ธุรกิจสุราชุมชนคึกคัก “ขายเกลี้ยงหมดโรงงาน” ผู้ประกอบการบอก “เห็นความหวัง สุราไทยโตได้” ถ้า#สุราก้าวหน้า เกิดขึ้นได้จริงในรัฐบาลแห่งความหวัง เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ “ว่าที่นายกฯ ” พูดถึงที่หมดสต๊อก แต่ลามไปอีกหลายจังหวัด-หลายโรงงาน!!
แสงสว่าง ของ สุราไทย
“เหล้าท้องถิ่น”ขายดีจนหมดสต๊อกโรงงาน!! หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” (หรือ “เรื่องเล่าเช้านี้” เวอร์ชั่นภาคต่อ ไลฟ์สดเล่ายาวต่อทางยูทูบ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว”) พูดแนะนำ “5 ยี่ห้อ เหล้าท้องถิ่น”จาก จ.สุพรรณบุรี, จ.ภูเก็ต, จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ปลุกกระแสครั้งใหญ่
“อีกหน่อยเราจะเพิ่มมูลค่าของอ้อยผ่านสุราก้าวหน้า เขาบอกว่าส่งต่างประเทศไม่ทัน เพราะยังผลิตได้ไม่มาก ถ้าเกิดปลดล็อกตอนนี้ได้ เขาอาจเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 2 เท่า
อันนี้ก็เป็นอีกนโยบายเศรษฐกิจ ที่ทำให้สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ก็สามารถเพิ่มราคาสินค้าการเกษตรได้รวดเร็ว
ถ้าสินค้าพวกนี้อยู่ในโกดัง ราคามีแต่ลง ถ้าอยู่ในขวด ราคามีแต่ขึ้น ขึ้น ขึ้น ก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสทำให้สินค้าเหล่านี้เป็นระดับโลก”
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะเหล้าที่ “ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของไทย” เอ่ยถึงเท่านั้นที่ขายดี แต่กลายเป็นการกระตุ้นนักดื่มให้หันมาสนใจ “สุราชุมชน” จนทำให้ไม่ว่ายี่ห้อไหน ก็ขายกันจนเกลี้ยงสต๊อก
ชวนมองผ่านมุมเจ้าของแบรนด์สุราชุมชนประจำ อ.สันราย จ.เชียงใหม่ “โคโยตี้ ลำก้า (Koyote Lumka)” อย่าง “พลอย-รชยา ประกาศกิจ” ที่ได้รับผลดีจากซอฟต์พาวเวอร์ดังกล่าว จน “ขายเกลี้ยงสต๊อก” เหมือนกัน เธอมองว่านี่คือความหวังในหลายๆ แง่ ถ้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เกิดขึ้นได้จริง
“มันจะเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดของสุราชุมชนอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าสุราชุมชนหลายๆ คนก็จะไม่นิยมดื่ม แต่พอกระแสสุราก้าวหน้าเกิดขึ้น ทำให้สุราชุมชนได้รับความนิยมอย่างมากตอนนี้ค่ะ”
อีกอย่างหนึ่งสุราชุมชนเป็นสินค้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการสร้างมูลค่าให้วัตถุดิบ วัตถุดิบที่นำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือผลไม้ ที่ปีๆ นึงมีแต่จะล้นตลาดทำให้ราคาตก แต่อย่างยี่ห้อนี้ใช้ผลไม้ตามฤดูกาลในภาคเหนือ จึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง
“เรามีเหล้ามะม่วง มะม่วงปีนี้ราคาตกมาก ลูกใหญ่ๆ สวยๆ ราคาหน้าสวนกิโลฯ ละ 5-7 บาท แล้วค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าคนงาน ปีหนึ่งเท่าไหร่ มันไม่ได้ราคาเลย เราก็ไปกว้านซื้อเข้ามา เพราะขายไม่ออก มันล้นตลาดเกินไป
พอมี พรบ.สุราก้าวหน้า เกิดขึ้น และมีกระแสออกมา คนก็เห็นว่า นวัตกรรมของสุราไทย มันเปลี่ยนไปแล้ว แพ็กเกจจิ้งใหม่ โฉมใหม่ รสชาติที่ดีขึ้น มีการปรับปรุง มีการพัฒนา พร้อมที่จะส่งออกไปต่างประเทศ พร้อมที่จะโตไปมากกว่านี้”
ไทยพร้อมทุกอย่าง แต่กฎหมายไม่เอื้อ
ลองมองไปข้างหน้า ถามว่าพอจะมีหวังที่เหล้าไทยจะกลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ส่งออกอย่างเข้มข้น เพื่อสู้กับตลาดโลกจากประเทศอื่นๆ ได้หรือเปล่า? เจ้าของแบรนด์รายเดิมจึงช่วยคอนเฟิร์ม
“มีค่ะ มีอย่างยิ่งเลยค่ะ อย่างประเทศญี่ปุ่นเขาไม่ได้มีวัตถุดิบมากอย่างบ้านเรานะคะ ญี่ปุ่นเองเขาก็มีเหล้าลิ้นจี่เแต่เขาไม่ได้ปลูกลิ้นจี เขาใช้การแต่งกลิ่น วัตถุดิบของเขาไม่ใช่ของแท้ ต่อให้เขาใช้ของแท้ เขาก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบอยู่ดี”
ผิดกับบ้านเราที่มีวัตถุดิบเยอะมาก ทั้งข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ผลไม้อีกนานาชนิด แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นประโยชน์จากการแปรรูป หรือบางคนถึงทำได้ ก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะมีกฎหมายคอยปิดกั้นอยู่
“แต่พอมี พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ขึ้นมา จะทำให้ทุกคนที่ขายไม่ได้ กลับมาขายได้”
ลองหันมาเทียบกับตลาดญี่ปุ่นดูบ้าง จากบทความเรื่อง “กากสาเก จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกของญี่ปุ่น” บนเว็บไซต์ bangkokbiznews.com ระบุว่า ญี่ปุ่นผลักดันการส่งออก “สาเก” ให้เป็นสินค้าวัฒนธรรม และสถิติของปี 2021 มูลค่าการส่งออกสาเกเติบโตถึง 166.4% เป็นยอดเงิน 401.78 ล้านเยน โตเป็นเท่าตัวจากปี 2020 ที่มียอดส่งออกมูลค่าแค่ 241.41 ล้านเยน
แถมรัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยตั้งสถาบันวิจัยสาเกแห่งญี่ปุ่นเป็นNational Research Institute of Brewing – NRIB เพื่อให้สามารถจำแนกแยกแยะคุณสมบัติของสาเกได้อย่างละเอียด
ดีต่อโรงงาน ช่วยเหลือเกษตรกร
หันกลับมามองบ้านเราอีกที ถือว่ายังติดปัญหาและอุปสรรคในอีกหลายๆ เรื่อง ทั้งการตั้งโรงกลั่นที่ต้องให้ห่างไกลจากชุมชม วัด โรงเรียน และแหล่งน้ำ ถึงจะตั้งได้ รวมถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตและฉลากต่างๆ ก็ช้ามาก และถ้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ต้องขอใหม่ทุกครั้ง
“ไม่มั่นใจว่าการผลิตอื่นๆ ใช้เวลานานขนาดนี้หรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามันนานมากเลย จะออกผลิตภัณฑ์หนึ่งตัวเดินเรื่องนานมาก ไม่ว่าจะเป็นขอตรวจโรงงาน ตรวจน้ำสุรา ขอฉลาก ตรวจแพ็กเกจ ทั้งหมดใช้เวลาเกิน 2 ปี”
และยังมีเรื่องของฉลากที่ให้ใช้ชื่อว่า “สุราขาว”เท่านั้น ไม่สามารถระบุชนิดของเหล้าได้ เช่น วอดก้า, จิน หรือรัม ซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็นการกดขี่ผู้ประกอบการพอสมควร และทำให้เป็นปัญหาหนักมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่นิยมดื่ม “เหล้าสี” ส่วน “เหล้าขาว”เหมือนจะติดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีไปแล้ว
“พอเห็นเป็นเหล้าขวดสีน้ำตาล คงเป็นเหล้าต้ม คุณภาพต้องไม่ดีแน่เลย กินแล้วต้องบาดคอ มีกลิ่นฉุนแน่เลย พอเห็นคำว่าสุราขาว คนไทยก็จะติดภาพนี้”
ไหนจะเรื่องกฎการขายที่ห้ามโฆษณาหรือขายออนไลน์ ทั้งที่ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ก็อยู่ได้เพราะช่องทางนี้ และด้วยความเป็นสุราขาว จึงไม่มีร้านค้าปลีกรับซื้อ เพราะกลัวขายไม่ออก ทำให้ขายของได้ลำบากมากขึ้นอีก
“ถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมาได้จริงๆ มันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทยว่า สินค้าไทยมันมีอะไรดีบ้าง นอกจากที่เราส่งออกแต่พวกวัตถุดิบ พวกตัวผลไม้ แต่ตอนนี้เราทำผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกได้
สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่ม GDP ให้กับคนไทย ผลไม้ที่ราคาตก มันก็จะกลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น มันช่วยกันเป็นวัฏจักร”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...ตอนนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ @Pita_MFP พูดถึงที่หมดสต๊อก แต่ลามไปอีกหลายจังหวัด-หลายโรงงาน!! บอกเลยนี่คือ "แสงสว่างของ #สุราชุมชน"...
>>> https://t.co/rGzjDpehx1
.
ชวนมองผ่านมุมเจ้าของแบรนด์ #เหล้าท้องถิ่น "โคโยตี้ ลำก้า" อ.สันราย จ.เชียงใหม่
.#สุราก้าวหน้า pic.twitter.com/NTfS2VZX8M— livestyle.official (@livestyletweet) June 6, 2023
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
พากย์เสียง : ดรงค์ ฤทธิปัญญา
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **