xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่า “ปังชา” คนเดียว!! กูรูกฎหมายคอนเฟิร์ม “เมนูน้ำแข็งไสชาไทย” ไร้คนครอบครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดรามา “ปังชา”จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วสงวนสิทธิ์คำนี้ “ห้ามใช้” ถ้าไม่อยาก “การละเมิดเครื่องหมายทางการค้า”? กูรูกฎหมายชี้คำคำนี้ ไม่มีสิทธิ์สงวน และไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องร้านแนวเดียวกันร้านไหน เพียงเพราะเมนูคล้ายกัน

“ปังชา” จดสิทธิบัตรแล้วร้านไหนก็ห้ามใช้?

กลายเป็นเรื่องร้อน เมื่อ “ร้านอาหารลูกไก่ทอง”ได้โพสต์ประกาศผ่าน เฟซบุ๊ก “Lukkaithong -ลูกไก่ทองThai Royal Restaurant” ว่าแบรนด์ “ปังชา” บิงซูชาไทยได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

และขอ “สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ”ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขและ “สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชาPang Chaทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ”ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย

 
ทำให้มีกระแสวิจารณ์ว่า นอกจากเครื่องหมายทางการค้า(โลโก้) นี้เป็นการจดสิทธิบัตรเมนู ที่เป็นน้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง โรยด้วยนมข้นหวาน ด้วยหรือเปล่า?

เพราะถ้าเป็นอย่าง ร้านอื่นๆ ที่ทำเมนูคล้ายกัน อาจกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ต่อมา “ร้านลูกไก่ทอง” และร้านปังชา ได้โพสต์ชี้แจ้งและขอโทษว่า

"ร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชา ขอประกาศขอชี้แจงถึงกรณีข้อความในโพสต์ที่ได้มีการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”



แต่เรื่องที่เป็นประเด็นจริงๆ ก็คือ มีร้านขนมปังปิ้งเจ้าหนึ่งที่เชียงรายชื่อว่า ”ปังชา เชียงราย”ซึ่งร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 64แต่กลับถูกทนายของ “ร้านอาหารลูกไก่ทอง” ที่เพิ่งจดทะเบียนสิทธิบัตร ฟ้องเพราะใช้คำว่า “ปังชา”

ยื่นหนังสือทวงถาม เรียกค่าเสียหาย “102 ล้านบาท” โดยบอกว่านี้เป็น “การละเมิดเครื่องหมายทางการค้า”และขอให้เลิกใช้คำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha”โดยทันที



เกี่ยวกับเรื่องนี้ “พีท”ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ช่วยไขข้อสงสัยที่หลายคนข้องใจว่าเมื่อจดสิทธิ์บัตรแล้ว แม้แต่คำว่า “ปังชา” ก็ห้ามใช้จริงหรือ?

“คือต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่เขาจดนะครับ มันมีสองอย่าง คือเรื่องของเครื่องหมายการค้า กับตัวของสิทธิบัตร และจริงๆ อันหนึ่งก็คือเรื่องของการ จดแจ้งลิขสิทธิ์ นะครับ”

 
สิ่งที่จดคือ ‘สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์’ พวกการออกแบบถ้วยไอศกรีม แต่ไม่ได้จดตัวสูตรอาหาร เพราะฉะนั้น เขาฟ้องคนที่มาทำบิงซูน้ำแข็งไสไม่ได้อยู่แล้วนะครับ”

                                                                {ดร. พีรภัทร ฝอยทอง}

ไม่มีสิทธิใช้คำว่า “ปังชา” คนเดียว

“สอง เขาจดคำว่า ปังชา เป็นเครื่องหมายการค้า แต่เขาไม่ได้จดคำว่า ปังชา อย่างเดียว เพราะว่าถ้าจดคำว่า ปังชา อย่างเดียวเนี่ย ผมเชื่อว่าทางกรมฯ เขาไม่รับจด เพราะว่ามันขัดกับกฎหมาย”

นักกฎหมายรายเดิมช่วยอธิบายให้เข้าใจว่า “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการ ไม่สามารภเอามาจดได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า”

 
“ทีนี้ ร้านเขาก็แก้เกม ด้วยการที่ว่า โอเคเขาวาดเป็นรูป ก็มีอยู่ 3 รูปเนอะ รูปแรกเป็นผู้หญิงใส่ชุดไทย มีชาเย็นอยู่ข้างล่าง ก็เขียนว่าPang Cha World Thai Tea อะไรแบบนี้ นะครับ”

แต่ถ้าอ่านดีในใบของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการเขียนว่า “ไม่ขอถือสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในคำว่า ปังชา” หมายความว่า ถึงแม้จะจดเครื่องหมายการค้ารูปนี้ แต่คำว่า “ปังชา” ไม่ได้ห้ามคนอื่นใช้



“คือจะบอกอย่างนี้ สิ่งที่เขาจดคือจดตามรูปนะครับ คือคำว่าPang Chaเราต้องมองกันเป็นรูปเนอะ จริงคำนั้นมันเป็นรูป มันไม่ได้เป็นคำ แต่เขาจดในรูปทั้งหมด พอสละสิทธิ์ก็สละสิทธิ์คำว่า ปังชา สรุปง่ายๆ คือเขาไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่า ปังชา คนเดียว”

สรุปคือเครื่องหมายทางการหมายถึงรูป “โลโก้ของแบรนด์”ไม่ใช่คำว่า“ปังชา” และที่จริงแล้วก็ไม่สามารถสงวนคำคำนี้ในการจดทะเบียนได้ ดังนั้นการฟ้องอาจเกิดจากความเข้าใจผิดของทางร้าน หรือทีมทนายความเอง

“จริงมันไม่ควรออกโนติส (หนังสือทวงถาม) อยู่แล้ว เพราะถ้าคุณอ่าน ในตัวคำสงวนสิทธิ์หรืออะไรก็ตาม มันเห็นชัดอยู่แล้วว่า เขาไม่มีสิทธิ์ในคำว่า ปังชา คนเดียว”



ย้อนอดีต เคสนี้ไม่ใช้เคสแรก

ถ้าย้อนดูเคยมีการฟ้องร้องเรื่อง อาหารหรือสูตรอาหารบ้างหรือเปล่า “พีท” ได้อธิบายประเด็นของ“สูตรอาหาร” ก่อนว่าจริงๆ มันไม่สามารถจดทะเบียนได้ทุกกรณี

“พวกสูตรก๋วยเตี๋ยว อะไรพวกนี้จดไม่ได้เลย แต่เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เขาจะเรียกว่า ความลับทางการค้า เช่น น้ำอัดลม ไก่ทอดเจ้าดัง พวกนี้มันเป็นความลับทางการค้า คือเขาไม่ต้องจด แต่เขาต้องป้องกันกันเอง”

ถ้าย้อนกลับไปก็มีคดีที่คล้ายกันคือ “สตาร์บัง” กับ“สตาร์บัค” กรณีนี้มีการยื่นโนติสขอให้เปลี่ยนโลโก้ และมีการเตรียมทนายยื่นฟ้องกันจริงๆ กระทั่งจบที่ฝั่งร้านรถเข็นยอมเปลี่ยนโลโก้

 
“สตาร์บังกับสตาร์บัค ถ้าพอจะจำได้สตาร์บัคคือ ร้านขายกาแฟ แต่ปรากฏว่ามี อาบังมาทำรูปโลโก้คล้ายกัน แล้วเขียนว่า สตาร์บัง ก็เหมือนเป็นการทำล้อเลียนสนุกๆ ตลกๆ”

ถึงจะเป็นเรื่องตลก “แต่การทำเครื่องหมายการค้า เหมือนหรือคล้ายกันกับของคนอื่น” และยิ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันด้วย ก็อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้

“คือร้านอาบังแกก็ขายกาแฟเหมือนกัน มันก็ไปคล้ายกับสตาร์บัคอะไรแบบนี้ แต่เข้าใจว่าจบก็ไปศาลนะ สตาร์บัคก็ยอมความ อาบังแกก็ยอมเปลี่ยน”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “หมายจับกับบรรจง”, “Pang Cha -ปังชาWorld Class Thai Tea”, “Dr. Pete Peerapat”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น