xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัลจนเว็บล่ม!! “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” เกมสะท้อนสังคม ที่ความปลอดภัยไม่เข้าข้างผู้หญิง [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” จากประโยคแสดงความห่วงใย สู่เกมไวรัล ผลงานธีสิสนักศึกษารั้วศิลปากร สะท้อนความน่ากลัวที่ผู้หญิงเสี่ยงเจอ เมื่อต้องกลับบ้านกลางดึกตามลำพัง กับหลายทางเลือก “ถ่ายทะเบียนรถ-วิ่งหนี-แกล้งรำ” ย้ำ อันตรายอยู่รอบตัว แต่ “ไม่มีใครสมควรถูกคุกคาม”


คิดก่อนคลิก เพราะทุกการตัดสินใจ ส่งผลต่อเนื้อเรื่อง

“ตอนเรา Public เกมนี้ออกไป เราไม่ได้คาดหวังว่าปล่อยไปปุ๊ป โจรในสังคมก็หายไปเลย หรือคนในสังคมก็จะเข้าใจกันทุกคน เราแค่อยากจะให้มันเกิด Impact อะไรซักอย่าง ที่อย่างน้อยให้คนหันมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยกันมากขึ้น ให้หยิบประเด็นนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงในสังคมให้มากขึ้นค่ะ

อย่างชื่อเรื่องที่บอกว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”ตอนที่เราปล่อยไป ก็มีฟีดแบกกลับมาว่า เขาใช้คำนี้พูดกับเพื่อนหรือคนใกล้ตัวประจำเลย แต่ไม่คิดว่าคำนี้มันจะแฝงความน่ากลัว หรือแฝงความอันตรายของสังคมได้ขนาดนี้

เราก็เลยอยากจะดึงให้คนที่เขาไม่เข้าใจจุดนี้ เข้ามามีส่วนร่วมไปกับเกม ให้เขามีอารมณ์ร่วมไปกับเกม ให้เขาเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงๆ ในตอนนั้นที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมันกดดันนะ มันไม่ใช่แค่คุณระมัดระวังตัวแล้วจะรอดเลย”



"พิมพิศา เกือบรัมย์" หรือ “น้องต้า” นักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ประโยคที่แสดงถึงความห่วงใยนี้ เชื่อเลยว่าทุกคนเคยใช้ประโยคนี้พูดกับใครสักคน และคงจะมีใครสักคนพูดประโยคมาให้เช่นกัน

นอกจากนี้ ประโยคที่ว่า ยังเป็นชื่อของผลงานวิทยานิพนธ์หรือธีสิส (Thesis) ของสาวน้อยคนนี้ ที่มาในรูปแบบของ Interactive Game Website หรือ เกมทางเลือก

ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นหญิงสาว ที่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านกลางดึกตามลำพัง โดยมีขนส่งสาธารณะในตัวเลือก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และรถแท็กซี่ ซึ่งทุกการตัดสินใจในแต่ละคลิก จะส่งผลกับทุกเหตุการณ์และบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด

และทันทีที่เกมนี้ถูกเผยแพร่ ก็เรียกได้ว่ากลายเป็นไวรัลถึงขั้นติดเทรนด์บน Twitter มีผู้คนสนใจสัมผัสประสบการณ์นี้ ถึงขนาดที่ว่า มีคนเข้าเล่นจนเว็บไซต์ล่มกันเลยทีเดียว!!



ย้อนถามถึงจุดเริ่มต้น กว่าที่จะออกมาเป็นธีสิสชิ้นนี้ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกหยิบทำประเด็น “ความปลอดภัยในการเดินทาง” ขึ้นมาทำ

น้องต้าเล่าว่า มีความสนใจใน Interactive Website เป็นการส่วนตัว ประกอบกับอยากหยิบประเด็นนี้ ให้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง จนได้ออกมาเป็น #ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ หรือ #gethomesafeproject

“ตอนนั้นช่วงที่คิดหัวข้อ อาจารย์เขาก็โยนมาเลยกว้างๆ คุณสนใจอยากทำอะไร ทำประมาณไหน ให้ลองนำไปเสนอเขาก่อน แล้วช่วงนั้นเหมือนเราสนใจในเรื่องการทำ Interactive Website อะไรประมาณนี้ด้วย เราก็เลยคิดว่าอยากลองทำสื่อ ที่คนเข้ามาเล่นสามารถเข้าถึงได้ง่ายค่ะ

ประเด็นนี้เราถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เรื่องการระมัดระวังตัวเรื่องการเดินทาง ความปลอดภัยในการเดินทาง มันเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมานานมาก ประเด็นความปลอดภัยตรงนี้มันยังไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น ข่าวเกี่ยวกับอันตรายเวลาคนกลับบ้านคนเดียวก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เรื่องการถูกคุกคามก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

เราก็เลยคิดว่า อาจจะเป็นเพราะว่ามันกลายเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินจนไม่ได้ตระหนักถึง มันใกล้ตัวจนเหมือนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินในสังคมไปแล้วค่ะ ก็อยากจะหยิบประเด็นนี้ให้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งนึงค่ะ”

และการเก็บข้อมูลมาจากหลายภาคส่วนมาประกอบ ก็ทำให้น้องต้าได้รับรู้เรื่องราวที่ไม่คาดคิดมาอยู่ในมือมากมาย



“เรา Research หลายรูปแบบเลย ทั้ง Research ทางอินเตอร์เน็ต ตามข่าว แล้วก็มีทั้งทำเป็น Google forms ที่เก็บข้อมูลจากคนที่มาให้ข้อมูล มีการสัมภาษณ์คนที่เคยประสบเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ด้วยค่ะ

ตอนที่เก็บข้อมูลมีเพื่อนเข้ามาเล่าประสบการณ์ ว่าเขาเคยกลับบ้านคนเดียวตอนกลางคืน แล้วก็เหมือนมีคนเดินตาม เขาไม่รู้จะทำยังไงดี คิดไม่ออก ก็เลยวางกระเป๋าแล้วก็รำตรงนั้นเลย

เท่าที่ฟังมา คนที่ตามเขาเป็นคนที่สติไม่ค่อยดี ตอนนั้นเขาก็คิดไม่รู้จะทำยังไงดี ไหนๆ ก็เจอคนบ้าก็แกล้งบ้ากลับไป เขาก็เลยรำเป็นชุดยาวไปเลย จนสุดท้ายเหมือนคนที่ตามเขาก็คงกลัวๆ เป็นอะไรหรือเปล่า ก็เลยวิ่งหนีไปแทน

มีบางคนที่ขึ้นรถโดยสารกลับบ้าน แล้วก็ถูกคนขับพูดจาคุกคาม ถามว่าน้องมีแฟนหรือยังนู่นนี่นั่น เขาก็เลยแกล้งคุยโทรศัพท์แล้วพูดประมาณว่าที่รักเป็นยังไงบ้าง เลิกเวรหรือยัง’ แกล้งบอกว่าแฟนเป็นตำรวจ

สุดท้ายเขาก็พูดออกมาว่า ‘เธอรู้เปล่าว่าก่อนเธอไปทำงาน เธอลืมปืนไว้ในกระเป๋าเรานะ’ คนขับเขาถึงเหมือนกลัวๆ แล้วก็เงียบไป แล้วก็ถึงที่หมายอย่างปลอดภัยค่ะ”

นอกจากข้อมูลของกลุ่มผู้หญิงแล้ว ข้อมูลจากกลุ่มอื่นๆ ก็มีน่าสนใจและแตกต่างกันไปตามบริบทที่เจอ

“ตอนเรา Research นอกจากกลุ่มผู้หญิงแล้วยังมีกลุ่มที่เป็น LGBTQ+ บางคนเขาก็ถูกพูดจาคุกคามเวลาที่แต่งตัวเหมือนผู้หญิง เพื่อนก็เคยเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนที่จะเริ่มแต่งหญิง เดินทางก็ปกติ แต่พอเริ่มไว้ผมยาว เริ่มแต่งตัวเสื้อผ้าที่ไปในทางผู้หญิงมากขึ้นก็ถูกแซว ถูกพูดจาคุกคาม เขาเลยรู้สึกว่าแค่แต่งตัวออกไปทางผู้หญิงมากขึ้นดันถูกคุกคามซะแล้ว

แล้วก็มีกลุ่มผู้ชายก็มีเล่าเหมือนกัน อย่างเช่นเดินทางกลับบ้านตอนกลางคืนก็ถูกรีดไถเงิน ที่เห็นตามข่าวบ่อยๆ อย่างเช่น ตีผิดโรงเรียน ก็มีเหมือนกัน โดนตามโดนเช็กที่เป็นศัพท์ของเขา มีอย่างขั้นร้ายแรงที่สุดก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยัดยา เขาเห็นเดินกลับบ้านเปลี่ยวๆ ตอนกลางคืน เขาก็เข้ามานู่นนี่นั่นแล้วก็แกล้งยัดยาใส่ก็มีค่ะ”



และอีกการเก็บข้อมูลของน้องต้า คือการพาตัวเองไปลองอยู่สถานการณ์เดียวกับตัวละครในเกม เพื่อให้ได้มุมมองการทำงานที่แตกต่างและมีมิติมากยิ่งขึ้น

“ตอนทำมีทดลองเดินเข้าบ้านคนเดียวเหมือนกัน เพราะเราอยากจะรู้ว่าสถานการณ์ตอนนั้น ด้วยความที่มันมืดแล้วเราตัวคนเดียว อยากรู้ว่าตัวเองจะรู้สึกยังไง แล้วในหัวเรามันคิดอะไรได้บ้าง เพราะการตัดสินใจมันมันมีเยอะแยะไปหมด แต่ว่า 2 ทางแรกที่เราคิดขึ้นมาในหัวง่ายๆ มันมีอะไรบ้าง

เหมือนเราอยากจะเข้าไปอยู่ในจุดจุดนั้น เพื่อให้มันอินกับสถานการณ์นั้นจริงๆ อยากรู้ว่าในตอนนั้นคนที่เขาประสบเหตุการณ์นั้นเขาคิดอะไรอยู่ (รู้สึก) กลัว เพราะมันมืด แล้วมันก็ระแวงไปหมดเลย ความกลัวเรามันไม่ได้มีแค่โจรผู้ร้าย มันมีผีหรือหมาจะมาไล่กัดหรือเปล่า มันฟุ้งซ่านมากๆ ตอนนั้น ตอนดึกเราก็เลยเข้าใจว่ามันน่ากลัวจริงๆ มันไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

ลองคิดงานในหลายๆ มุมมอง เราคิดอะไรที่มันมาจากมุมมองของเราคนเดียว บางทีงานมันจะแคบ ลองคิดจากมุมมองอื่น อย่างอันนี้ลองคิดในมุมมองถ้าเราเป็นคนอื่น ถ้าเป็นผู้ชายจะรู้สึกยังไง ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงมัธยมปลายเดินกลับบ้านคนเดียว เขาจะรู้สึกยังไง ถ้าสมมติว่าคุณเป็นคนร้าย จะเข้าไปคุกคามเขา คุณจะคิดอะไรอยู่ แล้วงานมันจะมีมิติมากขึ้นค่ะ”

เกมไวรัลจนเว็บล่ม!!

น้องต้า ได้เล่าถึงกระบวนการการทำงาน ที่กว่าออกมาเป็นเกมนี้ให้ได้เล่นกันไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้เวลาไปเกือบครึ่งปี

“ต้าก็จะต้อง research ข้อมูล รวบรวมข้อมูล เสร็จแล้วก็นำข้อมูลที่ได้มาย่อย ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเยอะที่สุดมีอะไรบ้าง มีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกมันเกิดขึ้นกับทุกคน แล้วก็มาดูว่ามีทางเลือกไหนบ้าง ที่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์นั้นจริงๆ

นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังดูอีกว่าแล้วมันมีเหตุการณ์ไหนบ้างที่คนเราคาดไม่ถึงแต่สามารถใช้งานได้จริงๆ อย่างเช่นที่บอกไปว่าแกล้งรำ เสร็จแล้วเราก็ค่อยเขียนออกมาเป็นแผนผังเนื้อเรื่อง ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมีทางเลือกแบบนี้สามารถพาเนื้อเรื่องให้ไปสู่ทางไหนได้บ้าง แล้วก็กำหนดตอนจบว่าสามารถจบแบบไหนได้บ้าง จะมีตอนจบทั้งหมดกี่แบบ

พอเราทำส่วนของเนื้อเรื่อง โครงเรื่องพวกนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็เอามาเขียนเป็น Story board กว้างๆ ว่าภาพทั้งหมดในงานเราจะมีอะไร จะมีทั้งหมดกี่ฉาก แต่ละฉากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เสร็จแล้วเราก็เอาส่วนนี้ส่งให้ทีมที่เขาเขียนบทบรรยาย ให้เขาเอาไปพัฒนาต่อเป็นตัวที่เราได้อ่านกันในเกม

ส่วนของต้าก็จะไปทำภาพประกอบต่อ แล้วก็เอาทั้งส่วนของที่แพรวทำ ส่วนของที่ต้าทำ มา Recheck กันอีกที แล้วก็เอามารวบรวม แล้วก็ Develop เป็นเว็บต่อไป”



ส่วนบทบรรยายที่เรียบง่ายแต่ Touch ใจทุกประโยค ที่เราได้เห็นกันในเกม ก็มาจาก “แพรวพิชชา ตีรวัฒน์” หรือ “น้องแพรว” เพื่อนซี้สมัยมัธยมของน้องต้า ที่มาช่วยในส่วนนี้

“จริงๆ หนูเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ ทำงานเกี่ยวกับเรื่องงานเขียนอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว เพื่อนก็เลยดึงไปอยากได้คนมาช่วยเขียนบท เกลาบท ตอนเพื่อนมาพูดให้ฟังว่าทำ Project อยู่ เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจ มัน Relate เราไม่ต้องกังวลขนาดนั้นว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว มันเป็นเรื่องรอบตัวเราเลยนี่นา น่าจะทำออกมาได้ดี ก็เลยไปจอยกัน

จริงๆ รู้สึกว่าไม่ยากเพราะว่าเป็นอะไรที่เราไม่ต้องจินตนาการเยอะค่ะ มันดึงมาจากประสบการณ์จริงอยู่แล้ว เราพอจะนึกภาพออกว่ามันจะต้องออกมา Feeling ไหน

แต่ด้วยความเกมนี้ ระยะเวลาในการเล่นมันไม่นาน ฉะนั้นต้องย่อยให้มันเหลือแค่ไม่กี่คลิก อ่านไม่กี่บรรทัด หนูก็คัดคำที่รู้สึกว่าอ่านแล้วมันจะ Touch ได้เลย ถ้าที่เป็นบทบรรยายก็แบบว่า “เกิดมาเป็นผู้หญิงในสังคมนี้ต้องระวังตัวขนาดไหน”

แล้วก็ในส่วน Dialogue ก็คือเหมือนเอาจากชีวิตจริงที่ไม่ได้ดัดแปลงมาก อะไรที่เราโดนคุยด้วยจริงๆ ไม่ต้องแต่งเพิ่มเพราะถ้าแต่งเพิ่มมันจะเหมือนละครเกินไป”

[ “น้องต้า” และ “น้องแพรว” เพื่อนซี้ที่มาช่วยในส่วนบทบรรยาย ]
และตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เกมนี้คือผลงานธีสิส ที่ต้องนำเสนอก่อนจบการศึกษา ซึ่งน้องต้าก็ได้รับฟีดแบกจากอาจารย์ในคณะเป็นไปในทิศทางที่ดี

“ถ้าเป็นส่วนที่ต้องส่งกับทางคณะ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนไม่เกินนี้ หลังจากที่เราส่งทางคณะเป็นตัวต้นแบบ เสร็จแล้วเราก็เอามาทำต่อ ก็ใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน รวมประมาณ 5 เดือนกว่าๆ ค่ะ

ส่วนใหญ่ที่เป็นอาจารย์กลุ่มผู้หญิงเขาจะค่อนข้างอินไปกับเนื้อเรื่องมากกว่า เรารู้สึกว่าตอนที่เขาเล่นเขามีอารมณ์ร่วมไปกับมัน น่าจะเป็นเพราะเขา Relate กับเนื้อเรื่องด้วย

ส่วนอาจารย์ผู้ชายก็มีให้คำแนะนำในมุมอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง อย่างเช่นมันจะมีฉากที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ตามมา เขาก็มีแนะนำ คุณลองเพิ่มสีสันตรงนิดหน่อยมั้ย ลองเปลี่ยนให้ผู้ร้ายหน้าตาดีหรือน่าไว้ใจหน่อยมั้ย เพื่อให้มันดูมีมิติมากขึ้น แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับงานเรา ก็เลยไม่ได้ใส่ไป”

หลังจากที่นำเสนอธีสิสกับทางคณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เธอก็ได้หยิบผลงานนี้มาพัฒนาต่อ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาเล่นได้ ซึ่งผลตอบรับก็เรียกว่า ‘เกินความคาดหมาย’ เพราะหลังจากที่ปล่อยเกมออกไป ก็มีคนให้ความสนใจจน ‘เว็บล่ม’ ไปเลย



“จริงๆ เกมนี้เราได้ทำการลง Twitter แล้วก็เกริ่นไปซักพักแล้ว เรากำลังทำ Project เกี่ยวกับความปลอดภัย ตอนแรกด้วยความที่มันเป็นธีสิสจบ เราตั้งใจแค่ว่าเราอยากจะทำเกมนี้ เพื่อเอาไปตั้งโชว์ในบูทเรา ให้คนที่เขาผ่านไปผ่านมาเข้ามาเล่นได้ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะ Impact ได้ขนาดนี้เหมือนกัน

แต่วันที่ปล่อยจริงๆ ปล่อยไปปุ๊บ ก็โล่งใจ แล้วมีคนเข้ามาเล่น มาดูอีกทีเว็บล่มไปแล้ว คนเข้ามาเล่นจนเว็บล่มเลย แล้วก็เริ่มมีการติดเทรนด์นู่นนี่นั่นมากขึ้น

โห… ตอนนั้นวันแรกที่ปล่อยน่าจะประมาณหลักหมื่นได้ค่ะ ช่วงนั้นคนเข้าพีคๆ ก็ประมาณ 40,000 ต่อวัน แล้วหลังจากนั้นก็ลดลง แต่ก็ยังมีคนเข้ามาเล่นอยู่เรื่อยๆ หลักร้อยหลักพัน

ตอนแรกก็ไม่คิดว่าขนาดนั้น เราแค่กะว่ามีคนเดินผ่านหน้าบูธ เห็นแล้วก็มา Scan เล่น หรือมีคนเล่นโซเชียลฯ เห็นของเราผ่านๆ ก็แวะเข้าไปเล่น ทำนองนั้นมากกว่า ก็ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนั้นเหมือนกันค่ะ”

จากกระแสสังคมที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ก็ทำเอาตัวเจ้าของธีสิสเป็นปลื้มไม่น้อย

“มีคนให้ความสนใจมากกว่าที่คิดเอาไว้ค่ะ แต่จริงๆ ก็รู้สึกดีเพราะอยากให้มันเป็น กระบอกเสียงอีกทางหนึ่งให้คนกลับมาพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น ให้เป็นที่ถกเถียงในสังคมกันมากขึ้น

(ฟีคแบกจากโซเชียลฯ) ฟีดแบกส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดี บางคนที่เป็นผู้ชายที่เขาไม่ได้เผชิญเนื้อเรื่องอย่างเรา หลังจากที่เล่นเขาบอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดมาก่อน แค่เดินทางกลับบ้านตอนกลางคืนมันจะน่ากลัวได้ขนาดนี้ กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะมีเข้ามาเคยเจอแบบนี้เหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนแชร์ประสบการณ์การกลับบ้านกันเยอะอยู่ค่ะ



มีกลุ่มเพื่อนที่เป็นผู้ชายเราก็ลองส่งให้เขาเล่น เขาก็ได้ยินมาเหมือนกันว่าเรื่องนี้มันน่ากลัวมันอันตราย แต่ว่าพอเขาได้เล่นแล้วเหมือนกับว่าเขาได้ไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เขาก็บอกว่าไม่คิดมาก่อนเลยนะ ความรู้สึกกดดัน ความรู้สึกอันตรายมันจะรู้สึกมากขนาดนี้ อะไรอย่างนี้ก็มีค่ะ”

และอีกขุมกำลังสำคัญอย่าง “น้องแพรว” ก็ดีใจที่ได้เห็นประเด็นนี้ ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันในสังคมเป็นวงกว้างอีกครั้ง

“เหมือน Account หรือว่าเพจดังๆ เอาไปแชร์ หรือแนะนำว่ามีเกมนี้ลองเล่นดู แล้วก็มากขึ้นเรื่อยๆ คนก็ปากต่อปากแชร์ไปเรื่อยๆ จนมันขึ้นเทรนด์ค่ะ

มันตอนมันติดเทรนด์หรือเริ่มเป็นไวรัล เรายังคุยกันเลยว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ เราก็ไม่รู้ตัวว่ามันไวรัลขนาดนั้น เหมือนที่เป็นไวรัลก็คืออย่างแรกคนก็จะมาแชร์กันว่าได้ตอนจบยังไง อันนี้เคยเจอในชีวิตจริงนะ อันนี้ไม่เคยเจอเลยแกล้งรำ นอกจากมาแชร์ 

เขาก็มีเหมือนมาถกเถียงกัน อย่างในเกมมันจะมีให้เลือกประตูซ้าย-ขวาในแท็กซี่ เหมือนเขามาถกเถียงกันว่าฝั่งซ้ายมันปลอดภัยกว่านะ อีกฝั่งก็บอกว่าไม่ ฉันว่าฝั่งขวามันปลอดภัยกว่า

คนก็ปาข้อมูลกันมาเต็มเลย แล้วก็มีคนโควททวิตไป ไม่เคยรู้มาก่อนเลยอันนี้ หนูว่าเป็นการตอบรับที่มันต่อยอดจากตัวเกมของมันอยู่แล้ว เหมือนคนได้มาคุยกันมากขึ้น อะไรอย่างนี้ค่ะ”

เกมจากประสบการณ์จริง

เหตุการณ์ที่เราเห็นกันในเกม นอกจากจะดัดแปลงมาจากข้อมูลที่นักศึกษาสาวคนนี้เก็บรวบรวมมา แต่ส่วนหนึ่งนั้น มาจาก “ประสบการณ์ตรง”ของเธอ ที่ถูกหยิบมาใส่ด้วย

“อย่างฉากที่โดยสารรถรับจ้าง ตอนนั้นเรานั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน เราเพิ่งจะประมาณ 19-20 เอง ยังกลางวันอยู่เลย เขาก็ชวนคุยนู่นนี่นั่น ซักพักเขาก็เริ่มถามเราประมาณว่า น้องอายุเท่าไหร่แล้ว เราก็บอกอายุ 19 ค่ะ เขาก็เลยถามกลับมา ‘พี่อายุ 30 กว่าๆ ห่างกันไม่เยอะมาก น้องโอเคหรือเปล่า’ แล้วเราก็เอ๊ะ… โอเคนี่คือยังไง เราก็ขำแห้งๆ ไป

เขาก็เริ่มถามประเด็นเกี่ยวกับ แล้วน้องมีแฟนหรือยัง ทำไมกลับคนเดียว จนสุดท้ายเราก็นั่งนิ่งๆ แล้วก็ขอเขาลงก่อนถึงบ้านนิดนึง จังหวะที่ก่อนจะลง เขาก็พูดประมาณว่า ‘เสียดายจังเลยอยากนั่งกับน้องนานๆ หน่อย’ ทำตัวไม่ถูกเลยค่ะ ไม่รู้จะต้องตอบยังไงดี แล้วเราอยู่บนรถด้วย กลัวว่าพูดจาไม่เข้าหูเขาเดี๋ยวเขาจะอารมณ์เสียหรือเปล่า ทำได้แค่นั่งนิ่งๆ จริงๆ

อีกนิดนึงจะถึงบ้านแล้ว แต่เราก็กังวลไปแล้ว ถ้าเขารู้บ้านเราถ้าหลังจากนี้มาตามดักหน้าบ้านจะทำยังไง ก็เลยขอลงก่อน จอดตรงนี้เลยค่ะ แล้วก็รอให้เขาขับออกไปก่อนค่อยเดินเข้าบ้าน

ขนาดตอนกลางวัน เหตุการณ์ประมาณ 10 นาทีไม่เกินนี้ รู้สึกว่ามันน่ากลัวมากๆ ตอนนั้นเรายังทำตัวไม่ถูกเลย แล้วถ้าเกิดว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้ในตอนกลางคืน ในขณะที่เราอยู่ตัวคนเดียวด้วย มันจะรู้สึกยังไง”

ส่วนน้องแพรว ก็เคยเจอกับเหตุการณ์ “ความไม่ปลอดภัย” เมื่อต้องเดินทางกลับบ้านตามลำพังเช่นกัน

“มันเป็นตอนกลับจากโรงเรียน ตอนนั้นมันเย็นมากๆ ปกติหนูกลับรถเมล์ ทีนี้เหมือนวันนั้นมันเป็นช่วงคนเลิกงาน รถเมล์ก็หายาก หนูก็ไปรอแล้วสายเดิมมันไม่มาซักที หนูก็เปลี่ยนสายไปอีกที่นึงเพื่อที่จะต่อรถอีกที แล้วก็ดันเจอเรื่องไม่ดี มีคนรอเต็มเลยตรงป้าย



แล้วก็มีผู้ชายไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเฝ้ารถเมล์หรืออะไร เขาถามหนูว่าจะไปลงตรงไหน หนูก็บอกเขาไป จะไปลงตรงนี้ต้องต่ออันไหนไปบ้าง หนูก็ไว้ใจนึกว่าเขาจะช่วย ซักพักเขาเริ่มถามแปลกๆ ถามหนูว่าแล้วไปทำอะไรที่นั่น จะไปไหนต่อ ก็ถามวน หนูก็เริ่มรู้สึกมันไม่ใช่การแนะนำทางแล้ว มันเริ่มเข้าเรื่องส่วนตัวหนู หนูก็อึกอักตอบอะไรไม่ถูก

แต่ก็โชคดีว่าตรงนั้นคนที่รอรถเมล์ด้วยกันเขาช่วยรุมว่า จะไปถามน้องเขาทำไม เขาจะไปไหนก็เรื่องของเขา แต่ตอนนั้นหนูกลายเป็นรู้สึกไม่ปลอดภัยไปแล้ว หนูก็คิดว่า หนูต้องไปทางไหนหนูถึงจะปลอดภัย อันนี้ยังไม่ทันขึ้นรถ

วันนั้นหนูเปลี่ยนสายเพื่อมาตรงนี้ แต่หนูก็ต้องเปลี่ยนสายอีกรอบเพราะหนูกลัวเขาตามมา สุดท้ายคือยอมไปทางอื่นที่มันสว่างกว่านี้ หรือไม่ต้องต่อหลายรอบ แล้วหนูอยู่ในชุดนักเรียนอยู่ ม.6 ก็อายุ 17 ค่ะ มันรู้สึกไม่ปลอดภัยมากๆ อันนี้ที่เจอ”

เธอเล่าต่อถึงเทคนิคการป้องกันตัวเองที่ถูกปลูกฝังจากครอบครัว หากต้องอาศัยรถสาธารณะกลับบ้าน สิ่งสำคัญคือการลงก่อนถึงบ้าน เพราะเราไม่สามารถไว้ใจคนแปลกหน้าได้แม้แต่น้อย

“แล้วก็เหมือนเป็นทริกที่บ้านสอนมา เหมือนเพื่อนเลย เวลานั่งรถแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์ จะไปลงหน้าบ้าน อย่าลง ต้องลงก่อน อย่างเช่นหนูอยู่ในหมู่บ้าน ซอยเท่านี้ หนูก็ต้องบอกเขาว่าถึงแล้วค่ะ แล้วหนูก็ต้องรอเขาไปก่อนค่อยเดินเข้าบ้าน เพื่อที่จะมั่นใจว่าเขาไม่รู้ว่าหนูอยู่บ้านหลังไหน เป็นสิ่งที่บ้านหนูสอน อย่าให้คนอื่นรู้ว่าบ้านอยู่ไหน เผื่อเขาตามมาได้

หนูรู้สึกว่าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ไม่ปลอดภัยตลอดเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วทุกคนดันเจอเหมือนกัน อย่างทริกนี้หนูกับเพื่อนก็ทำเหมือนกัน ไม่เคยคุยมาก่อนด้วย เหมือนกับว่าโดนสอนมาเหมือนกัน เราไม่รู้ได้เลยว่าคนไหนเขาไว้ใจได้ ไม่ไว้ใจได้ แต่ว่าเราก็เซฟไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดอะไรที่ไม่อยากให้เกิด”

“ไม่มีใครสมควรถูกคุกคาม”

เมื่อถามถึงแก่นของเกมนี้ น้องต้าเล่าว่า แท้จริงแล้วเกมก็ไม่ได้บอกว่าตัวเลือกไหนคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ และไม่มีอะไรจะการันตีถึงความปลอดภัย แม้เราจะระวังตัวมากแค่ไหนก็ตาม

“เราอยากจะสื่อว่า เหตุการณ์อันตรายนี้มันไม่มีทางเลือกไหนที่เป็นทางที่ถูก เป็นทางที่ผิด แต่ละอย่างที่เราจะทำได้ตอนนั้น มันขึ้นอยู่สถานการณ์ในตอนนั้นด้วยค่ะ บางทีการนั่งฝั่งซ้ายหลังเบาะคนขับ ในอีกสถานการณ์นึงอาจจะปลอดภัยกว่า แต่การที่นั่งฝั่งขวาอาจจะปลอดภัยกว่าก็ได้ในสถานการณ์

มันเป็นเหมือนความรู้สึกมากกว่า เพราะต่อให้เลือกทางไหน สุดท้ายเนื้อเรื่องทั้งหมดคือเราถูกคุกคามอยู่ดี ต่อให้เราระวังตัวแค่ไหน ยังไงเราก็ยังมีโอกาสที่จะถูกคุกคามได้อยู่ดี เราอยากจะนำเสนอความรู้สึกตรงนี้ออกมาด้วย”



เช่นเดียวกันกับน้องแพรวที่เสริมว่า แม้เราจะพาตัวละครให้ถึงตอนจบอย่างปลอดภัย แต่ระหว่างทางที่เดินทางกลับบ้าน ตัวละครก็ได้ผ่านการถูกคุกคามมาแล้ว

“แม้แต่บางคนเล่นแล้วตอนจบได้จบแบบ Good Ending แต่ว่าระหว่างทางจริงๆ คุณก็โดนคุกคามไปแล้ว แค่ตอนจบคุณไม่ได้โดนทำร้ายร่างกายขนาดนั้นเฉยๆ

เพราะว่าสุดท้ายชีวิตจริงเลือกอะไรไป เราก็ไม่รู้ได้เลยว่ามันจะปลอดภัยหรือเปล่า อย่างในเกมบางคนเล่นเส้นทางนี้มาตลอดสุดท้ายปลอดภัย แต่ชีวิตจริงถ้าไปทำตามเหมือนในเกมเป๊ะอาจจะไม่ปลอดภัยก็ได้

แล้วมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงอย่างเดียว อย่างในเกมเลือกดีแล้ว บางคนก็เลือกจบมาไม่ปลอดภัยอยู่ดี เราก็ระวังของเราสุดแล้ว แต่มันก็ยังมีปัจจัยอื่นอยู่ดีที่ทำให้สุดท้ายเราไม่ปลอดภัย แล้วเราก็ต้องมานั่งสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่ปลอดภัยง่ายขนาดนั้น”



น้องต้าเล่าต่อ ถึงการเลือกถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครในเกม ผ่านตัวละครที่เป็นผู้หญิง เพราะจากหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม บ่อยครั้งที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนั้นๆ

“อาจจะไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย เป็นทั้งสังคมทั่วไป เรารู้สึกว่ามันยากในเรื่องของความอันตราย เรารู้สึกว่าถ้าดูตามข่าวหรืออะไร เราจะเห็นว่าข่าวเรื่องผู้หญิงถูกคุกคาม หรือว่าถูกทำร้ายร่างกาย มันมักจะมีมากกว่าผู้ชาย

เราก็เข้าใจว่ามันไม่ได้มีแค่เพศหญิงที่ถูกคุกคาม ผู้ชายก็ถูกคุกคามได้เหมือนกัน เพศอื่นๆ ก็ถูกคุกคามได้เหมือนกัน ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิง เราเกิดแล้วเราก็โตมาในสังคมนี้ เราประสบเหตุการณ์จากมุมมองของผู้หญิงเอง

เราเลยรู้สึกว่าเราสามารถจะถ่ายทอดความรู้สึกในมุมของผู้หญิงได้ดีกว่าเพศอื่น เราก็เลยเลือกหยิบประเด็นของเพศหญิงมาพูดค่ะ (ตัวเลือก ‘แกล้งรำ’ เพื่อให้รอดจากคนร้าย) มันก็เป็นเรื่องที่ตลกปนกับเศร้าๆ เหมือนกันว่า ความปลอดภัยของเรา ต้องพึ่งพาสิ่งที่เรามองไม่เห็น”



ทางด้าน น้องแพรว ก็ช่วยเสริมต่อในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

“หนูรู้สึกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิงกับชาย เพศหญิงมักจะอยู่ด้อยกว่า อย่างแรกเลยคือเรื่องทางกายภาพอันนี้อยู่แล้ว แต่ว่ามันจะมีเรื่องของความปลอดภัย หรือว่าอะไรบางอย่างที่เพศหญิงโดน Push ไม่รู้ว่ามันเป็นผลพวงจากระบบปิตาธิปไตยหรือเปล่า

อันนี้ที่บ้านหนูสอนมา บ้านหนูมีผู้หญิงกัน 3 คน แล้วก็มีพ่อ แต่พ่อไม่ค่อยกลับบ้าน แม่จะบอกว่าให้วางรองเท้าพ่อไปหน้าบ้านให้เขารู้ว่ามีผู้ชาย ในขณะเดียวกันหนูคิดว่า จะมีผู้ชายคนไหนต้องวางรองเท้าผู้หญิงไว้หน้าบ้านเพื่อให้ปลอดภัย มันเหมือนเพศหญิงบางอย่างก็ต้องพึ่งเพศชาย อย่างเช่นในเกม มันก็จะมีตอนที่ผู้หญิงบอกว่าแฟนเป็นตำรวจ แฟนเป็นเพศชาย

อย่างนึงหนูว่ากฎหมายอาจจะเบาด้วย ทุกวันนี้ไม่ว่าคดีไหน อย่าว่าแต่เรื่องการทำร้าย การคุกคาม การข่มขืน เหมือนคนไม่ค่อยกลัวว่าทำอะไรไปแล้วเราจะต้องรับผิดชอบผลการกระทำ เหมือนเปิดโอกาสให้ใครอยากทำอะไรก็ทำค่ะ”

ขณะเดียวกัน น้องต้ายังได้แชร์ข้อมูลความเห็นอีกด้านที่เจอ ในทำนองว่า เหตุการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ส่วนหนึ่งก็มาจากเหยื่อที่พาตัวเองไปตกอยู่ในความเสี่ยงเอง ซึ่งเจ้าของธีสิสมองว่า “ไม่มีใครสมควรที่จะถูกคุกคาม” ทั้งสิ้น

“อาจจะต้องเท้าความก่อนว่า ก่อนที่จะทำ Project นี้ มันเกิดจากการที่เราเล่น Social Network แล้วเราก็เห็นข่าวเกี่ยวกับการถูกคุกคาม แล้วเราก็จะชอบเห็นคอมเมนต์ เขาบอกไม่ระวังตัวเอง เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่เสี่ยงหรือเปล่า หรือคุณแต่งตัวโป๊หรือเปล่าถึงถูกคุกคาม

เราก็เลยรู้สึกว่าเหมือนคนในสังคมตอนนี้ ยังมีคนอีกหลายๆ คน หลายๆ กลุ่ม ที่เขายังไม่ได้เข้าใจถึงสถานการณ์นี้จริงๆ มันคือการเบลมเหยื่อ เราคิดว่าการที่ใครสักคนหนึ่งจะถูกคุกคาม สาเหตุมันไม่ใช่มาจากตัวของเหยื่อ แต่มันเกิดจากตัวคนคุกคามมากกว่า



ต่อให้เราป้องกันตัวเองดีแค่ไหน สุดท้ายถ้าคนจะเข้ามาคุกคามเรา เราก็ไม่สามารถไปห้ามเขาหรืออะไรได้อยู่ดี เขาก็จะคุกคามอยู่ดี เหมือนเขาบอกว่า ถ้าเกิดว่าคนเลือกที่จะกลับบ้านตอนดึก แปลว่าคุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงแล้วว่าคุณอาจจะมีโอกาสเกิดเหตุอาชญากรรม ซึ่งเราคิดว่ามันไม่มีใครสมควรที่จะถูกคุกคาม หรือว่าต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้

ถึงแม้ว่าเขาจะแต่งตัวไม่ดี หรือว่าเขาไม่ได้ระมัดระวังตัวเอง แต่ว่าคนอื่นก็ไม่มีสิทธิจะไปคุกคามเขาอยู่ดี เรารู้สึกว่าการที่สังคมเขาเบลมเหยื่อ เหมือนเป็นการให้ท้ายคนกระทำผิด ให้ท้ายคนคุกคาม”

ด้านน้องแพรวก็เสริมว่า เกมนี้แม้จะไม่ช่วยให้ปัญหาหมดไปในทันที แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้สังคม หันมาสนใจถึงความเสี่ยงที่คนคนนึงต้องเจอ เมื่อต้องเดินทางตามลำพัง

“จริงๆ หลังเกมปล่อยไปแล้ว ตอนที่มีคนช่วงเป็นไวรัลแล้วคนถกเถียงกัน แล้วก็จะมีบางคนบางกลุ่มที่บอกว่าจริงๆ เราเลือกได้ว่าเราจะให้ความปลอดภัยตัวเองได้มากแค่ไหน แต่งตัวคุณก็เลือกได้ หรือว่าทางเปลี่ยวคุณก็เลือกที่จะเลี่ยงได้มัน เหมือนเขาบอกว่าบางทีคุณก็ทำตัวเป็นเหยื่อได้เองหรือเปล่า คุณเอาตัวไปเสี่ยงเอง

Message ในเกมที่เราจะสื่อคือ คนเล่นที่เลือกระวังตัวดีอยู่แล้ว แต่ละอันคือคิดแล้วเอา choice ไหนดี เขาก็ระวังอยู่แล้ว แต่สุดท้ายถ้ามันเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่ความผิดของเหยื่ออย่างเดียวค่ะ

เหมือนเราคุ้นชินเป็นเรื่องปกติ แต่ว่ามันไม่ควรปกติ จริงๆ ตอนปล่อยไปก็มีคนพูดนะ ว่าคิดว่าปล่อยไปแล้วพวกคนไม่ดีที่คุณพูดถึง เขาจะมาเล่นเหรอ ใครจะมารู้ด้วยเหรอ แต่เรารู้สึกว่าเพราะมันเป็นที่พูดถึง มันก็เป็นการไปข้างหน้าที่ดีค่ะ อย่างที่บอกว่ามันคงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหายไปเลย แต่ว่ามีการขับเคลื่อนนิดนึง มันก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ดีแล้วค่ะ”

เตรียมต่อยอดเกมใหม่สะท้อนสังคม

และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ในตอนนี้ Project “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” มีผู้ติดต่อเข้ามา สนใจอยากจะนำเกมนี้ไปต่อยอดในเนื้อเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

“ก็มีติดต่อมาบ้างค่ะ แต่ว่าจะเป็นในมุมของสนใจทำเป็นเนื้อเรื่องอื่นๆ มั้ย แต่สำหรับ Project นี้เรามีแพลนว่า มีโอกาสเราก็อยากจะทำเนื้อเรื่องในมุมอื่นๆ อีกเหมือนกัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ ค่ะ เรารู้สึกว่ามันยังมีอีกหลายประเด็นที่มันใกล้ตัวเหมือนกันกับเรื่องนี้เลย แต่มันยังไม่ถูกพูดถึงมากขนาดนั้น

Scope งานตอนนี้ ตอนเริ่มต้นเรื่องเราจะใช้วิธีการเล่าเรื่อง ด้วยการที่บรรยายถึงการกลับบ้านบนรถเมล์คนเดียวหรือรถไฟฟ้าคนเดียว จากนั้นก็เข้าสู่เนื้อเรื่องของการเดินทางเข้าซอยเปลี่ยว ก็จะมีทั้งเรียกรถโดยสารรับจ้างที่เป็นแท็กซี่ หรือว่าเดินเข้าบ้าน แล้วถูกคนขี่มอเตอร์ไซค์ตามมาคุกคาม

มันยังมีประเด็นของเรื่องรถสาธารณะ อย่างเช่นรถเมล์หรือว่ารถไฟฟ้า ที่เรายังไม่พูดถึงว่ามันยังมีเรื่องอันตรายอะไรในการเดินทางอีกบ้าง หรือว่าอาจจะเป็นเรื่องอื่น เดินเข้าบ้านอาจจะไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์ตามแล้ว อาจจะโดนกลุ่มคนที่นั่งสังสรรค์กันคุกคาม หรือโดนดักปล้นแทน เรายังมองในมุมผู้หญิงอยู่ แต่ว่าแพลนมุมมองเรื่องของเพศอื่นๆ ก็มีวางไว้เหมือนกัน”



และไม่ใช่เฉพาะแค่ในบ้านเรา เพราะจากไวรัลที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นที่สนใจของประเทศใกล้เคียง ที่อยากลองเล่นเช่นกัน

“พอเราเป็นไวรัล ประเทศเพื่อนบ้านหรือทางไต้หวัน เขาเห็นประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิง เขาก็รู้สึกว่าประเทศฉันก็มีเหมือนกัน ประเทศฉันก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน เกี่ยวกับการเดินทางปลอดภัย เขาก็สนใจอยากจะเข้ามาเล่น ก็มีสอบถามเข้ามาเรื่อยๆ จะมีเวอร์ชันภาษาจีนมั้ย จะมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษมั้ย อะไรอย่างนี้ค่ะ

ตอนนี้กำลังพัฒนาเวอร์ชันภาษาอังกฤษกันอยู่ค่ะ เพราะว่าเราลองนำเสนอให้กับกลุ่มประเทศในแถบเอเชียน ที่เป็นเพื่อนบ้านก็มีคนหลายๆ กลุ่มที่สนใจ อยากลองเล่นเหมือนกัน

ตอนนี้ตัวเกมเรามีเปิดรับบริจาค ถ้าคุณสนใจอยากจะสนับสนุนเรา ก็สามารถเข้าไปบริจาคผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้เลย มีแค่ช่องทางเดียว ด้วยความที่มันเป็นธีสิสของเราด้วย เราแค่อยากจะเผยแพร่เพื่อให้มันเกิด Impact กับสังคมแล้วก็อยากจะนำเสนองานเราออกสู่สายตาสังคมเฉยๆ ก็เลยไม่ได้ไปหาทุนหรืออะไรเลย ใช้ทุนตัวเองล้วนๆ

ตอนนี้มีการเปิดระดมทุนสำหรับตัวเนื้อเรื่องภาคถัดไปแล้ว เราก็อาจจะทำการขอทุนแหล่งอื่นๆ ได้อีกอะไรอย่างนี้ค่ะ หรือว่ามีคนสนใจ อยากจะเป็นสปอนเซอร์ร่วมสนับสนุนได้เช่นกัน เท่าที่วางแผนไว้ก็มีประมาณนี้ค่ะ”



เมื่อถามถึงการวางอนาคตของตัวเองไว้ หลังออกจากรั้วมหาวิทยาลัย น้องต้าให้คำตอบว่า ยังคงชื่นชอบงานเกี่ยวกับการออกแบบและวางระบบบนเว็บไซต์

“เราวางตัวไว้ว่าเราอยากเป็นคนที่ Design ออกแบบระบบ หรือว่า Design เกี่ยวกับพวก UX Design ที่เป็น User Journey รวมไปถึง EI ด้วย แล้วก็จริงๆ แล้วเขามีสอนแต่เป็นพวก UX UI Design มากกว่า แต่ว่าไม่ได้มีสอนเกี่ยวกับ Interactive Website โดยตรง อันนี้คือความสนใจของเราเองโดยที่เอามาประกอบกับสิ่งที่เคยเรียนมาด้วย

UX UI Design เหมือนเป็นการออกแบบ User Interface สำหรับใช้งานบนเว็บไซต์หรือว่าใช้งานแอปพลิเคชัน ปกติ UI เขาก็จะมีสิ่งที่เป็น UX พ่วงมาด้วย ก็คือออกแบบว่าการที่คุณเข้าแอปมา มันจะต้องทำยังไงให้คุณอยากจะกดปุ่มถัดไป

หรือว่าทำยังไงให้สามารถดึงคนที่เข้ามาใช้งาน ให้อยู่กับแอปฯหรือเว็บไซต์ของเราได้นานๆ เหมือนเป็นการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน แล้วก็ส่วนตัวชอบออกแบบอะไรเกี่ยวกับเป็นระบบ ชอบจินตนาการเนื้อเรื่องนู่นนี่นั่นอยู่แล้วด้วยค่ะ

วางตัวเองว่าอยากเป็นนักออกแบบเกี่ยวกับพวกการสร้างประสบการณ์ เราชอบออกแบบอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ชอบวางแผน ชอบวาง Design ทำยังไงให้คนที่เข้ามาเล่นจะสามารถอยู่กับสิ่งๆ นี้ได้ ทำยังไงให้คนที่เข้ามาเล่นรู้สึกสนุก แต่ก็ยังได้อะไรกลับไปให้ฉุกคิดด้วย”



ส่วนน้องแพรว การที่ได้มาช่วย Project ของเพื่อนครั้งนี้ ก็ทำให้ได้เห็นภาพตัวเองในฐานะ “นักเล่าเรื่อง” ชัดยิ่งขึ้น

“ส่วนตัวหนูสนใจเรื่องการเล่าเรื่องภาพยนตร์หรืออะไรอย่างนี้ อย่างที่มาทำอันนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองมาช่วยเขียนบท เราช่วยเราเรื่องอะไรบางอย่างออกไป ในอนาคตก็เลยอยากเป็นนักเล่าเรื่องคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน อาจจะเป็นภาพยนตร์ หรือว่าทำ Project อะไรซักอย่าง หรืออาจจะเป็น Content creator อย่างนี้ค่ะ

ความจริงคือหนูดรอป ตอนนี้หนูทำงานหาเงินแล้วก็หาประสบการณ์ อย่าง Project นี้ก็รู้สึกว่าตัวเองเริ่มรู้ทางว่าอยากจะไปเป็นแบบไหน ทำอะไร หาอะไรทำให้มันได้อะไรเข้าตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ก็มีความคิดว่า ในอนาคตถ้ามีเวลา ถ้ามีเงิน มีโอกาส ก็จะกลับไปเรียนให้จบ แล้วก็ไปเรียนต่ออะไรที่เราสนใจ เพราะสุดท้ายก็ยังอยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำจริงไปด้วย

(Project “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”) ก็ภูมิใจ ก็บอกเพื่อนว่ามาทำอันนี้ เรารู้สึกว่าเห็นเวย์ตัวเองชัดขึ้นนะ เป็นบันไดอีกก้าวหนึ่งของเรา ถ้าไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเห็นบันไดของตัวเองไปเรื่อยๆ”



สุดท้ายนี้ ทีมข่าวได้ให้ทั้งคู่ช่วยฝากคำแนะนำถึงน้องๆ มัธยมปลายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ที่น้องๆ ที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวตน น้องแพรวกล่าวว่า ให้เลือกในสิ่งที่ตนเองสนใจ เพราะสิ่งนั้นจะแตกแขนงและพาเราไปเจอกับอะไรอีกมากมาย

“ถ้าน้อง ม.ปลายที่จะขึ้นมหาลัย ดูก่อนว่าตัวเองชอบอะไร คณะหรือว่าอาชีพในชีวิตจริง น้องจะได้รู้จักมันอีกเยอะ แล้วมันจะแตกไปได้อีกเรื่อยๆ ถ้าเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ แล้วก็อยากไปรู้กับมันจริงๆ เลือกอันนั้นดีกว่า เพราะสุดท้ายน้องจะเจอขั้นบันไดของตัวเองไปเรื่อยๆ”

ส่วนน้องต้าก็ให้คำแนะนำว่า การลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็จะเป็นอีกวิธีที่พาให้เราไปเจอกับสิ่งที่เราชอบได้ไม่ยาก

“ก็อยากฝากว่าถ้าเกิดสมมติว่า ใครยังหาสิ่งที่ตัวเองชอบไม่เจอ หรือหาแนวทางในชีวิตของตัวเองยังไม่เจอ อยากให้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างดู

เพราะอย่างที่บอก Interactive Website มันก็ไม่ใช่สายโดยตรงที่ต้าเรียนมา เพิ่งมารู้จักกับมันได้ช่วงหลังๆ พอได้ลองทำก็รู้สึกว่ามันเข้ามือเรา เรารู้สึกว่ามันถนัด เดี๋ยวก็เหมือนสานต่อทางด้านนี้ไปเลย ถ้าเกิดว่าบางคนที่ยังคิด Project ไม่ออก ให้ลองหยิบประเด็นที่มันอยู่ใกล้ตัว มันอาจจะเป็นประเด็นง่ายๆ แต่ว่าคนอื่นหรือเราอาจจะคาดไม่ถึงค่ะ”



View this post on Instagram

A post shared by LIVE Style (@livestyle.official)


สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : ทวิตเตอร์ @newfilestudio, เฟซบุ๊ก "Tar Keupram" และอินสตาแกรม @9hkii



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น