“King The Land” พาชม “Soft Power” ไทย ที่คนไทยไม่ได้ทำ!! คนชมทำดี แต่ทำไมไม่ทำเอง? กูรู ถาม ไทยเคยว่างแผน สร้าง “Soft Power” จริงๆ หรือเปล่า?
Soft Power “ไทย” แต่ “เกาหลี” ทำ
Soft Power ไทย ที่คนไทย ไม่ได้ทำ จากซีรีส์เกาหลี "King The Land" นำแสดงโดย "อีจุนโฮ 2PM"-"ยุนอา Girls’ Generation"สองไอดอลเกาหลีชื่อดัง
{“King The Land” ตัวอย่างซีรีส์ Soft Power ช่วยเที่ยวไทย}
โดยในตอนที่ 10 ของซีรีส์นี้ ได้พาเราตะลุย ทั้งเที่ยวทั้งกิน ในไทยตั้งเช้าจนค่ำ มีตั้งแต่ วัดอรุณราชวราราม และลานแสดงน้ำพุ ไอคอนสยาม จนถึงร้านอาหารไทย คุณแดง ก๋วยจั๊บญวน
จนเกิดกระแส กินเที่ยวตามรอย ซีรีส์เรื่องนี้ ทำให้หลายคนบอก โปรโมทดีกว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสียอีก หนำซ้ำยังบอกอีกว่าเป็น “Soft Power” ที่อยากเห็นมานาน แต่ทำไมไม่เห็นแบบนี้ในหนัง หรือละครไทยบ้าง?
ที่ผ่านมาเรามี นโยบาย “5F”คือ 1.อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์ (Film) 3. แฟชั่นไทย (Fashion) 4. ศิลปะการป้องกันตัว (Fighting) 5. เทศกาล (Festival) เพื่อ สนับสนุนการใช้ Soft Power ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรม
แต่ก็น่าสนใจว่า ที่ผ่านมามีการบอกว่าจะผลักดัน Soft Power มาตลอด แต่ทำไมดู Soft Power ที่เราทำถึงไม่เป็นกระแส เท่ากับของเกาหลี
ชวนคุยกับ อาร์ต-กชภพ กรเพชรรัตน์ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เจ้าของบทความ Soft Power ท้องถิ่น เมื่อต้อง ‘สร้าง’ อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพราะ ‘โชคช่วย’ ว่าทำไม Soft Power ไทย ไม่ทรงพลังเท่าเกาหลี
“ช่วงหนึ่งที่เรา เห่อ คำว่า Soft Power ที่มี 5F เนี่ย คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า Soft Power มันคือสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสร้างขึ้นอย่างมีแบบแผน”
อาจารย์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า Soft Power ต้องใช้เวลาสร้าง 20 ถึง 30 ปี เกาหลี เขาใช้วัฒนธรรมที่ร่วมสมัย และถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ผ่านละครกับเพลง เพื่อสร้างกระแส “เกาหลีนิยม” โดยมีรัฐบาลสนับสนุน
{ อาร์ต-กชภพ กรเพชรรัตน์}
“ที่นี้เรากลับมาที่ประเทศไทย คำถามแรก ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะสร้าง Soft Power จริงๆหรือเปล่า เหมือนที่เกาหลี หรืออเมริกาวางแผนมา”
อาจารย์มองว่า “นโยบาย 5F” ยังไม่ใช้การบอกว่า “Soft Power” ของเราคืออะไรกันแน่ และอยากให้เข้าใจว่า Soft Power ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เป็นเพียงการบอกแค่ว่า เรามีวัตถุดิบอะไร “เหมือนเรามีข้าว มีกล้วย แต่เราไม่ได้แปรรูปมัน”
“ถ้าคุณสังเกต ในเกาหลีเขาแปรรูปหมด เขาแปรรูปในทุกอย่าง เพื่อให้เป็น Originals ในแบบของเขา ถ้าดูซีรีส์เกาหลี เขาโปรโมตวัฒนธรรมบางอย่างของเขา โดยตัวซีรีส์เป็นตัวตั้ง เราเห็นองค์ประกอบบางอย่าง ที่ทำให้เราอยากรู้จักเกาหลีมากขึ้น”
และอีกประเด็นหนึ่งคือ เรายังยึดติดกับค่านิยมแบบเดิมๆ วัฒนธรรมบางอย่างยังถูกจำกัดด้วย ความเชื่อและขนบ อย่างเหตุการณ์ที่ “เลดี้กาก้า” สวมชฎาไทย ในการแสดงคอนเสินร์ต หรือ การทำ MV ที่เอา ทศกัณฐ์ มาแคะขนมครก ก็ทำให้ถูกคนวิจารณ์ “คือมันมี ลิมิต แต่เกาหลีเขาไม่มีแล้วไงครับ”
“คือมันมีบางอย่างที่ค่อนข้าง อนุรักษ์นิยมเกินไป บางเรื่องมันแตะไม่ได้ บางเรื่องมันพูดไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันก็ไม่เห็นจะอะไรขนาดนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะเป็นค่านิยมของสังคมไทย”
อยากปังอย่างเกาหลี ต้องทำไง?
เมื่อถามว่า รัฐ มีการพูดเรื่องสงเสริม Soft Power มาตลอด แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อย เป็นกระแสสักเท่าไร รัฐมีความเข้าใจ จริงๆหรือเปล่าว่า Soft Power คืออะไร?
“ผมว่าเขาไม่เข้าใจว่า Soft Power คืออะไร เอาจริงๆ Soft Power มันเป็น ทฤษฎี ที่บกพร่องนะครับ มันวัดค่าได้ยาก ไม่เหมือนกับที่คุณดูจำนวนกำลังคน อาวุธคุณมีเท่าไร มีอำนาจต่อรองของโลกเท่าไร คุณมีนิวเคลียร์กี่ลูกอย่างนี้”
อาจารย์บอกว่า Soft Power มันสะท้อนให้เห็นว่า ต่างชาติเขามองเราอย่างไร เมื่อพูดถึงประเทศไทย เขาไม่ได้นึกถึงโขน ถ้าถามคนอเมริกา ใน South East Asia สิ่งที่เขานึกถึงหลักๆ คือเรื่องของขลัง
“การทำ Soft Power เราต้องสำรวจ ตลาดก่อนว่า ต่างชาติเขาสนใจอะไร ไม่ใช่จะทำตามใจฉัน คือทุกวันนี้ประเทศนี้เราคิดว่า Soft Power เราคือรำไทย คือส้มตำ อันนี้คือเราทำ research หรือยัง เหมือนที่เกาหลีทำ”
อาจารย์ให้ขอสังเกตว่า การที่มีคนไทยในวง K-Pop อย่าง ลิซ่า-blackpink หรือ นิชคุณ-2PM ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาสำรวจมาแล้วว่า ไทยติดอันดับ 1 ของแฟนคลับวงเกาหลี
“อย่างแรกเลย คุณต้องรู้จักการทำresearch ก่อนว่า ตลาดโลกเขาต้องการอะไร เขาต้องความเป็นไทย ในรูปแบบไหน”
ให้สังเกตอย่างเกาหลี เขาสำรวจแล้วว่าตลาดเอเชีย มีความต้องการแบบไหน แล้วจึงขยายตลาดไปยังฝั่ง อเมริกาและอเมริกาใต้ Soft Power ไทยสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้จริง
“เรามีทรัพยากรอยู่ แต่เราแค่พรีเซนต์ไม่เป็น แค่นั้น ปัญหาจริงๆ เราต้องดูกระทรวงเนอะ ก็ต้องดูผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่าย คือพูดตรงๆ มันต้องมีหัวคิดที่ล้ำสมัยกว่านี้ ”
และจากงานเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียน Soft Power ทั่วโลกสู่ ‘กับดักความเป็นไทย’ ในภาพยนตร์”ภาณุ อารี ผอ.ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัทสหมงคงฟิล์ม กล่าวว่า
Soft Power หลายคนคิดว่าคือ การส่งออกวัฒนธรรม แต่การเล่นกับ Soft Power ของ เกาหลี คือ การเล่นกับวัฒนธรรมในปัจจุบัน คนสนใจอะไร คนอยากฟังอะไร เสร็จแล้วก็นำมาสร้างใหม่มันให้มันแตกต่าง
“คอนเซ็ปต์ของ Soft Power สมัยก่อนกับสมัยนี้อาจจะไม่เหมือนกัน คือสมัยก่อนเราเผยแพร่ความเป็นไทยอย่าง รำไทย ความอ่อนช้อย แต่วันนี้คนอาจจะไม่ได้สนใจความเป็นชาติแล้ว แต่คนสนใจในประเด็นเป็นสากล ทุกคนรู้สึกได้เหมือนกัน เช่น สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ถ้าเรายังยืนยันทำแบบเดิม เป้าหมายที่เราต้องการไป เราอาจไปไม่ถึง”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล: workpointtoday.com
ขอบคุณภาพบางส่วน : เฟซบุ๊ก “BLACKPINK” , “2pm”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **