คนแก่ไทยไร้ “เงินออม”!! งานวิจัยชี้ 47% ออมเงินไว้ไม่เพียงพอ!! แล้วต้องมีตังค์เท่าไหร่ ถึงจะสบายตอนแก่? นักวิชาการบอก “ยาก” ถึงทำได้ก็ไม่ใช่ “คนส่วนใหญ่”
น่าหนักใจ คนแก่ไทย ไม่มีเงินเก็บ
ณ ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู้ “สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์” ตั้งแต่ปี 2565 ด้วยจำนวน ผู้สูงอายุทั้งหมด 12,698,362 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)
แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ ข้อมูลผลสำรวจประชากรคนแก่ในไทย เมื่อปี 57 พบว่า1 ใน 3 ของคนแก่เป็น “ผู้มีรายได้น้อย” หรือ “คนจน” นั้นเอง และมากกว่า 40%มีเงินเก็บน้อยกว่า 50,000 บาท
จากงานวิจัย “การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย” พบว่า คนแก่ที่มีการออมที่ไม่เพียงพอ มีถึง 47%และ มากกว่า 40% มีรายได้หรือทรัพย์สิน“ไม่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณ”
และมากกว่าครึ่ง “ยังมีรายจ่ายเพื่อดูแลลูกหลานหรือญาติ" ขณะเดียวกันผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 52.88 "ยังคงมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่าย”
เมื่อให้ “จั๊ก” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ช่วยวิเคราะห์ในสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ทำไมหลายคนถึง “ไม่มีเงินพอในวัยเกษียณ” จึงได้คำตอบดังนี้
“ด้านแรกนะครับ คือจริงๆ แล้วมันก็มีการพิสูจน์แล้วในหลายประเทศนะครับว่า ไอ้ระบบการผลักให้ปัจเจกชนออมเพื่อการเกษียณเนี่ย เป็นระบบที่ล้มเหลว”
การเกษียณคือ การใช้ชีวิตไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า ในวันที่เราไม่มีรายได้ แล้วมันก็มีปัจจัยมากมาย “ที่ไม่สามารถควบคุมได้”ทำให้การออมไม่สามารถควบคุมได้ 100%
{จั๊ก-รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี }
“สิ่งที่มันจำเป็นคือ ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ควบคู่กับรายได้ที่มันเพียงพอในระว่างการทำงาน ที่อย่างน้อยทำให้เวลาเขาเกษียณแล้ว ไม่เป็นหนี้ อันผมคิดว่าต้องมีการปรับ”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อธิบายต่อว่า ค่าใช่จ่ายส่วนใหญ่ของคนไทยหมดไปกับ ค่าเรียนลูก ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ถ้าหากมีการแบ่งเบาจากรัฐได้ส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้เรามีเงินเก็บ
และจากงานวิจัยของ “ดร.จั๊ก”เรื่อง “แรงงานสร้างสรรค์วัยเกษียณ”พบสิ่งที่น่าสนใจว่า เรามักเข้าใจว่าคนที่มีรายได้สูง จะต้องเป็นคนที่มีการศึกษา มีคอนเนกชัน ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
“แต่ปรากฏว่า กลับกลายเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และมีปัญหาด้านสุขภาพที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะสุขภาพทางด้านจิตใจนะครับ คือด้านซึมเศร้า ความเครียด ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน นี่คือคน 40 ปลายๆ ถึงก่อน 60 นะครับ”
ต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะสบายตอนแก่?
จากประเด็นดรามาเรื่อง “เบี้ยคนชราถ้วนหน้า” ก็มีหลายคนออกมาบอกว่า เราไม่มีเงินพอที่จะดูแลคนแก่ได้ทั้งหมดเพราะฉะนั้น “เราต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะสบายตอนแก่แบบไม่ต้องพึ่งใคร”
ดร.เศรษฐศาสตร์ แจ้งว่า ตัวเลขจริงๆ มันไม่แน่นอน เพราะมีหลายปัจจัย แต่ถ้าให้คำนวณตามมาตรฐานคุณภาพชีวิตพื้นฐาน ที่เรายิ่งแก่ตัวค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้นตาม
“อย่างน้อยปีหนึ่ง คุณต้องมี 2 แสนบาทนะครับ ดังนั้น ถ้าตัวเลขแบบค่าครองชีพปัจจุบัน และชีวิตไม่เกิด accidentไม่เกิดอุบัติเหตุอะไรเลย ซึ่งมันควบคุมไม่ได้ 2แสนx20 ก็ 4 ล้านบาท ขั้นต่ำ”
และมองว่าตอนนี้ คนที่จะเกษียณตัวเองโดยมีเงินเก็บ 4 ล้านบาท “เป็นเรื่องที่ยากมาก”และคงไม่ใช้สำหรับคนส่วนใหญ่แน่นอน
และจากบทความของkrungthai.com เรื่อง “อายุ 30,40,และ 50 ปี ควรมีเงินเก็บเท่าไรถึงจะเพียงพอต่อการเกษียณ”ที่ เขียนถึงว่า ช่วงอายุของเราในปัจจุบันนั้นควรเก็บเงินเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอต่อยามเกษียณ
สิ่งที่ต้องคำนวณคือ ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้ให้ลูกหลาน หากเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 30,000 กำหนดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1% ต่อปีในช่วงละ 5 ปี
อายุ 30 ปี จะต้องเตรียมเงิน 10,472,566.80 บาท เพื่อเกษียณในอีก 30 ปี เท่ากับว่าจะเก็บเงินตั้งแต่เข้าทำงานเดือนละ 18,000 กว่าๆ ซึ่งเป็นไปได้ยาก อาจจะต้องเป็นพนักงานประจำที่มีเงินเดือน 40,000 - 50,000 บาทขึ้นไปตั้งแต่เรียนจบตอนอายุ 22 ปี
ทั้งหมดนี้ จั๊กมองว่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนแก่จำนวนมากอาจจะต้องทำงานไปตลอดชีวิต “ทำงานจนตาย ซึ่งเราคงไม่อยากให้เป็น” และอธิบายภาพที่จะเกิดกับ “หนุ่มสาว” ที่อนาคตยังไงก็ต้องแก่ตัวใน 20-30 ปีข้างหน้าว่า
“เราไม่พูดถึงพ่อแม่ แต่พูดถึงตัวเราเอง เราคงไม่อยากอยู่ในสถานะแบบนั้น มันคงเหมือนตกนรก ถ้าคุณต้องทำงานที่คุณไม่ชอบ หลังอายุ 60 ไปจนกระทั่งคุณตาย”
จั๊กให้มุมมองต่อเรื่องการเก็บเงินเพื่อใช้หลังเกษียณว่า มันควรเป็นเงินเก็บเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช้เพื่อรักษาชีวิต มันควรเป็นเงินที่ทำให้เราใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้
แต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้การเก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่ คืออย่างไรก็ตามเราก็ต้องพึ่งพารัฐบาลในการช่วยดูแลเรื่อง คุณภาพชีวิตพื้นฐาน อย่าง ปัจจัย 4 ในตอนที่เราแก่ตัว “เราเป็นสังคมมนุษย์ เราทำอะไรคนเดียวไม่ได้ทั้งหมดหรอก”
“การรักษาชีวิตของเราในยามแก่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องโอบอุ้มดูแลกัน เหมือนกับทุกวัยที่ควรได้สิ่งเหล่านี้”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **