ความสำเร็จที่ไม่มีทางลัด เจาะเส้นทางชีวิตสาวน้อย คนเก่ง มากความสามารถ วัย 16 ปี เจ้าของบัลลังก์นักแบดมินตันเยาวชนหญิงมือ 1 ของโลกคนล่าสุด ที่เป็นขวัญใจแฟนๆ กีฬาลูกขนไก่ทั่วโลก จนได้รับฉายา “นักแบดหน้าหวาน” พร้อมเปิดเคล็ดลับสู่แชมป์โลก ที่เป้าหมายยิ่งสูง เธอยิ่งต้องพยายาม
ขึ้นแท่นมือ1 เยาวชนโลกคนล่าสุด
“เราตั้งใจว่าเราอยากได้แชมป์โลก ถ้าเป็นไปได้ อยากได้โอลิมปิกด้วย แต่ว่าเราไม่ได้กดดันตัวเองขนาดนั้น แต่ว่าจะพยายามทำให้ได้ก่อนอายุ 24-25 ปีค่ะ”
“พิ้งค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์” วัย16 ปี นักตบลูกขนไก่สาวสุดคิวท์ดาวรุ่ง ที่ได้รับการจับตามองอย่างมากในวงการลูกขนไก่ไทยตอนนี้ และยิ่งน่าจับตามองขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุดมีการประกาศจากสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ประจำเดือน เม.ย. 2023 ปรากฏว่า เธอสามารถขยับขึ้นไปครองบัลลังก์นักแบดมินตันเยาวชนหญิงมือ 1 ของโลกได้สำเร็จ
วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น ซึ่งเราได้มีโอกาสไปพูดคุยกับเธอ หลังจากที่เธอกำลังซ้อมเพื่อไปแข่งรายการ BWF World Tour Super 500 ที่สนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
เธอถือว่าเป็นเด็กไทยที่คว้ามาแล้วหลายรายการ จนถูกจับตามองเป็นอย่างมากจากทั่วโลก แถมหน้าตายังน่ารักซะด้วย จนเธอได้ฉายา “นักแบดหน้าหวาน”
ความสำเร็จในครั้งนี้ เธอบอกว่ารู้สึกภูมิใจ และดีใจมากๆ ที่ความพยายามฝึกซ้อมมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลถึงความสำเร็จในวันนี้
“เป็นแรงกิ้ง(ranking) 1 เยาวชนโลกค่ะ ก็รู้สึกภูมิใจ และดีใจมากเลยค่ะที่ตัวเองที่พยายามตั้งแต่เด็ก จนประสบความสำเร็จในเบื้องต้น
อันนี้เป็นการประกาศแรงกิ้ง 1 เยาวชนโลกค่ะ มันเป็นการรวมคะแนนรายการจูเนียร์ค่ะ เหมือนแบบว่าในรุ่นอายุไม่เกิน 18 แต่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ได้ รวมคะแนนตั้งแต่ที่แข่งมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ก็เอาคะแนนไปทบกัน ก็เลยได้คะแนนมาเยอะค่ะ ส่วนอันดับของทั่วไป ของโลกค่ะ ตอนนี้น่าจะ 51 ไม่ก็ 65 ประมาณนั้นค่ะ”
ถ้าพูดถึงดีกรีความสามารถของเธอ เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะเธอจับไม้แบดมาตั้งแต่หัดเดินได้และฝึกฝนมาอย่างจริงจัง
สำหรับผลงานที่ผ่านมา เธอสามารถคว้าแชมป์ เยาวชนแห่งชาติ 2018 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี, แชมป์หญิงเดี่ยว CU OPEN 2018, แชมป์ แบดมินตันอินเตอร์ เนชั่นแนล ชาเลนจ์ 2018 “โยเน็กซ์ โรซ่า บ้านทองหยอด”, แชมป์แบดมินตันรายการ จาย่า ราย่า จูเนียร์ กรังด์ปรีซ์ 2019 ที่เมืองตันเกอรัง ประเทศอินโดนีเซีย ในประเภทหญิงเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน15ปี รอบชิงชนะเลิศ
และอีกผลงานที่เป็นที่พูดถึงคือ สามารถคว้ารายการแข่งขัน เวิลด์แบดมินตัน ยู-15 โชไน อินวิเตชั่นแนล 2019 เอาชนะนักกีฬาเจ้าถิ่น คาซูเนะ อีวาโตะ จากญี่ปุ่น ขาดลอย โดยใช้เวลาแข่งขันเพียงแค่ 28 นาที
ขณะที่ในปี 2022 เธอเดินหน้ากวาดแชมป์มาครองได้ถึง 3 รายการคือ สวีดิช โอเพ่น 2022, บาห์เรน อินเตอร์เนชั่นแนล ซีรีส์ 2022 และ แชมป์ วิคเตอร์ เดนมาร์ก มาสเตอร์ส 2022 พร้อมก้าวขึ้นติดทีมชาติทั้ง ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 และซีเกมส์ ครั้งที่ 31
รวมทั้งยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมต่อเนื่องในปีนี้ จนกระทั่งได้ก้าวขึ้นเป็นนักตบลูกขนไก่เยาวชนหญิงหมายเลข 1 ของโลกในที่สุด
จุดเริ่มต้นเส้นทางความสำเร็จ
สำหรับจุดเริ่มต้น ที่กว่าจะประสบความสำเร็จในกีฬาแบดมินตันของน้องพิ้งค์วันนี้ เธอได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว โดยมีคุณพ่อ “พิพัฒน์ โอภาสนิพัทธ์” รับหน้าที่เป็นโค้ชคนแรก เพราะคุณพ่อเองก็เป็นโค้ชแบดมินตันอยู่ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนเด็กๆ คุณพ่อจะมักพาเธอไปวิ่งเล่นที่สนามแบดตั้งแต่อายุได้เพียงขวบเดียว
เริ่มแรกเธอไม่ค่อยได้จริงจังมากนัก เพราะเธอไม่รู้ว่าเส้นทางอาชีพนี้จะพาเธอไปได้ไกลแค่ไหน จนเธอได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก “โค้ชตี๋-เกษมศักดิ์ จตุจินดา” และเริ่มเดินสายลงแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่อยมา จนได้เข้าโครงการฟาร์มมิ่ง ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
“จริงๆ ไปสนามแบดกับคุณพ่อตั้งแต่ขวบ 2 ขวบเลย เพราะว่าคุณพ่อสอนแบดอยู่ที่เชียงใหม่ คุณพ่อเป็นโค้ชในทีม ก็พาหนูไปด้วย หนูก็แบบเห็นพี่ๆ เขาตีเล่น หนูก็เข้าไปทำตามบ้าง เข้าไปวิ่งเล่นอะไรอย่างนี้ค่ะ
ตอนเด็กๆ ก็รู้สึกว่ามันสนุก ชอบด้วย เด็กๆ ทำอะไรก็สนุก ก็เลยเริ่มตีค่ะ พ่อก็มองเห็นว่าเรามีพรสวรรค์ด้านนี้ ก็เลยจับมาทำให้เต็มที่เลย
คุณพ่อบอกว่า เราเป็นคนที่สอนเป็นไวนะ แบบว่าเหมือนสอนลูกเลี้ยวอะไรอย่างนี้ บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ หรือเป็นเดือน แต่ว่าของหนูแป๊บเดียวก็ทำได้ อาจจะไม่ถึงอาทิตย์ก็ทำได้
สอนแล้วเป็นเร็ว ท่าทางได้เร็วกว่าเด็กทั่วๆ ไป เหมือนแบบว่าคุณพ่อบอกอะไรมาแป๊บเดียวก็ทำได้ แบบว่าไม่ต้องใช้เวลาเยอะ”
นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ลงสนามครั้งแรกด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม พร้อมเสียงหัวเราะให้ฟังอีกว่า ในขณะนักกีฬาคนอื่นพกขวดน้ำสำหรับการแข่งขัน แต่สำหรับเธอตอนนั้นยังพกขวดนมอยู่เลย
“ถ้าสนามแรกน่าจะ 4-5 ขวบค่ะ ตอนนั้นยังกินจุกนมลงไปแข่งอยู่เลยค่ะ จริงๆ ค่ะ (หัวเราะ) คนอื่นเขาพกน้ำไป แต่หนูพกขวดนมไปอยู่ข้างสนามตอนเด็ก น่าจะเป็นรายการพาณิชย์สามัคคีมั้งนะคะ ที่เชียงใหม่ เป็นรายการเล็กๆ ตอนนั้นเด็กอยู่ ยังไม่ค่อยรู้อะไร”
และถึงแม้ว่า จะมีคุณพ่อเป็นถึงดีกรีโค้ชแบดมินตัน แต่เธอก็บอกว่า เธอไม่เคยเอาเรื่องนั้นมากดดันตัวเอง และคุณพ่อเองก็ไม่ได้กดดัน เพราะเธอเองก็พยายามฝึกฝน และทำออกมาเต็มที่ทุกครั้งที่ลงแข่ง
“พ่อเป็นโค้ชก็ไม่ได้กดดันขนาดนั้นค่ะ แต่อาจจะมีแบบว่า เวลาสอนอาจจะทะเลาะกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ (หัวเราะ) แต่ว่าไม่ได้กดดัน สมมติไปแข่งแล้วแพ้มา คุณพ่อก็ไม่ได้จะว่า
ความคาดหวังอาจจะสูง แต่คุณพ่อไม่เคยกดดันตัวเราค่ะ แต่ถามว่าเรารู้ไหมว่าเขามีความคาดหวัง เรารู้ว่าเขาคาดหวังเยอะ แต่เขาไม่ได้บอกเราว่าเขากดดัน
คุณพ่อก็จะมาปรับปรุงในสิ่งที่เราผิดพลาดในการแพ้ครั้งนั้น เวลาไปแข่งแต่ละทีคุณพ่อก็จะบอกว่า ทำให้เต็มที่พอ ไม่ต้องกดดันอะไร เขาก็จะบอกในสิ่งที่เราผิดพลาด สอนทุกรอบ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ เราจะมีข้อผิดพลาดในการลงไปเล่นในแต่ละครั้งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเล็กหรือน้อย เขาจะบอกเสมอค่ะ”
สาวน้อยคนเก่งมากความสามารถ เธอแชร์ประสบการณ์การสนามแรกให้ฟังด้วยความตื่นเต้นว่า ครั้งแรกค่อนข้างที่จะตื่นเต้นมากๆ จนทำให้เธอมือไม้แข็งไปเลย
“ตอนแข่งแรกๆ เราก็ตื่นสนาม บางทีไปแข่งในรุ่นที่มันใหญ่ขึ้น อย่างการไปแข่งอินเตอร์ชาเลนจ์ ไปแข่งต่างประเทศครั้งแรกของเรา มันก็ค่อยๆ ตื่นเต้นไปเรื่อยๆ อย่างการมาแข่งแมตซ์ใหญ่ๆ เราก็ตื่นเต้นเหมือนกัน แต่ว่าเราจะต้องใช้เวลา แข่งให้มันบ่อยๆ เราก็จะหายตื่นเต้นไปเอง มันจะมือไม้แข็ง เราก็ต้องแก้ด้วยการวอร์มร่างกายให้มือมีเหงื่อออกเยอะๆ มันก็จะช่วยได้”
เป้าหมายยิ่งสูง ยิ่งต้องพยายาม
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เธอยอมรับว่าต้องพยายาม อดทน ฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างของร่างกายในการเล่น ต้องมีความแข็งแรงของร่างกาย เพราะจะช่วยให้ความเร็วในการเคลื่อนที่ ดังนั้นชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ สนามซ้อมแทบจะเป็นบ้านอีหลังของเธอเลยก็ว่าได้ เพราะต้องไปฝึกซ้อมทุกวัน
“อาทิตย์นึงซ้อม 6 วัน จะได้หยุดวันเดียวก็คือวันจันทร์ค่ะ แล้วก็ซ้อมเช้าเย็น ซ้อมเช้า 10.00 -12.00 น. ซ้อมเย็น 17.00 - 20.30 น. ทุกวัน แล้วก็กลับบ้าน เพราะว่าในเชียงใหม่มันไปไหนมาไหนได้สะดวก ก็เลยได้กลับบ้าน
แล้วก็อย่างวันเสาร์ก็จะซ้อม 10.00 - 12.00 น. ช่วยเย็นจะซ้อมสี่โมงถึงทุ่มนิดๆ ก็จะได้มีเวลาไปหาเพื่อน หลังซ้อมเย็นเสร็จบ้าง ไปกินข้าวบ้าง
ถ้าวันที่หนักที่สุดน่าจะเป็นวันเสาร์ เพราะว่าวันเสาร์เช้าจะต้องเล่นเวท มันก็จะเมื่อยหน่อย แล้วตอนเย็นก็จะมาตีต่อ ก็มีวิ่งด้วย ก็หนักสุด”
เธอยังบอกอีกว่า การออกกำลังกายอย่างอื่นควบคู่กันไปกับการฝึกซ้อมตีแบดฯ ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นด้วย
“อาจจะพวกบอดี้เวท มีวิ่งบ้าง จำเป็นเพราะว่า เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้เราทนทานมากขึ้น แล้วก็จริงๆ โยคะก็ดีเพราะว่าช่วยยืดหยุ่นได้ดี แต่ว่ายังไม่ได้มีเวลาไปเล่นขนาดนั้น
ส่วนเรื่องอาหารก็ไม่ได้คุมค่ะ กินไปตามปกติค่ะ แต่อาจจะทางโค้ช ทางคุณพ่อคุณ หรือทางคนอื่นๆ เขาบอกว่าให้เน้นโปรตีนหน่อย เพราะว่าเป็นคนผอมกว่านักกีฬาปกติทั่วๆ ไป ก็เลยอยากให้เพิ่มกล้ามเนื้อนิดหน่อย”
นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า นอกจากความแข็งแรงทางร่างกาย ระบบความคิดการอ่านเกมส์ก็สำคัญ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องของกำลังเท่านั้น ความคิด ยังคือสิ่งสำคัญเช่นกัน ในกีฬาชนิดนี้
“อันนี้มันอยู่ที่ประสบการณ์ค่ะ บางทีอาจจะดูแบดแล้วก็วิเคราะห์ว่า ทำไมเขาถึงตีลูกนี้มา แล้วก็ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ประสบการณ์ล้วนๆ อยู่ที่การแข่งบ่อยๆ ตีบ่อยๆ
จริงๆ มันเป็นสัญชาตญาณล้วนๆ เลย (หัวเราะ) โค้ชก็จะมีการวางแผนมาให้ก่อนคร่าวๆ ค่ะ สมมติว่าจะเจอคู่ต่อสู้คนนี้ ก็อาจจะแบบว่า ดูเขาตีมาก่อน แล้ววิเคราะห์ว่าเขาถนัดอะไร เล่นอะไร เราก็จะวางแผนคร่าวๆ ค่ะ แล้วพอไปตีจริงๆ ก็จะใช้แผนนั้น แต่ว่าไม่ได้เป๊ะทุกอย่าง เราก็จะมีสัญชาตญาณด้วยอะไรอย่างนี้ค่ะ
และเธอยังบอกอีกว่า การเล่นกีฬาชนิดนี้ ต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็นด้วย เพราะแบดมินตันคือกีฬา ที่ต้องใช้ความคิดเป็นระบบ
“สมมติว่าเขาแข็งด้านการตีโฟร์แฮนด์ เราก็จะพยายามจี้แบ็คแฮนด์ หรือว่าพยายามไม่ทำให้เขาตีลูกที่เขาถนัด หรือว่าถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะตีโด่งขึ้นเหรอ ให้เขาแบบว่าตีไม่เข้ามือ
ก็ต้องซ้อมนานค่ะ เพราะแต่ละคนตีไม่เหมือนกันเลย มันมีหลายแบบ มีหลายสไตล์ในการตีอะค่ะ เราก็ต้องปรับไปตามนั้น เราจะตียังไงให้เขาไม่ถนัดแบบนี้ ก็ต้องใช้ประสบการณ์เยอะอยู่ค่ะ”
อีกสิ่งสำคัญในการพาเธอมาถึงจุดนี้ได้ คือการวิเคราะห์คู่แข่ง เธอบอกว่า เบื้องต้นต้องรู้จักคู่ต่อสู้ว่ามีการตีสไตล์ไหน เพราะจะได้นำมาแก้เกมส์ตลอดการแข่งขันได้ถูก
“จริงๆ ดูแค่ทัวร์นาเมนต์เดียวก็โอเคแล้วค่ะ คือคนคนนึงมันจะตีได้อยู่ไม่กี่แบบ เขาก็จะตีประมาณนั้น เขาก็จะตีสไตล์ที่เขาถนัดอยู่ตลอดค่ะ
อาจจะไม่เกี่ยวว่าต้องซ้อมกับหลายคนขนาดนั้น แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องซ้อมกับหลายคน แต่ไม่จำเป็นต้อง 20-30 คน แต่ว่าคือการซ้อมตีให้แม่น ตีให้ชัวร์ ตีให้ไม่เสียง่าย ต้องพยายาม
ถึงบอกว่ามันต้องไปลงสนาม โค้ชก็ต้องคอยแก้เกมส์ให้เราค่ะ บางทีเขาก็ทำการบ้านเรามาเหมือนกัน เขาก็แก้เกมส์ของเรามา เราก็ต้องแก้เกมส์อีกทีในคอร์ดเหมือนกัน”
อย่างที่บอกว่า สิ่งสำคัญในการมาถึงจุดนี้ได้ คือ การรู้จักคู่ต่อสู้ เพราะเธอเคยมีบทเรียนกับเรื่องนี้ ครั้งนั้นเฮไม่ได้ศึกษาคู่ต่อสู้มาก่อน ทำให้เธอต้องพ่ายแพ้ และในครั้งนั้นเฮรู้สึกเธอใจมากๆ
“หนูจำไม่ได้ว่าอายุเท่าไหร่ นานมากแล้ว เป็นรายการโตโยต้าค่ะ ชิงแชมป์ประเทศไทยนี่แหละค่ะ แล้ววันนั้นหนูตีไม่ดี แบบว่ามือไม่ได้ แล้วมันเหมือนแบบไม่ได้ศึกษาคู่ต่อสู้มาก่อนด้วย เลยรู้สึกว่า ทำไมตัวเองไม่ดูเขามาก่อน ไม่ศึกษาเขามาก่อน ทำไมตัวเองประมาทขนาดนี้ ก็เลยรู้สึกเสียใจ
สำคัญที่ว่าเราแพ้ในแต่ละครั้ง เราควรจำสิ่งที่เราแพ้ สิ่งที่เราผิดพลาด จนมาถึงทุกวันนี้ค่ะ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเราก็จำได้เสมอว่าเราแพ้เพราะว่าอะไร แต่ถ้าแมตช์ไหนที่เรารู้สึกว่าทำเต็มที่แล้ว แล้วเราแพ้เราก็จะไม่เสียใจมาก”
ยอมเสียชีวิตช่วงวัยเด็ก เพื่อแลกอนาคต
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กคนนึงจะยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นเขาได้วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่เพื่ออนาคต เธอต้องซ้อมกีฬา ไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ยอมเสียชีวิตช่วงวัยเด็ก เพื่อแลกอนาคต
“ถ้าวัยเด็กก็ขาดไปเยอะอยู่ค่ะ ถ้าช่วงวัยเด็กไม่ได้ขนาดนั้น แต่ว่าถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น ช่วงนี้ ช่วงที่ผ่านมา ขาดไปเยอะอยู่ค่ะ ก็เสียดายค่ะ แต่มันคือหน้าที่ มันเหมือนเป็นงาน เป็นอาชีพไปแล้ว เราก็ต้องมีความรับผิดชอบในด้านที่เราเลือก เพราะมันคืออนาคตเรา”
เธอยอมรับว่า ภาพที่วาดตอนเด็กกับตอนนี้ต่างกันมาก เพราะตอนเด็กๆ คิดแค่ว่าไปตีเล่นๆ ไปแค่สนุก แต่พอได้แรงกิ้ง ระดับโลกก็ยอมรับว่า ค่อนข้างมีความกดดันมากขึ้น
“ต่างกันนะคะตอนเด็กๆ เหมือนสนุกค่ะ ตีแล้วสนุก ไม่จำเป็นต้องกดดัน ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แต่พอมาเป็นนักกีฬาอาชีพจริงๆ มันก็มีความต้องรับผิดชอบอะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็ความกดดันก็มากขึ้นด้วยค่ะ
แต่ก็พยายามจะไม่กดดันมาก แต่เราก็จะคิดนิดหน่อยว่า เออเราต้องทำให้ได้นะ หรือว่าทำให้ดีที่สุดอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็จะไปเที่ยวเล่น ไปหาอะไรที่ตัวเองชอบทำ เช่น ไปหาของหวานกิน ไปดูหนัง ไปกินข้าวอะไรอย่างนี้ค่ะ”
ย้อนกลับไปช่วงที่รู้สึกเหนื่อย นอกจากออกไปเที่ยวที่ทำให้เธอได้ผ่อนคลายแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นเวลาต้องเผชิญกับความกดดันก่อนการแข่งขัน เธอมักจะได้กำลังใจสำคัญจากเพื่อนๆ และคุณแม่ ช่วยฮีลใจ
“ซ้อมเหนื่อย หรือแบบว่า ต้องมีแข่งหลายรายการ ช่วงนี้มีงานเข้ามาไม่ได้พักบ้าง บางทีแข่งหลายรายการติด บางทีอยากกลับบ้าน บางทีเหนื่อย ก็จะแบบว่า หาคนมาคุยด้วย
เราก็จะหาคนที่เรารู้สึกว่าสบายใจ คือจริงๆ เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบพูดอะไรให้ใครฟังเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าเหนื่อยมากๆ วันไหนถ้ารู้สึกไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็จะหาเพื่อนสนิท หรือว่าแม่ วันนี้รู้สึกยังไงมาก็จะพูด จะระบายให้ฟัง ก็มีคุณแม่ ก็มีเพื่อนบ้าง นิดๆ หน่อยๆ ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นคุณแม่ค่ะให้กำลังใจ สู้ๆ นะ เดี๋ยวก็ผ่านไป อดทนหน่อย”
แม้บางครั้ง ต้องซ้อมหนัก จนต้องร้องไห้ออกมา แต่เธอก็ไม่ได้มองว่า การร้องไห้คือความอ่อนแอ แต่มันเป็นเพียงการระบายความเครียดอีกช่องทางเพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเส้นทางที่เธอเลือกเดิน
“ก็มีบ่อยค่ะ แต่ว่าก็รู้สึกว่าปกติแหละ นักกีฬาทุกคนมันผ่านจุดนี้มาหมดแล้ว มันเหนื่อย บางทีก็ท้อ บางทีก็อยากพอแล้ว อยากไปทำอย่างอื่น แต่ว่าต้องรับผิดชอบอยู่ มันคือหน้าที่ค่ะ จนกว่าเราจะสำเร็จ เราถึงจะพอได้”
ถ้าไม่มีพรแสวง เก่งแค่ไหนก็ไม่ถึงเป้าหมาย
การจะประสบความสำเร็จ มันอยู่ที่พรสวรรค์ และพรแสวง ถ้าไม่มีพรแสวง เก่งแค่ไหน ก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย นี่เป็นอีกหนึ่งมุมมองในการใช้ชีวิตของสาวน้อยคนเก่ง
“ทุกคนต้องมีพรสวรรค์และก็พรแสวง มีพรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่ได้ มีพรแสวงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ส่วนพรสวรรค์ในกีฬาแบดฯ เขาเรียกว่าไหวพริบค่ะ ไหวพริบทางด้านแบดฯ อะค่ะ เหมือนแบบว่าเป็นเซ้นต์เรื่องแบดฯ ค่ะ สมมติว่าตีไปลูกนี้ ก็พอจะเดาได้ว่าเขาจะตีไปทางไหน มันเป็นเซ้นต์”
อย่างที่เธอได้บอกไปว่า ถ้าไม่มีพรแสวง เก่งแค่ไหนก็ไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นพรสวรรค์ บวกกับพรแสวงของเธอ ทำให้เธอมีจุดเด่นในเรื่องการใช้สกิลแฮนด์เวิร์ค (Handwork) ทำให้เธอ ตีลูกได้แม่นยำ มีน้ำหนักที่ดี สามารถสร้างความได้เปรียบในช่วงการแข่งขัน
“มันคือการควบคุมลูก หรือคอนโทรลลูก แบบว่าตีมือนิ่ง ไม่ให้มันออกไปสะเปะสะปะ คุมได้ดี แบบแม่นอะไรประมาณนี้ค่ะ อาจจะมีพลาดบ้าง แต่ว่าอาจจะน้อยหน่อย พยายามคอนโทรลให้มันอยู่ในขอบ ก็คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดเด่นของเรา เรื่องการคุมน้ำหนักได้เร็ว แบบว่าถ้าเจอลักษณะนี้อาจจะปรับตัวได้เร็ว
ส่วนจุดอ่อนก็คิดว่าอาจจะเป็นการไล่ลูกที่นานๆ อาจจะแบบว่าความแข็งแรงอาจจะยังไม่พอ ก็เพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นค่ะ อาจจะวิ่งมากขึ้น ทำให้ตัวเราตีได้ทนทานมากขึ้น ก็คือฝึกตีให้นานขึ้น”
นอกจากนี้ ยังให้เธอวิเคราะห์ตัวเองอีกว่า อะไรที่ทำให้เธอสามารถเป็นเจ้าของบัลลังก์นักแบดมินตันเยาวชนหญิงมือ 1 ของโลกคนล่าสุดได้
“ก็คิดว่าเป็นเพราะความพยายามตั้งแต่เด็กด้วยค่ะ แล้วก็เป็นเพราะทางโค้ชตี๋ ทางคุณพ่อคุณแม่ ทางน็อกเกอร์ที่อยู่ที่เชียงใหม่ที่ช่วยตี มันเป็นเพราะหลายอย่างค่ะ ไม่ใช่ตัวเราแค่คนเดียว ที่เป็นได้เพราะทุกวันนี้ ก็เพราะทุกคนช่วยให้เราได้ถึงครั้งนี้ค่ะ”
ยกให้ “เมย์-รัชนก” เป็นต้นแบบในการพัฒนาฝีมือ
นอกจากเชิงแบดมินตันจะยอดเยี่ยมแล้ว เธอยังมี “น้องเมย์-รัชนก อินทนนท์” นักแบดฯ ชื่อดัง ดีกรีนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ1 ของโลก เป็นไอดอลในดวงใจ และยกให้เป็นต้นแบบที่อยากจะพัฒนาฝีมือให้ก้าวสู่ระดับโลกตามรุ่นพี่ในอนาคต
“ก็มีพี่เมย์-รัชนก เป็นไอดอลค่ะ ก็คือเขาตีค่อนข้างได้หลายรูปแบบ พี่เขาตีดี เขาดีฉลาด เมื่อกี้ซ้อมด้วยกันอยู่ค่ะ”
แม้จะเคยซ้อมด้วยกัน แต่เธอก็ไม่เคยบอกไอดอลในดวงใจว่า เธอยกเขาให้ไปต้นแบบในการที่จะเดินรอยตาม เส้นทางอาชีพนี้
“ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่ารู้ไหม น่าจะรู้มั้งคะ ไม่เคยบอกค่ะ ไม่ได้เข้าไปถาม เพราะซ้อมก็ตั้งใจซ้อม”
เมื่อมีโอกาสได้ซ้อมกับไอดอลในดวงใจ เธอก็พยายามสังเกตว่าไอดอลของเธอนั้น มีจุดเด่นในด้านไหน เพื่อนำมาปรับใช้ในแบบฉบับของตัวเอง
“ก็พยายามดูเขาว่าเขาตียังไง แก้เกมส์ยังไง ก็ได้เรื่องสปีดลูกที่เร็วขึ้น เพราะว่าปกติเราไม่ได้ซ้อมกับเขา ก็พอมาซ้อมก็ได้เรื่องสปีดลูกที่เขาตีเร็วขึ้น“คิดว่าเขาตีได้ทนทาน เขาอดทน แล้วเขาก็ตีได้หลายแบบ เขาแก้เกมส์ได้เรื่อยๆ เขาสามารถตีได้หลายรูปแบบ”
ส่วนเสน่ห์ที่ทำให้เธอหลงรัก กีฬาแบดมินตัน ก็คือ การตีได้อย่างอิสระ และสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุกที่สุดของกีฬาแบดฯ เวลาลงสนาม คือ เสียงเชียร์จากแฟนๆ ข้างสนาม เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เธอรู้สึกฮึกเหิม และมีกำลังใจในการสู้ต่อ
“คิดว่ามันคือ การตีได้แบบอิสระ การตีได้หลายแบบ มันไม่ตายตัว ก็เลยคิดว่าเป็นเสน่ห์ และสิ่งที่ทำให้สนุกคิดว่าอาจจะเป็นเสียงเชียร์ เวลาเกมส์มันมันส์ๆ มันอาจจะกระตุ้น มันอาจจะดูมีสีสันหน่อย
จริงๆ ส่วนมากเราจะไม่ค่อยได้ยินเวลาคนเชียร์ เพราะเราต้องมีสมาธิอยู่ในนี้เยอะๆ เราจะไม่ค่อยได้ยินใครพูด หรืออะไรยังไง นอกจากเสียงตบมือ เพราะเราต้องโฟกัสอยู่ในนี้ ใช้สมาธิเยอะมากๆ และเสียเชียร์ก็ไม่ได้รบกวน เพราะว่าเราสามารถโฟกัสในสนามได้อยู่แล้ว”
โอลิมปิกคือเป้าหมายสูงสุด
ความพยายามตั้งแต่เด็กจนมาถึงวันนี้ แม้หลายคนอาจจะมองว่าเธอประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้แล้ว แต่เธอมองความสำเร็จครั้งนี้เป็นเพียงขั้นแรกของชีวิตเท่านั้น เพราะเธอมีความสำเร็จสูงสุดที่ตั้งพิชิตไปให้ถึงอีกหลายขั้น
“ในระดับนึงค่ะ แต่ว่าไม่ได้ประสบความสําเร็จในระดับที่เราสามารถเลิกเล่นได้ เราจะพยายามตั้งเป้าหมายในระยะสั้นไว้ก่อน แต่เราก็จะมีเป้าหมายในระยะยาวของเรา เป้าหมายในระยะสั้นก็คือ สมมติว่า อีก 2 เดือนต้องไปแข่งรายการนี้ เราก็จะไปบอกตัวเองว่าทำให้เต็มที่นะ ทำให้เต็มที่ทุกรายการที่เราไปแข่ง เราจะไม่ได้คาดหวังจะได้แชมป์ ต้องติด 1 ใน 3 เหรอ เราจะแค่ทำเต็มที่ในแมตช์นั้นๆ ที่เราลงไปตีค่ะ
เราตั้งใจว่าเราอยากได้แชมป์โลก ถ้าเป็นไปได้ อยากได้โอลิมปิกด้วย แต่ว่าเราไม่ได้กดดันตัวเองขนาดนั้น เราก็จะเอาแค่เป้าหมายว่า ตอนนี้เอาให้ติด 1 ใน 5 หรือ1 ใน 10 ของโลกก่อนก็ได้ แล้วค่อยไปทำให้มันสำเร็จ
แต่ว่าจะพยายามทำให้ได้ก่อนอายุ 24-25 ปี ประมาณนี้ คือแล้วเราก็จะไปทำในสิ่งที่เราอยากทำอย่างอื่นแล้ว เรารู้สึกว่า ช่วงพีคของนักกีฬา คือก่อนอายุ 25 ปีค่ะ ประมาณผู้หญิงนะคะ มันจะอยู่ในช่วง 20-25 ค่ะ แต่บางคนอาจจะได้ซัก 28 ปี แต่ว่าตัวหนูเอง หนูแบบว่าอยากไปลองทำอย่างอื่นด้วย หนูก็เลยลองตั้งเป้าไว้อย่างนี้ก่อน แล้วก็จะพยายามให้เต็มที่”
นอกจากเป้าหมายสูงสุดในระดับโลกที่เธอวางแพลนชีวิตไว้แล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของเธอคือ ถ้าพิชิตระดับโลกในระดับประชาชนคนทั่วไปแล้ว เธอก็อยากลองใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป ที่เคยขาดหายไปในช่วงที่เธอวิ่งตามฝันเป็นนักกีฬา
“อยากไปใช้ชีวิตที่เราขาดหายไปประมาณนั้นค่ะ ในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ อาจจะแบบว่าไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป ทำงานทั่วไปวันๆ
ถ้าไม่ได้จริงๆ หนูพยายามเก็บตังให้ได้เยอะที่สุด ในช่วง 16-25 ปี ก็อาจจะเอาไปทำอย่างอื่น อาจจะมาเป็นโค้ช แต่อาจจะไม่ได้อยากเป็นโค้ชทีมชาติ อยากสอนเด็กเล็กๆ แบบว่าอาจจะเป็นน็อกเกอร์ให้เด็ก 7-9 ขวบ เหมือนตอนเด็กๆ ที่เรารู้สึกมันสนุกอะไรอย่างนี้ ก็อยากไปสอน ยังไม่รู้ว่าจะทำ จะเป็นโค้ชอันนี้หรือไปทำอย่างอื่น ก็มีสองทางให้เลือก อาจจะออกไปเลย หรือว่าเป็นโค้ชเด็กอะไรอย่างนี้ค่ะ ดูอีกที”
ถูกใจแฟนคลับจนได้รับฉายา “นักแบดหน้าหวาน” นอกจากความสามารถที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ที่แสดงให้กับคนทั่วโลกได้เห็นแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างคือ รูปร่างหน้าตาน่ารักน่าชัง จนสามารถขโมยหัวใจแฟนกีฬาลูกขนไก่ไปครองได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะเวลาเธอไปแข่งที่ไหน ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เธอมักจะมีแฟนคลับมารุมขอถ่ายรูปเกือบจะทุกครั้ง “เวลาไปแข่งมีคนมาขอถ่ายรูป เขาก็มาขอถ่ายรูป ขอลายเซ็นอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็เยอะอยู่ มีทุกประเทศค่ะ ส่วนมากเขาจะบอกว่า หน้าตาน่ารัก สวยอะไรอย่างนี้ค่ะมากกว่า นักแบดหน้าหวานเหรอคะ ก็เขินๆ แต่ว่าแบบอุ้ย..มีคนตั้งให้ได้อะไรอย่างนี้ค่ะ หนูไม่ทราบเหมือนกัน พอรู้อีกที มีฉายาซะแล้ว ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็น (ซุปตาร์ทางด้านกีฬา) ขนาดนั้น อยากเป็นนักกีฬาเฉยๆ คือจริงๆ อยากให้มองว่า เรื่องฝีมือด้วย ดูเราตีอย่างนี้นะ อยากให้มองเรื่องความสามารถด้วยค่ะ” |
ฝันอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง
“เวลาว่างชอบไปคาเฟ่ค่ะ ชอบกินกาแฟ ชอบกลิ่นกาแฟ แล้วก็แบบสถานที่แต่ละที่มันมีมุมถ่ายรูปอะไรๆ หลายๆ อย่างค่ะ จริงๆ ก็อยากเปิดธุรกิจเล็กๆ ร้านกาแฟในเชียงใหม่เป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าความฝัน แค่อยากมีธุรกิจเล็กๆ ไว้บริหาร อาจจะไม่ใช่ร้านกาแฟก็ได้ อาจจะเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวดูก่อน หรือไม่ก็ไปหางานทำตามต่างประเทศ อยากลองใช้ชีวิตที่ขาดหายไป นอกจากชอบไปคาเฟ่ หนูชอบฟังเพลงค่ะ ชอบแบบว่าอยู่คนเดียวแล้วก็ฟังเพลง ฟังเพลงที่คนไม่ค่อยฟังกันค่ะ มันเป็นแนวติสต์ๆ หน่อย เพลงนอกกระแส สากลด้วยไทยด้วย หรือบางทีอาจจะเป็นเพลงในกระแสก็ได้ แต่ว่าอาจจะเป็นแนวอินดี้ค่ะ ชอบร้องเพลงด้วย ไม่คิดจะเข้าวงการแสดง เพราะเป็นคนค่อนข้างโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง ก็เลยคิดว่าถ้าไปแนวนั้นอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่กับไลฟสไตล์ของตัวเอง ส่วนสเปคชอบคนตัวสูงกว่า ชอบคนเท่ๆ จริงๆ ไม่มีสเปค แบบว่าใครรู้สึกชอบก็คือชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬา หุ่นเฟิร์มก็ดี (หัวเราะ) ชอบคนที่เข้าใจเรา พยายามเข้าใจเรา แบบว่าเข้ากันได้ ไม่งี่เง่าจนเกินไป ชอบคนที่มีนิสัยที่โตหน่อย |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...ความสำเร็จ เยาวชนโลก = พรสวรรค์+พรแสวง+ตั้งเป้าชัดเจน+ลงใจลงแรงทำให้ดีที่สุด...
>>> https://t.co/5tyCCkscjz
.
“มีพรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่ได้ มีพรแสวงอย่างเดียวก็ไม่ได้ อาจจะต้องมี Sense เรื่องแบดฯ เราอยากได้ Champ โลก แล้วก็อยากได้ Olympic ด้วยค่ะ”
.#ทีมชาติไทย #นักแบดหน้าหวาน pic.twitter.com/sH4rwLQtGC— livestyle.official (@livestyletweet) June 2, 2023
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : อินสตาแกรม @pinkkk_opat
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **