xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยทำไมต้อง “ซิ่ว”? ไม่รู้จักตัวเอง VS การศึกษาไม่เอื้อให้พบตัวตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลือกคณะที่ว่า “ใช่” แต่สุดท้ายต้อง “ซิ่ว” ผลสำรวจ 59% เด็กมัธยม ไม่รู้จะเรียนต่ออะไร!! สร้างความสงสัย เพราะ “เด็กไม่รู้จักตัวเอง” หรือ “การศึกษาไม่มีเวลาให้ค้นหาตัวตน”?

ก็มันไม่ใช่ ไม่ขอทนอยู่

“ไปต่อไม่ไหว งั้นขอเริ่มใหม่ละกัน” หลายคนคงมีเพื่อนที่เป็น “เด็กซิ่ว” ตอนที่เรียนมหาลัย หรือบางคนก็เป็นเด็กซิ่วเสียเอง อะไรทำให้เด็กๆ เหล่านั้นยอมเสียเวลาชีวิตหลังเรียนไปแล้ว 1 ปี 2 ปี แล้วขอสอบใหม่ เปลี่ยนคณะให้ตรงตามที่ต้องการ

“ซิ่ว” มาจากคำว่า "Fossil” (ซากดึกดำบรรพ์) คำแสลงใช้เรียกคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยช้ากว่าอายุที่ควรจะเป็น เช่น เป็นเด็กที่จบ ม.ปลาย ปี 65 แต่เข้าเรียนพร้อมกับเด็กที่จบปี 66 หรือใช้เรียกคนที่ย้ายคณะ หรือเปลี่ยนมหาวิทยาลัยมาเรียนใหม่

จากบทความ “เด็กซิ่ว คืออะไร ? ถ้าอยากเริ่มซิ่วจะต้องทำยังไง ?” บน “www.smartmathpro.com” ได้พูดถึงประเด็นหลักๆ ที่เด็กจะตัดสินใจซิ่วเอาไว้



“สอบไม่ติดคณะที่หวัง” เพราะคะแนนที่ใช้เข้ามหาลัยหรือคณะที่หวัง หรือวางแผนเลือกคณะ/มหาลัยผิดพลาด เลยอย่างจะสอบใหม่อีกครั้งเพื่อให้ได้ คณะที่ตัวเองหวังจริงๆ

“เรียนแล้วไม่ใช่” มีหลายคนที่สอบติดมหาลัย ได้คณะที่คิดว่าใช่ แต่พอเรียนแล้วไม่ใช้อย่างที่คิด หรือเรียนหนักเกินไปและรู้สึกว่าไม่มีความสุข

“เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยน” เมื่อเวลาเปลี่ยน เป้าหมายในชีวิตและมุมมองความคิด การวางแผนด้านอาชีพที่อยากจะทำก็เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนเลือกที่จะซิ่ว


[ “อ้าย-นิรัช” ผู้ร่วมก่อตั้ง “เวย์หา” ]

“อ้าย-นิรัช วานิชวัฒนรำลึก” ผู้ร่วมก่อตั้ง “เวย์หา” กิจการเพื่อสังคม ซึ่งทำกิจกรรมแนะแนวและให้ความรู้เด็ก ได้พูดประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “คิดว่าสนุก แต่เข้าไปจริงๆ แล้ว ไม่ใช่"

“ไปเรียนแล้วไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิด หรือไม่ถนัดจริงๆ แต่คิดว่าชอบ ยกตัวอย่างผมเป็นเด็กที่เลือกเรียนคณะสายคอมพิวเตอร์ เพราะชอบเล่นเกม แต่กลายเป็นว่ามันไม่สนุกเลยสิ่งที่เรียนมันยากกว่าที่คิด”

และอีกเหตุผล เด็กบางคนไม่ได้เลือกจากตัวเอง แต่เลือกตามพ่อแม่ ตามครูหรือรุ่นพี่บอก คือถ้าเราเก่งวิชานี้เราน่าจะเข้าสายนี้ ทั้งเด็กหรือผู้ปกครองที่เลือกให้ ไม่ได้มองภาพกว้างหรือมองหลายปัจจัยนัก

“การที่เขาเรียนเก่ง ไม่ได้แปลว่าชอบ เขาอาจจะชอบเนื้อหาตอนมัธยม แต่พอเข้ามหา’ลัยที่เนื้อหาเริ่มหนักขึ้น เด็กก็อาจเริ่มไม่ชอบ เริ่มเรียนไม่ไหว หรือปรับตัวไม่ได้ คิดว่าจะไปต่อดีไหม แล้วก็เกิดการ ซิ่ว”

ระบบการศึกษา หรือปัญหาอยู่ที่เด็ก?

เราก็มีวิชา “แนะแนว” นี่? แต่ทำไมบางคนเพิ่งค้นพบตัวเองก็ตอนได้เข้าไปมหาลัย บางคน ณ ตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร

“อ้าย” ผู้ร่วมก่อตั้งเวย์หา ได้ให้คำอธิบายว่า ในหลายโรงเรียนก็มีระบบแนะแนวการศึกษาที่ดี มีครูที่ไปเรียนหรืออบรมเพื่อเป็นครูแนะแนวโดยเฉพาะ แล้วทำไมในหลายโรงเรียนระบบแนะแนวถึงไม่ช่วยอะไร

“มันก็จะมีบางโรงเรียนที่ใช้ครูอะไรก็ได้มาเป็นครูแนะแนว ถ้าครูตั้งใจก็เป็นโชคดีของเด็กไป แต่มันกลายเป็นมาตรฐานที่ไม่เท่ากันของโรงเรียน”



ถ้ามีการแนะแนวที่ดีเด็กก็ได้ประโยชน์ แต่ก็มีที่ชั่วโมงแนะแนว กลายเป็นคาบว่างและไม่เกิดประโยชน์อะไร จนเด็กรู้สึกว่าไม่ได้อะไรจากการเรียนแนะแนวเลย

และจากบทความของ “nisitjournal.press” เรื่อง “ครูแนะแนว หน้าที่ที่โรงเรียนต้องมีให้อุ่นใจ แม้(อาจ)ไม่ช่วยให้เด็กไทยได้รู้จักตัวเอง” มีการทำแบบสอบถามกลุ่มนักเรียนมัธยม พบว่า 59% ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเรียนอะไรหรือทำอาชีพอะไรในอนาคต มีแค่ 30% เท่านั้นที่มีเป้าหมายชัดเจน

“ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ” อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการด้านการศึกษา ได้อธิบายในบทความดังกล่าวว่า เด็กไทยไม่มีเวลาและพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง ห้องเรียนไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเอง ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองรับผิดชอบบทบาทที่หลากหลาย เด็กๆ จะได้รู้ว่าเขาถนัดสิ่งใด



สอดคล้องกับที่ กูรูผู้แนะแนวทางผ่านเวย์หา ได้พูดเสริมถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยไว้ว่า ที่คนแต่ละคนเกิดมาแตกต่างกัน มีทักษะและพรสวรรค์ไม่เหมือนกัน แต่กลับใช้ไม้บรรทัดแบบเดียว วัดผลเด็กแบบเหมารวม

“ถ้าเราตัดสินปลาด้วยการปีนต้นไม้ปลาตัวนั้นจะคิดว่ามันโง่ไปตลอดชีวิต และคิดว่าระบบการศึกษาตอนนี้ กำลังตัดสินเด็กด้วยค่านิยมแบบนั้นอยู่”

หลักสูตรไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน นอกจากเลือกวิชาเรียนไม่ได้ ยังมีการกำหนดสายการเรียนเช่น วิทย์คณิต ถ้าเกรดไม่ดี ก็ไม่มีมีสิทธิเลือก กลายเป็นว่าทางก็เลือกน้อยและยังต้องเรียนตามที่เขากำหนด

“แต่เราก็จะเห็นเด็กหลายที่ มัธยมเรียมเหมือนจะเรียนไม่รอด แต่เข้ามหาลัยได้ไปอยู่ในสิ่งที่เขาชอบ เขาถนัด กลับได้เกียรตินิยม ก็มีให้เห็นอยู่ งั้นมันถูกต้องหรือเปล่า ที่ยังใช้วิธีการแบบปัจจุบันนี้”

แนะแนวที่เด็กต้องการ

การเรียนหรือครูแนะแนวแบบไหนกันที่เด็กต้องการ บทความของเว็บ nisitjournal.press ได้รวบวมความต้องการของเด็กมัธยมเอาไว้ว่า ครูแนวแนะต้องน่าเข้าหา มีความรู้เรื่องจิตวิทยา

มีการแนะนำอาชีพแบบเจาะลึก และอยากให้มีกิจกรรมแบบ Active Learning คือ การเรียนรู้แบบลงมือทำ กิจกรรมที่เด็กได้มีโอกาสลงมือทำมากกว่าฟังอย่างเดียว

และอยากให้ ครูทุกคนสามารถแนะนำเด็กๆ ได้ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของครูแนะแนวอย่างเดียว ตัวอย่างคือ “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ที่ไม่มีวิชาแนะแนว แต่ครูทุกคนสามารถเป็นครูแนะแนวได้ และสามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง โรงเรียนยังมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนอย่างอิสระไม่ใช้แค่ด้านวิชาการ


[ กิจกรรมแบบ “Active Learning” ]

ผู้รวมก่อตั้งเวย์หา กล่าวเสริมแนวทางในการแนะแนวที่ดีว่า มันมีหลายวิธีการ ดูจากบุคลิก ความถนัด สิ่งที่สนใจและทำได้ดี ส่วนแบบไหนดีที่สุดนั้นตอบไม่ได้ เราควรมองว่าอะไรเหมาะกับเด็กที่สุดมากกว่า

“การมองว่า จะทำให้ยังไงให้วิชาแนะแนวสนุกขึ้น น่าสนใจขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่อยากให้มองไปที่ตัวเด็กมากกว่าว่าอะไรเหมาะกับเขาที่สุด”



การนำศาสตร์แนะแนวอย่างหนึ่งมาใช้ ไม่ได้หมายความว่าวิธีการนั้นจะช่วยเด็กได้ทุกคน เด็กบางคนอาจจะไม่สนใจหรือไม่เข้าใจแนวทางนั้น ทุกศาสตร์ดีแต่เราต้องดูเป็นรายบุคคลไป

“สมัยนี้มีคนต่อสู้เรื่องนี้เยอะมาก มีกิจกรรมให้ครูไปแนะแนวเด็ก มีครูที่พัฒนาตัวเองเพื่อที่จะเป็นครูแนะแนวให้กับเด็กจริงๆ และวิธีการหรือเนื้อหา ณ ตอนนี้ก็มีเยอะกว่าสมัยก่อนมากๆ”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : thematter.co, nisitjournal.press และ bangkokbiznews.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น