งงกันทั้งประเทศ ข่าวเด็กถูกตัดสิทธิ์ “ติดเภสัชฯ” เพราะพบสารเสพติดฤทธิ์ประเภทเดียวกับ “ยาบ้า” อ้างอยู่ใน “อาหารเสริมเพิ่มความขาว” ต้องขุดให้รู้ความเป็นไปได้ ตกลง “ผลลวง” หรือ “คนลวง”!!?
ไปไงมาไง ถึงมาอยู่ในอาหารเสริม
เป็นประเด็นดัง จากอาหารเสริมช่วยให้ผิวขาวยี่ห้อหนึ่ง ที่กินแล้วไม่ได้ขาว แต่เจอสาร "เมทแอมเฟตามีน” เมื่อเด็กสาววัย 19 ปี ไปตรวจร่างกายเพื่อนำใบรับรองแพทย์ ไปยื่นให้กับมหาวิทยาลัยที่เธอสอบติด
แต่แพทย์ไม่สามารถออกใบรับรองสุขภาพให้ได้ เพราะผลตรวจพบว่า มีสาร “เมทแอมเฟตามีน” เป็นสารชนิดเดียวกันกับยาบ้า อยู่ในปัสสาวะ
แม่เด็กสาวจึงไปร้องกับสื่อ ให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะเชื่อว่าสารเมทแอมเฟตามีนที่พบ มาจากผลิตภัณฑ์ที่ลูกสาวสั่งซื้อมาจาก TikTok
[ ผลตรวจของเด็ก 19 ]
ล่าสุดตัวแทนบริษัทอาหารเสริมผิวขาวนี้ ได้ติดต่อกับแม่ของเด็ก และยืนยันว่า ไม่มีการใส่สารเมทแอทเฟตามีนแน่นอน คาดว่า ยาที่เด็กกินอาจเป็นของปลอมที่วางขายตามอินเตอร์เน็ต และอยากให้ส่งตัวอย่างมาที่บริษัทเพื่อตรวจสอบ
“เมทแอมเฟตามีน” (Methamphetamine) เป็นสารกระตุ้นประสาท ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง ที่ติดง่ายและรุนแรงกว่า ยาบ้า (amphetamine) 4-5 เท่า จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ลงพื้นที่เก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวส่งตรวจแล้ว จะรู้ผลประมาณ 1 อาทิตย์
และ เภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการ อย. ได้ให้ความเห็นกับสื่อว่า กรณีที่เกิดอาจเป็นผลตรวจลวง เพราะใช้ชุดตรวจเบื้องต้น อาจวิเคราะห์สารได้ไม่ชัดเจน หรืออาจมีการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตร่วมกับ “กลุ่มยาลดความอ้วน”
ถ้าใส่จริง จะใส่เพื่อ?
แม้ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ ว่ามีการผสมสารเมทแอมเฟตามีนลง ไปในอาหารเสริมดังกล่าวจริงหรือไม่ แล้วถ้าใส่ จะใส่ไปเพื่ออะไร นี่ก็ยังเป็นคำถามที่ “ขิม-ภญ.มลิรัตน์ ภักดี” เภสัชกร เจ้าของเพจ “เภสัชแหลงใต้” ยังสงสัยอยู่
“ประเด็นนี้ก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่า ถ้ามีการแอบผสมลงไปจริง ผู้ผลิตจะใส่ไปเพื่ออะไร ตัวเมทแอมเฟตามีน ส่งผลต่อประสาทและใช้ทำให้เรารู้สึกมีพละกำลังมากกว่า แต่กรณีนี้เป็นอาหารเสริมผิวขาว ถ้าเขาจะใส่จริงๆ เขาจะใส่ไปเพื่ออะไร”
[ ผลิตภัณฑ์ผิวขาวที่เด็กกิน ]
หมอยาผู้นี้ยังเสริมอีกว่า เพราะตามหลัก เมทแอมเฟตามีนผลค้างเคียงจะคล้ายกับพวก ยาม้า ยาบ้า ยาอี ที่ทำให้เกิดอาการคึก เคลิ้มมีความสุขและใช้ในการควบคุมอารมณ์ หรือมักใช้ในยาควบคุมน้ำหนัก เพราะเมทแอมเฟตามีนมันไปลดความอยากอาหาร
สมัยก่อนเมทแอมเฟตามีน เป็นส่วนผสมของ กลุ่มยาลดน้ำหนักที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ที่จะไปยับยั้งความอยากอาหาร ทำให้ผู้ที่กินยาเข้าไปไม่รู้สึกอยากอาหาร แต่ปัจจุบันยาพวกนี้ถูกห้ามขายแล้ว เพราะพิสูจน์แล้วว่ามีผลเสียต่อร่างกายมากมาย
สอดคล้องกับข้องสังเกตของ ภก.สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย) ที่ออกมาพูดกับสื่อว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพบการผสมเมทแอมเฟตาไปในผลิตภัณฑ์ผิวขาว เพราะผลทางแพทย์ก็บอกแล้วว่า เมทแอฟตามีนไม่ได้ช่วยให้ผิวขาวขึ้น
ตรวจเจอจริง แต่อาจเป็นผลลวง
จากกรณีที่เกิดขึ้น เภสัชกรรมชุมชน(แห่งประเทศไทย) ออกมาตั้งข้อสังเกตกับสื่อว่า ยังไม่เคยพบว่าจะมีสารใดทำให้เกิดผลลวงได้ แต่ผลตรวจที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการใช้ยาประเภทอื่นรวมด้วย เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแก้หวัด ยาจิตเวช ยาปฏิชีวนะบางชนิด
เจ้าของเพจ “เภสัชแหลงใต้” จึงได้อิบายถึง โครงสร้างทางเคมีของยาที่คล้ายกันกับ เมทแอทเฟตามีน ที่ถ้าใช้รวมกันก็อาจทำให้เกิดผลที่ผิดพลาดได้
“มันเกิดผลลวงได้ ถ้าใช้ยาอย่างอื่นรวมด้วย เช่นพวก ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) ที่อยู่ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูกคัดจมูก ซึ่งโครงสร้างคล้ายกัน”
[ โครงสร้างทางเคมีของ “ซูโดเอฟีดรีน” กับ “เมทแอมเฟตามีน” ]
จากการหาข้อมูลพบว่า “ซูโดเอฟีดรีน” มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับเมทแอมเฟตามีน ทำให้มีการลักลอบนำไปผลิตยาบ้า ปัจจุบันจึงไม่ให้สามารถหาซื้อตามร้านยาทั่วไปได้ ต้องได้รับการสั่งใช้โดยแพทย์โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยันเท่านั้น
และจากข้อมูลของ www.pobpad.com บอกว่า เมทแอมเฟตามีน นั้นมีการใช้เพื่อการรักษาอยู่ เพราะเป็นยากระตุ้นระบบประสาท ที่มีฤทธิ์ช่วยเปลี่ยนแปลงปริมาณสารในสมอง และส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และภาวะอยู่ไม่นิ่ง
จึงนำมาใช้ช่วยเพิ่มสมาธิในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) และใช้รักษาผู้ป่วยโรคอ้วน (Obesity) ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหารหรือการรักษาวิธีอื่น เพื่อควบคุมความอยากอาหารได้มากขึ้น
และเพราะเมทแอมเฟตามีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งมีข้อห้ามใช้และเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.komchadluek.net, www.rama.mahidol.ac.th, www.pobpad.com, ch3plus.com และ youtube channel” Thai PBS”
ขอบคุณภาพ : pharmacy.mahidol.ac.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **