xs
xsm
sm
md
lg

“เซียนก่อคดี” สถิติชี้ นักโทษก่อเหตุซ้ำถึง 31% “ระบบคุกไทย” เป็นอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ต้องสงสัยเลย ทำไมมีข่าวอาชญากรรมไม่เว้นวัน ก็สถิติเผยแล้วว่า “ผู้กระทำผิด” ก่อเหตุซ้ำถึง 31% ส่งให้เกิดคำถามข้อใหญ่ “ระบบคุกไทย” มีปัญหาหรือเปล่า? นักอาชญาวิทยาฯ ชี้ อาจไม่ได้เรื้อรังแค่ “ราชทัณฑ์” อย่างเดียว

เรื้อรัง-ซ้ำซาก ไหนต้นตอปัญหาจริง?

จากสถิติของ กรมราชทัณฑ์ ปี 64 บอกว่า จากจำนวนนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว 195,927 คน พบว่าภายในเวลา 1 ปี มีคนทำความผิดซ้ำประมาณ 11% อาจดูไม่เยอะ เพราะเป็นการติดตามพฤติกรรมแค่ปีเดียว



{สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566}

แต่ในปี 62 พบว่าในระยะ 3 ปี มีผู้กระทำความผิดซ้ำถึง31%จากผู้พ้นโทษถึงหมด 160,497คน และคดีที่มีการกระทำผิดซ้ำมากที่สุดคือ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อยู่ที่ 66%




แม้เราจะเห็นหลายคนสามารถกลับตัวและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้ แต่คงยอมรับว่า การกระทำความผิดซ้ำซาก ยังมีให้เห็นกันตลอด แล้วต้นต่อของมันเกิดจากอะไรกันแน่?

ทีมข่าวจึงขอให้ “โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต มาช่วยวิเคราะห์ว่า ปัญหาที่เกิดมาจากระบบของกรมราชทัณฑ์เองด้วยหรือเปล่า?

จึงได้คำตอบว่า การทำความผิดซ้ำเกิดได้จากหลายปัจจัย และจริงๆ แล้วในกรมราชทัณฑ์ เองก็มีโปรแกรมฟื้นฟูและบำบัดผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีอยู่ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“เนื่องจากข้อจำกัดของ เจ้าหน้าที่กับจำนวนของผู้กระทำความผิดที่มีจำนวนมาก การที่จะให้นำโปรแกรมในแต่ละประเภทของคดีมาดูแลผู้กระทำความผิด ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร”



[ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ]
และประการต่อมา เวลาเขาพ้นโทษออกไปแล้ว เขาเกลายเป็นผู้ขาดโอกาสในการหางานทำที่ดี ขาดโอกาสจากการเริ่มการศึกษาต่อที่ดี คนในชุมชนไม่ยอมรับ เหล่านี้ก็มีโอกาสให้เขาหวนกลับมาทำความผิดอีก

ซึ่งสอดคล้องกับบทความ “จะแก้ปัญหาผู้ทำความผิดซ้ำ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ถูกคน” ของ นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษTIJ จาก “www.isranews.org” พูดถึงภาพรวมของการกระทำผิดซ้ำ มี 2 ปัจจัยหลักคือ ออกมาแล้วไม่มีงานทำ และการกลับไปอยู่สภาพแวดล้อมเดิม สังคมเดิม

“เขาถูกขัดเกลา ถูกทำลาย ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นเป็นเวลานาน เติบโตมาในสลัม โตมาในครอบครัวที่แตกแยก แล้วก็เข้ามาอยู่ในเรือนจำแค่ 2 – 3 ปี แล้วจะให้กลับออกไปก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิม เรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรเขาได้”


หรือที่ผ่านมา แก้ไม่ตรงจุด?

และจากบทความ “จะแก้ปัญหาผู้ทำความผิดซ้ำ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ถูกคน” บอกว่าที่ผ่านมาเราอาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะราชทัณฑ์เลือก อบรมเฉพาะผู้ต้องหา ที่ยังไงก็ไม่มีทางกลับไปทำผิดอีก

นัทธี จิตสว่าง กล่าวไว้ว่า “พูดง่าย ๆ คือเราอบรมผิดคน เราไปอบรมคนดีเพราะคนไม่ดีอบรมยาก การแก้ไขผู้กระทำความผิดของกรม จึงอบรมแต่คนดีๆ ทำให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ จริงๆ ไม่ต้องทำอะไรเขาก็กลับได้อยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ดีก็ไม่ทำอะไรกับเขา เพราะเขาก็ไม่อยากทำ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากอบรม เพราะอบรมแล้วไม่ค่อยเอาถ่าน ไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหามันอยู่ตรงนี้



และยังมีประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อ ดร.โต้ง บอกกับทีมข่าวว่า การปรับพฤติกรรมของผู้กระทำผิด ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะนอกจากจะมีข้อจำกัดเรื่อง งบประมาณ สัดส่วนเจ้าหน้าต่อผู้ต้องขังแล้ว ยังเรื่องพื้นเพผู้ต้องขังอีกด้วย

“การจะให้ผู้ต้องขังแต่ละคน มาปรับแก้ไข ฟื้นฟูพฤติกรรม โดยเฉพาะที่มีเบื่องหลังพื้นฐานที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้ไม่มี ประสิทธิภาพเท่าที่ควร”
แต่ไม่อยากให้มองที่ระบบของกรมราชทัณฑ์ เพียงอย่างเดียว การขาดมาตรการเฝ้าระวัง ดูแลและติดตาม หลังเขากลับไปสู่สังคมแล้ว ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

“ชุมชนเอง สาธารณสุข ก็ต้องมีส่วนร่วมในการบำบัด ฟื้นฟู โดยการติดตาม เพราะเวลาพ้นโทษไปแล้ว ราชทัณฑ์ก็จะหยุดทำหน้าที่ของเขาแล้ว ถูกไหมครับ”


ตอนนี้การดูแลและติดตาม ผู้พ้นโทษยังไม่มีการบูรณาการเรื่อง ฐานข้อมูล ผู้พ้นส่วนใหญ่เมื่อพ้นโทษแล้วมักจะไม่อยู่ชุมชนเดิม เพราะถูกสังคมตีตรา หางานยาก หรือไม่มีครอบครัวคนรู้จักเหลืออยู่แล้ว ทำให้การติดตามฟื้นฟู เฝ้าระวังทำไม่ดีพอ “มิตินี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมากเลยครับ”

“เท่าที่ทราบ หน่วยงานราชการ รวมทั้งชุมชนเองก็มีการพูดคุยกันมากขึ้น ใส่ใจในเรื่องพวกนี้กันมากขึ้น เพราะว่า ก็จะพบเหมือนที่เห็นตามข่าวว่า คนกระทำผิดซ้ำดูเหมือนถี่ขึ้น บางคดีมีความรุนแรงด้วยนะครับ”


ผู้เชี่ยวชาญอาชญาวิทยาฯ ยังบอกอีกว่า การเพิ่มโทษไม่สามารแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะทั่วโลกยอมรับแล้วว่า โทษที่รุนแรงไม่ได้หยุดยั้งการกระทำความผิด เช่น คดียาเสพติดโทษประหารชีวิต คดีฆ่าคนตายก็ประหารชีวิต แต่คนยังฆ่ากัน คนก็ยังลักรอบขายยาเสพติด

“อย่างที่เรียนไปว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกันหลายมิติ มีหลายภาคส่วนหลายหน่วยงาน อาจจะต้องมีการบูรณาการ การทำงานรวมกันมากขึ้น และก็ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เรายังขาดเจ้าภาพที่ชัดเจน เช่น เขาพ้นโทษออกไปกลับไปอยู่ชุมชน การแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม การส่งต่อในการดูแลติดตามเขาเนี่ยใครเป็นผู้รับผิดชอบ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น