก็ถามว่ายุคนั้นสีมันเหมือนกับตรงนี้ไหม เราก็ต้องไปหาภาพหรือความทรงจำแต่ละรุ่น ยุคเก่าก็จะเป็นสีเหลืองหลังคาแดง แต่ยุคที่ผมเรียนจะเป็นสีเหลืองอมส้มหลังคาเทา
แต่รุ่นพี่บางคนบอกว่าตรงกลางมันยังมีนะ คืออาคารสีขาวกระเบื้องสีน้ำตาล แสดงว่าเรายังเก็บไม่หมด แต่อย่างน้อยทำให้เกิดการกระตุ้นแล้วว่าคนที่ได้เห็นงานเรา จะเกิดการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้วว่าแต่ละยุคมันไม่เหมือนกัน”
เนยเล่าต่อว่า หลังจากได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงเรียนแรก ต่อมาจึงได้มีโอกาสสร้างสรรค์โมเดลจิ๋วในกลุ่มสถานศึกษามาอีกเรื่อยๆ
“พอตึกสวนกุหลาบปล่อยออกไปก็คือได้รับผลตอบรับจากบรรดาศิษย์เก่าเป็นอย่างดี ทีนี้สมาคมศิษย์เก่าของเซนต์คาเบียลเขาติดต่อมาว่าสนใจ ชอบผลงานเรามาก ก็เลยได้ร่วมมือกับทางศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล แต่ว่าคราวนี้เขาอยากได้เป็นชุดเลย เราก็เข้าไปสำรวจและไปทำการบ้านเพิ่มด้วย
ค่อนข้างยากเพราะว่าบางหลังเราต้องเอามาจากรูปเก่า เช่น ตัวที่เป็นไฮไลต์ของเขาก็คือตึกแดง จะเห็นว่าถ้าเป็นยุคปัจจุบันจะเป็นสีอ่อนๆ แต่เขาบอกว่าตึกแดงเมื่อก่อนมันแดงจริงๆ แต่แดงเฉดไหน ก็ยากเพราะตอนนั้นเป็นแต่ขาวดำ แต่ทางศิษย์เก่าเขาก็ให้ทางเราเลือกลองดูก็ได้ เขาเห็นว่าโอเคก็เลยได้ทำ
ชุดเซนต์คาเบรียลเราดีใจอย่างนึง ก็คือทางศิษย์เก่าเขาค่อนข้างปลื้มมาก พอปล่อยออกไปผลตอบรับดี แล้วเขาก็ชื่นชม ได้เห็นลูกค้าที่ซื้อไประลึกความหลังกันผ่านงานของเรา มันก็เลยทำให้เราใจฟู ทั้งๆ ที่เราเป็นคนนอก แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิษย์เก่าหรือผู้ที่มีความผูกพันกับตึกนี้มาคุยกัน มานึกถึงกัน”
สำหรับ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก็ถือได้ว่าเป็นอีกโจทย์หินสำหรับ Blue Bangkok เพราะบางอาคารที่หยิบมาทำ เหลือเพียงแค่รูปถ่ายขาวดำเท่านั้น
“มีศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ติดต่อเข้ามาหลังจากที่เริ่มมีสวนกุหลาบแล้วก็เซนต์คาเบรียล ความท้าทายของชุดนี้ จะเห็นว่ายอดแหลมเยอะมากทั้ง 2 ตัว ตึกแม้นศึกษาสถาน จะเป็นเวอร์ชันที่ใครผ่านไปผ่านมาเห็นตลอด อันนี้ยังไม่ยากเท่าไหร่เพราะเราสามารถเก็บสถานที่จริงได้
แต่ทางศิษย์เก่ามีโจทย์ที่ท้าทายกว่านั้นคือ ตึกแม้นนฤมิตร ดูรูปถ่ายก็รู้สึกว่ามันคล้ายกันนี่นา แต่พอไปเจาะจริงๆ มันคล้ายแต่มันมีรายละเอียดที่ยากกว่านั้น อันนี้ยากมากเพราะว่าเป็นมุมมองที่จำกัด แล้วก็เราเห็นแค่ในรูปถ่ายเท่านั้น
และด้วยความที่ว่าทางศิษย์เก่าเป็นนักโบราณคดีด้วย Detail ต่างๆ ที่เขาอยากจะเก็บเอาไว้ เราก็เลยต้องมาปรับมาใส่เพื่อให้ตรงตามกับโจทย์ของลูกค้าด้วย แล้วก็อยากให้มันออกมาดีที่สุด” เนยเล่าด้วยรอยยิ้ม
ความทรงจำสุดท้าย “ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ ผ่านฟ้า”
และอีกผลงานที่เรียกได้ว่าท้าทายทีมงานสุดๆ ก็คือโมเดล ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ ผ่านฟ้า เป็นความทรงจำสุดท้ายก่อนที่ร้านจะปิดตัวลง
“ขอปิดท้ายด้วยงานของ ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ ผ่านฟ้า เป็นร้านที่เราเดินผ่านบ่อยๆ อยู่แล้ว เพราะว่าเราชอบเมืองเก่า เดินสำรวจ ร้านของเขาจะถูกทุบเพื่อทำรถไฟฟ้าใต้ดิน พอได้รับการติดต่อมา เราก็ตกใจ จะเกิดอะไรขึ้นนะ ก็เลยไปที่ร้าน
ตึกนี้ 90 ปีแล้วแต่ว่าไม่ได้รับการขึ้นเป็นโบราณสถานเพราะยังไม่ถึง 100 ปี มันก็เสียดาย ทางเจ้าของเขาก็บอกว่าอยากจะเก็บความทรงจำเอาไว้เพราะว่าเขาเองก็มีความผูกพันกับที่นี่ แล้วลูกค้าของร้านโกปี๊เองก็มีความผูกพันเหมือนกัน เจ้าของร้านสั่งทำเพื่อเอาไปขายให้ลูกค้า
แต่มีความท้าทายอย่างหนึ่ง จะเห็นว่ามีตัวอักษรด้วย ด้วยความที่เป็นร้าน เป็นจุดเด่นที่ขาดไม่ได้เลย ซึ่งเราไม่เคยทำแบบใส่ตัวอักษรมาก่อน เพราะเรากลัวว่ามันจะเกิดหักหรือว่าเสียหาย ก็เลยต้องมีการทำงานที่ท้าทายขึ้น
ตอนแรกไม่ค่อยอยากใส่ตัวอักษรเข้าไป เพราะเรากลัวว่ามันจะมีปัญหาในการทำงาน แต่ว่าเราก็อยากจะ Fight เราบอกกับลูกค้าก่อนเลยว่าถ้าใส่มันอาจจะออกมาไม่หมดเวลาเราหล่อ โอเคไหม ลูกค้ารับความเสี่ยงกับเราไหม ถ้ารับได้เราก็พร้อมจะลอง ซึ่งลูกค้าโอเค เราก็เลยทำดู
การหล่อยากขึ้นจริงๆ พอทำออกมาแล้วอาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์มาก แต่ก็ถือว่าสมบูรณ์ แล้วงานก็ดูคล้ายจริง ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมากเหมือนกัน เป็นสถานที่ที่คนคิดถึง พอเขารู้ว่าทาง Blue Bangkok เป็นคนทำ เขาก็เลยถ่ายรูปแล้วก็ส่งมาให้เราดูด้วย ทางเราก็ดีใจเป็นส่วนหนึ่งที่เก็บที่ระลึกเอาไว้ ที่จับต้องได้ไม่ใช่แค่ในรูป”
ตามรอยตึกเก่า ช่วยชุมชน
เนยเล่าให้ฟังต่อถึงวิธีการเลือกตึกแต่ละย่านมาทำ ซึ่งไม่เพียงแค่เลือกจากความชอบของตนเองเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการกระตุ้นให้คนที่ได้โมเดล ออกไปตามรอยกัน ซึ่งก็ส่งผลไปถึงชุมชนนั้นๆ ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากขึ้นอีกด้วย
“อย่างชุดแรกจะเป็นไอเดียของพี่ตู้ล้วนๆ พอได้รับผลตอบรับที่ดี มันก็เหนือความคาดหมาย กลายเป็นว่ามีคนสนับสนุนเยอะและมีคนให้คุณค่าด้วย อาจจะเป็นเพราะงานของเรามันไม่ได้ดูดั้งเดิมมาก แต่เลือกที่จะหยิบตึก เหมือนเรากระตุ้นให้คนอยากจะออกไปเดินดูว่าตึกนี้มันอยู่ไหนในกรุงเทพฯ อาจจะมีเพิ่มสตอรี่ขึ้นมาด้วย เลยทำให้คนมีส่วนร่วม
เราทำงานค่อนข้างเยอะกว่าจะตกตะกอนออกมาเป็นแต่ละชุด เดิน ไปหาข้อมูลเพิ่ม แล้วก็กลับมาเดินซ้ำอีก ค่อนข้างทำงานซ้ำซ้อนนิดนึงเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วแต่ละชุดจะเห็นว่าเราเลือกจัดชุดมาประมาณ 4 แบบ แต่เราสเก็ตช์มากกว่านั้นค่ะ เราสเก็ตช์ 8 แบบ 10 แบบแล้วก็คัดออก ว่าอันไหนที่มันดูเข้าชุดกันที่สุดเพื่อที่จะเป็นตัวแทนย่านนั้นๆ
แต่ละชุดก็จะมีการวาง Timeline อยู่ด้วย ว่าเดี๋ยวชุดนี้เราจะออกช่วงปลายปีดีกว่า คนก็เริ่มหาของขวัญเป็นของขวัญปีใหม่ จะมีออก ‘ทรงวาด 2’ เพราะว่าจะมีงาน Song Wat Week ทรงวาดชุดที่เราไปทำ เราเห็นแล้วเราชอบเลยทำเอง เราก็เลยได้ไปรู้จักกับคนในชุมชนทรงวาด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก พี่เขาก็ถาม เอามาวางที่ Gallery พี่ไหม พี่เขาก็ดีใจ ที่ได้เป็นของที่ระลึกของชุมชนค่ะ ทางเราเองก็ดีใจที่เราได้ทำอะไรเพื่อดึงดูดคนช่วยชุมชน
หลักๆ เรายังทำเน้นในกรุงเทพฯก่อน อย่างแรกก็คือเป็นคนกรุงเทพฯ พอได้เจอกับตึกที่เราคุ้นเคยมันก็ทำงานง่าย แต่เราก็มีแผนที่อยากจะขยายไปทำงานต่างจังหวัดด้วย ตอนลงใต้เมื่อต้นปี ไปเก็บข้อมูลก็อยากทำเหมือนกัน แต่ยังติดว่าถ้าทำแล้วจะได้รับผลตอบรับยังไงดี หลังๆ พอทำจำนวนเยอะมันก็ลงทุนเป็นหลักแสน มันก็ต้องคิดนิดนึงว่าพร้อมที่จะออกหรือยัง”
นอกจากโมเดลตึกจิ๋วแล้ว Blue Bangkok ยังได้ต่อยอดเป็นสินค้าอื่นๆ อย่างอะคริลิคติดแม่เหล็ก ที่ทั้งขนาดและราคาย่อมลงมา
“อย่างโมเดลเรซิ่นของเรา มันมีข้อจำกัดนิดนึงที่ว่าทุนมันก็จะสูงหลัก 300-400 ขึ้นไปต่อชิ้น เนยก็เลยไปคิดว่าที่จริงงานของเราวัยรุ่นก็ชอบนะ หรือคนที่มีกำลังน้อยที่จะซื้อ เขาก็ชอบงานเรานะ เราก็เลยคิดว่าพอจะทำอะไรได้บ้างให้มันออกมาเป็นสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
เราหาสินค้าใหม่ที่ราคาจับต้องได้ง่ายมากขึ้น ก็เลยเอางานตั้งแต่ที่เราทำมาทั้งหมด งานเป็นสเก็ตช์เดิมของพี่ตู้ แต่เนยเอามาปรับแบบ เอาลวดลายมาทำเป็นงานเพ้นท์เป็นเลเซอร์ยิงเข้าไปในอะคริลิค แล้วทำ Magnet ราคา 100 กว่าบาทเพื่อให้คนจับต้องได้และหลากหลายมากขึ้น
ทำเฟรมผ้าใบมาสนอง need อันนี้เนยก็วาดเอง เราอยากจะให้ตึกไปอยู่ในแผนที่จำลองของเราตามเกาะรัตนโกสินทร์ ไปอยู่ตรงไหนบ้าง ให้คนได้เห็นภาพมีตึกเก่าอยู่ตรงนี้นะ ลูกค้าก็จะเห็นภาพมากขึ้นค่ะ มีเข้ามาดู อย่าพึ่งเฉลยพี่นะขอคิดก่อนมันอยู่แถวๆ นี้หน้าตาแบบนี้มันคือที่ไหน ก็เริ่มมีการโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น แล้วมันก็ดูง่าย”
และสินค้าที่เป็นที่นิยมมากก็คือ กระเป๋าผ้าลายตึกเก่า ที่นอกจากจะใช้สะพายบรรจุของได้แล้ว ยังได้เรียนรู้ตึกแต่ละย่านไปในตัว
“เราจะเก็บคอมเมนต์ของลูกค้าหรือคนที่เข้ามาคุย มาพิจารณาว่ามันสามารถต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง มีงานล่าสุดเป็นงานกระเป๋าผ้า มีการเอาตึกเก่าเข้ามาทำเป็นลวดลายผ้าให้คนที่ชอบพกไปในที่ต่างๆ เดินทางไปกับทุกคนได้ ก็ขายดีมากเลย
กระเป๋าลายตึกเก่าล่าสุดเลย มันเกิดจากความรู้สึกว่างานตึกเราเยอะ จากที่เห็นว่าโมเดลเราเยอะมาก เราก็อยากจะหาอะไรที่มันหลากหลายมากขึ้น ทีนี้ก็เลยคิดว่าจับตึกเก่าที่เราเคยทำทั้งหมดมาลงกระเป๋าผ้าดีไหม จับทำเป็นกระเป๋า 2 ด้าน ด้านแรกเป็นตึกเก่า ด้านที่ 2 เป็น Mini map แผนที่รัตนโกสินทร์
แต่ลายที่คนชอบและฮือฮามาก คือลายตึกเก่าที่รวมๆ ตึกเก่าไว้ มีการระบุชื่อ สถานที่ ฝรั่งอ่านได้คนไทยอ่านออก มันอยู่ที่นี่นะ โดยที่ชื่อก็จะเอามาจากย่านนั้นๆ ชื่อถนน ชื่อซอย เพื่อที่ว่าจะไปตามได้จริงๆ ว่าตึกนี้มันอยู่ที่ไหน
แล้วก็มีคนมาบอกว่าที่จริง เขารออะไรแบบนี้มานานแล้ว เพราะเขาจะได้พกไปไหนได้ด้วย เขาก็จะได้บอกคนอื่นได้ด้วยว่าอันนี้ตึกอะไร มาคอมเมนต์ก็มีบอกว่าอยากให้บอกชื่อตึกด้วยได้ไหม เพราะพี่คงจำไม่ได้เพราะตึกอะไรเป็นอะไร อยากจะเอาไปคุยกับลูกอะไรแบบนี้ มีหลายอย่างที่เขาอยากเอาไปคุยกับคนอื่น”
“กาชาปองพระพิฆเนศ” ตีตลาด Art Toy สายมู
ล่าสุด Blue Bangkok ก็ได้แตกไลน์มาถึงวงการ Art Toy จนได้มาร่วมเป็น 1 ใน 29 ศิลปิน ที่มารังสรรค์ผลงาน “กาชาปองพระพิฆเนศ” รุ่นพิเศษ ของที่ระลึกงานมหาคณปติบูชา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกด้วย
“ด้วยความที่เราเรียนออกแบบ แล้วศิลปะมันสามารถทำได้หลากหลายอย่างไม่จำกัด ทำให้เราสนใจเอาตัวเองไปอยู่ในทุกๆ วงการที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์ เริ่มสนใจ Art Toy เพราะว่าเป็นคนเก็บของเล่น หรือว่า Designer Toy ด้วย
กาชาปองที่มาทำกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร รู้สึกว่ามี Passion บางอย่าง และเป็นการแตกไลน์ ปกติแล้วที่เห็นงานของเราจะเป็นตึกเป็นแบนๆ ที่ด้านหลังอาจจะติดตู้เย็น มาเป็นของลอยตัวที่เป็นชิ้นงานจับต้องได้ เราต้องทำที่มันรอบด้าน 360 องศา ถ้าเริ่มแรกจริงๆ ก็คืออับเฉา เป็นเหมือนตุ๊กตาหินตามวัด ลองทำเป็นหมากรุก ตอนนี้ก็เริ่มมาทำพระพิฆเนศ
ถ้าพูดถึงพระพิฆเนศ คนเรียนศิลปะและออกแบบต้องนับถืออยู่แล้ว ของผมเองก็ใส่เหรียญพระพิฆเนศห้อยติดคอมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ก็อยู่ในกระเป๋าติดตัวไว้ อยู่ๆ การตลาดสายมูก็โด่งดังขึ้นมา อาจจะเพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจที่คนไทยเจอปัญหาเพราะโควิด การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ น่าแปลกตรงที่สามารถมาอยู่ในงาน Decorations Art ในแง่ของตกแต่งบ้านและเป็นแนวคิดที่เหมือนกับ วัฒนธรรม Pop Culture เข้ามา ทำให้การ์ตูน ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งของสะสมเริ่มเป็นที่นิยม
การที่เป็นเทพปกติจะเห็นเป็นบูชาจริงจัง แต่ตอนนี้เริ่มมาเปลี่ยนแล้วเป็นของที่สนุกขึ้น สีสันสดใสขึ้น น่ารัก แล้วก็สร้างมูลค่าได้ด้วย คนไทยสามารถตีตลาดโลก ได้แล้วสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ซึ่งมันเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกแบบนึงที่น่าสนใจ ก็เลยลองมาทำดู แต่ยังใหม่มากๆ สำหรับเราเหมือนกัน” ตู้เล่าถึงผลงาน Art Toy ชิ้นแรก
“กาชาปองพระพิฆเนศ”
กาชาปองพระพิฆเนศ จาก Blue Bangkok ถูกออกแบบมา 2 แบบ ทั้งแบบที่ค่อนข้างสมจริง และแบบที่ทำออกมาในลักษณะของเล่นยุคเก่า ที่ดูแปลกตาไปจากเดิมไม่น้อย
“ตัว Tin Toy เหมือนของเล่นสังกะสีเก่า เป็นหุ่นยนต์ พยายามยั่วล้อ ผมมองว่าของเล่นของสะสมนี้ที่เหมือนอารมณ์ยุคเก่าๆ ยังไม่มีในงานพระพิฆเนศ ก็เลยลองมาทำดู เปลี่ยนอะไหล่เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างได้
ก็จะมีได้ยินในกลุ่มศิลปิน Art Toy ที่ทำพระพิฆเนศเหมือนกัน ว่าลูกค้ามาถามว่าได้ทำพิธีเบิกเนตรหรือเปล่า หรือเข้าร่วมพิธีการสวดบางอย่างไหม ซึ่งก็จะมีบางคนที่เอาไปเข้าพิธีทางโบสถ์ทำโดยพระไทย เป็นการปลุกเสกเลยก็มี ทำให้เห็นว่าการเอาของเล่นของสะสม เข้าไปอยู่ในพิธีที่เป็นพิธีกรรมจริงจังเริ่มมีแล้ว บางคนก็เอาไปบูชาเพราะว่าเป็นสีทองอะไรพวกนี้
แต่มองว่ามันคือความสนุก พระพิฆเนศเป็นเทพที่มีพระเศียรเป็นสัตว์ แล้วก็มีส่งผ่านมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ กลายเป็นของเล่นที่ค่อนข้างที่จะกว้างขวางมากที่สุดแล้วในบรรดาเทพเจ้าองค์อื่นๆ เราไม่ค่อยเห็นแล้วยังอยู่ในวัฒนธรรมการบูชาด้วย มันเลยเป็นรอยต่อที่น่าสนใจ ว่าจะเป็นบูชา หรือของสะสม หรือความน่ารัก หรือความน่ากลัวที่เป็นจริงจัง
ตลาดสายมูยังไปต่อได้ไหม เชื่อว่าไปได้ แต่ว่าแค่รูปแบบบางอย่างเท่านั้น เพราะว่าทุกคนตอนนี้เริ่มทำพระพิฆเนศ ต่อมามีท้าวเวสสุวรรณ ปีนี้คือพระแม่ลักษมีเริ่มมา ก็เลยมองว่ายังไปได้ แต่ว่าเป็นแค่บางองค์ที่เป็นหลักๆ ศิลปินที่มีชื่ออยู่แล้วก็สามารถที่จะมีกลุ่มก้อนของแฟนคลับตามสนับสนุน และเกิดคนรุ่นใหม่ศิลปินหน้าใหม่เข้ามาทำ”
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของผลงาน คือการได้รับประกาศนียบัตร ผลงานสร้างสรรค์ที่มีความโดดเด่น จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการที่สิ่งที่พวกเขาทำได้ต่อยอดและเป็นประโยชน์ให้คนอื่นๆ ในสังคมต่อไป
“คณะมัณฑนศิลป์ศิลปากรให้ งานวิจัยที่ได้รางวัลโดดเด่นสร้างสรรค์โดยเฉพาะวัฒนธรรม หรือว่าประวัติศาสตร์ แล้วก็ด้านเศรษฐกิจ อันนี้ก็คือเป็นหนึ่งในนั้น ส่งงานที่เป็นชุดกาชาปอง 8 ตึกเก่าเข้าไป เขาก็ให้ใบประกาศฯมา
ก็รู้สึกยินดี แต่เรารู้สึกว่ารางวัล มันไม่สำคัญเท่าการที่เราสร้างผลงานออกไป แล้วมีคนสนับสนุนงานแต่ละชุดแต่ละชิ้น รู้สึกว่าอิ่มเอมใจมากกว่า มันไปเผยแพร่สู่สาธารณะ และสามารถหล่อเลี้ยงอะไรบางอย่างได้ กลับมาเป็นรายได้
โดยเฉพาะบางกลุ่มที่เรารู้สึกว่ายินดีมากที่ทำให้เขามีรายได้ หรือว่าการทำให้เกิดธุรกิจบางอย่างในท้องถิ่น ทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อันนี้มองว่าเป็นรางวัลอยู่ทุกวันอยู่แล้ว”
เมื่อบทสนทนาเดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย ตู้ ก็ได้สะท้อนการทำงานของตนเองว่า กว่าที่จะสำเร็จอย่างทุกวันนี้ สิ่งแรกต้องเริ่มจากความชอบก่อน และนำความชอบมาต่อยอด โดยที่ต้องมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย
“ต้องมีความชอบก่อน แต่มันจะไม่รอดถ้ามีความชอบอย่างเดียว ต้องมีความรู้เพิ่ม แล้วก็เรื่องของวางแผนสิ่งที่เราจะทำ เพราะว่าถ้าเกิดทำเพราะความชอบล้วนๆ มันจะลำบาก ต้องมีเครือข่าย เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้
ตอนนี้นอกจากทำ Branding ตอนนี้เราต้องสร้างเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น Art Toy ท่องเที่ยว ก็เริ่มคุยกับเพื่อนที่ทำขนม ว่าอยากต่อยอดจากแม่พิมพ์ที่เป็นตึกเก่า ไปสู่แม่พิมพ์ขนมได้ไหม หรือว่าเป็นสบู่ ของใช้ในโรงแรมที่มันเกี่ยวข้องกับอาคารสถานที่ได้ไหม ไปทำเป็นสินค้า เป็นผ้า เป็นกราฟฟิก เป็นสามมิติ ทำของชำร่วย หรือทำของที่ระลึกอย่างอื่นได้ไหม
มีคนมาถามเหมือนกันว่าทำคล้ายๆ ตึกเก่าได้ไหม ยินดีเลย เราไม่ใช่เจ้าของผลงานลักษณะนี้ ทุกคนสามารถทำได้ เราไม่ใช่เจ้าแรก เรามีแนวคิดที่ว่ายิ่งทำเยอะ ตลาดมันก็จะยิ่งกระจายงาน ดังนั้นไม่จำเป็นว่าใครทำก่อนหรือว่าทำหลัง
ถ้าเกิดคุณไปได้ ก็ไปได้ ตลาดสร้างสรรค์ก็ยังโตได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่อย่าเอางานเราไปทำเป็นแม่พิมพ์เหมือนกันเป๊ะๆ อันนี้มันไม่ได้ พยายามอย่าลอกเลียนแบบครับ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ภาพ : วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Blue Bangkok”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **