เปิดใจเจ้าของไวรัลเสียงพากย์ 2 ลุงตัวตึง“หยุง-ไชยยงค์”ผู้อยู่เบื้องหลังเสียงพากย์ภาพยนตร์การ์ตูน ซีรีส์เกาหลี หรือเหล่าแฟนอนิเมะ และซีรีส์จีนชื่อดังอีกมากมาย ที่หลายคนน่าจะคงคุ้นเคยน้ำเสียงของเขาเป็นอย่างดีที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมทริกสำคัญที่พากย์มาแล้วกว่าพันเรื่อง
ไวรัลเสียงพากย์ 2 ลุงตัวตึง
“ส่วนใหญ่คนก็ชมว่าเสียงหล่อ ถ้าพระเอกซีรีส์จีนต้องเสียงนี้เท่านั้นถึงจะดู หรือบางคนเขาบอกปกติเขาดูซับ แต่พอมาดูเสียงของทีมนี้ ของพระเอกคนนี้ แล้วเขาบอก ทำให้เขาเปิดใจดูพากย์ไทยเลย ดีใจมากที่ทำให้เขาเปิดใจดูพากย์ไทยได้”
“หยุง-ไชยยงค์ กนกคุณ” นักพากย์หนุ่มเสียงทุ้มวัย 35 ปีผู้อยู่เบื้องหลังเสียงพากย์ภาพยนตร์,การ์ตูน ซีรีส์เกาหลี หรือเหล่าแฟนอนิเมะ และซีรีส์จีนชื่อดังอีกมากมาย ที่หลายคนน่าจะคงคุ้นเคยน้ำเสียงของเขาเป็นอย่างดี ผู้ให้เสียงพากย์เป็น "หลิงปู้อี๋" จากเรื่องดาราจักรรักลำนำใจ และ "ยูริ" จากเรื่อง SPY X FAMILYหรือจะเป็นเรื่อง ปรมาจารย์ลัทธิมาร ผู้ให้เสียงพากย์เป็น“หลานจ้าน”หรือจะเป็น “ถานไถจิ้น”จากเรื่อง“จันทราอัสดง”ซีรีส์ที่ทำเอาหลายคนติมงอมแงม แทบจะลงมาจากกำแพงเมืองจีนไม่ได้กันเลยทีเดียว
แต่ที่ทำให้เขากลายเป็นที่พูดถึง จนกลายเป็นไวรัลTikTok ในตอนนี้ก็คือ การพากย์เสียงลุงป้อม และลุงตู่ ซึ่งเป็นคลิปพากย์เสียง 2 ลุงตัวตึง จนถูกอกถูกใจชาวโซเชียลฯ กันยกใหญ่ว่าเลียนแบบได้อย่างเหมือน จนหลายคนแห่แชร์ และมีคนเข้าไปดูถึง 4.5 ล้านวิวเลยทีเดียว
“ปกติก็เป็นนักพากย์อยู่แล้ว พากพวกหนัง ซีรีส์ การ์ตูน เกมอะไรพวกนี้ อาจจะมีพวกสปอตโฆษณาบ้าง วิดีโอพรีเซนต์ เรียกได้ว่างานลงเสียงทุกอย่าง ทุกประเภทเลย ก็เกินคาดมากครับ เพราะเล่น TikTok ทีแรก เริ่มจากดูเอ็ทของคุณ Krittone (กฤต สุขวัฒน์) เฉยๆ แล้วทีนี้ก็ ไหนๆ ก็ทำช่องแล้ว ก็เลยทำเพื่อโปรโมทงานพากย์ที่ทำอยู่แล้ว พวกซีรีส์จีน อนิเมะ
แล้วทีนี้พอดีช่วงเลือกตั้ง เราก็ดูดีเบตเยอะ ก็อิน ก็ปิ๊งไอเดียว่าแบบ เอ๊ะ บางทีเราเห็นเรื่องเข้าใจผิดในสังคมเยอะ เราก็เลยอยากหยิบบางเรื่องที่สังคมเข้าใจผิดเยอะ เอามาพูดให้เขาเข้าใจ
ทีนี้เราก็อาศัยสิ่งที่เราถนัด ก็คือการพากย์มาเพื่อใช้เป็นจุดนี้ ก็นำเรื่องนโยบายก้าวไกลที่เขายอกเลิกเกณฑ์ทหาร คนก็เข้าใจผิดเยอะว่ามันยกเลิกทหารไปเลย ผมก็เลยหยิบคลิปที่เขาพูดเรื่องนี้เอามาพากย์ จุดเริ่มต้นคือประมาณนี้
ทีนี้พอทำคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับคุณศิธา ทิวารี เสร็จ ก็เลยอยากทำสองลุงนั้นด้วย ก็เลยหยิบจุดเด่นของทั้งสองลุงที่คนมักจะนึกถึง ก็คือลุงตู่ก็อาจจะชอบเกรี้ยวกราดนักข่าวนิดนึง ก็เลยเอาคลิปนั้นมาพากย์ลุงตู่ ส่วนลุงป้อมคนก็มักจะล้อบ่อยๆ ว่าไม่รู้ๆ กับเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน ก็พอดีเห็นแกไปให้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น เรื่องนี้พอดี เราเองก็อยากฟังด้วย เพราะไม่เคยฟังแกชี้แจงเองเรื่องนี้ ก็เลยหยิบช่วงนี้มาพากย์
ตอนพากย์เราก็คิดว่า เราไม่ต้องพากย์ให้เสียงเหมือนหรอก เพราะว่าเสียงเราไม่เหมือนเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ผมคิดว่าเอ๊ะ ถ้าเราเจอตัวละครอย่างนี้ในหนัง เราจะให้เสียงเขายังไง ทีนี้ลุงป้อม ด้วยรูปลักษณ์ของแก เราคิดว่าเสียงนี้แหละน่าจะเข้ากับแกดี เหมือนเวลาเราไปเจอตัวอ้วนๆ หน่อย ในหนังฮ่องกง เขาก็จะชอบให้เสียงกันอย่างนี้ ผมก็เลยให้เสียงแบบนั้นไป
แล้วแกก็เหมือนพูดไม่ค่อยชัดด้วยครับ ตอนพากย์แกก็ยากอยู่เหมือนกัน แกพูดติดๆ ขัดๆ ผมต้องดูแกหลายๆ รอบก่อน แล้วก็พิมพ์ออกมา แล้วก็ซ้อมแล้วค่อยพากย์จริงคือผมเหมือนแกะเทปออกมาเลย เขียนเป็นบทออกมาเลย
คือเนื้อเสียงมันอาจจะไม่เหมือนหรอก แต่ว่าเสียงที่เราให้ มันดูเข้าหน้าเขา แล้วก็อาศัยว่าเราเลียนสไตล์เขา เรื่องของจังหวะมากกว่าครับ จังหวะการพูด ส่วนลุงตู่นี่จะไม่เหมือนเท่าไหร่ หลายคนบอกหล่อไปด้วยซ้ำ
นอกจากจะเป็นไวรัลจากการพากย์เสียง 2ลุงตัวตึงแล้ว เขายังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก ที่หยิบยกเอาประโยคไวรัลสุดฮิต“กรี๊ดสิครับ” ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดาพิธักรชื่อดังจากช่อง 3 ที่เป็นที่ชอบใจของชาวโซเชียลฯ จนหลายคนเอามาเลียนแบบ
“ทีแรกก็เห็นมีนักพากย์คนอื่นก็ออกมาทำกัน ทีแรกผมว่าจะไม่ทำหรอก แต่พอดีมีแฟนคลับเขาขอมา ก็เลยสักหน่อยแล้วกัน แล้วก็พอดีเห็นคุณพิธาเขามาพูดเหมือนกัน ก็เลยรวมสองคนเลยทั้งก็พากย์ กรี๊ดสิครับ กรี๊ดเลย ไม่ต้องกั้นเอาไว้ กรี๊ด กรี๊ดมันออกมา ระบายมันออกมา พิธาก็จะสุภาพ แล้วก็อ่อนกว่าหน่อย”
[ผลงานที่เคยพากย์เสียงบางส่วน]
จุดประกายฝัน จากความชอบในวัยเด็ก
สำหรับแรงบันดาลใจ สู่เส้นทางนี้ นักพากย์ชื่อดัง เขาก็เล่าว่า เริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม แต่ตอนนั้นยังไม่รู้จักอาชีพนี้มากนัก จึงเก็บความชอบนี้ไว้รอโอกาสที่เหมาะสม
“แรกสุดเลยก็เริ่มจาก เราชอบเลียนเสียงพวกตัวอย่างหนังสปอตหนังอะไรอย่างนี้นะครับ หรืออย่างพี่หนู (ธนาสุทธิ์ วุฒิวิชัย) ที่แกจะมีประโยคฮิตของแกว่าแบบ อภิมหาภาพยนตร์ที่ทั่วโลกรอคอย ผมชอบเลียนเสียงอย่างนั้น สมัยตั้งแต่รุ่นพ่อแกแล้ว พ่อแกก็เป็นพากย์เสียงสปอตหนังเหมือนกัน พวกฟอร์มใหญ่ๆ ตั้งแต่เด็กๆ เราได้ยิน ผมก็จะชอบเลียนเสียงเขา รู้สึกว่ามันเท่ดี สนุกดี หรืออย่างพวกเสียงรถแห่แถวบ้าน รถแห่โรงหนัง ที่เขาโปรโมทหนัง
ตั้งแต่ประถมแล้วครับ เราก็เก็บเป็นความชอบเฉยๆ เพราะเราก็ยังไม่ได้รู้จักอะไรกับอาชีพนี้ จนเขามหา’ลัย ผมก็ไปเรียน นิเทศศาสตร์ ที่ม.กรุงเทพ เรียนสาขาภาพยนตร์ พอดีชอบดูหนัง อยากเขียนบท อยากทำหนังอะไรอย่างนี้
ทีนี้มันมีเพื่อนกลุ่มนึง เขาทำหนังสั้น เขาเลียนแบบหนังโจวซิงฉือ เหมือนหนังฮ่องกง พอถ่ายเสร็จเขาไม่ใช้เสียงนักแสดงที่ถ่ายจากในกอง แต่ว่าพากย์ เหมือนเอาหนังฮ่องกงมาพากย์เลย พากย์เหมือนพันธมิตรที่แบบใส่มุขใส่อะไรเข้าไป ทีนี้เผอิญคนที่เล่นเป็นตัวร้าย ไม่ว่างมาพากย์ เพื่อนมันก็เลยนึกถึงผม มันก็เลยเอาผมไปพากย์
อาจจะเห็นเนื้อเสียงเราโอเค เข้ากับตัวร้ายนี้ด้วย พอได้ลองไปพากย์ก็ค้นพบว่าสนุก รู้สึกชอบ เราสนุกกับมันมากเลย เราเอนจอยกับมันมาก แต่ว่าเราก็ยังไม่เคยมีอาชีพนักพากย์ในหัวเลย เพราะว่าเราไม่รู้จักอะไรกับวงการนี้เลย ก็เรียนหนัง ทำหนังของเราไป”
จากนั้น หลังเรียนจบ เริ่มมองเห็นโอกาสในอาชีพนี้ จากการประกาศตามหานักพากย์เสียงดีจากทางช่อง7 เขาก็ได้ส่งเสียงเข้าประกวด แต่ก็ยังไม่ได้รับคัดเลือก บวกกับจังหวะชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ต้องกลับไปดูแลที่ป่วยมะเร็ง ที่บ้าน จ.ขอนแก่น จึงทำให้ไม่ได้เดินตามฝันเท่าที่ควรมากนัก
“พอเรียนจบ ช่วงนั้นเจอโฆษณาของช่อง7 เขามีโครงการ เฟ้นหานักพากย์เสียงดีอะไรประมาณนี้ เราก็เลยเฮ้ยเปิดสมัครนักพากย์ด้วย เราก็เลยเริ่มมีคำว่าอาชีพนี้ในหัวแล้ว ก็เลยซื้อไมค์มา ไมค์คอมฯ100กว่าบาท มาอัดเสียงส่งเดโมไป แต่ก็ไม่ได้หรอกครับ แต่ก็เริ่มจุดประกายอาชีพนี้ให้เรา
ทีนี้มีไปเจอรุ่นพี่ครับ รุ่นพี่ก็ถามว่า มีไปสมัครงานที่ไหนหรือยัง เราก็เป็นฟรีแลนซ์มาตลอด เราไม่เคยสมัครงานอะไรเลย เราก็เลยบอกเขาว่า สิ่งที่ใกล้เคียงการสมัครงานที่สุด ก็คือที่ส่งเดโมไปช่อง7นี่แหละครับ ที่เป็นโครงการนักพากย์ เขาก็เลยเอ้ามีรุ่นพี่ที่เขาเป็นนักพากย์อยู่ รุ่นพี่ที่คณะที่เขาจบไปแล้ว
ซึ่งก็คือพี่เฟิร์ส (วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ) ซึ่งเขาเป็นคนพากย์ตัวบัคกี้ จักรวาลมาร์เวลครับ หรือหลายๆ คนอาจจะรู้จักในนามนักพากย์ตั่วเฮียครับ พี่คนนี้ก็พาไปแนะนำกับพี่เฟิร์สครับ พี่เฟิร์สก็เลยพาไปนั่งดูที่ห้องพากย์จริงที่ทาวน์อินทาวน์ ก็นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไป ส่วนใหญ่ก็จะไปแบบนั่งดูมากกว่า เพราะตอนนั้นก็ยังพากย์อะไรไม่เป็นเลย เขาก็จะให้นั่งดู แล้วก็ลงตัวประกอบ ประโยคสองประโยค
จากนั้นก็ ด้วยจังหวะของชีวิตที่ไม่ดีเท่าไหร่ พอดีแม่ป่วย แม่เป็นมะเร็ง ก็เลยต้องกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด เพราะว่าต้องพาแม่ไปให้คีโม แล้วก็ช่วยงานพ่อที่ร้าน ที่บ้านเป็นร้านถ่ายรูป ก็กลับไปบ้านปีว่า แต่ก็มีแอบเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง ก็มีไปห้องพากย์บ้าง แต่ว่ามันก็ไม่ต่อเนื่อง สองสามเดือนเราเข้าไปนั่งดูครั้งสองครั้ง ไหนจะช่วงนั้นกรุงเทพฯ น้ำท่วมอีก ก็เลยต้องอยู่ยาวไปเลย แต่ว่าการไปห้องพากย์ ณ วันนั้น ก็ช่วยให้เราได้เห็นว่าเขามีวิธีการทำงานยังไง เขามีวิธีพากย์ยังไง เขาเข้าหนังยังไง เราก็จะได้มาฝึกเอง
ผมก็เอาหนังที่ชอบมาแกะดีวีดี ผมเอามาแกะตามเขา คือพิมพ์พากย์ไทยตามเขา เพราะเราเห็นแล้ว หน้าตาบทที่เขาใช้พากย์เป็นยังไง ก็ทำฟอร์แมตตามนั้น ชื่อตัวละคร ไดอะล็อก ตัว ส เสือ คือเป็นเสียง มีแทรก ต้องพูดแทรกกัน ต้องพูดสวนกัน เราก็เลียนแบบบทพากย์จริงมา ก็นั่งพิมพ์ตามเขาเลย เขาพูดอะไร
ได้บทมา เราก็เปิดหนัง เราก็ซ้อมพากย์ รอบแรกก็อาจจะพากย์พระเอกก่อน รอบสองพากย์พระรอง ตัวโกงอะไรอย่างนี้ รอบสามเก็บตัวประกอบอะไรประมาณนี้
แล้วก็มีทำคลิปพากย์นรกด้วย ยุคนั้นพากย์นรกก็ฮิตอยู่เหมือนกัน10กว่าปีที่แล้ว ผมก็ทำแนวเสียดสีการเมือง ช่วงนั้น เพราะตอนนั้นเราก็เริ่มอินกับการเมืองเหมือนกัน ยุคนั้น ก็แบบแซวนโยบาย ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลยิงลักษณ์ ชินวัตร ช่วงนั้นค่าหมูแพงมาก
พากย์นรกก็คือ เราแค่เอาภาพเขามา แต่เราเปลี่ยนไดอะล็อกของเขาหมด จริงๆ เราคุยเรื่องคดี เรื่องค้ายาสืบสวน แต่เราเปลี่ยนเป็นเรื่องค่าหมู เรื่องนโยบาย ทำลงยูทูบ”
เรื่องแรกที่ได้ลองชิมลางในการเป็นอาชีพนักพากย์ ก็คือ ดาราการ์ตูน ของทางช่อง3แม้จะได้ลงพากย์เป็นแค่ตัวประกอบไม่กี่ประโยค เขาก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเดินบนเส้นทางนี้ต่อจากนั้นก็ทำอาชีพเขียนบท และนักพากย์ควบคู่กันไป
“คือเหมือนเราได้ใช้สกิลทั้งเขียนบทที่เราชอบ แล้วก็ได้ฝึกพากย์ที่เราชอบ สองอย่างรวมกัน พอหลังจากกรุงเทพฯ น้ำลดก็กลับมาเขียนบท พวกซิทคอม พวกบันทึกกรรมของช่อง3เขียนบทเลย
เขียนบทก็คือชอบอยู่แล้ว เป็นความตั้งใจแรกอยู่แล้วที่มาเรียนภาพยนตร์ เราก็อยากทำงานเขียนบท แต่ก็มีงานพากย์ที่เราอยากทำประกอบด้วยเหมือนกัน ก็เก็บไว้ในใจอยู่ ก็รอโอกาส ก็ฝึกฝนไป
จนวันนึงน้าม็อค (สังวาลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) คนพากย์อิคคิวซัง แกเปิดอบรมที่ไทยพีบีเอส ผมก็เลยสมัครไป พอไปด้วยที่เราเคยไปห้องพากย์มาแล้ว เรารู้แล้วว่าเขาทำงานยังไง แล้วเราก็มีฝึกซ้อมของเรามาบ้างแล้ว ก็เลยแบบพอไป ณ วันนั้น มันก็เลยอาจจะดูโดดเด่นขึ้นมามั้งครับ น้าม็อคแกก็เลยเห็นแวว แกก็เลยไปฝึกกับทีมของแกครับ
วันนั้นก็มีพี่อีกคนนึง ที่เขาฝึกพากย์อยู่เหมือนกัน เขาก็ไปฝึกพากย์อยู่กับอีกที่หนึ่งด้วย ก็เลยได้ไปพากย์สองที่นี้ หลังจากนั้น พอเราเริ่มทำงานได้แล้ว คนในวงการก็จะเริ่มรู้จักเราเองคนจากทีมเราเขาก็มีไปพากย์ที่อื่นด้วย พอคนขาด เขาก็จะชวนเราไป ก็มีงานเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้ครับ”
พากย์มาแล้วกว่าพันเรื่อง
ตลอดระยะ 10 กว่าปีที่พากย์เสียงมา เขาก็บอกอีกว่า แม้จะไม่เคยนับว่าพากย์มาแล้วกี่เสียง แต่ก็เชื่อว่า ทำมาแล้วกว่าพันๆ เสียงแน่นอน
““เรื่องจำนวนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ไม่เคยนับเหมือนกัน แต่ว่าปีนึงก็พากย์ร้อยเรื่องอยู่เหมือนกัน ทำมาเป็น10ปีแล้ว ก็อาจจะเป็นพันเรื่องก็ได้ ทั้งหนัง ทั้งซีรีส์ การ์ตูน ปีนึงก็น่าจะเป็นร้อยๆ เรื่อง บางทีเราก็พากย์หลายเรื่องในวันเดียว 5-6 เรื่องก็มีบางทีพากย์เรื่องนี้3ตอน เรื่องนี้ตอนเดียวหรือบางทีเราไปหลายที่ก็มีนะ ไม่เคยนับเลยว่าพากย์ไปกี่เรื่องแล้ว
จริงๆ ก็พากย์หลากหลายแหละครับ ทั้งหนัง ซีรีส์ อนิเมะ แต่ที่คนน่าจะรู้จักมากๆ น่าจะจากซีรีส์จีนครับ มีแฟนคลับจากซีรีส์จีนเยอะ อย่างเช่น บทหลิงปู้อี๋ ดาราจักรรักลํานําใจ แล้วก็มี เซียวเซ่อ ในดรุณพเนจรท่องแดนยุทธภพ แล้วก็ล่าสุดถานไถจิ้น จากจันทราอัสดง
ย้อนไปหน่อยก็เป็นการ์ตูนจีนก็มีครับ เรื่องปรมาจารย์ลัทธิมาร เป็นหลานจ้านครับ ถ้าเป็นฝั่งอนิเมะ ก็จะเป็นโอบาไน ในเรื่องดาบพิฆาตอสูร ยูริ ในเรื่อง Spy x family แล้วก็ล่าสุดก็มี มุโคดะ เรื่องสกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหาร
ถ้าซีรีส์จีนส่วนใหญ่ก็พระเอก พระรอง แต่ว่าถ้าพวกหนังฝรั่งอันนี้ก็จะหลากหลายครับ แล้วแต่ความเหมาะสมมากกว่า หลากหลายวัยด้วย หลายหลายตัวละคร บางทีก็ตัวร้าย หรือพระเอก ไปเป็นพ่อพระเอก
เพราะหนังแต่ละเรื่องมันมีตัวละครหลากหลายอยู่แล้ว ตั้งแต่วัยรุ่นยันแก่ ตัวตลก ตัวเข้ม ตัวร้าย ตัวเลว คนดี ขี้แย มันหลากหลาย เราต้องพากย์ให้ได้หมด เวลาเจอบทบาทอะไร”
นอกจากนี้ ยังอธิบายให้เข้าใจถึงระบบวงการนักพากย์อีกว่า จะมีหลักๆ ด้วยกัน2ระบบ ซึ่งเขาก็สามารถรับงานได้ทั้ง2ระบบ
“การพากย์มันจะแบ่งเป็น 2ระบบใหญ่ๆ คือระบบทีมกับระบบแคสติ้ง ระบบทีมก็จะเป็นอย่างคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคย ทีมอินทรีย์ ทีมพันธมิตร ทีมช่อง7อะไรอย่างนี้
ระบบทีมก็คือ จะมีสมาชิกในทีมประมาณ 6-8คน เขาก็จะอยู่อย่างนั้นตลอด เรื่องไหนมาเขาก็จะใช้ 6-8 คนนี้ตลอด วนๆ สลับกันเป็นพระเอกบ้าง แต่ว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังโควิด-19ผมรู้สึกว่าระบบทีมแบบนี้มันเริ่มน้อยลง เหลือไม่กี่ทีมแล้วครับ ส่วนใหญ่จะกลายเป็นแบบทีมผสมมากกว่า
อย่างห้องพากย์นี้ เขาก็จะมีนักพากย์ประจำของเขา10-20คน เขาจะวนเวียนกันมา คือไม่ใช่ว่า เรื่องนี้ก็จะพระเอกคนเดิม นักพากย์คนเดิม เขาก็จะหมุนเวียนกันเอา แล้วก็หลายๆ แอพเขาก็มีการต้องแคสติ้งพระเอกนางเอกด้วย แม้แต่ระบบทีมเดิมบางทีม เขาก็ต้องดึงนักพากย์คนนอกเข้ามา เพื่อแคสติ้งพระเอกนางเอกมา เพื่อความหลากหลายครับ
ผมก็อยู่ทั้ง2ระบบเลยครับ มันก็จะมีระบบทีมที่เราไปพากย์ให้เขาประจำ เข้าไปพากย์ให้เขาประจำอาทิตย์ละ2วัน หรืออาทิตย์ละวัน บางวันเราก็ไปรับงานของระบบแคสฯ ซึ่งระบบแคสฯ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกหนังโรง หรือแอปฯ เจ้าใหญ่ๆ อะครับ ซึ่งเขาจะมีงบประมาณมากกว่า ระบบแคสฯ ก็คือ ก็เหมือนเวลาสร้างหนัง ก็จะมีผู้กำกับ จะเรียกแคสติ้งนักแสดงแต่ละคน อันนี้ก็คือแคสติ้งนักพากย์แต่ละคน เฉพาะตัวหลักเฉยๆ นะครับ ถ้าตัวประกอบอาจจะไม่ต้องแคสติ้ง
แล้วเวลาพากย์ เขาก็จะไม่ได้นั่งด้วยกันทั้งทีมที่คนทั่วไปเข้าใจ เขาจะนักพากย์เจาะคนเดียว แล้วก็มีผู้กำกับคอยคุมเป็นประโยคต่อประโยคเลย เพราะต้องดูให้มันซิงค์ปาก เข้ากับนักแสดงได้เป๊ะ แล้วก็เรื่องฟิลลิ่ง แต่ละอารมณื แล้วก็ผู้กำกับก็ต้องคอยไกด์นักพากยืด้วยว่า เอ๊ะ เรื่องราวก่อนหน้านี้มันเป็นยังไง ตัวนี้ที่กำลังคุยกับตัวนี้อยู่เขามีความสัมพันธ์ยังไงกัน เพราะนักพากย์เขาไม่ได้ดูหนังทั้งหมด เราจะเห็นแค่ตัวละครของเราเท่านั้น เราก็เลยจะไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมด เราก็เลยต้องอาศัยผู้กำกับคอยอธิบาย
ระบบแคสฯ เริ่มแรกเขาอาจจะเรียกเราไปแคสติ้งก่อน ก็อาจจะเป็นสักซีนสองซีน ที่เขาจะตัดมาให้เราแคสฯ ก็ส่วนใหญ่จะแคสฯ ประมาณ3-5คน พอได้ปั๊บ วันนั้นก็จะไปที่ห้องพากย์เลย ไม่ได้มานั่งดูหนังก่อนนะ หลายคนอาจจะเข้าใจว่า นักพากย์ดีจังได้ดูหนังก่อน จริงๆ ไม่ใช่ ยิ่งงานฟอร์มยักษ์ เขายิ่งเก็บความลับสูงเลยครับ”
นักพากย์นอกจากจะให้เสียงพากย์ที่ดีแล้ว ยังต้องมีไหวพริบที่ดีด้วย บางทีอาจจะต้องเพิ่มบทเองก็ต้องมี เพราะตัวละครยังไม่หยุดพูด ดังนั้นคนพากย์ก็ต้องพูดต่อให้จบเสียง
“ก็จะขอคำปรึกษาจากผู้กำกับ รู้สึกว่าคำนี้มันยังไม่ใช่ ขอเปลี่ยนคำนี้ได้ไหม ผู้กำกับก็จะพิจาณาดู ก็ได้ ผู้กำกับก็จะปล่อยเราเลย
ถ้าซีรีส์เกาหลีใน Netflix ก็จะมีพากย์เรื่อ Itaewon Classพากย์ป็นตัวร้ายจางกึนวอน แล้วพอดีเรื่องต่อมา เขาไปเล่นเรื่อง My Name ก็เลยได้ตามไปพากย์ด้วย”
ประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่ถึงที่สุด
แม้จะพากย์มาแล้วเป็นพันๆ เสียงๆ แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ประสบความสำเร็จถึงที่สุด เพราะมีความฝันในการพากย์ตัวละครอีกมากมาย ที่อยากให้คนจดจำ
“ประสบความสำเร็จไหม ผมรู้สึกกลางๆ ครับ อย่างที่บอก มันก็ยังไม่ได้มีแบบพวกหนังฟอร์มยักษ์ เป็นที่จดจำของคนดูที่แมสมาก พูดไปใครๆ ก็รู้จัก เหมือนมิกกี้เม้าส์ ชินจัง อิคคิวซัง หรือพวกโดเรม่อน พูดไปใครๆ ก็รู้จัก อันนี้ผมยังไม่ได้พากย์ตัวนั้น ก็เลยรู้สึกว่า ยังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น มันก็สำเร็จในระดับนึง ก็มีงานต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็นที่ยอมรับ มีแฟนคลับบ้าง
นักพากย์ตัวละครมันมีหลายวัยอยู่แล้ว พอเราแก่ขึ้นเราก็ไปพากย์ตัวแก่ ตอนหนุ่มเราก็ไปพากย์ตัวหนุ่มอยู่ พอแก่เราก็พากย์ตัวแก่ตามอายุเราไปได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว แล้วยิ่งแก่ ยิ่งเก่าด้วยซ้ำ เพราะนักพากย์รุ่นเก่าพากย์ไปยิ่งประสบการณ์สูง”
แม้จะเจอบทท้าทายมาอย่างหลากหลาย แต่แน่นอนว่าความฝันในเส้นทางนี้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เก่ง และต้องฝึกฝนไปอีกเรื่อยๆ และก็อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อในวันข้างหน้า จะได้มีโอกาสพากย์ในหนังที่ฟอร์มใหญ่กว่านี้
“ถ้าบทท้าทายก็เจอมาหลากหลาย ตัว lgbt ก็ชอบนะครับ ก็เคยได้พากย์มาบ้างแล้ว คือผมยังไม่มีตัวละคร หรือนักแสดงประจำ เหมือนพี่บางคน ทอม ครูซ ก็ต้องเป็นคนนี้ ทอม แฮงค์ต้องคนี้ หรืออยากพากย์ตัวละครที่ดัง ในหนังฟอร์มยักษ์ เหมือนของมาร์เวล โทนี่ สตาร์ก เหมือนเราแนะนำตัว พากย์ตัวไหน เป็นไอรอนแมนอะไรอย่างนี้ เราอยากมีตัวอย่างนี้ ผมก็ยังไม่มีตัวอะไรอย่างนั้น ตัวอะไรก็ได้ที่ดังๆ ในหหนังฟอร์มยักษ์ ที่พูดไปแล้วคนจะอ๋อ แต่ตอนนี้คนก็จะนึกถึงพระเอกซีรีส์จีนมากกว่า
ก็มีไปแคสฯ บ้าง แต่ว่ายังไม่ได้ เพราะว่าผู้กำกับเขาพอจะรู้จักนักพากย์ทั้งวงการอยู่แล้ว เขาก็จะเรียกมาแคสฯ เรื่อยๆ อยู่แล้ว ก็ต้องดูที่วัย และโทนเสียง ใกล้เคียง เขาก็จะเรียกมา3-5คน ก็มีโอกาสได้แคสฯ บ้าง แต่ว่าก็ยังไม่ได้สักที
ถ้าเป็นหนัง ถ้าดังสุดก็น่าจะเป็นเรื่อง Cruella ของดิสนีย์เวอรชั่นคนแสดง พากย์เป็นเพื่อนนางเอกแจสเปอร์ ก็มีเรื่อง Paddington ก็ได้พากย์เป็นตัวหมี Paddington เลย เป็นหนังของประเทศอังกฤษ อาจจะไม่ได้ดังมาก ไม่ได้แมสในไทยเท่าไหร่”
กดดัน ฝึกฝน กว่าจะเป็นที่รู้จัก
กว่าจะฝึกฝนมาถึงตรงนี้ได้ นักพากย์ชื่อดังเขาเล่าอีกว่า ตอนแรกรู้สึกกดดันมาก เคยเทคมากกว่า 10ครั้ง แต่ก็ไม่ถอดใจ พยายาม ฝึกฝน บวกกับอาศัยครูพักลักจำจากพี่ๆ ที่มากประสบการณ์ จนไต่เต้าตัวเองมาได้
“ก็จะกดดันหน่อย แอร์ก็หนาวเหลือเกิน จะพากย์แต่ละทีจับบทก็มือสั่น เพื่อรอพากย์ประโยคเดียว ผู้ใหญ่เขาก็จะไหลมา แล้วก็จะมาสะดุดที่เรา ก็จะกดดันนิดนึง บางทีก็จะเหน่อ ก็จะกดดันนิดนึง
ส่วนใหญ่ระบบทีม มันต้องอาศัยความคล่องอยู่เหมือนกัน อาศัยไหวพริบเฉพาะตัว บางทีพากย์ไป บทมันหมด เราก็ต้องหาคำเติม บางทีบทเขาแปลมาไม่พอดีครับ แต่ปากยังพูดอยู่ เราก็หาคำเติมลงไป
แต่ยุคนี้มันดิจิตอลด้วย เราก็เทคได้ ถ้ายุคก่อนหน้านี้ ยุคเทป ยุคฟิล์ม เขาต้องเป็นม้วนเลยมั้งครับ คือห้ามเทค ถ้าเทคต้องไปเริ่มหัวม้วนใหม่ น่าจะยากกว่ายุคสมัยก่อน ณ วันนั้นเราก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่สกิลเรามี แล้วก็ต้องจำไว้เป็นบทเรียน เอามาฝึกซ้อม เพื่อครั้งหน้าให้ดีขึ้น
มันเป็นปกติที่จะกดดัน แล้วก็มันเป็นปกติที่ผู้ใหญ่เขาก็เข้าใจว่าเรามือใหม่ เราพึ่งหัดพากย์ เขาก็จะไม่ได้ว่าอะไรเรา ส่วนใหญ่ก็จะสอนมากกว่า ลองอย่างนี้สิ มันก็เทคได้ครับ เขาก็ให้เราเทคจนกว่าจะโอเคแหละครับ แต่ถ้าเป็น10เทคแล้ว มันไม่ไปไหนสักที เขาอาจจะรู้สึกว่า โอเคก็ต้องเอาที่มันพอได้ มันอาจจะยังไม่ดี เฟอร์เฟคหรอก แต่ก็สกิลเรา ณ วันนี้ มันได้เท่านี้ ก็เอาพอได้ไปก่อน”
กว่าจะรู้สึกว่าทำได้ และไม่เป็นตัวท่วงของทีมก็อาศัยเวลานานเกือบ1 ปีหรือแม้แต่ตอนนี้ที่รู้สึกว่าชำนาญแล้ว ก็ยังต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
“ก็สักครึ่งปีมั้งครับ หรือปีนึงมั้ง ตอบได้ยากเหมือนกันครับ คือการพากย์มันต้องพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ แม้แต่ทุกวันนี้ก็ตาม หรือแม้แต่นักพากย์รุ่นใหญ่ เขาก็พูดเสมอว่า เขาต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เพราะว่าเราเจอตัวละครใหม่ๆ ตลอดเวลา นักแสดงใหม่ๆ ตลอดเวลา เราไม่ได้พากย์คนเดิม บทเดิมตลอด”
นอกจากนี้เขายังบอกทริกสำคัญให้ฟังอีกว่า การที่เป็นคนชอบดูหลัง และดูหลังมากๆ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการช่วย
ก็ช่วยได้พอสมควรเลยครับ ก็ชอบดูหนังอยู่แล้ว คือผมดูหนัง World Cinema ดูหนังหลากหลาย หนังยุโปร กัมพูชา เวียดนาม ผมดูหมด หนังโรคที่3หนังอิหร่าน หนังอัฟกานิสถาน หนังอะไรผมดูหมด มันก็เลยทำให้เราเข้าใจหนังได้ทั่วโลก เวลาดูหนัง เข้าใจว่าเขาจะสื่ออะไร อันนี้มันเสียดสีเรื่องนี้นิ เขาพูดเรื่องนี้ เรื่องนั้น
แล้วก็สกิลการเขียนบทก็ได้เอามาใช้เหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกว่าบางทีมันเจอบทเขาแปลมาไม่ดี บางทีให้คำมากไป คำน้อยไป บางทีเราก็ต้องมาเกลาบทเองระหว่างพากย์ คอยเติมคำ แต่งคำให้มันเข้ากับหนัง”
ต้องเสียงนี้เท่านั้น พระเอกจีนเอกลักษณ์ที่คนจำได้
สำหรับเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่คนจำได้ได้แม่นๆ และต้องเป็นเสียงนี้เท่านั้น ก็คือการให้เสียงพากย์ของซีรีส์จีน โดยเฉพาะถ้าใครเป็นคอซีรีส์จีนน่าจะจำเสียงนี้ได้เป็นอย่างดี
“ของผมก็อาจจะเป็นตัวพระเอกซีรีส์จีนมั้งครับ ที่คนจะนึกถึง ถ้าพระเอกโดยเฉพาะตัวนิ่งๆ ตัวขรึมๆ ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงตัวนี้ กับอีกตัวก็จะแบบตัวร่าเริงไปเลย มีความกระโดกกระเดก มีความไร้เดียงสา วัยรุ่นๆ ตัวร่าเริงหรือตัวเข้มๆ ไปเลย
ปกติก็มีพากย์หลากหลายอยู่แล้วครับ แต่ตัวซีรีส์จีนคนดูอาจจะจำได้เยอะหน่อย แต่ว่าปกติก็จะพากย์หลายภาคอยู่แล้วครับ ทั้งฝรั่ง เกาหลี อินเดียก็มีครับ แต่ละแบบต่างกันยังไง อย่างตัวซีรีส์จีนมันก็อาจจะมีการปรุงแต่งหน่อย เวลาพากย์อาจจะดูแบบ มีการประดิษฐ์นิดนึง เพราะว่าเนื้อเรื่องเขาจะชวนฝันอะไรอย่างนี้ครับ พระเอกสุดหล่อ ซีนโรแมนติก ซีนอบอุ่น เราก็ต้องพยายามพากย์ให้ดูหล่อ ดูดีที่สุด ให้มันเข้ากับความหล่อของนักแสดงครับ
เวลาเขาแคสติ้ง เขาก็อาจจะหาเสียงโทนที่ใกล้เคียงกับนักแสดง แต่ผมว่าสุดท้ายยังไง มันก็ต้องพากย์ให้ดูหล่อ บางทีก็ต้องเข้าใจว่านักแสดงเสียงเขาก็ไม่ได้ดี แล้วเสียงเขาไม่ได้หล่อเหมือนหน้าเขา แต่ว่าเราก็ต้องพากย์โทนนี้แหละ ให้มันหล่อ ดูดี ไม่งั้นแฟนคลับก็จะว่าได้ว่าทำไมพากย์อย่างนี้ พากย์ซีรีส์จีนก็อาจจะดูประดิษฐ์กว่าหน่อย
แต่ว่าถ้าอย่างฝรั่งมันจะพากย์แบบธรรมชาติมากกว่า เหมือนพูดปกติมากกว่า อาจจะด้วยภาษาด้วย อย่าง เกาหลี จีน ภาษาเขาจะมีความเอื้อนเอ่ยมากกว่า เกาหลีเขาก็จะมีหางเสียงของเขา
แต่ของฝรั่งเขาจะแบบกระชับกว่า ในเกาหลีมันก็จะต้องมีหางเสียงมากกว่าหน่อย หรืออย่างพวกยุโรป ภาษาเขาจะรัวมาก ก็ต้องรัวตามเขา
อินเดียสนุกครับ เป็นหนึ่งในประเทศที่ผมชอบพากย์ มันสนุกดี เขาชอบเล่นใหญ่ครับ เขาชอบไปสุด ซีนแอคชั่นก็แอคชั่นมันส์อลังการ เศร้าก็โศกซึ้ง โรแมนติกก็หวานซะ เขาชอบเล่นใหญ่ครับ มันสนุกเวลาพากย์ มันไม่เครียดมาก
เวลาเจอตัวละครหรือหนังที่เขาเล่นใหญ่ มันจะสนุก เหมือนเราได้เล่นอะไรที่มันสนุกๆ แต่ถ้าไปเจอตัวละครนิ่งๆ ซับซ้อน มันก็อึดอัดเหมือนกัน ความรู้สึกตัวละครบางทีมันส่งมาถึงตัวเรา พากย์ๆ ไปเราก็เครียดไปกับเขา นิ่งๆ แล้วมันไม่ค่อยแสดงอารมณ์ มันอึดอัด ปกติมันต้องแสดงอารมณ์บ้าง แต่บางตัวเขานิ่งมาก”
ฟันค่าตัวหลักแสนต่อเดือน
“อาชีพนักพากย์ ถ้ามีงานเยอะก็ทำอาชีพเดียวได้เลย แต่ถ้างานน้อย ก็อาจจะทำอาชีพอื่นเสริมด้วย อย่างผมก็ทำงานพากย์อย่างเดียวเลย หลายๆ คนก็ทำงานพากย์อย่างเดียวเลย ถามว่าเดือนนึงได้เท่าไหร่ อยู่ที่คนเลยครับ ถ้าซีรีส์นับเป็นตอน หนังก็นับเป็นเรื่อง มันก็มีหลายเรท
งานพากย์ก้เหมือนงานสร้างหนังนั่นแหละ มันมีหลานค่าย หลายเกรด หลายคุณภาพ งบแต่ละเจ้าก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างเจ้าเล็กๆ ซีรีส์ก็จะได้ตอนละ 600-800 ต่อตอน แต่ถ้าเจ้าใหญ่ๆ ก็จะเป็นตอนละพัน หรือไปถึงสองสามพันเลยก็มีครับ
อย่างซีรีส์ฝรั่งก็อาจจะไม่ถึง 10 ตอน หรือ10 กว่าตอน แต่ถ้าซีรีส์จีนก็จะยาวหน่อย 20 ตอนบ้าง 40-60ตอนก็มีครับ
อย่างซีรีส์จีนคิวแน่นๆ เลยพากย์วันนึงก็10 กว่าตอนก็มี หรือ 20 ตอนก็เคยมีเหมือนกัน บางทีก็สลับเรื่อง บางทีมีมีทั้งพระเอก ก็อาจจะใช้เวลาเยอะหน่อย เพราะมันออกเยอะ แต่บางเรื่องเราลงตัวล้อมๆ ก็อาจจะใช้เวลาแป๊บเดียว ตอนละ 20 นาที ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าพระเอกก็ตามความยางหนัง บางทีซีรีส์มัน 40 นาที ก็ใช้เวลา 30-40นาทีต่อตอน เพราะมันออกเยอะ
ถ้าของผม ถ้างานเยอะก็6 หลักอยู่ครับต่อเดือน มันก็มีตั้งแต่ ถ้าน้อยๆ ก็จะประมาณ 3-4หมื่นบาท บางเดือนมากๆ ก็แสนกว่าบาท หรือถ้าบางคนเขาแบบมีหนังโรงเยอะๆ พากย์สปอตอีก 2-3 แสนต่อเดือนก็มีครับพี่บางคน
ตอนนี้ก็อาชีพหลักเลยครับ ช่วงแรกๆ ผมก็เขียนบทไปด้วย พากย์ไปด้วยอยู่ แต่ว่ารู้สึกมันหนักไปหน่อย กลางวันเราไปพากย์เสร็จ กลับมาบางทีมันเหนื่อย อยากพัก อยากนอน มานั่งเขียนบทอีก หัวก็ล้าแล้ว ง่วงแล้ว แต่ต้องคิดให้ได้ เพราะมันมีเดดไลน์ของเขา หลังๆ ก็เลยไม่ค่อยได้รับงานบทแล้ว พากย์อย่างเดียวเลย เพราะงานพากย์มันทได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว พากย์เสร็จมันก็จบได้พักแล้ว ไม่เหมือนเขียนบท คิดไม่ได้ก็ต้องคิดให้ได้ นั่งคิดอยู่ทั้งวันทั้งคืน จนถึงเดดไลน์”
แนะทริกตาต้องไว ไหวพริบต้องดี
“ถ้าจะเริ่มพากย์ ก็แนะนำให้เริ่มจากตัวละครวัยที่ใกล้เคียงกับเรา เสียงที่ใกล้เคียงกับเรา เริ่มจากตรงนั้นน่าจะดีกว่า เพราะมันจะใช้ธรรมชาติของเราในการพากย์ หรือถ้าวิเคราะห์ได้ว่า ตัวเรามีคาแรกเตอร์แบบไหน ก็ค้นหาละครที่ใกล้เคียงกับเรา ถ้าแต่ก่อนไม่มีคอรส์เลยนะ มันต้องอาศัยครูพักลักจำ มันต้องแบบเอาตัวเองเข้าไปในนั้นให้ได้ เพื่อซึมซับเรียนรู้ แต่ปัจจุบันมันมีคนมาเปิดคอรส์เยอะแยะเลยที่เขามาเปิดสอน แล้วก็ด้วยโซเชียลฯ มันทำให้วงการไม่ได้ลงลึกมากแล้วตอนนี้ จะเป็นนักพากย์ต้องอ่านหนังสือคล่อง ตาต้องไวนิดนึง มีไหวพริบนิดนึง เพราะว่าถ้าอ่านไม่คล่อง กว่าเราจะสะกดคำ กว่าจะพูด หนังไปแล้ว ถ้าคนอ่านไม่คล่อง ก็ต้องฝึกอ่านให้เยอะๆ ครับ การพากย์มันก็คือการเรียนแบบต้นฉบับนั่นแหละครับ เข็มทิศของเราก็คือ ทำยังไงให้ออกมาคล้ายต้นฉบับให้มากที่สุด ก็อปปี้ฟิลลิ่งเขา แต่ในภาคภาษาไทย ก็ต้องถ่ายทอดแต่ละประโยคนั้นออกมา ว่าประโยคนั้นเขาพูดด้วยความรู้สึกอะไร เศร้า เสียใจ หรือประชด เราก็ต้องตัความให้ออกว่า ประโยคนั้นเขาพูดเพราะอะไร แล้วเราก็ต้องสื่สารมันให้ได้ มันเหมือนเราต้องเป็นสื่อกลางระหว่างนักแสดงกับคนดูในพากย์ภาษาไทย เราก็ต้องถ่ายทอดน้ำเสียงให้คนดูเขารู้สึกได้ ไม่ใช่แค่เรารู้สึกอย่างเดียวด้วย” |
เคยอินกับบท จนพากย์ต่อไม่ไหว
“เคยมีครับ ตอนนั้นพากย์ซีรีส์เกาหลี จริงๆ ไม่ได้อินกับเรื่องเท่าไหร่หรอก แต่มันrelate กับชีวิตจริงเรา คือประโยคนั้นมันโดนใจ เหมือนชีวิตเรา เหมือนกระตุ้นความเศร้าตรงนั้นของเรา พอพากย์ไปน้ำตามาจริงเลย คือเราอิน นึกถึงชีวิตเรา ตอนนั้นเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่อง Thirty but Seventeen คือมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ พระเอกมันโทษตัวเองมาตลอดว่า มันทำให้นางเอกเป็นเจ้าหญิงนิทรา คือเขาแอบชอบกันตอนเป็นวัยรุ่น นางเอกประสบอุบัติเหตุจนเป็นเจ้าหญิงนิทราไป 10 กว่าปีครับ ทีนี้พระเอกก็เลยโทษตัวเอง ซีนนั้นเขาเขียนจดหมายพูดความในใจให้นางเอก เขารู้สึกว่าแบบผมทำลายชีวิตคุณ ทำให้ชีวิตคุณหายไปตั้ง 10 กว่าปี ผมไม่น่าชอบคุณเลย พอดีมัน relate ตรงที่ว่า ผมคบกับแฟนเก่า คบกันมา11 ปี แล้วเลิกกัน เราก็คิดตรงนี้เหมือนกันว่า เราทำเขาเสียเวลาหรือเปล่า คบกันมาตั้งเป็น10 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้แต่งงานกัน เราทำเวลา10ปี เขาสูญเปล่าหรือเปล่า พระเอกมันก็พูดประโยคนี้เหมือนเราเลย ผมทำลายชีวิตคุณหรือเปล่า ทำให้คุณเสียเวลาไป มันโดนใจเรา มันก็จึ๊กเรา ตอนนั้นคือร้องไห้เลย ร้องไห้เสร็จ ก็ต้องรอให้น้ำมูก เสียงอะไรเรากลับมาปกติก่อน ก็เลยพากย์ต่อได้” |
ฝันอยากเก่งเหมือนไอดอล
“ไอดอลก็มี อาโอ๊ต จักรกฤษณ์ หาญวิชัย ที่เป็นเจ้าของเสียงที่เราคุ้นเคย เสียงของ ทอม แฮงค์ เสียงของทอม ครูซ ในยุค90’s ยุค 2000 เรียกได้ว่าหนังฟอร์มใหญ่ พระเอกเบอร์ใหญ่ๆ จะเป็นเสียงแกหมดเลย เสียงแกหล่อมาก ฟังแล้วมันน่าหลงใหล มันดูเท่ มันดูหล่อ แกก็เป็นไอดอลในด้านเสียงหล่อ เสียงพระเอก แล้วก็มีอีกคนก็คน อาติ่งพันธมิต (สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล) แกได้ทุกตัว ตัวเข้ม ตัวหล่อ อย่างแกพากย์ วิน ดีเซล ในเรื่องFast & Furious ต่างๆ หล่อเข้ม หรือตัวตลกแกก็มีมุก ทุกตัวละครแกเอาหมดจริงๆ ตัวฮ่องเต้บ้าง ตัวขันที แกเป็นนักพากย์ที่พากย์ได้หลากหลายมาก บางคนอาจจะเด่นตัวนี้ๆ แต่แกเด่นทุกตัว เก่งมาก เรื่องคิดมุกก็อัจฉริยะ แกไปหามุกมาจากไหนนักหนา แล้วทันโลกด้วยมุกแก” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : อินสตาแกรม“@chaiyoong55”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **