xs
xsm
sm
md
lg

อีกมุมช้างทูตชีวิตทรมาน!? วอนอย่าปล่อย “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับไป [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับไทย “หลังถูกใช้งานหนักกว่า 20ปี?” หลักฐานชี้ชัดไม่ใช่ครั้งแรก!! “PETA” เคย “คว่ำบาตร” ศรีลังกา ข้อหา “ทารุณกรรมช้าง”



กลับไทย “เหตุใช้งานหนักเกินไป”?



เป็นที่หน้าชื่นใจ เมื่อได้เห็นได้ “พลายศักดิ์สุรินทร์”แลดูร่าเริง หลังจากที่ต้องจากไทยไปอยู่ ศรีลังกา ในถานะทูตสันถวไมตรี และถูกใช้ในพิธี การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า หรือ “พระเขี้ยวแก้ว” กว่า 20ปี

เหตุผลที่ไทยต้องขอตัวช้างพลายเชือกนี้ กลับมาเพราะสภาพที่ผอมแห้ง เห็นกระดูกหลัง ผิวหนังหยาบ จากการดูแลที่ไม่เหมาะสม อาจเพราะ ปัญหาเศรษฐกิจที่ศรีลังกา กำลังเผชิญอยู่ ทำให้ช้างไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

และจากเนื้อข่าวหลายแห่งบอกว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ต้องเดินขบวนถึงเดือนละ 30 ครั้ง จนขาซ้ายด้านหน้างอเข่าไม่ได้มานานกว่า 8 ปีและมีฝีขนาดใหญ่ด้านหลังทั้งสองแห่ง ทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมเกินกว่าวัยทั้งที่มีอายุประมาณ 30 ปี


                                                       {พลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะอยู่ที่ ศรีลังกา}


ทำให้ Rally for Animal Rights & Environment (RARE)องค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ร้องเรียก ถึงสภาพเหล่านี้ และการดูแลที่ไม่เหมาะ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย จนทำให้เกิดการประสานกับศรีลังกา เพื่อพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับมารักษาที่ไทย


จากเหตุการณ์นี้ ทำให้หลายคนมองว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ถูกทารุณกรรม และโดนใช้งานอย่างหนัก แต่ พัชรพร คูกิจติเกษมลูกสาวของ สมโรจน์ คูกิจติเกษม เจ้าของเดิมของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ออกมาโพสต์ ชี้แจ้ง ในเฟซบุ๊กว่า ช้างต้องทรมาน กว่า 20 ปี นั้นไม่จริง

พระที่วัดศรีลังกาเมตตาช้างมาก เมื่อช้างไปถึงศรีลังกาก็ได้รับการดูแลต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี และงานพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ นั้นมีเกียรติ ปีนึงมีไม่กี่ครั้ง และเป็นงานที่ไม่ได้หนักหนาอะไร

“สังเกตุได้ว่างาช้างมีความสง่างามคงรูปเดิม เพราะถ้างานหนักแล้วนั้น งาไม่มีทางยาวสวยได้ขนาดนี้ หากมีความเครียดหรือระวังภัยช้างจะกำจัดงาทิ้ง เพื่อเหลือความยาวระยะที่เหมาะสม ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวของช้างได้

หรือเล่นโซ่จนงามีตำหนิ งาช้างคือของรักของช้างเลยค่ะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ เป็นมงคล จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าทางศรีลังกาดูแลช้างได้อย่างดี ไม่มีการใช้งานเยี่ยงทาส”
 


และในโพสต์นี้ ยังได้อธิบายเรื่อง แผลของพลายศักดิ์สุรินทร์ ว่าเกิดจาก ควาญช้างคนเก่าที่เคยดูแลเสียชีวิตไป และควาญคนใหม่ ไม่รู้วิธีดูแลเหมือนคนเก่า และไม่รู้วิธีจัดที่ถูกต้อง ขณะช้างตกมัน แต่ก็มีการส่งควาญไทย ไปแก้ไข้ปัญหา และช่วยดูแลขณะช้างตกมันแล้ว

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทยกังวลว่า เมื่อ “พลายศักดิ์สุรินทร์” หายดีแล้ว ไทยต้องส่งตัวคืน ไปให้ศรีลังกาหรือเปล่า?

กัญจนา ศิลปอาชาที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณทุกฝ่าย ที่ทำให้ช้างไทยได้กลับบ้าน และยังพูดถึงประเด็นการส่งตัว พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับศรีลังกา ว่า

“สำหรับความห่วงใยว่าต้องส่งพ่อพลายกลับไปอีกไหม เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว ขอตอบว่า การจะให้พ่อพลายแข็งแรงอย่างเต็มร้อย เราคงต้องรักษาเขาอยู่ที่แผ่นดินไทยอาจชั่วชีวิตเขาค่ะ”

                                                      {พลายศักดิ์สุรินทร์ หลังได้กลับไทย}

คว่ำบาตรศรีลังกา!! “ทารุณช้าง”

ไม่ใช่แค่ พลายศักดิ์สุรินทร์ ที่ถูกส่งไป ศรีลังกา แต่ยังมีช้างพลายอีก 2 เชือก คือ “พลายประตูผา” อายุ 49 ปี เป็นช้างตัวแรกที่ส่งไปเมื่อ 37 ปีก่อน และ “พลายศรีณรงค์” ที่ส่งไปพร้อม “พลายศักดิ์สุรินทร์”

ตอนนี้ “พลายศรีณรงค์” อยู่วัดในเมืองรัตนปุระ และปัจจุบันยังมีการใช้งาน ในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วอยู่ ตามวัดต่างๆ แต่มีการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างดี ช้างมีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ สภาพดูดีกว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์”


                                             {สภาพพลายศรีณรงค์ ที่คนไทยไปพบ}

แต่สภาพที่เห็น เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เมื่อ RARE ได้ออกมาโพสต์ภาพ "พลายศรีณรงค์” ผ่านทาง IG @rare_srilanka ที่ถูกผูกโซ่ทั้ง ขาหน้าและขาหลัง พร้อมอธิบายว่า เทคนิคนี้เรียกว่า การใส่ “กุญแจมือ” และหลังจากนั้นก็จะสวมชุดให้ช้าง เพื่อเข้ารวมใน พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “เราคิดว่าถึงเวลาเลิกทาสช้างในศรีลังกาแล้ว”

                                  {ภาพ พลายศรีณรงค์  จากโพสต์ใน IG ของ RARE }

ดูเหมือนว่า การแห่พระเขี้ยวแก้ว หรือ เทศกาลเพราเฮรา จะมีปัญหาเกี่ยวกับ การทรมานช้างอยู่เสมอ เมื่อปี 2019 เล็ก ชัยเลิศผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Save Elephant Foundation –มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาโพตสต์ภาพ ช้างเพศเมีย ที่มีร่างกายผอม หนังติดกระดูก ที่มีชื่อว่า “ตีคีรี (Tikiri)” และเขียนใน facebook ว่า



                                                                  {ช้าง ตีคีรี (Tikiri)}

“นี่คือ ตีคีรี(Tikiri)ช้างเพศเมียวัย 70 ปีที่มีอาการป่วย และเป็นหนึ่งในช้าง 60 เชือกที่ต้องทำงานรับใช้ในเทศกาลเพอราเฮราที่ศรีลังกาในปีนี้”

และยังกล่าวเสริมไว้ผ่านสื่อ CNN ว่า ไม่มีใครเห็นสภาพที่อ่อนแอน ของช้างชราเชือกนี้ เพราะเครื่องแต่งกายที่คุมอยู่ และมันยังได้รับบาดเจ็บจากหลอดไฟ ที่ประดับอยู่บนหน้ากาก อีกด้วยอีกทั้งยังมีการ ใส่กุญแจมือสั้นๆที่เท้าช้าง ขณะที่เดินอยู่ในขบวนด้วย



ไม่ใช้แค่ งานเทศกาลเพราเฮรา อย่างเดียวที่องค์กรสิทธิสัตว์ต่างๆจับตามอง แต่สถานเลี้ยงช้างกำพร้า “พินนาวาลา”ที่ตั้งอยู่เมือง Rambukkana ประเทศศรีลังกา ก็เคยถูกตั้งคำถามถึงสภาพการเลี้ยงดู และการใช้ช้างเพื่อความบันเทิงเหมือนกัน

จากหัวข้อข่าว “This 'Sanctuary' Is Actually A Nightmare For Elephants” ของ“The Dodo” เมื่อปี 2018 บอกว่า ที่ “พินนาวาลา” ช้างบางตัวถูกล่ามโซ่ ถูกบังคับให้ฉีดน้ำออกจากงวง


                                                        {สถานเลี้ยงช้างกำพร้า พินนาวาลา}

ช้างหลายตัว มีโซ่ขนาดใหญ่พันรอบขา เพื่อป้องกันไม่ให้มันเคลื่อนไหวไปมา และแสดงพฤติกรรมตามธรรมชติ เช่น นอน เดินเล่น หรืออาบน้ำ



Toni Frohoffนักชีววิทยาช้างของ In Defense of Animals (IDA) ให้ความเห็นไว้ในข่าวนี้ว่า ที่ “พินนาวาลา” ช้างถูกล่ามด้วยวิธีที่ป่าเถื่อนและโหดร้ายที่สุด

“การไม่มีที่กำบังแดดฝนที่ดี และพื้นที่ให้ช้างยืนพักก็ไม่มีความเหมาะสมโดยสิ้นเชิง ประกอบกับถูกล่ามโซ่หลายขา มันสร้างฝันร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจสำหรับช้าง ทำให้ช้างแทบเคลื่อนไหวไม่ได้”



                                                  {สถานเลี้ยงช้างกำพร้า พินนาวาลา}

และจากเหตุการณ์ทั้งหมด ทำให้ “PETA”องค์กรสิทธิสัตว์ระหว่างประเทศ ออกมาเรียกร้องให้คว่ำบาตร สถานที่ท่องเที่ยว ที่มีการใช้ช้างเพื่อความบันเทิงในศรีลังการวมถึงพิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว(เพราเฮรา) เมื่อ 2 สิงหาคม 2018

PETA กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในศรีลังกา ได้นำไปสู่ “การทารุณกรรม ช้างอย่างน่าละอาย” ที่เพิ่มอย่างมากในประเทศ สถานที่เหล่านี้มักเรียกตัวเองว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” หรือ “สถานเลี้ยงสัตว์กำพร้า” เพื่อหลอกลวงนักท่องเที่ยว ให้เชื่อว่าพวกเขาเป็นคนมีจริยธรรม




“จนกว่า นักท่องเที่ยวจะหยุดจ่ายเงินเพื่อขี่มัน ช้างจะยังคงเผชิญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบและทารุณกรรมต่อไป หากคุณกำลังเยี่ยมชมศรีลังกา โปรดปฏิเสธการขี่ช้าง หลีกเลี่ยงการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวใดๆ ที่มีหรือสนับสนุนการขี่ช้าง และหลีกเลี่ยงเทศกาลที่มีขบวนพาเหรดช้าง”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
พากย์เสียง : ดรงค์ ฤทธิปัญญา
ขอบคุณภาพ : thedodo.com, sundaytimes.lk, เฟซบุ๊ก “Chayanan Assawadhammanon”, “Save Elephant Foundation –มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม”, “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” และอินสตาแกรม @rare_srilanka



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น