xs
xsm
sm
md
lg

พา “ศิลปินตัวน้อย” ตามรอย “ศิลปินไทยระดับโลก” หนึ่งเดียวผู้เคยหายใจรดต้นคอ “ปิกัสโซ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ให้ “เมล็ดพันธุ์แห่งศิลปะ” งอกงามในใจเด็กๆ คือแนวคิดที่โครงการ Art Learning ตั้งเป้าไว้ และนี่คืออีกหนึ่งครั้งที่ “ศิลปินแห่งชาติ” ยุคแรกๆ ผู้เป็นอาจารย์ของ “ศิลปินไทยระดับประเทศ” ได้ฝากฝังบทเรียนไว้ให้ได้เรียนรู้ผ่านลายเส้นที่งดงาม


ให้เด็กๆ ซึมซับ “ศิลปินที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสยาม”



[“อ.ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง” ภัณฑารักษ์อิสระ และนักบรรยายศิลปะ]
“ท่านเป็นครูของศิลปินหลายคน ศิลปินแห่งชาติทุกวันนี้ส่วนใหญ่ ล้วนแล้วเป็นลูกศิษย์ของ อ.เฟื้อ ทั้งนั้นเลย และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อ.เฟื้อ’ เป็นครูที่ดีมาก

ท่านคืออัจฉริยะ คือ‘ศิลปินวาดเส้นคนเดียวในประเทศไทย’ ที่สามารถไปยืนเทียบเท่าศิลปินระดับโลกได้ คิดดูว่าอาจารย์ไปยืนหายใจรดต้นคอ‘ปิกัสโซ’ (พาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ จิตรกรระดับโลก) ไม่ใช่ธรรมดานะ คนอื่นๆ ทำไม่ได้เลยนะครับ”

นี่คือเสียงคอนเฟิร์มจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะมาแล้วกว่า 20 ปี อย่าง “อ.ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง” ภัณฑารักษ์อิสระ และนักบรรยายศิลปะ ผู้รับหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของ “ศิลปินแห่งชาติสัญชาติไทย ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก” อย่าง “อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์”

ในโอกาสที่นักเรียนโครงการ Art Learning” หรือนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น ป.5 เดินทางไปเยี่ยมชมและวาดภาพนอกสถานที่ ณ “หอจดหมายเหตุ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์”

[“อ.ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง” ภัณฑารักษ์อิสระ บรรยายร่วมกับ ศ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล]
ในโอกาสที่นักเรียนโครงการ Art Learning” หรือนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น ป.5 เดินทางไปเยี่ยมชมและวาดภาพนอกสถานที่ ณ “หอจดหมายเหตุ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์”

“คือ อ.เฟื้อ กับเด็กๆ พวกนี้ เป็นช่วงวัยที่ต่อกันไม่ติดเลยนะครับ เพราะตอน อ.เฟื้อ เสียชีวิต เด็กรุ่นนี้ยังไม่เกิด ฉะนั้น เรื่องที่เด็กๆ ได้ยิน ได้เห็นในวันนี้ คือเรื่องใหม่ทั้งหมด

และสไลด์ของ อาจารย์ปิยะแสง (ศ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร) ก็ตั้งใจจะปูพื้นทั้งหมดให้เด็กๆ ได้รู้จักศิลปินอาวุโส ซึ่งเป็นศิลปินคนสำคัญมากๆ
ของประเทศนี้”

[บัตรข้าราชการ สมัย อ.เฟื้อ สอนอยู่ที่ ม.ศิลปากร]
ถามว่าสำคัญขนาดไหน? ชื่อของ “เฟื้อ ทองอยู่” (นามสกุลเดิม) คือศิลปินหัวใจก้าวหน้าที่สุดคนนึงในยุคนั้น ตั้งแต่สมัยศิลปะทางฝั่งยุโรปยังไม่เข้ามาในไทย ทำให้การเรียน "โรงเรียนเพาะช่าง" ในตอน ม.6 เมื่อ พ.ศ.2496 ของเขาไม่ตอบโจทย์

กระทั่งลาออกมาเข้าเรียนที่ รร.ประณีตศิลปกรรม หรือ ม.ศิลปากร ในยุคถัดมา จนผลักให้ได้กลายเป็นศิษย์เอกของ "อ.ศิลป์
พีระศรี"
หรือชื่อเดิม “กอร์ราโด เฟโรซี” ศิลปินระดับโลก ผู้เข้ามาเป็นครูฝรั่ง เปิดหลักสูตรแบบตะวันตกครั้งแรกในบ้านเรา

ครูฝรั่งที่มองเห็นศักยภาพของ อ.เฟื้อ มาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนเป็นแรงผลักสำคัญ ให้ไปเรียนที่ ม.วิศวภารตี ศานตินิเกตัน ในปี2483 สถาบันที่ทั่วโลกยอมรับในวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมของอินเดียในสมัยนั้น

[“เฟื้อ ทองอยู่” ภาพสะท้อนสมัยยังใช้นามสกุลเดิม]






และด้วยจดหมายรับรองด้วยลายมือของครูฝรั่งรายนี้นี่เอง ที่ช่วยปั้นให้ประเทศไทยมี “สุดยอดศิลปินแห่งประวัติศาสตร์” หลัง อ.เฟื้อ ได้โอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังที่อินเดียแห่งดังกล่าว หรือแม้แต่การศึกษาต่อด้วยทุนรัฐบาลอิตาลีเป็นเวลา2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2497

จดหมายรับรองที่เขียนอย่างชัดเจนเอาไว้ว่า “นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นนักเรียนศิลปะของข้าพเจ้า ที่มีพรสวรรค์อันหาตัวจับยาก เป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่องานศิลปะอย่างจริงจัง และอาจเป็นศิลปินที่ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของสยามประเทศเวลานี้”


เอกลักษณ์ลายเส้น ชีวิตดรามาบันดาลใจ

[น้องเกรซ วรพิมพ์อร วิทยเวทย์ หนึ่งในนักเรียนโครงการพิเศษ Art Learning สาธิต จุฬาฯ]
แน่นอนว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งศิลปะ” ที่ปลูกเอาไว้ในใจเด็กๆ ผ่านโครงการ Art Learning ยิ่งถูกรดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ
จนค่อยๆ ผลิดอกออกผลมากขึ้นแล้ว

และนี่คืออีกหนึ่งผลผลิต ผ่านความรู้สึกของ "น้องเกรซ" วรพิมพ์อร วิทยเวทย์ ศิลปินตัวน้อย หนึ่งในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะของสาธิตจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของ สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์ผู้ก่อตั้งและประธานโครงการมาตั้งแต่ต้น นานกว่า 12 ปีแล้ว

[ฝีมือการลอกลายตามประตูวัดของ อ.เฟื้อ เพื่อทำนุบำรุงคุณค่างานศิลป์จิตรกรรมฝาผนัง]
“ตื่นเต้นดีค่ะ รู้สึกว่าฝีมือตัวเองด้อยมาก ถ้าเทียบกับที่เพิ่งดูมา หนูชอบวาดdrawing อยู่แล้ว และงาน drawing ของ อ.เฟื้อ ก็สุดยอดมาก ที่ประทับใจจนเลือกมาวาด คือภาพร่างลายเส้นวัดต่างๆ ของอาจารย์ค่ะ รู้สึกว่าเหมือนจริงดี

ส่วนประวัติของอาจารย์ที่ได้ฟัง ก็รู้สึกว่าชีวิตดูเหนื่อยจัง พอมาดูงานก็ทำให้อินขึ้นค่ะ เหมือนชีวิตจะแย่แค่ไหน เราก็สามารถทำผลงานออกมาให้ดีได้ เพราะหนูเป็นคนพัฒนาการค่อนข้างช้า ก็อยากทำได้ดีแบบนั้นบ้าง

แล้วก็รู้สึกมีแรงบันดาลใจค่ะ ทำให้อยากวาด drawing มากขึ้น
เพราะหนูรู้สึกว่ามันดูลึกซึ้ง และสามารถวาดแล้วลงรายละเอียดได้อีกเยอะเลย”

[ผลงานของ อ.เฟื้อ สมัยเรียนที่ ศานตินิเกตัน อินเดีย]
เป็นอย่างที่น้องเกรซบอกจริงๆ เพราะหลายคนที่ได้รู้ประวัติ อ.เฟื้อ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า คือสุดยอดดรามาที่ต้องฝ่าฟัน โดยเฉพาะชีวิตรักของอาจารย์ ที่โชคชะตาให้มาผูกพันรักกับ “ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร”

แต่ด้วยสถานะที่ต่างกัน จึงถูกครอบครัวฝ่ายหญิงกีดกัน จนเป็นที่มาของการถูกแยกห่าง แม้จะมีลูกด้วยกันแล้ว 1 คน จนนำมาสู่เส้นทางศิลปะในต่างแดนของศิลปินรายนี้ในที่สุด

หรือแม้แต่ความโชคร้ายระหว่างศึกษาลายเส้น ณ “ศานตินิเกตัน” ที่อินเดีย เรียนยังไม่ทันจบก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบนที่ไทย และประกาศสงครามกับอังกฤษ ส่งให้อินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกหางเลขไปด้วย


สุดท้าย อ.เฟื้อ นักเรียนนอกที่อินเดียสมัยนั้น จึงถูกจับเป็นเชลยศึก ต้องอยู่ค่ายกักกันนาน 5 ปี แต่อาจารย์ก็ยังใจสู้ หาอุปกรณ์วาดเขียนได้ และสามารถวาดภาพ “ค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นในป้อมโบราณ พ.ศ.2489” ออกมาได้ จนทุกวันนี้กลายเป็นสมบัติของกระทรวงวัฒนธรรมไปแล้ว

ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้ "น้องวิคเตอร์" ธณภณ ยมจินดา อีกหนึ่งนักเรียนศิลปะจากโครงการพิเศษมองว่า เรื่องราวชีวิต อ.เฟื้อ คือสุดยอดแรงบันดาลใจ ทำให้อยากฮึดสู้กับอะไรๆ ได้ต่อไป

[น้องวิคเตอร์ ธณภณ ยมจินดา]
“ชอบศิลปะอยู่แล้วครับ ปกติวาด Freestyle ครับ วันก่อนมีพี่ที่มาสอนวาดลายไทยด้วย ผมก็เริ่มรู้สึกประทับใจ เพราะไม่เคยเรียนลายไทยเลย ผมก็เริ่มอยากเรียนอีก ก็เหมือนครั้งนี้พอมาดู ก็รู้สึกว่ามันสวยจริงๆ ครับ ที่ผมชอบคือภาพกินรีที่เป็นภาพสี ทำให้สนใจในด้านนี้มากขึ้นครับ

พอฟังเนื้อเรื่องที่เขาอธิบายเกี่ยวกับ อ.เฟื้อ มา มันประหลาด อธิบายไม่ถูก เหมือนชีวิตอาจารย์เคยตกต่ำมาก แต่ก็ยังสู้ต่อไป เราก็เอาเป็นแบบอย่างว่า เรายังไม่ถึง 1 ในนั้นของเขาเลย คือถ้าเราตกไป เราก็ต้องขึ้นมาให้ได้


“3 สุดยอดห้ามพลาด” ณ หอจดหมายเหตุ

[“ธีระ วานิชธีระนนท์” ผู้ก่อตั้งหอจดหมายเหตุ อ.เฟื้อ]
ในอีกมุม เปรียบไปแล้วการโคจรมาศึกษาแหล่งลายเส้นในครั้งนี้ เหมือนการย่นระยะระหว่าง “ศิลปินแห่งยุค” กับ “คนรุ่นใหม่หัวใจรักศิลปะ” คือสิ่งที่ “ธีระ วานิชธีระนนท์” ภัณฑารักษ์งานศิลปะคนสำคัญของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งหอจดหมายเหตุ อ.เฟื้อ
แห่งนี้ วิเคราะห์เอาไว้ด้วยรอยยิ้ม

เพราะถึงแม้ว่าในสายตาของนักสะสมผลงานของตัวยงคนนี้ อ.เฟื้อ จะคือศิลปินผู้ทรงอิทธิพล ผู้ครองรางวัล “ศิลปินชั้นเยี่ยม” เพียง 1 ใน 24 คนของประเทศไทย จากผลงานศิลปะเหรียญทองถึง 3 ครั้งติด

แต่นักศึกษา ม.ศิลปากร หลายคนกลับไม่เคยรู้จัก อ.เฟื้อ แม้อาจารย์จะเคยรับราชการเป็น “ครูช่างเขียน” คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ม.ศิลปากร มาก่อนก็ตาม

[ภาพวาดชุด ‘ศานตินิเกตัน’ ระหว่างช่วงศึกษาที่อินเดีย]
เมื่อ 10 ปีก่อน ผมไม่รู้จัก อ.เฟื้อ เลย ก็ได้พยายามศึกษาเหมือนเด็กๆ พวกนี้แหละ แต่เรามีโอกาสดีหน่อย เพราะเรามีสถานะที่จะสามารถหาของจริงมาศึกษาได้ และเมื่อได้ของจริงมาแล้ว เราก็เก็บรวบรวมจนสามารถตั้งเป็นหอจดหมายเหตุขึ้นมาได้

และจากสิ่งที่เรามีอยู่ก็คิดว่า จะสามารถต่อยอดในเชิงโปรโมตให้ อ.เฟื้อ เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ อ.เฟื้อ ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเด็กๆ ต่อไปถ้ายังมีความสนใจอีกสัก 5-6 ปี เขาอาจจะกลับมาศึกษามากขึ้นได้ด้วย


ลองให้พูดถึง “3 อันดับพลาดไม่ได้” สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมชม “หอจดหมายเหตุ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” แห่งนี้ ผู้ก่อตั้งอย่าง “ธีระ” จึงช่วยแนะเอาไว้อย่างละเอียด

อันดับ 1 อยากให้มาดูงานชุดที่เก่าแก่ที่สุด ที่เพิ่งเดินทางมาเมืองไทย 3-4 ปีที่แล้ว ชื่อชุด ‘ศานตินิเกตัน’ เป็นชุดที่ใครๆ ก็สนใจ ไม่ใช่เฉพาะนักสะสมในไทยนะครับ แต่ในต่างประเทศก็สนใจมาดู ทั้งทางสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ที่ออสเตรเลีย, มหาวิทยาลัยที่แคนาดา ก็เหมือนกัน

ชุดนี้ถือว่าเป็นจุดที่เรียกว่า ไม่น่าจะเอามาได้ ไม่น่าจะรอดมาถึงปัจจุบันนี้ได้ เป็นชุดที่มหัศจรรย์มากที่ปรากฏในช่วงนี้ ถือเป็น Key สำคัญ เป็นจิ๊กซอว์ตัวนึงที่ช่วยต่อเติมให้ผลงาน อ.เฟื้อ สมบูรณ์


เพราะเป็นชุดที่ อ.เฟื้อ วาดตอนไปเรียนที่ศานตินิเกตัน แล้วก็ทิ้งหนังสือ สมุดเรียนไว้กับคนคนนึง ซึ่งเขาเก็บเอาไว้ 10 กว่าเล่มด้วยกัน แล้วก็มีสมุดสเก็ตช์อีกกว่า 30 เล่ม ซึ่งเป็นชุดที่ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตอาจารย์เฟื้อช่วงไปอินเดีย ไม่งั้นจะไม่รู้เลยว่า งานยุคแรกๆ ของ อ.เฟื้อ เป็นยังไง

อันดับ 2 ก็เป็นชุด ‘จิตรกรรมฝาผนัง’
ที่อาจารย์เดินทางไปลอกลายจากกำแพงวัดที่ชำรุด ที่นี่ก็มีหลายแห่งครับ จากทั้งหมดที่อาจารย์เดินทางไปสเก็ตช์เป็น 20,000 กว่าวัดทั่วประเทศ






และอันดับ 3 คือชุด ‘เอกสารสำคัญ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของอาจารย์ การดำเนินชีวิต การเก็บสิ่งต่างๆ เพราะอาจารย์เป็นคนช่างจดและช่างเก็บ แม้แต่ใบเสร็จรับเงินท่านก็เก็บ และสมุดไดอารี่อีกเยอะแยะในแต่ละปี






รวมถึงสมุดบันทึกตอนที่ท่านไปยุโรป ไปประชุมกับ อ.ศิลป์ พีระศรี เมื่อปี 2460ท่านไปอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อินเดีย ทั้งหมด 3 เดือน อาจารย์บันทึกทุกวัน ประจำวันว่าได้ไปที่ไหน ไปดูอะไร ดูเสร็จชอบใจรูปของ‘ปิกัสโซ่’ ที่ตั้งใจมาดู อาจารย์ก็สเก็ตซ์รูปไว้

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้เส้นทางชีวิตของอาจารย์ว่า ไปที่ไหน เวลาไหน ใช้เวลาวาดในจุดไหนเท่าไหร่ โดยเฉพาะเอกสารต่างๆ ที่มีอีกเยอะ จนรวมเป็นจดหมายเหตุได้ครับ


ส่งต่อ “เลือดศิลปิน” เชิดชูความเสียสละ-อุตสาหะ




“คุณสมบัติ” ในตัว อ.เฟื้อ ที่คนในแวดวงศิลปะอยากให้เยาวชน โดยเฉพาะ “ศิลปินรุ่นหลัง”ได้เรียนรู้มากที่สุดคืออะไร? หนึ่งในคนที่ถือได้ว่า เป็นแฟนพันธุ์แท้ผลงานอาจารย์อย่าง “ธีระ” ผู้ก่อตั้งหอจดหมายเหตุ อ.เฟื้อ แห่งนี้มองว่าคือเรื่อง “ความวิริยะอุตสาหะ” ของอาจารย์เป็นหลัก

“อ.เฟื้อ ในการดั้นด้นไปทำงานต่างๆ อาจารย์มีความอดทนอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานอนุรักษ์ตามวัดต่างๆ อาจารย์ใช้เวลาทั้งหมด20 ปี จนมีหนังสือเขียนไว้ว่า คนละแวกวัดสะแกกรัง พูดถึงแกว่าเป็น‘ผีผมขาว’ อยู่แถวนั้นจนผมขาว กลางคืนเที่ยวทำงาน เดินไปเดินมา"


"และจากผลงานการบูรณะวัดระฆัง (หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม) นี่แหละครับ ที่ทำให้ท่านได้รับ ‘รางวัลแม็กไซไซ
(รางวัลโนเบลแห่งเอเชีย จากมูลนิธิแมกไซไซแห่งฟิลิปปินส์)’
ซึ่งเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้”

ส่วนถ้าเป็นมุมมองของ “อ.ปกรณ์” ภัณฑารักษ์ และนักบรรยายศิลปะ ที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรให้เด็กๆ ในวันนี้ คงเป็นเรื่อง “ความเสียสละ” เพื่อศิลปะของชาติ โดยไม่เห็นแก่เงินทอง และผลประโยชน์ส่วนตัวในตัว อ.เฟื้อ ที่น่านับถือและควรค่าแก่การยกย่องที่สุด

[อ.เฟื้อ คนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ จากการบูรณะ หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม]
“คือชีวิต อ.เฟื้อ ช่วงนึง แกไปทำงาน‘คัดลอกฝาผนังวัด’ อยู่ครึ่งชีวิต แล้วท่านก็ทิ้งงานด้านศิลปะไปเลย เพราะฉะนั้น งานศิลปะส่วนตัวของท่านก็มีเท่าเดิม ทั้งที่จริงๆ ถ้าอาจารย์เลือกทำงานศิลปะ งานจะมีคุณค่าอีกมหาศาล

แต่อาจารย์ไม่เลือกทำอย่างนั้น ตลอดชีวิตแกก็ไม่ได้คิดเรื่องเงินเลยนะ คือคิดเรื่องประโยชน์ของวงการศิลปะเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากๆ ถ้าท่านคิดจะรวย ท่านรวยไปแล้วครับ

เพราะงานอาจารย์มีมูลค่าสูงมากๆ ที่เป็น drawing มีมูลค่า 5-6 แสนเลยนะ ส่วนสีน้ำมันไม่มีการซื้อขายแล้ว ถ้าขายคือหลัก 10 ล้านเลย ล่าสุดเขามีเอางาน drawing อาจารย์มาประมูล คิดดูว่าจบที่ 1 ล้าน 4 แสนนะ”


และในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ และเป็นอดีตนักเรียนศิลปะ ม.ศิลปากร มองว่า การมาศึกษาลายเส้นและเส้นทางชีวิตของ อ.เฟื้อ ในวันนี้ น่าจะช่วยรดน้ำให้ “เมล็ดพันธุ์แห่งศิลปะ” ในใจเด็กๆ ให้เติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น

เด็กๆ ที่มาวันนี้เรียกว่ากลุ่ม Art Learning คือเด็กที่สนใจด้านศิลปะเป็นพิเศษ การที่เด็กๆ มีพื้นอยู่แล้ว พอมาดูงานแล้วก็สามารถต่อยอดอะไรๆ ได้ง่ายขึ้นอีก

ผมมองว่าถึงเด็กพวกนี้อาจจะโตขึ้นแล้ว ไม่ได้ศิลปินทุกคน เขาอาจจะเป็นหมอก็ได้ เป็นผู้ว่าฯ เป็นนักการเมืองก็ได้ แต่เขาจะเป็นหมอ เป็นนักการเมืองที่ชอบศิลปะไง มันไม่น่าดีใจเหรอที่เด็กๆ ในอนาคตที่ไปทำงานตามสาขาต่างๆ จะมีศิลปะในหัวใจของเขา

หรือถ้าในอนาคต ถ้าใครสนใจจะเป็นศิลปิน เขาจะรู้เองแหละว่า คำว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’ มันไม่เป็นความจริงหรอก สมัยนี้เขาขายงานได้ชิ้นละเป็นแสนนะ และศิลปินน้อยใหญ่เดี๋ยวนี้โตไวมากเลยนะ เพราะมีโซเชียลฯ โลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ"




ส่วนผู้ปกครองที่กำลังดูว่าจะสนับสนุนลูกหลานมาทางศิลปะไหม ก็อยากบอกว่าศิลปินเป็นอาชีพนึงครับ เหมือนคนอื่นๆ ที่เขาทำอาชีพนั้นๆ ดังนั้น ถ้าเด็กเขาอยากเรียน ให้เขาเรียนเถอะ เพราะเขาจะได้อยู่ด้วยความสุขไง

แม่ผมเคยถามประโยคเดียวนะ ลูกชอบจริงใช่ไหม ถ้าชอบก็เรียน (มัณฑนศิลป์ ออกแบบนิเทศศิลป์ ม.ศิลปากร) แม่ผมใจใหญ่มากเลยนะ

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณต้องเชื่อว่า ลูกทำในสิ่งที่เขารัก เขาจะมีความสุขครับ ความสุขสำคัญที่สุดครับ เงินทองจะมากหรือน้อย ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ลูกคุณมีความสุขหรือเปล่า




















สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพบางส่วน: โครงการ "Art Learning" โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น