จริงหรือ? งานวิจัยบอก “การบำบัดผู้ติดยาในไทย” มีปัญหา ผู้เชี่ยวชาญแนะต้อง “เปลี่ยนมุมมอง” และ “แนวทาง” ให้ชัดเจน ยาเสพติดถึงจะหมดไป!!
เสพติดซ้ำ เพราะบำบัดมีปัญหา
“ยาเสพติด”ปัญหาหนึ่งที่อยู่ในสังคมบ้านเรามาตลอด และยาเสพติดยังมีการกระทำผิดซ้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ คิดเป็น 65% จากคดีทั้งหมด การปราบปรามก็เรื่องหนึ่ง แต่การหวนกลับไปเสพซ้ำ คงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “การบำบัดผู้ติดยาเสพติด”ในบ้านเรามีปัญหาหรือเปล่า?
{สถิติจาก “กรมราชทัณฑ์”}
จากงานวิจัย “ปัญหาในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด: กรณีศึกษาในสถานพยาบาลของรัฐ”บอกปัญหาตอนนี้มี 4 ข้อหลักๆ 1)ขาดแคลนบุคลากร 2)ปัญหาจากตัวผู้เสพที่มีการเสพซ้ำ เข้าบำบัดไม่ครบตามขั้นตอน หรือครอบครัวไม่ให้ความร่วมมือ 3)การติดตามผลและประสานงานของหน่วยงาน และ 4)เรื่องของงบประมาน
ทีมข่าวต่อสายหา ฟ้า-ฟ้าธารีดา ภูวดลอานนท์ผู้จัดการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ จากสถานบำบัดยาเสพติดเอกชนภูฟ้าเรสท์โฮม ให้ช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ที่แท้จริงที่เกิดขึ้น
{ฟ้า-ฟ้าธารีดา ภูวดลอานนท์}
“มีปัญหาจริงไหม ทางตัวฟ้าคิดว่า ในด้านการขาดแคลนบุคลากร อันนี้คิดว่าจริง แล้วก็ปัญหาการเสพซ้ำอันนี้จริงทุกที่ ไม่ว่าจะประเทศไทยหรือทั่วโลก นะคะ”
และ ภู-ภูผา ภูวดลอานนท์กรรมการผู้จัดการ สถานบำบัดยาเสพติดเอกชน ภูฟ้าเรสท์โฮม ยังเสริมเรื่อง สถานบำบัดยาเสพติดในบ้านเรา ที่มีน้อยสวนทางกับจำนวนผู้ป่วยยาเสพติด
{ภู-ภูผา ภูวดลอานนท์}
“ผมจำได้ว่าจะมีเตียงอยู่ 3,351 เตียง ประมาณนี้ รวมกันทั้งหมด และก็จะมีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในเครืออื่นๆ ที่มีวอร์ดยาเสพติดเพิ่มขึ้นมา ก็อยู่ประมาณ 6-7 แห่งครับ”
ตอนนี้สถานบำบัดที่เป็นรัฐ ถ้าเป็นโรงพยาบาลมีอยู่ ประมาณหลัก 10 และส่วนของเอกชนปัจจุบันยังไม่โรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยผู้ติดยาเสพติดเลยมีแต่สถานฟื้นฟูผู้ติดยา ประมาณ 50 แห่ง เป็นเอกชน 16-20 แห่ง
"และการรักษาฟื้นฟูต้องใช้เวลา ถ้าองค์กรไหนไม่มีความครอบคลุมอาจใช้เวลา เป็นปีหรือปีครึ่งเลยทีเดี่ยว จากอัตราผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และสถานรักษาที่ไม่พอ ทำให้ปัญหาหมักหมมเข้าไปอีก
”
ส่วนเรื่อง “ปัญหาการติดตามผล” ฟ้าอธิบายว่า ไม่สามารถยืนยันได้ทุกที่ แต่เชื่อว่าในหลายๆ แห่งก็ขาดแคลนเรื่องนี้ การติดตามผลนั้น ต้องเฝ้าระหวังและประสานกับครอบครัวอยู่ตลอด
“ต้องถามอาการเขาว่า มีการกลับไปใช้สารไหมเขา กลับไปหาเพื่อนกลุ่มเดิมๆ ไหม ทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงไหม เราต้องดูสิ่งแวดล้อมของเขาด้วย ดูว่าเขารอบล้อมตัวเองไว้ด้วยอะไร ไม่ว่าจะผู้คนหรือกิจกรรม การงาน อารมณ์ พฤติกรรม เราต้องเฝ้าระวังกันทั้งหมด เลยค่ะ”
สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ใหญ่มากๆ ที่ให้คนกลับไปเสพยาซ้ำ แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่อยู่ได้ เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักการ “ปฏิเสธ” หรือหากิจกรรมอื่นทำแทน
ส่วนปัญหา เรื่อง “ครอบครัวไม่ให้ความร่วมมือ” นั้น ภู บอกว่าเป็นเพราะสังคมไทยขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีมายาคติที่ไม่ดีต่อ “คนเสพยาเสพติด”
“เรื่องครอบครัวไม่ใหความร่วมมือเนี่ย ควรจะเป็นปัจจัยแยกออกมาเลยนะครับ สาเหตุเพราะว่า ประเทศไทยขาด Components of understudied คือสังคมเรา ยังไม่ได้เข้าใจว่าสาเหตุ ของการไปใช้สารเสพติด มันคืออะไร”
เพราะถึงแม้เราจะบอกว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” แต่ลึกๆ สังคมไทยยังตีตราว่า คนติดยาคือคนชั่ว ซึ่งมันไม่จริง ถ้าสังคมไม่เปลี่ยนมุมมอง ปัญหานี้จะไม่มีวันแก้ได้เลย “ผู้เสพคือผู้ป่วย ถูกต้องแล้วครับ เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
มุมมองต้องเปลี่ยน แนวทางต้องชัดเจน
“ผมว่ามันต้องไปควบคู่กับทั้งหมด แต่เรื่องบุคลาการนี้ชัดเจนเลยครับ” คือแนวทางการแก้ปัญหาของภู ซึ่งมองว่าตอนนี้บ้านเรา ยังไม่หลักสูตรแพทย์เฉพาะเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยผู้ติดยาเสพติด” เลย
“แพทย์เฉพาะทางด้านยาเสพติดในประเทศไทย น้อย น้อยมากๆ ผมจะบอกว่าน่าจะมีไม่เกิน หลัก 100 ต้นๆ ซึ่งส่วนทางกับผู้ป่วยยาเสพติดเลย”
และในมุมมองของสังคมไทย การบำบัดผู้เสพยาเสพติด ยังมีคนมองว่าเป็นเรื่อง “น่ารังเกียจ” อยู่ ทำให้ไม่มีใครอยากทำงานด้านนี้ “สุดท้ายแล้ว ปัญหาก็พอกพูน”
“ผมบอกเลยว่า มันต้องเป็นการแก้ไขที่ มุมมอง เพื่อที่อุตสาหกรรมจะได้เติบโต ถ้าอุตสาหกรรมเติบโต ก็จะมีบุคลากรมาช่วยเหลือด้านนี้เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ แนวทางของกระทรวงและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า สรุปแล้วเราจะทำอย่างไรกับผู้ป่วยผู้ติดยาเสพติด ทำให้คนที่ต้องลงมือทำจริงๆ ไม่รู้ว่าต้องทำแบบไหน
“มันไม่ชัด จะเป็นแบบ ไม่มียาเสพติดเลย หรือจะเป็นTime reductionก็คือใช้ไป แต่ว่าไม่อันตราย แบบประคับประคองไปได้ คือถ้าเป็นที่หลายๆประเทศ จะมีแนวทางชัดเจนเลย”
ยกตัวอย่างสแกนดิเนเวีย เขามีแนวทางแบบ Time reduction ถ้าคนเสพยังสามารถ อยู่ในสังคมได้ปกติ ไม่ทำร้ายคนอื่น ยังทำงานไปปกติ ไม่อาการป่วยทางจิต ใช้เพื่อความสนุกเหมือนกับเหล้า ก็จะมีการอะลุ่มอล่วย
หรือเอาแบบ ใครใช้ก็จับเข้าคุก เหมือนบางประเทศ ที่ยังมีการจับเข้าคุก มีการวิสามัญฆาตกรรม หรือมีโทษประหาร อย่างในประเทศแถบอาเซียน
“มันไม่มีคนที่มีชี้ขาดครับว่า จะเอาแนวทางไหน พอไม่รู้จะเอาแนวทางไหน เขาจะเอาแบบผู้เสพคือผู้ป่วยทั้งหมดเลยไหม หรือ จะต้องดูแลแบบที่ให้ กลับไปทำงานได้โดยยังใช้ยาอยู่ หรือจะต้องให้หายขาด พอไม่มีหลักเกรณ์ตรงนี้ หลักสูตรที่ผลิตบุคลากรก็ไม่มีอะไรออกมาเลย”
ถ้าอยากแก้ปัญหา ยาเสพติด ให้หมดไปเขามองว่าต้องป้องกันนักเสพหน้าใหม่ ด้วยความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและสิ่งแวดล้อมที่ดี แล้วก็มาช่วยกันแก้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว “ผมว่าอันนี้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทย ยาเสพติดจะหมดไป”
และอยากให้มองว่า คนที่ใช้ยาเสพติด คือคนที่ไม่มีความสุขในชีวิตประจำวัน ขาดความอบอุ่น มีความเครียดเลยต้องการหาสิ่งที่มาทดแทนความสุขให้ได้ แล้วถ้าสิ่งแวดนั้นมียาเสพติดอยู่ มันก็ไปกระตุ้นให้เกิดการเสพยา
“ถ้าสังคมไทยเข้าใจตรงนี้กันว่า สุดท้ายแล้ว คนที่ใช้ยาเสพติดเข้าเป็นคนที่น่าสงสาร อันนั้นมันช่วยได้เยอะเลยครับ จะช่วยการกลับไปเสพซ้ำได้เยอะเลย คือมันจะลดลงเยอะ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.phufaresthome.com , www.correct.go.th
ขอบคุณภาพ : www.correct.go.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **