“เราทำเพื่อมวยไทย” เปิดใจ “เปรม บุษราบวรวงษ์” จากทายาทค่ายมวย Fairtex สู่หมวกใบใหม่ กรรมการผู้จัดการ ONE Championship ประเทศไทย หวังพลิกเวทีผืนผ้าใบสู่สากล ไร้พนัน-หนุนค่าตอบแทนคนวงการมวย
“เราอยากจะช่วยให้มวยไทยมันโตขึ้นมาจริงๆ”
“ผมเกิดมา คิดว่าเสียงแรกที่ได้ยินคือเสียงนักมวยซ้อม เพราะ Fairtex ทำมา 50 กว่าปีแล้ว ผมก็โตมากับมวยตลอด ตอนเด็กๆ ตามที่คุณพ่อเล่า ก็อยากจะขึ้นไปชกบนเวทีเวลาพาไปที่ลุมพินี พอตอนมาอยู่มหา’ลัย เราอาจจะไม่ค่อยได้ให้ความสนใจมันเท่าไหร่ ชีวิตวัยรุ่น
แต่พอเราได้โตขึ้น เราได้กลับมาคลุกคลีกับนักมวย เทรนเนอร์ เราก็คิดว่ามันเป็นภารกิจของเรา ที่เราต้องช่วยนักกีฬาพวกนี้ เพราะว่าเราไม่อยากให้นักกีฬามาจมกับวงการมวยที่ไม่มีความพัฒนา มันเลยเป็นแรงบันดาลใจ”
“เปรม - อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
หลายคนอาจรู้จักชื่อของเปรม ในฐานะทายาทค่ายมวยชื่อดังอย่าง Fairtex ที่ “บรรจง บุษราบวรวงษ์” หรือ “เสี่ยบรรจง” ผู้เป็นพ่อ ก่อตั้งมาอย่างยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ นอกจากธุรกิจค่ายมวยแล้ว Fairtex ยังเป็นเจ้าของอุปกรณ์กีฬามวยรายใหญ่อีกด้วย
ต้องเท้าความก่อนว่า “มวยไทย” เป็นทั้งกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามาอย่างยาวนาน และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก แต่อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี คือ “การเดิมพันหรือพนัน”ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อรูปเกมการแข่งขัน โดยเฉพาะกับตัวนักชกเอง มีหลายคนหมดอนาคตในเส้นทางมวยทั้งชีวิต เพียงเพราะยอม “ล้มมวย”
แต่ One Championship องค์กรกีฬาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวระดับโลกที่ยิ่งใหญ่สุดแห่งเอเชีย ที่จัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่จะมาพลิกหน้าประวัติศาสตร์มวยไทย และยกระดับกีฬานี้สู่สากล ผ่านมือของ “ชาตรี ตรีศิริพิศาล” หรือชื่อในวงการมวย “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอของ ONE Championship
และ “เปรม - อริยะวัฏ” ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังสำคัญ เพราะเขาได้รับหน้าที่ใหม่ กรรมการผู้จัดการ (MD) ONE Championship ประเทศไทย ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งไปหมาดๆ เมื่อปีที่แล้ว
แม้จะคลุกคลีกับวงการมวยมาตั้งแต่จำความได้ แต่บทบาทใหม่ที่ได้รับนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ต้องพิสูจน์...
“อยากจะเล่าเรื่องนิดนึง แต่ก่อนหน้านั้นมวยไทย ถ้าให้เรามองส่วนมาก็คือพวกเซียนพนัน จนช่วง 10 ปีหลังมวยไทยได้ซบเซาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิน การให้คะแนน การล้มมวย วงการมาเฟียถ้าพูดง่ายๆ มวยไทยผมว่าถ้าไม่มีใครเข้ามาช่วยหรือมาแก้ไข อีก 5 ปี มวยไทยจะไม่ใช่เป็นของคนไทยแล้ว คนก็ไม่อยากดูแล้ว ก็มีแต่พวกการพนันเท่านั้น
[ “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” หัวเรือใหญ่ ONE Championship ]
เหตุผลที่ ONE อยากจะเข้ามา เราอยากยกภาพนั้นขึ้นมา เราอยากจะช่วยเหลือวงโคจรของมวยไทยกับทุกคน ที่ทาง ONE เข้ามา แน่นอนเราอยากช่วยนักกีฬาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น หลายๆ ครั้งเราเห็นนักกีฬาพอมีชื่อเสียงก็ตาม พอเลิกมวยก็ได้เป็นเทรนเนอร์ อาจจะติดยาบ้าง ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีอะไรพวกนี้ เราเห็นรู้สึกสงสาร เราก็เลยอยากเข้ามาช่วยตรงนี้
เราก็อยากมาช่วยลุมพินี เพราะว่า ผบ.ทบ. (พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้) ได้บอกว่ามวยไทย ถ้าอยากจะจัดต่อที่ลุมพินี ห้ามมีการพนันเข้ามา ห้ามเด็ดขาดเลย มันจะไม่มีภาพที่ยกมืออะไรอย่างนี้แล้ว เขาอยากจะเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ดัน สนับสนุนกีฬามวยไทยเป็นกีฬาอาชีพที่แท้จริง
เราก็เลยยินดีที่จะเข้ามาร่วมมือกับทางลุมพินีแล้วก็สร้างพวกนี้ อย่างที่บอกนักกีฬาก็ได้มีส่วน โปรโมเตอร์ก็จะมีส่วนแบ่งจากค่าตัวเหมือนกัน เรามองว่ากว่าเขาจะหานักกีฬามาได้มันต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นเราจะต้องแบ่งสัดส่วนให้กับโปรโมเตอร์หรือเจ้าของค่ายมวยเหมือนกัน เราอยากจะช่วยให้มวยไทยมันโตขึ้นมาจริงๆ”
การเข้าใกล้ความสำเร็จนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ ชาตรี หรือ เปรม เท่านั้น หากแต่ยังได้รับความร่วมมือหลายฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อน จากเป้าหมายเดียวกับ เพราะอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงกับเวทีลุมพินีและมวยไทย
“จริงๆ แล้วผมต้องบอกว่า ผมได้โอกาสที่ดีดีกว่านะครับ พี่แดง นายสนามคนเก่า ได้ให้โอกาสผม เพราะเขามองผมว่าอาจจะเป็นโปรโมเตอร์ที่พยายามอยากจะทำในสิ่งที่ดีให้กับมวยไทย โดยที่ไม่มีการพนันเข้ามาเสี่ยง ซึ่งมันตรงคอนเซ็ปท์กับทาง ผบ.ทบ.ที่ต้องการทำให้ลุมพินี
ตอนแรกคุณพ่อก็ไม่อยากทำ เพราะเขาก็เคยเป็นโปรโมเตอร์มาก่อน เขาก็เข้าใจว่าการเป็นโปรโมเตอร์มันเหนื่อย มันต้องเจอทั้งเสือสิงอะไรทุกอย่างที่รุ่นเขา จนพี่แดงได้มาคุยกับคุณพ่อ 2-3 หน คุณพ่อก็เลยโอเค ลองทำดู ก็เลยได้มีโอกาสทำ
ทำไปครั้งแรกก็โชคดีได้มีทางคุณไบรอันจาก TERO ได้เห็นและมองคอนเซ็ปท์ เขาก็เลยบอกว่า อยากมาออกช่อง 7 มั้ย เดี๋ยวเขาคุยให้ เราก็เลยได้โอกาสที่ดีได้ไปอยู่ช่อง 7 ของ Fairtex Fight คือมีทั้งคุณพ่อสนับสนุน มีทั้งพี่แดง นายสนามสนับสนุน แล้วก็มีทั้ง TERO แล้วก็ช่อง 7
เป็นจุดเริ่มต้นที่เราพยายามจะทำกับลุมพินี ผมโตมาจากลุมพินี ผมก็ไม่อยากเห็นลุมพินีต้องถูกปิด เพราะลุมพินีเป็นเวทีที่ทุกคนรู้จัก ถามฝรั่งที่เป็นนักกีฬา อ๋อ... เป็น legend ไปแล้ว เป็น Mega of Muay Thai ไปแล้วครับ
แล้วก็ได้คุยกับพี่ชาตรี พี่ชาตรีก็ได้ไปคุยกับทางนายสนาม แล้วก็ได้คุยกับ TERO พี่ชาตรีก็ใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนกันเพื่อตัดสินใจ เพราะเขาก็กลัวว่าคนไทยจะรับได้มั้ยในสิ่งที่เขาทำ เขาก็ไปนั่งคิดอยู่นานพอสมควร สุดท้ายก็ได้ร่วมมือกัน ผมคิดว่าทีมที่เรามีตอนนี้ เป็นทีมที่ดีมากที่จะช่วยผลักดันมวยไทยได้”
“ONE Championship” เวทีแห่งการเปลี่ยนแปลง
ด้วยเพราะเล็งเห็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพนัน สวัสดิภาพ รวมถึงค่าตอบแทนของคนในวงการมวยไทย ทำให้ทาง ONE อยากที่จะเข้ามาปรับปรุงภาพจำเดิมๆ ของมวยไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
“การล้มมวยนี่มีจริงอยู่แล้ว การซื้อกรรมการมีจริงอยู่แล้ว ทุกอาทิตย์จะมีดรามาตลอด เกี่ยวกับเรื่องมวย เกี่ยวกับเรื่องการพนัน จริงๆ แล้วเราไม่อยากบอกว่าเราห้ามการพนัน เราไม่สนับสนุนการพนัน แต่เราก็ต้องมอง
เข้าใจว่าเวลาเราเข้าไปสนามกีฬา ไม่ว่าสนามกีฬาอะไรทั่วโลก เราจะไม่เห็นนักพนันไปพนันที่ในเวทีเลย เพราะมันจะได้ไม่มี influence ที่กรรมการอาจจะต้องกลัว หรือนักกีฬามองที่ราคาหรืออะไรอย่างนี้ อย่าง NBA เขามีการรับพนันเป็นการพนันออนไลน์ หรือก่อนเข้าสนาม แต่ในสนามไม่มีเลย เพราะฉะนั้นนักกีฬาที่จะขึ้นไปเขาสู้อย่างเต็มที่แน่นอน
แล้วกับเงินตอบแทนที่เราให้ ผมว่าความคิดที่จะล้มมวยเขาจะไม่คิด ทำไมแต่ก่อนหน้านั้นคิดว่าจะล้มมวย เรามองได้ว่า ค่าตัวก็น้อย หมื่น-แสนอย่างมากที่สุด กับการที่เรามีคนจ้าง 200,000 - 500,000 มันเลยทำให้เด็กไขว้เขว
บางทีเด็กก็ยังเด็ก เขายังคิดไม่ได้กับสิ่งสิ่งนี้ ทาง ONE ก็เลยมอบโอกาสให้ เราควรจะมีจรรยาบรรณเป็นนักกีฬา เป็นนักสู้ เราไม่ควรทำสิ่งนี้ครับ เราเลยถึงกล้าให้ค่าตัวนักมวยกับโบนัสกับนักกีฬาเยอะ”
ส่วนกรณีที่นักชกสู้ไม่เต็มที่ หรือเกิดตุกติกในการแข่งขัน ทาง ONE Championship ก็มีมาตรการในป้องกันเอาไว้เรียบร้อย
“แน่นอนครับ นักกีฬาใน ONE ก่อนที่จะทำการแข่งขัน เราก็จะมีประชุมทั้งกฎ ทั้งอะไรทุกอย่าง แล้วเราก็จะมีให้นักกีฬาอ่านข้อตกลงว่านักกีฬาต้องขึ้นไปสู้อย่างเต็มที่ หากมีการล้มมวยหรือคิดที่จะล้มมวย ทางรายการเราก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนักกีฬาโดยตรง เราก็มีให้ทั้งหัวหน้าค่ายเซ็น แล้วก็นักกีฬาเซ็นเพื่อป้องกัน
แต่ผมเชื่อว่าเรามาถึงเวทีระดับโลกแล้ว เด็กอยากมีอนาคต เขาไม่คิดที่จะฆ่าตัวตายหรอกครับ เพราะถ้าเผื่อทำที ทั้งชีวิตเขาจบเลย ชีวิตนักมวยเขาจบเลย”
นอกจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมแล้ว สำหรับตัวนักชกเอง โดยเฉพาะนักชกหน้าใหม่จากค่ายเล็ก ก็จะมีโอกาสโชว์แม่ไม้บนสังเวียนใหญ่มากขึ้น และในอนาคต MD ของ ONE Championship ประเทศไทย หวังว่าการขับเคลื่อนจะไปได้ไกลมากกว่านี้แน่นอน
“ต้องไปให้ได้ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง เราทำให้มวยไทยมันโตไปได้ มันเป็น soft power ที่ดีมาก แล้วมันเป็นมรดกของไทยที่ทุกคนรู้จักและยอมรับ เราก็เลยต้องทำให้มันดีที่สุดเพื่อช่วยนักกีฬา โปรโมเตอร์
เพราะอย่างที่บอกว่าค่ายเล็กๆ ยังไม่มีโอกาส เราก็อยากให้โอกาสพวกนี้ได้มีโอกาสมาต่อยที่ในกรุงเทพฯบ้าง เพราะส่วนใหญ่กว่าจะต่อยในกรุงเทพฯได้จะต้องมี connection อาจจะมีอะไรต่างๆ แต่เด็กพวกนี้ไม่มี
แล้วก็ได้ร่วมมือกับการกีฬาเหมือนกัน เพื่อหานักกีฬาโครงการ “มวยรากหญ้าสู่สากล” ที่เราร่วมมือ จะเอาเด็กพวกนี้มา ผู้ชนะของแต่ละภาคเข้ามาแข่งขันของ Fairtex Fight ที่เราจะเรียกว่าเป็น Fairtex Fight Road To ONE ถ้าเกิดผู้ชนะก็จะมีสิทธิจะได้สัญญาไปต่อย ONE ลุมพินีหรือ ONE Championship
ถ้าให้เปรียบง่ายๆ เหมือน Academy ก็คือ Fairtex ทีมรองก็จะไปอยู่ ONE ลุมพินี ถ้าคุณเก่งจริงคุณก็ได้เล่นอยู่ในลีกใหญ่ของ ONE Championship เป็น Academy ที่สนับสนุนทุกคน โปรโมเตอร์ทุกคนที่อยากจะให้โอกาสเด็กๆ เรารับหมด”
และการมาถึงของ ONE Championship ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงความนิยมในกีฬาการต่อสู้ในบ้านเราให้กลับมาได้ไม่มากก็น้อย ทั้งยังสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างฐานแฟนคลับไปได้ทั่วโลก
“ดีใจนะครับ ดีใจที่เราได้เห็นคนกลุ่มใหม่ที่เริ่มกลับเขามาดูมวย แล้วคนเก่าๆ ที่กลับเข้ามาดูมวย จริงๆ คนพวกนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราที่ให้เราอยากทำยิ่งดีขึ้น แต่เราก็ยังต้องพยายามให้ดีที่สุด ตอนนี้คนดูมวยอาจจะเป็นคนต่างจังหวัดหรือเป็นคนที่อยู่ชานเมือง เราก็อยากจะให้กีฬานี้เป็นกีฬาของประเทศ คนที่ดูเหมือนคนไปเชียร์ฟุตบอล คนไปดูบอล เราก็อยากให้เน้นกลุ่มคนไทยในกรุงเทพฯ พวกวัยรุ่น ให้สนับสนุนมวยไทย เพราะในสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเป็นการพนัน
เราทำเป็น Sport Entertainment ซึ่งอย่าง ONE ก็จะถ่ายทอดไป 190 ประเทศ เราก็พยายามโตขึ้น จริงๆ แล้วเราก็มีคนสนับสนุน อย่างของ ONE เราก็มี Sponsor ไม่ว่าจะเป็นที่ Prime Video Amazon ที่จีน อะไรอย่างนี้
แต่จุดสำคัญเราอยากให้ทั้งบริษัทไทย ทั้งคนในกรุงเทพฯ ให้หันมาสนับสนุนกีฬามวยไทย ไม่ว่าจะเป็นดารา influencer เหมือนเราไปดู NBA เราเห็นแต่พวก celebrity ไปเชียร์ ไปให้กำลังใจนักกีฬา เราก็อยากเห็นพวกนี้ได้เข้ามาสนับสนุนมวยไทย เพราะในสิ่งที่เราทำมันเปลี่ยนไปสำหรับมวยไทย”
เวลาเพียงไม่กี่เดือน กับการที่เปรมก้าวมาเป็นกรรมการผู้จัดการให้กับ ONE Championship ประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเปิดมุมมองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตก็ว่าได้ เพราะนี่คือการทำงานในระดับโลก
“เปลี่ยนไปเลยครับตั้งแต่ทำมา ผมบอกเลยผมทำงานเกี่ยวกับเป็น Family Business ซะส่วนใหญ่ ก็ช่วยที่บ้าน แต่พอได้มาทำ ONE เราได้เรียนรู้กับหลายสิ่งหลายอย่าง เป็น corporate มากขึ้น แล้วเป็น corporate ที่ใหญ่ด้วย เป็นอันดับ 5 ของโลกใน Martial arts เพราะฉะนั้นเราได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ ทั้งนั้นทั่วโลกก็ว่าได้
อย่าง ONE มี headquarters อยู่หลายแห่ง มีออฟฟิศอยู่หลายที่ เราก็ได้เรียนรู้จากทุกๆ คน มันทำให้เปิดโลกกว้าง แล้วเราเข้าใจไม่ว่าแค่กับมวยอย่างเดียว ในการทำ production ในการ sponsor มันเปิดโลกกว้างมากจริงๆ ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยนะ เพราะเราเพิ่งทำมาเข้าเดือนที่ 6 เอง แต่เราได้เรียนรู้เหมือนอยู่มาหลายๆ ปีแล้วครับ”
สานต่อ Fairtex ติด Top ตลาดมวยไทย
นอกจากหน้าที่ กรรมการผู้จัดการ (MD) ONE Championship ประเทศไทย แล้ว นับเป็นเวลา 10 กว่าปีได้ ที่ทายาทชายเพียงคนเดียวของ “บรรจง บุษราบวรวงษ์” ก้าวขึ้นมาสานธุรกิจ Fairtex ต่อจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หนำซ้ำในระหว่างนั้นยังเจอเข้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
ในฐานะที่เป็นค่ายมวยก็จำเป็นต้องปิดชั่วคราวตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามมาตรการของรัฐบาล แต่ก็ยังโชคดีที่มีธุรกิจในส่วนอื่นมาจุนเจือ จนสามารถก้าวผ่านวิกฤตในตอนนั้นมาได้โดยที่ไม่ล้มไปเสียก่อน
[ เปรมและเสี่ยบรรจง ผู้ปลุกปั้น Fairtex ]
“ตอนนี้คุณพ่อก็จะ 80 แล้ว ยังทำงานอยู่พูดเลย จริงๆ ก็ช่วยเขาตั้งแต่ Fairtex มีที่พัทยา ประมาณ 10 กว่าปี ก็ได้เข้ามาช่วยแล้วช่วยดูเกี่ยวกับโรงแรม เกี่ยวกับค่ายมวย เกี่ยวกับทีมชกของ Fairtex เพื่อหารายการให้เขา อะไรแบบนี้ครับ
ช่วงโควิด นักท่องเที่ยวไปเที่ยวไม่ได้ แล้วก็นักกีฬาอัดอั้น ค่ายเราปิด เราไม่รับ แต่เราก็พยายามให้นักกีฬาซ้อม เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปว่างเปล่า เพราะเราเป็นที่โล่งเปิด แล้วเราไม่รับลูกค้าจากข้างนอกเลย เรามีนักกีฬาซ้อมเต็มที่วันนึง 3-4 ยก เช้า-เย็น จะพยายามทำนักกีฬาให้ดีๆ
ในช่วงนั้นถือว่าเราโชคดีที่มี Fairtex Equipment เราได้ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์มวยที่ส่งออกต่างประเทศซะส่วนใหญ่ ก่อนหน้านั้นคนอาจจะใส่นวมยังแบ่งกัน แต่พอเริ่มมีโควิด คนเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสะอาด
แต่ละคนต่อไปก็ต้องซื้อผ้าพันมือเป็นของตัวเอง นวมเป็นของตัวเอง อยู่ที่บ้านทำอะไรไม่ได้ก็ซื้อกระสอบทรายเล็กๆ ไปตั้งที่บ้าน คนก็เลยต้องสั่งซื้อผ้าพันมือ นวม สนับแข้ง ไม่อยากไปแชร์กับคนอื่นแล้ว (ยิ้ม)
อันนั้นก็จะเป็นรายได้ที่มาช่วยเหลือและสนับสนุนค่ายมวยให้เรา ช่วยเหลือนักกีฬาให้อยู่ได้ครับ ช่วงนั้นถือว่าในสินค้ามวยของเราเติบโตเร็ว ผมว่าน่าจะ 40-50 เปอร์เซ็นต์ได้”
นอกจากสาขาในประเทศแล้ว ค่ายมวยชื่อดังยังมีอีกหลายสาขาร่วมกับ partner ต่างแดนในหลายประเทศ
และเมื่อให้เปรมสะท้อนตัวเอง คิดว่า Fairtex อยู่จุดไหนในตลาดมวยไทย เขาให้คำตอบว่า “Top 5 ประเทศไทย”
“ตอนนี้เราก็มี partner มันไม่ใช่ของเรา 100 เปอร์เซ็นต์ จะมี partner ที่ญี่ปุ่น ประมาณ 6 สาขา ที่อเมริกาก็มีอยู่ด้วยที่เป็น partner กัน
แล้วก็มีเทรนเนอร์แต่ก่อนนั้นที่เราเคยเปิดค่ายมวยที่อเมริกา ได้เป็นเจ้าแรกที่สามารถเอาเทรนเนอร์คนไทยได้ไปปักหลักที่อเมริกา เขาก็ได้พาภรรยาไป ลูกไป จนเดี๋ยวนี้เขาได้เป็น citizen ที่อเมริกาแล้ว ประมาณ 7-8 คน จนลูกได้จบปริญญา มีการงานทำทุกอย่าง เขาก็มีขออนุญาตใช้เกี่ยวกับ Fairtex ด้วย เราก็ให้เขาไปเพราะเขาเป็นลูกน้องเรามาตลอด
ถ้าไม่ให้พูด over ไป ผมว่าเราอยู่ Top 5 ในประเทศไทย เราเป็นค่ายแรกๆ ที่เกิดขึ้น เราก็ทำมาประมาณ 50 กว่าปีแล้วสำหรับค่ายมวย Fairtex นะครับ คิดว่าเราคงมีอะไรดีบ้างแหละ เราพยายามเติบโตแล้วเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ได้ไปอเมริกา ไปบุกเบิกมวยไทยที่อเมริกา เรามีชื่อที่เราพยายามสะสมมา และคนได้เชื่อใน product ของเราครับ”
ตามไปที่กล่าวไปแล้ว สำหรับค่ายมวย Fairtex มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาฝึกฝนมวยไทยไม่ขาดสาย เฉลี่ยแล้วร้อยชีวิตต่อวัน
“จริงๆ แล้วต้องบอก Fairtex เราไม่ได้รับนักกีฬาที่จะมาทำการแข่งขันอย่างเดียว เรารับที่อยากมาออกกำลังกาย อยากมาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะมวยไทย เรารับหมดทุกคน
เฉลี่ยวันนึงสำหรับนักกีฬาคนไทยที่เราสนับสนุน ก็ทั้งกินที่นี่ นอนที่นี่ อยู่ที่นี่ประมาณ 20 กว่าคนนะครับ แล้วก็เทรนเนอร์อยู่ที่ค่ายเพื่อสอนนักเรียนต่างชาติและนักชกของเรา เทรนเนอร์เรามีอยู่ประมาณ 27 คน แล้วก็ฝรั่งตอนนี้มีประมาณ 40-50 คนต่อวัน วันนึงก็เป็นร้อยครับ
เด็กสุดถ้าเป็นคนไทยก็อยู่ประมาณ 15-16 จะอยู่ประมาณนี้ครับ เราไม่ได้สนับสนุนเด็กเล็กๆ เพราะมันอาจต้องใช้เวลา แล้วมันพวกเกี่ยวกับกฎหมายการต่อยมวย ชกมวยอะไรแบบนี้ เราก็เลยเอาเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เริ่มถูกกฎหมายในการชกมวยก็คืออายุ 15 ครับ
ที่อายุเยอะที่สุดก็ยังมี 60 กว่า ยังมีมาซ้อมเพื่อออกกำลังกาย แต่ถ้ามองว่าอายุมวยของมวยไทย ผมว่า 35-36 ก็ยังมีอยู่ ยกตัวอย่างอย่าง ปาเกียว (แมนนี ปาเกียว) อายุ 40 กว่ายังชกเลย สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับนักกีฬาด้วยแหละว่าดูแลตัวเองดีขนาดไหน”
ส่วนใครก็ตามที่มาฝึกฝนมวยไทยที่นี่และมีความสามารถโดดเด่น ทาง Fairtex ก็จะให้การสนับสนุน และนี่อาจเป็นโอกาสดีในการต่อยอดเส้นทางนักชกอาชีพได้
“แน่นอนอยู่แล้วเราสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาคนไทยหรือต่างชาติ ถ้ามีแววเรายินดี เพราะอย่างที่บอกที่ทำ Fairtex ขึ้นมา เราโชคดีที่เรามี partner ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นทาง TERO ทางช่อง และทาง ONE Championship เพราะฉะนั้นเรามีโอกาสอยู่แล้วให้กับคนไทยที่เป็นนักกีฬามาจากมวยรากหญ้า ที่ไม่มีโอกาสได้มาต่อยในกรุงเทพฯ เราก็มีเวทีให้
อย่าง Fairtex เราก็มีเวทีที่ทำเกี่ยวกับ Fairtex Fight ที่จัดที่ลุมพินี เราก็มีรายการที่ทางนั้นเป็นเด็กปั้น ที่เราพยายามจะสร้างนักกีฬาขึ้นไป พอมีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง เราก็จะมีเวทีของ ONE ลุมพินี ซึ่งก็จะหานักกีฬาที่เก่งที่สุดของประเทศไทยขึ้นมาชกกัน แล้วก็เรายังมีสามารถต่อยอดกับ ONE Championship ใหญ่
เพราะฉะนั้นเวทีกับโอกาสมันมีอยู่แล้ว คนก็เลยมองได้ว่า ตอนนี้มวยไทยสามารถทำให้คนได้มีชีวิต ได้มีอนาคต แล้วก็สามารถเรียกมวยไทยเป็นอาชีพแล้ว มันไม่ใช่เป็นอาชีพสำหรับคนจนเท่านั้นที่คนมอง ในสิ่งที่ทาง Fairtex ทั้ง ONE พยายามจะทำเราจะทำให้อิมเมจของมวยไทยมันดีขึ้น
และเป็นเรื่องราวที่ดีที่ควรจะสร้างขึ้นมา แล้วให้เด็กได้ฝัน มีเวทีที่เขาสามารถอยากชกมวยไทย เราสามารถได้แชมป์โลกได้ เราต่อยอดถึงทั่วโลกจริงๆ”
“เมืองไทย” สวรรค์ของนักกีฬาต่อสู้
นอกจากนี้ เปรมยังได้อัปเดตความคืบหน้า “โปรเจกต์โรงเรียนสอนศิลปะแม่ไม้มวยไทย” ที่ทำร่วมกับเมืองพัทยา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่สนใจศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านแนวคิด “มวยไทย ต้องพัทยา”
“อันนี้เป็นโปรเจกต์ของพี่ชาตรี เขาอยากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะพัทยา เพราะพัทยาเป็นอิมเมจที่ปาร์ตี้ เป็นอะไรพวกนี้ แต่พัทยามีดีหลายอย่าง แล้วมันก็อยู่ใกล้กรุงเทพฯ
เราก็เลยอยากจะสร้างให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์รวมของการต่อสู้ด้วย อะไรด้วย เพราะเดี๋ยวนี้พัทยาก็มีการแข่งขันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง เป็นพวกมาราธอน เขาก็อยากจะเน้นเป็นพวก Sports tourism แล้วก็ดึงนักกีฬาเข้ามาครับ
เราอยากจะช่วยพัฒนา ปรับลุคของพัทยาด้วย เราอยากจะทำให้ประเทศไทยและพัทยาเป็นโซนของนักกีฬาการต่อสู้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรามีนักกีฬาหลายๆ คนที่ไม่ว่าจะอยู่ในรายการดังทั่วโลก มาซ้อมกีฬาที่เมืองไทย มาเก็บตัวที่เมืองไทยทั้งหมดเลย ส่วนใหญ่อยู่ที่ภูเก็ต เราก็อยากจะเอาภาพอย่างนั้นมาอยู่ที่พัทยาด้วย”
ถามต่อว่า เพราะอะไรจึงทำให้นักกีฬาจากต่างแดน เลือกที่จะมาเก็บตัวที่เมืองไทย ทายาทค่ายมวยชื่อดังก็ให้คำตอบว่า เพราะเมืองไทยมีทรัพยากรคนและทรัพยากรธรรมชาติที่ดีเยี่ยม และเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันมวยไทยสู่การเป็น Soft power ได้
“ผมว่าอย่างที่บอก นักกีฬาทุกคนถ้าชอบการต่อสู้ การยืนทุกคนต้องเอามวยไทย แล้วคนที่สอนมวยไทยที่ดีที่สุดก็คือประเทศไทย ส่วนอื่นเขาก็มาเรียนด้วยเพราะเมืองไทยมีโค้ชและมีครูเก่งๆ ที่แต่ละค่ายได้จ้างเข้ามา
แล้วทุกอย่างมันสบาย อย่างภูเก็ตมีทั้งเที่ยว มีทั้งเกาะ มันเป็น Paradise เลยครับ แล้วเราก็อยากจะทำภาพนั้นให้กับพัทยา ที่พัทยาก็มีหาดที่ดี ไม่ว่าจะเป็นหาดทรายแก้ว หรือว่าเกาะล้าน มันมีภาพดีๆ อยู่แต่คนอาจจะไม่เห็น
เราพยายามทำในส่วนของเราที่เป็น Soft power แต่สุดท้ายเราก็ต้องการให้คนเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ค่ายมวยต่างๆ เวทีทุกเวที หรือโปรโมเตอร์ทุกคน เราควรจะมาร่วมมือกันซะมากกว่า แทนที่จะหาผลประโยชน์ของตัวเอง
เพราะที่เราทำไป ทุกคนไม่ว่าจะเป็นโปรโมเตอร์ใครก็ตาม สุดท้ายเราทำเพื่อมวยไทย เราไม่ควรที่จะมาแบ่งแยกพรรคพวกหรืออะไรกัน ควรจะเดินหน้าไปด้วยกันดีกว่า”
[ หน้าที่หัวหน้าครอบครัว ของภรรยาและลูกๆ ]
พอเห็นพาร์ทการทำงานที่ดูหนักขนาดนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงพาร์ทชีวิตส่วนตัว เพราะนอกจากจะเป็น MD ให้กับ ONE Championship ประเทศไทยแล้ว เขายังเป็นคุณพ่อของ "น้องโคลเอ้" และ "น้องมาร์คัส" ลูกสาวและลูกชายที่อยู่ในวัยกำลังน่ารักอีกด้วย
“ทุกวันอาทิตย์ผมจะต้องให้เวลากับครอบครัว เพราะเราก็ทำงานทุกวัน บางทีเราก็ยอมเหนื่อย ทั้งๆ ที่อาจจะต้องค้างที่กรุงเทพฯ เราก็ยอมกลับมาอยู่กับลูก ใช้เวลากับลูก 2-3 ชั่วโมง เวลามันเป็นสิ่งที่เรา make เอง เพราะฉะนั้นเราต้อง make เวลาให้ลูก make เวลาให้ออกกำลังกายด้วย”
ไม่เพียงแค่สมาชิกครอบครัวของตนเองที่ต้องดูแล แต่นักกีฬาในค่ายมวยก็ได้รับความใส่ใจไม่ต่างกับครอบครัวเช่นกัน หลายคนได้รับโอกาสจาก Fairtex ราวกับมีชีวิตใหม่ก็ว่าได้
“ที่ Fairtex เราดูแลนักกีฬาไม่ใช่แค่ลูกพี่-ลูกน้อง มันเหมือนครอบครัวซะมากกว่า เราอยากจะช่วยเขา เราอยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เรามองไปเราช่วยนักกีฬา ยกตัวอย่าง แสตมป์(ณัฐวรรณ พานทอง หรือ แสตมป์ แฟร์เท็กซ์) จากนักกีฬาที่จะเลิกมวยไทยแล้ว เขาไม่มีเวทีที่จะต่อย เพราะว่ามวยไทยไม่ค่อยสนับสนุนผู้หญิงให้ต่อย
แต่เราก็เอาเขามา และได้ให้โอกาสกับเขา จนถึงวันนี้ค่าตัวเขาก็ได้ไปหลายล้านแล้วของแต่ละไฟท์ เดี๋ยวนี้มีสวนทุเรียน 40-50 ไร่แล้ว เราก็ภูมิใจว่าเราได้ช่วยคนคนนึงที่ให้เติบโตได้ เราก็เลยอยากให้ฝันพวกนี้กับนักกีฬาคนอื่นๆ ที่เขามีความหวังว่าเขาสามารถไปต่อได้จริงๆ”
(หมายความได้ว่า Fairtex เป็นผู้สานต่อความฝันของนักมวย) ส่วนนึงแล้วกัน เราก็ไม่อยากพูดว่า Fairtex คนเดียว ทุกค่ายก็มีส่วนที่อยากช่วยมวยไทยแต่ยังไม่มีโอกาส ผู้ใหญ่ให้โอกาสกับผม ผมก็เลยต้องคว้าเอาไว้แล้วทำมันให้ดีที่สุดครับ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...เจาะมุมมองทายาทค่ายมวยดัง ผู้พลิก "มวยไทย" ให้เป็น Soft Power สู่สังเวียนโลก บุกตลาดอเมริกา ถ่ายทอดมรดกไทยไป 190 ประเทศทั่วโลก...
>>> https://t.co/mBHJBBs3xt
.#ONE #onelumpinee #ONEchampionship #มวยไทย #Muaythai #Boxing #Fairtex pic.twitter.com/ntkQctBD0d— livestyle.official (@livestyletweet) July 8, 2023
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : อินสตาแกรม @premfairtex, เฟซบุ๊ก “Prem Busarabavonwongs”, “Fairtex Thailand Fanpage”, “Fairtex Fight” และ One Championship
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **