รู้จักเธอให้มากขึ้น “ไอค่อนแพรี่” สาวหมอลำ LGBTQ+ วัย20 ปี คณะหมอลำคณะแรกและน่าจะเป็นคณะเดียวในตอนนี้ ที่รวบรวมนักร้อง-นักแสดงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ โดยไม่สนเรื่องข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ที่นอกจากจะสร้างเป็นอาชีพแล้ว ยังตั้งใจขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านเวทีหมอลำ โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียม
เรียกร้องความเท่าเทียม ผ่านเวทีหมอลำ
“เราก็คิดว่าเรียกร้องยังไงไม่ให้คนเครียด เราก็เลยใช้เสียงเพลงมาด้วย เพื่อให้ทุกคนคลายเครียด ดูแล้วมีรอยยิ้ม ดูแล้วมีความรู้สึกสนุก ดูแล้วมีความรู้กลับไปด้วย”
“ไอค่อนแพรี่” หรือ “ธันยบูรณ์ ทิพย์รักษ์” หัวหน้าคณะหมอลำ “เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์” จากจังหวัดร้อยเอ็ด วัย20 ปี ที่เป็นคณะหมอลำคณะแรกและน่าจะเป็นคณะเดียวในตอนนี้ ที่รวบรวมนักร้อง-นักแสดงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ ที่ใครถนัดหน้าที่ไหนก็ทำอันนั้น โดยไม่คำนึงถึงรูปร่างหน้าตาตาม Beauty Standard
และที่สำคัญ นอกจากจะสร้างเป็นอาชีพแล้ว เธอยังตั้งใจใช้ความบันเทิงในการขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านเวทีหมอลำโดยเฉพาะความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแท้ง, พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม, Sex Worker เพราะเธอบอกว่า เธอโตมากับความเจ็บปวดที่ต้องบูลลี่ โดนล้อเรื่องเพศมาตลอด
นอกจากนี้ เธอยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือ “สตรีมเมอร์” ผ่านช่องยูทูบ “Icon_channel” อีกด้วย และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เธอเป็นเพียงเด็กวัย 20 ปี ที่มีความฝันอย่างเช่นคนอื่นๆ ที่ใช้ทั้งสองอาชีพ ดูแลครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เธอมีความน่าสนใจยังไงบ้าง เราจะพาไปรู้จักเธอให้มากขึ้นกัน รวมถึงจุดเริ่มต้นในการตั้งคณะหมอลำของเธอด้วย
“พอดีตัวเองก็เป็นคนตกงานอยู่แล้ว แล้วก็เป็นนักร้องด้วยตอนนั้น แล้วก็แต่ก่อนตัวเองก็เคยเป็นนักร้องร้านเหล้า แล้วก็เคยเป็นเด็กเสิร์ฟ แล้วทีนี้ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดนะคะ แล้วรู้สึกตัวเองไม่มีจะกิน รู้สึกว่าเราต้องไปเรียกร้องอะไรสักอย่าง เราก็เลยออกไปตามม็อบ
หลายๆ คนก็จะเห็นว่าไอค่อนชอบใส่ชุดหมอลำไปตามม็อบ ก็คือเป็นชุดตัวเองเลย เป็นอาชีพของตัวเองเลย ที่เราไปแสดงออก แล้วก็ไปแสดงอัตลักษณ์ทางเพศเราด้วยว่าเราเป็นหมอลำ เราตกงาน แล้วก็เราเป็น LGBTQ+ ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลชุดนี้ด้วย
หนูจะเรียกร้องประเด็นที่ถูกลืม เป็นอาชีพที่ทำงานกลางคืน เรียกร้องสมรสเท่าเทียม แล้วก็sex worker มันเยอะค่ะ ในเฟมินิสต์ของหนู ไหนจะเรื่องการทำแท้งให้ถูกกฎหมาย”
เธอเริ่มยืนด้วยขาตัวเองได้จากการวิ่งเต้นหาทุนด้วยมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ และรับงานโชว์ทั่วประเทศ จนตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 56 คน
“ใช้หมอลำในการขับเคลื่อน ในปัจจุบันสังคมไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แล้วก็ทำให้ปัญหาที่ไม่เข้าใจที่เกี่ยวกับเพศมันเยอะด้วยในสังคมที่เรียกร้องในปัจจุบันนี้ จึงเป็นปัญหาความรุนแรงในสังคมตลอดมา
ยกตัวอย่างในสังคมอีสานนะคะที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่คิดว่า เพศหลากหลายเป็นเพศที่อ่อนแอ ตลก ไม่เข้าใจของมิติของการแสดงออก ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของเรา แล้วก็ในสังคมอีสานมักถูกบูลลี่ด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ ทอม กะเทย ดี้ ออกไปหน้าบ้านก็โดนบูลลี่ว่า อีกะเทยสันใหญ่นี่มันไปไส อีกะเทยจังซั่น อีกะเทยจังซี่ (พูดภาษาอีสาน) มันก็โดนบูลลี่มาเยอะในสังคมอีสาน เราก็เลยอยากใช้หมอลำขับเคลื่อนในการสื่อสาร แล้วก็ในการแสดง
แล้วก็กลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์จึงสนใจในประเด็นเหล่านี้ แล้วเราก็รวบรวมพลังเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีในการจัดตั้งในกลุ่มๆ นี้ ส่วนมากเราทำงานขับเคลื่อนร่วมกับเด็กและเยาวชนเยอะพอสมควร เพราะว่าในกลุ่มมีแต่เยาวชนตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงอายุ 25 ปี
แล้วก็ในการขับเคลื่อนนี้ มันก็ต้องใช้คนอีสานเยอะด้วย ประมาณนั้นค่ะ แล้วก็ในเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เวลาขับเคลื่อน พวกหนูก็ต้องใช้เสียงเพลงในการขับเคลื่อนด้วย สอดแทรกเรื่องละครการ เช่น สอดแทรกเรื่อง เรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม แล้วก็โชว์อาชีพที่ถูกลืม อย่างเช่น เรากำลังแสดงโชว์คาบาเร่ต์อยู่ แล้วอยู่ดีๆ โควิดก็มา แล้วรัฐบาลก็ไม่เยียวยาอะไรประมาณนี้ เราก็สอดแทรกทั้งในอาชีพเราด้วย แล้วก็สอดแทรกในการเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองด้วย
เราก็คิดว่าเรียกร้องยังไงไม่ให้คนเครียด เรียกร้องยังไงไม่ให้มันเครียด เราก็เลยใช้เสียงเพลงมาด้วย เพื่อให้ทุกคนคลายเครียด ดูแล้วมีรอยยิ้ม ดูแล้วมีความรู้สึกสนุก ดูแล้วมีความรู้กลับไปด้วย มันก็หลายอย่างนะคะภายในกลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เพราะว่าเราไม่ได้เรียกร้องสิ่งๆ เดียว แต่เราเรียกร้องทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นหลักสิทธิในทางการเมือง”
“แดนเซอร์อวบอ้วน” ก็เปล่งประกายที่นี่ได้
อย่างที่บอกมาข้างต้นว่า เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เป็นหมอลำคณะแรก และน่าจะเป็นคณะเดียวในประเทศไทยตอนนี้ ที่รวบรวมนักร้อง-นักแสดงทุกเพศทุกวัย โดยไม่คำนึงถึงรูปร่างหน้าตาตาม Beauty Standard ที่ใช้นอกจากจะสร้างเป็นอาชีพแล้ว ยังตั้งใจใช้ความบันเทิงในการขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านเวทีหมอลำโดยเฉพาะความเท่าเทียม
ซึ่งเธอก็ช่วยเล่าให้เห็นภาพชัดๆ ในการแสดงโชว์ของเธอกับคณะว่า เป็นเหมือนวงหมอลำทั่วไป เพียงแต่มีความหลากหลายของสมาชิกในวง รวมถึงไม่ลืมที่จะสอดแทรกโชว์เพื่อสะท้อนสังคม ผ่านบทละครในทุกๆ ครั้ง เพื่อให้คนได้ซึมซับ และเข้าใจพวกเธอมากขึ้น
“เวลาเราแสดง เราก็จะเป็นคอนเสิร์ตหมอลำ วาไรตี้ เพื่อเอาหมอลำมาสอดแทรกเรื่องการเมืองนิดนึง อย่างเช่น เพลงก่อม็อบกะเทยที่มันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เราก็ขนประเด็นนั้นมา เพื่อเอามาปรับใช้ในเวทีเรา แล้วก็การแสดงที่ออกแบบมา ทั้งวงจะมีผู้ที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหมดเลย
ส่วนแดนซ์เซอร์หลายๆ วงเขาก็จะมีบอกไว้นะคะว่าคนอ้วนไม่สามารถมาเต้นได้ถูกต้องไหมคะ แต่วงเราเปิดรับทั้งหมดเลย ไม่ว่าคุณจะหน้าตายังไง หรือคุณจะอ้วน จะหน้าตาไม่ดี ถึงคุณจะตัวเตี้ย ตัวสูง หรือคุณสัดส่วนไม่เท่ากัน เราก็รับเข้ามา
คุณมีความสามารถอะไร คุณก็มาเป็นได้ที่วงนี้ เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เราไม่ได้กะว่าคนนี้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าเรื่องความเท่าเทียมของในวงด้วยค่ะ เราก็เรียกร้องประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอยู่แล้ว เราก็อยากให้เขาเท่าเทียมกับเราบ้าง ให้เขาเลือกเอาเลยว่าเขาอยากจะเป็นอะไร เราก็ให้เขาไปเป็นอย่างนั้น ถ้าเขาไม่เป็น เราก็สอนเขาได้ เราเปิดรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่แบบว่ามีความสามารถเป็นพิเศษ ก็สามารถเข้ามาอยู่ในวงเราได้”
เธอยอมรับว่า ผลตอบรับครั้งแรกค่อนข้างจะไม่ดี แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ พยายามปรับเปลี่ยนโชว์เพื่อให้คนชื่นชอบ และซ้อมกันอย่างหนักในสิ่งที่รัก จนตอนนี้หลายคนที่มาชมโชว์ของเธอก็สนุกสนานร่วมกันได้ ซึ่งในแต่ละเดือน เธอจะงานจ้างอยู่ประมาณเดือนละ 4 ครั้ง
“ผลตอบรับครั้งแรกๆ จากที่เราได้ทุนมา มันมีฟีดแบ็กแต่ด้านลบ ด้านบวกไม่มีเลย เพราะว่าเขาคิดว่าเรามาก่อม็อบหรือเปล่า เพราะขึ้นเชื่อว่าเฟมินิสต์มันก็จะมีจดจำมาว่า เฟมินิสต์ปลอดแอกหรือเปล่า แล้วเราก็พยายามบอกไปว่า เราเป็นเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เราไม่ใช่เฟมินิสต์ปลอดแอก เราเป็นกลางทางการเมือง เพราะในกลุ่มเราเรียกร้อเรื่องความเท่าเทียมอยู่แล้ว เราไม่เอาอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะเราก็อยากให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมันเท่าเทียม
ส่วนใหญ่เล่นอยู่ในภาคอีสาน แต่ถ้ามีงานอีเวนท์ต่างๆ ในส่วนของกรุงเทพฯ เราก็ลงไปบ้างกรุงเทพฯ อาจจะมีงาน 5 ครั้งต่อปี แล้วก็ในภาคอีสานเดือนนึงจะมี 4 งาน ประมาณนี้ค่ะ บางทีก็มีเดือนละประมาณ 6-8 งานบ้าง เราสตาร์ทเรทเราวงเราอยู่ที่ 25,000-180,000 บาทประมาณนี้ค่ะ เพราะว่าจะมีวงเล็ก วงกลาง แล้วก็วงใหญ่ จะเป็นระเบียบวาทศิลป์เลย เพราะว่าเราจัดการงบน่าจะได้พอสมควร”
อยากพาหมอลำไปโกอินเตอร์
สาวหมอลำวัย 20 ปี ที่นอกจากจะชื่นชอบการร้องหมอลำมาตั้งแต่เด็กแล้ว เธอยังมีความฝันอีกว่า อยากพาวัฒนธรรมบ้านเกิดของเธอไปโกอินเตอร์ด้วย
“เป็นคนรักหมอลำอยู่แล้ว เป็นคนรักในวัฒนธรรมของตัวเอง เราก็มีความคิดที่ว่า แล้วทำไมวัฒนธรรมของตัวเอง ทำไมเขาถึงต้องเป็นชายกับหญิงอย่างเดียว ทำไมไม่มีกะเทย ทอม เกย์ บ้าง เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราเป็นกะเทยไปร้องเพลงมันจะเป็นยังไง เราก็เลยเอาผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไปอยู่บนเวที
เหมือนกับการที่เราเอาจานส้มตำไปอยู่ในพื้นที่สากลให้ฝรั่งดู ต้องทำยังไง ต้องประยุกต์ยังไง ต้องเอาจานส้มตำไปประยุกต์ยังไงให้มันคู่กับวัฒนธรรม จะเป็นจานส้มตำที่มีความหลากหลาย อย่างเช่น แต่ก่อนส้มตำมันจะมีแค่ ตำปู ตำป่า ตำลาวใช่ไหม ทีนี้มันเริ่มมีตำปูม้า ตำทะเล มันเริ่มมีสารพัดตำ ทำยังไงก็ได้ให้จานส้มตำจานนึงไปอยู่ในวัฒนธรรมของส่วนนั้น เราก็พยายามดัดแปลงไปเรื่อยๆ มา
อยากโกอินเตอร์ อยากไปต่างประเทศ อยากเอาวัฒนธรรมตัวเองไปอยู่ต่างประเทศบ้าง เพราะหลายๆ วงที่เขาได้ไป เขาก็แบบมีความเป็นซุปเปอร์สตาร์กลับคืนมา เราก็คิดว่า ทำยังไงก็ได้ให้เราไปอยู่จุดนั้น ตอนนี้ก็สู้ตาย เพราะเราก็อยากดัง”
กะเทยไม่ใช่ “ตัวตลก”
ไม่ว่าจะเป็นมุกหรือคอนเทนต์เกี่ยวกับกะเทยก็มักจะดูบันเทิงไปเสียหมด เพราะเรามักจะติดภาพลักษณ์กะเทยที่ต้องตลก เฮฮา มั่นใจ กล้าแสดงออก และคอยสร้างสีสันให้กับคนรอบๆ ข้างอยู่ตลอดเวลา
รวมไปถึงการล้อเลียน ที่หลายคนอาจจะมองว่าจะเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่มีให้เห็นเป็นปกติ แต่กับคนบางกลุ่มอาจตลกไม่ออกเช่นเดียวกับเธอคนนี้ ที่แม้จะเป็นชอบเฮฮา ตลก แต่เมื่อหลายคนมองว่าเธอเป็นตัวตลก กลับทำให้เธอรู้สึกเครียด
“(กะเทยต้องตลก ) เครียดพอสมควร เพราะว่ากะเทยหลายคนเขาก็ชอบเฮฮาอยู่แล้ว ส่วนหนูก็ชอบเฮฮา เฮฮามันก็ไม่ได้ผิดนะ มันก็เป็นตัวของตัวเรา เราจะทำอะไรก็ได้ คุณจะมากำหนดชีวิตคนคนนึงมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่รู้สึกว่า ด้วยความปลูกฝังของ
ครอบครัว กะเทยเป็นตัวตลก หนูก็รู้สึกว่ามันก็ปลูกฝังมาแล้ว หนูก็ไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงต่อ แต่ก็พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วก็พัฒนาสังคมไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับการแสดงที่เราสื่อออกมาด้วย
แล้วก็หลายๆ คนเขาก็ไม่ได้เป็นแบบเราด้วย หลายคนเขาก็เป็นกะเทยที่แบบว่าไฮโซ มันมีหลายประเภท ไม่ใช่มีกะเทยประเภทเดียวที่ต้องตลก”
แม้สังคมทุกวันนี้เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่เธอก็ยังบอกว่า เรื่องบูลลี่ก็ยังโดนประจำอยู่ โดยเฉพาะในภาคอีสานบ้านเกิดเธอ ที่ยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร แต่เธอก็พยายามสอดแทรกแนวคิดความเท่าเทียมในสังคมเข้าไปในโชว์การแสดง เพื่อสะท้อนให้คนดูได้เห็น ได้รับรับคนทุกเพศทุกวัย
“ตั้งแต่เกิดขึ้นมา หลายๆ ครอบครัวที่หนูไปสัมภาษณ์มา ก็จะเป็นแบบว่า แม่ก็จะสอนว่า ลูกอย่าไปเล่นกับกระเทยนะ กะเทยมันตลก จิตวิปริต มันไม่เต็มบาท อะไรประมาณนี้ ส่วนพ่อก็บอกว่าลูกอย่าเป็นกะเทยนะ เป็นแล้วมันไม่ดี คือแบบไม่รู้ว่าครอบครัวเขาปลูกฝังมายังไง มันก็เริ่มจากครอบครัวเท่าที่หนูรู้มา
แต่ส่วนมากในสังคมอีสานส่วนใหญ่เขาก็จะปลูกฝังในลูกผู้ชายเขาก็จะบอกว่า อย่าไปเล่นกับลูกกะเทย กะเทยมันเป็นตัวตลก อะไรประมาณนี้ เขาก็จะโดนปลูกฝังมาเรื่อยๆ ทีนี้พอเขาไปเข้าสู่สังคมที่โรงเรียน เขาก็จะไปพูดต่อๆ ว่าพ่อแม่กูบอกอย่างนี้ๆ เขาก็จะพูดต่อๆ ปากในสังคมที่เขาโตมา ว่ากะเทยมันต้องตลก
โดนบูลลี่ประจำเลยค่ะ ออกไปนอกบ้าน หรือหน้าห้องก็ตาม โดนเรียกกะเทยโน่นนี่นั่น เราก็โอเค เราก็เข้าใจแล้วว่าสังคมอีสานมันเป็นยังไง ก็ปล่อยให้เขาไป คนอีสานส่วนใหญ่เขายังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี ยังไม่เข้าใจเรื่องสื่อออนไลน์สักเท่าไหร่ ยังไม่เข้าใจเรื่องความเป็น LGBT ของเรา ก็พยายามทำให้เขาเข้าใจ
แต่ก็นี่แหละก็มีการแสดงเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ขึ้นมา ก็พยายามทำให้คนอีสานส่วนใหญ่เข้าใจว่า เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์มันไม่ได้มีเพศเดียวนะ LGBT มันมีหลายเพศนะที่เราสื่อ
คนดูหลังๆ ก็โอเคขึ้น เขาก็สนุกขึ้น เพราะรอบแรกมันเป็นวิชาการมาก ไม่ว่าจะเป็นวงเสวนา performance art ที่ดูแบบว่ามันน่ากลัวมา แล้วเขาต้องทนดู แล้วก็การแสดงที่สื่อออกมาที่มันคลายเครียด ไม่มีความสมูท ไม่มีความตลกออกมา เพราะส่วนมากคนอีสานคิดว่ากะเทยมันต้องตลกมั้ง เราก็ต้องเอาวัฒนธรรมของกะเทยไปใส่ในโชว์ด้วย เพื่อไม่ให้เครียด”
เข้าใจตัวเอง แม้ครอบครัวไม่(ค่อย)ยอมรับ
เธอเล่าว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ นอกจากคำบูลลี่จากสังคมที่โดนมาตั้งแต่เด็กแล้ว พ่อของเธอเองก็ยังไม่ยอมรับในตัวตนที่เธอเป็น แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ ได้แต่พยายามมุ่งมั่นทำตามฝันของเธอให้สำเร็จ
“ครอบครัวเริ่มแรกรับไม่ได้พอสมควร แม่ก็จะรู้อยู่แล้วว่าลูกเป็นกะเทย หนูเพิ่งมาออกสาวตอน ม.1 แต่ตอน ป.1-ป.6 ก็จะออกเกย์ผมสั้น แต่แม่รู้นะว่าลูกเริ่มเป็นแล้ว เพราะว่าเริ่มขโมยเครื่องสำอางคุณแม่มา ขโมยชุดมาแต่งเป็นนางงามโบกมือ ก็เล่นกับเพื่อนในหมู่บ้าน ใส่ชุดผ้าขนหนูบ้าง เป็นกระโปรง แม่ก็เห็น
แต่พ่อก็รู้สึกตอนแรกๆ ก็รับไม่ได้พอสมควร พ่อก็จะด่าว่าให้ถอดชุดออก มึงเป็นคนไม่เต็มเหรอ ทำไมมึงแต่งแบบนี้ แล้วพ่อก็จะบอกว่าเป็นผู้ชายสิ ดูแลครอบครัวได้
เอาจริงๆ พ่อก็พูดผิดคำนึงนะ เป็นผู้ชายสิถึงจะดูแลครอบครัวได้ ตามจริงถึงเป็นกะเทยก็ดูแลได้เหมือนกัน ก็เลยด่าพ่อไป เคยด่ากันแล้วรอบนึง พ่อก็เคยส่งเราไปอยู่วงโยธวาทิตบ้าง เพราะให้เราเป็นผู้ชาย
แต่พอ ม.3 ก็ผ่านอุปสรรคมาได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็คุยกันได้ปกติ แต่ไม่ค่อยไปออกงานสังคมสักเท่าไหร่ อย่างเช่น งานศพ งานแต่ง ต้องเดินห่างกัน พ่อยังอายๆ อยู่ แต่แม่โอเค ยายกับตาโอเค”
แม้จะเรียนจบแค่ชั้น ม.6 แต่เธอก็มองว่า การเรียนถึงขั้นนี้ก็ตอบโจทย์ชีวิตแล้ว เพราะเธอบอกว่า มีความฝันอีกหลายสิ่งที่อยากจะทำ แต่เธอก็เชื่อว่า เรียนถึงขั้นไหนก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
“ก็ถ้าพูดง่ายๆ หนูเรียนจบ กศน. ม.6 แต่ ม.3 จบที่โรงเรียนในเมืองร้อยเอ็ด รู้สึกจบเท่านี้มันก็ดีแล้ว เพราะว่าการจบสูงไปมันก็ไมได้เป็นเจ้าคนนายคนได้ อย่างเช่นเถ้าแก่น้อย หนูขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงนะคะ
ก็เจ้าของอย่างเช่นเถ้าแก่น้อยเขาก็จบม.3 เขาก็ต่อสู้ชีวิตมา จนมาถึงปัจจุบันนี้ มันก็ได้รายได้ดี เราก็คิดว่า ถ้าเราไม่เรียนต่อ เอาจริงๆ ก็จบแค่ ม.6 แต่ผลสำเร็จก็ออกมาประมาณนี้เลย”
3 ไอดอลลูกคอสวรรค์
“มีพี่ใหม่-พัชรี ไชยเลิศเป็นไอดอล เพราะชอบสไตล์นางดี สไตล์นางตลกดี เราก็อยากเหมือนนางบ้าง เพราะนางมั่นใจ พี่ใหม่แกเริ่ดอยู่แล้ว อยากเหมือนพี่ใหม่ด้วย แล้วก็ชอบเจ๊สี่ ซานเล้า ชอบในความฮาของนาง อยากได้เจ๊สี่เป็นไอดอลเลย เพราะนางไม่ถือตัว แล้วก็แบบเป็นคนตลกด้วย เป็นคนน่ารักด้วยในวงการหมอลำ แล้วก็ชอบพี่แมน-จักรพันธ์ ลำเพลิน 3 คนนี้” |
เสาหลักครอบครัว เป็น“สตรีมเมอร์” หาเลี้ยง “สตรีมเมอร์แรกๆ ก็รู้สึกว่าเล่นคอมไม่เป็นเลย แล้วก็ทำอะไรไม่เป็นเลย เริ่มมาจากช่วงนั้นรู้สึกว่ามันเหงาด้วยแหละ เพราะหนูอยู่ห้องคนเดียว พ่อแม่ก็ชอบไปทำงานต่างจังหวัดกัน เราก็รู้สึกเหงาๆ ตอนนั้นเราก็มีเงินก้อนนึง อยากลงทุนอะไรที่มันหาเงินได้ ช่วงนั้นก็ช่วงโควิดด้วย ไม่มีรายได้จากร้านเหล้าแล้ว ตอนนั้นเปิดร้านเหล้าของตัวเองด้วย เป็นทั้งเด็กเสิร์ฟด้วย เป็นทั้งแคชเชียร์ด้วย เป็นทั้งผู้จัดการ เป็นได้หมดทุกอย่าง แต่ก่อนมีร้านเหล้าของตัวเอง เป็นดนตรีแนวหมอลำผสมกับสากล เป็นร้านแบบเปิด เป็นธุรกิจของแม่ หุ้นกันกับหนู ช่วงโควิดร้านก็เจ๋ง รัฐบาลก็เยียวยา เดือนละ 5 พันก็ไม่พอกิน มันมีเงินก้อนสุดท้ายคือ 2 หมื่น เราก็ลงทุนซื้อคอมเครื่องนึงมา ด้วยความเหงาเราก็เลยหาเกมที่มันสร้างสรรค์แล้วเราก็อยากเป็นยูทูบเบอร์ด้วย จะทำยังไงก็ได้ให้เราเป็น LGBT ที่ฮาในโลกออนไลน์ งานนี้เป็นงานที่สนุกมาก งานสตรีมเมอร์ เป็นแนวเอนเตอร์เทนต์สตรีมมากกว่า ก็ประสบความสำเร็จ มีคนติดตาม ประมาณ 12,600 กว่าคน แล้วก็มีสปอนเซอร์ในเกมเข้ามา ซึ่งเป็นรายได้ดีมากสำหรบเรา แล้วก็มีเด็กๆ ที่คอยสนับสนุนมา โดเนทผ่านสตรีมเมอร์เราด้วย รายได้ส่วนนึงก็มาจากนี่ พอถอนออกมาเดือนนึงก็อยู่ประมาณ 13,000-18,000 บาท รวมทั้งเงินยูทูบ แต่มันก็ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว เราเป็นคนดูแลครอบครัว ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นเสาหลักแล้วตอนนี้คนเดียว ด้วยความเป็นอีสานก็คือยึดผู้ชายเป็นหลัก เป็นหัวหน้าครอบครัว แม่ก็คือหาเงินก็ไม่ค่อยได้ หนูก็เลยต้องเอาเงินส่วนนี้ไปโปะค่าไฟ ค่าบ้าน ค่านั่นค่านี่ มันเยอะมาก ตกเดือนนึงหนูก็จะเหลือประมาณ 4-5 พันต่อเดือน เงินหมื่นคือหนูไม่เหลือเลย” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์”, เฟซบุ๊ก “Thanyaboon Thipparak”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **