xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดศิลปิน ตวัดเกรียงจากศรัทธา ป้ายสีสันก่อ “รูปที่มีทุกบ้าน” ชวน 77 จังหวัดร่วมเติมเต็ม [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเทคนิคศิลปินผู้มุ่งมั่นวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ผ่านการสร้างสรรค์ด้วยเกรียงและสีน้ำมัน ที่ทำออกมาอย่างเหมือน ทั้งสวยงาม พร้อมเชื่อมความสามัคคีให้คน 77 จังหวัด ออกมาช่วยกันวาดภาพในหลวง ผ่านภาพเดียวกัน



เชื่อมความสามัคคี ด้วยภาพในหลวง

“ที่วาดด้วยเกรียงเพราะว่า สามารถให้ทุกคนมาประสานกันได้ด้วยเกรียงอันเดียวกัน ความหมายก็คือว่าใช้อุปกรณ์อันเดียวกัน ในอันเดียวกันสามารถเขียนรูปนี้ออกมาได้ ผมทดสอบมาแล้วว่าได้ ประชาชนคนไหนก็ได้ครับ สามารถแต้มต่อเนื่องกัน เหมือนกับว่าคุณมีความสมัครสมานสามัคคี สามารถสรรค์สร้างภาพนี้กันได้”

“อาจารย์สมไชย ทรงเตชะเลิศ” ศิลปินที่มีเอกลักษณ์ในการใช้เกรียงวาดรูปแทนพู่กัน ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่จะใช้เกรียงร่วมกับพู่กันเพื่อเพิ่มความหลากหลาย มากกว่าใช้แค่เกรียงอย่างเดียว เพราะเกรียงมีขนาดใหญ่ ควบคุมลำบาก จึงยากในการนำมาวาด เพราะต้องใช้ความแม่นยำอย่างการวาดภาพคน

แต่ภาพที่ปรากฏให้เห็นแล้วว่า ศิลปินท่านนี้ สามารถทำได้ และทำได้ออกมาทั้งเหมือน และสวยงาม จนมีคนเข้าไปชื่นชม และซื้อไปติดไว้ที่บ้านเพื่อบูชากันหลายคน

นอกจากความสามารถที่แสดงให้เห็นแล้ว ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีในการลงทุนลงแรงวาดภาพ เพื่อความรักความศรัทธา ก็ผุดไอเดียสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อตอบแทนในหลวง ด้วยการคิดสร้างโครงการวาดภาพ 77 จังหวัด

อาจารย์ช่วยเล่าจุดเริ่มตนของโครงการนี้ให้ฟังว่า เกิดจากที่ตัวเองนั้นมีความรัก ศรัทธาในตัวในหลวงรัชกาลที่ ๙ บวกกับชื่นชอบในการวาดภาพจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนในประเทศ ออกมาช่วยกันวาดภาพในหลวง ผ่านภาพเดียวกัน


“โครงการก็เกิดจากการที่ผมเขียนรูปในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาค่อนข้างนานมาก โดยมีท่านเป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าท่านทำประโยชน์เพื่อประชาชน ประเทศไทยเยอะมาก จนเรานึกโครงการไม่ครบนะครับว่าท่านทำอะไรบ้าง

ฉะนั้นผมคิดว่า เวลาผมเขียนรูปท่านผมมีความสุข เขียนไป ฟังเพลงของท่านไปยิ่งมีความสุขมากยิ่งเพลงพระราชนิพนธ์ ผมฟังแล้วมีความสุข บรรยากาศในการเขียนภาพเหมือนเราถ่ายทอดจิตใจทุกอย่างของเราลงไปอยู่ในภาพ ยิ่งเขียนยิ่งมีความสุข ก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็จะเขียนจนตายครับ ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็แล้วแต่

แต่ผมมามองแล้วว่าความภูมิใจของเรา อาจจะมีเฉพาะเรา แต่ถ้าศิลปะของเราสามารถให้ประชาชนร่วมกัน มาถ่ายทอดในเฟรมเดียวกัน เหมือนกับท่านทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชนทั้งหมดด้วยความรัก ไม่ได้ด้วยการเมืองอะไรทั้งสิ้น ด้วยความรักอย่างเดียว ฉะนั้นผมคิดว่าประชาชนคนไทยสามารถที่จะร่วมกันทำได้ โดยผ่านศิลปะแบบประชาธิปไตยคือ หนึ่งคนหนึ่งแต้ม

คุณจะเป็นเศรษฐีร้อยล้าน พันล้าน คุณก็หนึ่งแต้ม คุณจะเป็นยาจก คนตาบอด คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง อัลไซเมอร์คุณก็หนึ่งแต้ม นี่คือภาพของประชาธิปไตย

คุณจะเป็นสีเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อส้ม สีอะไรก็แล้วแต่ คุณก็หนึ่งแต้ม ฉะนั้นนี่ก็เป็นภาพของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้ารวมกันเป็นล้านๆ คน ผมคิดว่าพลังจะมหาศาลมาก

แต่เราต้องมีวิธีในการที่จะเริ่มทำว่า จะเริ่มจากจุดไหนอะไรยังไง ซึ่งผมเริ่มทดลองมาแล้วเป็นร้อยๆ ภาพ จนมาถึงตอนนี้เราต้องแบ่งให้เรียบร้อย มีขั้นตอนในการดำเนินการทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ทำไปเลย หรือเขียนไปเลยไม่ได้

ผมลองให้ศิลปิน พรรคพวกด้วยกัน จบเพาะช่าง จบศิลปะมาลองทำดู ซึ่งเขาก็ทำไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้จะเริ่มยังไง ต่างคนก็ต่างต้องการโชว์ฝีมือตัวเองไป ซึ่งรวมกันแล้ว ถ้าไม่มีระเบียบเบียบแผนจะเละเทะ จะมั่วเหมือนการเมืองการเราก็เละเทะหมด คนนี้คิดอย่าง คนนั้นคิดอย่างรวมกันไม่ได้

แต่ถ้ามีระเบียบวินัย มีวิธีทำ แล้วเสมอภาพด้วย นี่น่าจะเป็นรูปแรกของโลกนะครับ ที่เสมอภาคที่สุด แล้วคนมาร่วมกันเขียนมากที่สุดในโลก ลงกินเนสส์บุ๊กได้ครับ”


แบ่งภาพเป็น 77 ช่อง

สำหรับขั้นตอนการทำก็คือ จะมีการแบ่งรูปในหลวงทั้งหมดเป็น77 ช่อง ซึ่งเป็นตัวแทนของคนทั้ง77 ทั้งหวัด จากนั้น ให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบในช่องหมายเลขของตัวเอง จากนั้นให้ประชาชนมาประสานกันได้ด้วยเกรียงเดียวกัน ค่อยๆ ป้ายสีไปคนละหนึ่งครั้ง

“เริ่มจากแบ่งภาพให้เป็น 77 ภาพ คือตอบแทนความหมายของ77 จังหวัดของประเทศไทย โดยที่เราเริ่มจากจังหวัดที่1 เริ่มจากระเนตรของท่าน พอเขียนเสร็จอาจจะเป็นจังหวัดนราธิวาสก็ได้ จังหวัดต่อไปอาจจะเพชรบุรี หรือเชียงใหม่หรืออะไรก็ได้

จังหวัดต่อไปอาจจะเป็นบุรีรัมย์ก็ได้ ซึ่งเราไม่แบ่งแยกอยู่แล้ว เพราะรูปนี้เป็นรูปแห่งความสามัคคีของชาวไทยทั่วประเทศ
แบ่งเป็น77 จังหวัด เพื่อให้คน77 จังหวัดมีส่วนร่วมในการเขียนภาพนี้ ความหมายก็คือ ในหลวงของเรา ท่านเดินทางครบ77 จังหวัด เพื่อความสงบสุข เพื่อความอยู่ดีกินอยู่ของประชาชน

ตอนนี้เราก็จะให้ประชาชนในจังหวัดมาร่วมกัน มีสิทธิเท่าเทียมกัน ก็คือคนละหนึ่งแต้มเท่านั้นเอง จะไม่มีการแบ่งแยก เพราะเราต้องการความเป็นประชาธิปไตยด้วย ซึ่งในหลวงของเราเป็นกษัตริย์ที่ทรงเป็นประชาธิปไตยอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งใครอาจจะไม่เคยเขียนมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็สามารถเขียนได้


[ตัวอย่างการแบ่งภาพ 77 ช่อง]

ผมอยากให้คนรุ่นหลังเรา หรือคนที่กำลังจะเกิดขึ้นมา อยากให้รู้ว่าสถาบันชาติ มหากษัตริย์ มีคุณอนันต์ต่อประเทศมาก ฉะนั้นถ้าเราทำอะไรเพื่อตอบแทนท่าน ที่ท่านมีความรักต่อประชาชนทุกคนได้ ผมคิดว่าเราต้องทำ ทำเพื่อความกตัญญู ทำเพื่อเป็นเอกลักษณ์

ที่ผมเลือกภาพนี้เกิดจากการทรงงานองท่านที่มีเหงื่อไหล โดยที่พวกท่านไม่อาจรู้ได้เลยว่า ท่านเป็นกษัตริย์ที่ลำบากที่สุดในหลวง แต่เป็นกษัตริย์ที่มีคนรักที่สุดในโลก

ที่วาดด้วยเกรียงเพราะว่า สามารถให้ทุกคนมาประสานกันได้ด้วยเกรียงอันเดียวกัน ความหมายก็คือว่าใช้อุปกรณ์อันเดียวกัน ในอันเดียวกันสามารถเขียนรูปนี้ออกมาได้ ผมทดสอบมาแล้วว่าได้

ประชาชนคนไหนก็ได้ครับ สามารถแต้มต่อเนื่องกัน เหมือนกับว่าคุณมีความสมัครสมานสามัคคี สามารถสรรค์สร้างภาพนี้กันได้”


วาดภาพด้วยเกรียงสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง

เกรียงถือเป็นอุปกรณ์ในการวาดภาพสีน้ำมันที่สารพัดประโยชน์มากตัวนึง ทั้งใช้ในการใช้ในการผสมสี ใช้ทำความสะอาดจานสี ใช้ในการเกลี่ยสีให้เรียบเนียน

ศิลปินส่วนใหญ่จะใช้เกรียงร่วมกับพู่กันเพื่อเพิ่มความหลากหลาย มากกว่าใช้แค่เกรียงอย่างเดียว เพราะเกรียงมีขนาดใหญ่ ควบคุมลำบาก จึงยากในการนำมาวาดสิ่งที่ต้องใช้ความแม่นยำอย่างการวาดภาพคน

แต่อาจารย์ท่านนี้ กลับเลือกที่จะใช้เกรียงเพียงอย่างเดียว ในการวาดรูปของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยเกรียงให้ออกมาสวยงาม แถมยังเหมือนภาพถ่ายอีกด้วย

“วาดด้วยเกรียงครับผม คือผมอยากสร้างสรรค์อะไรที่แตกต่างจากคนอื่นที่เขียน อุปกรณ์ที่เขาเอาไว้ผสมสี แต่ของผมเอามาเขียนรูปเลย

และที่โครงการนี้จะใช้เกรียงก็เพราะต่างกันตรงที่ พู่กันไม่สามารถผสมผสานกันโดยแบบฉบับนี้ได้ คนต่อไปที่จะมาลงเขาก็ไม่รู้จะมาลงยังไง แต่เกรียงอันเล็กๆ เราสามารถผสมสี แล้วแต้มฝีมือของเขาคือแต้มลงไปในผืนผ้า

ต้องผสมสีให้เป็น แล้วทฤษฎีสีต้องพอได้ แต่ผมมองดูแล้วไม่ยาก เพราะงานของผมถ้าคุณเขียนผิด ก็สามารถทับได้ แก้ไขได้ เหมือนอย่างคำสอนของในหลวง ผิดคุณก็แก้ไข แล้วก็อย่าทำผิดซ้ำแค่นั้นเอง ศิลปะเหมือนกันก็แก้ไขได้ ไม่ต้องกลัวว่าผิดไปแล้วแก้ไขไม่ได้ ผมผิดมาเป็นร้อยๆ ครั้ง แล้วผมก็แก้ไขแล้วทำได้ คือต้องรู้จักแก้ไขเท่านั้นเอง

ไม่ต้องกลัวผิดพลาด คุณลงสีผิดไม่ต้องกลัว คุณลงแก้ไขได้ตลอด สมมติประชาชนเขียนสัก1 ล้านคน มันจะสวยไม่สวย แต่ผมว่ามันมีค่า พลังที่เขาใส่ไปในรูปรวมกันเป็นประเทศไทยผมว่ามันมีค่า

ภาพที่ออกมาจากการกระทำ ได้มากกว่าภาพที่ได้รับออกมา ผมว่าน่ารักครับ ชาวพุทธ ชาวมุสลิม ร่วมกันเขียนภาพออกมาคือภาพที่เขารัก คือภาพในหลวง ผมว่ามันเป็นภาพที่สวยกว่าที่ผลงานออกมา คือลักษณะของคนที่ไปทำ ประชาชนสวยงามกว่าภาพ”


หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่ใช้พู่กันในการวาด เพราะดูจะเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับประชาชนคนทั่วไป ในการร่วมกันทำโครงการนี้ซึ่งอาจารย์ก็ให้คำตอบว่า การใช้เกรียงนั้นง่ายกว่าพู่กันแน่นอน

“ถ้าใช้ฝีแปรงผมคิดว่าจะลำบากนิดนึง เพราะฝีแปรงแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ฝีเกรียงนี่เหมือนกันแน่นอนครับ แต้มยังไงก็ออกมาเป็นแบบนี้ได้ แต่ความหมายไม่ได้บอกว่าให้ภาพสวย ให้คนร่วมรู้รักสามัคคีกัน เช่น ชาวเขาทางเหนือ ผมคิดว่าเอารูปในหลวงไปให้เขาลงสี เขาเต็มใจ เพราะเขาได้รับความกรุณาฯ จากในหลวง ร.๙ มาก”


ใครว่างานหยาบไม่สน จุดเด่นที่คนก็อปปี้ก็ไม่ได้

แม้จะได้รับคำวิจารณ์จากใครต่อใครว่า ศิลปะด้วยเกรียงนั้นจะเป็นงานหยาบ ไม่ค่อยมีความปราณีตหรือสวยงามแบบศิลปินท่านอื่นก็ไม่ได้สนใจ เพราะมองที่ความเหมือนมากกว่า

“ผมเป็นแค่คนเขียนรูป ผมไม่ได้เป็นศิลปินหรือเป็นอะไร แต่ศิลปะของผม คนอาจจะไม่เข้าใจเท่าไหร่ ค่อนข้างจะหยาบในสายตาของเขา เพราะว่าไม่ได้ใช้พู่กัน พู่กันเขาสามารถเขียนแบบละเอียดได้ เขียนเนียนเหมือนภาพถ่ายได้ ศิลปะอย่างเกรียงของผมทำไม่ได้ เพราะมันเป็นสไตล์หยาบๆ ป้ายทับ

ผมคิดว่าหยาบไม่หยาบอยู่ที่เหมือนไม่เหมือนมากกว่า อย่างเช่นรูปในหลวง สัดส่วนคุณต้องได้ ถ้าไม่ได้คุณลงสียังไงก็ไม่เหมือน แต่ถ้าสัดส่วนคุณได้แล้ว แค่คุณปรับปรุงเรื่องสีหน้า เรื่องผิวท่านหน่อย รูปก็จะสวยแล้ว แค่นั้นเอง

สีหน้ากับพระเนตรท่านสำคัญที่สุด เพราะว่าแววตาท่านต้องมีเมตตา คุณเขียนยังไงก็ได้ให้แววตาท่านมีเมตตาคุณสำเร็จแล้ว แต่ถ้าเขียนพระเนตรไม่เหมือน พระกรรณไม่ได้ รวมๆ กันแล้ว ก็จะไม่ได้”


แม้หลายคนจะมองว่าเป็นงานหยาบ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ศิลปะท่านี้รู้สึกภูมิใจคือ เป็นศิลปะที่ไม่สามารถก็อปปี้ได้ นั่นจึงเป็นเอกลักษณ์สำคัญสำหรับศิลปะสไตล์เกรียง

“สไตล์เกรียงคำแรกคือเปลืองสีมาก เพราะพู่กันเขาจะผสมสีบางๆ น้ำมันบ้าง เพื่อให้มันลงง่าย แต่ของผมเป็นศิลปะค่อนข้างที่จะฟุ่มเฟือย ผสมลงไปในรูปเลย

ไปถามคนที่เขาดูศิลปะเป็น เขาบอกว่า อันนี้เป็นศิลปะที่ไม่มีทางก็อปปี้ได้ คือคุณจะทำยังไงก็ไม่มีซ้ำ ผมลองแล้ว ผมก็ไม่สามารถทำซ้ำตัวเองได้ กี่ทีๆ ลักษณะก็จะไม่เหมือน แต่พู่กันบางครั้งก็ก็อปปี้กันได้ อย่างประเทศจีนก็อปปี้เก่งมาก แต่เขายังไม่มีสไตล์นี้เลย

ผมมองดูศึกษาทางเกรียงทั่วโลกแล้ว จะเป็นทางยุโรป อเมริกา เขาจะป้ายแบบหยาบๆ แล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิว พอร์ตเทรตรูปเหมือนนี่ผมคิดว่าผมอันดับแรกๆ เพราะผมศึกษาเข้าไปในกูเกิลดูหมด ปรากฏว่าไม่มี ผมว่าในโลกนี้สไตล์นี้น่าจะคนเดียว

เป็นวิธีการที่เราฝึกมานาน แล้วเราบอกตรงๆ ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙คือแรงบันดาลใจสูงสุดของผม พอผมเขียนท่านได้ ผมก็เขียนได้ทุกรูป”

[เกรียงที่ใช้วาดภาพ]
ลองผิดลองถูก กว่าจะเหมือน

อาจารย์เล่าให้ฟังอีกว่า กว่าจะเห็นภาพของในหลวงที่เหมือนได้ขนาดนี้ ต้องลองผิดลองถูก เรียนรู้ว่าไม่รู้กี่ร้อยภาพ แต่ด้วยความตั้งใจ จึงไม่ย่อท้อ จนสำเร็จในที่สุด

“ผมเขียนตั้งแต่ท่านเฉลิมฉลองครอบรอบ 60 ปีในการครองราชย์ สมัยก่อนผมไม่ได้เขียนรูปคนเลย แต่ผมได้แรงบันดาลใจจากท่าน เราก็เขียนรูปท่านมาตลอดตั้งแต่นั้นมา

ภาพแรกไม่สำเร็จครับ เขียนก็ยังไม่เหมือน มันก็ต้องเก็บไว้เป็นบทเรียนว่าเราพลาดตรงไหน เราควรจะเพิ่มตรงไหน เราควรจะใจเย็นกว่านี้ เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ใจร้อนมาก ทำอะไรไม่เคยช้า ทำแบบเหมือนกับว่าเหมือนจะได้มาก

แต่พอได้มาเขียนรูปในหลวงเปลี่ยนไปมากครับ จากคนที่ใจร้อนก็ค่อยๆ แต้มทีละนิดๆ จนออกมาเป็นภาพได้ เหมือนกับเรานั่งสมาธิ สมาธิของเราอยู่ที่ภาพผ่านมา 4-5 ชั่วโมง นี่ไม่ขยับไปไหนเลย

21 ปีที่ผมเขียนมา กว่าจะเหมือนก็ประมาณ 10 ปีหลัง เราดูแล้วว่าเป็นแนวๆ เราผมก็จะไม่เปลี่ยนแนว คือถ้าเรายึดแนวไหนเป็นเอกลักษณ์”

นอกจากนี้ อาจารย์สมไชยยังบอกอีกว่า เขานั้นไม่ได้เขียนด้วยความเก่ง แต่ที่ภาพออกมาสวย เพราะเขียนด้วยความรักที่มีต่อในหลวง และใช้วิธีการฝึกเขียนซ้ำๆ

“ผมไม่ได้เขียนด้วยความเก่งนะครับ ผมเขียนด้วยความรักและความมานะ เขียนท่านบ่อยๆ รูปนี้ไม่สวย รูปหน้าก็ต้องให้สวยกว่านี้ ปรากฏว่าผมกลับมาย้อนดูรูปเก่าๆ ที่ไม่สวย ผมแต่งได้ เป็นศิลปะที่เราสามารถเอามาเติมได้ ไม่เหมือนรูปเขียนอื่นๆ ที่เขียนแล้วเขียนเลย ผ่านแล้วผ่านเลย ของผมไม่ใช่ ของผมรูปในหลวงอันไหนมาสวย ผมก็เอามาแต่ง

เพราะว่าลักษณะภาพเป็นนูนอยู่แล้ว คุณจะแก้ไขตรงไหนแก้ได้หมด ผมถึงว่าที่ผมจะทำโครงการนี้ ไม่ห่วงว่าจะเหมือนไม่เหมือน ขอให้รูปร่างท่านเหมือนก่อน ส่วนสีประชาชนจะลงยังไงแก้ไขได้ เติมได้ แต่งได้ทุกครั้ง ผมถึงมั่นใจทำได้ หรือผมอาจจะไม่ได้เตะต้องอะไรเลย จังหวัดคุณก็ทำกันเอง ผมมีหน้าที่ร่างแบบแล้วส่งให้คุณ”


คำสอนสุดอมตะ“ชีวิตสั้น แต่ศิลปะยืนยาว”

คำพูดสุดคลาสสิกที่ “อาจารย์ศิลป์ พีระศรี” หยิบยกจาก “Hippocrates” หมอชาวกรีกโบราณมาสอนลูกศิษย์ ที่ถูกหยิบยกมาพูดเมื่อใดก็ดูจะจริงเสมอ เพราะถึงแม้ผู้สร้างสรรค์จะสิ้นอายุขัย และลาจากโลกนี้ไปแล้วก็ตามศาสตร์ของศิลปะจะอยู่อย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับนักศิลปะท่านนี้ ที่มีแรงบันดาลใจในการวาดภาพของในหลวงรัชกาลที่ ก็มีเจตนาอยาถ่ายทอดศิลปะด้วยเกรียงให้ยืนยาวอยู่คู่คนไทยตลอดไป ในวันที่เขาไม่สามารถอยู่บนโลกนี้

“(ชีวิตสั้น แต่ศิลปะยืนยาว)เป็นคำพูดที่อมตะของท่านศิลป์ พีระศรี อันนี้เป็นอมตะวาจาด้วยว่า คนนำศิลปะอายุไม่ยาวครับ แต่สิ่งที่มันเหลือเอาไว้นั่นแหละจะยืนยาวตลอดไป

ผมมีเพจของตัวเองชื่อ Million Palette Knife ก็จะเขียนแต่สไตล์นี้ทั้งหมดเลย พยายามถ่ายทอดให้เขาเข้าใจว่า ผมมีแนวทางของผม เพื่อให้คนอื่นสามารถทำตามได้ ค่อยๆ ทำตามได้ ไม่ใช่ว่าคุณเก่งอยู่แค่คนเดียว เวลาคุณตายไปคุณก็ตายไปกับสิ่งที่คุณเป็น แต่ของผม ถ้าผมไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เทคนิคและการเขียนของผมก็ยังอยู่ ใครๆ ก็เขียนได้”

แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่ทำให้ศิลปะยืนยาว จะไม่ได้มีแค่มนุษย์อีกต่อไป เพราะตอนนี้มีศิลปินคนใหม่ที่ชื่อ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในวงการศิลปะด้วย

เพียงป้อนคำและข้อความ AI โปรแกรมวาดภาพก็จะแปลงคำให้เป็นภาพตามที่เราคิด และจินตนาการ เรียกได้ว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเป็นศิลปินหรือร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามได้ด้วยโปรแกรม AI

แบบนี้จึงได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งในการทำงานและงานอดิเรกที่สร้างความสนุกและผ่อนคลาย

ทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามถึงเทคโนโลยีนี้ว่า จะเข้ามาแทนที่ศิลปินหรือไม่ และจะมีผลกระทบต่องานและรายได้ของผู้ที่ประกอบอาชีพด้านศิลปะอย่างไรบ้าง ซึ่งหนึ่งอาจารย์สมไชย ในฐานะที่อยู่กับวงการศิลปะมานานก็มองว่าแม้วงการศิลปะจะโดนเทคโนโลยีกลืนกิน แต่เชื่อว่า ฝีมือคนยิ่งเก่าแก่ ยิ่งจะมีคุณค่า


“ผมเปรียบเทียบกับการทำโฆษณาเลย เดี๋ยวนี้คุณเปิดร้านขึ้นมา คุณจะไปจ้างคนมาเขียนป้ายเขียนอะไร คือเขาเอาอิงค์เจ็ทขีดมา รูปประมาณร้อยกว่าบาท ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ช่างเขียนทุกวันนี้ตกงานหมด เพราะโดนเทคโนโลยีกลืน เครียดเลย

พวกศิลปะสมัยก่อนจะหายไปเลย แต่ผมคิดว่า อีกไม่นานความเก่าๆ อารมณ์เก่าๆ อาจจะกลับมา แต่สิ่งเดียวที่ AI ทำไม่ได้ คุณจะมีหุ่นยนต์เก่งขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถมาทำลักษณะนี้ได้ หุ่นยนต์เขียนรูปพอที่จะมี แต่ยังไม่สามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ให้เหมือนกับคน

วงการศิลปะน่าสงสาร บางคนเขียนรูปขายลงในเน็ต เพื่อที่จะเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า น่าสงสารมาก ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนเปิด0 บาทให้ประมูลกัน คือไม่รู้จะตั้งราคาอะไร

ผมยังเคยคิดว่า เรามาตั้งชมรมกันไหม เพื่อช่วยเหลือคนในวงการศิลปะ ถ้าเรารวมกลุ่มกัน มันจะมีพาวเวอร์ขึ้น แทนที่คุณจะเป็นศิลปินอิสระ การที่เรารวมพลังกัน หมายความว่า ทำอะไรร่วมกัน ทำอะไรช่วยกัน

สมัยโควิด แทบจะทิ้งไปค้าขายอย่างอื่น ไม่มีรายได้ บางทีเราก็ให้กำลังใจกันแค่นั้นเอง มันไม่เหมือนกับทางประเทศอิตาลีเขายังมีความแข็งแกร่งตรงนี้เยอะ เขายังมีภาครัฐบาลช่วยเหลือ กลุ่มอาชีพลักษณะนี้ ทำให้เขามีมูลค่าขึ้นเยอะ แต่บ้านเราไม่มีนะครับ หอศิลป์ก็คือหอศิลป์ หอศิลป์ใหญ่ๆ ก็คือเอาแต่รูปดังๆ รูปไม่ดังคุณไม่ได้เข้า ไม่มีสิทธิ์ บ้านเราจะเป็นแบบนี้”


 เชื่อในหลวงช่วยดลใจในยามวิกฤต




 

 “เวลาไม่มีจะกิน หรือว่าลำบาก มีแรงบันดาลใจ หรือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลให้คนมาซื้อรูปท่าน2 แสนบาท ซึ่งผมก็งง เรากำลังลำบาก ลูกชายต้องใช้เงิน เราก็ไม่มีเงินจะใช้ ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อรูปในหลวง เขาบอกเขานับถือมาก จะเอาไปตั้งถวายเป็นกำลังใจ 


ผมก็ตกใจเวลาเราลำบาก รูปที่เราเขียนๆ อยู่ ท่านจะมาดลให้เรารอดเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นผมก็กำลังขาดแคลนพอดี ก็เลยยกมือท่วมหัว ในหลวงก็ช่วยเรายามวิกฤต


แต่ผมบอกทุกคนนะครับว่า สไตล์ของผมมันเป็นสไตล์เกรียง ไม่ใช่สไตล์พู่กันอย่างคนทั่วๆ ไปเขียนนะครับ เขาบอกเขาเข้าใจ ขอแค่เป็นรูปในหลวง ซึ่งเขารับไปตั้งเป็นกำลังใจ เวลาเหนื่อยล้าเขาก็มอง


ทุกวันนี้ผมก็ลำบาก แต่ผมก็มีกำลังใจเหมือนกัน บ้านสองหลังก็ฝากเขาไว้ พอดีมีผู้ใหญ่ใจดีเขารับฝากไว้ เขาก็บอกว่าถ้าเกิดมีเงินก็ไถ่ถอนไปก็แล้วกัน ก็ดีครับ เขาอุตส่าห์เมตตา


ผมรอดชีวิตมาได้ เพราะในหลวงทุกครั้งครับ ถ้าลำบาก ถ้าหันไปมองวิดีโอเก่าๆ ที่ท่านทำงาน มามองดูตัวเอง เรานี่ไม่ได้เศษเสี้ยวของท่านเลย ท่านเป็นกษัตริย์ ท่านสามารถเสวยสุข ท่านสามารถทำอะไรก็ได้ที่ท่านมีความสุข แต่ความสุขของท่านก็คือประชาชน เห็นประชาชนดีขึ้น เห็นคนที่ยากลำบากเขามีโอกาสดีขึ้นมา นี่เป็นสิ่งที่ผมประทับใจ ผมถึงบอกว่า รูปของผม หรืองานเขียนของผม อาจจะเป็นแรงบันดาลใจนิดๆ ที่อาจจะคิดว่า เออนึกถึงในหลวงบ้าง”




 ศิลปะบำบัด ช่วยคลายเครียด




 

 “วาดรูปเหมือนได้นั่งสมาธิครับ เช่น คุณเคยจดจ่อกับการแต้มทีละนิดๆ ฟังเพลงเบาๆ ด้วยครับจะดีมาก มีความสุขครับ คุณต้องแยกให้ออกครับ หนี้ส่วนหนี้ หนี้ก็มีวันหมด ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันเกาะเราตลอดไป อีกหน่อยมันก็หายไป


แต่สิ่งที่เราทำ เหมือนได้นั่งสมาธิทุกอย่าง แต่การนั่งสมาธิของผมเกิดประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น เอารูปไปประมูล แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว


เมื่อก่อนบางรูปของในหลวงที่ผมเพิ่มหัดเขียนใหม่ๆ บางคนอยากได้ ผมบอกคุณไปบริจาคที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วคุณมารับรูปผมไปได้เลย ผมให้เลย เขาบอกไปบริจาคพันว่าบาท ผมก็บอกว่าได้ ผมก็ให้ เขาก็เอาไปบูชาที่บ้าน


อีกอย่างเมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน แต่ถ้าได้เขียนรูปก็จะดีขึ้นเยอะ เย็นขึ้นเยอะ”









สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Million Palette Knife ภาพวาดสีน้ำมันด้วยเกรียง”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น