จากการสำรวจพื้นที่ปลูกต้นไม้ในเขตพื้นที่จ.เชียงใหม่ที่เคยเกิดไฟไหม้ป่าปีที่ผ่านมาของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ สิงห์อาสา และบริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายต่างๆ พบอัตราการอยู่รอดของต้นไม้ที่ปลูกทดแทนสูงถึง 80-90% ยืนยันแนวคิดการเพิ่มเปอร์เซนต์การอยู่รอดของต้นไม้โดยเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีประโยชน์ต่อชุมชน ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลหลังการปลูกอย่างต่อเนื่องมีผลต่อการรักษาแนวป่า สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.13 (สันป่าตอง), สภาลมหายใจเชียงใหม่, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, เทศบาลตำบลบ้านปง พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ 13 สถาบัน ร่วมปลูกต้นไม้ในชุมชนต้นแบบ 8 หมู่บ้านในพื้นที่อ.หางดง และอ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ในโครงการ “ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน” ช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุไฟป่าด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อรักษาแนวป่า เพิ่มพื้นที่ป่าเดิมที่ถูกไฟป่าทำลายและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักวิชาการที่ปรึกษาในโครงการ อธิบายว่า “โครงการทั่วไปที่ปลูกต้นไม้จะมีต้นไม้รอดจากการปลูกเพียง 20-25 % เพราะฉะนั้นการปลูกต้นไม้ที่ดีคือต้องเพิ่มอัตราการอยู่รอดของต้นไม้ให้ได้มากกว่าเดิม ซึ่งปีที่แล้วเราวางเป้าหมายไว้ 50% แต่จากการสำรวจพบอัตรารอดชีวิตของต้นไม้ที่ปลูกเฉลี่ยสูง 80-90 % เนื่องจากมีการเลือกพื้นที่การปลูกและเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่
ทั้งพันธุ์ไม้อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า พันธุ์ไม้ที่เป็นยาและอาหารของสัตว์ป่า รวมถึงมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลหลังการปลูก ดังนั้น การปลูกต้นไม้ในโครงการนี้จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า และตรึงแนวป่าเอาไว้ไม่ให้มันถอยร่นเข้าไปเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่าที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นการพึ่งพาและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”
นายประโภชน์ เกิดเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด เปิดเผยว่า “การรักษาป่าต้นน้ำ ทั้งการปลูกป่า หรือป้องกันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ถือเป็นภารกิจที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ เพราะในแต่ละปีพื้นที่ป่าเหล่านี้ถูกไฟป่าทำลายเป็นจำนวนมาก และไฟป่าก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 เพราะฉะนั้นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เคยเป็นป่าเดิม และเพิ่มสัดส่วนการรอดของต้นไม้ จึงเป็นแนวทางการรักษาป่าต้นน้ำ ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดการเกิดไฟป่าและลดผลกระทบจากฝุ่นควัน PM2.5 โดยโครงการ “ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน” เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูผืนป่าในพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่และชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการได้ใช้ประโยชน์และร่วมดูแลต่อไป โดยจากการสำรวจติดตามการปลูกต้นไม้ปีที่ผ่านมาผลพบว่าเกิดความความสำเร็จ พิจารณาได้จากอัตราการอยู่รอดของต้นไม้ และจะขยายความสำเร็จนี้ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป เพื่อยืนยันแนวคิดเรื่องการเพิ่มอัตราอยู่รอดของต้นไม้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการรักษาเขตแนวป่าในอนาคต”
นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เผยว่า “จากสถานการณ์โลกรวนในปัจจุบัน เป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุให้โลกมีสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น หนึ่งในวิธีการที่สามารถช่วยลดโลกรวนได้ คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจากรวมถึงการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีทั้งบลูคาร์บอน (Blue Carbon) หรือคาร์บอนที่ถูกกักเก็บโดยระบบนิเวศทางทะเล เช่น หญ้าทะเล ป่าชายเลน และกรีนคาร์บอน(Green Carbon) ซึ่งเป็นคาร์บอนที่กักเก็บไว้ด้วยระบบนิเวศทางบกโดยเฉพาะป่าประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็นป่าธรรมชาติ หรือป่าปลูกก็ตาม ดังนั้นการที่พวกเราช่วยกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้ในวันนี้ก็เท่ากับเป็นการช่วยเร่งการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้แล้วการอนุรักษ์ ปกป้องรักษาป่าธรรมชาติไม่ให้มีการบุกรุก ทำลาย และเกิดไฟป่า ก็ยังเป็นอีกทางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศได้อีกทาง ท้ายที่สุดก็ต้องบอกว่า ต้นไม้เป็นเทคโนโลยีธรรมชาติในการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศที่ดีและถูกที่สุดในโลก ต้นไม้ที่พวกเราช่วยกันปลูกในวันนี้ไม่ใช่เพื่อเราแต่เพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่ออากาศที่สะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนรุ่นถัดไป"
นางสาวลักขณา ไชยคำ ผู้ใหญ่บ้านปางยาง หมู่ที่ 7 อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เผยว่า “ชาวบ้านรู้สึกดีใจที่โครงการนี้ถูกวางแผนมาในระยะยาวและเริ่มเห็นผล ทำให้ชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันดูแลต้นไม้ที่พวกเราช่วยกันปลูกต่อไป เพราะในอนาคตชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกได้ และยังช่วยป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย เมื่อพื้นที่ที่เคยเกิดความเสียหายจากไฟป่าได้รับการฟื้นฟู เป็นการช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีแหล่งทำกิน และรายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์”
สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สิงห์อาสา และบริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด พร้อมด้วยเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จะเร่งต่อยอดขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องจาก 5 หมู่บ้าน เป็น 8 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ในอ.หางดง และอ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยยึดหลักการแรกเริ่มของโครงการซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุไฟป่า เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดภาวะโลกรวน และยังเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน