น่าสงสัย แค่ 3 ปี จาก “สิบโท” โผล่อีกที่เป็น “ร้อยตำรวจเอก” หรือเพราะ “กอส.” หลักสูตร “ลูกไฮโซ”ยศถึงเพิ่มไว!? ถ้าไม่ได้อบรม ยศจะได้เท่านี้หรือเปล่า? และนี่คือคำตอบจากหนึ่งในคนวงในที่ยืนยันว่า ระบบเหล่านี้มีอยู่จริง “ปฏิเสธไม่ได้เลย”
พิเศษแค่ไหน? หลักสูตรก้าวกระโดด
เป็นที่ตั้งคำถาม เมื่อ “แคท” ร.ต.อ.หญิง อาทิตยา ตรีบุดารักษ์ อดีตนักร้องและนางงาม โพสต์เกี่ยวกับหน้าที่การงานที่ก้าวกระโดดของตัวเอง จาก “สิบตำรวจโท(ส.ต.ต.)” โดดมาเป็น “ว่าที่ร้อยตำรวจเอก” ภายในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น!!
ย้อนกลับไปดูเส้นทางก้าวเติบโตแบบพุ่งพรวดของเธอ แคทจบปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอกจาก คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เข้ารับราชกาลตำรวจเมื่อปี 63 โดยติดยศ “ชั้นประทวน (ยศดาบตำรวจลงมา)” ส.ต.ต.หญิง ตำแหน่ง ผบ.หมู่
และปี 64 เธอได้อบรมหลักสูตร “กอส.รุ่นที่ 47” และได้รับการแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร(ยศร้อยตำรวจตรี ขึ้นไปป) กระทั่งปี 66 นี้ เธอก็คว้ายศ “ว่าที่ร้อยตำรวจเอก” มาประดับบ่าได้สำเร็จ
หลายคนจึงสงสัยว่า การเลื่อนยศแบบติดจรวด จาก “ชั้นประทวน” โดดไปเป็น “นายตำรวจสัญญาบัตร” ในเวลาแค่นี้ อาจเป็นเพราะการเข้าอบรมหลักสูตร “กอส.” หรือเปล่า? เพราะเจ้าหน้าที่สีกากีหลายๆ คน แม้ใช้เวลาเป็น 10 ปีก็ยังสอบเป็นนายตำรวจไม่ได้เลย
โดย “หลักสูตร กอส.” ที่พูดถึงนั้น ย่อมาจาก “การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” เกิดขึ้นเมื่อปี 58 สมัย “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีการเปิดอบรมกันทุกปี
คุณสมบัติของคนที่จะอบรมหลักสูตรนี้ได้คือ สอบได้, พ่อแม่เป็นตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่, ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ เช่น นักกีฬาทีมชาติ, หรือ “ขาดแคลนบุคลากรด้านนั้นๆ เช่น งานเฉพาะทาง”
เมื่อขอให้ “โต้ง” รศ.พ.ต.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วยวิเคราะห์ว่า หลักสูตรนี้คืออะไร ดร.โต้งก็อธิบายว่า คือหลักสูตรที่ต้องการบรรจุพลเรือน หรือตำรวจ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร
“เพียงแต่ว่าต้องผ่านระบบการอบรม ประมาณ 4 เดือน ซึ่งแตกต่างจากการเข้าเรียนนายร้อยที่ต้องเข้าเรียนเตรียมทหาร 2 ปี และต่อด้วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก 4 ปี เป็น 6 ปี”
วัตถุประสงค์หลักของ กอส. คือต้องการบรรจุญาติของตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่, คนที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศ อย่างพวกนักกีฬา จะขอมีการเสนอชื่อบรรจุได้ หรือเป็นคนที่มีวุฒิที่ตำรวจต้องการและขาดแคลน
แจงการเลื่อนยศแบบนี้ รับผิดชอบให้ดีแล้วกัน
ดร.โต้ง ชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจ ถึงการเลื่อนยศอย่างรวดเร็วอย่างเคสล่าสุด ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาอธิบายว่า เป็นการเลื่อนยศตามหลักเกณฑ์
“ทางสำนักตำรวจแห่งชาติท่านก็ออกมาบอกเองว่า มีระเบียบตรงนี้อยู่ ก็คงใช่นะครับ เพราะแจงรายละเอียดมาว่า ถ้าจบปริญญาโท จากร้อยตรี ไปร้อยโทกี่ปี จากร้อยโท ไปร้อยเอกอีกปี”
ประเด็นคือ ถ้าคนที่จบปริญญาโทเหมือนกัน “แต่ไม่ได้เข้าอบรม กอส.” เขาจะได้รับรับการพิจารณาเลื่อนยศเร็วแบบนี้ด้วยหรือเปล่า “พูดง่ายๆ คือก็ต้องไม่เป็น 2 มาตรฐาน ถูกไหมครับ”
“คนที่เป็นตำรวจชั้นประทวน จบปริญญาโทแล้ว บางคนจบปริญญาเอกด้วย จบ ดร.เนี่ย จะบรรจุเป็นนายตำรวจ(ตำรวจชั้นสัญญาบัตร) เขามีไหมเส้นทางแบบนี้?”
และยังมีเสียงบ่นน้อยต่ำใจ จากตำรวจชั้นผู้น้อย ที่เขาทำงานหนัก แต่กลับไม่ได้ถูกพิจารณาเลื่อนยศ สิ่งนี้มันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของเขาด้วย
“อย่างกรณี เป็นตำรวจชั้นประทวนมาก่อน ทำไมสอบได้เร็ว บางคนสอบตั้งเป็น 10 ปี ยังไม่ได้เป็นนายตำรวจเลยครับ ลูกน้องเก่าผมก็มีนะ สอบเป็น10 ปียังไม่ได้เลยครับ เกือบ 20ปี กว่าจะสอบติดนายร้อยได้”
อาจารย์อาชญาวิทยาฯ ได้อธิบายวิธีเลื่อนขั้น จากตำรวจชั้นประทวนไปเป็นชั้นสัญญาบัตรมีอยู่ 2 ทางคือ หนทางแรก “การสอบภายใน” สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นคนประกาศ ซึ่งมีการแข่งขันที่สูงมาก
และหนทางที่ 2 คือ “กอส.เป็นผู้ประกาศ” ว่าตอนนี้ต้องการวุฒิอะไร บุคลากรด้านไหนขาดแคลน แล้วเปิดคัดเลือกบุคคลกลุ่มนั้นมาบรรจุเป็นนายตำรวจ
“หลักสูตรนี้ต้องมาดูก่อนว่า ความจำเป็นนะมีไหม อย่างเคสนี้บอกว่าวุฒิขาดแคลน จบมาแล้วมาทำหน้าที่อะไร ถูกไหมครับ ตรงกับสายงานที่ทำไหม”
ข้ออ้าง “หลักสูตรลูกไฮโซ”?
คำว่า “ขาดแคลนบุคลากรด้านนั้นๆ” ในคุณสมบัติผู้มีสิทธิอบรม กอส. มันเป็นช่องโหว่หรือเปล่า? จนทำให้หลายคนบอกว่า นี่อาจเป็นเพียงข้ออ้างของ “หลักสูตรลูกไฮโซ”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.โต้ง ตอบข้อสงสัยไว้ว่า “จริง” โดยวัดจากประสบการณ์ที่เคยสอนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แล้วก็มีลูกศิษย์ตัวเองหลายรุ่นที่ไปสอบหลักสูตรนี้
“ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงครับ ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะสื่อก็นำเสนออยู่ว่า มีคนนามสกุลดังๆ ก็หลายคน เพราะฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า เป็นเรื่องของระบบเส้นสายที่มีการเข้ามา”
อาจารย์ยังเล่าอีกว่า บางคนมีการบรรจุบอกว่า วุฒิขาดแคลน จบปริญญาโทจากต่างประเทศ ไม่ได้มาอบรมด้วยซ้ำ แต่ก็ได้รับการติดยศเป็นนายตำรวจ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
“การคัดเลือกของตำรวจเองเนี่ย ในต่างประเทศทั่วโลกมาตรฐานสากล เขาจะโปร่งใส เสมอภาคและเป็นธรรมนะครับ
แต่อย่างว่าอันนี้คือประเทศไทย เราก็ต้องระบบที่แบบว่าเป็นช่องทางที่ พิเศษๆ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สังคม การยอมรับของสังคมนั้นๆ ด้วยครับ”
ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ “หลักสูตร” แต่เป็น “ระบบ” ที่เอื้อให้เกิดเรื่องเส้นสาย ไม่ใช่ระบบของตำรวจเท่านั้น แต่เป็นระบบของสังคมไทยด้วย จากที่เห็นมีคนนานสนุกดังๆ มาเรียนไม่ว่าจะเป็นลูกนายตำรวจ ลูกนักธุรกิจ ลูกคนมีชื่อเสียง
แต่ก็ยังเหลือแง่มุมดีๆ จากหลักสูตรนี้อยู่บ้างตรงที่ว่า อนุญาตให้ลูกของราชการตำรวจที่ตายในหน้าที่ ได้มีโอกาสได้เข้ามารับราชการตำรวจ
“แต่ปรากฏว่ามันกลายช่องทาง คนก็ไปหาช่องทางในการเข้ามา ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่โปรงใส”
การคัดเลือกคนมาเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน หรือย้ายมาจากหน่วยราชกาลอื่น ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องปรับระบบให้มีความโปร่งใส เที่ยงธรรมและชัดเจนมากขึ้น
“ระบบการคัดเลือกที่โปรงใส่และเป็นธรรม เป็นส่วนหนี่งของการปฏิรูปตำรวจ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “บอสแคท อาทิติยา (Cat Organizer)”, ละครเรื่อง "สารวัตรใหญ่", “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ”, “นักรบตาปีศาจ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **