เปิดใจ “จิมมี่ - พิฆเนศ” คิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย เจ้าของไวรัล “หมุนสโลว์โมเทิร์น” ในซีเกมส์ 2023 กับเส้นทางการเป็นนักสู้บนจุดยืนของการเป็น LGBTQ+ ทั้งในชีวิตจริงและนอกสังเวียน “แค่มีรสนิยมต่างจากคนอื่น แต่ก็คือคนนึงในโลกใบนี้”
สโลว์โมเทิร์น สะเทือนซีเกมส์
“ตอนนั้นพอเขาบอกว่าหนูชนะ หนูก็ดีใจของหนูปกติ แล้วก็หมุนสโลว์โมเทิร์น มันเป็นความเคยชินที่เราเล่นอยู่แล้วค่ะ มันไม่ได้วางแผน มันไม่ใช่เป็น(สโลว์โมเทิร์น)ครั้งแรกของหนู ครั้งแรกคือที่ชิงแชมป์เอเชีย หนูทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ถ้าเป็นชีวิตประจำวันหนูดูนางงามเหมือนกับ LGBTQ+ ทั่วไป พอเราดีใจมันเป็นอัตโนมัติของร่างกาย ณ โมเมนต์นั้น เราหมุนไปเอง
ส่วนมากจะมีคนมาชื่นชม มาให้กำลังใจมากกว่า กระแสไปในทางที่ positive หมด มีแต่ด้านดี ด้านส่งเสริมให้หนูสู้ต่อไป มันดีมากๆ เลยค่ะ มันน้อยมากที่จะมีพลังงานลบ หนูไม่ค่อยเห็น ก็รู้สึกมันอบอุ่นในใจ มันชื่นใจ
เราเป็นแบบนี้ เขาก็เปิดกว้างเรามากขึ้น เขารู้สึกเอ็นดูเรามากขึ้น เรารู้สึกดีใจจนพูดไม่ออกค่ะ ความรู้สึกมันอิ่มข้างใน มันมีแรงที่จะสู้ต่อ เรามีเป้าหมายแล้ว เรามาถูกทางแล้ว (ยิ้ม) สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่น แต่มันยิ่งทำให้คนอื่นมีความสุขไปกับเราด้วยค่ะ”
[ ไวรัลท่าหมุนตัวสโลวโมเทิร์น หลังประกาศชัยชนะ ]
เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เจ้าของลีลาการหมุนตัวแบบสโลว์โมเทิร์นด้วยจริตนางงาม พร้อมถอนสายบัวและสวมกอดคู่ต่อสู้จากเวียดนาม ก่อนที่จะไหว้ โบกมือ และส่งจูบให้กับผู้ชมข้างสนาม จากคลิปไวรัลหลังจบการแข่งขันคิกบ็อกซิ่ง ประเภทชาย ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2023 เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา
เรากำลังพูดถึง “จิมมี่ - พิฆเนศ สุขหยิก” นักกีฬาคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย วัย 23 ปี
ด้วยความน่ารักสดใส และการแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างเต็มที่ว่าเป็น LGBTQ+ ทำให้ชื่อของ จิมมี่ กลายเป็นประเด็นพูดถึงอย่างล้มหลามบนโลกโซเชียลฯ ของบ้านเราในช่วงนี้
ทีมข่าว MGR Live ได้มีโอกาสคว้าตัวนักกีฬาสุดฮอตคนนี้ มาพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต พร้อมเจาะลึกตัวตน ที่กว่าจะมีวันนี้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บอกเลยว่า เขาคือนักสู้ทั้งในชีวิตจริงและนอกสนาม คนหนึ่งก็ว่าได้
ย้อนถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จิมมี่จะได้รับชัยชนะใน match นั้น แต่ดรามาร้อนๆ ก็ตามมาทันที เพราะสหพันธ์กีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งเอเชียดูจะ “ไม่พอใจ” ถึงขั้นจะตัดสิทธิการแข่งขันใน match ต่อไปของเขา
ทำให้ทางผู้ใหญ่ในสมาคมฯฝั่งไทย บินด่วนไปยังกัมพูชาเพื่อเคลียร์ปัญหา สุดท้ายก็จบลงที่ว่าเขาสามารถแข่งขันต่อได้ แต่ต้องเซ็นเอกสารยืนยันว่า จะไม่แสดงความเป็นตัวเองบนเวทีอีก
“เขามาบอกว่าถ้ามีครั้งต่อไป เขาจะตัดสิทธิหนูเลย หนูก็เลยขอโทษเขาไปเรียบร้อยแล้ว เขาก็ได้มาคุยกับเราว่าเป็นยังไง สิ่งที่เราทำมันไม่โอเคนะ แล้วก็ทางฝั่งตรงข้ามเขามีการประท้วงเรา แต่เพื่อนหนูก็บอกว่าไม่ได้มีการประท้วงอะไร
เรารู้สึกเสียใจที่เราคิดว่าการขอโทษของเรามันจบแล้วเราจะได้แข่งต่อ แต่ว่ามันกลับกัน มันมีการที่จะตัดสิทธิหนูในmatch นั้นเลย หนูเพิ่งมารู้ว่าเขาจะไม่ให้แข่ง ก่อนจะแข่งขันในวันต่อไปประมาณ 2 ชั่วโมง หนูเพิ่งมาเซ็นอีก 1 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่า effect กรรมการจะเป็นยังไงถ้าเราแข่งไป มีมุมที่คิดเยอะ
ฝั่งไทยก็คือซัพพอร์ต มันมีปัญหาตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตี 4 ก่อนที่จะมีการแข่งขัน ทางสมาคมฯเราก็ทำงานกันหนัก แก้ปัญหาว่าทำไม มันเป็นเพราะอะไร ก็คุยกันไม่จบ
ตอนเช้าทางสมาคมฯ และทางอุปนายก คุณทิรา (ทิรา บุญาณี กิตติกรณ์) คุณหญิงสุปราณี (สุปราณี คุปตาสา) เดินทางไปเคลียร์ปัญหาให้ถึงที่กัมพูชาเลยค่ะ ส่วนทางโค้ช สต๊าฟโค้ช แล้วก็เพื่อนๆ ในทีมก็ประชุมกันว่า ถ้าวันนั้นหนูไม่ได้แข่งขัน ทุกคนก็ถอนทีมหมดเลย ทุกคนก็ไม่แข่ง”
ด้วยเลือดนักสู้ในตัว จิมมี่ปล่อยความสามารถอย่างเต็มที่ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่จะพ่ายให้กับนักกีฬาจากอินโดนีเซีย และจบที่การได้เหรียญทองแดงติดมือกลับมา
“พยายามจะจัดการความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเช้า คิดว่าถ้าตอนนี้เราเป็นโค้ชให้กับนักกีฬาที่มีปัญหาแบบนี้ เราจะให้พลังงานบวกยังไง พยายามบอกตัวเองแต่มันก็ยังติดอยู่ ก่อนจะชกหนูก็คุยกับโค้ชว่า หนูคิดมากในเรื่องของกรรมการ หนูจะต้องทำยังไงถ้าสมมติกรรมการไม่สะอาด โค้ชก็พยายามบอกว่า โฟกัสแค่เทคนิคเกมที่เราวางไว้ สิ่งที่เราซ้อมกันมาแค่นั้น
คุยกับโค้ช โค้ชก็ช่วยได้ ก็เลยโอเคช่างมัน แพ้-ชนะ มันเป็นเกมกีฬา ทำให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราทำได้ โชว์ performance ให้เขาเห็นว่าเรามีดีอะไร แล้วหนูก็ทำเต็มที่ของหนู ในสิ่งที่เราทำที่มันเป็นตัวของตัวเรา ที่เขาไม่ได้มองถึงศักยภาพเรา มันแค่เสียใจ แต่ไม่เสียดาย”
จิมมี่เสริมต่อถึงประเด็นการแสดงตัวตนในสนาม ในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง เขามองว่า หากกฎระเบียบของกีฬาระบุไว้ว่าห้ามดีใจในลักษณะที่เป็นตัวของตัวเอง ก็ไม่ต่างอะไรกับการกีดกัน LGBTQ+
“ที่เราทำเพราะเรารู้ว่ามันไม่มีกฎข้อนี้ มันไม่ได้มีในกฎว่าห้ามแสดงอาการดีใจในลักษณะที่เป็นตุ้งติ้ง หรือกำลังโชว์ว่าฉันเป็น LGBTQ+ มันไม่ได้มีเขียนในกฎ ซึ่งหนูก็ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎใดๆ หนูก็เลยทำมันไปแค่นั้นเลยค่ะ
ในฐานะที่หนูเป็น LGBTQ+ การแสดงออกหรือการแสดงท่าทางดีใจในลักษณะที่เราเป็นตัวของตัวเรา หนูมองว่าถ้าเป็นคนอื่นๆ ที่เป็นกีฬาอื่น ถ้ามันไม่ได้ผิดกฎของกีฬานั้นๆ ไม่ได้อะไรต่อการแข่งขัน ถ้าคุณอยากจะทำ ถ้ามันเป็นความสุข มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจในการแข่งขันและสามารถที่จะชนะได้ ทำไปเลยค่ะ
ถ้าเป็นนักฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ที่ผู้ชายเขาเล่นกัน เขาจะมีการดีใจในลักษณะที่กระโดดตีลังกาบ้างอะไรบ้าง แต่เราแค่ดีใจในลักษณะของการหมุนเป็นนางงาม หนูมองว่ามันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราไม่ได้ไปเยาะเย้ยคู่ต่อสู้ เราไม่ได้ดีใจในระหว่างต่อสู้หรือกำลังทำการแข่งขันอยู่ เราดีใจในโมเมนต์ที่เราชนะหรือแพ้แล้ว ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในเวลาของการแข่งขัน
แต่ก็ต้องดูกฎ ดูระเบียบของกีฬานั้นๆ ด้วยว่ามันห้ามมั้ย แต่ถ้าห้าม หนูก็มองว่ามันเหมือนกับการลดทอนสิทธิ กีดกัน LGBTQ+ หรือเปล่า หนูมองว่ามันเป็นการกีดกันนะ ถ้าจะไม่ให้เราดีใจในลักษณะที่เราเป็นตัวของตัวเราเองค่ะ”
นักสู้พรแสวง
ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายนักกีฬา จิมมี่ เริ่มจากการเป็นนักกีฬาคาราเต้มาก่อน ด้วยหวังว่าการเล่นกีฬาจะเป็นใบเบิกทางให้เขาได้เจอโลกกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่
“จุดเริ่มต้นก็น่าจะมาจากลูกพี่ลูกน้องไปเรียนโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชก่อน แล้วก็มีกีฬาประเภทคาราเต้โด ซึ่งพฤติกรรมหลายๆ อย่างเขามันดีขึ้นมาก ในสังคมชนบทบ้านหนูค่อนข้างไกลจากตัวเมือง 60-70 กิโล ส่วนมากเด็กก็จะไม่ค่อยเรียนต่อ จบ ม.3 ก็เลือกที่จะไปทำงาน ทำสวน กรีดยาง ทำทุเรียน แล้วก็จะได้ภรรยาก่อนวัยอันควร แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคน
หนูเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่จะเป็นกรีฑา เป็นวิ่ง เป็นวอลเลย์บอล เป็นตะกร้อ เปตอง ที่จะมีการแข่งขันกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนอำเภอ หนูก็ลงเล่นแต่ว่าไม่เคยไปถึงระดับจังหวัด มันเป็นเหมือนกับท้าทายเรา
เหมือนกับว่า 2 ปีก่อนที่หนูจะขึ้นมัธยม เขาได้ปิด(วอลเลย์บอล)ไป มันก็มีกีฬาอื่น หนูก็อยากจะเล่นตะกร้อ แต่กว่าจะผ่านการทดสอบมันต้องเดาะได้ประมาณ 100-200 ที หนูได้แค่ 6 ครั้ง พยายามสู้ หนูก็ซ้อมทุกวัน มากสุดหนูได้แค่ 12 ที (หัวเราะ) พอถึงวันที่จะต้องเลือก แม่ก็บอกว่าน่าจะไม่ผ่าน เราก็โอเค งั้นตัดสินใจลงกีฬาคาราเต้ก็ได้
คุณครูในโรงเรียนหลายๆ คน เขาก็ไม่คิดว่าเราจะไปเข้าโรงเรียนกีฬาฯ เพราะว่าการที่จะคัดตัว จะมีมาตรฐานค่อนข้างสูง ทุกคนเขารู้ว่าเราเป็น LGBTQ+ ซึ่งมันค่อนข้างที่จะยากอยู่ แต่เราทำมันได้ ทุกคนก็ตกใจ ทุกคนก็ว้าว
เราก็รู้ตัวเองแล้วว่าเราเป็น LGBTQ+ เราก็อยากจะไปให้ไกลกว่าสังคมที่บ้าน ได้ไปเปิดโลกกว้างๆ ว่าข้างนอกมันมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะแยะมากมายหรือเปล่า มันเหมือนเป็นโอกาส แม่ก็อยากจะส่งเราไปตรงนั้นด้วย หนูก็ได้ตามเข้าไป แล้วก็ได้เริ่มเรียนคาราเต้เป็นครั้งแรก ในอายุประมาณ 13 ปีค่ะ”
จิมมี่เล่าต่อว่า กว่าจะได้ชัยชนะ ต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อมอย่างหนัก พรสวรรค์ไม่มี อาศัยพรแสวงล้วนๆ
“ตอนนั้นมันมี 2 ช้อยส์ให้เราเลือก มันมี 2 ประเภทการแข่งขันคือท่ารำและต่อสู้ เราก็อยากเล่นประเภทของท่ารำ แต่ด้วยสรีระตอนเด็กเราก็ผอมสูง ผอมโปร่ง มันก็เหมาะกับการต่อสู้มากกว่า ก็เลยจับพลัดจับผลู ซ้อมไปซ้อมมา เราก็เริ่มชอบ มันไม่ได้เจ็บอย่างที่เราคิด ก็ติดใจและได้เล่นกีฬาต่อสู้มาตั้งแต่ตอนนั้นจนจบ ม.6 เลยค่ะ
ไม่คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์เลย หนูว่าพรแสวงน่าจะเยอะกว่า เพราะว่ากว่าหนูจะได้เหรียญครั้งแรกก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปีเลย หนูพยายามจะไม่เปรียบเทียบ แต่ถ้าพูดถึงเพื่อนๆ ของหนูแข่ง match แรกเขาก็ได้เหรียญกันแล้ว บางคนผ่านไป 2-3 match เขาก็คว้าเหรียญทองได้
แต่หนูมันเหมือนจะเป็นขั้นบันไดกว่าจะเดินทางไปถึงเหรียญทอง ก็คือเหรียญทองแดง แล้วก็ได้เหรียญเงิน แล้วก็มาแพ้ได้เหรียญทองแดงอีก แล้วก็เป็นเหรียญเงินอีก ประมาณ 3 ปีถึงจะได้เป็นเหรียญทอง
ช่วง ม.1 หนูก็ชนะแค่ภาค แต่ในระดับประเทศ หนูไม่ชนะใครเลย หนูไม่ได้เหรียญประมาณ 2 ปี ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เพิ่งมาได้ตอนปีที่ 2 ซึ่งก็มาได้เป็นต่อสู้ทีมด้วย ไม่ได้เป็นประเภทเดี่ยว
ผลงานที่ดีที่สุดในระดับประเทศ ก็เป็นการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่ได้เหรียญทองครั้งแรกค่ะ ที่สุพรรณบุรีเกมส์ ผลงานที่ดีที่สุดของตัวแทนทีมชาติไทย ก็จะเป็นการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย หนูได้อันดับที่ 3 แล้วก็ได้ติด ranking อันดับ 10 ของโลกค่ะ อายุประมาณ 16 ตอนนั้นหนูอยู่ ม.4”
ความสำเร็จของเพื่อนรอบข้าง คล้ายจะมาเป็นจุดที่ทำให้จิมมี่กดดันตัวเอง และท้อจนเกือบถอดใจจะไม่เดินในเส้นทางสายนักกีฬาแล้ว แต่ผู้ฝึกสอนในตอนนั้น ก็ยังเชื่อมั่นว่าตัวเขาต้องไปได้ไกลกว่านี้แน่
“หนูก็ท้อนะ มันน่าจะไม่ใช่ทางของเรา ตอนนั้นก็คิดที่จะไม่เล่นกีฬาต่อแล้ว อยากจะไปสายอาชีพ แต่ว่าโค้ชที่สอนหนู โค้ชยุทธนา ศรีประพันธ์ เขาเหมือนเห็นอะไรในตัวหนูซักอย่างนึง เขาก็พยายามฝืนเราให้เราอยู่ต่อ เขาก็พูดกับเราว่า ขอเวลาอีกปีนึง เขาจะทำให้หนูติดทีมชาติให้ได้ แล้วหนูก็ติดจริงๆ ใน ม.3 เทอม 2
ก่อนหน้านั้นที่เพื่อนเขาได้เหรียญกัน หนูก็ดีใจกับเพื่อนนะคะ แต่เราก็มาย้อนดูตัวเองว่า เป็นเพราะเราเป็น LGBTQ+ เหรอ หรือว่าเราไม่เก่งตรงไหน เราเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่นเหรอ ก็พยายามกลับมามองตัวเองว่าเรามีจุดที่จะต้องแก้ไขอะไร
โค้ชหนูจะมี 2 ช่วง คือช่วงที่เขาออกจากโรงเรียนกีฬาไปทำภารกิจของตัวเอง หนูก็ได้ย้ายจากกีฬาคาราเต้ไปเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ซึ่งพอเขากลับมา หนูก็ย้ายกลับมาเล่นกีฬาคาราเต้ ซึ่งหนูว่าจุดนี้มันเป็นจุดที่เสริมให้หนูมีความเร็วที่มากขึ้น มีความแข็งแรงในการออกหมัดที่รวดเร็วแล้วก็ strong มากขึ้น
มาบวกกับเทคนิคความคล่องตัว และรูปแบบการเล่นที่มันดีขึ้นตามวัยที่เราเติบโต หนูก็เริ่มมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น มีรูปแบบเกมที่หลากหลายขึ้น เขาจะเห็นว่ายังไปต่อได้อีก เวลาแค่ประมาณเทอมนึง เขาเห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงเยอะมากๆ จากที่เราไปเป็นนักกีฬามวยสากลมา แล้วพอย้ายกลับมาเป็นนักกีฬาคาราเต้ มันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ
เขาก็เลยน่าจะมองเห็นอะไรซักอย่าง แล้วเขาก็เลยยื้อทุกอย่าง ด่าก็แล้ว พูดดีก็แล้ว ทำโทษก็แล้ว ทำทุกวิถีทาง ตอนนั้นหนูก็อยากจะออกอย่างเดียว แต่พอถึงวันสุดท้ายหนูก็ไม่ออก หนูเชื่อใจ หนูก็ยังคิดว่าหนูยังอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติอยู่”
และอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของจิมมี่ ก็คือ คุณแม่ ที่คอยให้กำลังใจและผลักดันอยู่เบื้องหลังเสมอ
“หนูไม่เคยร้องไห้กับการแข่งขันเลย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร มันเจ็บอยู่ด้านในแต่ว่าน้ำตามันไม่ออก แพ้มาเราเสียใจแต่เราไม่ร้องไห้ เราแค่มาโทษตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร ก็ยังงงเหมือนกันว่าทำไมตัวเองไม่ร้องไห้ ทั้งๆ ที่คนอื่นร้องไห้
บางทีเคยเค้นตัวเองให้ร้องไห้มันก็ไม่ออก มันจุกอยู่ด้านในค่ะ มันเสียใจขนาดที่ว่ามันเจ็บอยู่ข้างในแต่น้ำตามันไม่ออก มันทรมาน หนูพูดเป็นคำพูดไม่ถูก มันเจ็บอยู่คนเดียวแต่คนอื่นเขาไม่สามารถรับรู้ได้ แต่ถ้าเราร้องไห้ออกมา คนอื่นเขาจะรับรู้ได้ว่าเราเสียใจ สำหรับหนูเวลาหนูเสียใจแล้วมันเจ็บแบบนี้ หนูรู้สึกว่ามันทรมานมาก
แต่ถ้าคุยกับแม่หรือว่าเรื่องแม่จะ sensitive มากๆ แม่จะบอกว่าให้สู้ต่อไปในสิ่งที่เราทำอยู่แค่ทำต่อเนื่อง วันนี้มันอาจจะไม่ใช่เส้นชัยของเรา เส้นชัยของเราอาจจะอยู่ไกลกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีเส้นชัย แม่ก็จะพยายามให้กำลังใจ อาจจะเหนื่อยแต่ต้องทำต่อไป เส้นชัยมันรอเราอยู่ข้างหน้า วันที่เราไปถึงแล้วเราจะเจอมันเองว่าเส้นชัยมันอยู่ตรงไหน
ก็มีท้อเยอะเลยช่วงนั้น คุยกับแม่ ร้องไห้ ทำไมไม่ชนะใครเลย ทำไมไปแข่งแล้วผลเป็นแบบเดิมๆ ซ้ำๆ หรือว่ามันไม่ใช่ทางของเราจริงๆ แม่ก็บอกว่าลองสู้นิดนึง ลองสู้ก่อน โค้ชก็บอกให้สู้อีกๆๆ น่าจะเป็นผลของการสู้ แล้วก็แสวงหาสิ่งที่เราจะต้องได้มัน ตอนนั้นมันเป็นจุดสูงสุดของนักกีฬาเยาวชน ก็คือได้คว้าเหรียญทองของเยาวชนแห่งชาติค่ะ”
เพราะชีวิตคือการ Challenge
หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม จากโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางการเป็นนักกีฬาทีมชาติของจิมมี่ก็ดูจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“ตอน ม.6 ตอนที่มีการคัดกีฬาทีมชาติ เพื่อที่จะมีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย หนูเป็นคนเดียวที่ยังไม่ได้จบการศึกษา ติดรายชื่อเป็นนักกีฬาเอเชียนเกมส์ชุดสำรอง แล้วก็ได้มาอยู่ในแวดวงของทีมชาติ มันก็ไม่ใช่ง่ายๆ ที่เราจะติดเอเชียนเกมส์ได้ หนูก็เริ่มมีความมั่นใจในตัวเอง เราน่าจะมีของ
เหมือนเราเดินทางกลับไปบ้าน เราก็มองดูป้าย แล้วก็พูดกับตัวเองว่า ถ้ารูปฉันอยู่ตรงนั้นมันน่าจะดีนะ คงจะรู้สึกดีมากๆ ตอนนั้นหนูเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่บางคนก็ไม่รู้ว่าหนูเป็นนักกีฬา ซึ่งถ้าสมมติว่าเราประสบความสำเร็จในระดับที่เรามีผลงานด้วย แล้วเราเป็นที่รู้จักด้วย หนูคิดว่ามันสุดยอดมากๆ”
ด้วยความที่ตัวเขาเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และอยากท้าทายตัวเองอยู่เสมอ ทำให้จากเดิมที่เป็นนักกีฬาคาราเต้ต่อสู้ ก็ได้มีโอกาสก้าวสู่วงการคาราเต้ร่ายรำ
“หลังจากที่หนูเป็นนักกีฬาต่อสู้ที่ขึ้นมาชุดสำรองของเอเชียนเกมส์ หนูก็ได้เห็น reference ของ พี่น้ำผึ้ง - มนสิชา สกุลรัตนธารา ที่เขาเป็นนักกีฬาร่ายรำ ก็เลยอยากจะ challenge ตัวเองอีกเพื่อที่จะเป็นนักกีฬาประเภทร่ายรำคนแรกของประเทศไทย ที่ไปคว้าเหรียญมหกรรมใหญ่ๆ อย่างเช่น ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์
หนูก็เริ่มมี passion เลยเริ่มมาคุยกับทางพี่น้ำผึ้งว่าจะต้องทำยังไงที่หนูจะเดินทางสายประเภทร่ายรำ ที่จะประสบความสำเร็จแบบพี่เขา เขาก็แนะนำว่าเราต้องลองมาฝึกกับ โค้ชพี่ปุ้ย - ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา แกก็เป็น the best ที่สุดของประเทศผลงานในอดีตที่แกทำไว้มีเยอะที่สุด
เราก็มั่นใจในฝีมือว่าเขาสามารถถ่ายทอดเทคนิคให้เราได้ทุกๆ อย่างเพื่อที่จะคว้าชัยชนะ ก็ได้ไปคุยว่าหนูอยากเล่น เขาบอกว่าอยากเล่นเพราะซ้อมต่อสู้เหนื่อยหรือเปล่า หนูก็บอกว่าหนูมี passion แบบนี้ๆ หนูอยากจะเป็นนักกีฬาท่ารำผู้ชายคนแรก เพราะผู้ชายมันยาก แล้วก็อยากมีป้ายติด แกก็รับหนูเป็นนักกีฬาของแก”
การก้าวมาเป็นนักกีฬาคาราเต้ร่ายรำของจิมมี่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ทำได้ แต่ต้องทำให้ได้ดีและเป็นยอมรับอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งผลงานที่ทำให้ดีที่สุดของเขาคือการคว้าเหรียญเงินให้กับทีมชาติไทยมาได้
“หนูต้องชนะแชมป์เก่าในประเภทท่ารำก่อน หนูก็ตั้งใจฝึกซ้อมแล้วก็เป็นแชมป์ประเทศ แล้วก็ได้ติดทีมชาติในไม่น่าจะถึงปี เพราะด้วยความที่เราตั้งใจมากๆ เพื่อที่จะขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างไม่ค้านสายตาว่าเป็นเด็กเส้นหรือเปล่า หนูก็พยายามพิสูจน์ตัวเองจะต้องเป็น Number One ในประเทศให้ได้ แล้วเราก็ทำได้
พอมาติดทีมชาติ มันมีการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์อาเซียน หนูก็ได้คว้าเหรียญทองแดงครั้งแรกมา รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ตามเป้าที่เราตั้งไว้ แต่ว่าเราก็พยายามมองหาข้อดี คือเราเพิ่งมาเล่นได้ไม่ถึงปี แต่เราสามารถชนะคนที่เล่นมาประมาณ 6-7 ปี เราก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ เป็นก้าวที่ดีของเรา เราก็ continue ต่อ ซ้อมอย่างหนักต่อเพื่อแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่อไป
จนมาได้ 1 เหรียญเงินในซีเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม เป็นเหรียญที่ใหญ่ที่สุด(ของตนเอง) ในการแข่งขันประเภทร่ายรำของคาราเต้โดค่ะ”
[ คว้าชัยใน Asian Kickboxing Championship ]
และชีวิตก็มีเรื่องให้ท้าทายอีกครั้ง กับโอกาสในการก้าวเข้าสู่วงการ “กีฬาคิกบ็อกซิ่ง” ที่ดูเหมือนจะมาถูกทางมาก เพราะแม้จะมีเวลาในการเก็บตัวฝึกซ้อมไม่นาน แต่ก็สามารถคว้ามาได้ถึง 2 เหรียญทองจากสนามระดับเอเชีย ที่มีผู้เข้าแข่งขันกว่า 21 ประเทศ
“ชีวิตหนูมีเรื่อง challenge ตัวเองเยอะมาก เมื่อปีที่แล้วที่ได้มีโอกาส เพราะทางสมาคมคาราเต้ยังไม่มีการเก็บตัวอย่างเป็นทางการ หนูก็ได้ไปแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยของคิกบ็อกซิ่ง ในประเภทต่อสู้และร่ายรำ
หนูก็ได้เหรียญทองมาทั้ง 2 ประเภทเลย ซึ่งมันเป็นโอกาสที่ดีที่ทางกีฬาคิกบ็อกซิ่ง เขามีการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ในปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็น match ใหญ่ที่สุดที่เป็นนักกีฬามาเลย ได้คว้ามา 2 เหรียญ
ทางโค้ชเขาเห็นถึงศักยภาพ เขาก็เลยเรียกเก็บตัวต่อในซีเกมส์ มันโชคดีที่ในปีนี้ประเภทของทาทามิสไตล์ เขามีการแข่งขันในซีเกมส์ โค้ชเขาก็เสนอชื่อหนูไปว่าให้มาฝึกซ้อมต่อ แล้วก็มาเล่นในกีฬาคิกบ็อกซิ่ง
ถ้าย้อนกลับไป สิ่งที่หนูเล่นอยู่ไม่ว่าจะเป็นประเภทร่ายรำหรือต่อสู้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นการออกอาวุธที่เอาไปใช้ได้จริง เราฝึกเพื่อให้ร่างกาย ให้กล้ามเนื้อเราจำว่าการออกหมัดแบบนี้มันจะแข็งแรง
ถ้าใช้ความเร็วลักษณะนี้ พอเราต่อยได้เร็ว power มันจะตามมา เราอยู่ในการแข่งขัน ในแวดวงของนักกีฬาต่อสู้อยู่แล้ว มันก็เลยไม่ได้ยากอะไรที่จะเปลี่ยนจากท่ารำแล้วมาเป็นต่อสู้ค่ะ”
มาไกลเกินฝัน “ตัวแทนทีมชาติ-ดาราสาว”
ถามถึงความฝันสูงสุดของการเป็นนักกีฬาคิกบ็อกซิ่ง แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นการได้ยืนในสังเวียนการแข่งขัน ของมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นก็ยังมีสังเวียนเวิลด์เกมส์ ที่รอท้าทายอยู่
“หนูว่าน่าจะมีโอกาสแน่นอนในปี 2028 นั่นเป็นเป้าหมายสูงสุด เพราะมันเป็นเวทีใหญ่ที่สุดที่นักกีฬาทุกคนอยากจะไปแข่งขัน อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งแน่นอน หนูอยากจะไปยืนและอยากจะคว้าเหรียญในโอลิมปิกมาให้ได้
แต่ตอนนี้เราก็ต้องโฟกัสในสิ่งที่เราสามารถเดินทางไปแข่งขันได้ ที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้น่าจะเป็นเวิลด์เกมส์ หนูก็ต้องฝึกซ้อมตัวเองหนักมากขึ้นกว่าเดิมอีก challenge ตัวเอง พัฒนาตัวเอง ฝึกทักษะที่มันยังทำไม่ได้ดี ต้องทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมให้ได้ ดีอยู่แล้วต้องดีขึ้นไปอีก เพื่อที่จะเหมาะสมและคู่ควรกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ที่จะไปแข่งขันในเวิลด์เกมส์ให้ได้
หนูน่าจะไม่ไปทางคาราเต้แล้ว ผู้บริหารเราน่าจะเดินทางไปประชุมกับทางสหพันธ์โลก ซึ่งมันน่าจะมีอะไรที่ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งในเรื่องของการเป็นนักกีฬาอาชีพ แล้วก็การเป็นนักกีฬาทีมชาติในระดับโลกในอนาคต
ตอนนี้เราก็มีการผูกกับทางเอเชียอยู่ เราก็ไม่อยากจะข้ามหน้าข้ามตา แต่ด้วยหลายๆ อย่างที่เขามีพฤติกรรมกับเราที่ไม่ค่อยจะดีงามเท่าไหร่ เราก็น่าจะไปหาแนวทางอื่นที่จะทำให้นักกีฬาและกีฬาคิกบ็อกซิ่งของไทย เดินหน้าสู่ระดับโลก ในระดับของอาชีพต่อไปได้”
และตามที่เขาได้บอกไว้ ถึงความฝันการมีรูปตัวเองบนป้ายใหญ่ แต่ในตอนนี้ชื่อของจิมมี่ ดังไกลจนไวรัลในต่างแดน เจ้าตัวยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “เกินฝันหนูมากๆ”
“เกินฝันหนูมากๆ (ยิ้ม) success มากแล้วในมุมมองของหนู หนูก็เป็น LGBTQ+ ที่หนูมาเล่นกีฬาเพราะเหมือนหนูก็เป็นเสาหลักของที่บ้าน ซึ่งการที่หนูติดทีมชาติมันก็ใหญ่ที่สุดของหนู หนูก็เหรียญกลับมาด้วย หนูได้ร้องเพลงชาติในเวทีการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย หนูได้ represents ความเป็นไทยในระดับเอเชีย หนูรู้สึกว่ามันเกินฝันหนูมากๆ
แล้วยิ่งพอมา match นี้ มีผู้คนไม่ใช่แค่คนไทย มีต่างประเทศรู้จักหนูด้วย มันเกินฝันไปเยอะเลย มีพี่ที่เป็น LGBTQ+ จากฝั่งลาว เขาเพิ่งมาเป็นหนูตอนที่เป็นคลิปค่ะ หนูเพิ่งมาเล่นกีฬาคิกบ็อกซิ่งได้ 6 เดือนเอง แน่นอนว่าแฟนกีฬาหนูในประเทศไทย แทบไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีกีฬาคิกบ็อกซิ่งในประเทศเรา น่าจะเห็นเพราะคลิปไวรัลนั้น
แล้วเขาก็เดินทางมาหา มีลูกสาวเว้ย ลูกสาวต่อยมวย ฟีลแบบนั้น เขาเดินทางมาเชียร์หนูที่กัมพูชา มาให้กำลังใจแล้วก็มากอด มาถ่ายรูป แล้วก็บอกว่า ให้กำลังใจเธอนะ แล้วก็มานั่งเชียร์หนูที่ข้างสนามเลย เป็นโมเมนต์ที่หนูดีใจมากๆ พี่เขาอุตส่าห์เดินทางมาหาเรา”
[ ผลงานละครเรื่องแรก “มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า” ]
จิมมี่เล่าต่อว่า อีกหนึ่งโอกาสที่เข้ามาก็คือการได้เข้าสู่วงการบันเทิง ถือได้ว่าเป็นความฝันที่ยิ่งกว่าการเป็นนักกีฬาสำหรับเขาอีกด้วย
“มีโอกาสจากทางวงการบันเทิงที่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนตัวหนูก็ยังมองว่าหนูก็ยังเป็นบุคคลธรรมดาคนนึง ซึ่งมันก็เป็นโอกาสที่ดี ที่พี่ๆ ที่ให้โอกาสหนูมานั่งพูดคุย เพื่อจะได้มีคนรู้จักหนูมากขึ้น
แต่ว่าถ้าในส่วนตัวหนู หนูก็ยังเป็นนักกีฬาคนนึง เป็นบุคคลนึงในสังคมที่ไม่ได้พิเศษอะไรจากใคร แค่มีคนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น เวลาเราไปไหน ส่วนมากเขาให้กำลังใจเยอะมากๆ แล้วก็ให้พลังงานบวก ให้สู้ต่อไป
ตอนนี้ทางช่อง 8 เขาให้โอกาสมาเล่นในละครเรื่อง “มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า” มันเป็นหนังที่ครบทุกรสเลยค่ะ ทั้งสนุก ฮา ดรามา (บทบาท) ก็เป็นตัวของตัวเองเลย แต่ให้ลองไปรอลุ้นกันว่าจะได้เล่นเป็นบทบาทไหน
เอาจริงๆ ระหว่างเป็นนักกีฬากับเป็นดาราสาว หนูอยากเป็นดาราสาวมากกว่า (ยิ้ม) เราก็อยากจะเป็นดาราสาวมีผมยาว มันเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก ที่เรานั่งมองคนอื่นที่เขาแสดงละคร
ถ้าฉันอยู่ในโทรทัศน์ พ่อแม่เหมือนจะเป็นฟีล ‘นี่ๆๆ คนนี้จิมมี่’ มันจะแฮปปี้ขนาดไหน มันเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ ที่เราก็อยากจะเป็นดารา อยากจะแสดงละคร อยากจะมีโอกาสที่จะได้เฉิดฉายในทีวีอะไรแบบนี้ค่ะ (หัวเราะ)
ความฝันเลยอยากเป็นดารามากกว่าเป็นนักกีฬาอีก แต่ด้วยสตอรี่เราเลือกเส้นนี้มาก่อน ตรงนี้น่าจะเป็นเหมือนโบนัส เป็นกำไรให้เราได้แสดงอีกมุมนึงของความสามารถ ว่าเราสามารถทำได้ สามารถเรียนรู้มันได้เหมือนกัน”
“แค่มีรสนิยมต่างจากคนอื่น แต่คือคนนึงในโลกใบนี้”
“(สมัยเด็ก) มันปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว ก็โดนผู้ชายจับตูด ‘เอ้ยเป็นตุ๊ด จิมมี่เป็นตุ๊ด’ ฟีลนั้น มีคำพูดที่เขาล้อเล่นกันบางครั้งมันเป็นคำพูดที่แรงสำหรับเราเกินไป มีหนักสุดที่เจอน่าจะแกล้งเอาน้ำมาไว้ที่ประตู พอเราเปิดประตูแล้วน้ำมันหล่นใส่หัว แต่เวลาเพื่อนมารุมแกล้งเขาก็สู้แรงหนูไม่ได้ หนูก็ปั้ก! ไปให้ ตอนเด็กๆ หนูเป็นคนไม่ค่อยยอม เวลาโดนแกล้ง”
ถามถึงชีวิตของการเป็น LGBTQ+ ที่มาอยู่ในแวดวงของกีฬาการต่อสู้ เจ้าตัวยอมรับว่า แน่นอนว่าย่อมถูกแกล้งในวัยเด็ก แต่เมื่อโตขึ้น สังคมเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน เป็นเรื่องโชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจและซัพพอร์ตในตัวตนที่จิมมี่เป็น
“ถ้าในเรื่องของการบูลลี่ เรายิ่งโตขึ้นการบูลลี่แทบจะไม่มีเลย ต่อหน้าไม่มี แต่ถ้าลับหลังหนูไม่รู้ ถ้ามีก็มา (หัวเราะ) หนูจะไปแกล้งคนอื่นมากกว่า คนอื่นจะไม่ค่อยแกล้งหนู สังคมที่หนูอยู่ หนูค่อนข้างที่จะโชคดีที่ทุกคนรักและซัพพอร์ต ทุกคนเอ็นดู เรื่องบูลลี่ไม่มีเลยสำหรับหนู มีแต่คุยสนุกสนานเฮฮากัน ตลกขบขัน เราเป็นเหมือนสีสันให้แก่ทีมมากกว่า
หนูเป็นคนไม่ค่อยคิดมาก บางคนเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับหนู เรื่องเบาๆ เราสามารถที่จะตัดทิ้ง ไม่ต้องไปให้ค่ากับเรื่องนี้ได้เลย หนูจะเป็นคนแบบนั้น อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเป็น toxic กับชีวิต ตัดทิ้งแล้วก็ move on
โฟกัสกับคนที่รัก โฟกัสกับสิ่งที่จะทำมากกว่า วันนี้ฉันมีอะไรที่จะต้องทำ ฉันต้องซ้อม ฉันต้องทำเทคนิคไหนให้มันดีขึ้น จะมาโฟกัสสิ่งที่หนูจะต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจากเมื่อวานยังไงมากกว่าค่ะ”
ทั้งนี้ เขายังได้ย้ำว่า อยากให้สังคมมองกันที่ความสามารถ มากกว่าจะมาโฟกัสเรื่องเพศวิถีของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
“อย่างน้อยๆ หนูก็อยากจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับ LGBTQ+ รุ่นน้องๆ หรือว่าเพื่อนๆ ต่อไปว่าเราสามารถเป็นในสิ่งที่เราเป็นได้ เราแค่เป็นแบบนี้ เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับใคร หนูก็อยากจะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้กับ LGBTQ ทุกๆ คน
ทุกๆ คนเลย ไม่ว่าจะเป็น Q+ เป็นเลสเบี้ยน อาจจะเป็นผู้หญิงกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชาย ทอมกับกะเทย กะเทยคบกะเทย ทอมคบทอม หนูก็จะซัพพอร์ต ยังไงหนูก็ยังเป็นเพศชายอยู่ แต่แค่หนูมีรสนิยมที่ชอบเพศชายด้วยกันแค่นั้นเอง เพศมันก็แค่เป็นตัวบ่งบอก แต่ว่าความสามารถของบุคคลนั้น น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ดีกว่าการที่จะเป็นเพศ
ให้มองถึงว่าบุคคลนั้นเขามีความสามารถด้านไหน มากกว่าเราไปมองเรื่องเพศ เขาอาจจะมีความสามารถที่เราอาจจะว้าวกว่านี้ก็ได้ ตอนนี้มันเป็นโลกที่เปิดกว้าง เสรีภาพมันยอมรับกันค่อนข้างเยอะแล้วค่ะ”
ตลอดการพูดคุยกัน ทีมข่าวสัมผัสได้ถึงพลังบวก ที่ส่งผ่านมาทางสายตา รอยยิ้ม และคำพูดของตัวแทนทีมชาติผู้นี้
[ ร่วมขบวนพาเหรด Bangkok Pride 2023 ]
และเนื่องในโอกาสที่เดือนมิถุนายนของทุกๆ ปี คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบ และขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศในแง่มุมต่างๆ หรือที่รู้จักกันว่า Pride Month ซึ่งในไทยเองก็มีขบวนพาเหรด Bangkok Pride 2023 ไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
จิมมี่เองก็เป็นหนึ่งคนที่ได้ร่วมงาน จึงอยากฝากข้อความถึงเพื่อนพี่น้องชาว LGBTQ+ ว่าตนเองนั้นพร้อมเป็นกระบอกเสียงและจะยืนเคียงข้างทุกคนเสมอ
“มันเป็นเดือนที่ในระดับสากลเขาให้การยอมรับ เป็นเดือนของเสรีภาพของเพศทางเลือกที่หลากหลายนะคะ มันเป็นเดือนที่ดีที่เราจะได้แสดงถึงความหลากหลายได้ชัดเจนมากๆ
หนูได้ไปเดินขบวนแสดงถึงความหลากหลาย ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ด้วย ก็อาจจะเป็นอีกวิธีนึงที่จะไป call out ไปแสดงจุดยืนให้เขาเห็นว่าฉันซัพพอร์ตนะ ฉันเป็น LGBTQ+ คนนึง ที่มีผลงานที่สามารถทำให้สังคม ประเทศไทยมีการพูดถึงได้
หนูก็อยากจะใช้จุดนี้ที่หนูมีไฟ มีสปอร์ตไลท์ส่องถึง อยากเป็นคนนึงที่ซัพพอร์ตเขา ถึงแม้คนอื่นจะไม่เห็นด้วย แต่หนูก็ยังอยากจะบอกทุกๆ คน ว่าหนูคนนึงที่จะยืนและซัพพอร์ตเขาอยู่ตรงนี้ตลอดค่ะ หนูก็จะให้เขารู้ว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่า เขาแค่มีรสนิยมแตกต่างจากคนอื่น แต่เขาก็คือคนคนนึงในโลกใบนี้ค่ะ”
“ครอบครัวสุขหยิก” แรงใจของจิมมี่ “หนูมีอะไรก็จะคุยกับคุณแม่ตลอด เห็นท่านทำงานหนักมาตลอด ทำสวน เก็บผัก ขายผัก แม่สู้ทุกอย่าง แม่เรายังเลี้ยงลูกมา 3-4 คนแล้วทำงานหนักมากๆ แม่ยังทำได้เลย ตอนนี้เขาก็มีอายุที่มากขึ้น เราก็อยากให้แม่เกษียณเร็วๆ หนูเป็นคนสุดท้องเลยค่ะ พี่ๆ หนูมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว หนูน่าจะมีโอกาสมากที่สุดในครอบครัว เหมือนที่หนูตั้งไว้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าน่าจะมีโลกกว้างให้เราไปเผชิญ ไปเจออะไรเยอะแยะมากมายให้เราได้เรียนรู้ หนูยังมีแรงที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง เวลาเหนื่อยก็นอนพัก พรุ่งนี้เช้ามันก็เป็นวันใหม่ สู้ใหม่ ทำใหม่ อย่างน้อยมันยังดีที่มีงานให้เราได้ทำค่ะ ไม่ว่าเราจะเจออะไรที่มันหนักหนามากๆ ในชีวิต เราก็สามารถผ่านไปได้ ให้ดูแม่เป็นตัวอย่างไว้ มรสุมมันก็เยอะ เราเป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่เราก็เป็นชาวสวนธรรมดา มันจะมีช่วงที่ราคายางพุ่งสูงมาก แม่หนูก็ทำสวน มีปลูกผักด้วย ปลูกพวกทุเรียน มังคุด แต่มันก็เป็นฤดูของมันไป มันจะมีช่วงช่องโหว่ที่ฤดูนี้มันจะต้องผลิใบ ไม่มีผลผลิต ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนูจะต้องใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยด้วย บวกกับเงินเดือนหนูก็ไม่ออกด้วย ตอนที่หนูเรียนอยู่น่าจะประมาณปี 1 ปี 2 หนูยังต้องรอเงินเดือนจากของทางสมาคมฯ ก็เลยโทร.ขอทางบ้าน ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ราคายางพารามันตกด้วย ทางบ้านก็ไม่ได้ซัพพอร์ตเราเต็มที่ ก็เครียดอยู่เหมือนกัน ก็เลยบอกกับคุณแม่ บอกกับตัวเองว่า ตั้งแต่วันนี้จะไม่โทร.ไปขอเงินจากแม่แล้ว จะหาเงินด้วยตัวเองแล้วจะส่งเงินให้กับแม่และครอบครัว เราไม่อยากโทร.ไปแล้วเขาจะเครียดกับเรา ตั้งแต่อายุ 19 หนูก็ไม่โทร.ไปขอที่บ้านเลย มีแต่ส่งไปให้เวลามีได้รับเหรียญรางวัลก็ส่งไปให้ที่บ้านตลอด หรือแม้กระทั่งได้เหรียญซีเกมส์มาล่าสุด ก็โอนไปเพื่อที่จะไปปิดหนี้นอกระบบ ตั้งปณิธานของตัวเองว่า ฉันต้องสู้ ฉันต้องหาอย่างอื่นทำเพิ่ม ตอนนี้หนูก็เป็นนักกีฬาทีมชาติ หนูก็รับสอนด้วย แล้วก็เป็นผู้ช่วยคุณหมอส่งเครื่องมือการแพทย์ จะรับเป็นฟรีแลนซ์ หนูก็พยายามเรียนรู้เพื่อที่จะได้มีอีก 1 อาชีพที่จะได้ทำ ตอนนี้ก็พยายามดูพวกธุรกิจส่วนตัวไว้บ้าง พยายามเก็บเงินไว้หลายๆ กระเป๋า อันนี้จะเซฟ อันนี้จะไว้ใช้ อันนี้ไว้ออมไว้ลงทุนค่ะ เวลาเจอมรสุมชีวิต เป็นเสาหลักของครอบครัว ตอนเด็กๆ ยอมรับก็คิดว่าทำไมฉันต้องมาเหนื่อยอะไรขนาดนี้ มันก็มีท้อบ้าง แต่ว่ายังดีที่เป็นคนที่คิดบวก พยายามบอกว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยมันเป็นประสบการณ์ระหว่างทางให้เราได้เรียนรู้ ในวันที่เราประสบความสำเร็จ เราจะได้ไม่ทะนงตัว หนูพยายามคิดเสมอว่าหนูไม่ได้เป็นคนเก่งที่สุด เหนือฟ้ายังมีฟ้าเสมอ เหนือฟ้าก็ยังมีอวกาศ อวกาศก็ยังมีกาแลกซี มีระบบสุริยะ เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ดีที่เราได้เป็นผู้ให้ แล้วเราไม่ได้ให้กับคนไกลเลย เราให้กับครอบครัวของเรา ซึ่งก็ดีมากๆ ที่เราได้ดูแลท่านในสิ่งที่เราสามารถทำได้ค่ะ” |
ชมชุดภาพ...
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...เจาะชีวิตนักกีฬาหัวใจสีรุ้ง เจ้าของไวรัลสุดปังที่ถูกแซวด้วยความเอ็นดูว่า บนสนามแข่งคือ "จา พนม" ตอนรับมงคือ "อิงฟ้า"...
>>> https://t.co/66NOcRO4TS#ทีมชาติไทย #KickBoxing #จิมมี่พิฆเนศ #LGBTQ #LoveWins #BangkokPride2023 #บางกอกไพรด์2023 #PrideMonth #สมรสเท่าเทียม #พรบคู่ชีวิต pic.twitter.com/kZzFMuiB7q— livestyle.official (@livestyletweet) June 9, 2023
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก : "Jim'my Sukyik", แฟนเพจ "สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย Kickboxing Association of Thailand" และ TikTok @vothuat.ithethao.vn
ขอบคุณสถานที่ : การกีฬาแห่งประเทศไทย
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **