เปิดใจ “บุ๋ม-สุจิตรา พิณประภัศร์” ทนายความคนเดียวในประเทศไทยที่ใช้ภาษามือได้ เพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนใจ “ถ้าสภาพแวดล้อมไม่พิการ ก็จะไม่มีเรื่องของคนพิการเกิดขึ้น”
จะต้องเป็น “นักกฎหมาย-ล่ามภาษามือ” ให้ได้!!
“น่าจะคนเดียวในประเทศไทยค่ะที่เรียน 2 วุฒิ มีประกอบวิชาชีพทนาย มีใบอนุญาตว่าความ กับมีใบประกอบวิชาชีพล่ามค่ะ
แต่กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ มันก็ต้องผ่านความยากลำบากมา กว่าเราจะเป็นล่ามได้ต้องใช้เวลา กว่าเราจะเป็นล่ามที่ดีได้ก็ต้องใช้เวลา กว่าเราจะเป็นทนายได้ก็ต้องใช้เวลา กว่าเราจะสอบใบอนุญาตว่าความได้ กว่าจะว่าความช่วยเหลือคนอื่นได้มันใช้เวลา เรามาถึงจุดนี้ เราก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากๆ แล้วค่ะ”
“สุจิตรา พิณประภัศร์” หรือ “บุ๋ม” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
หลายคนอาจจะคุ้นหน้าค่าตาของเธอบนจอแก้ว กับการทำหน้าที่ “ล่ามภาษามือ” ให้กับสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7HD
แต่เธอก็ยังอีกบทบาทในกระบวนการยุติธรรม คือการเป็นทนายอาสา ที่สภาทนายความ จ.ราชบุรี และยังเป็นทนายความคนเดียวในประเทศไทย ที่สามารถใช้ภาษามือสื่อสารได้โดยตรงกับลูกความที่เป็น “ผู้พิการทางการได้ยิน”
ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่บุ๋มจะได้มาเป็นทนายความและล่ามภาษามือคนเก่งอย่างทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ด้วยใจที่อยากเป็นนักกฎหมายในตอนแรก แต่วันหนึ่งเธอมีโอกาสได้เห็นการใช้ชีวิตของคนหูหนวก แม้เป็นเพียงเวลาสั้นๆ แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้บุ๋มอยากเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเรียน 2 ใบปริญญาพร้อมกันคือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
“จุดเริ่มต้นจริงๆ เดิมอยากเป็นนักกฎหมายมากกว่า อยากเรียนกฎหมาย อยากสอบผู้พิพากษา สอบอัยการ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องภาษามือเลย ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีคนรู้จักเป็นคนหูหนวก ไม่รู้ว่ามีภาษามือเกิดขึ้นในโลกนี้ มารู้ภายหลังว่าช่อง 11 เขามีแต่เราก็ไม่เคยดู
ตอนนั้นเรียนอยู่ แล้วมีนักเรียนที่มาจากโรงเรียนโสตศึกษา เป็นกลุ่มคนหูหนวกทั้งหมด เขามาทัศนศึกษาดูงานที่โรงเรียนที่บุ๋มเรียน เราได้เจอครั้งแรกก็เซอร์ไพรส์นิดนึง เซอร์ไพรส์แรก อ้าว… เขาได้เรียนหนังสือด้วย ไม่เคยรู้มาก่อน
เซอร์ไพรส์ที่ 2 เขามีภาษาในการใช้ เขาก็ใช้ภาษามือคุยกันตลอดเวลา เราก็นั่งมองเขา เขาคุยยังไง สื่อสารยังไง มันก็เป็นแรงบันดาลใจครั้งแรกว่าถ้าเราสื่อสารกับเขาได้ อยากรู้ว่าเขาพูดคุยอะไรกันค่ะ
โชคดีที่เรามี Passion ชัดเจนมาตั้งแต่ ม.6 แล้วว่าเราอยากเป็นนักกฎหมาย แล้วเราก็อยากเรียนภาษามือด้วย ปีนั้นทางวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาเปิดรับนักศึกษาที่จะมาเรียนสาขาหูหนวกศึกษา ซึ่งไม่ได้รับทุกปี ต้องรอจังหวะและโอกาส หมายถึงว่ารุ่นนี้เรียน 5 ปีจบถึงรับรุ่นใหม่ เขาไม่ได้รับแบบอยากจะเรียนก็เรียนได้ ปีนั้นเขารับพอดี ก็เลยมาสอบ”
การได้มาศึกษาต่อในวิชาหูหนวกศึกษา นอกจากจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้ว บุ๋มยังได้เรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวัน ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนหูหนวก ก็เรียกได้ว่าเปิดโลกให้เธอให้เธอไม่น้อย
“วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาก็จะปูพื้นฐานเราใหม่เลยตั้งแต่ภาษามือ วัฒนธรรมคนหูหนวก การที่ต้องเรียนวัฒนธรรมคนหูหนวกก่อนเพื่อที่ให้เราเข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น ภาษามือ take course เป็นวิชาก็จริง แต่เป็นเรื่องของทฤษฎี ไวยากรณ์ เรื่องของไวยากรณ์ภาษามันมีเหมือนภาษาไทย เราก็ต้องมานั่งเรียนทฤษฎีโครงสร้างไวยากรณ์ภาษามือ
ส่วนการสื่อสาร เขาก็จะให้เราใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับเพื่อนที่เป็นคนหูหนวกด้วยกันในคลาส จะเรียนรวมกันทั้งคนหูหนวก-หูดี กินนอนด้วยกัน เรียนด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน มันก็จะได้เรื่องของการสื่อสารไปในตัว
[ ล่ามภาษามือช่อง 7HD ]
พอเรียนพื้นฐานภาษามือเสร็จ เราก็จะมาต่อในเรื่องของการศึกษาของคนหูหนวก ลงลึกเป็นเรื่องเฉพาะทางว่าการที่เราจะสอนคนหูหนวกซักคนนึง เราจะต้องสอนเขาแบบไหน ซึ่งมันก็แตกต่าง การสอนเด็กพิเศษก็แตกต่างกับสอนเด็กทั่วไป
รุ่นบุ๋มอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าคน ถ้าเป็นหลักสูตรหูหนวกศึกษาเรียน 5 ปี พอเรียนจบแล้วเราก็จะได้อีกสาขานึง เราเป็นได้ทั้งล่ามภาษามือด้วย แล้วก็ได้วุฒิครู ได้ใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ส่วนใหญ่เพื่อนก็จะมีทั้งเป็นล่ามด้วย แล้วก็เป็นข้าราชการครูด้วย สอนตามโรงเรียนโสตต่างๆ”
อย่างที่เรารู้กันว่ากว่าจะได้ปริญญามาสักใบ ก็หนักหนาสาหัสเอาการแล้ว แต่เธอคนนี้ตัดสินใจที่จะเรียนไปพร้อมกันถึง 2 ใบ เรียนถึงขนาดที่ว่า “ไม่มีช่วงปิดเทอม” กันเลยทีเดียว
“ถามว่าหนักไหม ณ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเราแฮปปี้นะคะ เราไม่รู้สึกว่าหนักหนาอะไร แล้วก็มีความสุขกับการเรียนค่ะ (หัวเราะ) ไม่เคยมีปิดเทอม ต้องเข้าใจว่าเราเรียนมหา’ลัยในระบบ พอมหิดลสอบ ปิดเทอม มันก็จะไปตรงกับรามคำแหงสอบ รามคำแหงเขาจะสอบทั้งเดือน พอสอบครบจบ มหิดลก็จะเปิด ฉะนั้นเราก็จะเป็นคนที่ไม่มีปิดเทอม
ในความที่เราอยากเรียนนิติศาสตร์ เราก็ไม่ได้ทิ้ง ก็เลือกที่จะเรียนทั้ง 2 อย่างคู่กันไป ทั้งภาษามือด้วย และนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย ตัดสินใจพร้อมกัน (ยิ้ม)”
ทนายอาสาคนหูดี-หูหนวก
หลังจบการศึกษาและคว้าใบปริญญามาได้ทั้ง 2 ศาสตร์ ชีวิตก็เข้าสู่โหมดการทำงาน บุ๋มเริ่มต้นจากการเป็นล่ามภาษามืออิสระ ไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านกฎหมาย
“ตอนเรียนจบ จบไม่พร้อมกัน ก็คือจบล่ามภาษามือก่อน พอจบนิติศาสตร์ปุ๊บ เรายังเป็นทนายไม่ได้ ขั้นตอนของทนายความยังมีอีกเยอะ พออยากเป็นทนาย เรียนจบปริญญาตรีไม่พอ ก็ต้องไปฝึกงานเพื่อสอบใบอนุญาตว่าความอีก
พอเรียนจบมาบุ๋มเลือกเป็นล่าม เราไม่ได้เลือกวิชาชีพครู ฉะนั้นเราก็จะมีเวลาทั้ง 1.เราฝึกทนายความ 2.เราเป็นล่ามควบคู่ไปด้วย พอได้ใบประกอบวิชาชีพปุ๊บ เราก็เป็นล่ามไปแปลตาม TV ไปแปลตามงานต่างๆ งานคดีความ ไปแปลงานประชุม ไปแปลหาหมอ น้ำหนักก็จะเวทเท่าๆ กัน
ทำงานควบคู่กันมาทั้ง 2 อาชีพมาตั้งแต่แรก เราเป็นล่ามอิสระอยู่แล้ว ไม่ได้สังกัดองค์กร เพราะว่าวิชาชีพทนาย ตอนไปฝึกงานเราก็เป็นอิสระ ล่ามเราก็เป็นอิสระ เราแค่ต้องจัดสรรเวลาของเราให้ดีแค่นั้น
ช่วงที่เรายังไม่ได้เป็นทนายเราเป็นเสมียนทนายความ ตอนที่เรารับงานล่าม เราก็ยังเป็นแค่ล่ามภาษามือในชั้นตำรวจ ในชั้นศาลอะไรพวกนี้ เหมือนเราได้แค่วุฒินิติศาสตร์มามันยังไม่ได้ว่าความได้ เราก็ต้องเก็บเกี่ยวหาประสบการณ์ เราก็ทำงานล่ามด้านกฎหมายไปด้วย แล้วเราก็ฝึกงานคดีไปด้วย”
[ ทนายบุ๋ม แห่งสภาทนายความ จังหวัดราชบุรี ]
ทนายบุ๋ม ยังได้เล่าประสบการณ์การว่าความครั้งแรกของเธอให้ฟังอีกด้วย ความรู้สึกในครั้งนั้นเต็มไปด้วยตื่นเต้น แถมยังเกิดความผิดพลาดขึ้นอีก แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี
“เคสว่าความคดีแรก ตอนนั้นตื่นเต้นมาก รู้สึกว่าจะเป็นคดีผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อก่อนเราเป็นเสมียนทนายความ เราเป็นแค่ผู้ช่วย เรารู้สึกไม่กลัว เราเป็นเสมียนที่ฝึกมาเป็นปี มันต้องทำได้หมดแหละ
แต่เมื่อไหร่ที่เราว่าความครั้งแรก ความตื่นเต้นทุกอย่างมาทั้งสิ้นทั้งปวง ขั้นตอนทำผิดหมด (หัวเราะ) สลับไปสลับมา ผู้พิพากษาเขาก็มีความเมตตา เขาก็ช่วยสอนเราอีกที เขาก็บอกว่าโอเค ทนายค่อยๆ เรียง
อันนี้ก็เป็นเคสแรกที่ตื่นเต้นมากๆ แล้วก็เกิดความผิดพลาดขึ้นอะไรหลายอย่าง แต่ว่ามันไม่ได้เสียหายอะไรค่ะ แล้วก็ได้ครูเป็นผู้พิพากษาเขาก็ช่วยสอนเราด้วย คดีนั้นก็ผ่านมาได้ พอคดีหลังๆ มันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า โอเค… เราผิดพลาดตรงนี้ ก่อนที่จะไปศาล ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้านะ อะไรอย่างนี้ค่ะ”
ถามต่อว่า ในกรณีของคนหูหนวกที่จะต้องขึ้นศาล จำเป็นต้องใช้บริการทนายบุ๋มคนเดียวหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ‘ไม่จำเป็น’ เพราะล่ามภาษามือท่านอื่นก็สามารถให้บริการในเรื่องการแปลได้เช่นกัน
“พอเราได้ใบอนุญาตว่าความปุ๊บ เอาจริงๆ มันยังว่าความไม่เป็นหรอก เราก็ยังว่าความให้คนหูหนวกโดยตรงไม่ได้ เราก็ต้องไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสำนักงาน จากสภาทนายความ
ที่เราเลือกอยู่สภาทนายความ ก็เพราะว่ามันเป็นที่ที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เวลาที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็รู้สึกว่าเราไม่อยากให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ เขาก็จะมาร้องขอความช่วยเหลือ เราก็ไปเป็นทนายอาสา ไปช่วยว่าความให้ทั้งคนหูดีทั่วๆ ไป ทั้งคนหูหนวกด้วย มันก็ทำควบคู่กันมา
ล่าสุด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก็มีจัดอบรม เขาก็เชิญไปเป็นวิทยากร ว่าถ้าจะไปเป็นล่ามในกระบวนการยุติธรรมจะต้องรู้อะไรบ้าง รู้ศัพท์ รู้ความหมายของศัพท์ เทคนิคการแปล สถานการณ์ต่างๆ ก็มีการอบรมให้ความรู้กับเพื่อนล่ามตลอด สมมติว่าคนหูหนวกเขามีความต้องการใช้ล่ามในด้านนี้ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมาเป็นบุ๋มคนเดียว
ถ้าเขาต้องการทนายที่คุยกับเขาได้ คดีมีปัญหาจะปรึกษาทนายที่ให้คำปรึกษาเขาได้เลยโดยที่ไม่ผ่านล่าม อาจจะต้องมาปรึกษาเรา แต่ถ้าเขามีทนายอยู่แล้ว แล้วจะต้องใช้ล่าม ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ล่ามภาษามือคนอื่นก็สามารถให้บริการในเรื่องการแปล ส่วนในเรื่องของการให้คำปรึกษา ก็ต้องเป็นบทบาทของทนายความเขาค่ะ”
[ ดูแลลูกความคนหูหนวก ]
กว่าที่จะเป็นทั้งล่ามภาษามือและนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญขนาดนี้ แน่นอนว่าต้องสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันบุ๋มทำอาชีพล่ามภาษามือมาได้ประมาณ 12 ปีแล้ว ส่วนทนายความก็ไล่เลี่ยกันคือราว 10 ปี
“ลูกความคนหูดีกับคนหูหนวก สำหรับบุ๋มไม่ต่างกัน เพราะว่าเราดูแลลูกความ เราใช้เรื่องของการสื่อสารระหว่างตัวทนายกับลูกความ ถ้าหูดีเราก็คุยกันพูดจากันสื่อสารกัน ถ้าคนหูหนวกก็ใช้ภาษามือสื่อสารกันโดยตรง ไม่ต้องไปจองล่าม จากเราไปล่าม จากล่ามไปคนหูหนวก จากคนหูหนวกมาล่าม มาเรา ก็ไม่ต้อง ดูแลพูดจาสื่อสารกันได้เลย ก็จะสะดวกมากขึ้น
ถามตอนนี้ไม่ยากแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่า 1.เราว่าความได้ 2.เราใช้ภาษามือได้ สิ่งที่ยากตอนแรกคือเรายังว่าความไม่ได้ กับตอนที่เรายังใช้ภาษามือไม่เก่ง มันคือตอนเริ่มตอนที่เราเรียนจบใหม่ๆ ประสบการณ์ก็ยังไม่ค่อยมี
พาร์ทของภาษามือ เราก็ต้องฝึกเรียนรู้กับพี่ๆ ล่าม ว่าพี่ๆ เขาแปลยังไง ใช้เทคนิคการแปลยังไง ก็ต้องพยายามไปเป็น buddy กับพี่ๆ เขาเพื่อจะเรียนรู้ หรือดูพี่ๆ เขาทาง TV ว่าเขาใช้คำศัพท์อะไรยังไงอันนี้ต้องหนักมากตอนช่วงเริ่ม
ส่วนพาร์ทของว่าความ ต่อให้เราได้ใบอนุญาตว่าความเราก็ยังว่าความไม่ได้อยู่ดี มันก็จะหนักช่วงแรกๆ คือตอนที่เราต้องไปเรียนรู้กับพี่ที่สำนักงาน ตามเขาไปในคดี ช่วยงานหัวหน้า ตามช่วยงานพี่ๆ ในสำนักงาน ว่าคดีประเภทนี้ทำยังไงกว่าเราจะได้ความรู้ในการว่าความมา จนถึงทุกวันนี้มันก็ยากตอนเริ่มค่ะ แต่ถ้า ณ ทุกวันนี้มันไม่ยากแล้ว”
แยกบทบาทชัด ทนายความ VS ล่ามภาษามือในศาล
เมื่อถามถึงในการทำหน้าที่ระหว่างการเป็นทนายความให้กับคนหูหนวกโดยตรง กับการเป็นล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม มีจุดที่แตกต่างกันยังไง เธออธิบายไว้ว่าทั้ง 2 หน้าที่ เป็นการทำงานคนละบทบาทที่ต้องแยกแยะชัดเจน
“มันจะเป็นคนละบทบาทค่ะ หมายถึงว่าบทบาทที่เราไปเป็นล่ามในคดีการแปล กับบทบาทที่เราไปเป็นทนายให้กับคนหูหนวก ถ้าเมื่อไหร่ที่เราสวมบทบาทว่าเราเป็นล่ามภาษามือ เราจะต้องแปลด้วยความตรงไปตรงมา ให้คนหูหนวกเข้าใจสื่อสารกับอีกบุคคลหนึ่ง แปลข้อความให้ครบถ้วน รับสารมาแค่ไหน แปลแค่นั้น ไม่เพิ่ม เสริม เติมแต่ง แนะนำ
ต่อให้บางอย่างเรารู้ในใจว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ สิ แต่ในบทสนทนานั้นไม่มี เราไม่สามารถจะใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในการแปล หรือความคิดเห็นลงไปในการแปล มีหน้าที่แค่แปล คนหูหนวกส่งสารมาแค่ไหน แปลออกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นบทบาทของล่ามภาษามือคือเราไม่มีตัวตน
แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นทนายให้กับคนหูหนวกนะคะ บทบาทของเราก็คือรักษาผลประโยชน์ของลูกความในทุกๆ เรื่อง ฉะนั้นเราจะสามารถใส่ความคิดข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะให้กับเขาได้ ซึ่งทั้ง 2 บทบาทไม่เหมือนกัน
เวลาทำหน้าที่เราต้องแยกแยะให้ชัดเจน ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะกลายเป็นว่าพอเราเป็นล่าม แล้วเราใส่บทบาททนายความเข้าไปด้วย มันจะกลายเป็นว่าเราไม่เป็นกลาง ซึ่งจะถือว่าผิดจรรยาบรรณของล่ามภาษามือมากๆ”
[ หน้าที่ “ล่ามภาษามือ” ให้คนหูหนวกในศาล ]
และการทำหน้าที่เป็นทนายความของคนหูหนวก ทนายบุ๋มบอกว่า ไม่ต่างจากการว่าความทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือการอธิบายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่า คนหูหนวกสามารถจัดการทุกอย่างด้วยตนเองได้
“เรารับแปลมาก่อนตอนที่เรายังว่าความไม่ได้ พอเราเริ่มรู้สึกว่าเราว่าความได้แล้ว เรามีประสบการณ์การว่าความทั่วๆ ไปมาแล้ว พอมาเป็นทนายความให้กับคนหูหนวก ก็เหมือนเป็นคดีคดีหนึ่งแค่นั้นเอง ไม่ได้มีความยากหรือพิเศษอะไร
เพียงแต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือต้องอธิบายให้กับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ทราบว่าคนหูหนวกเป็นใคร กระบวนการที่จะให้เขาขึ้นศาลต้องเป็นยังไง ก็เป็นบทบาทหนึ่งที่เราจะเผยแพร่ความรู้ให้กับคนอื่น
เป็นการให้ความรู้กับผู้พิพากษา กับท่านอัยการ กับทนายฝั่งตรงข้าม ให้เขารู้สึกว่าคนหูหนวกสามารถจัดการทุกอย่างได้นะ เบิกความในศาลได้นะ เป็นพยานได้นะ เพียงแค่ต้องผ่านล่ามภาษามือ
บางทีคนหูหนวกเขามีญาติ ญาติเขามีความไว้วางใจทนายความของเขาเอง แต่คนหูหนวกก็จะรู้สึกว่าอยากได้ล่ามที่รู้เรื่องของกฎหมายด้วย จะได้แปลให้ชัดเจน เขาก็จะมาจองเราในบทบาทของการเป็นล่ามภาษามือ
แต่เราก็ต้องคุยกับเขาตรงๆ ว่าล่ามแปลตามที่ทนายบอกนะ ล่ามแนะนำไม่ได้นะ เพราะว่าตอนนี้เราเป็นล่ามอยู่ เขาก็เข้าใจ เขาก็ขอแค่แบบ โอเค… เขาเชื่อมั่นว่าเรามีความรู้ในการแปลเรื่องนี้ได้ดี เขาก็เลยเลือกที่จะให้เป็นล่าม แต่ถ้าเขามั่นใจเรามากๆ เขาก็จะจ้างเราเป็นทนายให้ครอบครัวเขาก็มี ให้เขาเองบ้างก็มี”
นอกจากนี้ กูรูกฎหมาย ยังได้มีการแบ่งปันเรื่องราวความประทับใจ ที่ได้เคยดูแลคนหูหนวก ในฐานะล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม
“มันก็มีอยู่หลายๆ เคส แต่เคสที่จะเล่าให้ฟัง บุ๋มไปเป็นล่ามคนหูหนวกเขาโดนฉ้อโกง โดนเพื่อนคนหูหนวกกันนี่แหละ ด้วยความที่เขาไม่รู้เรื่องทางกฎหมาย มีเพื่อนสนิทมาขอยืมใบโฉนดที่ดิน บอกว่าจะยืมเอาไปวางประกันคอนโดเฉยๆ แล้วเดี๋ยวจะเอามาคืน ด้วยความไว้ใจกันก็ให้ยืมไป
แต่พอเอากลับคืนมาได้มาเป็นสำเนาแล้วก็เขียนว่าจำนอง คนหูหนวกเขาก็ไม่รู้ เขาก็คิดว่ายืมไปแล้วให้สำเนามาเผื่อจะได้เอาไว้ใช้ ไม่รู้ว่าบ้านและที่ดินโดนเอาไปจำนองแล้ว ก็อยู่มาครบปี ผู้รับจำนองเขาก็จะเอาเงินคืน เขาก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรอีก เพื่อนก็มาก็บอกว่าเดี๋ยวจะไปเอาใบโฉนดที่ดินคืนให้ เดี๋ยวไปที่ดินด้วยกันนะ แต่สุดท้ายก็พาเขาไปโอนขาย
คนหูหนวกก็ไม่รู้อะไรอีก ให้เซ็นอะไรก็เซ็น ไม่รู้นิติกรรมของที่ดิน เขาคิดว่าที่เซ็นเขาจะได้โฉนดคืน สุดท้ายวันนั้นเขาก็ไม่ได้โฉนดคืน แล้วเขาก็โดนขายบ้านพร้อมที่ดินไป แต่ยังไม่รู้ตัวเพราะเขายังอยู่ในบ้านและที่ดินนั้นอยู่”
บุ๋มเล่าต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เธอได้มาเจอผู้เสียหายคนนี้จากการทำหน้าที่ล่ามเพื่อพาไปพบแพทย์ แต่จับพลัดจับผลูต้องสู่กลายมาเป็นล่ามในคดีนี้ด้วย ท้ายที่สุด เรื่องราวจบลงที่ว่าผู้เสียหายก็ได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา
“จนสุดท้ายมาเจอบุ๋ม รู้สึกวันนั้นไปเป็นล่ามให้เขาไปพบแพทย์ เขาก็เอาสำเนามาให้ดู เราก็ดูหลังโฉนด เขาก็ถามว่าเมื่อไหร่เขาจะได้ที่ดินเขาคืน หลังจากที่เราดูแล้ว เราก็บอกว่าก็คุณขายบ้านไปแล้ว เขาก็ตกใจ ช็อกไปเลย เขาไม่ได้ขายนะ
ก็ต้องนั่งไล่เรื่องราว จากหาหมอต้องกลายเป็นพาเขาไปกรมที่ดิน ไปขอดูสารบบว่าเขาทำอะไรบ้าง สุดท้ายก็คือโดนหลอกจำนองไป 1 รอบ แล้วต่อมาก็โดนหลอกขายที่ดินไปอีกเป็นรอบ 2
เขามีทนายครอบครัวเข้ามาทำคดีให้ เรื่องนี้ก็ยืดเยื้อกัน สืบพยานกันจริงจังเลยเพราะสามีเขาเป็นชาวต่างชาติ เราก็ต้องแปลให้คนหูหนวกไทยไม่พอ ก็ต้องมีล่ามหูหนวก มาแปลล่ามภาษามือสากลให้กับสามีที่เป็นชาวต่างชาติอีก เป็นกระบวนการที่ Full option มากคดีนั้น
แต่รู้สึกประทับใจมากๆ เพราะว่าทนายเขาก็สามารถที่จะเอาเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดได้ เนื่องจากวันที่คนหูหนวกเขาไปไม่มีล่าม เขาโดนหลอกไปทำนิติกรรม ศาลก็เชื่อว่าโดนหลอกก็เลยเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด เขาก็เลยได้บ้านและที่ดินเขาคืน เขาก็ร้องไห้น้ำตาไหล ก็เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งที่เราได้ร่วมมือกันช่วยเขา (ยิ้ม)”
ยิ่งกว่าไม่รู้กฎหมาย คือเข้าไม่ถึงสิทธิ
สำหรับคดีความของคนหูหนวกที่เคยผ่านมือนักกฎหมายผู้นี้ มักจะเป็นคดีความทั่วไปไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ คนหูหนวกไม่ทราบถึงสิทธิพื้นฐานที่ตนเองได้รับ
“เหมือนคนทั่วไปเลยค่ะ เป็นคดีเบสิกพื้นฐาน คดีอาญา ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ของหาย พ่อแม่ตาย จัดการมรดก คนหูดีโดนฉ้อโกง แชร์ลูกโซ่อะไร คนหูหนวกก็โดนเหมือนกัน เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนเรา ปัญหาก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปเท่าไหร่ค่ะ
ส่วนใหญ่จะส่งมาต่อถึงขั้นรู้กฎหมาย ก็ต้องเป็นคนหูหนวกที่เข้าถึงด้วย ถ้าคนหูหนวกที่ไม่ได้เข้าถึง ก็ไม่ทราบว่ามีการบริการประเภทนี้เกิดขึ้น
อย่างรัฐจัดบริการทนายความ สามารถขอทนายความได้ฟรี สามารถขอคำปรึกษาได้ฟรี สมมติจะต้องมีการประกันตัว ก็ขอเงินประกันตัวได้ หรือถ้าพิจารณาแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเงินสู้คดี ก็มีค่าธรรมเนียมให้ เป็นสิทธิของคนพิการโดยเฉพาะ แต่คนพิการส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึง จะเข้าถึงเฉพาะกลุ่มคนพิการบางคนเท่านั้น
เราก็จะต้องพูดประโยคเดิมซ้ำๆ ว่าเป็นคนพิการ มีบัตรคนพิการไหม ถ้ามี เราร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้เลย เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จัดให้บริการสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ สิทธิบริการด้านกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องมีเงิน ขอให้รู้สิทธิตัวเองและเข้าให้ถูกช่อง มันก็จะสามารถไปต่อได้”
นอกจากนี้การทำหน้าที่เป็นล่ามภาษามือและทนายความแล้ว อีกบทบาทของเธอคนนี้ คือการเป็นวิทยากร ออกให้ความรู้ทางด้านกฎหมายให้กับชาวบ้านทั่วไปและคนหูหนวกอีกด้วย
“ด้วยความสภาทนายความราชบุรีที่บุ๋มอยู่ โปรเจกต์หนึ่งของเรา คือการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนด้านกฎหมาย เราเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องกฎหมายอยู่แล้ว แต่เราบรรยายให้เทศบาล ตำบล คนแก่ ชาวบ้าน เราก็ทำเรื่องนี้มาตลอด
คนหูหนวกความรู้กฎหมายเป็นศูนย์ ทำไมเราไม่ทำให้คนกลุ่มนี้บ้าง เราก็ต้องมานั่งคิดกับทีม บุ๋มก็จะมีทีมที่เป็นทีมสภาทนายความ เราจะบรรยายให้คนพิการ เดี๋ยวคิดโปรเจกต์กันขึ้นมา
เริ่มแรกเดิมทีเราทำให้กับชมรมคนหูหนวกจังหวัดราชบุรีก่อน เพราะอยู่ในพื้นที่เรา ตอนแรกก็ต้องมานั่งถกกับทีมก่อน เพราะเขาไม่เคยเรียนเรื่องวัฒนธรรมคนหูหนวก มีเรารู้คนเดียว ถ้าจะให้คนหูหนวกเข้าใจ จะบรรยายแบบคนหูดีไม่ได้ บรรยายแบบที่เราออกไปบรรยายตาม อบต. ไม่ได้นะ เราต้องปรับกันทั้งทีมว่าต้องเอาแบบนี้ๆ เพื่อการเรียนรู้ของเขา
แรกๆ ทีมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ พอเริ่มบรรยายครั้งแรกทีมก็เริ่มเก็ท เพราะไม่เคยเจอคนหูหนวกเหมือนกัน เขาก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจแล้วก็ปรับตัว พอจังหวัดนึงได้ จังหวัดอื่นๆ ก็เหมือนบอกต่อ ก็เลยเริ่มทำบรรยายมา
เขาก็พยายามจัดแล้วก็เชิญ บุ๋มก็พยายามเอาทีมลงไป ให้ทีมเราสามารถเรียนรู้การบรรยายให้กับคนหูหนวกด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าเราบรรยายเยอะมาก ไม่ได้ทุกจังหวัดแต่ก็ทุกภูมิภาคของประเทศ น่าจะเป็น 20 จังหวัดได้ (ยิ้ม)”
ในส่วนของเนื้อหาที่ใช้ในการบรรยาย คือเรื่องราวของกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อบรรยายให้กับคนหูหนวกแล้ว รูปแบบวิธีการจึงต้องเปลี่ยนไปตามผู้รับสาร
“เอาจริงๆ ชาวบ้านเราก็ไม่ได้ลึก เราเอากฎหมายทั่วไปชีวิตประจำวันของเขานี่แหละ กับคนหูหนวกก็เช่นกัน แต่รูปแบบวิธีการก็ต่างแค่นั้นเอง เรามายืนพูดๆ แล้วมีล่ามแปลอีกทีเขาก็ไม่สนุก ก็ไม่เข้าใจ ไม่มีตัวอย่าง ไม่เห็นภาพ
ฉะนั้นรูปแบบการบรรยายต้องให้คนหูหนวกเห็นภาพ มีตัวอย่างให้ชัดเจน ซึ่งมันก็จะใช้ระยะเวลามากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าที่ไหนไม่เคยจัด เราจะฟิกไว้เลยว่าคุณต้องรู้เรื่องทั่วไปกับเรื่องอาญาก่อน เราต้องปูพื้นฐานก่อนที่จะโยงไปเรื่องอื่นๆ
พอพื้นฐานเป็นศูนย์ เราไปพูดเรื่องกู้ยืมเงินเลย เขาก็กู้ยืมเพื่อนมาจ่ายแจ้งความอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ แต่มันก็เป็นวิธีคิดของเขา ทีนี้เราก็ต้องปูพื้นฐานก่อน เวลาลงลึกในเรื่องแพ่ง เรื่องอาญา หรือเรื่องเฉพาะเจาะจง เขาก็จะเข้าใจมากขึ้น แล้วก็เชื่อมโยงกับพื้นฐานที่เราปูไว้”
และสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งเมื่อพูดคุยกับคนหูหนวกคือ ไม่ควรเรียกเขาว่า “คนใบ้” เด็ดขาด
“เวลาไปพูดเวทีไหนจะบอกทุกคนเลยว่า ถ้าสมมติเราเจอคนที่พูดไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นใบ้ อย่าเรียกเขาว่าคนใบ้ สำหรับในวงการคนหูหนวกเขาถือว่าเป็นคำหยาบคาย เป็นคำดูถูก
ถ้าเราเจอเขาปกติก็เรียกคนหูหนวกเลยปกติ แบบไม่ต้องพยายามใช้คำอื่น เพราะเขายอมรับว่าเขาเป็นคนหูหนวก เขาใช้ภาษามือนะ เขาเป็นคนหูหนวก หรือบางคนเขาเป็นคนหูตึงก็พูดได้ เขาก็ยังพอสามารถสื่อสาร ก็เรียกเขาว่าเป็นคนหูตึง
แต่อย่าเรียกเขาว่าคนใบ้ เพราะเขาไม่ใช่คนบ้าใบ้ เขาเป็นคนที่มีภาษามีวัฒนธรรมของตัวเอง ฉะนั้นเขาไม่ใช่พวกบ้าใบ้ห้ามใช้เด็ดขาด ก็ขอไว้เลยตรงนี้”
คนจะไม่พิการ ถ้าสังคมไม่พิการ
จากการที่ตนเองได้คลุกคลีและทำงานในแวดวงคนหูหนวกมาอย่างยาวนาน บุ๋มบอกว่า มุมมองที่เคยมีต่อคนหูหนวกจากเดิมก็เปลี่ยนไป เพราะความจริงนั้น คนกลุ่มนี้มีศักยภาพไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย
“มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเดิมในสังคมไทย เรามองคนพิการเชิงสงเคราะห์ เชิงที่จะต้องช่วยเหลือ ต้องเข้าไปดูแลเขาแต่พอเราได้เข้ามาอยู่ในแวดวงของคนพิการ จริงๆ คนพิการมีความสามารถ
โดยเฉพาะคนหูหนวกบางคนมีความสามารถ มีความรู้กว่าเราก็มี บางคนจบด็อกเตอร์ บางคนจบ ป.โท หรือเรียนต่างประเทศมา บางคนเป็นครูบาอาจารย์เรา มันก็ทำให้มุมมองในเรื่องของการมองคนพิการเปลี่ยนไป
คนพิการก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในสังคม และมีความหลากหลาย เป็นคนเหมือนกับเราแค่ใช้คนละภาษา เหมือนเราไปอยู่เมืองนอกก็เป็นคนเหมือนกัน แค่ใช้คนละภาษาในการสื่อสาร
คนหูหนวกก็เหมือนกัน ก็เป็นคนทั่วไปเหมือนเรา ไม่ได้มองเขาเป็นคนพิการ มีหลากหลายกลุ่ม มีภาษาของเขา เราก็แค่เรียนรู้ภาษาของเขา พอเรียนรู้ภาษาเขาได้ สื่อสารกับเขาได้ จบเลย เขาก็คือคนคนนึงที่พูดคุยกับเรารู้เรื่องค่ะ”
แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า คนพิการในบ้านเรา รวมไปถึงคนชายขอบ ก็ยังไม่ทราบถึงสิทธิที่ตนเองต้องได้รับจำนวนไม่น้อย
“ถ้าเรื่องการเข้าถึง ด้วยความที่บุ๋มอยู่สภา มันไม่ใช่แค่คนหูหนวก แค่คนพิการ เอาจริงๆ คนทั่วๆ ไป ชาวบ้านที่เขาอยู่ในชนบทที่ไม่ได้เป็นสังคมเมือง ไม่ได้เหมารวมว่าทุกคน หมายถึงว่าในประเทศไทยเรายังมีกลุ่มที่เข้าถึง กับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง อันนี้เราต้องยอมรับ
พอเรายอมรับตรงนี้ได้ เราก็ต้องมาคิดต่อยอด เราจะไม่โทษใคร เราจะทำยังไงให้กลุ่มคนพวกนี้เข้าถึง มันก็เลยเป็นโครงการ ประสานความร่วมมือกันได้กับสภาทนายความ เรามีการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนรู้ด้านกฎหมาย เราก็ไปเผยแพร่ในสังคมชนบทนี่แหละ ปู่ย่าตายาย ชาวสวน ชาวไร่ ให้เขารู้สิทธิ
กลุ่มคนพิการเราก็ทำเหมือนกัน พยายามจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เขารู้สิทธิ เขาไม่ต้องรู้กฎหมายหรอก เขาแค่ต้องรู้สิทธิของเขา ถ้าเขามีปัญหาเขาจะต้องปรึกษาใคร อย่างนี้ มันก็จะทำให้ขับเคลื่อนต่อไปได้”
การได้มาเป็นทั้งทนายความและล่ามภาษามือ ที่ได้ช่วยเหลือทั้งคนหูหนวก ตลอดจนคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างทุกวันนี้ คือความฝันที่ถูกทำให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ด้วยน้ำพักน้ำแรงและความตั้งใจที่ไม่เคยถอยของตน
บุ๋มกล่าวว่า นี่คือความสำเร็จในชีวิต ที่ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้ว
“พอเราไม่ได้โฟกัสว่าเราจะหารายได้จากการทำงานให้คนหูหนวก เราก็ไม่ได้มองเรื่องการต่อยอดเลย เราก็มองเรามีโอกาสได้ช่วยเหลือเขา สำหรับเคสที่เป็นคนหูหนวกเราก็รับช่วยกันซะมากกว่า เราก็มีอาชีพหลักเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว เราไม่ได้เดือดร้อนว่าเราจะต้องหาเคสที่ต้องมีรายได้เยอะๆ ไม่ได้โฟกัสเรื่องตรงนั้นค่ะ
ถ้าเราอยากช่วยเหลือสังคมเราก็เข้ามาทำตรงนี้ ช่วยในกลุ่มของคนพิการให้ความรู้เขาให้เขารู้สิทธิ มันก็ไม่จำเป็นต้องก่อเกิดรายได้ทุกอย่าง เหมือนอยู่ของส่วนสภาทนายความ เราก็ต้องช่วยเหลือประชาชน คนยากไร้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนพิการก็เป็นกลุ่มนี้ เราก็ช่วยด้วย ทำงานด้วย
เรามี Passion ตั้งแต่แรก เรารู้สึกว่าวันนี้เราถึงจุดที่เราประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายทั้งชีวิตไว้แล้ว ว่าเราอยากเป็นล่าม ที่ใช้ภาษามือช่วยเหลือคนหูหนวก
ถึงแม้อาจจะไม่ได้ไปสู่จุดสูงสุดที่จะต้องไปสอบอัยการ ผู้พิพากษา อันนั้นก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่า ณ จุดนี้เราได้ใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย และประกอบอาชีพด้วย ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้วค่ะ”
สำหรับเป้าหมายที่วางในอนาคต ทนายคนเก่งต้องการที่จะพัฒนาช่องทางการให้คำปรึกษา ก็คือแฟนเพจด้านกฎหมายของเธอ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะรับรองการให้บริการได้ทั่วถึง
“ตอนนี้บุ๋มทำเพจไว้ ก็คือเพจที่ชื่อว่า “สำนักงานพิณประภัศร์ ทนายความ” ตอนแรกก็กะว่าเหมือนเราเป็นสำนักงานทนายความทำไว้เฉยๆ ให้ความรู้เรื่องกฎหมายทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เราก็โพสต์เป็น text อย่างนี้ค่ะ
พอเราออกบรรยายกฎหมายมากๆ ขึ้น เริ่มมีกลุ่มคนหูหนวกมาติดตามมากๆ ขึ้น การที่เราโพสต์ text หรืออะไรที่เขาเข้าถึงยาก มันก็ทำให้เขาอยากจะรู้อะไรที่มันมากกว่านั้น ก็มีข้อเรียกร้องมาว่า อยากจะให้เปิดคำปรึกษาเป็นภาษามือ text พวกนี้ขอแปลเป็นภาษามือได้ไหม ซึ่งพอมีเราคนเดียวมันทำไม่ไหว
ในอนาคตคิดว่าอยากจะทำตรงนี้ให้มันดี เพื่อที่จะให้มันเป็นช่องทางหนึ่งให้เขาได้มีข้อมูลมากขึ้น แม้ตัวเราไม่ได้ไป ก็มาดูในเพจได้ความรู้เพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้ยังทำไม่ได้ดีพอ ยังไม่ได้มากพอ เพราะด้วยตัวเราคนเดียวด้วย ก็วางเป้าหมายในอนาคตอยากจะทำตรงนี้ให้มันดี”
และเมื่อบทสนทนาเดินทางมาถึงตอนสุดท้าย ทนายความและล่ามภาษามือผู้นี้ ก็ขอฝากข้อฉุกคิดไปกับสังคมไทยตอนนี้ ว่าที่คนพิการยังถูกยอมรับเท่าที่ควร นั่นเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมพิการมากกว่าหรือไม่
“ฝากเรื่องของคนพิการดีกว่า อยากจะผลักดันในเรื่องของคนพิการ เอาจริงๆ คนพิการไม่ว่าจะประเภทไหนก็แล้วแต่ เขามีความรู้ความสามารถ ลองเข้าไปสัมผัสคลุกคลีแล้วจะรู้ว่าเขามีศักยภาพนะ
สำหรับมุมมองบุ๋ม เอาจริงๆ บุ๋มไม่มองว่าเขาเป็นคนพิการเลย เพราะว่าทุกวันนี้ สภาพแวดล้อมต่างหากที่ทำให้เขาพิการ ถ้าสภาพแวดล้อมเราไม่พิการ ไม่ว่าจะเรื่องคน สถานที่ อะไรก็แล้วแต่ มันก็จะไม่มีเรื่องของคนพิการเกิดขึ้น
สุดท้ายแล้ว ทุกวันนี้ที่คนพิการเขายังไม่ได้มาอยู่แถวแถวหน้าเท่ากับคนอื่นๆ มันอยู่ที่สังคมมากกว่า ว่ามองเขาแบบไหน มองเขาเท่ากับเรา หรือมองเขาด้อยกว่าเรา ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองเขาเท่ากับเราปุ๊บ เราเห็นศักยภาพของเขา และนำออกมาเท่าเทียมกันทุกคน บุ๋มว่าสังคมไทยเราก็จะน่าอยู่กว่านี้ค่ะ”
วิกฤต “ล่ามภาษามือ” ขาดแคลน “ในยุคเริ่มแรก ก็มีการเปิดรับจดแจ้งจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตอนนั้นก็แค่มีคนหูหนวกรับรองในการจะได้ใบประกอบวิชาชีพล่าม ก็จะมีครูที่อยู่ตามโรงเรียนโสต มีคนที่ใช้ภาษามือได้มาขึ้นทะเบียนกัน 600 กว่าคน พออยู่มาสักระยะนึง มีเรื่องระเบียบล่ามภาษามือเกิดขึ้น คนหูหนวกเขาไม่ได้อยากมองแค่จำนวน แต่เขาอยากได้คุณภาพด้วย มันก็เลยเกิดการประเมินล่ามเกิดขึ้น มันก็เหมือนการคัดกรอง ล่ามที่ผ่านคุณก็ได้ไปต่อ ล่ามที่ไม่ผ่านก็ต้องไปฝึกฝน ให้สามารถที่จะมีมาตรฐานในการให้บริการ จาก 600 กว่าคน ตอนนี้ก็น่าจะเหลือสักประมาณ 200 ทั่วประเทศ มันก็ถือว่าเป็นวิกฤตอย่างหนึ่งเลยนะคะ แต่มันก็คือจุดเริ่มต้นจาก 600 ที่ไม่มีคุณภาพก็ได้ 200 ที่มีคุณภาพ สามารถให้บริการได้จริงๆ เพราะว่าเวลาแปลอะไรที่มันไม่ได้คุณภาพไป มันก็เกิดความเสียหายกับคนหูหนวกคนนั้นด้วย ทางนายกสมาคมคนหูหนวกเขาไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เขาก็เลยมีการผลักดันให้เกิดการประเมินล่ามขึ้นมา ไม่ใช่ว่าประเมินอย่างเดียว คนไหนที่ประเมินผ่าน เขาก็จะมีการคัดว่าโอเค กลุ่มนี้มีพื้นฐานมาแล้ว มีการอบรมพัฒนาล่ามกันไป ถามว่าเป็นวิกฤตที่ขาดแคลนไหม ก็มากๆ ตอนนี้มีไม่เพียงพอมากๆ บางคนเขาก็มาเรียนเพราะมาเรียนปุ๊บ มันไม่สามารถเป็นล่ามได้เร็วอย่างที่ใจเขาต้องการ มันก็จะมีความล้มหายตายจากไป ก็ยิ่งทำให้จำนวนน้อย ถ้าเป็นหลักสูตรปริญญาตรี ยังเป็นของมหิดลอยู่ แต่มันก็จะมีของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรล่าม จะเป็นเรื่องของการอบรมการเป็นล่ามภาษามือ ก็อยากจะให้กำลังใจสำหรับใครที่สนใจจะมาเรียนเรื่องล่าม ถ้าสนใจจริงๆ อยากติดต่อมาปรึกษาจะทำยังไงส่วนตัวก็ยินดีนะคะ เพื่อให้จำนวนล่ามมีมากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของคนหูหนวกค่ะ” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : ช่อง 7HD, เฟซบุ๊ก “Sujitra Phinprapas” และ “สำนักงานพิณประภัศร์ ทนายความ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **