เปิดวัฒนธรรมกราฟิตี้ “ศิลปะบนกำแพง” เบื้องหลังความสวยงามที่แฝงไปด้วย “ความขบถ” ซ่อนอยู่ เพื่อสื่อสารความอัดอั้น-ปัญหาเรื้อรังในสังคม ที่อยากประกาศก้องให้ได้รับการแก้ไข
อิทธิพล “ฮิปฮอป” สู่ “ศิลปะข้างถนน”
หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “กราฟฟิตี้” หรือบ้างก็เรียกว่า “สตรีทอาร์ต” จากรอยขีดเขียนสีสเปรย์ ตามกำแพงและเสาไฟ ที่ทุกคนเห็นกันจนชินตา ทั้งคำสบถ ชื่อสภาบัน บางอันก็เป็นภาพที่สวยงานจนถูกยกว่าเป็นงานศิลป์ แต่อาจมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก
ถามว่า “กราฟิตี้” คืออะไร? ถ้าให้แปลตรงตัวคือ ภาพวาดที่เกิดจากการขีดเขียน หรือการขูดขีดไปบนผนัง กราฟิตี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมเพลง “ฮิปฮอป” จากฝั่งตะวันตกซึ่งประกอบด้วย 4 อย่าง ตามนี้
บีบอย (การเต้นฆ่าเวลาระหว่างที่ดีเจกำลังเซ็ตแผ่นเพลง หรือเรียกว่า break dance), เอ็มซี (นักร้องเพลงแรปที่ใช้เทคนิคการพูดให้เข้ากับจังหวะเพื่อคนในงานฮิพฮอพเกิดความสนุกสนาน), ดีเจ (คนที่นำแผ่นเสียงมาเปิด และเรียบเรียงใหม่ผ่านเทคนิคสแครชแผ่น) และ กราฟิตี้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มคนผิวสี
[ “ต่อ-ปกรณ์” หรือกราฟิตี้ภายใต้นาม “PAKORN” ]
แล้วมันเข้ามาในไทยตั้งแต่ตอนไหน? “ต่อ-ปกรณ์ ธนานนท์” หรือชื่อในวงการ “PAKORN” ผู้เริ่มทำงานกราฟิตี้มาตั้งแต่ยุค 90’s บอกว่า ในบ้านเรามันเริ่มจาก “กลุ่มคนที่เล่นสเก็ตบอร์ด” มากกว่า ต่างจากฝั่งตะวันตกที่เริ่มจาก “กลุ่มคนนิยมเพลงฮิปฮอป”
“ช่วงปี 95-96 ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เราจะเห็นลายกราฟิตี้จากพื้นสเก็ตบอร์ด หรือตามแม็กกาซีนสเก็ตบอร์ด ภาพของเด็กสเก็ตที่มีพื้นหลังเป็นงานกราฟฟิตี้ตามสวนสาธารณะ”
อีกอย่างหนึ่ง กลุ่มคนที่นำเข้ามาแรกๆ คือ คนที่ไปอยู่เมืองนอก แล้วกลับมาก็เอาวัฒนธรรมพวกนี้กลับมาด้วย และในยุคนั้นก็เริ่มมีผับบาร์ฮิปฮอปแถวสีลม เลยทำให้กราฟิตี้เริ่มเป็นที่รู้จักบ้านเราขึ้นมาครับ”
[ ผลงานของ “PAKORN” ]
แล้วมันเรียกว่า “สตรีทอาร์ต” หรือ “กราฟิตี้” กันแน่? และในความเข้าใจของหลายคนคงคิดว่าคือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว ทั้งสองอย่างกลับมีมุมที่แตกต่างกันอยู่ ถ้ามองอย่างคนที่เข้าใจภูมิหลังจริงๆ
“สตรีทอาร์ต คือเราสามารถใช้อะไรก็ได้เพื่อสร้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบล็อกแม่พิมพ์ขึ้นมา เอากระดาษมาแปะ หรือสร้างม็อกอัปมาวางก็ได้
ส่วน กราฟิตี้ จะใช้สีเปรย์อย่างเดียว ตัดเส้นด้วยมือล้วนๆ ไม่มีอะไรมาช่วย วัดกันที่ความคมของเส้น ความละเอียดและความสะอาดของงานครับ”
ลบคำครหา ให้ค่ากว่าคำว่า “มือบอน”
“เห็นวัยรุ่นถือกระป๋องสเปรย์ ชาวบ้านก็จะมอง เด็กช่างหรือเปล่า อย่ามาทำอะไรให้มันเลอะเทอะ”
ศิลปินรายเดิม เล่าถึงประสบการณ์และภาพลักษณ์ในการทำงานกราฟิตี้ ย้ำชัดว่าในสมัยก่อนที่สังคมยังไม่ค่อยยอมรับ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ให้แสดงฝีมือหรือฝึกซ้อม มักเป็นร้านเหล้า ผับบาร์ หรืองานแฟชั่นแนวสตรีท
เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ในอดีตของกราฟิตี้ ที่ถูกมองในแง่ลบว่าเป็นพวก “มือบอน” กับมุมมองของคนในยุคนี้แตกต่างกันหรือไม่ กูรูเปื้อนสีรายเดิมจึงช่วยสะท้อนให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น
[ กราฟิตี้เสียดสีจากศิลปินไทย ศิลปิน “Headache Stencil” ]
“สมัยนั้นคนยอมรับมันน้อยมาก จะเดินเข้าไปขอพื้นที่ทำงานกราฟิตี้ก็ยาก จะได้งานก็จากพวกงานแฟชั่น หรือร้านเหล้าที่ยอมให้เราเข้าไปพ่นสี แต่สมัยนี้ต่างกันมาก กราฟิตี้เริ่มเข้าไปอยู่ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือแม้แต่ออฟฟิศสมัยนี้ก็อยากได้กราฟิตี้ไปประดับเหมือนกัน”
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ศิลปะบนกำแพงก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีการจัดประกวดรางวัลกราฟิตี้ เริ่มนำไปช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น จึงมีทั้งโครงการจากรัฐ และการรวมกันจัดกิจกรรมการพัฒนาแหล่งชุมชนของกลุ่มศิลปินแนวนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชุมชน หรือแหล่งเสื่อมโทรม
[ กราฟิตี้เสียดสีจากศิลปินไทย ศิลปิน “Headache Stencil” ]
“อย่างกำแพงกันน้ำที่นครสวรรค์ จากกำแพงเก่าๆ เป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น พอเราเข้าไปทำให้มันมีสีสัน ตอนนี้ใครผ่านก็ต้องเข้าไปถ่ายรูป
หรือโปรเจกต์ที่ร้อยเอ็ด มีการจัดงานให้ไปพ่นกราฟิตี้ จากแหล่งเสื่อมโทรมที่มีการจี้ปล้น หลังจากจัดงานก็กลายเป็นที่ที่คนออกมาออกกำลังถ่ายรูป ปัญหาจี้ปล้นก็หายไป”
วัฒนธรรมกราฟิตี้ = ความขบถ
สรุปแล้ว กราฟิตี้ไม่ใช่ศิลปะที่สวยงานบนกำแพงอย่างเดียว แต่รากเหง้าของมันคือความเป็นขบถต่อสังคม การพ่นสีก็เพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้น และสะท้อนปัญหาที่ผู้คนต้องพบเจอ
“ กราฟิตี้เป็นวัฒนธรรมนอกกระแสที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความเป็นขบถ ราวกับว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซ่าน เป็นสุข
เวลาที่ศิลปินกราฟิตี้ได้ท้าทายต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามกีดกัน และกำจัดกราฟิตี้ให้หมดไป” คือนิยามของกราฟฟิตี้จากหนังสือ Freight Train Graffiti
เมื่อ “กราฟิตี้” เกิดจากวัฒนธรรม “ฮิปฮอป” ซึ่งเดิมที่แล้วเป็นการแสดงออกของคนผิวสีที่การระบายสิ่งที่เก็บอยู่ในใจ ในช่วงเวลาที่การเหยียดสีผิวรุนแรงในอเมริกา ก็คงไม่แปลกที่ งานกราฟิตี้จะได้อิทธิพลนี้มาด้วย
[ The Mild Mild West ]
ยกตัวอย่าง Banksy ศิลปินสตรีทอาร์ตและกราฟิตี้ผู้ลึกลับจากเมืองผู้ดีอย่างอังกฤษ ที่ทำงานแนวเสียดสีสังคมมาตั้งแต่ช่วงปี 90’s จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงของเขาคือใคร
ประเด็นและเอกลักษณ์ในงานของเขามักจะพูดถึงการเมือง สงคราม วิพากษ์วิจารณ์ความโลภของทุนนิยม โดยใช้ตัวละครอย่าง หนู, ลิง, ตำรวจ ทหาร ไปจนถึงเด็ก สตรี และคนชรา
ผลงานสร้างชื่อของ Banksy คือ The Mild Mild West (1997) ที่เป็นรูปเจ้าหมีเท็ดดี้ปาระเบิดใส่ เจ้าหน้าที่ ควบคุมฝูงชน ที่กำลังเดินเข้ามาหา แต่ความแสบของเขาคือ เขาพ่นทับบ้ายโฆษณาของสำนักงานทนายความ บนถนนสโตรคส์ ครอฟต์ ในเมืองบริสตอล ของอังกฤษ
[ Girl with Balloon ]
หรือจะเป็น Girl with Balloon รูปเพนต์ของเด็กผู้หญิงกำลังคว้าลูกโป้งสีแดงอันโด่งดัง ที่หลายคนตีความว่าถึงความสิ้นหวังในช่วงสงคราม อิสระและเสรีภาพที่สูญเสียไป
ในเมื่องไทยเองก็มีการใช้ งานกราฟิตี้เพื่อวิจารณ์ถึงประเด็นในสังคมอยู่เหมือนกัน แต่บางงานก็ถูกลบหรือไม่ก็ถูกทำลายไป ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้ก็ยังพอมีให้เห็นได้ทั่วกรุงเทพฯ
เพราะกราฟิตี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ศิลปินใช้ในการตั้งคำถามและสะกิดเตือนสังคม ตรงกับคำที่ MAUY ศิลปินกราฟิตี้และสตรีทอาร์ต เคยให้สัมภาษณ์ไว้ผ่านรายการของช่อง GoodDay
“กราฟิตี้ คือเทคนิคที่ใช้พูดกับคนวงกว้าง มันเป็นเครื่องมือที่พูดแทนเสียงของคนได้ตรงที่สุด คนทั่วไปอาจไม่อยากเดินเข้าแกลลอรี่อาร์ตเพราะไม่ใช่พื้นที่ของเขา แต่กราฟฟิตี้กับสตรีทอาร์ตไม่ใช้เพราะเราทำงานในพื้นที่ของเขา”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : banksyexplained.com , อินสตาแกรม @headache_stencil
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **