เปิดเส้นทาง “อาร์ท-อัครัช เนรมิตศิลป์” ดีไซเนอร์ผู้สร้างตำนานชนะเลิศชุดประจำชาติ 5 ปีซ้อน จนทั่วโลกแห่จองคิว กว่าจะมีวันนี้ จากเด็กที่มี “อาจารย์เฉลิมชัย” เป็นไอดอล เผยคำดูถูก“ศิลปินโฟม” ฝ่าดราม่า ที่โดนตราหน้าว่าก็อปชุด พิสูจน์ด้วยฝีมือ จนประสบความสำเร็จ
จุดเริ่มต้นพร้อมการันตีรางวัล5 ปีซ้อน
“ก็รู้สึกตื้นตันใจ แล้วก็ภาคภูมิใจมากๆ กับตำแหน่งรางวัลที่มันเป็นเหมือนตัวการันตีความสามารถ แล้วก็ทำให้คนไทยตระหนักถึงอาชีพนี้ว่า มันยังมีอาชีพนี้อยู่ในยุคสมัยใหม่ แล้วมันเป็นอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่ เป็นคนคิด แล้วก็สร้างสรรค์เกิดขึ้นมานะครับผม
เอาเอกลักษณ์ รากเหง้าความเป็นไทยมาผสมผสาน อันนี้มันไม่ใช่แค่รางวัลที่เรารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่าต่อเด็กรุ่นหลัง และคนรุ่นหลังที่สร้างสรรค์ผลงานมาครับ”
“อาร์ท-อัครัช ภูษณพงษ์” หรือเป็นที่รู้จักในนามห้องเสื้อแบรนด์ “อาร์ท-อัครัช เนรมิตศิลป์” ดีไซน์เนอร์ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาแฟนนางงามทั่วโลกในหลายเวที ทั้งเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ทั้งยังเป็นผู้สร้างตำนานชนะเลิศชุดประจำชาติบนเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 5 ปีซ้อน
สำหรับผลงาน ที่แน่นอนว่าใครก็ต้องเคยเห็นผ่านตามาบ้าง สำหรับชุด “ปลากัดไทย” หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “ชุดไตรรงค์อนงค์นาถสุพรรณมัจฉา” ที่ “อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม” ตัวแทนสาวไทย ได้ใส่ไปอวดโฉมต่อเวทีโลก ในรอบชุดประจำชาติ บนเวที มิสยูนิเวิร์ส 2020
หรือจะเป็นชุด “หนุมานมวยไทย (Hanuman Thai Boxing)” ที่เป็นที่ฮือฮาอย่างมากให้กับผู้ติดตามการประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2022 ที่ “อิงฟ้า วราหะ” สาวงามตัวแทนจากประเทศไทย สวมใส่เพื่อเข้าประกวดรอบชุดประจำชาติ และยังสามารถคว้ารางวัลสูงสุด คือ ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม มาครองได้สำเร็จ
วันนี้เราจะพาทุกคน ไปรู้จักดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ผู้ที่สร้างความประทับใจ ให้กับแฟนนางงามทั่วโลก ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย กับจุดเริ่มต้นจากเด็กที่ชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังโดนดูถูกมาหนักต่อหนัก จนพิสูจน์สร้างชื่อเสียงไปก้องโลก
“จุดเริ่มต้นการทำชุดประจำชาติ ตอนนั้นเรายังเรียนมหา'ลัยอยู่ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ตอนนั้นเราทำงานอยู่ที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เป็นพนักงานขายตั๋วโรงหนัง แล้วทีนี้เราเรียนครูศิลปะ เราก็มีเวลาที่จะรับจ๊อบพิเศษ วาดภาพ แล้วก็ทำฉากการแสดง หลังจากที่เราทำงานรับจ๊อบเสร็จ เราก็ไปทำงานจ๊อบพิเศษของเรา
ประมาณ1 ปี จนงานจ๊อบพิเศษที่ไม่ใช่งานหลัก มันเริ่มเยอะขึ้น พอเริ่มเยอะขึ้น ก็เลยขออนุญาตลาอออกจากงานหลักครับผม พอเราลาออกเสร็จแล้ว เราก็มุ่งตรงไปงานศิลปะเลย ก็คือรับจ้างวาดภาพ รับจ้างทำฉากการแสดง รามถึงการเพ้นท์ผนังพวกคาเฟ่ต่างๆ หรือผนังบ้านอะไรอย่างนี้ครับผม
อันนั้นเป็นพรสวรรค์ แล้วเราถนัดเลย จนกระทั่งมีห้องเสื้อต่างๆ เห็นความสามารถของเรา ก็เลยหยิบยกเอาความเป็นเรา เอาไปใส่ในชุดของร้านต่างๆ จ้างเราเพ้นท์กระโปรง หรือเพ้นท์บอดี้สูท ก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่ง ที่เราเฮ้ย…งานศิลปะของเรามันสามารถเข้าไปอยู่ในตัวชุดได้นะ ก็แค่การจัดองค์ประกอบ แล้วก็การลงสี มันก็เหมือนกับเราวาดพวกกระดาษ หรือเฟลมผ้าใบ ก็เป็นจุดเริ่มต้น
ตอนนั้นจะบอกว่า มันเป็นงานสไตล์ต่างประเทศที่นิยมเข้ามา ก็คือการเพ้นท์บอดี้สูท ก็คือการเอางานศิลปะมาสาดบนชุด แล้วเขาก็เอาไปตัดเย็บ เขารียกว่าลดการพิพม์ลาย แต่ว่าเน้นงานอาร์ตมากขึ้น
ตอนนั้นเรากำลังมีชื่อเสียงในเรื่องของการวาดภาพ แล้วรู้จักในวงการพวกพี่ๆ ก็อุดหนุนคอลเลกชั่นกัน ก็เลยเอางานเราไปใส่ คนก็เลยชอบมากขึ้น จนทำให้เราจุดประกายว่า ทำไมเราไม่ออกแบบและทำเป็นของเราเอง”
ยอมทุ่มเงินเก็บทั้งหมด เพื่อแพชชั่นที่ใจรัก
เริ่มต้นเมื่อปี 2017 ด้วยการออกแบบชุดประจำชาติให้กับ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดตัวเอง ด้วยแพชชั่นอันแรงกล้าที่มีใจรักงานศิลปะ ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานการตัดเย็บ ไม่รู้แหล่งที่มาในการเลือกซื้อผ้า
“จนกระทั่งมีเวทีการประกวดนางงามมิสแกรนด์ไทยแลนด์ มีการประกวดชุดประจำจังหวัดขึ้น ซึ่งผมอยู่ จ.กาญจนบุรี บ้านเกิดอยู่ที่นั่น แล้วก็ใน จ.กาญจนบุรี ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดังมากๆ ก็คือ สะพานแม่น้ำแคว ล่องแพเมืองกาญฯ น้ำตกเยอะมากครับ แล้วเราอยากจะนำเสนอชุดสะพานแม่น้ำแควในความคิดของเรา ณ ตอนนั้น
ตอนนั้นก็เพิ่งจบปริญญาตรีมาได้ประมาณ 1 ปี ประมาณอายุ 26 ปี ก็ตัดสินใจส่งสเก็ตช์ ยังไม่เคยเรียนในเรื่องของการออกแบบมาเลย แต่ว่าสเก็ตช์เพราะว่า เอาความรู้สึก แล้วก็ประสบการณ์ที่เรารู้สึกว่า มันน่าจะเป็นชุดได้ ก็เลยสเก็ตช์ออกมาเป็นชุดสะพานข้ามแม่น้ำแคว
ก็ได้รับคัดเลือก เป็นชุดที่ชนะในการประกวดในระดับจังหวัด แต่ก็มีข้อแม้คือ เงินรางวัลในตอนนั้น ซึ่งน้อยมาก แล้วตอนนี้ก็คือมันไม่สามารถทำอะไรได้เลย เงินรางวัลตรงนี้ เราจะต้องนำไปทำเป็นชุดออกมา เพื่อไปแข่งระดับประเทศ”
แม้เงินรางวัลที่ได้มา จะน้อยนิด ไม่คุ้มค่าในการลงทุน แต่ด้วยใจรัก บวกกับมีโอกาสที่เข้ามา ก็ยอมทุ่มเงินเก็บทั้งหมดที่มี เพื่อให้ตัวเองได้เดินตามฝัน บนเส้นทางนี้
“เงินรางวัลในราคา1 หมื่นบาทครับผม ซึ่งถามว่ามันเยอะไหม มันก็เป็นต้นทุนแค่ในเรื่องของวัสดุ แต่ว่าค่าตัดเย็บมันหมดแล้ว แต่ว่าชุด1 ชุด มันใช้เวลาทำประมาณ1 เดือน ซึ่ง 1 หมื่นบาทมันไม่น่าพอแน่นอน
แต่ว่าด้วยใจรัก และเปรียบเสมือนโอกาสที่เราอยากจะเข้าไปสู่ในวงการชุดอย่างแท้จริง ก็เลยนำเงินที่เราไปรับจ๊อบพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทำงานที่เมเจอร์ฯ หรือทำงานศิลปะนะครับผม รวบรวมเงินมาได้ประมาณ 5 หมื่น เงินสดเลย เงินเก็บด้วย(หัวเราะ) เอามาลงทำชุดนี้หมดเลยครับผม ค่ากิน ค่าอยู่ มีเพื่อน หรือพี่ประมาณ 2-3 คนช่วยกันทำชุดนี้”
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เริ่มต้นจากที่ไม่มีพื้นฐานการตัดเย็บ ไม่รู้แหล่งที่มาในการเลือกซื้อผ้า แต่ดีไซเนอร์ชื่อดัง เขาก็บอกว่า ใช้ความพยายามอย่างมาก ฝึกฝน ลองผิด ลองถูก ซึ่งกว่าจะได้แต่ละชุดช่วงแรกยากมาก แต่ก็ใช้ความท้าทายที่คิดว่า ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้
จากนั้น เขาก็พยายามหาความรู้ พร้อมกับเชื่อว่า ความรักบวกกับความพยายามจะสามารถทำให้ตัวเองไปได้ไกล และแปลกกว่าคนอื่น และดีใจที่สุดท้ายประสบความสำเร็จ และก็ไม่คิดเลยว่า ความพยายามที่ทุ่มเทลงไป จะได้รับรางวัลการันตีมาถึง 5 ปีซ้อนได้ขนาดนี้
“สรุปก็คือ ชุดนี้ก็หมดเยอะมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่า ของซื้อที่ไหน ต้องตัดเย็บยังไง เหมือนเริ่มใหม่ทุกอย่างเลยครับผม เรามีความรู้แค่เรื่องของศิลปะ มันช่วยได้จริง แต่มันไม่สามารถช่วยเราได้หมดทุกอย่าง เพราะการเพ้นท์ และการตัดเย็บมันคนละทาง คนละแขนง
ผมเรียนครูศิลปะ ก็คือสอนวาดภาพ สอนแกะสลัก หรือสอนออกแบบอะไรแบบนี้ครับผม คือเน้นทฤษฎีและปฏิบัติเป็นเป็นแบสิค แต่พอมาเป็นเรื่องของงานคอสตูม แฟชั่นดีไซน์ ซึ่งมันเป็นแพทเทิร์ท เกาะอก สัดส่วนอะไรแบบนี้เราไม่มีความรู้เลย มีความรู้แค่เรื่องกายภาพที่แบบว่าสเก็ตช์แล้วแบบรู้ว่าสัดส่วนร่างกายแค่ไหน
พอมาตัดเป็นชุดอันนั้นไม่มีความรู้เลย ต้องไปหาคนที่ หมายถึงว่าเราก็ขอคอนเนกชั่นจากพี่ๆ ที่เราเคยไปเพ้นท์ชุดให้ ช่วยตัดชุดให้หน่อย ดูโครงชุดให้หน่อย เดี๋ยวผมเอามาเพ้นท์เอง สุดท้ายก็คือแบบว่า ออกมาเป็นชุดที่สวยงาม แล้วก็อออกมาประทับใจมากๆ ก็ได้ Top 10 มิสแกรนด์ไทยแลนด์
เราคิดว่าอนาคต อาชีพศิลปะ ถ้าเราไม่สร้างสรรค์ ไม่ครีเอทีฟ และไม่ต่อยอด มันจะกลับกลายเป็นว่าสุดท้ายเราก็จะกลับไปอยู่กับอะไรเดิมๆ ก็เลยออกนอกกรอบเลย แล้วก็กล้ามากๆ ที่จะเสี่ยงตัวเองที่แบบว่า ไม่สอบครู แล้วมุ่งมาตรงนี้เลย ก็คือเป็นก้าวที่ตัดสินใจได้ยากมาก แต่ก็ถ้าเราไม่เริ่มทำ หรือก้าวออกมา เราจะไม่รู้เลยว่า มันเป็นไปได้จริง”
พอเริ่มจากปีแรกที่ขาดทุน แต่นำมาซึ่งชื่อเสียง คนเริ่มจะรู้จักมากขึ้น เริ่มมีชื่อในเรื่องของวงการชุดประจำชาติ จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการก้าวเดินต่อไป
“พอเริ่มจากปีแรก เราขาดทุน แต่เราได้ชุดมา เราเริ่มมีชื่อ ปีต่อมาก็มีคนติดต่อมา ตรงนี้มันเป็นเรื่องราวที่รู้สึกประทับใจ แล้วรู้สึกเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราไปต่อ สนุกดี ลองดู เพราะว่ามันก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ปีต่อมาก็เลยได้เริ่มทำชุดของมิสแกรนด์ตาก มิสแกรนด์ชัยนาท มิสแกรนด์นครศรีธรรมราช ก็คือชุดต้มยำกุ้ง
จุดเปลี่ยนก็คือต้มยำกุ้ง ซึ่งทั้งหมดไม่ได้จ้างใครเลยครับ ทำเองทุกอย่าง เพราะเราเรียนครูมา เราจบฉากมา เรารู้วิธีขั้นตอนในการขึ้นโครงสร้าง อันนั้นคืองานของเรา100% เราไปแข่งในปีนั้น ก็ไม่ได้มีความมั่นใจเลย เพราะเราพึ่งจะมาปีแรก ปีนี้ก็เป็นปีที่2 ก็ยังเป็นเด็กอยู่ ก็มีความหวั่นใจว่า จะตกรอบเหมือนปีที่แล้ว อาจจะไม่ได้รางวัลกลับไป แต่ว่าชุดนี้ทำให้เราได้รางวัลชนะเลิศ เป็นครั้งแรกในชีวิต
จากเด็กคนหนึ่งที่มีชื่อติดอันดับมา หรือแบบมีคนรู้จักมากขึ้น อาร์ท-อัครัช ทำชุดต้มยำกุ้งนะ เป็นชุดประจำชาติยอดเยี่ยมแห่งปีจาก 77 จังหวัด เอาแค่ 1 ชุด ก็เป็นจุดมาสเตอร์พีชในชีวิต ในปี 2018 ครับ"
โดนดูถูก งานเศษโฟม-ก็แค่เด็กหลังฉาก
กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้เล่าเบื้องหลัง เส้นทางชีวิต ที่มีแต่ขวากหนามคอยทิ่มแทงใจ แม้จะตั้งใจทำผลงานออกมาให้ดีแค่ไหน ก็จะมีคนคอยสบประมาท
“คำดูถูกก็คือในเรื่องของชุดนี่แหละครับผม ชุดคือเศษโฟม อ๋อกรรมการเลือกชุดนี้ ก็เพราะกรรมการชอบงานโฟม แต่คำว่างานโฟมมันอาจจะเกิดมาจาก วัสดุที่ค่อนข้างเปาะบาง ไม่มีน้ำหนัก แล้วก็หาซื้อง่าย มันก็เหมือนชุดเรา เป็นชุดที่เปราะบาง ไม่มีราคา แล้วก็สามารถทำได้ง่าย ก็แค่แกะโฟมสวยๆ แล้วก็เอาไปใส่กับชุด อันนี้คือคำดูถูก
ซึ่งเราพิสูจน์ให้เห็นว่า หัวหนุมานก็โฟม แขนของพญาครุฑก็โฟม หัวปลากัดก็โฟม ยักษ์ก็โฟม หัวของไหบ้านเชียงก็โฟม ทำไมเราถึงต้องโฟมตลอดเลย คือไม่อยากปิดบังความเป็นจริง คือคนดูถูกว่างานโฟม เราจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่คุณเรียกว่าโฟม มันสามารถที่จะทำให้มันดูมีคุณค่าได้
ไม่ใช่คนในวงการเดียวกัน คนในวงการเดียวกันก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ไม่มีความรู้ และก็มองว่า มันเป็นงานจากฉาก เอามาใส่ในชุด ช่วงหลังๆ เวลาผมจะครีเอท เราก็จะพยายามหลีกเลี่ยงคำดูถูก จะไม่พยายามทำอะไรที่มันดูใหญ่ และเป็นภาระนางงาม เหมือนปีล่าสุด ก็พยายามไม่เอาปีกมาแบกหลัง แต่พยายามคิดยังไงให้ได้ ให้ปีกมันเป็นส่วนหนึ่งของชุดไป”
โดนดูถูก จนบางครั้งก็ทำให้บั่นทอนจิตใจ บางครั้งก็มีร้องไห้บ้าง แต่ก็พยายามนำคำดูถูก หรือคำวิจารณ์เหล่านั้น มาปรับใช้ และเป็นแรงผลักดัน ในการออกแบบชิ้นงานต่อไป จนคนยอมรับให้ได้
“มีช่วงที่เรารู้สึกว่า ไม่ชอบงานพร็อพไปเลย ก็คือเรารู้สึกว่า ถ้าเกิดเป็นพร็อพ เราจะขออนุญาตทำไงให้รู้ว่า ไม่ใช่การที่แบบว่า เอามาเขียนลาย หรือแบบว่ามาขึ้นโครงสร้างที่มันเป็นงานโฟม เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบไปเลย เรารู้สึกว่าเราฝังใจกับหลายๆ คนที่คอมเมนต์เรามา หรือว่าหลายๆ งานที่คนเอามาเปรียบเทียบ เพราะคนส่วนใหญ่ซูมเข้าไป แล้วก็จะวิจารณ์กัน ซึ่งมันก็มีเล็กๆ น้อยที่เรารู้สึกว่าจะต้องเก็บ
ผมว่าคำดูถูกเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ดีนะ มันทำให้เราจะจำไว้ว่า โลกมันไม่ได้หมุนรอบตัวเราเอง ความคิดเรามันไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุด เราก็ไม่ได้เป็นคนที่แบบเกิดมาแล้วเก่งที่สุด เพราะฉะนั้นคนที่เขามองมา เขาอาจจะมองในมุมที่ให้คำแนะนำ หรืออาจจะบอกเราเออ มันไม่สมควร มันอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้
เราก็ค่อยๆ ปรับแก้กันไป ทุกวันนี้ก็เหมือนเราลอยลำ จากคนที่ดูถูก จากคนไม่เห็นคุณค่า ก็เข้ามาแสดงความยินดี เข้ามาแชร์ผลงาน แล้วก็บอกว่า เออนี่แหละก็คือ ชุดประจำชาติที่เราอยากจะเห็นมากที่สุดครับ”
นอกจากดูถูกว่าผลงานแค่เศษโฟมแล้ว ดีไซน์เนอร์ชื่อดังยังเล่าให้ฟังอีกว่า เขายังเคยดูถูกว่าเป็นเด็กหลังฉาก ที่ไม่สามารถมาอยู่เบื้องหน้าได้สำเร็จ แต่ในวันนี้เขารู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ความพยายามเขาเป็นผลสำเร็จ
“เราถูกดูถูกมาหลายๆ ครั้ง ในเรื่องของเป็นเด็กหลังฉาก คำว่าเด็กหลังฉาก มันเป็นการสะท้อนในเรื่องของ คนที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะไปอยู่หน้าฉาก นั่นหมายถึงว่า คุณอยู่หลังฉาก คุณมีหน้าที่แค่คอยซัพพอร์ต คอยเป็นเบื้องหลัง แล้วก็คอยเป็นเบื้องหลังที่แบบว่า เหมือนเป็นงานพร็อพ งานฉากแค่นั้น แต่ในเมื่อเราก้าวเข้าไปอยู่หน้าฉาก มาคอยอยู่ข้างๆ นางงาม มาคอยซัพพอร์ตนางงาม ซัพพอร์ตคนคนนึงในการออกแบบชุด
เพราะฉะนั้น ชุดประจำชาติของผม ใครจะมาบอกว่า มันเป็นงานพร็อพ เราคิดว่า เราคือความภาคภูมิใจของคนไทยดีกว่า เพราะว่างานของเรา หรืองานพร็อพ หรือวัสดุที่ดูง่าย มันก็ไปชนะระดับโลก ไปสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทยมาหลายต่อหลายปีแล้ว
อันนี้ก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรายังคงยึดมั่น เอางานศิลปะ ก็คืองานเพ้นท์ งานที่ตัวเองเรียนมา เอามาใส่กับชุด ถึงแม้ว่าบางชุด อย่างเช่นชุดนี้ เหมือนจะไม่มี แต่จริงๆ แล้ว มันคือความสามารถในการแกะสละ ในเรื่องของความสามารถการใช้สี ในเรื่องของการไล่มิติ แล้วก็ในเรื่องของการวางลายผ้า มันมีความเป็นศิลปะซ่อนอยู่ มันคือการพัฒนา และการสอดแทรกเข้าไป”
ดราม่าหนัก โดนหาว่าก็อปปี้งาน
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ3 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ ถือว่าเป็นกระแสร้อนไปทั่วโซเชีลฯ ที่แฟนนางงามแห่ดราม่าชุดประจำชาติ“ชุดปลากัด”ของ 2 เวที มิสแกรนด์ลาว และ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ที่คล้ายกัน จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างล้นหลาม ว่ามีการก็อปชุดกันเกิดขึ้น
อาร์ท-อัครัช ในฐานะที่เป็นผู้ออกแบบชุดปลากัดไทย ย้อนกลับไปในครั้งนั้น ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่จากความซื่อสัตย์ในผลงาน และใจรักที่ไม่คิดที่จะไปก๊อปปี้หรือไปลอกเลียนแบบใคร ก็ทำให้กลายเป็นว่าดราม่าในครั้งนั้น ไม่ได้สร้างชื่อเสียงที่เสียหายให้กับเขาเลยแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นว่า ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก
“ชุดปลากัด หนักที่สุดในชีวิตผม ออกข่าวทุกช่องเลยช่วงนั้น จะบอกว่าชุดปลากัด กับชุดตลาดน้ำ เป็นปีเดียวกัน ปี2020 ครับผม ผมชนะเลิศชุดปลากัดก่อน เพราะเวทีมิสยูเวิร์สประกวดก่อนชุดตลาดน้ำ ผมชนะเลิศชุดปลากัดที่ประเทศไทย เพื่อไปแข่งมิสยูนิเวิร์ส อย่างเช่นจะไปแข่งปลายปีนี้ พอผมชนะเป็นตัวแทนประเทศไทยเสร็จปุ๊บ ผมก็ไปชนะมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ชุดตลาดน้ำของราชบุรีอีก เท่ากับว่าปีนั้น ได้ชนะ2 เวทีใหญ่ระดับโลก แต่ในประเทศไทยนะ
จากนั้นพอผมจะแข่งในระดับอินเตอร์ มีดีไซน์เนอร์ไทย ที่ไปทำให้กับประเทสลาว ทำชุดปลากัดลายขึ้นมา แข่งเวทีเดียวกับชุดเวทีตลาดน้ำ แข่งเวทีเดียวกับมิสแกรนด์ ก็เป็นประมาณว่า สรุปคือชุดไหนก็อปใคร มันมีความคล้ายคลึงกัน ทางโน้นก็บอกว่าทำขึ้นมาก่อน
แต่ด้วยของเรามันมีความเป็นโปร่งใสในเรื่องของเรื่องราว การดำเนินการมากกว่า มันเป็นชุดมาเป็นรูปธรรมแล้ว มีเป็นแบบสเก็ตช์ มีลงวันที่ มีการประกวดในประเทศ คือคนมันเห็นหมดแล้ว แล้วคนมันเห็นชุดปลากัดลาว มาเห็นตอนที่ชุดเสร็จแล้ว ก่อนวันแข่ง มันก็เลยดราม่าตรงนี้
มันไม่ได้เสียที่เรานะ แต่มันกลับกลายเป็นว่า ทำให้เราพุ่งขึ้นมาเยอะมาก จากที่เราอยู่เงียบๆ จากที่ชุดปลากัดที่ดังแล้ว ก็คือดังขึ้นอีก ก็คือเป็นชุดที่ดราม่าเยอะที่สุด เพราะมีหลายๆ เพจหลายๆ ช่องคือมาสัมภาษณ์เยอะมากตอนนั้น แต่ไม่ได้เป็นดราม่าที่เราเสียนะ
แต่เป็นดราม่าที่ทำให้เราแสดงถึงทัศนคติ ในเรื่องของการพูด ในเรื่องการคอนเมนต์ ถึงจะมีประเทศลาวมาคอมเมนต์เรา ในเชิงเสียหายว่าเราไปก็อบปปี้ แต่ว่าเราก็ตอบด้วยความสุภาพทุกอย่าง มันเหมือนการคอมเมนต์ของเราในปีนั้น เหมือนเรามีสติมาก เรารู้เลยว่าเราไม่ผิด แต่เราจะตอบด้วยเหตุผล และอธิบายในเรื่องของหลักฐานที่เรามี
และเราก็จะพยายามลงข้อมูลในเรื่องของวันที่ อันนี้เป็นข้อมูลที่มันทำให้เรากลับกลายเป็นว่า มันไม่ใช่การดีไซน์เนอร์แบบอยู่ดีๆ คิดปุ๊บแล้วทำเลย แต่เขามีเรื่องของการวางแผน ในเรื่องของวันที่ การเซ็นลายเซ็น หลักฐานทุกอย่างมันทำให้คนเชื่อมั่นเรามากขึ้น”
ฝ่ามรสุมดราม่า ที่โดนตราหน้าว่าก็อปปี้ชุด ด้วยการพิสูจน์ฝีมือ ทำให้เห็น มากกว่าพูด และการควบคุม อารมณ์ และสติ จนฝ่าฝันทุกมรสุมดราม่าได้อย่างสำเร็จ
“สติและก็อารมณ์สำคัญมาก หลายๆ คนอาจจะตายเพราะว่า ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการคอมเมนต์ หรือการโพสต์ที่ใช้อารมณ์ส่วนตัว หรือความแบบว่า ความมั่นใจในตัวเองเกินไป จากการที่อาจจะเป็นแชมป์มา2 สมัย ถือตัวว่าตัวเองเก่งแล้ว อาจจะไม่ฟังใคร เอาแต่ความคิดตัวเองเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คุณจะเป็นแชมป์3 ปี4 ปี5 ปี เราก็ยังใช้ความเป็นตัวเรา ตั้งแต่ที่เราเติบโตมา ตรงนั้นเอามาใช้ ยึดหลักตลอด
ตรงนี้มันคือความกลัวที่เราจะต้องเก็บไว้ เอามาเป็นเครื่องเตือนใจตลอดเลยว่า ถ้ามันมีดราม่า หรือมันมีอะไรที่เกิดขึ้น ถ้ามีคนเตือนเรา ต้องฟัง ถ้ามีคนบอกว่า อย่างเช่นในเรื่องของการดีไซน์ สมมติมีคนเตือนว่า มันดูแบบไม่สวย ตรงนี้มันดูใหญ่เกิน ตรงนี้ต้องลดสเกล ต้องฟัง แต่การฟังของเราคือ การรับมาแล้วต้องคุยกันด้วยเหตุผล
ถ้าเหตุผลของเรามีความเป็นไปได้มากกว่า เขาก็ต้องยอมรับ หรือถ้าเกิดของเขามีน้ำหนักมากกว่า เขาก็ต้องยอมรับ ผมว่ามันคือการแบบว่า รับฟังกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการ หรือลูกน้องจะพูดยังไง เราก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่แบบว่า เราถือตัว แล้วเราแบบว่าไม่ฟังใคร”
สู้สุดชีวิต!! เรียนไปด้วย สร้างอาชีพไปด้วย
แม้จะรู้ตัวเองว่าชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และพยายามดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อเข้าสู่เส้นทางนี้ให้ได้ และแม้บางครั้งจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชนะตาบ้าง เพราะต้นทุนชีวิตอาจจะไม่ได้สูงเหมือนกับคนอื่น แต่ก็ไม่เคยคิดโทษครอบครัว จึงตัดสินใจว่าถ้าอยากถึงเป้าหมาย ต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย สร้างอาชีพควบคู่กันไป เพราะไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก
“ต้องยอมรับว่าน้อยใจ แต่ผมไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก คือน้อยใจแค่โชคชะตาของตัวเอง แต่คือไม่ได้น้อยใจครอบครัวนะ คือครอบครัวทำดีที่สุดแล้ว เราก็เลยพยายามต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง พ่อแม่อาจจะซัพพอร์ตได้เท่าที่เขาพอจะทำได้ เขาก็แก่แล้ว ให้เป็นอาทิตย์หนึ่งเท่านี้ๆ แต่ค่าเทอมหรืออะไร เดี๋ยวเราลดต้นทุนด้วยการไปเรียนมหาลัยรามคำแหง เพราะว่าเทอมนึงมันก็คือพันสองพันเอง ซึ่งเราก็ทำงานงานพาร์ทไทมก็เลยเป็นจุดที่เราต้องทำที่เมเจอร์
เหตุผลที่เรียนราม นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว เหตุผลหนึ่งก็คือ จะทำอะไรก็ได้ที่จบไวๆ คือต้องการที่จะโตขึ้น แล้วอยากมีอาชีพที่มั่นคงขึ้น คือไม่ได้อยากอยู่ในสังคมของการเรียนมหาลัยแล้ว คนอื่นอาจจะชอบ เพราะเขามีทุนทรัพย์ เขามีเพื่อนฝูง
แต่เราคิดว่า เราไปหาในอนาคตก็ได้ ไปหาในเรื่อของการทำงานก็ได้ แต่ว่าการเรียน เราอยากเรียนให้ได้ใบปริญญา ให้ทางครอบครัว และคนทางบ้านรู้สึกว่า เฮ้ย…มันก็เรียนจบนะ เห็นมันไปกรุงเทพฯ ครอบครัว ญาติพี่น้องก็เห็นว่าไปกรุงเทพฯ ไปถ่ายรูปกินโน่น กินนี่ ไปเที่ยวอะไรอย่างนี้ ก็คิดว่าเราอาจจะเป็นเด็กที่แบบว่าแตกไปแล้ว เกเร เพราะแถวบ้านเป็นแบบนั้น โดนดูถูก ก็เลยคิดว่าคงไม่รอด
แต่ด้วยเราพยายามพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าจริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวมันจะไม่มีผลกับเราเลย ถ้าตัวเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็คือมีจุดมุ่งหมายที่ดีว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อจะเป็นศิลปิน เกิดมาเพื่อจะทำงานศิลปะ เราก็ต้องมุ่งตรงไปเลยครับผม จนสุดท้ายก็รับปริญญา ถ่ายรูปกับพ่อแม่เรียบร้อยเสร็จ จากนั้นเขาก็ไม่เคยถามเลยนะ มีถามนานๆ ทีว่า แล้วสรุปคือ งานที่ทำมันได้ดีกว่าครูไหม ถามแค่นั้น คือเป็นห่วงเรา”
ตีตลาดต่างประเทศ ทั่วโลกจองคิว
นอกจากในประเทศไทยแล้ว ดีไซเนอร์ชื่อดัง ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศที่มีการติดต่อเข้ามา เพื่ออยากให้ทำชุดประจำชาติให้กับบรรดาเหล่าเวทีการประกวดนางงามจากทั่วโลกอีกด้วย และนอกจากวงการชุดประจำชาติ ก็ยังมีทำชุดอื่นๆ ให้กับรายการดังๆ อีกด้วย
“นอกจากนี้ ก็จะมีในการประกวดนางงาม ที่ไม่ใช่มิสแกรนด์แล้ว ไม่ใช่เวทีมิสยูนิเวิร์ส อย่างเช่น การประกวดMiss International Queen หรือมิสทิฟฟานี่ของสาวประเภท 2 อันนั้นก็จะจ้าง แต่ไม่ใช่ของคนไทยนะ ของญี่ปุ่น ของอินเดีย แล้วก็มีเวทีของไนจีเรีย ถึงจะเป็นชุดประจำชาติเหมือนกัน แต่เป็นของต่างประเทศแล้ว มันไม่ใช่แค่ไทยแล้ว
แล้วก็มีชุดม้ง ของอเมริกา ปีหนึ่งเขาจะมีการประกวดปีใหม่ม้ง ก็คือการประกวดเครื่องแต่งกายระดับประเทศ เครื่องแต่งกายระดับยิ่งใหญ่สุดในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอเมริกาก็มีคนม้งที่เป็นเชื้อสายอเมริกา ก็ติดต่อมาบอกว่า ฉันอยากให้คุณทำชุดประจำชาติม้ง แต่ฉันอยู่ที่อเมริกานะ
ในไทยก็ถ้าเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบาท ถ้าต่างชาติจะอยู่ที่ประมาณ1 แสนบาท 6 หมื่นบาทของไทย แต่เป็นราคาเช่านะ หมายถึงว่า ตัดเสร็จแล้ว เป็นของเรา อยู่ที่เรา แต่ของต่างชาติอยู่ที่1 แสนบาท เพราะว่าเขาต้องเอาชุดไปเลย แล้วถ้าคนไทยอยากเอาชุดไปเลยก็คือ1 แสนบาท
นอกจากวงการชุดประจำชาติ ก็จะมีในเรื่องของ ชุดคอสเพลย์ ชุดมาสคอต หรือชุดออกรายการ อย่างเช่น the mask singer ล่าสุดก็คือ ที่ถ่ายมา ก็ทำของหน้ากากเทพฮอรัส ที่มีปีกสีทองๆ แล้วก็หน้ากากพญายม ก็ได้ทำ 2 ชุดนี้ ทางรายการ Work point ติดต่อมา แต่ก่อนหน้านั้นทาง Work point ก็ให้ทำ 10 Fight 10 ครับผม ของพี่อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม ที่เป็นชุดหมาบางแก้ว
แล้วก็พี่อนัน อันวา ก็เป็นชุดปลากัดเหมือนกัน แต่เป็นชุดปลากัดไฟผู้ชาย อันนี่คือรายการดังๆ ที่เอาความสามารถของเรา ไปโชว์ในศักยภาพให้เขาเห็น
แล้วก็มีรายการ The Masterpiece เวทีบันลือโลก ที่เพิ่งจบไป ก็ทำให้กับพี่มาดามมด ในทุกๆ รอบเลย ที่เป็นตัวเอก แล้วก็บอดี้เพ้นท์ให้กับพี่สน-ยุกต์ ส่งไพศาล รอบต้มยำกุ้ง แล้วก็รอบสุดท้ายของรอบชิง ที่เพ้นท์เป็นพญานาค
พอเขาเห็นศักยภาพเรา เราทำผลงานให้เขาประทับใจ มันก็จะมีงานต่อๆ มา นอกจากชุดประจำชาติก็จะมีจาก Work point มีศิลปินของGMM พี่หญิงลี ศรีจุมพล ทำชุดคาเฟอีน แล้วก็เพลงกุ้งแช่ล่าสุด อันนั้นก็สวยงาม”
[ชุดหน้ากากเทพฮอรัส ในรายการ the mask singer]
และผลงานล่าสุดที่สร้างชื่อเสียงในงาน Bangkok Pride 2023 ที่เหล่าเซเลบคนดัง แห่จองชุดของแบรนด์ อาร์ท-อัครัช เนรมิตศิลป์ ใส่เข้าร่วมขบวนในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจของเหล่า LGBTQIAN+
“งาน New collection คือลูกค้าส่วนใหญ่จะมาเช่าชุดไปงาน Pride เยอะ แล้วเราไม่ค่อยมี ก็เลยแบบว่า ลงทุนเปิดcollection เป็น6 ชุด เป็นคอนเซ็ปต์ Butterfly of Power เป็นผีเสื้อ คือผีเสื้อผมมองว่าเป็นสีสันของธรรมชาติที่มันสื่อถึง LGBTQ+ ด้วยนะครับผม
แล้วก็ความหลากหลาย มันก็คือความหลากหลายทางเพศนี่แหละ ก็เลยอยากให้ทุกคนสามารถที่จะมาเช่าชุดจากแบรนด์ชุดประจำชาติได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ชุดประจำชาติ เราก็ยังมีชุดที่สามารถใส่ไปออกงานกิจกรรมต่างๆ ได้ ที่มันเป็นการโปรโมตร้านไปด้วย”
มี “อาจารย์เฉลิมชัย” เป็นไอดอล
“ไอดอลของผมก็คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ชอบอาจารย์เพราะว่า ผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ที่มันไม่ใช่แค่วาดภาพเหมือนศิลปินคนอื่น มันมีวัดร่องขุ่นที่ทำให้เห็นว่า ท่านสามารถสร้างได้ แล้วคนทั่วโลกมาที่นี่ เพราะมาดูงานชิ้นนี้ เราอยากเป็นอย่างนั้น เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ทำอะไรสักอย่างนึง สักที่นึง แล้วให้คนเข้ามาที่เรา เพื่อมาชื่นชมผลงานสิ่งที่เราทำ เราอยากเป็นอย่างนั้น ก็เลยตั้งใจเรียนศิลปะ ต้องบอกก่อนเลยว่า คำว่าศิลปิน มันก็คือคนที่สร้างสรรค์งานศิลปะให้คนได้เสพ แล้วมีความรู้สึกว่า มันมีความสุข ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงก็ได้ หรือมีชื่อเสียงก็ได้ อยู่ที่ว่าทุกคนจะให้ความสำคัญอย่างไร สำหรับตัวผมแล้วมันก็คือศิลปินครับ เราสามารถบอกตัวเองได้ว่าเราคือศิลปินออกแบบชุดประจำชาติของประเทศไทยก็ว่าได้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่า มันเกินเป้าหมาย คำว่าเป้าหมายของเราคือ วาดภาพ แต่อันนี้คือเรามาวาดชุด บนตัวชุด มาครีเอทชุดให้กับนางงามได้ใส่บนเวทีระดับโลก ระดับประเทศ แล้วชุดมันไม่ได้เป็นแค่ชุดธรรมดา แต่ละชุดมันบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นไทย บอกเล่าเรื่องราวของงานศิลปะองค์ประกอบต่างๆ ถือว่าเป็นงานศิลปะอีก1 ชิ้นที่มันมีชีวิต ที่สามารถเคลื่อนไหวได้” |
เป้าหมายต่อไป เปิดพิพิธภัณฑ์ชุดประจำชาติ
“เป้าหมายสูงสุดในชีวิตนะครับผม ผมคิดว่างานศิลปะมันอายุที่ยืนยาวมากกว่าคนสร้างงานศิลปะอีก ก็คืออย่างที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว อันนี้จริงนะครับ ไม่ว่าตัวเรา อาจจะเติบโต ประสบความสำเร็จแล้ว สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกตินะครับผม แต่สิ่งที่มันยังคงอยู่ มันก็คือผลงาน คุณค่า แล้วก็ตัวศิลปะที่มันอยู่ แล้วเราคิดว่ามันจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่มีชีวิตแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า เรามีทุกวันนี้ได้ ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ก็เลยเห็นคุณค่า ก็เลยอยากที่จะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ให้คนอื่นได้เห็นว่า กว่าเราจะมีทุกวันนี้ได้ เราผ่านอะไรมาบ้าง ชุดทุกอย่างมันบอกเล่าเรื่องราวของคนสร้าง ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ และความตั้งมั่น ในการทำงานศิลปะอย่างแท้จริง อยากจะสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องใหญ่มากก็ได้ครับผม แต่อยากให้พอสำหรับชุดของเรา ก็เป็นความหมายสูงสุดเลย อยากมีห้อง หรือพิพิธภัณฑ์ใจกลางเมือง หรืออาจจะไปบ้านเกิดของตัวเองก็ได้ นำผลงานทุกชิ้น ตั้งแต่เราเริ่มแรกเลย มีสตอรี่ทั้งหมด แล้วก็เรียง แล้วก็มีประวัติความเป็นมาของชุด แล้วเราก็จะสร้างผลงานเรื่อยๆ ทุกปี อยากให้เป็นสถานที่ที่คน หรือเด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้ แต่มันอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่มันสามารเป็นไปได้ เพราะว่าเรายังไม่คิดเลยว่า อยู่ดีๆ เราจะมาเป็นแชมป์ชุดประจำชาติ มาเข้าวงการ ได้แชมป์มา5 ปี มันยังเป็นไปได้เลย ผมว่ายังไงก็เป็นไปได้ หรือมันอาจจะมีการเดินแฟชั่นโชว์ในชุดประจำชาติที่เป็นแบรนด์ Akarach ที่เกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ ถ้าในเส้นทางชุดประจำชาติ เราประสบความสำเร็จมากๆ เพราะเราได้ใช้คำว่า5 ปี และหลายเวทีด้วย สิ่งต่อไปที่ผมตั้งแพชชั่นไว้ นั่นก็คือ การเปิดสอนการออกแบบ แล้วก็ในเรื่อของการทำงานศิลปะต่างๆ ที่เราหาประสบการณ์ตรงนี้ เราอยากจะแบ่งปันความรู้ โดยอาจจะมีคอร์สพิเศษ หรือแบบว่าไพรเวทคอร์ส ให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ แต่จริงๆ มันก็เป็นรายได้พิเศษด้วย แล้วก็เป็นการทำให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของงานศิลปะด้วย” |
@livestyle.official ...ปังจนต่างชาติรุมต่อคิว... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #MissGrandThailand #ดีไซเนอร์ #ศิลปิน ♬ original sound - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : อินสตาแกรม “@artakarach_design”, แฟนเพจ“อาร์ทอัครัช เนรมิตศิลป์”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **