xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแม่สังเวียนผ้าใบคนแรก ค่าตัว 500 สู่ 10 ล้าน!! "แสตมป์ Fairtex" [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไม่คิดว่าตัวเองจะมาไกลถึงขนาดนี้” เปิดใจ "แสตมป์ Fairtex" กับเส้นทางชีวิตนักสู้สาว ที่แลกมาด้วยเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา จากนักมวยภูธร สู่ตัวแม่สังเวียนระดับโลก เผยเป้าหมาย ครองเข็มขัดแชมป์ One Championship ให้ครบ 3 เส้น!!



เตรียมเป็นนักกีฬา “ค่าตัว 10 ล้าน” คนต่อไป

“จาก 500 มาเป็น 10 ล้าน มันยากค่ะ เพราะว่าหนูจะต้องโชว์ฟอร์มให้มันดีที่สุด เพื่อที่จะขยับค่าตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกอย่างมันยากอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรง่าย มันต้องมีความอดทนสูงมากๆ กับกีฬานี้แล้วก็กับอาชีพนี้ ต้องมีความรักในอาชีพนี้ด้วย”

“แสตมป์ - ณัฐวรรณ พานทอง” หรือที่รู้จักกันในนาม "แสตมป์ Fairtex" กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

ปัจจุบัน นักสู้สาวชาว จ.ระยอง วัยย่าง 26 ปีผู้นี้ มีดีกรีเป็นถึงอดีตแชมป์โลก มวยไทย และ Kick boxing รุ่นอะตอมเวต และแชมป์ ONE World Grand Prix MMA จากสังเวียนระดับโลกอย่าง One Championship

และสิ่งที่ทำให้ชื่อของ “แสตมป์ Fairtex” กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในแวดวงกีฬาการต่อสู้ นั่นก็คือ “ค่าตัว” ที่หากเธอสามารถเอาชนะ “ฮาม ซอ ฮี” นักสู้สาวจากแดนกิมจิ ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก ONE รุ่นอะตอมเวตเฉพาะกาล ในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ได้ แสตมป์จะกลายเป็นนักกีฬาที่มีค่าตัวถึง 10 ล้านบาท!!


“ปัจจุบันไฟท์หน้าหนูได้ 10 ล้านแล้ว ซึ่งมันก้าวกระโดดมากๆ ที่หนูอดทนมา 6 ปี มันเห็นผลก็คือวันนี้แหละ ถ้าไม่มี Fairtex ในวันนั้น ก็ไม่มีแสตมป์ในวันนี้

หนูไม่ได้วางแผนเลย หนูรู้แค่ว่าต่อยไฟท์นี้หนูจะได้เพิ่ม ถ้าเป็น MMA ไฟท์นี้ชนะ มันจะเป็นคูณสอง สมมติครั้งแรกใน MMA หนูต่อยได้ 300,000 แล้วไฟท์ต่อไปหนูก็ได้ยืนหลักคือ 300,000 ถ้าชนะก็เป็น 600,000 มันจะขึ้นไปเรื่อยๆ แบบนี้ค่ะ

เพราะฉะนั้นหนูจะต้องมีความมุ่งมั่น แล้วก็คิดกับตัวเองเสมอว่าอย่าลืมตัวนะ เราอาจจะไม่ได้เก่ง หรือเราอาจจะคิดว่าตัวเองเก่งมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เก่งเลย ถ้าสมมติเราประมาทนิดนึงมันก็จบได้”

ย้อนกลับไปราว 6 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนักกีฬามวยไทยหญิงที่มีความคิดจะแขวนนวม ก่อนจะรับการชักชวนจากค่ายมวยชื่อดังอย่าง Fairtex ให้มาเป็นนักกีฬาในสังกัด

และการมาในครั้งนี้ แสตมป์จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างหนัก ในส่วนของกีฬาต่อสู้แบบผสมผสาน Mixed martial art หรือเรียกสั้นๆ ว่า MMA



“เขาอยากได้นักมวยหญิงเป็น MMA หนูเป็นผู้หญิงคนแรกของ Fairtex แล้วก็ผู้หญิงคนแรกของ MMA ใน Fairtex ซึ่งเขาก็จะให้หนูเรียนท่าพื้นฐานของ BJJ (Brazillian jiu-jitsu) ในช่วงแรกๆ หนูก็ยังต่อยมวยไทยอยู่ แต่ก็ยังเรียนควบคู่ไปด้วย

ของหนูมันซ้อมหนักกว่าคนอื่นอยู่แล้วค่ะ ก็คือเช้า เย็น กลางคืน หรือถ้าใกล้ๆ ต่อยเหมือนช่วงนี้ หนูจะมีเช้า กลางวัน เย็น แล้วก็กลางคืน ช่วงนี้เป็น 6.30 น.ตื่นไปวิ่ง 8.30 น. หนูจะเตะเป้าก่อน 3-4 ยก แล้วก็มา MMA ถึง 10.00-10.30 น.

แล้วก็จะมี 14.30 น. มา BJJ ที่เป็นท่าพิเศษถึง 15.30 น. แล้วก็ไปมวยไทยอีกถึง 17.00-17.30 น. กลางคืนก็จะเป็น 18.30-20.00 น. เป็น BJJ จะเป็นแบบนี้ติดกัน 6 วัน ซึ่งมันหนักกว่าคนอื่น พราะหนูจะต้องใช้แรงและกล้ามเนื้อมากกว่าคนอื่น

ที่จะต้องปรับตัวน่าจะเป็นการอยู่คนเดียวค่ะ เพราะว่าหนูมาปุ๊บอยู่ปั๊บ พ่อกับแม่ต้องอยู่บ้าน ซึ่งมันจะต้องโคตรเข้มแข็งเลยกับตัวเอง กลับมาแล้วบางทีมันเหนื่อยเกินไป เรารู้สึกไม่ไหวว่ะ ก็ต้องฮีลใจตัวเองขึ้นมาใหม่

ร้องไห้ไปเลย อั้นไม่ไหวเราก็ปล่อยไป แล้วก็ค่อยพูดกับตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก ทนเอาหน่อยเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น เดี๋ยวมันก็ได้ดั่งที่ตัวเองหวังเอาไว้ เพราะหนูก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าตัวเองจะมาไกลถึงขนาดนี้ (ปรับตัว) ไม่นานค่ะ ด้วยความที่หนูเป็นคนร่าเริงอยู่แล้ว พอมันโอเค ถูกที่ ถูกเวลา แล้วก็ถูกกับคนด้วย เราโอเคกับหลายๆ คนที่นี่ มันก็เลยรู้สึกสนุกแล้วก็โอเค”


[ คว้าเข็มขัดแชมป์ ONE World Grand Prix MMA ]

นับตั้งแต่วันที่มีคำว่า Fairtex ต่อท้ายจนถึงวันนี้ ชื่อของ “แสตมป์ Fairtex”ก็กลายเป็นที่รู้จักบนสังเวียนผืนผ้าใบ ในฐานะนักชกหญิงฝีมือฉกาจอันดับต้นๆ ในตอนนี้

และ ONE championship องค์กรกีฬาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวระดับโลกที่ยิ่งใหญ่สุดแห่งเอเชีย ที่จัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ MMA ก็เป็นพื้นที่ให้เธอปล่อยของ จนเคยคว้าเข็มขัดแชมป์โลกจากเวทีนี้มาแล้วถึง 2 เส้นอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

“เคยได้ มวยไทย, Kick boxing แล้วตอนนี้เป็นแชมป์ ONE World Grand Prix MMA ที่จะถึงนี้เป็นชิงแชมป์ชั่วคราวของ MMA ในรุ่นค่ะ ตอนนี้เรามุ่งไปทาง MMA ขอให้ได้เข็มขัดก่อน แล้วจะขอเขากลับไปต่อยมวยไทยกับ Kick boxing ค่ะ

หนูประทับใจน่าจะเป็นไฟท์แรกของ ONE championship ครั้งแรกที่หนูต่อยก็คือชิงแชมป์ Kick boxing หนูรู้สึกว่ามันเสียงดังมากๆ ทุกคนเชียร์หนูเพราะหนูเป็นคนไทยด้วย ตอนนั้นต่อยที่ไทย แล้วก็ชิงแชมป์ให้ประเทศไทยด้วย

หลายๆ คนไม่รู้จักหนู แต่มารู้จักหนูวันนั้น แล้วหลายๆ คนก็เป็นแฟนคลับของหนูในวันนั้นเลย ซึ่งประทับใจมากเพราะว่าทุกคนให้การสนับสนุนแล้วก็ซัพพอร์ตหนูได้ดีมาก”

ฉายแววตั้งแต่ 5 ขวบ

ย้อนกลับไปถึงเส้นทางชีวิตบนสังเวียนผ้าใบ เรียกได้ว่า แสตมป์ คลุกคลีกับวงการมวยมาตั้งแต่จำความได้ เพราะเธอเป็นลูกสาวของ “วิสันต์เล็ก ลูกบางปลาสร้อย” พ่อที่เป็นอดีตนักมวย

และจุดที่ทำให้เธอได้ชิมลางศิลปะการต่อสู้ ก็มาจากความต้องการที่จะปกป้องตัวเอง จากการถูกเพื่อนร่วมชั้นรังแก เมื่อตอนที่มีอายุเพียง 5 ขวบ ด้วยความที่เป็นลูกไม้ใต้ต้น ก็ทำให้นักมวยตัวน้อย สามารถเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ในไฟท์แรกมาได้

“เป็นคนตัวเล็กมากๆ ประมาณ 5-6 ขวบ โดนเพื่อนแกล้งบ่อย พ่อเป็นนักมวย ลุงก็เป็นนักมวย ทำค่ายมวย หนูก็เลยไปบอกแม่ว่าอยากจะชกมวย แม่ก็ไปบอกพ่อว่าลูกอยากจะชกมวย เขาก็ถามว่าอยากจริงหรือเปล่า ถ้าอยากจริงพ่อก็จะฝึกให้

ชกเริ่มแรกก็พอระฆังเป๊ง! หนูก็เดินเข้าไปตีเข่าแล้วก็ชนะน็อกเลย เพราะว่าคู่ต่อสู้ร้องไห้ ไฟท์แรกได้ 500 คือดีใจนี่คือแล้ว (ยิ้ม) แล้วก็ต่อยมวยเรื่อยมาเพราะคนดูชอบเวลาเราต่อย เราเหมือนมวยบุกเขาก็เลยชอบกัน



พอเพื่อนรู้ว่าเราชกมวยแล้ว เพื่อนก็จะไม่แกล้ง เพื่อนก็อยากจะมาเป็นเพื่อนด้วยทันที (หัวเราะ) ตอนนั้นไปเรียน กลับมาซ้อม มันสนุก พอมันมีเพื่อนเราก็รู้สึกว่าเราอยากไปทุกวัน ด้วยความที่พ่อเป็นนักมวย พ่อก็สนับสนุนอยู่แล้ว

แต่ว่าจะมีย่า แม่ หรือป้า เขาจะประมาณว่าไม่อยากให้มันต่อยเลยมันเป็นผู้หญิง ให้มันเรียนอย่างเดียวก็พอ แต่เราชอบ พอมันต่อยไปครั้งแรกแล้วได้เงินมา เราภูมิใจมาก เขาก็เลยโอเค ไม่ค้าน เขาก็เลยสนับสนุนกัน

ต่อยมาประมาณ 9 ขวบ มันบูมอยู่ช่วงนึงที่เดินสายชก แต่ว่าเราไม่มีคู่ต่อย ก็จะต้องไปต่อยกับผู้ชาย หรือบางทีเราจะต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป ตัวเราเล็ก น้ำหนักน้อย ต้องแบกเขาไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน พ่อกับแม่ก็เลยให้เลิกมวย”

หลังจากเลิกชกมวยในตอนนั้น แสตมป์หันมามุ่งมั่นกับการเรียน ชนิดที่ว่าทิ้งการต่อยมวยไปเลย จนเวลาผ่านไปราว 8 ปี เป็นช่วงที่เธอกำลังเรียนชั้นมัธยมปลาย ในตอนนั้นก็มีงานประจำปี สาวน้อยได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ให้มาชกมวย และการได้กลับมาชกหลังจากห่างหายไปหลายปี ความรู้สึกเก่าๆ ก็กลับมาจนทำให้เธอตัดสินใจหวนคืนสู่สังเวียนอีกครั้ง



“ตอนนั้นผู้ใหญ่บ้านเขาจัดงานแตงโมหวาน เป็นงานประจำปี เขาจะจัดมวยก็อยากได้มวยในพื้นที่ เขาก็ถามว่าแตมป์อยากกลับมาต่อยมั้ย ตอนนั้นน้ำหนักแตมป์ 55-56 แต่ในรูปแบบไขมันล้วนๆ รู้สึกอยากลดน้ำหนัก ก็โอเค ก็เลยกลับไปต่อย

มันรู้สึกตื่นเต้นค่ะ แล้วก็ไม่รู้จะต้องต่อยแบบไหนเพราะว่ามันห่างกันไปนานมากๆ มันเหนื่อยจนหืดขึ้นคอ เหนื่อยมากจนอยากจะเป็นลม (หัวเราะ) ช่วงวัยนั้นรู้สึกว่าอยากไปต่อ เพราะรู้สึกว่าพอมันได้กลับไปในจุดเดิม มันสนุก

แต่ร่างกายเรามันไม่เข้าที่ พอมันไม่เข้าที่เราต่อยไปมันก็แพ้ๆๆๆ จนเซียนมวยเขาเล่นเราแล้วเขาเสียเงิน เขาก็เดินมาบอกว่า ‘เลิกมวยเหอะ ถ้าจะทำให้คนอื่นเขาเสียตังค์ขนาดนี้’ เราก็เลยคิดกับอา คิดกับพ่อ ถ้าอยากจะไปต่อต้องเปลี่ยนแล้วแหละ ต้องทำให้มันโอเค หลังจากนั้นก็คือฟิตเต็มที่ จากไขมันกลายเป็นกล้ามเนื้อ จาก 55 เหลือ 49 ทุกอย่างมันโอเคขึ้น

หนูเป็นคนที่ไม่ค่อยอินกับคำท้าทายหรือคำสบประมาทซักเท่าไหร่ หลายๆ คนอาจจะเก็บคำพวกนั้นไปพัฒนาตัว แต่สำหรับหนูไม่เป็นแบบนั้น หนูรู้สึกว่ามันทำให้ตัวเองถดถอยลง หนูชอบแบบต้องเป็นกำลังใจ หนูถึงจะโอเค ฉันจะไปต่อแน่นอน

ณ ตอนนั้นดีใจตรงที่ว่าหนูมีพ่อกับอาที่ถามว่า โอเคมั้ย ถ้าโอเค จะช่วย หนูก็โอเค งั้นไป หนูรับฟังเฉพาะคนที่มีบทบาทในชีวิตหนูมากกว่า”



หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและกำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่าแสตมป์ได้เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต เพราะในตอนนั้นเธอคิดที่จะแขวนนวมอีกครั้ง แต่ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ค่ายมวยและธุรกิจอุปกรณ์กีฬาชื่อดังอย่าง “Fairtex” ติดต่อมา เพื่อชักชวนเธอเข้าสังกัดพอดี

“ช่วงนั้นต่อยบ่อยมากค่ะ แล้วก็มันจะมีเดิมพัน มันจะมีการวางเงินแล้วค่าตัวมันจะเพิ่มขึ้น หนูดีใจมากเลย ออกรถของตัวเองได้ แล้วพอขึ้นมหา’ลัยปี 1 รายการเริ่มไม่มีเพราะว่าหาตัวต่อยไม่ได้

ตอนนั้นมันเริ่มโตกันแล้ว มวยหญิงหลายๆ ก็เริ่มเลิกกันแล้ว เริ่มจะไปสร้างครอบครัว หรือพอแล้ว จบกับเส้นทางมวย จะไปเรียน ก็เริ่มจะไม่มีคู่ต่อยแล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องตั้งใจเรียนอีกซักรอบนึง

จังหวะที่กำลังจะพัก Fairtex ติดต่อมาพอดี ตอนนั้นหนูเรียนมหา’ลัย แล้วมันต้องใช้เงินเยอะพอสมควร หนูก็ถาม Fairtex คำนึงว่า ส่งหนูเรียนมั้ย ถ้าส่งหนูจะมา แล้วเขาบอก โอเค เขาซัพพอร์ต หนูก็เลยมาเลย หนูไม่ได้คิดอะไรมากเพราะหนูมีน้องชายอีกคนนึง หนูอยากให้ครอบครัวไปสนับสนุนน้องดีกว่า ส่วนตัวหนูคือออกมาแล้ว เดี๋ยวหนูดูแลตัวเองเอง

พอเราย้ายมานี่ เราเลยต้องลงเรียนใหม่ทุกอย่าง ก็คือ start ใหม่เลย เราก็ไปเรียนสายอาชีพแทน เพราะเราจะต้องซ้อมจันทร์ถึงเสาร์ วันอาทิตย์เรามีวันว่างเราก็เลยไปเรียนภาคสมทบ ภาคพิเศษเอา”

หวังเวที MMA ต่อยอดมวยหญิงไทย

ในฐานะที่เจ้าตัวเคยผ่านการต่อสู้มาอย่างหลากหลายทั้ง มวยไทย, Kick boxing และ MMA แสตมป์ได้สะท้อนว่า บ้านมีนักมวยหญิงจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากได้ลองมาฝึกฝนและต่อยอดไปสู่การเป็นนักกีฬา MMA ก็จะเพิ่มโอกาสต่างๆ ในเส้นทางสายอาชีพนี้ไม่มากก็น้อย

“(จำนวนนักกีฬา) ถ้าเป็นมวยไทยน่าจะเยอะนะ ถ้าเป็น MMA คนไทยไม่ค่อยมีเลย น้อยมากค่ะ แต่ถ้าเป็นละแวกนอกมันมีเยอะอยู่ MMA มันต้องฝึกค่ะ มันไม่ใช่ฝึกแค่เดือนเดียวแล้วต่อยได้เลย มันต้องฝึกนานพอสมควร

ฉะนั้นต้องมีความอดทนมาก เราอาจจะได้เปรียบตรงที่เราเป็นมวยไทยอยู่แล้ว เราแค่เสริมท่านอนขึ้นไป การป้องกัน Take down หรือการป้องกันในท่านอนแค่นั้นเอง หนูว่ามันมีโอกาสมาก ถ้าสมมติว่าคนไทยหันมาเล่น MMA เพราะว่า MMA มันทำเงินได้เยอะมากๆ

ถ้าเป็นฝรั่งตอนนี้ของผู้หญิง 34-35 ยังต่อยอยู่เลย เพราะว่าฝรั่งเขา start กันอายุ 18-19 ช่วงวัยกำลังกระดูกแข็งแรง แต่ของเรา start ตั้งแต่เด็ก กระดูกมันก็กร่อนไปตั้งนานแล้ว หนูว่าแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนจะไปต่อได้หรือเปล่า”



ส่วนใครก็ตามที่อยากตามรอยเป็นนักชกค่าตัวหลักล้าน ก็ต้องมีความอดทน ตั้งใจ และมุ่งมั่น สักวันจะประสบความสำเร็จเหมือน “แสตมป์ Fairtex” แน่นอน

“หลายคนมองหนูเป็น Idol อยากเป็นแบบพี่แสตมป์จังเลย ถ้าอยากเดินตามแค่อดทนและตั้งใจ มุ่งมั่น แค่นั้นพอแล้ว เพราะหนูเป็นคนไม่มีพรสวรรค์ในด้านนี้ซักเท่าไหร่ แต่ว่าหนูมีวินัย หนูมีพรแสวง หนูอดทนเก่ง หนูเก่งกับเรื่องที่เขาไม่ชอบกันแต่หนูชอบ (หัวเราะ)

คนอื่นเขาพอมาลอง MMA ประมาณวันสองวันก็ไปกันแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ มันจำเจ เพราะมันต้องฝึกเหมือนเดิมๆๆ ทุกวัน หนูก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นเพราะหนูอดทนเก่ง หนูเล่นหลายกีฬา Kick Boxing, มวยไทย แล้วก็ MMA

หนูเป็นคนไม่มีหัวในการต่อยมวยซักเท่าไหร่ คนอื่นเขาอาจจะใช้สมองในการชก แต่หนูใช้แรงค่ะ หนูคิดไม่ทันค่ะ ประมาณว่าสมมติว่าต่อยกันอยู่อย่างนี้ เขาเตะมาหนูอาจจะไม่ได้เตะสวนกลับไป หนูอาจจะรับแล้วค่อยเตะสวนกลับไป

หนูใช้ความอึดเข้าสู้ หลายๆ คนแพ้หนูเพราะว่าหนูมีพลังมากกว่า เพราะว่ากีฬา MMA เป็นกีฬาที่จะต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย ฉะนั้นเราต้องทำทุกส่วนของร่างกายให้มันกระชับแล้วก็แข็งแรง

และด้วยความที่เราเป็นคนร่าเริง เราเป็นคนชอบเต้น หนูชอบเต้นเวลา walkout ออกมา หนูจะเปิดเพลงแล้วก็เต้นออกมา ระหว่างยกก็เต้น ถ้ารู้ว่าตัวเองชนะก็จะเต้น มันก็เลยเป็นจุดขายที่หลายคนจับตาและชื่นชอบ (หัวเราะ)”


และที่สำคัญ หากคิดจะเดินในเส้นทางนี้ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะต้องเจ็บตัวด้วยเช่นกัน

“ตอนนี้หนูไม่กังวลเพราะว่า หนูเป็นนักมวยยังไงมันต้องโดนอยู่แล้ว ไม่แตกตรงไหนซักที่นึงก็ต้องมี แต่ได้แค่โอเค…วันนี้ถ้าอยากจะสวยก็ make up หรือบางทีก็ขัดผิวหรืออะไรทำนองนี้ค่ะ นั่นคือดีที่สุดแล้ว บางทีอาจจะไปฉีด Botox ให้หน้ามันเรียว (หัวเราะ) ถ้ารักสวยรักงามก็คือไปทำอย่างอื่น เพราะที่นี่มันต้องโดนอยู่แล้ว ต้องโดนชกหน้าอยู่แล้ว

หนักสุดเลยน่าจะเป็นมีต่อยกับซ้อม ต่อยหนูแพ้เสียเข็มขัดไป โดนศอกจมูกหัก แล้วก็ตรงนี้แตก (หน้าแก้ม) ในเรื่องซ้อม พอเรามีรายการจะชก World Grand Prix จังหวะเราซ้อม มันลื่นเพราะมีเหงื่อมาก ปล้ำไปปล้ำมามันดัง ก๊อก! ข้อเท้าหักเพราะโดนทับ แต่มันยังอยู่ในรูปทรงเดิม หนูก็คิดว่ามันแค่กระดูกลั่น ก็ยังซ้อมต่อยังอะไรต่อ ยังเตะเขาได้

ทีนี้รายการมันเลื่อนออกไป เราก็เลยไปเอ็กซเรย์ดู สรุปหักเป็นท่อนเลย แต่ก็บอกเสี่ยกับนายว่าไม่อยากถอน เพราะมันเป็นโอกาสแค่ครั้งเดียว ถ้าสมมติเราไม่จับโอกาสนี้ไว้ เราไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสวันไหนอีก ก็เลยคว้ามันไว้ แล้วก็ได้เข็มขัดมา ไปเตะเขาทั้งๆ ที่ขาหักอยู่ (หัวเราะ) กลัวค่ะ แต่ก็คิดไว้ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวต่อยเสร็จก่อนเดี๋ยวมารักษา เอาตรงนี้ให้ดีที่สุดก่อน”

บทเรียนชีวิต เสียเข็ดขัดแชมป์เพราะ “ความรัก”

“ถ้าก่อนที่ยังไม่ได้แชมป์ รู้สึกหิวกระหายมากเลย ถ้าแพ้ไม่เสียของ ชนะก็คือก็เก่ง แต่สมมติพอมันมีแชมป์ขึ้นมา ถ้าแพ้นี่แย่มากเลย เพราะเราอยู่ในตำแหน่งแชมป์ แสดงว่าเราเก่งแล้ว นั่นแหละสิ่งที่กลัววันนึงลืมตัว เพราะว่าเคยลืมตัวมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็เสียไปทั้ง Kick boxing และมวยไทย”

ทั้งนี้ นักชกสุดแกร่ง ได้เผยประสบการณ์ความบอบช้ำในอดีต ที่ต้องเสียเข็มขัดแชมป์ 2 เส้นไป เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของชีวิต ที่เธอให้คำมั่นว่า จะไม่กลับไปเรียนบทเรียนนี้อีก



“ลืมตัวที่ว่า คือเรามีความรักด้วย พอมีความรักเราหลุดโฟกัส พอหลุดโฟกัส เวลาทะเลาะกันต่อให้เราบอกว่าเราตั้งใจซ้อม สีหน้ามันออก เราไม่โอเค เวลาเราซ้อมมันก็ไม่เต็มที่เพราะเรามีแฟนเราก็คุยกับแฟนตลอดเวลา

เราลืมตัวว่าฝรั่งคงไม่รู้เท่าเรา คงไม่เก่งเท่าเรา แต่จริงๆ ตอนนี้ฝรั่งคือเก่งกว่าเราเยอะแล้ว พัฒนามากกว่าเราเยอะแล้ว และยิ่งมีวิทยาศาสตร์การกีฬาเรื่องกล้ามเนื้อ เรื่องการกิน ของเขามันล้ำหน้ามากกว่าเรา เรารู้สึกว่าเราประมาทเขาไม่ได้แล้วนะตอนนี้ แต่ตอนนั้นคือเราลืมตัว ลืมตัวว่าเราจะต้องทำอะไร เรามาทำอะไร

ตอนนั้นแย่มากๆ ถึงขนาดที่เราคิดว่า เรามีแฟนอยู่แค่คนเดียวที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวใจ แต่เขาหันหลังให้เราแล้ว เขาไปมีคนอื่นเลย เรามีครอบครัว แล้ว คุณเปรม (อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์) เสี่ยบรรจง (บรรจง บุษราบวรวงษ์) ที่อยู่กับเราจริงๆ

พ่ออยากให้หนูอยู่บ้าน อยากไปอยู่กับพ่อกับแม่ให้ฮีลใจตัวเอง แต่เรารู้ตัวเองว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่งั้นฉันฟุ้งซ่านแน่ อยากกลับมาเจอเพื่อนฝูง อยากมาซ้อมให้มันหนักๆ มันไม่ต้องคิดอะไร กลับห้องไปมันง่วงเต็มที่แล้วเพราะเหนื่อย



ก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวครั้งหน้ามันต้องดีกว่านี้ แล้วหนูคิดว่าหลายๆ คนให้กำลังใจหนู มันไม่สู้เท่าตัวเองให้กำลังใจตัวเอง ต่อให้คนหลายคน ดาราที่เราชอบสุดๆ มาให้กำลังใจ มันก็ยังเฟลอยู่ ถ้าเราไม่ให้กำลังใจตัวเอง

ได้บทเรียนค่ะมากๆ เวลาจะทำอะไรหนูโคตรคิดเยอะเลยช่วงนี้ ถ้าทำอันนี้แล้วผลมันคืออะไร ณ ตอนนั้น เราคิดแค่ว่าเราเป็นศูนย์กลาง พอมันเป็นศูนย์กลางปุ๊บ คนที่โดนผลกระทบไม่ได้มีแค่เรา แต่จริงๆ คือรอบเลย”

จากบทเรียนครั้งนั้น ทำให้เธอหันมามุ่งมั่นในการฝึกซ้อม เพื่อทวงคืนฟอร์มสุดแกร่งกลับมา

“หนูแพ้คะแนน เข็มขัดแรกเป็น Kick boxing มันแพ้นิดเดียว มันฉิวเฉียด หนูไม่ถนัดกับกีฬานี้ด้วย มันเป็นกติกาที่เราไม่ถนัดอยู่แล้ว ส่วนมวยไทยอันนั้นผิดเต็มๆ เราหลุดโฟกัสหมดเลยเพราะเรามีความรัก วันที่เราต่อยคือเราเลิกกับแฟนพอดี นั่นแหละสิ่งที่มันเลวร้ายที่สุด ทุกอย่างมัน down หมด ต่อให้เราบอกว่าไม่เป็นไร เราแยกเรื่องงานกับความรักได้ มันไม่จริงเลย


พอเรารู้ว่าตัวเองกำลังจะหลุดโฟกัส ก็ต้องคิดถึงอย่างเดียวเลยว่าตอนนี้ อายุเท่าไหร่แล้ว มันจะไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว มันจะไม่มีโอกาสยื่นให้มาเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 อีกแล้ว ก็คือซ้อมค่ะ โหมซ้อมอย่างเดียวเลย

จริงๆ หนูจะเป็นคนที่ไม่กดดันตัวเอง เพราะว่าในค่ายก็กดดันพอสมควร ครอบครัวก็กดดันพอสมควร ความคาดหวังมันโถมเข้ามามาก มีแค่ตัวเองที่จะต้องสู้เว้ย ไม่ต้องกดดันตัวเอง ปล่อยให้มันดีที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้ พอมันแพ้มาหรือมันชนะมา หรือว่าผลมันออกมายังไง ก็พูดได้เต็มปากว่าฉันทำดีที่สุดแล้ว จะไม่เสียใจ

ตอนนี้ก็ไม่มีแฟน (หัวเราะ) พอครั้งนั้นมันผ่านไป มันเหมือนเป็นภาพจำ ตอนนี้เราจะเดินไปให้มันสุดทาง รู้สึกมันย้อนกลับไปตรงนั้น ถ้าเราไปอีกนิดนึงมันจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ก็เลยกลัว ระยะห่างต้องมีบ้างสำหรับหลายๆ คนที่เข้ามา”



กว่าจะชีวิตจะเดินทางมาถึงวันนี้ ก็เสียไปทั้งน้ำตา หยาดเหงื่อ แรงกาย และแรงใจไปมากมาย แต่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งของสาวน้อยคนนี้ ก็ทำให้ผ่านมาได้ทุกอุปสรรคที่เจอ

“ส่วนมากหนูจะเป็นคนให้กำลังใจตัวเองเก่งพอสมควร เวลาซ้อม ค่ายนี้ขึ้นชื่อว่าซ้อมหนักที่สุด แล้วหนูซ้อมหนักกว่าคนอื่นเขาด้วย หลายๆ เวลา หลายๆ รอบ มันก็เลยจะมีบางครั้งที่… เฮ้ยเหนื่อยว่ะ เหนื่อยจริงๆ

หนูก็พูดว่า เก่งมากแตมป์ good job เก่งสุดๆ แล้ว วันไหนที่มัน down สุดๆ เหนื่อยสุดๆ หนูจะเป็นพวกคล้ายๆ introvert ไปนั่งในห้องน้ำคนเดียวประมาณ 2 ชั่วโมง นั่งเหมือนพักเหนื่อย แล้วก็พูดกับตัวเอง มานั่งเรียงความตัวเองว่ามาที่นี่เพราะอะไร เพื่ออะไร และจะทำอะไร ถึงได้ฮีลใจตัวเองขึ้นมาได้

ไม่มีคำว่า ‘เลิกดีกว่า’ หรือว่า ‘พอแล้ว ไม่ไหว’ มีแค่เหนื่อย รู้สึกทำไมวันนี้มันเหนื่อยจัง คือหนูเป็นคนที่ความอดทนสูงพอสมควร มันจะเก็บตรงนั้น เก็บตรงนี้ เก็บหลายๆ วันเข้า วันไหนมันจะระเบิดคือระเบิดเลย ระเบิดตู้มคือร้องไห้ทั้งวัน มันจะซึมไปเลย แต่ประมาณวันสองวันก็ดีขึ้น

ทุกวันนี้มันมีค่ะแต่นานๆ ที ด้วยความที่เหมือนคล้ายๆ มันมีภูมิต้านทานแล้ว พอเรารู้จุดอ่อนเรา เรารู้ว่าจะต้องทำยังไงให้ตัวเองโอเคขึ้นมันก็เลยเป็นเรื่องง่าย”

เสาหลักของครอบครัว

นอกจากการเป็นนักชกแล้ว สำหรับชีวิตนอกสังเวียนผืนผ้าใบ เธอคือลูกสาวของพ่อแม่ พี่สาวของน้องชาย และเสาหลักของครอบคัว ในวัยเพียง 20 กว่าๆ

“หนูเป็นเสาหลักของบ้าน เพราะว่ามีอะไรก็จะเป็นหนู ก็โอเค เดี๋ยวโอนตังค์ไปให้ แล้วตอนนี้แม่ไม่ได้ทำงานแล้ว หนูให้แม่ออกจากงาน ส่วนพ่อก็ทำแต่สวน มันก็จะได้เป็นรายปีเพราะเป็นสวนทุเรียน มันจะเป็นฤดูของมัน

น้องเป็นนักมวยค่ะ (ห่างกับน้อง) 10 ปีค่ะ ก็มีค่าเทอมบ้าง หรือว่าน้องอยากได้อะไรเดี๋ยวซื้อให้ หรือบางทีต่อยเสร็จ หนูก็จะแบ่งให้น้องบ้าง 30,000 - 50,000 ว่ากันไป หนูอยู่นี่หนูได้แค่ส่งเงินให้พ่อทำสวนอย่างเดียว ก็จะมีน้องเป็นมือเป็นไม้ให้

สมมติหนูได้มา 10 หนูก็เก็บให้ตัวเองก่อนซัก 3 หรือ 4 ให้พ่อแม่คนละ 1 หรือ 2 ถ้าสมมติไฟท์นี้ชนะ หรือหนูอยากได้อะไรหนูจะซื้อเป็นของขวัญตัวเองอย่างนึง แล้วก็เก็บตังค์เลย ตอนนี้ก็ขยันเก็บอย่างเดียว เพราะว่ามีแพลนจะสร้างบ้านค่ะ



ภูมิใจค่ะ เพราะว่าเมื่อก่อนหนูได้แต่ขอตังค์พ่อกับแม่ เวลาต่อยมวยเล็กๆ น้อยๆ มันได้แค่ 8,000 - 9,000 อาจจะให้พ่อหรือแม่ หรืออาจจะไม่ได้ให้พ่อเลย ให้แม่อย่างเดียวเพราะว่าเรากินอยู่กับแม่ มีอะไรก็ขอแม่อย่างเดียว

เวลาหนูได้ค่าตัว หนูจะให้พ่อแม่คนละประมาณ 50,000 - 60,000 แต่ว่าครั้งไหนที่หนูได้โบนัส มันก็จะเพิ่มอีก หนูก็จะเอาเงินให้พ่อกับแม่คนละปึก อันนี้นะพ่อ อันนี้นะแม่ หนูให้นะเพราะหนูได้โบนัส หนูให้ได้เท่าที่หนูให้ได้ แกก็จะพูดว่าสิ่งที่ลูกให้มาขอให้คืนกลับลูกไป หลายเท่า 10 เท่า 100 เท่า ขอให้มันเจริญๆ แบบนี้ต่อไป”

และยิ่งต้องห่างบ้านมาอยู่ตรงนี้คนเดียวแบบนี้ หากมีเวลาว่างเมื่อใด ครอบครัวจากระยองจะเดินทางมาหาทันที เช่นเดียวกัน เมื่อแสตมป์ว่างจากตารางการแข่งขัน ก็จะใช้เวลาที่มีให้กับครอบครัว

“ส่วนมากพ่อกับแม่เขาจะขึ้นมาหาหนูบ่อยพอสมควร จะมาหา มาพาไปกินข้าว อย่างน้อยก็แบบว่า ให้เวลากับลูกบ้าง แต่หนูไม่เคยบอกปัญหาให้พ่อกับแม่ฟัง หรือแม่ถามว่ามีเงินมั้ย หนูก็จะบอก มี ไม่ต้องห่วงหนู

หนูมาที่นี่ไม่อยากให้พ่อหรือแม่ต้องมาเป็นห่วงหนูอีกคนนึง ให้เขาสบายใจกับหนูที่สุด พ่อกับแม่เขาจะพูดประมาณว่า สู้หน่อยนะ อดทนหน่อยนะ เดี๋ยววันนึงมันอิ่มตัวแล้วหนูจะได้ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ หนูก็ อื้ม... หนูเข้าใจอยู่



[ แสตมป์และครอบครัว ]
แรกๆ ที่หนูมานี่ประมาณ 2-3 ปีแรก หนูจะทุ่มกับตรงนี้หมดเลย เวลาต่อยเสร็จกลับบ้านแค่ 3 วันก็กลับมาซ้อมต่อ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าจะต้องให้เวลากับครอบครัวบ้าง ต่อยเสร็จปุ๊บหนูขอคุณเปรม ขอเสี่ยบรรจงว่า หนูขอหยุด จะไปเที่ยวกับครอบครัวบ้าง จะพาครอบครัวไปเที่ยวบ้าง จะให้เวลาครอบครัวบ้าง เขาก็โอเค

หนูยังเรียนอยู่ หนูต้องมาเริ่มใหม่เป็น ปวศ.ตอนนี้หนูเรียนปี 3 ปีหน้าจะจบแล้ว ตอนนี้เรียนมหา’ลัย Southeast Bangkok เรียนทุกวันอาทิตย์ มันเหนื่อยหน่อยแหละ วันอาทิตย์คนอื่นอาจจะพักกันแต่เรามาเรียน ไม่เป็นไรให้มันจบๆ ไป”

ถามถึงความผูกพันระหว่างแสตมป์และต้นสังกัดอย่าง Fairtex ค่ายแห่งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตและช่วยสานฝัน ทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ ตลอดจนเส้นทางนักกีฬาของเธอ

“ส่วนมาก (คุณเปรม) จะให้กำลังใจแบบว่า ไฟท์นี้ถ้าทำได้ค่าตัวจะเพิ่มนะ ค่าตัวจะได้อีกแล้วนะ อะไรอย่างนี้ แล้วแกก็จะพูดเกี่ยวกับให้เก็บเงิน ได้มาเท่านี้ต้องเก็บเงินด้วยนะเพราะว่าต่อยมวยได้ไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ มันต้องเก็บเงิน แล้วก็พยายามอย่าหรูหรามากนะ อย่าลืมตัวนะ อะไรแบบนี้ค่ะ

Fairtex ให้หนูหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อคิดดีๆ หรือว่าช่วยผลักดันหนูไปในทางที่ดี
ถ้าหนูไม่มี Fairtex หนูก็จะไม่รู้จัก ONE แล้วหลายๆ คนก็จะไม่รู้ว่าแสตมป์ Fairtex คือใคร Fairtex สำคัญกับหนูมากๆ ถ้าไม่มี Fairtex ที่อยากได้ตัวหนูในวันนั้น ก็ไม่มีหนูในวันนี้ แน่นอนว่ามีแฟนคลับเพิ่มขึ้น มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น มีคนรักมากขึ้น



เพราะว่า Fairtex เพราะว่า ONE Championship ทำให้หนูได้มีเงินก้อนเอากลับบ้านเอาไปให้พ่อกับแม่ มันรู้สึกภูมิใจที่หนูกลับบ้านมาหนูไม่ได้กลับมือเปล่า หนูมีความภูมิใจ มีทุกอย่างเอามาให้พ่อกับแม่ ได้เหลือแค่ดาวกับเดือนเท่านั้นแหละที่เอามาไม่ได้ (หัวเราะ)

พอเราทำชื่อเสียงได้ โฆษณาต่างๆ ก็เข้า ที่บ้านเขาเอาที่ไปจำนองเพื่อจะมาทำสวนทุเรียน ซึ่งก็เป็นหนี้อยู่หลายแสน หนูได้โฆษณา หนูก็เอาไปปิดบ้านจนตอนนี้ไม่มีหนี้แล้ว ตอนนี้มีแต่เพิ่มพูนอย่างเดียว หนูทำทุกอย่างให้มันดีขึ้นได้”

สำหรับเป้าหมายที่นักสู้สาวคนนี้วาดไว้ คือการครองแชมป์ทั้ง 3 ชนิดกีฬา คือ มวยไทย, Kick boxing และ MMA รวมถึงกลับไปชิงเข็มขัดทั้ง 2 เส้นที่เคยเสียไปกลับมาให้ได้

“หนูคิดว่าหนูต่อยได้เรื่อยๆ ถ้าร่างกายโอเค เพราะว่าหนูไม่ได้ดูเรื่องอายุ หนูดูเรื่องศักยภาพร่างกาย สุขภาพตัวเอง ถ้าตัวเองไปไหวก็จะไป

หนูอยากเป็นแชมป์ทั้ง 3 กีฬา มวยไทย, Kick boxing แล้วก็ MMA หนูเคยได้ Kick boxing กับมวยไทยแล้ว ตอนนี้เหลือ MMA อย่างเดียวที่ยังไม่ได้

ถ้าไฟท์นี้หนูชก MMA แล้วหนูได้แชมป์ หนูจะขอกลับไปชิง แล้วได้เข็มขัดทั้ง 2 เส้นคืนมา หนูไม่ได้อยากประกาศชื่อมาว่าเคยเป็นแชมป์อย่างนู้นอย่างนี้ หนูอยากจะแบบ… แสตมป์ยังเป็นแชมป์อยู่ อยากเป็นแบบนั้น”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย นักชกสาวคนนี้ก็ขอฝากคำขอบคุณไปยังแฟนๆ ที่รอเชียร์และสนับสนุนเธอเสมอ ซึ่งการแข่งขันครั้งต่อไป จะมีขึ้นในศึก ONE Fight Night 14 วันที่ 2 กันยายนนี้

“ขอบคุณค่ะ ขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้เสมอมา ไม่ว่าจะล้มมากี่ครั้งยังยืนอยู่ข้างกัน ก็จะทำให้เต็มที่ในทุกๆ ไฟท์ แล้วก็จะพยายามตั้งใจและเก็บคำที่เขาตำหนิติชมมา จะเก็บไปปรับปรุงและเพิ่มให้มันดีขึ้น

วันที่ 2 กันยาค่ะ จะเป็นแมทช์ชิงแชมป์ MMA ชั่วคราว จะเป็นแมทช์ใหญ่ในชีวิตเหมือนกัน เพราะว่ามันจะตอบคำตอบตัวเองได้ชัดเจนมาก ว่าถ้าเราชนะไฟท์นี้ ไฟท์หน้าคือ 10 ล้านแล้วนะ

คิดเสมอค่ะว่าเกมกีฬามีแพ้มีชนะ เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งคนเดียวในโลก มีหลายๆ คนที่เก่งกว่าเรา แค่ว่าตัวเองทำเต็มที่หรือยัง เสียใจมั้ยกับสิ่งที่วันนั้นไม่ได้ทำ หรือว่าโอเคแค่ไหนกับสิ่งที่ตัวเองทำในวันนั้นค่ะ”






ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Stamp Fairtex”, "One Championship" และอินสตาแกรม @stamp_fairtex
ข้อมูลเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Fairtex Thailand Fanpage”, “Fairtex Fight”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น