xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กไทยมุ่งมั่น-เป้าหมายชัด” เจาะเหตุผล “นายกเทศมนตรีญี่ปุ่น” เลือกส่งเด็กมาแลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถามว่ามั่นใจในผลผลิตของระบบการศึกษาบ้านเราขนาดไหน การันตีด้วย “ปีที่ 9” ของโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น (สาธิตจุฬาฯ-เมืองโคเงะ) และจำนวนนักเรียนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ พร้อมคำคอนเฟิร์มจากปากนายกเทศมนตรีญี่ปุ่นว่า นี่คือ “การแลกเปลี่ยนที่หลายโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นใฝ่ฝัน”



คัดแล้วคัดอีก การแลกเปลี่ยนที่ “เด็กญี่ปุ่น” ใฝ่ฝัน


“โดยปกติแล้ว เราจะมีการแลกเปลี่ยนกันทุกปี มีทั้งฝั่งสาธิตจุฬาฯ ไปที่ญี่ปุ่น และทางเมืองโคเงะของเรามาที่ไทย แต่พอมีโควิด ทำให้เราไม่ได้แลกเปลี่ยนแบบเจอตัวตลอดช่วงเวลานั้น

และการได้กลับมาในรอบ 4 ปี พร้อมทั้งมีงานเลี้ยงต้อนรับที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ก็ทำให้รู้สึกประทับใจและดีใจมากๆ ครับ”

[พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ ชูสุเกะ สึโบเนะ นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ (Koge)]
ชูสุเกะ สึโบเนะ (Shusuke Tsubone) นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ (Koge) จ.ฟุกุโอกะ (Fukuoka) ประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างนั้น หลังร่วมโครงการ “โรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools)” โครงการความร่วมมือระหว่าง “สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม” กับ “เมืองโคเงะ (Koge Town)” ที่ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 6 (ระยะที่ 2) แล้ว

โดยครั้งนี้ นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม รับบทบาทเป็น “เจ้าบ้าน” ต้อนรับพี่น้องนักเรียนจากเมืองโคเงะ ใช้เวลาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตั้งแต่พักในโฮมสเตย์ร่วมกัน มาจนถึงร่วมสนุกผ่านชีวิตทั้งในรั้วโรงเรียน และนอกรั้วเพื่อทัศนศึกษา ตั้งแต่วันที่ 19-22 ส.ค.ที่ผ่านมา

จุดที่น่าสนใจคือ ปีนี้เป็นปีที่มีนักเรียนจากประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาแลกเปลี่ยนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 44 คน เพราะรวมเอาเหล่านักเรียนรุ่นที่ต้องอดเดินทางมาเยือนเมืองไทย ในปีที่มีปัญหาโควิด-19 ระบาดรุนแรงด้วย


“ระหว่างสถานการณ์โควิดครั้งนั้น ทำให้มีเด็กที่ตกค้าง ไม่สามารถมาแลกเปลี่ยนได้ เช่น เด็กๆ ที่ ณ เวลานั้นอยู่ชั้น ป.6 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะสมัครเข้าโครงการ แต่พอมีโควิดเข้ามา เขามาไม่ได้

และตอนนี้เขาขึ้น ม.3 ม.2 และ ม.1 กันแล้ว ทางเราก็เลยจัดเป็นมาตรการช่วยเหลือครับ คือให้เด็กทั้งชั้น ม.1- ม.3 มาเข้าร่วมด้วย ปีนี้เป็นพิเศษเลย ก็เลยกลายเป็นว่ามีนักเรียนได้มาแลกเปลี่ยนเยอะหน่อยครับ”


“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ด้วย ก็เลยได้รับความร่วมมือจากทาง ผอ.พรพรหม (ชัยฉัตรพรสุข) ก็รู้สึกขอบคุณมากๆ ครับ ต้องบอกว่าการแลกเปลี่ยนของเด็กมัธยมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์

ทางนักเรียนโคเงะของเรามาทั้งหมด 44 คน ซึ่งจริงๆ พามาได้มากกว่านี้นะครับ แต่เงื่อนไขการจะผ่านเกณฑ์ได้ก็เข้มข้นมากเหมือนกัน เพราะจะต้องผ่านการเข้าแคมป์ 5 ครั้ง ซึ่งถ้าใครขาดไปแม้แต่ครั้งเดียว จะถูกตัดสิทธิ์การสมัคร”


“รวมถึงเมื่อโครงการจบลง ก็ต้องมีการทำรายงานผลออกมาแลกเปลี่ยนด้วยครับ ดังนั้น ตลอดโครงการกินเวลานานมาก เกือบครึ่งปี ถ้าเด็กๆ โคเงะยอมรับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติไปครับ

การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จึงเป็นที่จับตามอง และเป็นการแลกเปลี่ยนที่หลายโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นใฝ่ฝัน ดังนั้น นอกจากการแลกเปลี่ยนระหว่างเด็กแล้ว ผมเองก็ตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยน และมีมิตรสัมพันธ์อันดีกับผู้ใหญ่ทุกท่าน ไม่แพ้เด็กๆ ให้เหมือนเป็นสมาชิกครอบครัว ให้มิตรภาพคงอยู่ตราบนานเท่านาน”




ซึมซับมุมดี “เด็กไทยมุ่งมั่น-เด็กญี่ปุ่นนอบน้อม”


ส่วนเหตุผลที่เลือกโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นสถานศึกษาแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นายกเทศมนตรีแดนอาทิตย์อุทัยบอกชัดว่า เพราะชื่นชมระบบการศึกษาของที่นี่ และลักษณะนิสัยของ “เด็กไทย” ที่อยากให้เด็กญี่ปุ่นได้ซึมซับ จนอยากให้เป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับเมืองโคเงะในอนาคต

“ผมมองว่าสิ่งที่ค่อนข้างเป็นจุดแข็งของเด็กไทย เท่าที่ผมเห็นผ่านเด็กสาธิตจุฬาฯ ก็คือ เด็กไทยค่อนข้างมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ในวัยเรียนชั้นประถมว่า อยากทำอะไรให้สำเร็จบ้าง อยากจะเป็นคนแบบไหน รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษด้วย

สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เพราะเด็กๆ มุ่งมั่นด้วยตัวเอง แต่เป็นเพราะระบบการศึกษา อย่างที่สถาบันจุฬาฯ จะเห็นว่าทุกระบบชั้น connect กันหมด ตั้งแต่อนุบาล, ประถม, มัธยม, ไปจนถึงมหาวิทยาลัย


“ทำให้แนวโน้มที่เด็กจะเติบโตมา เป็นไปในเป้าหมายเดียวกันในระยะยาว ซึ่งมันไม่ใช่การให้การศึกษาแค่กับเด็กเท่านั้น แต่รวมไปถึงตัวครูที่เป็นผู้สั่งสอน และครอบครัวที่ปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะแบบนี้ในขณะที่เด็กญี่ปุ่นจะค่อนข้างสะเปะสะปะกว่า

และในฐานะที่เป็นนายกเทศมนตรี ผมก็อยากปลูกฝังและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กับเด็ก แต่รวมไปถึงบุคลากรในโรงเรียน รวมไปถึงสถาบันครอบครัวด้วยครับ”


ย้อนมองความเป็น “เด็กญี่ปุ่น” ที่อยากให้เด็กไทยได้ซึมซับและเก็บกลับมาพัฒนาตัวเอง ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ผ่านสายตา ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดี มั่นใจว่าทั้งสองฝั่งได้แลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ ให้กันอย่างแน่นอน

[ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม มอบพวงมาลัยต้อนรับให้ นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ ]
“ส่วนตัวแล้วคาดหวังว่า ทั้งเด็กสาธิตจุฬาฯ และเด็กๆ เมืองโคเงะ จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่กับทั้งเพื่อนคนไทย เพื่อนนักเรียนไทย อยู่อย่างกินอิ่ม หลับสบาย

รวมถึงกลับไปแล้วเกิดความประทับใจในการไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้องในเมืองโคเงะ ให้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น


“และจากการที่เขาได้มาอยู่ที่นี่ เขาก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย ซึ่งเราได้จัดกิจกรรมหลายๆ อย่าง อย่างในวันนี้จะเป็นกิจกรรมร้อยพวงมาลัย เราก็พยายามเลือกกิจกรรมที่เขาสามารถที่จะทำได้ และอะไรที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย

นอกจากนี้ก็จะมีการพาไปยังสถานที่ที่แสดงถึงวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว หรือสวนสามพราน พาไปทัศนศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทย โดยการจำลองในแต่ละฐาน ทำให้เด็กๆ เมืองโคเงะได้เข้าไปร่วมทำกิจกรรม แบบที่ไม่ใช่แค่เดินผ่าน”






“คิดว่ากิจกรรมที่เรานำมา และมอบให้กับนักเรียนเมืองโคเงะ เด็กๆ น่าจะได้รับอะไรๆ กลับไปค่ะ รวมถึงการได้สานสัมพันธ์ผ่านการอยู่ร่วมโฮมสเตย์เดียวกันด้วยค่ะ

อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะได้ซึมซับผ่านโครงการนี้ก็คือ การได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องอุปนิสัย เด็กไทยเราน่าจะได้ซึมซับความสุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติอีกฝ่ายค่อนข้างมากจากเด็กญี่ปุ่นค่ะ เพื่อเรียนรู้เรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกันมากขึ้น”




ฟันฝ่าร่วมกัน มิตรภาพตลอด 9 ปี


เป็นปีที่ 9 แล้วที่ความเป็น “โรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools)” ระหว่าง “สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม” กับ “เมืองโคเงะ” ยังคงแน่นแฟ้น แม้ต้องเผชิญมรสุมโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมาแลกเปลี่ยนแบบเจอกันตัวเป็นๆ ได้

แต่ด้วยความร่วมมือจากทั้งสองฝั่ง จึงผลักให้เกิดการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ให้พื้นที่เด็กๆ ที่ต้องแลกเปลี่ยนผ่านโลกออนไลน์ ได้มาเจอตัวกันจริงๆ ในปีนี้

และนี่คือมุมมองจาก พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “อดีตเด็กประถม” ได้มาแลกเปลี่ยนในฐานะ “เด็กมัธยม” ได้สำเร็จ

[พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผอ.รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม]
“ก็ยินดีที่เด็กระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเขาอาจจะเคยได้แลกเปลี่ยนกันเมื่อตอนเด็กๆ ซึ่งโควิดอาจจะทำให้การแลกเปลี่ยนนั้นต้องหยุดลงไป ครั้งนี้พอเขามาเป็นนักเรียนมัธยม ทางฝั่งมัธยมของเราก็ยินดีต้อนรับ และช่วยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยินดีอย่างยิ่งค่ะ

หลังจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ก็คาดหวังค่ะว่าโครงการนี้จะมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในอนาคต และคิดว่าโรงเรียนที่เมืองโคเงะก็น่าจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น หมายถึงมีจำนวนโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยียนสาธิตจุฬาฯ ของเรามากขึ้นนะคะ

ในส่วนของการเตรียมการ ทางฝั่งสาธิตจุฬาฯ มัธยม ก็ได้มีการประสานแก่ทางฝ่ายประถม และเราก็ทำงานคู่ขนานกันตลอดเวลา ในการดูแลเรื่องของกำหนดการ นำนักเรียนไปเข้าคลาสต่างๆ








“รวมถึงในส่วนที่มีครอบครัวของทางสาธิตจุฬาฯ เป็นโฮสต์ อันนี้เราก็ทำงานร่วมกัน คิดว่าไม่ได้มีความยาก แต่เมื่อจำนวนนักเรียนจาก 2 กลุ่มเยอะ เราก็อาจจะต้องเตรียมการมากขึ้น และต้องดูแลรายละเอียดเรื่องความปลอดภัย ความเป็นอยู่ เป็นเรื่องที่เราตระหนักมากเป็นพิเศษค่ะ เมื่อเด็กญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทย และอยู่กับเด็กสาธิตจุฬาฯ

สำหรับเด็กไทยในภาพรวมที่น่าจะให้เด็กญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยน คงจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยค่ะ คืออย่างแรกๆ เด็กเราจะยิ้มแย้มแจ่มใส มีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกันเอง ยิ่งเป็นเด็กสาธิตจุฬาฯ ทั้งประถมและมัธยม เขาจะยิ่งเป็นคนช่างพูดช่างคุย ช่างซักถามค่ะ”








ส่วนเด็กญี่ปุ่น อุปนิสัยสำคัญที่เราเห็นเลยคือความมีวินัยของเขาค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้ว และน่าจะเป็นมุมมองที่เด็กสาธิตจุฬาฯ น่าจะได้สะท้อน ได้เห็น เป็นอัตลักษณ์ดีๆ ที่เด็กไทยได้มีโอกาสซึมซับ”

ไม่ต่างจากความปลื้มปิติที่ทางนายกเทศมนตรีเมืองโคเงะมี จนถึงกับต้องใช้คำว่า “หัวใจพองโตกว่าทุกครั้ง” เมื่อทั้งสองประเทศยังรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นไว้ได้ แม้ต้องร่วมกันฝ่าวิกฤตโรคร้ายครั้งที่ผ่านมา




“หากมองย้อนกลับไปในเส้นทางการแลกเปลี่ยนตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเกิดบททดสอบขึ้นหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด เป็นบททดสอบที่ไม่มีใครพานพบมาก่อน เหมือนเป็นศัตรูที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา

แต่ท่ามกลางการต่อสู้อันยากลําบากนั้น กําลังใจตลอดจนสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างเรา ยังคงดําเนินอย่างต่อเนื่องไม่มีขาดสาย คงเป็นเพราะด้วยสายใยมิตรภาพจากทุกคน ผมรู้สึกปลื้มใจมากครับ ที่เราทั้งสองฝ่ายร่วมกันเอาชนะบททดสอบ และได้กลับมาพบปะแลกเปลี่ยนโดยพร้อมหน้ากันได้อีกครั้ง

โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ผลผลิตจากโครงการ ซึ่งก็คือ นักเรียนรุ่นที่ 1 ของพวกเรา เติบโตและกําลังเข้าเรียนในระดับชั้นอุดมศึกษา ผมก็อยากจะเฝ้ามองดูว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเขาจะเติบโตเป็นสมาชิกที่สง่างามของสังคมได้มากขนาดไหน





[พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผอ.รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม  | ชูสุเกะ สึโบเนะ นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ | ศรียา เนตรน้อย ผอ.รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม]



[ของที่ระลึก ที่ทั้งสองฝั่งแลกเปลี่ยนกัน]
** อ่านสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง **
>>> 9 ปีแห่งมิตรภาพน้องพี่ “ไทย-ญี่ปุ่น” การมาเยือนครั้งใหญ่ที่สุดหลังโควิด “สาธิตจุฬาฯ-เมืองโคเงะ”

สกู๊ป :ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและภาพ : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น